วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ระเบิดเวลาที่เขาพระวิหาร

หลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของเราเริ่มที่จะคลี่คลาย ในวันที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ประกาศเชิญทุกคนให้ร่วมกันนำประเทศไทยออกจากวิกฤติ ก็คงจะถึงเวลาที่เราจะได้ถามถึงอีกวิกฤติหนึ่งที่รอการแก้ไขอยู่ว่าจะเป็นไปในทางใด ได้แก่ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหาร ที่มีปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ์ของทั้งสองประเทศ ที่นำมาสู่คำถามว่า เราจะเสียดินแดนในบริเวณเขาพระวิหารหรือไม่ และจะนำไปสู่การเสียดินแดนในแนวชายแดนส่วนอื่นที่รวมถึงบริเวณอ่าวไทยด้วยหรือไม่

ก่อนอื่นลองมาย้อนทบทวนมติ 32COM 8B.102 ของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมมรดกโลกครั้งที่ ๓๒ ณ เมืองควิเบค ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่ประกาศให้ “ปราสาทพระวิหาร กัมพูชา” ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชีมรดกโลก...

มีการระลึกถึงว่าเมื่อการประชุมมรดกโลกในครั้งก่อนที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้มีมติยอมรับในคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของ “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทพระวิหาร” ไว้แล้ว ตามเกณฑ์ ข้อ (i), (iii) และ (iv) เห็นชอบในหลักการว่า สมควรที่จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วตามมติของการประชุมที่นิวซีแลนด์ เขียนไว้ว่า มรดกแห่งนี้มีคุณค่าตามเกณฑ์ ข้อ (i), (ii) และ (iv) ตามเอ กสารที่ของทางกัมพูชาได้เสนอเหตุผลตามเกณฑ์ข้อ ๓ ไม่ใช่ข้อ ๒ ที่มติออกมาเช่นนี้เป็นเพราะเชื่อตามเอกสารการประเมินที่ผิดพลาดของอิโคโมสสากล นี่คือหนึ่งในข้อโต้แย้งที่อิโคโมสไทยได้มีไปถึงอิโคโมสสากล แสดงถึงความไม่มาตรฐานของการประเมินในครั้งนี้

มีการรับทราบว่ากัมพูชาได้นำเสนอ “แผนผัง” ที่ปรับปรุงใหม่ เรียกว่า RGPP ซึ่งแสดงให้เห็นขอบเขตบริเวณที่ปรับปรุงใหม่สำหรับเสนอเป็นมรดกโลก ลดขนาดพื้นที่ลงเหลือเพียงส่วนอาคารปราสาทเท่านั้น ไม่รวมไปถึงพื้นที่ภูเขาอันเป็นที่ตั้ง ความจริงแล้วการลดพื้นที่เช่นนี้เป็นเพียงการตัดปัญหาความขัดแย้งของพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิ์ทั้งสองฝ่ายออกไปก่อน มีเพียงหมายเลขในผังที่ระบุว่าเป็นพื้นที่กันชน และพื้นที่การจัดการร่วม โดยไม่แสดงขอบเขตและเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ เพียงเพื่อให้การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกดำเนินต่อไปได้ เป็นระเบิดเวลาที่ตั้งเวลาระเบิดไว้แล้ว แม้จะได้ประกาศยอมรับว่า แถลงการณ์ร่วมที่มีการลงนามร่วมกันระหว่างผู้แทนรัฐบาลกัมพูชารัฐบาลไทย และยูเนสโก จะต้องไม่นำมาพิจารณาอีกตามการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่ขอยกเลิกผลของแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ไว้ก่อน เมื่อลดพื้นที่ลงจึงทำให้ขาดความบริบูรณ์ของคุณค่าและสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ แต่ก็(เอาเถอะ)ขอประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ เฉพาะภายใต้หลักเกณฑ์ที่ (i)

เกณฑ์ในข้อนี้ได้แก่ การเป็นผลงานชิ้นเอกที่แสดงอัจฉริยภาพในทางสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ โดยในมติได้อธิบายไว้ว่า ปราสาทพระวิหารเป็นงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมเขมรที่โดดเด่นและ “บริสุทธิ์” ทั้งในด้านการออกแบบวางผังและในรายละเอียดการประดับประดา แต่ในทัศนะของผมคุณค่าความเป็นผลงานชิ้นเอกของปราสาทพระวิหารน่าจะอยู่ที่การเลือกทำเลที่ตั้งของปราสาท ลักษณะการออกแบบที่มีการเข้าถึงเป็นลำดับ การวางแนวแกนให้เกิดความสง่างามเช่นนี้ ใช่ว่าจะไปตั้งอยู่ที่ไหนก็ได้ การตัดพื้นที่โดยรอบออกจึงเป็นการตัดคุณค่าที่เป็นจริงของปราสาทออกไป ความจริงองค์ประกอบโบราณที่ต่อเนื่องมาในเขตไทย อย่างสระตราว ที่กัมพูชาพยายามจะบอกว่าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น ก็คือสระน้ำสำคัญที่เรียกว่าบาราย สร้างร่วมสมัยกับปราสาทและยังเป็นบารายที่ตั้งอยู่บนเขาที่เป็นลานหินต่างจากบารายในวัฒนธรรมเขมรโดยทั่วไป นี่คือการกั้นทำนบหินขนาดใหญ่ขวางทางน้ำที่ไหลผ่านลานหินซึ่งมีรูปสลักศิวลึงค์ตรงแนวแกนของปราสาท ทำให้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เรียกได้ว่าเป็นเขื่อนหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศจึงสมควรเป็นส่วนหนึ่งของผลงานชิ้นเอกที่แสดงถึงภูมิปัญญาและอัจฉริยภาพด้วย

ในมติระบุว่าจะพิจารณาหากมีผลการค้นพบใหม่ที่สำคัญก็อาจนำไปสู่การเสนอเป็นมรดกโลกในลักษณะข้ามพรมแดนแห่งใหม่ได้ ซึ่งจะต้องได้รับการยินยอมเห็นชอบจากทั้งกัมพูชาและไทย ทั้งที่เรามีข้อมูลเสนอให้ไปแล้วแต่กลับไม่ยอมรับ จะมาหวังให้เสนอเข้าไปใหม่และต้องขอความเห็นชอบจากกัมพูชาด้วยนั้น เราคนไทยคงจะขอชื่นชมคุณค่าที่แท้จริงของโบราณสถานดีกว่าที่จะต้องไปพึ่งความเป็นมรดกโลกจากการประเมินที่บิดเบี้ยว

ความจริงผู้ที่วางระเบิดเวลานี้ไว้ก็คือเจ้าหน้าที่ของยูเนสโกนั่นเองที่เสนอให้มีการปรับผังลดพื้นที่ขอขึ้นทะเบียนลงแม้จะมีการคัดค้านว่าขัดต่อหลักการทางวิชาการ แต่ด้วยเป็น “การตัดสินใจทางการเมือง” จึงทำได้ โดยในมติยังได้ตัดสินใจให้ในกรณีนี้ได้รับข้อยกเว้นพิเศษในการส่งข้อมูลจากรัฐภาคีเกินจากกำหนดเวลาที่ได้ระบุไว้ตามระเบียบของคณะกรรมการมรดกโลกอีกด้วย

