วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สระตราว สถูปคู่ และโบราณสถานอื่นๆที่ต่อเนื่องจากปราสาทพระวิหาร

สืบเนื่องจากกรณีที่ราชอาณาจักรกัมพูชาได้ขอเสนอให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ทำให้ผมและคณะทำงานของอิโคโมสไทยพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรหลายท่าน ได้มีโอกาสไปสำรวจพื้นที่ในอาณาบริเวณรอบๆปราสาทพระวิหารที่อยู่ในเขตประเทศไทยโดยละเอียด เพื่อจัดทำเป็นแผนบริหารจัดการเขาพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ (Management Plan for Preah Vihear Mountain and Its Setting) ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการในการดูแลรักษาพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร เพื่อรองรับการที่จะได้เป็นมรดกโลก จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ที่คำนึงถึงคุณค่าและประโยชน์ที่มีต่อโบราณสถานอย่างแท้จริง ไม่ว่าสิทธิเหนือตัวปราสาทจะเป็นของใคร และข้อมูลที่เราได้รับก็ช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าในพื้นที่ต่อเนื่องของเขาพระวิหารในเขตประเทศไทยนั้นมีโบราณสถานอีกหลายแหล่งที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและร่วมสมัยกับปราสาทพระวิหารด้วย ไม่ได้เป็นเพียง”พื้นที่กันชน” ตามเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกเท่านั้น

จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ณ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีมติให้กัมพูชาจัดเตรียมแผนบริหารจัดการโบราณสถานและอาณาบริเวณโดยรอบเพิ่มเติม และเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับประเทศไทย จึงได้เน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาเขตแดนร่วมกัน และการให้ความร่วมมือด้านต่างๆจากฝ่ายไทย เพื่อสนับสนุนให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในคราวนี้ UNESCO จึงได้ให้ความช่วยเหลือกัมพูชา ด้วยการแนะนำคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติมาช่วยในการจัดทำแผนบริหารจัดการ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อินเดีย สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้เชิญประเทศไทยให้เข้าร่วมในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้วย แต่กำหนดให้ทำเฉพาะพื้นที่กันชนในประเทศไทยเท่านั้น

เนื่องจากเรามาเข้าร่วมโครงการหลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆได้มาสำรวจพื้นที่และเขียนเป็นรายงานกันแล้ว จึงถือเป็นโอกาสดีที่เราได้ศึกษาข้อมูลจากแนวคิดของท่านอื่นๆด้วย จากรายงานของผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสที่เสนอว่า การวางผังของปราสาทพระวิหารไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวแกน เหนือ-ใต้ ตามลักษณะทางภูมิประเทศอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่เน้นความเป็นศูนย์กลางของภูมิจักรวาล ที่หันทิศทางสู่ที่ราบทางทิศใต้ มีแนวแกนสำคัญทางด้าน ตะวันออก-ตะวันตก จากหลักฐานบันไดทางขึ้นเขาทางตะวันออกที่เรียกว่า บันไดหัก ที่มาโผล่ตรงด้านข้างของโคปุระชั้นล่างสุด และแนวทางเดินยกระดับทางด้านตะวันตก ณ ที่ราบเบื้องล่างยังระบุว่า มีปราสาทและบาราย ในแนวแกนด้านทิศตะวันตก ทางทิศใต้ในตำแหน่งที่ตรงกับปราสาทพระวิหารระบุตำแหน่งเป็นปราสาทอีกหลัง และมีบารายขนาดใหญ่ทางตะวันออกที่ถูกเสนอให้เป็นจุดเริ่มการตั้งขบวนเสด็จขึ้นเขาของพระมหากษัตริย์ในอดีต สะพานนาคและบันไดใหญ่ทางทิศเหนือ (ด้านที่หันไปสู่ประเทศไทยในปัจจุบัน) กลับตีความว่าเป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยหลังที่มีความสำคัญน้อยที่สุด ข้อมูลใหม่เหล่านี้แม้จะอยู่นอกพื้นที่ที่ทางกัมพูชากำหนดให้ไทยดูแล แต่ฯพณฯ Ty Yao ประธานของ ANPV หรือ National Authority for Preah Vihear องค์กรที่กัมพูชาจัดตั้งขึ้นเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ของปราสาทพระวิหาร ที่มาให้การต้อนรับคณะของเรา (ตัวผม และคุณมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ จากกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ) ก็ไม่ขัดข้องที่จะพาเราไปดูในทุกจุดที่เราสนใจ

