วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โครงการดีดีที่วัดเทพธิดา





วัดเทพธิดาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๒๕ ไร่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาใน พ.ศ. ๒๓๗๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) การก่อสร้างพระอารามนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างในตำบลสวนหลวงพระยาไกร สร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินผูกพัทธสีมาด้วยพระองค์เอง พระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม” กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒
เสนาสนะสำคัญ ที่แสดงความสุดยอดแห่งพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ ๓
เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกล่าวได้ว่าวัดเทพธิดารามเป็นการก่อสร้างตามพระราชประสงค์ ตัวอย่างของศิลปะและสถาปัตยกรรมรูปแบบในรัชกาลของพระองค์ที่ครบถ้วนและชัดเจนที่สุด แผนผังพระอารามแบ่งเป็นส่วนพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจน โดยส่วนพุทธาวาสอยู่ด้านหน้าวัด ประกอบด้วยอาคารหลัก ๓ หลังล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ได้แก่ พระอุโบสถอยู่ตรงกลาง มีพระวิหารตั้งอยู่ด้านซ้าย และการเปรียญตั้งอยู่ด้านขวาเรียงเป็นแถวอย่างสง่างาม ด้านหน้ากลุ่มอาคารนี้ยังเป็นสนามโล่งที่ทำให้เราชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมได้อย่างเต็มที่

ภายในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญพระประธานนามสามัญว่า “หลวงพ่อขาว” จากพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานอยู่เหนือเวชยันต์บุษบก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้พระราชทานนามว่า “พระพุทธเทววิลาส” แม้ว่าองค์พระประธานจะไม่ใหญ่โตอย่างที่วัดอื่นๆ แต่ด้วยความงามของบุษบกและการจัดวางองค์ประกอบการตกแต่งต่างๆ มีความเหมาะเจาะ ผสานกับจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์ตามแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๓ ไม่ได้เป็นภาพเรื่องราวอย่างที่นิยมกันมาแต่เดิมได้อย่างงดงามยิ่ง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำเป็นรูปเทพธิดาตามนามวัด ที่สำคัญหลังคาพระอุโบสถเป็นแบบไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบจีน ถือเป็นเอกลักษณ์ของพระราชนิยมที่ชัดเจนที่สุด มักกล่าวกันว่าเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างจีนแต่ความจริงไม่เคยมีอาคารแบบนี้ที่ไหนเลยนอกจากในประเทศไทย เป็นเพียงการประดับด้วยวัสดุอย่างจีนของอาคารที่ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยโดยแท้

พระวิหาร และการเปรียญ เป็นอาคารที่มีลักษณะเช่นเดียวกับพระอุโบสถ สำหรับพระวิหารนอกจากพระประธานภายใน ยังมีรูปหมู่อริยสาวิกา (ภิกษุณี) ซึ่งได้รับเอตทัคคะหล่อด้วยดีบุก ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า ๕๒ องค์ สื่อความหมายถึงการที่วัดนี้สร้างขึ้นสำหรับพระเจ้าลูกเธอที่เป็นหญิง ผนังยังประดับภาพจิตรกรรมรูปหงส์อย่างจีนที่เป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงอีกเช่นกัน

โดยรอบพระอุโบสถมีศาลาราย สร้างคร่อมรอบกำแพง ๘ หลัง ใช้ได้ทั้งด้านนอกและด้านใน เรียกว่าศาลา ๒ หน้า มาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีพระปรางค์ ๔ องค์ ตั้งประจำทิศทั้ง ๔ ของมุมพระอุโบสถ พระปรางค์ แต่ละองค์ตั้งอยู่บนฐานสูง มีรูปท้าวจตุโลกบาล ประจำรักษาในทิศทั้ง ๔ ถือเป็นสิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งที่ลวดลายปูนปั้นของพระปรางค์มีการประดับด้วยหอยเบี้ยทั้งหมด ภายในบริเวณโดยรอบ ยังมีตุ๊กตาศิลาสลักของจีนมีทั้งที่เป็นรูปคนและสัตว์ ตั้งประดับอยู่ ตุ๊กตาหินเหล่านี้มีที่ลักษณะน่าสนใจ บางตัวมีท่าทางและการแต่งกายแบบจีน บางตัวแต่งกายแบบไทย แสดงว่าเป็นการนำเข้ามาจากประเทศจีนที่มีการสั่งทำส่งมาเมืองไทยโดยเฉพาะ

ส่วนหลังวัดเป็นเขตสังฆาวาส ที่ตั้งของหมู่กุฏิ ที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหมด แตกต่างที่เคยเป็นเรือนไม้อย่างยุคก่อนหน้า แบ่งเป็นกุฏิ ๒ ประเภท คือ สำหรับฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ กุฏิสำหรับผ่ายวิปัสสนาธุระอยู่ท้ายวัด มี ๑๖ หลัง ตรงกลางของกุฏิคันถธุระที่ด้านเหนือและด้านใต้มีหอสวดมนต์ เคยเป็นสถานที่สวดมนต์ทำวัตรเข้าเย็น และท่องจำพระสูตร พระปริตร และตรงมุมของกลุ่มอาคารจะมีหอพระไตรปิฎกตั้งอยู่ มี ๒ หลัง ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่กุฏิ คณะ ๘ หลังหนึ่ง และคณะ ๕ อีกหลัง ทั้ง ๒ หลังมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีส่วนประดับหลังคาและหน้าบันเป็นไม้ มีช่อฟ้า เครื่องลำยองไม้ปิดทองประดับกระจก แต่ก็เป็นลักษณะอาคารเครื่องก่อที่ประดับด้วยกระเบื้องปรุของจีนด้วย เป็นอาคารใต้ถุนสูง ใช้เก็บรักษาพระไตรปิฎก หนังสือพระธรรม คัมภีร์ต่าง ๆ ปัจจุบันหอพระไตรปิฎกที่คณะ ๘ ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่อีกหลังทางคณะ ๕ ยังคงอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก แต่ก็กล่าวได้ว่ายังเหลือหลักฐานของความเป็นของแท้ของสถาปัตยกรรม ลักษณะโครงสร้าง และการตกแต่งฝีมือช่างดั้งเดิมอยู่

นอกจากนี้ที่กุฏิคณะ ๗ ยังมี “กุฏิสุนทรภู่” ที่ซึ่งกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เคยจำพรรษาเมื่อครั้งที่ท่านได้อุปสมบทอยู่ที่พระอารามแห่งนี้ ระหว่าง พ.ศ.๒๓๘๒ – ๒๓๘๕ ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ในบรรดางานประพันธ์ของสุนทรภู่ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัดเทพธิดารามมากที่สุด ได้แก่ “รำพันพิลาป” ท่านได้พรรณนาให้เห็นลักษณะของปูชนียวัตถุสถาน และความงามของพระอารามในสมัยนั้นไว้อย่างละเอียด รวมทั้งได้กล่าวถึง หอพระไตรปิฎก ไว้ด้วย ถือเป็นการบันทึกข้อมูลโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของวัดเทพธิดาราม ปัจจุบันทางวัดได้อนุรักษ์กุฏิหลังนี้ไว้อย่างดี พร้อมด้วยการจัดแสดงสื่อความหมายถึงความเป็นอาคารประวัติศาสตร์ เปิดให้ชมสถานที่ที่ท่านเคยพำนักและนำชมถาวรวัตถุในวัดตามที่ปรากฏในรำพันพิลาป

ด้วยสภาพของหอพระไตรปิฎก บริเวณกุฏิคณะ ๕ที่มีลักษณะทรุดโทรมจากการเสื่อมสภาพของวัสดุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการล่าสุดโครงการหนึ่งของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามนโยบายของนายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมฯ ที่ต้องการให้สมาคมมีบทบาทเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมของชาติ และร่วมสืบสานสถาปัตยกรรมของไทย โดยมอบให้กรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี มาดำเนินการ รับอาสาสมัครจากสมาชิกสมาคมฯ และนิสิตนักศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม รวมทั้งจากวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โบราณคดี วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ มาช่วยกันสำรวจ ทำแบบบันทึกข้อมูลทางสถาปัตยกรรมโดยละเอียด มีการทำแบบบูรณะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ที่จะนำมาใช้ในการบูรณะให้คุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้กลับมาเป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง
ในขณะนี้การทำงานของอาสาสมัครในวันเสาร์อาทิตย์ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วก็ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ยังขาดอยู่ก็คือปัจจัย ที่จะใช้ในการบูรณะจึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการนี้ ด้วยการทำบุญสมทบเพื่อการบูรณะหอพระไตรปิฎกวัดเทพธิดารามในครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นพุทธบูชาและร่วมกันสืบสานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี โดยท่านสามารถโอนเงินเข้าบัญชี “วัดเทพธิดารามวรวิหาร (บูรณะหอพระไตรปิฎกคณะ๕)” บัญชีเลขที่ ๐๓๗-๒-๓๗๖๐๐-๗ ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนมหาไชย ท่านที่ต้องการอนุโมทนาบัตรเพื่อลดหย่อนภาษี โปรดติดต่อคุณวราภรณ์ โทร.๐๒-๖๒๘๘๒๘๘

