วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สด๊กก๊อกธม : การศึกษาและการดำเนินการอนุรักษ์ที่ผ่านมา

เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ นายเอโมนิเยร์ (Etienne Aymonier) ชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาค้นพบปราสาทสด๊กก๊อกธมและเผยแพร่ข้อมูลเป็นครั้งแรก ใน “Le Cambodge. Tome II, Les Provinces siamoises” มีการบรรยายสภาพของปราสาทที่ชื่อว่า “Sdok Kak Thom” ในฐานะของโบราณสถานที่มีความโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่มนุษย์ได้สร้างไว้ด้วยหิน โดยที่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทที่ตั้งอยู่กลางป่ารกบนเส้นทางคันดินโบราณแห่งนี้ โดยทั่วไปยังมีความชัดเจน ปราสาทประธานยังคงสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ หน้าบันรูปเทพประทับนอนอยู่บนเตียงเหนือราหู และทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างสามเศียรเหนือราหูอีกชั้นหนึ่งยังคงอยู่ในที่ทางทิศตะวันออก และการค้นพบศิลาจารึกที่กล่าวว่าเป็นจารึกที่ได้ค้นพบล่าสุด และมีความสำคัญเหนือจารึกใดใดในเขมรทั้งหมด โดยพบว่ายังคงตั้งอยู่ในที่เดิมบนฐานหิน ตรงมุมของระเบียงคดด้านตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนายเอโมนิเยร์ และนายบาร์ธชาวฝรั่งเศสเช่นเดียวกันได้แปลข้อความในจารึกบางส่วนและกล่าวโดยสรุปไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย
ต่อมาได้มีการบันทึกชื่อของปราสาทสด๊กก๊อกธมไว้ในแผนที่แสดงที่ตั้งของปราสาทหินทั้งหมดที่มีการสำรวจพบในภูมิภาค ทำให้เราได้ข้อมูลของเส้นทางวัฒนธรรมเขมรโบราณเชื่อมต่อไปยังศูนย์กลางที่เมืองพระนคร (Angkor) ในแผนที่ "Carte archeolgique de l’ancien Cambodge” จัดทำโดย นายลูเนต์ เดอลาจงกิแยร์ (E. Lunet de Lajonquiere) จัดพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๔๕๔
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ นายหลุยส์ ฟีโน ได้แปลจารึกสด๊กก๊อกธมอย่างสมบูรณ์ และตีพิมพ์ เผยแพร่
ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ร้อยตำรวจเอกหลวงชาญนิคม ได้เดินทางมาทำการสำรวจและบันทึกสิ่งที่พบไว้ว่า
“...ตำบลที่ปราสาทตั้งอยู่นี้ ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า ปราสาทเมืองพร้าว ซึ่งมีคนโบราณเล่าต่อๆกันมาว่ามีคนหลงทางเข้าไปในดง แลเห็นมีต้นพร้าว จึงได้เรียกเอาว่าเมืองพร้าว ...มีกำแพงสองชั้นคือ ชั้นนอก ชั้นใน ชั้นนอกมีประตู ๔ ด้าน ประตูก็เป็นรูปปราสาทคล้ายวิหารคด ชั้นในมีกำแพงและประตู ๔ ด้านเหมือนกัน ในบริเวณกำแพงมีปราสาทหิน ๗ องค์ คือรอบนอก ๔ กลาง ๓ ล้วนแต่ปราสาททำด้วยหินทั้งนั้น ตามธรณีประตูล้วนสลักลวดลายสวยงาม ปราสาทบางองค์ชำรุด บางองค์ยอดยังบริบูรณ์อยู่ กำแพงชั้นในก็มีหลังคามุงด้วยหิน แลมีลูกกรงหินกลึงเป็นช่องงดงาม ความงามน่าดูเหลือจะกล่าวให้ละเอียดได้ ...ที่ใกล้บริเวณปราสาทด้านทิศตะวันออก เป็นทุ่งมีสระน้ำเป็นรูป๔เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ ๑๐ เส้นเศษ มีถนนปูด้วยหินแต่กำแพงปราสาทถึงสระยาวประมาณ ๕ เส้นเศษ สองข้างถนนมีเสาหินปักเป็นระยะห่างกันประมาณ ๔-๕ วา เสาสูงประมาณ ๒ ศอก มีรูปพระและเทวดาบ้างตามเสา นอกจากถนนปูด้วยหิน มีรูปถนนใหญ่ แต่กำแพงปราสาทผ่านแนวสันโคก ไปทางบ้านตาพญา หรือช่องกุ่มลายออ เป็นถนนยาวมาก
และได้ความว่าทางหลวงที่ผ่านไปทางทิศตะวันออก(เขตเขมร) ตรงไปนครวัด นครพนม และยังได้ความต่อไปว่าชั้นเดิมประมาณ ๒๐-๓๐ ปีมาแล้ว น้ำในสระหน้าที่ปราสาทนี้ มีเต็มบริบูรณ์ตลอดปี ไม่เคยแห้งเลยโดยน้ำได้ไหลมาจากเขตเขมร ครั้นมาในสมัยนี้ น้ำหาได้ไหลมาจากเขตเขมรไม่ที่สระนี้จึงไม่มีน้ำอยู่ตลอดปี...”