สำรวจด้านกัมพูชา
เริ่มต้นจากบันไดขึ้นเขาทางทิศตะวันออก เป็นบันไดที่ก่อด้วยหินผสมกับการสกัดหินในที่ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกันกับบันไดใหญ่ทางด้านหน้า แต่มีขนาดเล็กกว่าและอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก สมชื่อบันไดหัก เส้นทางนี้ความจริงไม่ใช่ข้อมูลใหม่แต่อย่างใด เช่น ในเอกสารของ Aymonier ชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกไว้เมื่อ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว ว่าเป็นทางลงไปยัง ตระเปียง หรือแหล่งน้ำเบื้องล่าง เราคงไม่เถียงเรื่องมีทางโบราณขึ้นเขาทางด้านตะวันออกนี้ แต่ที่ว่าจะเป็นทางเข้าหลักหรือไม่นั้น ผมว่าทุกท่านคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว

ทางด้านตะวันตกต่อจากด้านข้างของสะพานนาคที่มีนาคหัวโล้นศิลปะแบบบาปวนตั้งอยู่ มีทางเดินยกระดับเป็นแนวยาวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทางเดินนี้เขาว่าเป็นแนวแกน ตะวันตก-ตะวันออกที่สำคัญ และจะใช้เป็นทางหลักในการเข้าชมปราสาทจากที่จอดรถ ซึ่งจะได้สร้างขึ้นตรงปลายสุดของทางเดินโบราณนี้
ผมเห็นว่าทางเดินนี้เป็นทางเดินโบราณจริง จากลักษณะรูปแบบ และเทคนิคการก่อสร้าง แต่น่าจะเป็นผลพลอยได้มาจากการสร้างคันเบี่ยงน้ำฝนปริมาณมหาศาลที่ไหลมาตามลานหินจากภูเขาทั้งลูก ไม่ให้มารวมตัวกันตรงบันไดใหญ่ อันจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น สอดคล้องกับการที่เบื้องล่างของแนวคันหินนี้ ก็มีเขื่อนโบราณรองรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ คันหินของเขื่อนยังอยู่ในสภาพดี แต่ไม่มีน้ำ จะมีก็แต่ ”กับ” ที่กำลังระดมกอบกู้กันอยู่ทั่วไป...เขื่อนโบราณแห่งนี้ถือว่าอยู่ในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิด้วย และมีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักฐานของการจัดการต้นน้ำของห้วยตามาเรีย หนึ่งในสองลำน้ำที่ไหลลงสู่เชิงเขาด้านประเทศไทย

จากนั้นได้เดินทางลงเขาตามถนนลำลอง ที่คาดว่าจะปรับปรุงเพื่อใช้เป็นทางขึ้นหลักสู่ปราสาทพระวิหาร ที่เชิงเขาเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านโกมุย ที่มาอยู่กันเมื่อไม่เกิน ๑๐ ปีมานี้ ตรงกลางชุมชนมีปราสาทโบราณหลังหนึ่ง ชื่อว่าปราสาทมณีวงศ์ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการขุดแต่ง แต่จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายจำหลักก็ระบุได้ว่าเป็นอโรคยศาล ที่สร้างในศิลปะบายนซึ่งถือเป็นช่วงเวลาท้ายสุดของสมัยเมืองพระนคร ต่างยุคต่างรูปแบบศิลปะ ต่างกระทั่งความเชื่อทางศาสนาจากปราสาทพระวิหาร อย่างไรก็ตามแม้ผมจะเชื่อว่าปราสาทหลังนี้คงจะไม่เกี่ยวข้องกับการวางผังในลักษณะของภูมิจักรวาลและไม่เก่าแก่เท่าสิ่งก่อสร้างบนยอดเขา แต่ก็ไม่ปฏิเสธความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงเส้นทางโบราณในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ไม่พบร่องรอยของพระองค์ที่ปราสาทพระวิหารด้านบนเลย แต่กลับสามารถเชื่อมต่อกับปราสาทสระกำแพงน้อย และปราสาททามจาน อโรคยศาลอีกสองหลังในจังหวัดศรีสะเกษ

