วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บันทึกจากปารีส

เรื่องราวจาการเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๕ (The 35th Session of the World Heritage Committee) ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๙ มิ.ย. ๒๕๕๔ ณ ที่ทำการใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส



ความเดิม
ประเทศไทยเข้าร่วมในอนุสัญญามรดกโลกมาตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๐ ร่วมสนับสนุนการจัดทำบัญชีมรดกโลกจนทำให้เรามีแหล่งที่เป็นมรดกโลกแล้ว ๕ แหล่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ๓ แหล่ง มีแหล่งที่อยู่ในบัญชีชั่วคราวเตรียมขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีก ๒ แหล่ง ชาติภาคีสมาชิกจะผลัดกันมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกรวมทั้งการตัดสินนำแหล่งใหม่ๆเข้าสู่บัญชีมรดกโลก และพิจารณาเรื่องการปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกด้วย มีวาระ ๖ ปี (แต่ในทางปฏิบัติบังคับให้สมัครใจอยู่กันแค่ ๔ ปี – ความไม่ตรงไปตรงมาอย่างแรกที่เห็นได้) กรรมการประกอบด้วยสมาชิก ๒๑ ชาติ ประเทศไทยได้มาร่วมเป็นกรรมการแล้ว ๓ สมัย โดยในครั้งล่าสุดได้รับเลือกเข้าไปพร้อมกับกัมพูชาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ มี ดร.โสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากรในปัจจุบัน เป็นผู้แทนประเทศไทย ซึ่งยังเหลือเวลาในวาระอยู่จนถึงปี ๒๕๕๖
เรื่องเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเริ่มเป็นประเด็นปัญหาในเวทีมรดกโลก ระหว่างไทยและกัมพูชามาตั้งแต่การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๑ ในปี ๒๕๕๐ เมื่อกัมพูชาเสนอเขาพระวิหารเข้าสู่บัญชีมรดกโลก ที่มาประสบความสำเร็จได้เป็นมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๒ ในปีต่อมา แต่ก็มีการบ้านที่เขาต้องนำแผนที่ที่แสดงขอบเขตและพื้นที่กันชนอย่างชัดเจน และแผนบริหารจัดการมรดกโลกมาเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไปด้วย ชึ่งหากจะทำได้ก็ต้องมาจากการตกลงกับประเทศไทยก่อน และเมื่อไม่มีการเจรจาก็ส่งอะไรไม่ได้ การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๓ จึงให้เลื่อนการพิจารณาไปก่อน และเลื่อนต่ออีกครั้งในการประชุมครั้งที่ ๓๔ ที่ประเทศบราซิล ในปี ๒๕๕๓

ความเดิมจากตอนที่แล้ว
แม้ว่ากัมพูชาจะได้ส่งแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารแก่ศูนย์มรดกโลกเพื่อให้นำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๔ แต่ก็ไม่ได้มีการส่งให้กรรมการชาติใดได้ดูก่อนเลยนอกจากผู้เชี่ยวชาญของอิโคโมสที่ได้ทำรายงานผลการประเมิน ซึ่งมาจากพื้นฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนจากกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวอย่างที่เป็นมาตั้งแต่ต้น แต่จากความพยายามของผู้แทนไทยใน พร้อมด้วยความช่วยเหลือของประธานที่ประชุมชาวบราซิลในการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชา ทำให้ที่ประชุมไม่ได้พิจารณาเอกสารใดๆและมีมติกำหนดให้พิจารณาเอกสารที่กัมพูชาส่งมานั้นในการประชุมครั้งที่ ๓๕ ในปี ๒๕๕๔

การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๕
ยูเนสโก ปารีส ช่วงวันที่ ๑๙ – ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๔
แล้วความตึงเครียดก็วนกลับมาอีกครั้งเมื่อเราจะต้องมาลุ้นว่าจะมีการพิจารณาและรับรองแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการตีความให้เชื่อมโยงกับเรื่องของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่มีปัญหาระหว่างประเทศ ในบรรดาคณะผู้แทนประเทศไทยซึ่งมี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะ และประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานในกระทรวงต่างๆ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมี ดร.โสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร (และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมอิโคโมสไทย) ทำหน้าที่ในฐานะกรรมการมรดกโลก โดยรวมจึงมีภารกิจที่แบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ ประการแรกได้แก่การเจรจาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารโดยเฉพาะ และประการต่อมาคือการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหนึ่งในกรรมการมรดกโลก ๒๑ ชาติ
ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหารได้รับนโยบายมาจากนายกรัฐมนตรีว่าให้พยายามอย่างถึงที่สุดให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการออกไป พยายามให้มีการตกลงกันด้วยการเจรจา ๒ ฝ่ายนอกวาระมากกว่าการไปโหวตกันในที่ประชุมใหญ่ ให้ยอมได้บ้างในเรื่องที่ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตย แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็คงต้องประกาศออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกดังที่เคยได้ขอมติคณะรัฐมนตรีไว้ตั้งแต่ช่วงการประชุมครั้งที่แล้ว จึงเป็นภาระของหัวหน้าคณะและคณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ สืบเนื่องจากการเจรจาทวิภาคีซึ่งยูเนสโกได้จัดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ แต่ละฝ่ายจึงได้ร่างมติในแบบที่ตนต้องการมานำเสนอในการประชุมครั้งนี้ โดยทางกัมพูชาได้ชูประเด็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ปราสาทพระวิหารจากการยิงด้วยอาวุธหนักของกองกำลังฝ่ายไทย ที่ทั้งเป็นการประณามกล่าวโทษไทยว่าเป็นผู้ทำลายมรดกโลก และยังเป็นการเรียกร้องให้มีคณะทำงานพิเศษเข้าไปตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยการบูรณะโบราณสถานอย่างเร่งด่วนโดยเงินช่วยเหลือจากกองทุนมรดกโลก ทั้งนี้ไม่ได้กล่าวถึงแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด ร่างมติเช่นนี้ประเทศไทยย่อมไม่สามารถยอมรับได้
ระหว่างการเจรจาที่ประธานของศูนย์ ICCROM ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานในเรื่องนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนร่างของแต่ละฝ่ายให้อีกฝ่ายพิจารณา เมื่อปรากฏว่าไม่สามารถยินยอมตกลงกันได้ จึงทำให้ต้องกลับมานำร่างเดิมที่ทางยูเนสโกได้เสนอไว้มาเป็นตัวตั้งต้นอีกครั้ง โดยยินดีที่จะตัดคำที่อาจทำให้ฝ่ายไทยไม่สบายใจออกไป เช่น potential future damages, urgent repair ออก แต่ก็ยังเหลือคำว่า restoration ที่ฝ่ายไทยเกรงว่าจะนำไปสู่การเริ่มต้นของแผนบริหารจัดการ อีกทั้งโครงการบูรณะที่จะเกิดขึ้นย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับพื้นที่โดยรอบปราสาทซึ่งจะเกิดปัญหากับประเทศไทยอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีการกล่าวถึง sustainable community development ซึ่งเป็นเรื่องของพื้นที่นอกเขตมรดกโลกที่จะเป็นประเด็นปัญหา ทั้งนี้เพื่อยืนยันความไม่เร่งด่วนในการบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิสซึ่งเป็นเทคนิคการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหิน จึงได้นำภาพถ่ายเก่าของปราสาทพระวิหารจากหนังสือซึ่งจัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร เมื่อปี ๒๕๐๓ มาแสดงให้เห็นว่าการเสื่อมสภาพ ทรุดเอียง แตกร้าวต่างๆของปราสาทในปัจจุบัน ที่นักวิชาการของยูเนสโกเห็นว่าต้องรีบซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนนั้น เป็นเช่นนี้มากว่า ๕๐ ปีแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยความเป็นยูเนสโกจึงต้องย้ำอยู่เสมอถึงการปกป้องและอนุรักษ์
ในขณะเดียวกันการทำงานในบทบาทของคณะกรรมการมรดกโลกก็ได้ดำเนินไปในห้องประชุมใหญ่ตามระเบียบวาระต่างๆ วาระที่สำคัญได้แก่ วาระ 7A สถานภาพการอนุรักษ์ของมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย วาระ 7B สถานภาพการอนุรักษ์ของมรดกโลก ซึ่งเรื่องพระวิหารเป็นหนึ่งในวาระนี้ เนื่องจากยังต้องการเวลาที่จะต้องตกลงกันจึงให้ข้ามเฉพาะเรื่องนี้ไปก่อน ในขณะที่ได้มีการรับรองมติเรื่องของมรดกโลกเขาใหญ่-ดงพญาเย็นโดยไม่ได้มีการชี้แจงให้ความเห็นใดๆ วาระ 8A บัญชีชั่วคราวการเตรียมขึ้นเป็นมรดกโลก ที่ประชุมได้รับรองแหล่งมรดกใหม่ๆที่นำเสนอเข้ามาอยู่ในบัญชีนี้ รวมทั้งแหล่งใหม่ล่าสุดของประเทศไทย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และวาระ 8B การนำเสนอเข้าสู่บัญชีมรดกโลก ที่เริ่มต้นจากแหล่งทางธรรมชาติ แหล่งผสม และแหล่งทางวัฒนธรรม โดยเรียงลำดับแหล่งที่เข้าสู่การพิจารณาด้วยที่ตั้งของประเทศเรียงตามภูมิภาค
การดำเนินการประชุมในวาระต่างๆ จะเริ่มต้นด้วยข้อมูลเบื้องต้นกล่าวนำโดยศูนย์มรดกโลก ตามด้วยรายงานขององค์กรที่ปรึกษา (อิโคโมสจะเป็นผู้รายงานสำหรับแหล่งทางวัฒนธรรม) จากนั้นจะเป็นการซักถามหรือแสดงความคิดเห็นของกรรมการมรดกโลก ๒๑ ชาติ ซึ่งบรรยากาศโดยรวมในทางปฏิบัติโดยส่วนใหญ่ แม้การประเมินสถานภาพและข้อเสนอขององค์กรที่ปรึกษาจะออกมาไม่ดีนัก แต่ด้วยการร้องขอมายังกรรมการชาติต่างๆให้ช่วยเหลือ ก็มักจะผลักดันช่วยเหลือกันไปจนได้ ขอให้ได้เข้าสู่บัญชีมรดกโลกเอาไว้ก่อน ปัญหาต่างๆที่ต้องแก้ไข หรือยังต้องปรับปรุง ก็ทิ้งท้ายไว้ให้เป็นคำแนะนำ หรือสิ่งที่จะต้องนำกลับมารายงานความก้าวหน้าในการประชุมครั้งต่อไป หรือถ้าช่วยเหลือไม่สำเร็จก็อาจผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นได้ชัดถึงปัญหาร่วมที่เกิดขึ้นกับแหล่งมรดกโลกต่างๆว่า เป็นเรื่องของความพร้อมในการปกป้องและอนุรักษ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอบเขตที่ไม่ชัดเจนหรือไม่เหมาะสมของแหล่งและพื้นที่กันชน หรือเรื่องแผนการบริหารจัดการ (ไม่ใช่เฉพาะในกรณีของปราสาทพระวิหาร) ช่วงท้ายของแต่ละเรื่องก็จะเป็นการพิจารณาร่างมติ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อมีการยื่นขอแก้ไขก่อนล่วงหน้าเท่านั้น

๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ ช่วงเย็น
กลับมาทางคณะเจรจาเรื่องพระวิหารที่มาถึงจุดนี้ ก็ยังไม่ได้ร่างมติที่เห็นพ้องต้องกัน แม้ว่าจะได้ตัดถ้อยคำต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ของแต่ละฝ่ายออกไปมากแล้ว ทางฝ่ายกัมพูชาเสนอให้มีการพิจารณาความคืบหน้าของการปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์ในการประชุมครั้งหน้า โดยข้ามไม่กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการแต่อย่างใด ในขณะที่ไทยต้องการคงไว้ว่า จะมีการพิจารณาเอกสารที่เตรียมสำหรับการประชุมครั้งที่ ๓๔ (หมายถึงแผนบริหารจัดการนั้น) ในการประชุมครั้งหน้า
เมื่อตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายเลขาของที่ประชุมจึงได้แจกร่างมติที่มีข้อเสนอทั้งของกัมพูชาและของไทยในที่ประชุมเพื่อเข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระพิเศษทั้งที่ทราบถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยอาจจะลาออกจากภาคีอนุสัญญา โดยที่ทางคณะผู้แทนไทยยังไม่พร้อมเนื่องจากยังต้องรอผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกทางโทรศัพท์ ซึ่งได้นัดหมายไว้ในอีกชั่วโมงข้างหน้า จึงขอที่ประชุมให้เลื่อนวาระนี้ออกไปอีก ตามกฎของที่ประชุมเราต้องการกรรมการชาติอื่นช่วยสนับสนุนข้อเสนออย่างน้อย ๑ ชาติ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครสนับสนุน คำขอของไทยจึงตกไป ประธานจึงได้ดำเนินการต่อโดยให้พิจารณาร่างมติไปทีละข้อ ด้วยสถานการณ์ที่บีบคั้นเช่นนี้จึงทำให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยตัดสินใจประกาศลาออกจากอนุสัญญามรดกโลก และเดินนำคณะผู้แทนไทยทั้งหมดออกจากห้องประชุม
…..
เมื่อไทยออกไปจากห้องประชุมแล้วการพิจารณาร่างมติก็ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อมาถึงในข้อที่มีความเห็นเป็นสองแบบ ข้อหนึ่งของไทย ข้อหนึ่งของกัมพูชา ประธานได้ถามความเห็นที่ประชุมว่าจะเลือกแบบใด แต่ก็ไม่มีใครแสดงความคิดเห็น ประธานจึงเสนอให้ตัดออกไปทั้งหมด สรุปว่าในการประชุมครั้งหน้าก็จะไม่มีการพิจารณาสถานภาพการอนุรักษ์ของปราสาทพระวิหารอีกต่อไป ไม่ต้องรายงานทั้งความคืบหน้าในการอนุรักษ์หรือนำแผนการจัดการมาให้ที่ประชุมรับรอง

การดูงานด้านมรดกวัฒนธรรมหลังออกจากที่ประชุมมรดกโลก
๒๖ – ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ (ด้วยสิทธิ์ของสมาชิกอิโคโมส)
สมาชิกอิโคโมสสามารถใช้สิทธิ์ในการยกเว้นค่าเข้าชมโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของรัฐ หรือที่ได้มีข้อตกลงกันไว้ได้ในทุกประเทศสมาชิก เมื่อไม่มีภารกิจในที่ประชุมอีกต่อไป จึงขอใช้เวลาที่เหลือในปารีสเก็บเกี่ยวข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงานที่เมืองไทยด้วยสิทธิประโยชน์จากสมาชิกภาพนี้ ๓ วัน ๔ พิพิธภัณฑ์
Musee Guimet พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งชาติ
แม้จะต้องออกจากที่ประชุมด้วยเรื่องปราสาทพระวิหาร แต่ด้วยยังมีความชื่นชอบในศิลปะเขมรอยู่เลยได้มาใช้สิทธิ์สมาชิกอิโคโมสที่พิพิธภัณฑ์นี้เป็นแห่งแรก ใครที่มาต่างก็ต้องประหลาดใจว่าทำไมฝรั่งเศสถึงได้ไปยกโบราณวัตถุและชิ้นส่วนปราสาทของกัมพูชา ขนาดมหึมามาจัดแสดงไว้ได้มากมาย เช่น หน้าบันของปราสาทบันทายสรีที่ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมด้วยทับหลังที่ไล่เรียงตามยุคสมัยต่างๆได้อย่างครบถ้วน นอกจากห้องศิลปะเขมรยังได้ชมในส่วนที่สนใจเป็นพิเศษ เช่น ศิลปะจามปา ในเวียตนาม คันธาระ ในปากีสถานและอัฟกานิสถาน ส่วนห้องศิลปะไทยนั้นขนาดไม่ใหญ่โตนักแต่ก็มีพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามหลายองค์
Musee du Louvre พิพิธภัณฑ์ลูฟร์
คงเป็นไปไม่ได้ที่จะชมพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ให้ครบถ้วนทั้งหมดภายในวันเดียว ขนาดว่ามีโอกาสได้มาเข้าชมถึงสองวัน ผมก็ยังต้องเลือกดูในส่วนที่มีความจำเป็นกับการทำงานในช่วงนี้เท่านั้น ถือว่าบัตรอิโคโมสมีประโยชน์มากสำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวในหน้าร้อนอย่างนี้ นอกจากจะไม่ต้องเสียค่าเข้าชมแล้วยังไม่ต้องต่อแถวกลางแดดร้อน ๓๘°c รอเข้าปิระมิดแก้วทางเข้าพิพิธภัณฑ์อีกด้วย เมื่อเข้ามาด้านในที่ดูบรรยากาศของผู้คนที่พลุกพล่านขนาดนี้น่าจะเป็นศูนย์การค้ามากกว่าผมเลยมุ่งไปที่เป้าหมายแรกก่อน ได้แก่การจัดแสดงกำแพงเมือง กำแพงป้อม ของอาคารพระราชวังลูฟร์หลังแรก ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ในยุคกลาง เป็นสิ่งที่ได้ค้นพบใต้อาคารระหว่างการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ครั้งใหญ่โดยสถาปนิก I. Ming Pei เจ้าของความคิดปิระมิดแก้วและปิระมิดกลับหัวที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง ในวันต่อมาผมได้เน้นเก็บข้อมูลเรื่องการสื่อความหมายจากโบราณวัตถุที่เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ ห้องเมโสโปเตเมีย องค์ประกอบจากพระราชวังของอัสซีเรีย ในอิรัค ห้องเปอร์เซีย องค์ประกอบจากพระราชวังดาริอุส ในอิหร่าน และห้องกรีก องค์ประกอบจากพาร์เธนอนแห่งเอเธนส์ สรุปว่าไม่มีเวลาไปทักทาย “โมนาลิซา” เลย
Musee d’Orsay พิพิธภัณฑ์ศิลปะในศตวรรษที่ ๑๙ และต้นศตวรรษที่ ๒๐
จากอดีตของสถานีรถไฟที่กำลังจะถูกรื้อ ที่ได้มีการออกแบบปรับปรุงมาเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุดพิพิธภัณฑ์หนึ่งในปัจจุบันโดยพิจารณาจากปริมาณผู้เข้าชม เป้าหมายที่โดดเด่นที่สุดอยู่ที่ภาพเขียนในแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ ไม่ว่าจะเป็น โมเนท์ มาเน่ท์ เรอนัวร์ หรือ แวน โกก์ ทำให้ในวันนี้แม้จะถือบัตรอิโคโมส ก็ยังต้องต่อคิวรอเดินเข้าอาคารเป็นชั่วโมงอยู่เหมือนกัน ขนาดว่าเป็นทางเข้าเฉพาะสำหรับผู้ที่มีตั๋วแล้วหรือได้รับการยกเว้นค่าเข้าชมในกรณีต่างๆ แล้ว เมื่อเข้าไปชมงานศิลปะภายในแล้วยิ่งแล้วใหญ่ ด้วยปริมาณผู้เข้าชมที่มากจนเกินไปได้ทำให้ความเพลิดเพลินในการชื่นชมงานศิลป์หายไปอย่างน่าเสียดาย แต่สำหรับที่นี่แค่ได้สัมผัส space และการตกแต่งด้วยเหล็กหล่อของสถานีรถไปเดิมก็คุ้มแล้ว
Musee du quai Branly พิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นถิ่นอัฟริกา เอเซีย หมู่เกาะ และอเมริกา ใหม่ล่าสุดตีนหอไอเฟล
ที่นี่เปิดมาได้เป็นปีที่ ๕ เท่านั้น จึงถือเป็นความทันสมัยแปลกใหม่ที่สุดที่เราได้มาชมกันในครั้งนี้ เดินผ่านหอไอเฟลมาเล็กน้อยก็จะพบกับผนังสวนแนวดิ่งขนาดใหญ่ เป็นจุดเริ่มของอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ต่อกับผนังกระจกใสขนาดยักษ์ที่มองทะลุเข้าไปเห็นป่าไม้และพงหญ้ารกด้านในที่เป็นส่วนด้านหน้านำไปสู่ทางเข้าชมนิทรรศการที่ต้องลอดใต้ช่วงกลางของอาคาร ทะลุออกไปอ้อมเข้าอาคารทางด้านหลัง เมื่อเข้าสู่ภายในก็เดินต่อขึ้นไปตามทางลาดที่เลื้อยเป็นงู เข้าไปสู่โถงนิทรรศการที่แยกออกเป็นส่วนๆ ตามภูมิภาค ด้วยผนังเตี้ยที่มีลักษณะคล้ายกับกำแพงดิน เป็นนิทรรศการที่สวยงาม น่าสนใจด้วยวัตถุที่นำมาจัดแสดง ด้วยการออกแบบนิทรรศการที่ทันสมัย และยังเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ชนะการประกวดแบบ ผลงานของ Jean Nouvel สถาปนิกที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสในปัจจุบันอีกด้วย รายการนี้ประหยัดไปอีก ๑๐ ยูโร

แม้ว่าประเทศไทยจะได้ประกาศที่จะออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกในที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๕ ไปแล้ว แต่ตามขั้นตอนยังจะต้องมีจดหมายอย่างเป็นทางการจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก่อน และนับจากวันที่ทางยูเนสโกได้รับจดหมายไปอีกหนึ่งปีจึงจะถือว่าเป็นการออกจากภาคีอนุสัญญาโดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงยังต้องถือว่าประเทศไทยยังไม่ได้ออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก และยังคงเดินหน้าปฏิบัติภารกิจในฐานะกรรมการมรดกโลกต่อไป สำหรับการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๖ ในปี ๒๕๕๕ ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างก็เคยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนั้น ในที่สุดคณะกรรมการก็สนับสนุนให้รัสเซียได้เป็นสถานที่จัดการประชุม

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

รางวัลผลงานวิจัย ดีเด่น ประเภทนิสิตดุษฎีบัณฑิต ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.๒๕๕๓

ผลงานวิจัยเรื่อง อนัสติโลซิสเพื่อการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม (AN ANASTYLOSIS FOR THE RESTORATION OF SDOK KOK THOM TEMPLE) โดย วสุ โปษยะนันทน์ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก ผศ.ดร. ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์




ผลงานวิจัยโดยสรุป

วิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินที่เรียกว่า “อนัสติโลซิส” โดยการวิจัยมีเป้าหมายที่จะหาแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมกับสังคมในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังประสบอยู่จากการปฏิบัติงานของกรมศิลปากร เพื่อกำหนดแนวคิดที่นำมาใช้ในการอนุรักษ์ เพื่อประเมินผลการบูรณะ ศึกษาสภาพปัญหาและเก็บข้อมูลจากการบูรณะที่ปราสาทประธานซึ่งจะใช้เป็นโมเดลทดสอบสมมติฐาน และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์นำมาสรุปเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการบูรณะในโครงการ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับการบูรณะปราสาทหินแหล่งอื่นๆ ต่อไปด้วย ขอบเขตของการวิจัยจึงอยู่ภายใต้กรอบของการอนุรักษ์โบราณสถานด้วยวิธีอนัสติโลซิส เน้นพื้นที่ศึกษาที่การดำเนินการบูรณะที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ในเรื่องแนวความคิดของการอนุรักษ์มีสมมติฐานที่จะค้นพบความสมดุลระหว่างการรักษา ความแท้ และ การสื่อความหมาย คุณค่าของโบราณสถานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มรดกวัฒนธรรม วิธีการวิจัยได้เริ่มต้นจาก การทบทวน สารสนเทศงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง งานศึกษาในช่วงก่อนหน้านี้ของผู้วิจัยเกี่ยวกับอนัสติโลซิส รวบรวมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งแนวคิดของ ดร.สัญชัย หมายมั่น ผู้เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ปราสาทหินในประเทศไทย ขั้นตอนต่อมาคือการศึกษาในพื้นที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยการสำรวจและวิเคราะห์การดำเนินการบูรณะที่ได้ดำเนินการมาทั้งในแง่การบริหารจัดการและด้านเทคนิควิธีการ นำมาสู่กรณีของการบูรณะปราสาทประธาน ซึ่งผู้วิจัยต้องการนำเสนอและวิเคราะห์แนวคิดในการบูรณะบนพื้นฐานของประเด็นความแท้ และการสื่อความหมาย และขั้นตอนสุดท้ายได้แก่ การสรุปเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธมและโบราณสถานอื่นๆ

ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ในการดำเนินการที่ปราสาทประธาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโบราณสถาน ได้ทดลองนำแนวคิดด้านการสื่อความหมายมาผสานหาสมดุลกับความแท้ ตามทิศทางของแนวคิดการอนุรักษ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และกำหนดขั้นตอนวิธีการทำงานเพิ่มเติมขึ้นเพื่อจะได้แก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตถือว่าได้บรรลุตามเป้าหมาย สามารถสื่อสารให้ผู้มาเยี่ยมชมได้เข้าใจถึงคุณค่าและความหมายของโบราณสถานได้เป็นอย่างดี เป็นพัฒนาการของแนวทางที่นำมาใช้เป็นตัวกำหนดในการออกแบบอนุรักษ์ อย่างไรก็ตามในรายละเอียดยังคงมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขอยู่ ซึ่งได้สรุปไว้เป็นข้อเสนอแนะต่อกรมศิลปากรสำหรับการปรับแก้ไขและใช้กับแหล่งโบราณสถานประเภทหินอื่นๆ ที่มีปัจจัยแวดล้อมใน ลักษณะเดียวกันต่อไป ทั้งทางด้านการบริหารจัดการ แนวความคิดในการอนุรักษ์ และในแต่ละขั้นตอนของการทำงาน

















สิ่งที่ดีเด่นของงานวิจัย เป็นการศึกษาในเรื่องแนวคิดและวิธีการในการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินที่จะเป็นประโยชน์ในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาในการทำงานที่พบในการดำเนินการในอดีต มาจนถึงในปัจจุบัน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและได้วิธีที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการและการแก้ไขส่วนที่ดำเนินการไปแล้วที่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตลอดจนเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้เป็นแบบอย่างกับการดำเนินการด้วยวิธีอนัสติโลซิสนี้ที่โบราณสถานแหล่งอื่นๆต่อไป และอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันนี้กับโบราณสถานประเภทหินในต่างประเทศด้วย เนื่องจากในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้จัดทำข้อเสนอแนะไว้อย่างละเอียดในทุกขั้นตอนของการทำงานอย่างที่ไม่มีมาก่อน สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ นอกจากในส่วนที่ได้อยู่ระหว่างการดำเนินการที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม จนถึงปัจจุบันคำแนะนำจากวิทยานิพนธ์เล่มนี้ยังได้นำไปใช้แล้วกับงานบูรณะโบราณสถานประเภทหินอีกหลายแหล่งในการดำเนินการของกรมศิลปากร ได้แก่ ปราสาทพนมวัน โคปุระชั้นนอกปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา และกู่บ้านเมย จ.ขอนแก่น เพื่อการบูรณะโบราณสถานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีมาตรการในการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ไม่สร้างความเสียหายกับคุณค่าของโบราณสถาน และลดการสูญเสียงบประมาณของรัฐในส่วนที่ไม่จำเป็น

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

ยูเนสโกและความช่วยเหลือในการบูรณะปราสาทพระวิหาร

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณพื้นที่พิพาท ๔.๖ ตารางกิโลเมตร รวมทั้งบริเวณปราสาทพระวิหารที่กองกำลังของกัมพูชาใช้เป็นที่หลบกำบังทางทหารนั้น นอกจากการส่งนาย Koichiro Matsuura มาในฐานะผู้แทนพิเศษของยูเนสโก เพื่อเข้าพบเจรจากับผู้นำของทั้งสองชาติ ที่ได้นำมาสู่การนัดหมายที่จะเปิดการหารือ ๒ ฝ่าย ที่อาคารสำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๕ โดยที่ทางผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกได้ชี้แจงว่าไม่ประสงค์จะเจรจาในเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง ด้วยตระหนักถึงอาณัติขององค์กรดี ว่ายูเนสโกมีหน้าที่เฉพาะเพียงการคุ้มครองแหล่งมรดกโลกและการสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้มีการพูดคุยแก้ไขปัญหาอย่างฉันมิตรเท่านั้น ทางผู้อำนวยการใหญ่ฯ ยังได้กล่าวว่าเหตุการณ์ปะทะกันดังกล่าว ทำให้ปราสาทพระวิหารบางส่วนได้รับความเสียหาย ทั้งยูเนสโกและรัฐภาคีสมาชิกต่างก็มีความห่วงกังวลและประสงค์จะให้ความช่วยเหลือในการบูรณะซ่อมแซม แต่ก็ตระหนักถึงความอ่อนไหวของเรื่องนี้ และคิดว่าคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการพิจารณา จึงต้องการจะทราบความเห็นของฝ่ายไทยเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของยูเนสโกในเรื่องนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศจึงได้ขอความอนุเคราะห์กรมศิลปากรให้พิจารณาและให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของยูเนสโกที่จะให้ความช่วยเหลือในการบูรณะปราสาทพระวิหารนี้ เมื่อเรื่องนี้ได้มอบหมายมาที่กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถานในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการบูรณะโบราณสถาน ก็ได้มีความเห็นผ่านไปทางผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีดังนี้

๑. ลักษณะการก่อสร้างของปราสาทพระวิหาร มีการใช้หินทรายซึ่งมีความคงทนเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และยังเป็นการสร้างอาคารบนพื้นหินของภูเขาที่มีความมั่นคง จึงทำให้มีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของฐานรากเพียงบางส่วนเท่านั้น และแม้ว่าหินของอาคารจะตกหล่นพังทลายลงมา ก็ยังสามารถดำเนินการอนุรักษ์ให้กลับมาสมบูรณ์ตามสภาพดั้งเดิมได้ด้วยวิธีการที่เรียกว่า อนัสติโลซิส
๒. ตัวอย่างกรณีของปราสาทประธานของปราสาทพระวิหาร ที่ส่วนยอดหักพังลงมาทั้งหมด ในอนาคตก็สามารถกลับคืนสู่สภาพดั้งเดิมได้ด้วยการใช้วิธีอนัสติโลซิสนี้ ทั้งนี้ปราสาทประธานได้พังทลายลงมาเป็นเวลานานแล้ว
๓. การอนุรักษ์ด้วยวิธีอนัสติโลซิสนี้ มีกระบวนการในการดำเนินการที่ค่อนข้างซับซ้อน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานหลายปีสำหรับแต่ละอาคาร จะต้องใช้พื้นที่ที่อาจจะออกมานอกขอบเขตบริเวณที่เป็นมรดกโลก อันได้แก่พื้นที่พิพาท (แม้แต่การขนส่งเคลื่อนย้ายวัสดุและอุปกรณ์ในการทำงานก็ต้องผ่านทางพื้นที่พิพาททั้งสิ้น) การดำนินการดังกล่าวหากไม่ได้รับการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายก็จะเป็นประเด็นปัญหาขัดแย้งขึ้นแน่นอน และเนื่องจากการอนุรักษ์ด้วยวิธีอนัสติโลซิสนี้สามารถรอได้เมื่อมีความพร้อม ในระหว่างนี้จึงควรอนุรักษ์ด้วยวิธีในขั้นพื้นฐาน เช่น การค้ำยัน การป้องกันการเสื่อมสภาพเบื้องต้นไว้ก่อนเท่านั้น
๔. ความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เท่าที่เห็นจากภาพถ่ายเป็นเพียงรอยกระสุนบนเนื้อหิน ที่ไม่ได้รุนแรงขนาดทำให้โครงสร้างหลักของอาคารพังทลาย หรือเกิดผลกระทบกับเสถียรภาพของอาคาร ทั้งนี้การซ่อมแซมรอยกระสุนดังกล่าวไม่สามารถใช้วิธีอนัสติโลซิสได้ แต่ต้องใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มีผลกระทบกับความมั่นคงแข็งแรงของโบราณสถานเราก็อาจตัดสินใจเก็บรักษาร่องรอยความเสียหายเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันสืบเนื่องมาจากการที่กำลังทหารของกัมพูชาเข้ามาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นที่กำบัง จึงเป็นผลให้เกิดความเสียหายที่เลี่ยงไม่ได้นี้

นอกจากความเห็นในประเด็นด้านเทคนิคการบูรณะของกรมศิลปากรนี้ ก็คงจะมีประเด็นเรื่องผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการบูรณะว่าจะเป็นคณะทำงานจากประเทศใด มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการบูรณะโบราณสถานประเภทหินด้วยวิธีอนัสติโลซิสอย่างดีจริงหรือไม่ การดำเนินการบูรณะถือว่าขัดต่อข้อตกลงใน MoU 43 หรือไม่ (อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการที่เราต้องหยุดการบูรณะปราสาทตาเมือนธมด้วยเหตุนี้มาแล้ว) การยกเลิก MoU จะมีผลเช่นไรในกรณีนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการรักษาคุณค่าของมรดกโลกปราสาทพระวิหารอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องทางการเมือง

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

วัดอัปสรสวรรค์ วรวิหาร

วัดอัปสรสวรรค์ วรวิหาร ตั้งอยู่ที่ แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร แต่เดิมมีชื่อว่า วัดหมู กล่าวกันว่าได้สร้างในที่ดินที่เคยใช้เลี้ยงหมู เมื่อสร้างวัดแล้วก็ยังมีหมูเดินไปมาในวัดจึงเรียกว่า วัดหมู บ้างก็ว่าเศรษฐีจีนชื่อ “อู๋” เป็นผู้สร้างวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดอู๋บ้าง วัดจีนอู๋บ้าง แล้วเพี้ยนไปจนติดปากว่า วัดหมู แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ครั้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าจอมน้อย ผู้เป็นธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ใคร่จะปฎิสังขรณ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บิดา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สถาปนาใหม่ทั้งวัด และพระราชทานนามว่า วัดอัปสรสวรรค์ เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนมีฉายาเรียกกันว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง นอกจากนี้ยังได้พระราชทาน พระพุทธรูปปางฉันสมอ มาประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ด้วย พระอุโบสถและพระวิหาร เป็นสิ่งก่อสร้างในรูปแบบพระราชนิยมที่ได้รับอิทธิพลของศิลปะจีน ตามแบบอย่างจากวัดราชโอรสาราม ฯ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานจำนวน ๒๘ องค์ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยที่มีลักษณะและขนาดเท่ากันทั้งหมด ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีร่วมกัน ที่ฐานของพระพุทธรูปปรากฏพระนามของแต่ละองค์จารึกไว้ทุกองค์ ลักษณะเช่นนี้ถือว่ามีแห่งเดียวในโลก และที่ด้านข้างพระอุโบสถยังมีหอพระไตรปิฎกไม้ตั้งอยู่ในสระน้ำ ที่มีรูปแบบศิลปะสืบเนื่องมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา เป็นหอไตรที่มีทรวดทรงงดงาม สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จทอดพระเนตรแล้วนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อจัดรูปหอเขียนสมัยอยุธยาที่วังสวนผักกาด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญระดับชาติตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ บันทึกในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๔ ตอนที่พิเศษ ๗๕ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐หอพระไตรปิฎก เป้าหมายการทำงานในโครงการใหม่ของกรรมาธิการอนุรักษ์ สถาปัตยกรรมไทยประเพณี สมาคมสถาปนิกสยามฯ

วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประเด็นการวิเคราะห์เบื้องต้นแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร


ความนำ
ราชอาณาจักรกัมพูชาได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ และนำเสนอเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ ๓๑ ณ เมืองไครสเชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ซึ่งได้ระบุเงื่อนไขไว้ ๓ ประการว่า หากแม้นกัมพูชามีความเข้มแข็งในการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร หากแม้นกัมพูชาเสนอแผนการจัดการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร ภายในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์๒๕๕๑ และหากแม้นราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยสนับสนุนและประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ราชอาณาจักรกัมพูชาจักประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๒ ณ เมืองควิเบค ประเทศแคนาดา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีประกาศว่าได้ดำเนินการจนบรรลุผลดีมากยิ่ง กว่าเงื่อนไข ปราสาทพระวิหารได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมรดกโลกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยเกณฑ์คุณสมบัติข้อที่ ๑ คือ คุณค่าความโดดเด่นเป็นสากลทางด้านการเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ โดยที่ข้อทักท้วงและข้อเสนอในการขึ้นทะเบียนร่วมจากราชอาณาจักรไทยไม่ประสบผลสำเร็จ
ที่ประชุมระบุว่าหากมีผลงานวิจัยทางโบราณคดีที่อาจเกี่ยวเนื่องกับขอบเขตข้ามพรมแดนของแหล่งแนวใหม่ จักต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายกัมพูชาจักต้องประสานกับฝ่ายไทยในการปกป้องคุ้มครองคุณค่าของสมบัติวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงประชาชนของทั้งสองฝ่ายรอบอาณาบริเวณ ที่ได้เชิดชูบูชาปราสาทพระวิหารมาช้านาน
นอกจากนี้ที่ประชุมขอให้ฝ่ายกัมพูชาจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานนานาชาติเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหาร(ICC) โดยให้ราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๓ ณ เมืองเซบิย่า ประเทศสเปน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ราชอาณาจักรกัมพูชาจะต้องเสนอแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารและเขตกันชนรวมทั้งแผนที่ให้กับคณะกรรมการมรดกโลกภายในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
และในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๔ ณ กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล คณะกรรมการมรดกโลกรับแผนการบริหารจัดการของราชอาณาจักรกัมพูชาและจะพิจารณาแผนนี้ในการประชุม สมัยที่ ๓๕ ในปี ๒๕๕๔

ข้อพิจารณา
หากพิจารณาจากเอกสารที่ราชอาณาจักรกัมพูชานำเสนอ มีข้อทักท้วงที่สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องกับมติของคณะกรรมการมรดกโลก ดังนี้
๑ แผนการบริหารจัดการไม่ส่งเสริมคุณค่าความโดดเด่นที่เป็นสากล
๒ แผนบริหารจัดการไม่ส่งเสริมให้มีคณะกรรมการประสานงานนานาชาติเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหาร
๓ แผนบริหารจัดการยังคงแสดงให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องเขตแดน

ประเด็นที่ ๑ แผนการบริหารจัดการไม่ส่งเสริมคุณค่าความโดดเด่นที่เป็นสากล {Outstanding Universal Value – (OUV)} ในเรื่องคุณค่าที่แท้จริงและความครบถ้วนของแหล่ง (Integrity)

· ในบทที่ ๒ ของแผนการจัดการได้เขียนคำอธิบายในวงเล็บหลังชื่อปราสาทพระวิหารว่า “the temple of the sacred mountain” ทั้งๆที่ไม่ใช่ความหมายหรือคำแปลของชื่อปราสาทแต่อย่างใด อาจจะเพี้ยนมาจากความหมายของเขาพระวิหารที่หมายถึงภูเขาที่เป็นที่ตั้งของศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องชื่อนี้ สืบเนื่องมาจากการที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เสด็จมายังปราสาทแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ ได้จารึกพระนามและร.ศ.ที่ค้นพบปราสาทไว้ที่เป้ยตาดี ทรงขนานนามปราสาทว่า ปราสาทพรหมวิหาร ซึ่งเรียกกันทั่วไปต่อมาว่า ปราสาทพระวิหาร[1] และแปลเป็นสำเนียงภาษาเขมรว่า Preah Vihear ในขณะที่ชื่อดั้งเดิมของปราสาทตามจารึกได้แก่ ศีรศิขเรศวร แปลว่า ภูเขาแห่งพระอิศวร
· ในแผนการจัดการนี้มีการแสดงความสัมพันธ์ของปราสาทพระวิหารกับแหล่งมรดกอื่นทั้งในราชอาณาจักรกัมพูชาและในภูมิภาคใกล้เคียง ในฐานะส่วนยอดสามเหลี่ยมของพื้นที่วัฒนธรรมสมัยเมืองพระนครและสมัยก่อนเมืองพระนคร นอกเขตประเทศกัมพูชายังได้แสดงความเชื่อมโยงจากเมืองพระนครมาสู่ปราสาทพระวิหารต่อไปยังปราสาทวัดพูใน สปป.ลาว และมิเซินในเวียดนาม ทั้งที่ตามหลักฐานทางโบราณคดี เส้นทางโบราณจากเมืองพระนครไปยังปราสาทวัดพูไม่ได้ผ่านทางปราสาทพระวิหาร[2] (ระหว่างพระวิหารและวัดพูน่าจะมีการเชื่อมต่อกันทางแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงที่อยู่ในด้านพื้นที่ของประเทศไทยมากกว่า) และทั้งๆที่มีแหล่งโบราณสถานสำคัญอื่นๆซึ่งเชื่อมโยงกับเมืองพระนครที่อยู่ในประเทศไทย เช่น ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง กลับไม่ได้มีการเชื่อมโยงแสดงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่จะนำมาพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวได้ เป็นการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการขึ้นมาอย่างไม่ครบถ้วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการไม่ให้ประเทศไทยเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
· ในประเทศไทยมีหลักฐานของอารยธรรมขอมที่เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยเจนละในยุคก่อนเมืองพระนคร(ก่อนการก่อตั้งเมืองพระนครเป็นเมืองหลวง) ร่วมสมัยกับปราสาทวัดพู เรื่อยมาจนถึงยุคเมืองพระนคร และยังเป็นถิ่นฐานของราชวงศ์มหิธรปุระซึ่งได้ไปครองราชย์ที่เมืองพระนคร[3] ดังเช่นพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทนครวัด หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผู้สร้างนครธม ก็อยู่ในราชวงศ์นี้ แม้แต่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ผู้สร้างปราสาทพระวิหารเองก็ทรงมาจากราชวงศ์ใหม่ที่มีฐานอำนาจจากนอกพื้นที่ราชอาณาจักรกัมพูชาเช่นเดียวกัน[4] จึงมีการสร้างปราสาทขอมในบริเวณตั้งแต่แนวทิวเขาพนมดงรักขอบสูงสุดของที่ราบสูง เป็นต้นน้ำที่ไหลลงมารวมกันเป็นแม่น้ำมูลก่อนจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำชีออกสู่แม่น้ำโขง เกิดเป็นเมืองและชุมชนโบราณมากมาย ในดินแดนที่เรียกว่าเขมรสูง แม้แต่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับปราสาทพระวิหารนี้ก็มีเมืองโบราณและปราสาทหินหลายหลัง(๑๑ แหล่ง)[5] เช่น ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งมีจารึกที่ข้อความชี้ชัดว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับปราสาทพระวิหาร และในปัจจุบันก็ยังมีประชาชนที่สืบเชื้อสายและวัฒนธรรมจากอดีตพูดภาษาเขมรในพื้นที่ ข้อมูลทั้งหมดนี้สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในดินแดนอิสานใต้และปราสาทพระวิหาร จึงเหมือนว่าเป็นการละเลยข้อเท็จจริงดังกล่าวในแผนการจัดการนี้
· ข้อมูลการตีความวิเคราะห์ความสำคัญของปราสาทที่กล่าวถึงเฉพาะในทิศทางที่เป็นพื้นที่ของกัมพูชาเท่านั้น เป็นการดำเนินการทางวิชาการที่ไม่ครบถ้วน ที่อาจมีนัยตามความวัตถุประสงค์ที่จะไม่ให้มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ซึ่งหากย้อนไปดูการตีความในช่วงแรกโดยผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสจะเห็นว่าเคยให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์ของภูเขา ๕ ยอด ที่หมายถึงเขาพระสุเมรุ โดยมีเขาพระวิหารเป็นยอดสูงสุดตรงกลาง ต่อมาเมื่อผู้เชี่ยวชาญอินเดียได้เข้ามาร่วมในคณะก็เปลี่ยนเป็นเขา ๓ ยอดตามลักษณะตรีศูลอาวุธของพระศิวะและกล่าวว่าแนวแกนเหนือ-ใต้ ของปราสาทหมายถึงส่วนด้ามของตรีศูล[6] และล่าสุดตามข้อมูลในแผนการจัดการกลับกล่าวว่าภูเขา ๓ ยอดได้แก่ เขาพระวิหาร ภูมะเขือ และเขาสัตตะโสม หมายถึง ตรีมูรติ ได้แก่ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม แสดงให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือของข้อมูลทางวิชาการ จากการที่สามารถเปลี่ยนไปได้เรื่อยเนื่องจากเป็นการตีความแบบคิดเอาเอง ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่โดยละเอียดหรืออ้างอิงเอกสารวิชาการในอดีตที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งในทางปฏิบัติทางกัมพูชายังได้สร้างเสาส่งสัญญาณที่ภูมะเขือ ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของหนึ่งในเทพทั้งสาม เป็นการไม่ให้ความเคารพแก่พื้นที่ตามที่ตีความนี้เลย ความจริงที่ภูมะเขือและเขาสัตตะโสมยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีแต่อย่างใดในขณะที่ในยอดที่อยู่ถัดไปทางตะวันออกเป็นที่ตั้งของปราสาทโดนตวลที่ร่วมสมัยกับปราสาทพระวิหาร[7] แต่ไม่มีการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญ
· ในบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารตั้งแต่บนยอดเขาไล่ต่อลงมาจนถึงในพื้นที่ของประเทศไทยล้วนพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสำคัญหลายจุด ไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ทางด้านตะวันตกของปราสาทตามที่ระบุในแผน เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดจากความไม่ครบถ้วน ซึ่งจะไม่สามารถนำไปสู่แผนการจัดการที่ดีได้ หลักฐานทางโบราณคดีที่ต่อเนื่องในเขตประเทศไทยประกอบด้วย รูปสลักศิวลึงค์ เขื่อนโบราณและสระตราว เขื่อนโบราณบริเวณใกล้บันไดใหญ่ (ในพื้นที่ที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์) เพิงหินและภาพสลักผามออีแดง ถ้ำขุนศรี แหล่งตัดหิน สถูปคู่ ปราสาทโดนตวล และชุมชนโบราณ”กุรุเกษตร”[8]
· ปราสาทพระวิหาร เป็นสุดยอดของการเลือกที่ตั้งสำหรับการก่อสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สื่อถึงเขาไกรลาศที่สถิตของพระศิวะ ผู้เป็นเทพสูงสุดของลัทธิไศวนิกายในศาสนาฮินดู ด้วยภูเขาที่มีหน้าผาสูงทัศนียภาพประดุจสรวงสวรรค์ เป็นสุดยอดของงานสถาปัตยกรรมขอมที่มีการออกแบบอย่างเยี่ยมยอดทั้งด้วยความงามทางศิลปะสถาปัตยกรรม และด้วยการจัดลำดับการเข้าถึงที่เน้นให้เกิดความสง่างาม จากทางเข้า ผ่านซุ้มโคปุระชั้นต่างๆ ตามทางเดินที่ประดับด้วยเสานางเรียงที่ช่วยนำสายตา สู่เทวาลัยชั้นสูงสุด มีการวางแนวแกนสอดคล้องกับลักษณะทางภูมิประเทศของที่ตั้งจากทิศเหนือมาสู่ทิศใต้ แม้ทางเข้าทางทิศเหนือจะมิใช่ทางเข้าออกเพียงทางเดียวของปราสาทดังปรากฏหลักฐานร่องรอยบันไดที่เชื่อมต่อกับที่ราบเบื้องล่างทางทิศตะวันออก และทางเดินยกระดับด้านทิศตะวันตก เมื่อพิจารณาในเรื่องของขนาดและทิศทางแนวแกนแล้วก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเพียงทางเข้าที่มีความสำคัญในระดับรองลงไปเท่านั้น แต่ในแผนการจัดการนี้กลับกล่าวว่าบันไดทางด้านตะวันออกเป็นทางเข้าหลัก และการเข้าถึงที่ดีที่สุดในอันที่จะสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของปราสาทพระวิหารคือจากที่ราบทางทิศใต้ ทั้งที่เมื่อพิจารณามุมมองจากพื้นราบที่หันสู่ปราสาทพระวิหาร ตลอดเส้นทางถนนในปัจจุบัน จะพบว่ามีเพียงมุมมองจากด้านตะวันออกเท่านั้นที่สามารถสังเกตเห็นสิ่งก่อสร้างของปราสาทพระวิหารได้
นอกจากนี้แผนการจัดการยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนและความเหมาะสมในด้านการจัดการและการอนุรักษ์ดังนี้
· โดยปกติในการจัดทำแผนการจัดการควรจะต้องมีความชัดเจนของขอบเขตพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อน ในกรณีที่มีปัญหาจึงจะต้องมีการหารือตกลงกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนได้ส่วนเสียก่อน ดังจะเห็นได้จากการที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้กัมพูชาส่งแผนที่ที่แสดงขอบเขตของโซนนิ่งต่างๆ ที่ชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยส่งแผนการจัดการฉบับเต็มภายหลัง แต่ที่ผ่านมาการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีการเจรจากับประเทศไทยจึงไม่มีการส่งแผนที่ที่ชัดเจนก่อนการนำเสนอแผนการจัดการในครั้งนี้ซึ่งจะถือว่าเป็นการข้ามขั้นตอนที่ขัดต่อมติของคณะกรรมการมรดกโลกหรือไม่
· ในเอกสารมีการกำหนดขอบเขตของพื้นที่ต่างๆ แบ่งเป็น พื้นที่มรดกโลก พื้นที่กันชน และพื้นที่ปกป้องภูมิทัศน์ โดยใช้แผนที่แสดงขอบเขตของพื้นที่ต่างๆ แต่ในหน้าที่ควรจะเป็นผังแสดงพื้นที่กันชนนั้นข้อมูลกลับขาดหายไป (หน้า ๕๓) ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าพื้นที่กันชนตามคำอธิบายน่าจะตรงกับพื้นที่ที่ปรากฏในผังแสดงตำแหน่งบาราย (หน้า ๖๒) เป็นความไม่ชัดเจนของเอกสาร
· มีการอธิบายถึงพื้นที่กันชนว่าไม่รวมพื้นที่ทางด้านทิศเหนือและตะวันตกของปราสาท (เรียกว่าพื้นที่นอกเขตกันชน หมายถึงพื้นที่ที่ประเทศไทยยังอ้างสิทธิ์) โดยไม่มีขอบเขตชัดเจนว่าไปสุด ณ ที่ใด โดยระบุว่าเป็นการกำหนดพื้นที่กันชนแบบชั่วคราวจนกว่าจะมีการตกลงกันโดย JBC ระหว่างไทยและกัมพูชา ในขณะที่ได้มีการเสนอให้ขยายพื้นที่กันชนออกไปให้ครอบคลุมบารายด้านตะวันตกและตะวันออก ปราสาทโต๊ด (ตามข้อมูลเดิมเรียกปราสาทมณีวงศ์)[9]ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านโกมุย รวมทั้งพื้นที่ด้านทิศใต้ของปราสาทเพื่อรักษาพื้นที่ประวัติศาสตร์โบราณคดีและสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งเมื่อดูตามผังแสดงพื้นที่โดยรวมในหน้า ๕๔ พื้นที่กันชนที่เสนอให้ขยายนี้น่าจะหมายถึง Zone 2a และ 2b จะเห็นว่าการขยายพื้นที่ดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ทางทิศใต้ของปราสาทเท่านั้น แต่ยังมีขอบเขตมาถึงพื้นที่เขตแดนระหว่างประเทศด้วย จึงจำเป็นจะต้องเป็นการหารือกับประเทศไทยในการทำงานของ JBC ด้วยเช่นเดียวกัน
· แม้ผังแสดงพื้นที่กันชนจะขาดหายไป หรือในผังแสดงตำแหน่งบารายที่ให้ข้อมูลขอบเขตของพื้นกันชนชั่วคราวนี้ได้ จะไม่ได้แสดงเส้นเขตแดนระหว่างประเทศที่อาจจะเป็นประเด็นปัญหาให้ฝ่ายไทยคัดค้าน แต่ในเอกสารและผังที่แจกในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่บราซิเลีย ก็ได้แสดงเส้นและระบุว่าเป็นเขตแดนระหว่างประเทศตามที่กัมพูชายึดถือไว้ด้วยทางด้านทิศเหนืออย่างชัดเจน รวมทั้งผังแสดงพื้นที่โดยรวมในแผนการจัดการ หน้า ๕๔ และ ๖๓ ที่แสดงพื้นที่กันชนซึ่งเสนอให้ขยายเพิ่มเติมและพื้นที่ปกป้องภูมิทัศน์โดยรอบ ก็ได้ใช้เส้นเขตแดนระหว่างประเทศเป็นขอบเขตทางทิศเหนือที่จะต้องอยู่ในการดูแลของ JBC ด้วยทั้งสิ้น
· ขอบเขตพื้นที่กันชนชั่วคราวด้านทิศเหนือทางซ้ายของปราสาทใช้ขอบหน้าผาเป็นเขตลากมาเชื่อมกับตัวปราสาทให้คลุมพื้นที่เป้ยตาดีแบบไม่มีจุดอ้างอิง ในขณะที่ทางขวาของปราสาทเป็นพื้นที่กันชนทั้งหมดที่มีทางเดินโบราณช่องบันไดหักเป็นเขต ส่วนทางด้านอื่น ใช้เส้นถนนขึ้นเขาทางทิศตะวันตก ถนนทางทิศใต้ และถนนด้านทิศตะวันออกเป็นแนวขอบเขตพื้นที่ แสดงถึงการกำหนดพื้นที่เพื่อการจัดการที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงเห็นควรที่จะขยายพื้นที่ให้เป็นพื้นที่กันชนทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเฉพาะในฝั่งถนนหรือทางเดินข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีมาตรการในการควบคุมดูแลเพียงข้างเดียวในขณะที่ไม่มีการควบคุมในฝั่งตรงข้ามที่อยู่ต่อเนื่องกัน
· นอกจากพื้นที่กันชนยังมีการกำหนดเป็นพื้นที่ปกป้องภูมิทัศน์ที่ระบุว่าเป็นการปกป้องคุ้มครองในลำดับถัดมา ทั้งพื้นที่กันชนและพื้นที่ปกป้องภูมิทัศน์ได้ระบุให้ควบคุมการก่อสร้างให้มีน้อยและเพียงเท่าที่มีความจำเป็น ห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างหรือการพัฒนาขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่แสดงถึงมาตรการที่ใช้ในการควบคุมและความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสองประเภทนี้ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆที่แยกเป็นส่วนต่างๆตามผังก็ยังไม่มีรายละเอียดของการดำเนินการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ที่ชัดเจนแต่อย่างใด จึงถือได้ว่ายังเป็นแผนการจัดการที่ไม่สมบูรณ์
· ในแผนการจัดการกล่าวถึงการเข้าถึงแหล่งโดยทางทิศตะวันตกเป็นการพัฒนาทางขึ้นเขาผ่านมาทางหมู่บ้านโกมุยมาจนถึงที่วัดแก้วฯ สำหรับทางเข้าโดยรถยนต์ ในขณะที่ด้านบันไดตะวันออกที่ระบุว่าเป็นทางเข้าหลัก เป็นทางเดินเท้าจากจุดที่จะก่อสร้างศูนย์นักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเรื่องการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆในพื้นที่ ได้แก่ ห้องน้ำ และตลาดในบริเวณด้านหน้าบันไดใหญ่ (เรียกว่า old market ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่มาปลูกสร้างกันภายหลังเช่นเดียวกับวัดแก้วฯ ที่แผนนี้พยายามแสดงให้เห็นว่าชุมชนและสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้มีมานานแล้ว) การสร้างตลาดขึ้นมาใหม่ที่ด้านหน้าบันไดใหญ่ การสร้างบันไดไม้ขึ้นทางช่องบันไดหัก และถนนขึ้นเขาทางทิศตะวันตก ที่ทำให้การเข้าถึงปราสาทไม่ต้องผ่านบันไดใหญ่ ยังแสดงถึงการไม่ให้ความสำคัญกับบันไดใหญ่ ทางเข้าหลักในแนวแกนของปราสาท ทั้งๆที่เป็นองค์ประกอบที่มีคุณค่ามาก จึงถือว่าเป็นวางแผนการจัดการพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง

ประเด็นที่ ๒ แผนบริหารจัดการไม่ส่งเสริมให้มีคณะกรรมการประสานงานนานาชาติเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหาร {International Coordinating Committee (ICC)}

· ในหัวข้อ Proposed Management Mechanism ของแผนการจัดการได้กล่าวถึงการก่อตั้ง Preah Vihear Monitoring & Conservation Committee (PVMCC) ที่ ประกอบด้วยผู้แทนจากยูเนสโก ICOMOS ICCROM ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาระหว่างประเทศ Ad Hoc international experts group โดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามแผนการจัดการนี้ ซึ่งเหมือนกับภารกิจของ International Coordinating Committee (ICC) เพียงแต่ไม่มีการเชิญให้ประเทศไทยเข้ามีส่วนร่วมในการดูแลนี้ ทั้งนี้ยังได้ระบุว่าจะมีการจัดตั้ง ICC (ตามมติ) ขึ้นในอนาคต ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อมี PVMCC แล้วก็คงไม่มีความจำเป็น
· นาย Divay Gupta ผู้จัดทำแผนการจัดการนี้เป็นสถาปนิกด้านการอนุรักษ์และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการมรดกวัฒนธรรมจากประเทศอินเดีย ซึ่งยังเป็นนักวิชาการที่อิโคโมสสากลมอบหมายให้ทำหน้าที่ประเมินเอกสารนำเสนอเป็นมรดกโลก (nomination dossier) ของปราสาทพระวิหาร ที่ต่อมาได้มาร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในการจัดทำรายงานความก้าวหน้าเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกตั้งแต่ก่อนที่จะได้บรรจุในบัญชีมรดกโลก จากนั้นได้เข้าร่วมเป็น Ad Hoc international experts group ของ National Authority of Preah Vihear และได้เป็นส่วนหนึ่งของ PVMCC ด้วย ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลว่าในการประเมินข้อมูลของอิโคโมสในครั้งนี้จะยังเป็นหน้าที่ของนาย Gupta ซึ่งเป็นผู้จัดทำแผนนี้เองด้วยหรือไม่

ประเด็นที่ ๓ แผนบริหารจัดการยังคงแสดงให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องเขตแดน

· การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ระบุในแผนการจัดการ ไม่ว่าห้องน้ำ หรือ ตลาดในบริเวณด้านหน้าบันไดใหญ่ มีภาพประกอบที่แสดงว่าได้มีการดำเนินการไปแล้ว ที่ถือว่ารุกล้ำเขตพื้นที่ประเทศไทย ขัดต่อ MOU ๔๓ ทั้งที่ในแผนการจัดการระบุว่าพื้นที่ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่กันชน (ทางด้านเหนือและตะวันตกของปราสาท) จะต้องรอการตกลงกันของ JBC ดังนั้นการพัฒนา การก่อสร้างที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้จึงน่าจะต้องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมกันก่อนด้วย จึงเป็นประเด็นที่ประเทศไทยควรจะต้องประท้วงนอกเหนือจากเรื่องการพัฒนาถนนทางขึ้นเขาที่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวนี้
· ในแผนการจัดการนี้นอกจากจะกล่าวถึงกิจกรรมและข้อเสนอแนะต่างๆที่ระบุให้ดำเนินการในพื้นที่ของประเทศไทยที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังปรากฏเป็นหลักฐานในผังต่างๆ เช่น ในผังเส้นชั้นความสูงหน้า ๖ ผังแสดงการตีความคุณค่าของพื้นที่ หน้า ๒๕ ผังการแบ่งพื้นที่โดยรวม หน้า ๕๔ ผังแสดงการเข้าถึงพื้นที่ หน้า ๕๖ ผังที่ตั้งห้องน้ำและตลาด หน้า ๕๘ ผังแสดงตำแหน่งบาราย หน้า ๖๒ ผังแสดงพื้นที่ Eco Compatible Village หน้า ๖๓
· การดำเนินการกิจกรรมต่างๆตามแผนนี้ มีหลายกรณีที่มีข้อแนะนำให้ประกาศเป็นกฎหมาย ที่อาจเป็นประเด็นการบังคับใช้กฎหมายกัมพูชาในดินแดนไทยได้
[1] ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๓.
[2] Lajonquiere, E. L. Inventaire Descriptif des Monuments du Cambodge. Paris: Imprimarie Nationale, 1907. และ Aymonier, E. Le Cambodge, Tome II. Les Provinces Siamoises. Paris: Ernest Leroux, 1901.
[3] จิโต มาดแลน. ประวัติเมืองพระนครของขอม. แปลโดย สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖.
[4] ...พระเจ้าสูริยวรมันที่ ๑ กษัตริย์ผู้พิชิตจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา... จาก เซเดส์ ยอร์ช. เมืองพระนคร นครวัด นครธม. แปลโดย ปรานี วงษ์เทศ. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๓.
และ ชา อวม, ไผ เผง และโสม อิม. ประวัติศาสตร์กัมพูชา ตำราเรียนของเขมร. แปลโดย ศานติ ภักดีคำ. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖. หน้า ๒๖
[5] จาก กรมศิลปากร. สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายงานการสำรวจทางโบราณคดีจังหวัดศรีสะเกษ. ๒๕๔๗.
[6] ข้อมูลจากการเข้าร่วมประชุม The Consultative Meeting of International Expert Teams on the Inscription of Preah Vihear Temple as World Hertage Site. Siem Reap, 11 – 13 January 2008.
[7] ดูรายละเอียด ภาคผนวก ข้อโต้แย้งทางวิชาการในรายงานการประเมินของ ICOMOS กรณีกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลก จัดทำโดย กรมศิลปากร และอิโคโมสไทย
[8] เรื่องเดียวกัน
[9] ข้อมูลจากการร่วมสำรวจพื้นที่ตามคำเชิญของกัมพูชา เมื่อวันที่ ๓ – ๔ มกราคม ๒๕๕๑

บ้านป้ายิ่ง





บ้านป้ายิ่ง เป็นเรือนไทยที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี นายเชยและนางอ๋วนได้สร้างขึ้นโดยใช้ช่างชาวจีนซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น ปัจจุบันในละแวกเดียวกันกับบ้านป้ายิ่งมีบ้านลักษณะเดียวกันประมาณ ๑๕ หลัง ซึ่งรายละเอียดของบ้านแต่ละหลังจะแตกต่างกันไป ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ นายมุ่นเซ่ง จั่นบุญมี บุตรนายเชยและนางอ๋วน ได้รื้อบ้านริมน้ำมาปลูกเป็นเรือนครัวทางด้านทิศตะวันออกของเรือนใหญ่โดยมีทางเดินเชื่อมต่อกัน เนื่องจากบ้านปลูกอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีในเขตอำเภอบ้านแหลมที่อยู่ติดทะเล มีช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนเอ่อทำให้ระดับน้ำสูงท่วมเป็นประจำทุกปีตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ปัจจุบันพื้นที่ของบ้านมีการถมสูงขึ้นประกอบกับอายุของตัวบ้าน ทำให้บ้านเตี้ยลงจนเดินลอดเข้าไปใช้สอยบริเวณใต้ถุนบ้านไม่สะดวกได้ดังเดิม โดยปัญหาน้ำท่วมขังก็ยังคงอยู่ โคนเสาเรือนผุกร่อน เนื้อปูนของกระเบื้องหลังคาเสื่อมสภาพ รวมทั้งปั้นลมและฝาผนังไม้ส่วนใหญ่ได้เสื่อมสภาพไปมาก ในขณะที่นางบุญยิ่ง กิ่งแก้ว บุตรนายมุ่นเซ่ง จั่นบุญมี ผู้เป็นเจ้าของบ้านในปัจจุบันซึ่งมีอายุมากแล้วมีสุขภาพไม่แข็งแรงนักจึงจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมกว่า ดังนั้น พ.ศ. ๒๕๕๑ ลูกหลานของป้ายิ่งจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะได้ทำการบูรณะซ่อมแซมบ้านให้คงสภาพเดิมมากที่สุดเพื่อท่านได้กลับมาอาศัยอยู่ ณ บ้านอันเป็นที่รักของท่านอีกครั้งดังที่เห็นในปัจจุบัน

บ้านป้ายิ่งเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง ทรงสอบ หลังคาจั่วทรงจอมแห มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ประตูและหน้าต่างไม้ ใช้ประตูบานเฟี้ยม มีการประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลักที่มีความหมายมงคล การวางผังเรือนมีลักษณะปิดล้อมแบบสมมาตร โดยแนวแกนหลักของเรือนวางตั้งฉากกับแม่น้ำเพชรบุรี มีบันได ซุ้มประตูทางเข้า ชานแดด พาไล เรือนกลาง และเรือนใหญ่วางในตำแหน่งกลางแนวแกน มีเรือนเล็กเป็นเรือนบริวารทั้งด้านซ้ายและขวาของชานแดด ด้านทิศตะวันออกของพาไล เรือนกลาง และเรือนใหญ่มีส่วนที่ต่อเติมขึ้นภายหลังเป็นระเบียงที่มีหลังคาคลุมกว้าง ๒ เมตร ขนานไปกับผนังห้องทั้ง ๓ เป็นพื้นที่พักผ่อนของครอบครัวและมีทางเดินเชื่อมไปเรือนครัว เห็นได้ว่าลักษณะการวางผังเรือนบ้านป้ายิ่งนี้มีอัตลักษณ์แตกต่างจากการวางผังเรือนของคนไทยพื้นถิ่นทั่วไปที่นิยมวางตามตะวัน และมีลักษณะการวางผังที่สามารถเชื่อมโยงได้กับวัฒนธรรมการปลูกสร้างอย่างจีนภายใต้ลักษณะองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทย แสดงถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดโดยสถาปัตยกรรม อาคารหลังนี้จึงถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของเรือนไทยในรูปแบบพิเศษของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่พบในชุมชนลุ่มน้ำเพชรบุรี

การซ่อมแซมและการปรับปรุงบ้านป้ายิ่งได้มีการรื้อถอนส่วนต่อเติมที่ไม่สวยงามออก ซ่อมเปลี่ยนส่วนที่เสื่อมสภาพตามรูปแบบ วัสดุ และเทคนิคช่างแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์ มีการปรับดีดยกเรือนให้สูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยยังคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยในปัจจุบันด้วยการสร้างอาคารต่อเติมเป็นห้องน้ำและครัวในลักษณะที่มีความกลมกลืนกับอาคารโบราณ พร้อมด้วยเก็บรักษาระเบียงพักผ่อนที่มีความทรงจำของครอบครัวไว้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเจ้าของบ้านในการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์และคุณค่าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ทำให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปี พ.ศ.๒๕๕๔

แนะนำเมืองพระนคร

อาณาบริเวณที่ปกคลุมไปด้วยโบราณสถานของเขมรแผ่กระจายไปทั่วตั้งแต่อ่าวไทยไปจนถึงเวียงจันทน์ และจากไซ่ง่อนจนถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นับเป็นดินแดนที่ในปัจจุบันคือประเทศกัมพูชา พื้นที่ส่วนใหญ่ของอินโดจีน ตอนใต้ของประเทศลาว และทางตะวันออกของประเทศไทย ...ดินแดนที่มีซากโบราณสถานของเขมรประกอบไปด้วยส่วนหนึ่งคือที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และบริเวณที่ลุ่มของทะเลสาบหลวง และอีกส่วนคือ ที่ราบสูงโคราช ดังที่จะเห็นต่อไปว่าความพยายามที่จะรวมสองส่วนที่แตกต่างกันในทุกแง่ทุกมุมนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ได้ก่อให้เกิดหน่วยทางการเมืองที่ไม่เคยมีเสถียรภาพเลย ประวัติศาสตร์ทั้งหมดของกัมพูชาล้วนเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างประชาชนที่อยู่ในเขตที่สูงทางเหนือของเทือกเขาดงรัก กับพวกที่อยู่ในที่ราบต่ำทางตอนใต้

จาก เซเดส์ ยอร์ช. เมืองพระนคร นครวัด นครธม. แปลโดย ปรานี วงษ์เทศ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, 2543