จากการสำรวจครั้งนั้นได้พบศิลาจารึกสำคัญที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้แก่ จารึกสด๊กก๊อกธม ๒ เป็นจารึกขนาดใหญ่มี ๔ ด้าน เขียนด้วยอักษรขอมโบราณ ในภาษาสันสกฤตและเขมร โดยหลวงชาญนิคมได้จัดทำสำเนาจารึกขึ้นและได้บันทึกไว้ว่า “อักษรโบราณนี้ได้ก๊อปปี้มาจากเสาศิลาจารึก ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าปราสาทเมืองพร้าว...ใกล้กับเขตแดนฝรั่งเศส...หลักศิลาจารึกนี้ตั้งอยู่ตรงหน้าปราสาทด้านทิศเหนือ เป็นรูป ๔ เหลี่ยม มีอักษร ๔ ด้าน กว้างประมาณ ๑ ศอก หนาประมาณ ๑๘ นิ้ว...สูงจากพื้นดินประมาณ ๓ ศอก ลึกลงไปในดินประมาณเท่ากัน ขณะที่ได้พบเห็นเสาศิลาเอน ได้ความว่า ประมาณ ๒๐ มาแล้วฝรั่งเศสได้ให้คนมาขุด และเอาช้างฉุด เพื่อจะเอาเสาศิลานี้ไป แต่หาเอาขึ้นได้ไม่ จึงยังอยู่จนทุกวันนี้ เห็นว่าเป็นของสำคัญจึงได้พยายามใช้กระดาษฟุสแก็ปก๊อปปี้ โดยจะหาเครื่องมืออย่างอื่นดีกว่านี้ไม่ได้ ได้ก๊อปปี้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๓...ศิลาจารึกนี้ เข้าใจว่าเป็นอักษรขอม แต่ให้ผู้ที่รู้ขอมอ่านก็ไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ความว่าจะมีเรื่องราวอย่างใด ” นอกจากนี้ในบันทึกยังได้กล่าวว่า ในบริเวณปราสาท เป็นเขตป่าดงที่ชาวบ้านแถบนั้นยำเกรง ถือกันว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ค่อยมีใครกล้าล่วงล้ำเข้าไป ในการสำรวจครั้งนั้นได้สมภารวัดบ้านโคกสูง เป็นผู้นำเข้าไป
มาจนถึงยุคที่บริเวณของปราสาทได้กลายเป็นที่พักของชาวเขมรที่อพยพเข้ามาในช่วงสงคราม มีกองกำลังของเขมรสามฝ่ายผลัดกันเข้ามาในพื้นที่ ขบวนการค้นหาทรัพย์สมบัติจากโบราณสถานที่ไม่ได้ระบุสัญชาติอาจจะถือโอกาสจากความวุ่นวายในช่วงนี้ทำการขุดหาสมบัติที่ปราสาทประธาน สร้างความเสียหายส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางโครงสร้างของอาคาร หินที่หล่นลงมาบางส่วนถูกเคลื่อนย้ายไปทำเป็นบังเกอร์ ในขณะที่รูปสลักชิ้นงาม หรือเทวรูป ตามที่ได้บรรยายถึงในอดีตไม่มีหลงเหลือให้เห็น ปราสาทแห่งนี้จึงกลายเป็นเพียงกองหินที่ตกลงมาปะปนกัน ยากที่จะเข้าใจ แผนผัง รูปทรง และส่วนตกแต่ง ที่พอจะเห็นร่องรอยลวดลายที่สลักเสลาไว้อย่างวิจิตร ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมของยุคใด ในเวลาที่กรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการสำรวจ พร้อมด้วยของฝากจากสงครามได้แก่ กับระเบิดที่อาจพบได้โดยรอบทั่วทั้งบริเวณตลอดไปจนถึงในพื้นที่ของบาราย
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นโบราณสถานของชาติในพระราชกิจจานุเบกษา มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ และได้ประกาศขอบเขตพื้นที่โบราณสถานครอบคลุมเนื้อที่ ๑๖ ไร่เศษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยมีการสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการจัดทำโครงการอนุรักษ์เป็นครั้งแรกโดย หน่วยศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ และได้สำรวจเพื่อประกาศขอบเขตพื้นที่เพิ่มเติมครอบคลุมเนื้อที่ ๖๔๑ ไร่เศษ เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ในขณะเดียวกันก็ได้เริ่มต้นการสำรวจเขียนแบบสภาพก่อนการอนุรักษ์โดยวิธีจ้างเหมา จากนั้นเริ่มดำเนินการขุดแต่งเคลื่อนย้ายหินหล่นในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ใช้เวลาดำเนินการมาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๔๓ โดยระหว่างนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ขณะขุดแต่งโคปุระด้านทิศตะวันออกชั้นนอก ทำแบบรูปสันนิษฐานเพื่อการบูรณะ มีการพบชิ้นส่วนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ และหินที่มีลวดลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนหน้าบัน พบจำนวน ๑๖ ชุดแต่ยังไม่ครบทั้งหมด
ในปีถัดมาปี พ.ศ.๒๕๔๑ ได้ดำเนินการบูรณะอาคารโคปุระตะวันออกชั้นนอกไปพร้อมกันด้วยโดยยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์ทดลองประกอบหินหล่นอย่างเป็นระบบให้ครบถ้วนทั้งหมดก่อน จึงบูรณะได้ขึ้นเพียงหน้าบันชั้นล่างสุด
ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ จึงได้กลับมาเริ่มต้นที่การทดลองประกอบหินหล่นทั้งหมด ทำการวิเคราะห์รูปแบบสถาปัตยกรรม ดำเนินการขุดตรวจหาขนาด ขอบเขต ของสระน้ำ และออกแบบวางแผนการบูรณะปราสาททั้งโครงการรวมทั้งฟื้นฟูสระน้ำรอบปราสาท ซึ่งในปีนั้นยังได้ทำการขุดแต่งและบูรณะทางดำเนินด้านหน้าปราสาทเป็นระยะทาง ๖๕ เมตร ได้เริ่มการบูรณะตามรูปแบบรายการตามแผนการเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๔๖ โดยเริ่มที่อาคารขนาดเล็กก่อนได้แก่ บรรณาลัย ๒ หลัง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ดำเนินการบูรณะโคปุระตะวันออกชั้นใน และในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้เริ่มการบูรณะที่ปราสาทประธาน โดยในปีแรกดำเนินการในส่วนฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอดชั้นที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ บูรณะปราสาทประธานสมบูรณ์ทั้งองค์ โคปุระเหนือ โคปุระใต้ ระเบียงคดมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้เฉพาะส่วนฐานศิลาแลง และในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ บูรณะโคปุระตะวันตก ระเบียงคดมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้(เฉพาะส่วนฐานศิลาแลง) ลานศิลาแลงภายในระเบียงคด
งานบูรณะในลำดับต่อไป ได้แก่ โคปุระเหนือ โคปุระใต้ โคปุระตะวันตก ระเบียงคดในส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ส่วนผนังอาคารและหน้าบัน งานขุดรอกฟื้นฟูสระน้ำรอบปราสาทและด้านหน้าปราสาท กำแพงแก้ว ซุ้มประตูทิศตะวันตก ทางดำเนินประดับเสานางเรียงส่วนที่เหลือทั้งด้านในและด้านนอกปราสาท งานปรับปรุงพื้นที่โดยรอบ งานพื้นฟูการกักเก็บน้ำของบาราย งานสื่อความหมายส่วนคันดินโบราณ งานก่อสร้างอาคารศูนย์ข้อมูล อาคารบริการต่างๆ และงานปรับปรุงภูมิทัศน์

1 ความคิดเห็น:

Asger mollerup กล่าวว่า...

ผมชอบ เวบไซค์ของคุณเกี่ยวกับ สด็อก ก๊ก ทม ผมก็เขียน เวบไซค์ เกี่ยวกับ สด็อก ก๊ก ทม เหมือนกัน http://www.sundial.thai-isan-lao.com/sdok-kok-thom.html
http://www.sundial.thai-isan-lao.com/sdok-kok-thom-equinox.html
ทำลิงค์ถึงคุณด้วย
Asger