น่าเสียดายที่ไม่สามารถเข้าไปชมปราสาทอีกหลังที่ระบุว่าอยู่ทางทิศใต้ในแนวแกนตรงกับปราสาทพระวิหารได้ เนื่องจากยังไม่มีถนนเข้าไปต้องเดินเท้าในระยะประมาณกิโลเมตรเศษ ซึ่งเราไม่มีเวลามากพอ จากคำบอกเล่าทราบว่าเป็นปราสาทที่เหลือสภาพเพียงส่วนฐาน จะมีขนาดใหญ่โตหรือสำคัญเพียงใดจึงยังเป็นปริศนา เราเดินทางต่อไปยังบริเวณแนวคันดินที่สันนิษฐานว่าเป็นขอบคันบารายใหญ่ทางตะวันออก ตั้งอยู่ห่างจากบันไดหักประมาณ ๒ กิโลเมตร สิ่งที่เห็นคือแนวต้นไม้บนคันดินยาวเหลืออยู่ชัดเจนเพียงด้านเดียว มีถนนทับอยู่ ๒ ด้าน และมีการตัดถนนผ่าเข้าไปในพื้นที่ของบารายด้วย เมื่อได้กลับขึ้นไปบนเขาแล้วมองลงมาก็สามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น จึงเป็นไปได้ที่จะเป็นองค์ประกอบโบราณแต่กลับไม่มีโครงการที่จะเบี่ยงแนวถนนที่ผ่ากลางอยู่นี้ออกไป

กลับมาสู่ฝั่งไทย
แม้ว่ากัมพูชาจะขอความร่วมมือให้เราช่วยทำแผนสำหรับพื้นที่กันชนในประเทศไทย แต่ความจริงพื้นที่ต่อเนื่องทางทิศเหนือของปราสาทพระวิหารยังมีองค์ประกอบอื่นที่น่าจะได้รับการผนวกเข้าเป็น Core Zone ด้วย ได้แก่ สระตราวและลานหินหน้าปราสาท ภาพสลักผามออีแดง แหล่งตัดหิน และสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “สถูปคู่” รวมถึงพื้นที่เขาพระวิหารทั้งบริเวณที่แสดงถึงความพิเศษของการเลือกที่ตั้งของเทวาลัยที่ถือเป็น Cultural Landscape การสำรวจพื้นที่ฝั่งไทยในวันนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ UNESCO จากพนมเปญมาร่วมด้วย ซึ่งเขาได้แสดงท่าทีตื่นเต้นกับสิ่งที่ได้พบเห็นเหมือนไม่เคยรู้ข้อมูลมาก่อน
สระตราว นอกจากจะมีความสำคัญในฐานะบารายของปราสาทพระวิหารแล้ว การก่อสร้างกำแพงหินขนาดใหญ่กั้นน้ำ ยังถือว่าเป็นเขื่อนหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยตำแหน่งที่ตั้งของสระตราวยังใกล้เคียงกับแนวแกนสำคัญของปราสาท เป็นการจัดการน้ำเพื่อการใช้สอยของปราสาทมาตั้งแต่อดีต วันนี้น้ำในสระยังมีพอให้จุนเจือแก่ชุมชนเขมรที่มาตั้งอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย ในบริเวณใกล้เคียงยังมีแหล่งตัดหิน พบร่องรอยของผู้คนในยุคโบราณร่วมสมัยกับการสร้างปราสาท และที่ค้นพบใหม่ล่าสุดจากการสังเกตของคุณมงคล ได้แก่ ภาพสลักฐานศิวลึงค์ขนาดเล็กบนพื้นขอบลานหิน ณ ตำแหน่งที่เล็งตรงกับกึ่งกลางบันไดใหญ่ สะพานนาค และโคปุระชั้นล่างพอดี และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในตำแหน่งนี้ยังสามารถเล็งตรงไปยังสถูปคู่ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกได้อีกด้วยนอกจากนี้ก่อนที่น้ำในห้วยตานีจะไหลลงสู่สระตราวนั้น ยังไหลผ่านถ้ำขุนศรี ที่ผมได้กลับไปสำรวจอีกครั้งพร้อมคณะทำงานจัดทำแผนบริหารจัดการ ได้พบร่องรอยการดัดแปลงผนังถ้ำให้เป็นที่อยู่อาศัย ถือเป็นแหล่งโบราณคดีอีกแหล่งในพื้นที่ตามที่สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานีได้เคยสำรวจและทำรายงานไว้