มีการแสดงความขอบคุณต่อ รัฐบาลเบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอินเดีย รวมทั้งต่อ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และ ICCROM ที่ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญมาร่วมในการพัฒนาแผนการจัดการแหล่งปราสาทพระวิหาร ตามที่มติการประชุมที่นิวซีแลนด์ร้องขอ ผมเคยร่วมการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้และได้ประกาศแยกตัวอย่างเป็นทางการแล้วด้วยเหตุผลของการบิดเบือนข้อมูลทางวิชาการ ในขณะที่มีการเรียกร้องให้กัมพูชาโดยความร่วมมือกับยูเนสโก จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานนานาชาติ (International Coordinating Committee หรือ ICC) เพื่อการพิทักษ์รักษาปราสาทพระวิหาร ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โดยให้ เชิญรัฐบาลไทยมาร่วมด้วย และให้เชิญผู้มีส่วนร่วมในระดับนานาชาติที่เหมาะสมอีกไม่เกิน ๗ ราย มาตรวจสอบนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องการพิทักษ์รักษาคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของมรดกแห่งนี้ให้สอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติของการอนุรักษ์ จำนวน ๗รายนี้ก็พอดีสอดคล้องกับ ๖ ชาติและ ๑ องค์กรที่ได้แสดงความขอบคุณไว้ข้างต้น

การกำหนดเส้นตายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ยังเป็นวาระเดียวกันกับที่เรียกร้องให้กัมพูชานำเสนอเอกสารดังนี้
ก) แผนที่ชั่วคราวเพื่อให้รายละเอียดเพิ่มเติม และแผนที่กำหนดเส้นเขตกันชน
ข) เอกสารนำเสนอมรดกโลกใหม่ที่ปรับปรุงแล้ว แสดงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการกำหนดขอบเขต
ค) คำยืนยันว่าเขตการบริหารจัดการของแหล่งจะครอบคลุมทั้งพื้นที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วและพื้นที่กันชนทั้งหมด
ง) รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการเตรียมแผนบริหารจัดการ
นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องเพิ่มเติมให้กัมพูชาส่งแผนบริหารจัดการฉบับสมบูรณ์ รวมทั้งแผนที่ในขั้นสุดท้ายเสนอต่อศูนย์มรดกโลกภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เพื่อนำเสนอในการประชุมมรดกโลกครั้งที่ ๓๔ ในปี ๒๕๕๓

ข้อแม้ต่างๆเหล่านี้ล้วนจะต้องมาจากการเจรจาร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชาทั้งสิ้น ในช่วงวิกฤติการณ์ที่ผ่านมากัมพูชาอาจถือเป็นข้ออ้างที่ยังไม่ได้ดำเนินการใดใด ในขณะที่กลับใช้วิธีสร้างภาพชี้ให้สังคมโลกเห็นถึงว่าปัญหามาจากฝ่ายไทย ซึ่งอาจมีเหตุผลทางการเมืองเรื่องสายสัมพันธ์และผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพื่อให้ความวุ่นวายในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้น แต่เมื่อเรามีรัฐบาลใหม่ก็คงจะถึงเวลาที่น่าจะถอดชนวนระเบิดกันเสียที

การเจรจาในเรื่องพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารและเส้นเขตแดนคงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนไม่ให้เป็นปัญหาอย่างที่ผ่านมา ส่วนคำถามที่ว่าเราควรจะรับคำเชิญเข้าร่วมใน ICC หรือไม่ ผมขอแสดงความเห็นว่าไม่ควร จากประสบการณ์ที่เคยร่วมประชุมกับผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ เห็นว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงในเรื่องของสถาปัตยกรรมเขมรแต่ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจึงยากที่จะยอมรับว่าถูกโต้แย้งในเรื่องความถูกต้อง การเป็นเพียงเสียงเดียวในฐานะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจึงไม่อาจสู้กับอีกหลายเสียงที่มีภาพว่ามาช่วยด้วยความเสียสละปราศจากผลประโยชน์ใดๆได้ ในบริเวณที่เป็นพื้นที่จัดการร่วม จะต้องเป็นเรื่องระหว่างไทยและกัมพูชาเท่านั้น โดยเราสามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้ในส่วนนี้โดยไม่ต้องเข้าร่วมใน ICC

ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศท่านหนึ่งได้เล่าให้ผมฟังว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้การดำเนินการต่างๆของกระทรวงจะเป็นไปตามนโยบายจากฝ่ายการเมืองเป็นหลัก ดังนั้นการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองที่เรามีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากพรรคประชาธิปัตย์นั้น ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างแน่นอน ท่านยังตั้งข้อสังเกตว่า เท่าที่ผ่านมาแนวทางของประชาธิปัตย์จะมองภาพกว้างจับกระแสในระดับโลก เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ทำให้เรามีภาพลักษณ์ที่ดีในสังคมโลกโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ในหมู่ประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่พอมาในรัฐบาลทักษิณและยุคแห่งตัวแทนจะมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดีเพราะคำนึงถึงผลประโยชน์(ส่วนตัว)ที่จะได้รับมากกว่า จึงทำนายได้ว่าในยุคนี้อาจจะมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น ทำให้ผมพิจารณาเห็นคล้อยตามว่า คงจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ได้ ถ้าผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านของเราไม่หวังดีต่อประเทศชาติของเขาอย่างแท้จริงจากผลประโยชน์ที่แอบแฝง และปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างชาติเข้ามามีอิทธิพล ในขณะที่ผู้นำของเราประกาศอย่างชัดเจนว่าจะยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ และผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ...
การเผชิญหน้ากำลังจะเริ่มอีกครั้ง

2 ความคิดเห็น:

peak กล่าวว่า...

เมื่อองค์กรทางวิชาการที่ควรเป็นเสาหลักในระดับนานาชาติ ถูกแทรกแซงด้วยผลประโยชน์ทางการเมือง และผลประโยชน์ของบางคนบางกลุ่มแล้ว ความน่าเชื่อถือก็จะถูกลดทอนไป ที่สุดแล้วองค์กรวิชาการเหล่านี้ จะเป็นเพียงแหล่งอาศัยเพื่อหาผลประโยชน์ ประชาสัมพันธ์ขายการท่องเที่ยวโดยมองข้ามความสำคัญของการอนุรักษ์โบราณสถานที่เป็นมรดกโลก แล้วเสียงสะท้อนของนักวิชาการต่างๆ เรื่องปราสาทพระวิหารนี้ในต่างประเทศนั้นปัจจุบันเป็นอย่างไรครับ

Vasu Poshyanandana กล่าวว่า...

ตอบคุณ peak
ความจริงความเบี่ยงเบนทางวิชาการที่เกิดจากเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศ แต่ตัวผมก็เพิ่งที่จะสัมผัสด้วยตัวเองก็ในกรณีนี้เป็นครั้งแรก ต้องยอมรับว่าเสื่อมศรัทธาในตัวผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่มาทำงานในฐานะนักวิชาการขององค์กรระหว่างประเทศอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ที่รู้จริงเก่งจริง หายากจริงๆครับ แถมโดยปกติคนไทยคนเขมรก็เหมือนกันที่เชื่อถือฝรั่งมากกว่าคนชาติเดียวกัน ในกรณีเขาพระวิหารนี้อิโคโมสไทยได้ทำหนังสือข้อโต้แย้งยื่นต่อประธานอิโคโมสสากลในฐานะผู้รับผิดชอบในการประเมิน แต่ก็ไม่ยอมรับผิด อย่างไรก็ตามในการประชุมอิโคโมสสากลครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็ได้มีมติว่าจะต้องหาทางแก้ไขปัญหาในเรื่องความโปร่งใสของการประเมินแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากเหตุการณ์ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นหลายกรณีไม่เฉพาะในกรณีของไทยและกัมพูชา มากที่สุดคงได้ประมาณนี้ครับ ถ้ามีเพียงอิโคโมสไทยแสดงความเห็น ถ้าคณะกรรมการมรดกโลกของไทยไม่มีข้อโต้แย้งไปที่คณะกรรมการมรดกโลก หรือรัฐบาลไทยไม่มีข้อร้องเรียนใดใดไปยังยูเนสโก