วสุ โปษยะนันทน์ ประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

กิจกรรมนำชมครั้งที่ ๑

เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๒ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมาธิการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ได้จัดกิจกรรมนำชมการทำงานของโครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎกวัดเทพธิดารามวรวิหาร ครั้งที่ ๑ ขึ้น สืบเนื่องมาจากนโยบายของสมาคมในอันที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคมด้วยการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมไทย มรดกวัฒนธรรมของชาติ โดยมีเป้าหมายที่อาคารทางศาสนาที่มีคุณค่าทางจิตใจด้วย จึงได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎกวัดเทพธิดารามวรวิหารขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะเปิดโอกาสให้สถาปนิกได้มีส่วนร่วมในการบำเพ็ญประโยชน์ในครั้งนี้ ได้เรียนรู้วิธีการในการทำแบบอนุรักษ์ จากการลงมือปฏิบัติจริง และเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

นับตั้งแต่วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๑ อาสาสมัครและคณะทำงานของโครงการได้มาทำงานภาคสนามกันที่วัดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ กิจกรรมในวันนี้จึงได้จัดขึ้นเพื่อให้สมาชิกสมาคมฯ และสาธารณชนโดยทั่วไป ได้มีโอกาสได้มาเยี่ยมชม รับทราบความคืบหน้าของโครงการ พร้อมๆกับการชมความงดงามของสถาปัตยกรรมไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่วัดเทพธิดารามวรวิหาร และวัดราชนัดดารามวรวิหารซึ่งอยู่ติดกัน ผ่านการบรรยายจากความรู้และประสบการณ์ของที่ปรึกษาโครงการ ได้แก่ นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และรศ.ดร.ประสงค์ เอี่ยมอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและผังเมือง ผู้เคยอาศัยอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตย์

กิจกรรมนำชมได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ๑๓.๐๐น. ณ บริเวณ ศาลาด้านข้างพระอุโบสถ มีผู้มาลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น ๘๑ คน คุณวสุ โปษยะนันทน์ ประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ในฐานะหัวหน้าโครงการได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการ และกล่าวแนะนำที่ปรึกษา คณะทำงาน และอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ แล้วเชิญให้เข้าไปสักการะ พระพุทธเทววิลาส พระประธานในพระอุโบสถ ก่อนฟังการบรรยายของที่ปรึกษาโครงการทั้ง ๒ ท่าน ได้รับความรู้ต่างๆ ทั้งในเรื่องของประวัติความเป็นมา การก่อสร้าง และลักษณะทางสถาปัตยกรรม ซึ่งถือเป็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ตลอดจนเรื่องราวของการอนุรักษ์และการสืบสานรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ทั้งของวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม รวมทั้งเรื่องการรื้อโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย เพื่อเปิดมุมมองให้กับโลหะปราสาท นำมาสู่การปรับปรุงบริเวณเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์และพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๓ ในปัจจุบัน ทั้งนี้คุณทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ยังได้กล่าวถึงนโยบายและเจตนารมย์ของสมาคม ในโครงการนี้อีกด้วย

จากนั้นเป็นการนำชมภายในวัดเทพธิดาราม โดยมี ผศ. พงศกร ยิ้มสวัสดิ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร เล่าถึงความสำคัญและการสื่อความหมายในงานสถาปัตยกรรม จากนั้นไปชมการทำงานของอาสาสมัครที่อาคารหอไตร พร้อมๆกับการที่ได้เห็นความเสื่อมสภาพของอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ มีการพูดคุยซักถาม อาสาสมัครถึงรูปแบบวิธีการสำรวจ ทำแบบเก็บข้อมูล ตลอดจนแนวทางที่จะใช้ในการอนุรักษ์กับหอไตรนี้ ปิดท้ายในส่วนของวัดเทพธิดารามด้วยการเข้าชมกุฏิสุนทรภู่ อาคารรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นที่ปัจจุบันได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์

ในช่วงท้ายของกิจกรรมเป็นการนำชมวัดราชนัดดาราม เริ่มต้นที่การสักการะพระประธานในพระอุโบสถ ฟังการบรรยายเกี่ยวกับภาพจิตรกรรม และโครงการอนุรักษ์ต่างๆที่กำลังดำเนินการอยู่ และออกไปที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ชมการออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ พลับพลาที่ประทับต้อนรับราชอาคันตุกะและมุมมองอันงดงามของโลหะปราสาท เป็นการสรุปภาพแห่งความประทับใจในคุณค่าของสถาปัตยกรรมไทยที่ขอเชิญชวนให้ทุกคนมาช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบต่อไป และให้คอยชมผลงานการเก็บข้อมูลและการทำแบบอนุรักษ์ที่สมบูรณ์ได้ในงานสถาปนิก ๕๒

(ทั้งนี้สามารถมีส่วนร่วมสมทบทุนในการบูรณะหอพระไตรปิฎก วัดเทพธิดารามวรวิหารได้โดยติดต่อได้ที่เลขานุการโครงการ คุณวราภรณ์ ๐๒-๖๒๘๘๒๘๘)

โครงการหอไตรวัดเทพธิดารามได้เริ่มขึ้นแล้ว(๑๔ ธค.๕๑)


ขณะนี้โครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎกวัดเทพธิดารามวรวิหาร โดยกรรมาธิการอนุรักษ์ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณีได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากที่คุณทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯได้เข้าพบท่านเจ้าอาวาสเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๑๓ และ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๑ และจะได้มีการทำงานภาคสนามที่วัด ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น. จนถึง ๑๕.๐๐ น.ไปจนถึงตลอดเดือนมกราคม ๒๕๕๒ โดยในวันที่ ๑๓ ธันวาคม คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยกรรมาธิการอนุรักษ์ของสมาคมฯ หลายท่านได้นัดพบอาสาสมัครเป็นครั้งแรก มีการแนะนำตัว ชี้แจงที่มาของโครงการ และวางแผนการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งได้เริ่มลงมือปฏิบัติการสำรวจ ทำแบบสภาพปัจจุบันของอาคารหอไตรเลยทันที

ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม เป็นพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ คุณวสุ โปษยะนันทน์ ประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ด้านไทยประเพณี ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้ทำหน้าที่เป็นผู้เริ่มทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด โดยมีหลวงพ่อศิลาขาวเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ มีการกล่าวรายงานเจตนารมย์ของนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในอันที่จะให้สมาคมได้แสดงบทบาทเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย สำหรับท่านที่ไม่ได้มาร่วมเป็นอาสาสมัครก็ยังมีโอกาสที่จะได้ทำบุญร่วมกันในลำดับต่อไป เสร็จพิธีด้วยการรับโอวาทและน้ำพระพุทธมนต์ จากพระเทพวิสุทธิเมธี ท่านเจ้าอาวาส ซึ่งท่านอำนวยพรให้โครงการสำเร็จลุล่วงด้วยดี ขอให้ทำงานด้วยความตั้งใจถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้น รศ.ดร. ประสงค์ เอี่ยมอนันต์ ที่ปรึกษาท่านหนึ่งของโครงการได้ให้คำแนะนำ ข้อคิดในการทำงาน ก่อนที่จะได้ปฏิบัติงานกันต่อในบริเวณหอไตรและกุฏิคณะ ๕ งานนี้ยังมีคุณวรชัย ตันติศิริวัฒน์ อุปนายกมาร่วมพิธีการด้วย

นอกจากงานรังวัดเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของอาคารหอไตร ในลำดับต่อไปจะได้บันทึกข้อมูลลักษณะการเสื่อมสภาพของอาคาร เก็บข้อมูลลอกลายส่วนประดับ สำรวจข้อมูลทางด้านภูมิสถาปัตยกรรมและบริเวณของกุฏิคณะ ๕ ทั้งหมด เก็บข้อมูลตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุและปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการเสื่อมสภาพของอาคาร งานโบราณคดีและงานวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ด้วยความตั้งใจที่จะได้ทำการบันทึกขั้นตอนของการดำเนินการตามหลักวิชาการของการอนุรักษ์อย่างสมบูรณ์ที่สุด

สมาชิกที่สนใจยังสามารถสมัครเข้ามาร่วมโครงการในฐานะอาสาสมัครได้ หรือมาเยี่ยมชม ให้กำลังใจและชมความงามของสถาปัตยกรรมไทย พระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ ๓ที่วัดเทพธิดารามวรวิหารได้ โดยสอบถามรายละเอียดได้ทาง อีเมล์ asatemple@gmail.com หรือ ติดต่อคุณวราภรณ์ โทร ๐๒-๖๒๘๘๒๘๘

จาก จดหมายเหตุอาษา ๑๑:๑๒-๒๕๕๑