จากลักษณะของลวดลายและเครื่องแต่งกายของภาพบุคคลที่สลักอยู่ที่ผามออีแดง ทำให้กำหนดอายุได้ว่าอยู่ในสมัยเกาะแกร์ มีความเก่าแก่กว่าสิ่งก่อสร้างในปัจจุบันของปราสาทพระวิหาร จึงถือเป็นหลักฐานที่สำคัญยิ่งในเชิงประวัติการใช้เขาพระวิหารเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ณ จุดที่เราต้องเดินลงตามบันไดไม้ที่เกาะหน้าผาเพื่อไปชมความงามของภาพสลักนั้น ความสมบูรณ์ของผืนป่าในหุบเขาเบื้องล่างที่เป็นบริเวณช่องตาเฒ่าและทิวทัศน์ของยอดเขาสัตตะโสมที่อยู่เบื้องหน้า ก็เป็นอีกหนึ่งภาพแห่งความประทับใจที่อาจจะต้องสูญเสียไปหากมีการเปิดพรมแดนทางด้านนี้และกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาในอนาคต

บนมออีแดงเรายังได้สำรวจพบแหล่งตัดหินที่มีขนาดของก้อนใหญ่เป็นพิเศษ มี”สถูปคู่” ที่ถือเป็นสิ่งก่อสร้างพิเศษ เนื่องด้วยไม่เคยพบในที่ใด หากไม่มีการลักเจาะผนังอาคารที่ไม่มีช่องเปิด ๒ แท่งนี้ ก็คงไม่ทราบว่ามีห้องที่ประดิษฐานรูปเคารพอยู่ภายใน (ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงฐานรูปเคารพที่ไม่ทราบว่าเป็นศิวลึงค์หรือ เทพองค์ใด) อย่างไรก็ตามด้วยฝีมือการก่อสร้างที่แสดงถึงความตั้งใจและศรัทธาของคนในอดีต จึงถือเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

หากแต่คณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติกลับมุ่งที่จะใช้ข้อมูลเฉพาะจากทางกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งบางส่วนของข้อมูลมีความบกพร่องทางวิชาการ และไม่ตระหนักว่าจะมีปัญหาในการจัดการพื้นที่ หากไม่มีการตกลงกันระหว่างกัมพูชาและไทยในเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ฝ่ายไทยของเราจึงจำใจต้องขอประกาศแยกตัว (มีการประกาศอย่างเป็นทางการในที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ ณ เมืองเสียมเรียบ)....มาทำแผนการจัดการจากข้อมูลของเราเอง การสำรวจในครั้งหลังของคณะทำงานทำแผนบริหารจัดการยังได้ไปที่ปราสาทโดนตวล เป็นปราสาทที่สร้างด้วยอิฐและศิลาแลงตั้งอยู่ริมหน้าผาที่อยู่ถัดจากเขาสัตตะโสมไปทางตะวันออก จากจารึกที่สลักไว้ที่กรอบประตูของปราสาท ระบุปีที่ร่วมสมัยกับการก่อสร้างปราสาทพระวิหารอีกด้วย

ข้อความในจารึกหลายหลักที่พบ ณ ปราสาทพระวิหาร และจารึกอื่นๆที่มีใจความเกี่ยวข้อง ยังได้บ่งชี้ถึงข้อมูลที่น่าสนใจของชุมชนพื้นเมือง ที่กษัตริย์สุริยวรมันที่ ๑ ผู้สร้างปราสาทพระวิหารได้มอบหมายให้เป็นผู้ทำนุบำรุง ดูแลปราสาท ในขณะเดียวกันเทวาลัยแห่งเขาพระวิหารก็ได้เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชุมชนโบราณเหล่านี้ น้ำกินน้ำใช้ก็มาจากภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น ทำให้คนและศาสนสถานผูกพันซึ่งกันและกันเป็นหนึ่งเดียว จากข้อมูลทางโบราณคดีพบว่าในบริเวณหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในบริเวณเชิงเขาตั้งแต่บ้านภูมิซรอล ไปจนถึงบ้านโดนเอาว์ มีการสำรวจพบเศษภาชนะดินเผาและเครื่องเคลือบเขมร ถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่จะต้องมีการศึกษาอย่างเจาะลึกต่อไปอีกในอนาคต แต่ด้วยความสัมพันธ์ของสถานที่ตั้งของชุมชนที่เชื่อว่าน่าจะตั้งถิ่นฐานสืบต่อมาจากชุมชนโบราณดังกล่าวที่เมื่อมองจากหมู่บ้านไปยังเขาพระวิหารก็จะสามารถมองเห็นองค์ปราสาทได้ในทุกทุกจุด ...ช่างเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์จริงครับ

(เผยแพร่ในสกุลไทย ฉบับที่ ๒๘๑๓ วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๑)

ไม่มีความคิดเห็น: