วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พระราโชวาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพฤหัสบดี ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันนี้. ขอแสดงความชื่นชมกับบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ.

ปัจจุบัน สถานการณ์ต่างๆ ทั้งของบ้านเมืองเราและของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากและซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. บัณฑิตในฐานะที่เป็นผู้มีความรู้ความคิด ต้องไม่ยอมให้ปัญหาเหล่านั้นมาเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและกิจการงานของตน. ในการนี้ ทุกคนจำเป็นต้องขวนขวายศึกษาหาความรู้ และสร้างสมประสบการณ์ให้ลึกซึ้งกว้างขวาง รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อให้มีความรู้ในวิทยาการ และรู้เท่าทันสถานการณ์ต่างๆ. ข้อสำคัญจะต้องพิจารณาเรื่องราวปัญหาต่างๆ ด้วยจิตใจที่เที่ยงตรงเป็นกลาง จนเกิดปัญญารู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามเป็นจริง. ถ้าทำได้ดังนี้ แต่ละคนก็สามารถใช้ความรู้ ความคิด ความสามารถที่มีอยู่ดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงานให้ก้าวพ้นอุปสรรคปัญหาไปได้โดยสวัสดี และบรรลุถึงความสุขความเจริญได้ดังที่มุ่งหวัง.

ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคนและทุท่านที่มาร่วมงานในพิธีนี้ มีความสุข ความสำเร็จ และความเจริญก้าวหน้าทั่วกัน.

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในประเทศไทย

การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นมาจากการอนุรักษ์ในแบบประเพณีนิยม จากหลักฐานบันทึกต่างๆที่เกี่ยวข้อง มักจะเป็นเรื่องราวของการซ่อมแซมปรับปรุงวัดในพระพุทธศาสนา แม้จะไม่มีรายละเอียดที่แสดงถึงวิธีการที่ใช้ในการซ่อมแซมแต่ก็สามารถทำให้เข้าใจถึงแนวคิดในการอนุรักษ์ในอดีตได้อย่างชัดเจน บันทึกที่เก่าที่สุดมีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย[1] จากจารึกวัดศรีชุมได้กล่าวว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณี ได้ดำเนินรอยตามองค์พระพุทธเจ้าจาริกแสวงบุญไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในสุโขทัย อาณาจักรใกล้เคียง และศรีลังกา ซึ่งในระหว่างการจาริกแสวงบุญนั้น สิ่งที่เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ได้แก่ การรวบรวมชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินเข้าด้วยกันและซ่อมแซมเสียใหม่ด้วยปูน เป็นแบบอย่างให้ชาวพุทธถือปฏิบัติสืบต่อมาเพื่อผลบุญจนในปัจจุบัน เป็นแนวทางการอนุรักษ์แบบประเพณีนิยมที่มีพื้นฐานมาจากความศรัทธา การอนุรักษ์ศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ถือว่าเป็นสืบทอดศาสนาด้วยทางหนึ่ง

แนวความคิดสมัยใหม่ในการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานในประเทศไทยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับความเป็นชาติ แสดงถึงความเป็นอารยประเทศของบ้านเมืองเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แตกต่างไปจากเดิมที่การบูรณะหรือการบำรุงรักษาจะกระทำกันในลักษณะที่ต้องการทำให้สมบูรณ์ขึ้นหรือดีกว่าเดิมตามคตินิยมที่ทำกันมาแต่โบราณ โดยที่ยังไม่ได้มีการคำนึงถึงคุณค่าของรูปแบบดั้งเดิม ความเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่มีการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์แต่อย่างใด[2] ในความเป็นจริงแนวคิดดังกล่าวอาจจะเริ่มมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระองค์ยังอยู่ในสมณเพศ ที่ได้เสด็จหัวเมืองภาคเหนือใน พ.ศ.๒๓๗๖ ทรงแวะแหล่งโบราณคดีสำคัญๆหลายแห่งตลอดเส้นทาง และทรงรวบรวมของโบราณไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ ยังโปรดให้สร้างพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาของโบราณเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาและเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมของชาติไทย

ใน พ.ศ.๒๓๙๗ ทรงออกหมายประกาศเขตรังวัด ผู้ร้ายขุดวัด กำหนดให้ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากศาสนสถานในระยะสี่เส้นโดยรอบ มีหน้าที่สอดส่องดูแลมิให้ผู้ร้ายทำการลักลอบขุดหาทรัพย์สิน และได้กำหนดโทษปรับแก่ราษฎรผู้เพิกเฉย โดยประกาศนี้ได้รวมศาสนสถานที่เป็นวัดร้างไว้ด้วย จึงเห็นได้ว่าทรงสนพระทัยในเรื่องมรดกของชาติทั้งในฐานะที่เป็นเครื่องสืบทอดพระศาสนา และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการประกาศพระบรมโองการจัดตั้งโบราณคดีสโมสรขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ และมีการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์โบราณสถานที่พระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้ว่าจะมีการออกโฉนดที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานการถือครองกรรมสิทธิ์ แต่ก็ยังสงวนที่ดินภายในกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยาไว้เป็นสาธารณะสมบัติและที่วัดร้าง ห้ามเอกชนถือครอง โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าสงวนรักษาพระนครศรีอยุธยาไว้เป็นเมืองโบราณในฐานะมรดกสำคัญของชาติ ห้ามมิให้ผู้ใดถือสิทธิ์ปกครองที่ดินภายในบริเวณกำแพงเมืองโดยเด็ดขาด และจัดให้มีการขุดแต่งบริเวณพระราชวังโบราณขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ มีภาระหน้าที่ในการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน และโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกาศจัดการตรวจรักษาของโบราณ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๖ พร้อมกับการแต่งตั้งกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับเทศาภิบาลและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองท้องถิ่น ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรม โดยกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบในการพิเคราะห์เลือกสรร กำหนดว่าสิ่งใดเป็นของโบราณควรจะเก็บรักษาไว้บ้าง ตรวจตราให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบ นับเป็นก้าวแรกในการจัดตั้งองค์กร และกำหนดแนวทางในการดำเนินการอย่างเป็นระบบขึ้นในประเทศไทย

แม้แนวคิดการอนุรักษ์สมัยใหม่อย่างตะวันตกจะได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่การดูแลศาสนสมบัติในพระพุทธศาสนาก็ยังคงเป็นในแนวทางดั้งเดิมแบบประเพณีนิยมดังปรากฏตัวอย่างในการประชุมของมหาเถรสมาคมเมื่อครั้งกรมพระยาวชิรญาณวโรรสดำรงตำแหน่งสังฆปรินายก ที่มีการวินิจฉัยในเรื่องการรื้อพระเจดีย์และพระปฏิมาโดยอ้างถึงพระบาลีวินัยมหาวรรค โดยทรงสรุปว่า “ท่านให้ถือเอาเจตนาเป็นเกณฑ์” ที่ประชุมได้ให้คำวินิจฉัยว่า ถึงแม้ในยุคนี้เป็นเวลาที่ความนิยมในทางโบราณคดีเกิดขึ้นมาแล้วแต่มหาเถรสมาคมเห็นชอบดังนี้
๑. บุคคลใด เจาะ ขุด รื้อพระเจดีย์ หรือพระปฏิมาด้วยเจตนาประทุษร้าย ตัวอย่างเช่น เจาะหรือขุดเพื่อจะเอาทรัพย์สิ่งของ โดยที่สุดเป็นพระธาตุหรือพระพิมพ์อันบรรจุไว้ในนั้น รื้อเสียหรือจะเอาที่ปลูกสร้างเหย้าเรือน ทำเรือกสวนเป็นส่วนบุคคล หรือถือศาสนาต่างคิดทำลายล้างปูชนียวัตถุของผู้อื่นเสีย ด้วยริษยาขึ้งเคียด การทำของบุคคลนั้นเป็นบาป
๒. บุคคลใดมีเจตนาอุปการะรื้อพระเจดีย์ หรือพระปฏิมาอันชำรุดเสียแล้ว ก่อทำขึ้นแทนใหม่ หรือของไม่งามไม่จูงใจให้เลื่อมใส รื้อเสียแล้วทำขึ้นแทนใหม่ให้เป็นของงามเป็นที่จูงใจให้เลื่อมใส การทำของบุคคลนั้นเป็นบุญหาโทษมิได้
๓. บุคคลใดมีเจตนาอุปการะ เห็นพระเจดีย์หรือพระปฏิมาสร้างไว้ในที่ไม่เหมาะ ตัวอย่างเช่นอยู่ในที่ร้างไม่ได้รับความรักษา หรืออยู่ในหมู่คนใจบาปจะถูกประทุษร้าย ที่เป็นอาจชะลอมาได้ก็ชะลอมา ที่เป็นอาจจะชะลอไม่ได้อาจรื้อเป็นท่อนมาคุมใหม่ได้ เป็นของไม่อาจทำเช่นนั้น รื้อเอาสัมภาระเป็นต้นว่าอิฐมาก่อขึ้นใหม่ ประดิษฐานไว้ในที่อันสมควร การทำของบุคคลนั้นเป็นบุญทำโทษมิได้

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้มีการจัดตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น โดยมีภาระหน้าที่ประการหนึ่งในการอนุรักษ์โบราณสถาน โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา ในปาฐกถาเรื่องสงวนของโบราณ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภา ทรงแสดงแก่เทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ได้กล่าวถึงสิ่งก่อสร้างที่เป็นโบราณสถานไว้ว่า “...ของโบราณนั้นราชบัณฑิตยสภากำหนดเป็น ๒ ประเภท คือ ของที่ไม่พึงเคลื่อนที่ได้ เป็นต้นว่า เมือง และปราสาทราชวัง วัด ทั้งเทวาลัย ตลอดจนบ่อกรุ และสะพานหิน ของโบราณเหล่านี้ กำหนดเป็นประเภทหนึ่งเรียกว่า โบราณสถาน”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึงการปฏิสังขรณ์พระอารามอย่างที่กระทำกัน ซึ่งอาจจะเป็นการทำลายโบราณสถานดั้งเดิมให้เสียหาย ในปาฐกถาทรงให้เทศาภิบาลคอยสอดส่องดูแลให้เรื่องการปฏิสังขรณ์อยู่ในเกณฑ์ ๓ ข้อดังนี้
ข้อ ๑ ถ้ามีผู้ศรัทธาจะปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่สำคัญขอให้ชี้แจงกับเขาให้ทำตามแบบเดิม อย่าให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ และลวดลายไปเป็นอย่างอื่นเอาตามใจชอบ
ข้อ ๒ อย่าให้รื้อทำลายโบราณสถานที่สำคัญเพื่อสร้างของใหม่ขึ้นแทน
ข้อ ๓ วัดโบราณที่ทำการปฏิสังขรณ์นั้นมักมีผู้ศรัทธาสร้างสิ่งต่างๆ เพิ่มเติมของโบราณ ของที่สร้างเพิ่มเติมเช่นว่านี้ ไม่ควรจะสร้างขึ้นในอุปจารใกล้ชิดกับของโบราณที่ดีงามด้วย อาจทำให้ของโบราณเสียสง่าและไม่เป็นประโยชน์กับผู้สร้าง เพราะฉะนั้นควรจะให้กะที่ไว้เสียส่วนหนึ่งในบริเวณวัดนั้นสำหรับสร้างของใหม่ นอกจากนี้ยังทรงต้องการให้เทศาภิบาลสำนึกว่าโบราณวัตถุสถานของชาติเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องสงวนรักษาไว้และเป็นหน้าที่ของชาวไทยทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซึ่งเป็นข้าราชการ “การสงวนรักษาโบราณวัตถุสถานเป็นส่วนหนึ่งในราชการแผ่นดินเหมือนกับราชการอย่างอื่นๆ”

ระยะเวลาเกือบ ๑๐๐ ปี นับตั้งแต่การสถาปนากรมศิลปากร ภารกิจการอนุรักษ์โบราณสถานนับเป็นภารกิจหลักที่สำคัญประการหนึ่งของกรมศิลปากร ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนามาเป็นลำดับ

ในการอนุรักษ์โบราณสถานมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่มีการปรับเปลี่ยนและแก้ไขมาหลายครั้ง โดยฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติว่าด้วย โบราณสถาน ศิลปวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๗๗ และฉบับปัจจุบันคือพระราชบัญญัติโบราณสถาน ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีใจความที่เกี่ยวข้องกับความหมายและการจัดการของโบราณสถานดังนี้
มาตรา ๔ “โบราณสถาน” หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือซากปรักหักพังแห่งอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอายุหรือลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือศิลปกรรม
มาตรา ๖ ให้อธิบดีจัดทำบัญชีบรรดาโบราณสถานทั้งหลายที่มีอยู่ในประเทศสยามไว้ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานที่มีเจ้าของเป็นของเอกชนคนใด หรือไม่มีเจ้าของ หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน รวมทั้งโบสถ์ วัดวาอาราม และสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นอันเกี่ยวแก่การศาสนา

สำหรับพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ให้คำนิยามของโบราณสถาน ไว้ว่าโบราณสถาน หมายถึง“อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย” การที่จะบอกว่าอะไรเป็นโบราณสถานตามกฎหมายหรือไม่นั้น ประการแรกถ้าไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ก็คงตัดออกไปก่อนได้เลย ต่อมาคือโดยอายุ หมายความว่ามีความเก่าแก่ แต่ตามกฎหมายก็มิได้กำหนดว่าที่อายุเท่าไรจึงเรียกว่าเป็นโบราณสถาน และถ้าดีแต่เก่าคือสร้างมานานแล้วแต่กลับไม่เป็นประโยชน์ใดใดก็ไม่สมควรที่จะถือเป็นโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ส่วนแนวทางในการปฏิบัติงานด้านอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากรได้ออกระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ.๒๕๒๘ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์โบราณสถานให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง ทั้งทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี รวมทั้งให้มีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ประเพณี และวัฒนธรรม ซึ่งใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงานมาจนถึงปัจจุบัน

ความหมายของคำว่า “การอนุรักษ์” จึงได้ยึดถือตามคำจำกัดความของระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ. ๒๕๒๘ ดังนี้
การอนุรักษ์ หมายความว่า การดูแล รักษา เพื่อให้ทรงคุณค่าไว้ และให้หมายรวมถึงการป้องกัน การรักษา การสงวน การปฏิสังขรณ์ และการบูรณะด้วย
สำหรับการอนุรักษ์ในวิธีการต่างๆ ได้ระบุความหมายไว้ดังนี้
ก. การสงวนรักษา หมายถึง การดูแลรักษาไว้ตามสภาพของเดิม เท่าที่เป็นอยู่ และป้องกันมิให้เสียหายต่อไป
ข. การปฏิสังขรณ์ หมายถึง การทำให้กลับคืนสู่สภาพอย่างที่เคยเป็นมา
ค. การบูรณะ หมายถึง การซ่อมแซมและปรับปรุงให้มีรูปทรงลักษณะกลมกลืนเหมือนของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ต้องแสดงความแตกต่างของสิ่งที่มีอยู่เดิม และสิ่งที่ทำขึ้นใหม่

จากคำจำกัดความข้างต้น จะตั้งข้อสังเกตได้ว่า เราสามารถใช้คำ “การอนุรักษ์” ได้ในความหมายที่กว้างที่สุดที่จะกินใจความถึงวิธีการใดๆ ก็ตามที่จะยังประโยชน์ต่อการสืบต่ออายุของโบราณสถาน โดยในปัจจุบันได้มีแนวคิดว่า การอนุรักษ์โบราณสถานจะต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย การอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานจึงได้แก่ การดำเนินการใดๆ ก็ตาม เพื่อให้คงไว้ซึ่งคุณค่าของโบราณสถานในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นประจักษ์พยานแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ รักษาส่วนที่ได้รับสืบทอดมามิให้สูญหายไป ดูแลให้อยู่ในสภาพที่ดีอันที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ให้ประชาชนมีความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความรักความหวงแหนที่จะรักษาไว้และพร้อมที่จะส่งมอบต่อให้คนในรุ่นต่อไปด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุดที่จะเป็นไปได้ และยังสามารถนำโบราณสถานมาใช้เพื่อประโยชน์การใช้สอยในปัจจุบันด้วยความเหมาะสม

และจากการที่โบราณสถานเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองมาตั้งแต่ครั้งอดีต เป็นความภาคภูมิใจของคนในปัจจุบัน ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพระราชวังโบราณ บริเวณพระตำหนักเย็น บึงพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ความว่า “....การสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย...” แนวทางตามพระราชดำรัสดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า โบราณสถานเป็นสิ่งที่มีคุณค่าจึงควรอนุรักษ์ไว้เพื่อแสดงถึงประวัติความเป็นมาของชาติบ้านเมืองต่อไป

[1] จาก ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ, การอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมและชุมชน, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๕๒. หน้า ๑๘
[2] จาก มะลิ โคกสันเทียะ, ข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาในการอนุรักษ์โบราณสถานของกองโบราณคดี, เอกสารประกอบการสัมมนา การอนุรักษ์โบราณสถานในฐานะเป็นหลักฐานทางวิชาการ ๖-๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ มหาวิทยาลัยศิลปากร

การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในแบบสากล

แนวคิดด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในแบบตะวันตก ณ จุดเริ่มต้นก็เป็นแนวคิดในแบบประเพณี ยุโรปในอดีตก็ได้มีการดัดแปลงอาคารทางศาสนาและการก่อสร้างต่อเติมขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่นโบสถ์ในแบบนอร์มันดั้งเดิมก็อาจมีการรื้อออกหรือดัดแปลงให้เป็นแบบโกธิคด้วยการสร้างซ้อนทับโครงสร้างเดิมไว้ ตามความนิยมของยุคสมัย เห็นได้ว่าแนวคิดของช่างโบราณอยู่ที่การพัฒนาทางด้านรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สูงกว่า เบากว่า นำแสงสว่างอันเจิดจ้าเข้ามาได้มากกว่า โดยไม่มีการชื่นชมในสถาปัตยกรรมแบบโบราณที่เป็นอยู่

ในเวลาต่อมาจากกระแสความตื่นตัวจากการค้นพบแหล่งเมืองโบราณต่างๆในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ต่อเนื่องมาจากความสนใจของสังคมในเรื่องราวโบราณและการศึกษาเกี่ยวกับโบราณสถาน ศิลปะรูปแบบยุคสมัยต่างๆที่มีมาในอดีตตั้งแต่ในศตวรรษที่ ๑๗ นำไปสู่การเขียนตำราประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ได้มีการซ่อมแซมอนุรักษ์ สิ่งก่อสร้างของโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีทั้งหลายเพื่อที่จะนำมาใช้ใหม่และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในสมัยนั้นอันเป็นช่วงที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะจัดว่าเป็นยุคโรแมนติค
แนวคิดของยุคโรแมนติคจะนิยมความเร้าใจที่เกิดจากการหวลระลึกถึงอดีตอันไกลโพ้น เป็นเหตุให้เกิดการนำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมของ กรีก โรมัน หรือโกธิค กลับมาใช้ใหม่ และยังเกิดแนวคิดความเป็นชาติและความภาคภูมิใจในชนชาติขึ้นด้วย มีการนำเอารูปแบบโกธิคมาใช้เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นชนชาติเก่าแก่ มีรากฐานอันยาวนาน อาคารทางศาสนาที่สร้างขึ้นใหม่ใช้รูปแบบนีโอโกธิค ในขณะที่อาคารเก่าจำนวนมากถูกปรับเปลี่ยนตามความนิยมในการประกอบพิธีกรรมที่เหมาะสมและศักดิ์สิทธิ์ด้วยการซ่อมเปลี่ยนอาคารให้ไปสู่รูปแบบโกธิค จากจุดเริ่มต้นในประเทศอังกฤษได้พัฒนามาสู่ แนวทางแบบ stylistic restoration ในฝรั่งเศส โดย Prosper Merimee และ Eugene Emmanuel Viollet-le-Duc ที่สนับสนุนการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานในฐานะที่เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีความหมายและประโยชน์ใช้สอย ให้อาคารมีความครบถ้วนสมบูรณ์ตามรูปแบบที่จินตนาการขึ้นมาให้มีความกลมกลืนกับรูปแบบโกธิค แก้ไขส่วนต่อเติมในอดีตให้กลายเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ “ถูกต้อง” โดยได้อธิบายถึงการบูรณะไว้ว่า
“การบูรณะ (restoration) นั้นเป็นสิ่งใหม่ การบูรณะอาคารไม่ใช่การอนุรักษ์ ซ่อมแซม หรือสร้างขึ้นใหม่ แต่คือการนำเอาอาคารกลับไปสู่สภาพที่สมบูรณ์ที่สุดซึ่งอาจจะไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของอาคารนั้น...”[1]

จากแนวคิดที่ไม่ยอมรับความชำรุดทรุดโทรมที่นำมาซึ่งการต่อเติมโบราณสถานให้มีความสมบูรณ์ด้วยการออกแบบใหม่ ได้เกิดแนวคิดของกลุ่มที่คัดค้านการบูรณะ (anti-restoration) ที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดใดกับโบราณสถานในฐานะที่เป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดี ตามหลักการอนุรักษ์ของ John Ruskin และ William Morris ในประเทศอังกฤษ โดยรัสกินได้กล่าวถึงการบูรณะไว้ว่า “...เราอย่ามากล่าวถึงการบูรณะเลย มันเป็นสิ่งที่หลอกลวงตั้งแต่ต้นจนจบ...”[2] ในขณะที่มอริสได้เขียนถึงแนวคิดในแถลงการของสมาคมเพื่อการรักษาอาคารโบราณ (Society for the Protection of Ancient Buildings) ในปี ค.ศ.๑๘๗๗ ว่า “...ป้องกันความชำรุดทรุดโทรมของอาคารด้วยการดูแลรักษาอย่าสม่ำเสมอ ค้ำยันผนังที่ทรุดเอียง หรือซ่อมแซมหลังคาที่รั่ว จะต้องไม่แสดงออกถึงรูปลักษณะอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้อง ต้องพยายามที่จะไม่รบกวนเนื้อของอาคาร หรือองค์ประกอบตกแต่ง ถ้าไม่เหมาะสมกับการใช้สอยในปัจจุบัน การสร้างอาคารใหม่ขึ้นอีกหลังหนึ่งจะดีกว่า การเปลี่ยนแปลงอาคารเดิมหรือขยายอาคารเดิมให้ใหญ่ขึ้น จะต้องคำนึงว่าเป็นอาคารเป็นอนุสรณ์ของยุคโบราณที่ผ่านพ้นไปแล้ว เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์โดยช่างโบราณซึ่งศิลปวิทยาการสมัยใหม่ไม่สามารถที่จะไปแตะต้องโดยไม่ทำลายได้”

จากนั้นได้มีการเคลื่อนไหวด้านแนวคิดการอนุรักษ์ในอิตาลีของ Camillo Boito ที่ถือได้ว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างการบูรณะให้สมบูรณ์เต็นรูปแบบ และการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของกาลเวลา โดยบอยโต้มีความเห็นว่า การต่อเติมเปลี่ยนแปลงรูปแบบโบราณสถาน ในยุคต่างๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในประวัติของอาคารทั้งสิ้น จึงควรเก็บรักษาไว้เว้นแต่จะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่การบูรณะที่มีการต่อเติมขึ้นใหม่ก็สามารถทำได้แต่จะต้องมีความแตกต่างแยกแยะได้จากของดั้งเดิมและมีการบันทึกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไว้เป็นหลักฐานในทุกขั้นตอน แนวคิดนี้ได้กลายเป็นข้อบัญญัติในการบูรณะโบราณสถานของอิตาลี ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๐๒

ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้มีการก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อสันติภาพขึ้นโดยภายในองค์กรนี้มีส่วนที่ทำหน้าที่โดยตรงในการดูแลมรดกวัฒนธรรมได้แก่ The International Museum Office ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๒๖ มีการส่งเสริมให้มีการสัมมนาในระดับนานาชาติขึ้นโดยครั้งหนึ่งที่สำคัญเป็นการประชุมเพื่อการทำงานอนุรักษ์ที่อโครโพลิสแห่งเอเธนส์ ณ เมืองเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี ค.ศ. ๑๙๓๑ และบทสรุปจากการประชุมดังกล่าวต่อมารู้จักกันในนามของกฎบัตรเอเธนส์ ถือเป็นจุดสำคัญในการกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์สมัยใหม่ขึ้น มีแนวคิดอนุรักษ์ด้วยการเก็บรูปแบบดั้งเดิมทุกยุคสมัยของโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ไว้ การปฏิสังขรณ์แบบเต็มรูปแบบเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติอีกต่อไป

ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงพร้อมด้วยความเสียหายที่มากกว่าสงครามโลกครั้งแรก ในปี ค.ศ. ๑๙๔๔ รัฐบาลโปแลนด์ได้ตัดสินใจสร้างเมืองวอร์ซอที่ได้รับความเสียหายขึ้นมาใหม่ในรูปแบบดั้งเดิม เป็นแบบอย่างให้มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้กับอีกหลายเมือง นานาชาติได้ร่วมมือกันเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก นำมาซึ่งการก่อตั้งองค์กรสหประชาชาติ โดยมี UNESCO เป็นหน่วยงานย่อยที่ดูแลการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ความร่วมมือทางด้านการอนุรักษ์โบราณสถานในระดับนานาชาติได้เริ่มต้นขึ้นและนำมาสู่แนวคิดการอนุรักษ์มรดกร่วมกันของคนทั้งโลก และการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน จากการประชุมนานาชาติสำหรับสถาปนิกและช่างเทคนิคที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถานที่เมืองเวนิช ประเทศอิตาลี ได้เกิดเป็นกฎบัตรระหว่างประเทศว่าด้วยการอนุรักษ์และการบูรณะโบราณสถาน หรือที่เรียกว่ากฎบัตรเวนิช

ยังมีทฤษฎีด้านการอนุรักษ์ของออสเตรียจาก Der Moderne Denmalkultus. (The Modern Cult of Monument) โดย Alois Riegl ที่มีการให้คำจำกัดความของคุณค่าและแนวความคิดที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์สมัยใหม่ไว้ ทฤษฎีด้านการบูรณะโบราณสถานของอิตาลี Teoria del Restauro โดย Cesare Brandi แนวทางที่ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในขณะที่มีการร่างกฎบัตรเวนิช[3] เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงการแทนที่ส่วนที่ขาดหายไปของโบราณสถานในการบูรณะ

กฎบัตรเพื่อการอนุรักษ์ทั้งในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ ระเบียบ คำประกาศ ข้อบัญญัติ หรือ ข้อตกลงต่างๆที่เป็นที่ยอมรับของสังคมใดสังคมหนึ่งในช่วงเวลาต่างๆ สามารถสะท้อนภาพของสังคม แนวความคิด ด้านการอนุรักษ์ในสมัยต่างๆได้ ยกตัวอย่างเบื้องต้นได้จากการวิเคราะห์รายชื่อกฎบัตรระหว่างประเทศ และกฎบัตรแห่งชาติซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม[4] เรียงลำดับตามช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการประชุมด้านการอนุรักษ์โบราณสถานในระดับระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก ที่มีการประกาศเป็นกฎบัตรเอเธนส์ดังต่อไปนี้ ก็พอที่จะทำให้เห็นได้ถึงแนวความคิดและพฤติกรรมสังคม ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถานระดับสากลที่มีพัฒนาการตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป
- The Athens Charter for the Restoration of Historic Monuments (1931)
- The Venice Charter – International Charter for the Conservation and Restoration of Monuments and Sites (1964)
- Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage (1972)
- The Burra Charter (1979, revised 1999)
- Historic Gardens – The Florence Charter (1981)
- Charter for the Conservation of Historic Towns and Urban Areas – The Washington Charter (1987)
- Charter for the Protection and Management of the Archaeological Heritage (1990)
- The Nara Document on Authenticity (1994)
- Charter on the Protection and Management of Under Water Cultural Heritage (1996)
- International Cultural Tourism Charter (1999)
- Charter on the Built Vernacular Heritage (1999)
- Principles for the Preservation of Historic Timber Structures (1999)
- Principles for the Preservation and Conservation/Restoration of Wall Paintings (2003)
- Convention for the Safeguarding of Intangible Cultural Heritage (2003)
- Declaration of the Kimberley Workshop on the Intangible Heritage of Monuments and Sites (2004)
- Xi’an Declaration on the Conservation of the Setting of Heritage Structures, Sites and Areas (2005)
- The ICOMOS Charter for the Interpretation and Presentation of Cultural Heritage Sites (2008)

จากจุดเริ่มต้นที่กฎบัตรเอเธนส์ จะเห็นว่าแนวคิดด้านการอนุรักษ์โบราณสถานเริ่มขึ้นจากการบูรณะและมองโบราณสถานเฉพาะลักษณะทางกายภาพและเน้นที่อาคารสิ่งก่อสร้างก่อน ถัดมาที่กฎบัตรเวนิช จึงได้ขยายขอบเขตออกมาให้กว้างขึ้น ด้วยการเพิ่มคำ conservation เข้ามา รวมทั้งการกำหนดให้โบราณสถานมีทั้งที่เป็น monument และ site ไม่ใช่เฉพาะแต่ที่เป็นสิ่งก่อสร้างแต่เพียงอย่างเดียว ในช่วงต่อมาจึงได้เกิดแนวคิดการปกป้องคุ้มครองมรดกที่มีคุณค่าความสำคัญที่คนทั้งโลกจะต้องร่วมกันรักษา ซึ่งมีทั้งที่เป็นแหล่งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม สำหรับเบอรา ชาเตอร์ แม้ชื่อจะไม่สื่อถึงแนวคิดด้านการอนุรักษ์แต่ใจความของกฎบัตรของออสเตรเลียซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลนี้ก็เป็นตัวชี้วัดแนวคิดของสังคมได้เช่นเดียวกัน เช่น การให้ความหมายของคำว่า conservation ให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมที่เป็นการอนุรักษ์ทั้งหมด[5] และให้ความสำคัญกับการประเมินคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่จะนำมาสู่การกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์โบราณสถานได้ต่อไป ต่อมาในการประชุมที่เมืองฟลอเรนซ์ได้ทำให้เกิดกฎบัตรการอนุรักษ์ที่เป็นการขยายขอบเขตออกมาจาก กฎบัตรเวนิชเป็นครั้งแรก ด้วยการยกประเด็นของโบราณสถานประเภทสวนประวัติศาสตร์ ที่ต้องการแนวทางการอนุรักษ์ที่ต่างไปจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎบัตรเวนิช เนื่องจากสวนประวัติศาสตร์ถือเป็นโบราณสถานที่มีชีวิต ด้วยมีองค์ประกอบที่เป็นพืชพันธุ์ธรรมชาติ ในขณะที่มุมมองด้านการอนุรักษ์ที่มีอยู่เดิมได้มุ่งเน้นอยู่ที่ซากโบราณสถาน ต่อจากสวนประวัติศาสตร์ในลำดับต่อมาก็ได้มีการหาแนวทางเพิ่มเติมให้กับโบราณสถานประเภทย่าน ชุมชนเมืองประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี และแหล่งโบราณคดีใต้น้ำตามลำดับ และยังได้เห็นความสำคัญของการบริหารจัดการที่ควรจะพิจารณาไปพร้อมๆกับการอนุรักษ์ด้วย
ข้อสรุปจากการประชุมระดับระหว่างประเทศที่เมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น ยังได้เป็นการย้ำถึงการให้คุณค่ากับความแท้ในการอนุรักษ์โบราณสถาน และต่อมาสังคมยังได้มองเห็นปัญหาที่เกิดจากการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มีการเพิ่มเติมหลักการอนุรักษ์ในรายละเอียดเฉพาะบางประเภทของโบราณสถาน ได้แก่ อาคารที่สร้างด้วยไม้ที่มีความคงทนน้อยกว่าวัสดุประเภทอื่น และภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในขณะเดียวกันแนวโน้มของสังคมยังได้มุ่งให้ความสำคัญกับคุณค่าทางนามธรรมที่ถือเป็นส่วนที่สร้างความหมายให้กับโบราณสถานด้วยทั้งจากการประกาศของยูเนสโกและอิโคโมส ในปีถัดมายังได้เห็นถึงแนวคิดการขยายขอบเขตของการอนุรักษ์ให้ออกมาครอบคลุมถึงสภาพโดยรอบของโบราณสถานด้วยเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสภาพโดยรอบของเมืองโบราณต่างๆอย่างมาก จึงเป็นเวลาที่จะต้องหาทางควบคุมแก้ไขปัญหาร่วมกัน จากเรื่อง setting ยังได้มีความต่อเนื่องมาถึงในปัจจุบันนี้ที่เรากำลังพูดกันถึงเรื่องของภูมิทัศน์วัฒนธรรม (cultural landscape)

และสำหรับกฎบัตรสากลล่าสุดที่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.๒๐๐๘ เรื่อง interpretation and presentation ก็แสดงให้เห็นได้ถึงกระแสแนวคิดในปัจจุบันของการอนุรักษ์ ว่ากำลังมีแนวโน้มมาในเรื่องของการสื่อความหมายและการนำเสนอโบราณสถาน แสดงถึงความสำคัญของความเข้าใจในสิ่งที่เราอนุรักษ์เพื่อให้สังคมตระหนักถึงคุณค่า ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะได้ร่วมกันดูแลรักษาให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต

[1] Eugene-Emmanuel Viollet-le-Duc, “Restoration”, อ้างถึงใน Stanley Prince, 1996
[2] จาก Seven Lamps of Architecture ของ John Ruskin, 1890
[3] Jukka Jokilehto. A History of Architecture Conservation (Elsevier,2005), หน้า 237.
[4] จาก ICOMOS. International Charters for Conservation and Restoration – Monuments and Sites I. (Munich: Lipp GmbH, 2004).
[5] …all the processes of looking after a place so as to retain its cultural significance. (article 1)…may include… maintenance, preservation, restoration, reconstruction, adaptation and interpretation / a combination of more than one of these. (article 14)

70 ปึไปรษณีย์กลาง บางรัก

ครุฑและแตรงอน สัญลักษณ์ไปรษณีย์ไทย ที่บางรัก

ความงามแบบโมเดิร์น



แอบเก๋บนดาดฟ้า


ไปรษณีย์วันนี้


อาคารไปรษณีย์กลางบางรักมีการฉลองครบรอบ 70 ปีในปีนี้ กล่าวคือสร้างในปี พ.ศ. 2483 งานสถาปัตยกรรมออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ ร่วมกับนายหมิว อภัยวงศ์ และงานศิลปกรรมโดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี จัดเป็นมรดกสถาปัตยกรรมในรูปแบบโมเดิร์น เช่นเดียวกับศาลาเฉลิมกรุง อาคารศาลยุติธรรม ศาลากลางพระนครศรีอยุธยา(เดิม) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกลุ่มอาคารถนนราชดำเนินกลาง และมีงานตกแต่งในอิทธิพลแบบอาร์ตเดโก ที่มีความเป็นไทยผสมผสานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีงานประติมากรรมรูปครุฑซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นงานออกแบบของศาสตราจารยศิลป์ พีระศรี ประดับอยู่ด้านหน้าอาคาร จึงถือว่ามีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและศิลปะของไทยที่สัมพันธ์ถึงประวัติศาสตร์ของโลกเกี่ยวกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม ในแง่การใช้สอยของอาคารในอดีตยังเป็นหลักฐานสำคัญของความเป็นมาของการไปรษณีย์และการสื่อสารในประเทศไทย ตลอดจนพัฒนาการของการเจริญเติบโตของเมืองจากการที่ในสมัยนั้นจะแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าด้วยการใช้รถไฟและไปรษณีย์เป็นสัญลักษณ์ มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ขึ้นเป็นเครื่องหมายของเมืองที่มีการพัฒนา การก่อสร้างอาคารไปรษณีย์กลางจึงถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญหน้าหนึ่งของกรุงเทพมหานครด้วย
สภาพอาคารซึ่งมีขนาดใหญ่แต่ในปัจจุบันมีการใช้งานเฉพาะในส่วนชั้นล่าง เป็นที่ทำการไปรษณีย์บางรักเท่านั้น อาคารด้านหลังส่วนหนึ่งถูกรื้อออกไปแล้วสืบเนื่องจากการตัดแบ่งพื้นที่ให้การสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) แม้ว่าโครงสร้างอาคารจะมีความมั่นคงแข็งแรงแต่การปิดพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เคยเป็นพื้นที่ห้องทำงานที่กว้างขวาง บันไดกลางที่โอ่โถงนำขึ้นไปสู่โรงละครด้านบนไว้โดยไม่มีการใช้สอย ปล่อยเป็นพื้นที่ร้าง ก็จะทำให้อาคารเสื่อมสภาพลงได้อย่างรวดเร็วด้วยขาดการดูแลรักษา วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารเป็นส่วนสำคัญที่มีเอกลักษณ์ ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น ไม้ปาเก้ต์ และกระจกฝ้า รวมทั้งลักษณะโครงสร้างเสาช่วงกว้าง การมีช่องแสงที่เจิดจ้าโถงด้านล่างมีความกว้างใหญ่สง่างาม

ในประเด็นเรื่องความเป็นโบราณสถาน แม้ว่าจะยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวมาข้างต้นก็ตรงตามนิยามของโบราณสถานใน พรบ.โบราณสถานฯ ดังนั้นในการบูรณะ ปรับปรุง ดัดแปลง ก็ขอให้ส่งข้อมูลความต้องการในการปรับปรุงนั้นให้กรมศิลปากรช่วยตรวจสอบพิจารณาก่อน ว่าจะมีผลกระทบให้โบราณสถานเสื่อมคุณค่าลงในด้านต่าง ๆ หรือไม่ หากคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ยังคงอยู่หลังจากการปรับปรุงนั้นก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ ส่วนเรื่องของการใช้สอยในอนาคตของอาคารก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้เพื่อให้สอดคล้องตามสภาพสังคมในปัจจุบัน

ความคืบหน้ากรณีมรดกโลกปราสาทพระวิหาร

ในที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการคุ้มครอง รักษา และพัฒนาเมืองพระนคร (ICC – Angkor) ครั้งที่ ๑๙ เมื่อวันที่ ๘-๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ นาย เบชาอูช (Beschaouch) ผู้แทนของยูเนสโก ได้แจ้งว่าจะมีการจัดตั้ง คณะกรรมการ ICC – Preah Vihear ขึ้นในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยวิสามัญ ที่สำนักงานยูเนสโก กรุงปารีส ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ทราบว่าไม่มีการเชิญผู้แทนของไทยเข้าร่วมประชุมเรื่องการก่อตั้ง ICC – Preah Vihear ในขณะที่เชิญจากชาติอื่นๆที่ต้องการให้เข้าร่วมครบทั้งหมด ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยโดยมติคณะกรรมการมรดกโลกของไทยเห็นว่าไทยไม่ควรเข้าร่วมใน ICC ชุดนี้

จากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยวิสามัญและการประชุมอื่นๆ ที่กรุงปารีส ทราบว่า นาง Bokova ผอ.ใหญ่ของยูเนสโก ได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมจัดตั้ง ICC- พระวิหาร ออกไปก่อนตามที่ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ทราบถึงมติคณะกรรมการมรดกโลกของไทย แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับทั้งยูเนสโกและทางกัมพูชา เนื่องจากตามมติคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๒ ที่ควิเบคที่ประกาศให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในบัญชีมรดกโลกเรียบร้อยแล้ว ได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง ICC โดยให้ไทยเข้าร่วมด้วย ถือเป็นมติที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง แต่ทางยูเนสโกก็ยินดีที่จะให้รอต่อไปก่อนระยะหนึ่ง โดยขอให้มีการประชุม ๓ ฝ่าย ยูเนสโก ไทย กัมพูชา โดยนาง Bokova รับที่จะเป็นผู้จัดให้ ทั้งนี้ท่านเอกอัครราชทูตวีรพันธุ์ได้ชี้แจงว่า การที่ฝ่ายไทยไม่สามารถเข้าร่วมหรืออธิบายเหตุผลข้อขัดข้องต่างๆได้ เนื่องจากตามมติกรรมการมรดกโลกกำหนดให้กัมพูชาส่งแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารในการประชุมสมัยที่ ๓๔ ณ กรุงบราซิเลีย ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องมีการระบุขอบเขตพื้นที่การจัดการโดยรอบปราสาทพระวิหารที่มีความเป็นไปได้ที่จะล้ำเข้ามาในเขตอธิปไตยของไทย ทั้งที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกรรมการมรดกโลก ๒๑ ชาติ แต่ก็ยังไม่ได้เห็นเอกสารดังกล่าวเพื่อให้พิจารณาก่อนเข้าที่ประชุม ทั้งที่ต้องส่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยในประเด็นเรื่องความโปร่งใส โดยที่ได้กำหนดไว้แล้วในวาระการประชุมที่บราซิเลียว่าจะมีการกล่าวถึงเรื่องนี้ในวาระสถานภาพการอนุรักษ์ของมรดกโลก แต่ยังไม่มีรายละเอียดเนื้อหาที่จะนำเข้าสู่วาระให้ตรวจสอบก่อน

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังมีประเด็นที่สำคัญในเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ ที่จะต้องมีความชัดเจนก่อน

19th Technical Session of the ICC Angkor

รายงานการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพระนคร ครั้งที่ ๑๙


การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อการปกป้องคุ้มครองและพัฒนาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของเมืองพระนคร (International Coordinating Committee for Safeguarding and Development of the Historic Site of Angkor : ICC Angkor) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๙ ระหว่างวันที่ ๘ – ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ ณ โรงแรม Sokha Angkor เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
ตัวแทนประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมได้แก่
๑. นายวสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกระดับชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร
๒. นางสาวธิติยา ปานมณี เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ

วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เริ่มการประชุม เวลา ๘.๓๐ น. โดยมีวาระการประชุมและสาระโดยย่อดังนี้

วาระที่ ๑ พิธีเปิดการประชุม ประกอบด้วยการกล่าวเปิดโดย นาย Dominique FRESLON และ นาย Hiroshi KAWAMURA สองประธานร่วมผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ตามลำดับ และการกล่าวของ นาย SOK An รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานสูงสุดขององค์กร APSARA National Authority แจ้งเรื่องข้อเสนอการเป็นเจ้าภาพของเสียมราฐในการจัดประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ ๓๐ ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีที่เมืองพระนครได้อยู่ในบัญชีมรดกโลกในปี ๒๐๑๒ รวมทั้งการที่ นาย BESCHAOUCH ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “สหเมตไตร”และคำกล่าวจากนาย Teruo JINNAI ผู้แทน UNESCO ในราชอาณาจักรกัมพูชา

วาระที่ ๒ เรื่องการวิจัยและการอนุรักษ์
๒.๑ นาย Azedine BESCHAOUCH, ICC Permanent Scientific Secretary กล่าวรายงานกิจกรรมของ ICC-Angkor และการนำเอาคำแนะนำต่างๆที่ผ่านมาไปสู่การปฏิบัติ กล่าวถึง ICC-Preah Vihear องค์กรพี่น้องกับ ICC-Angkor ว่าจะมีการจัดตั้งขึ้นในวันที่ ๑๖ มิถุนายนนี้ ที่ UNESCO ณ กรุงปารีส

๒.๒ นาย BUN Narith ผู้อำนวยการใหญ่ APSARA Authority กล่าวรายงานกิจกรรมต่างๆของ APSARA เช่น การบูรณะเร่งด่วนสำหรับปราสาทที่พังลงมา การตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในประเทศอิตาลี การศึกษาเพื่อการวางแผนการพัฒนาระบบน้ำและการฟื้นฟูบาราย การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาเมืองเสียมราฐ การมีส่วนร่วมของภาคประชาคม การพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ การเกษตรอินทรีย์

๒.๓ การอนุรักษ์
๒.๓.๑ การนำเสนอผลการทำงานที่ปราสาทบายนของ JASA (Japan – APSARA Team for Safeguarding Angkor) ประกอบด้วย
ก. ภาพรวมของการปกป้องคุ้มครองปราสาทบายน โดย ศ.ดร. NAKAGAWA Takeshi
ข.รายงานความก้าวหน้าของงานบูรณะที่บรรณาลัยด้านทิศใต้ของปราสาทบายน โดย นาย SOEUR Sothy กล่าวถึงขั้นตอนการเตรียมนำหินกลับคืนสู่ที่ตั้งดั้งเดิมหลังงานทดลองประกอบหินเสร็จสมบูรณ์ ในการเตรียมฐานรากได้มีการทดสอบการรับน้ำหนักของดินบดอัดแน่นแบบดั้งเดิมพบว่าไม่เพียงพอ ต้องมีการปรับปรุงการรับแรงก่อน ในการเสริมด้วยหินใหม่ มีความจำเป็นต้องใช้หินทรายใหม่ ๑๒ % ในขณะที่ต้องใช้ศิลาแลงใหม่เกือบ ๙๐ %
ค.งานสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีทางด้านทิศใต้ของปราสาทบายน โดย ดร. KOU Vet รายงานการค้นพบระบบการระบายน้ำโบราณ
ง. งานสำรวจทางธรณีสัณฐานภายในระเบียงของปราสาทบายน และความก้าวหน้าของงานวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการจัดการพื้นที่น้ำโดยรอบแหล่งมรดกเมืองพระนคร โดย ดร. TOKUNAGA Tomochika
จ. คำแนะนำทางเทคนิคเพื่อการถมดินกลับในแหล่งโบราณสถานเมืองพระนคร โดย ดร. IWASAKI Yoshinori เป็นผลการทำงานที่สืบเนื่องมาจากการขุดตรวจสอบใต้ปราสาทประธาน ปราสาทบายน
ฉ. การศึกษาวิธีการอนุรักษ์ภาพสลักนูนต่ำที่ระเบียงคดด้านในของปราสาทบายน โดย ดร. SAWADA Masahiko และ ดร. SHIMODA Ichita

๒.๓.๒ การนำเสนอของ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (EFEO) โดย นาย Pascal ROYERE สถาปนิก
ก. การบูรณะปราสาทบาปวน กำหนดตารางการทำงานในช่วงสุดท้ายของการดำเนินการในระยะเวลา ๙ เดือน
ข. การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการบูรณะปราสาทแม่บุญตะวันตก ปราสาทซึ่งมีสภาพเป็นเกาะตั้งอยู่กลางบารายตะวันตก นำเสนอโครงการการทำงานในระยะเวลา ๔ ปี

การอภิปรายโดยคณะที่ปรึกษา
ศ. BOUCHENAKI : ชื่นชมการทำงานที่นำมาซึ่งข้อมูลทางวิชาการจากการศึกษาเบื้องต้นทางโบราณคดีก่อนการดำเนินการ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งก่อนที่จะได้มีการกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์ เช่น ในกรณีปราสาทแม่บุญตะวันตก ซึ่งมีความน่าสนใจมาก เป็นโบราณสถานที่มีเอกลักษณ์ ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเบื้องต้นนี้ก่อน นอกจากนี้ยังควรมีการแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลในระหว่างแต่ละคณะทำงานที่เข้ามาร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานเมืองพระนครด้วย
นาย BESCHAOUCH : ชื่นชมการที่ในทีม JASA ของ ญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้ชาวกัมพูชาได้เรียนรู้การทำงานจนพัฒนาขึ้นมาได้อยู่ในระดับสูง ถือเป็นพัฒนาการที่ดีมากสำหรับกัมพูชา เป็นความสำคัญของการฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้

๒.๓.๓ การนำเสนอของ WWF (World Monument Fund) โดย คุณ Konstanze VON ZUR MUEHLEN ผู้จัดการโครงการ
ก. รายงานความก้าวหน้าของการทำงานที่ปราสาทพนมบาแค็ง ระเบียงคดด้านทิศตะวันออกของปราสาทนครวัด และปราสาทพระขรรค์
ข. การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การอนุรักษ์และการสร้างความมั่นคง ศาสนสถานอิฐ

๒.๓.๔ การนำเสนอของ ASI (Archaeological Survey of India)
ก. คำกล่าวนำโดย ดร. D.R. GEHLOT อธิบดีร่วมของ ASI
ข. งานอนุรักษ์โครงสร้าง และลักษณะการอนุรักษ์ที่ ปราสาทตาพรม โดย นาย Janhwij SHARMA ผู้อำนวยการอนุรักษ์ รายงานการทำงานในลักษณะสหวิชาการ นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างและธรณีวิทยา
ค. การอนุรักษ์ต้นไม้ที่ปราสาทตาพรม โดย ดร. N.S.K. HARSH ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยป่าไม้ เมือง Deradun ประเทศอินเดีย

๒.๓.๕ การอนุรักษ์ของปราสาทนครวัด งานบูรณะที่โคปุระตะวันตก ซุ้มบันไดใหญ่ทางทิศตะวันตก พลับพลารูปกากบาท และสระน้ำล้อมรอบด้านตะวันตก โดย นาย Valter Maria SANTORO เป็นการดำเนินงานโดย I.Ge.S. ( Ingegneria Geotecnica e Structeral snc) จากอิตาลี มีการสำรวจสภาพปัญหา ติดตามตรวจสอบรอยแยกต่างๆ พบว่ามีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิและระดับน้ำในดิน และจากข้อมูลการวิเคราะห์แรงดันจากน้ำในส่วนโครงสร้างพบว่าจุดที่มีความเสี่ยงต่อการพังทลายได้แก่ส่วนมุมและขั้นบันได

๒.๓.๖ การอนุรักษ์หินทรายในเมืองพระนคร จาก ธันวาคม ๒๐๐๙ ถึง มิถุนายน ๒๐๑๐ โดย นาย LONG Nary นักอนุรักษ์หินในสังกัดของหน่วยงานอนุรักษ์หินของ APSARA ด้วยการสนับสนุนของ German Development Authority) รายงานผลการทำงานอนุรักษ์หินด้วยการใช้ epoxy การเก็บข้อมูล กล่าวถึง ปริมาณงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก บุคลากรไม่เพียงพอ และการแก้ปัญหาด้วยการทำหนังสือคู่มือการปฏิบัติงาน

๒.๓.๗ การศึกษาผลกระทบของจุลินทรีย์ที่มีต่อผิวหินที่ปราสาทตาเนย ในปี ๒๐๐๙ โดย นาง Yoko FUTAGAMI จาก Tokyo National Research Institute for Cultural Properties เป็นผลการสำรวจทั้งที่ ปราสาทและแหล่งตัดหิน ที่ได้พบมอสและไลเคนสายพันธุ์ใหม่ๆ นำไปศึกษาผลกระทบต่อหินที่สถาบันในประเทศญี่ปุ่นพบว่าทำให้หินเสื่อมสภาพลง ๓๐ % ในขั้นต่อไปจะได้ทดลอง ณ ที่ตั้งของปราสาทและดูผลในระยะยาวต่อไป

๒.๓.๘ การเสื่อมสภาพของหินเมืองพระนครในส่วนลวดลายประดับ ในมิติการควบคุมทางด้านธรณีวิทยาและสภาพแวดล้อม โดย ศ. Maria – Francoise ANDRE จาก มหาวิทยาลัย Blaise Pascal ประเทศฝรั่งเศส กล่าวถึงความแตกต่างกันระหว่างอัตราการเสื่อมสภาพที่เกิดกับปราสาทที่สภาพแวดล้อมยังมีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบอยู่กับปราสาทที่ไม่มีต้นไม้มานานแล้ว พบว่าต้นไม้ใหญ่ช่วยปกป้อง ทำให้การเสื่อมสภาพช้าลง จึงควรรักษาสภาพป่าไม้ไว้แม้ว่าโดยการออกแบบจะไม่ได้ต้องการให้ปลูกต้นไม้มาแต่ต้น

๒.๔ งานวิจัย
๒.๔.๑ การรายงานการวิจัยในโครงการอนุรักษ์และบูรณะปราสาทตาแก้ว โดย ศ. HOU Weidong หัวหน้าวิศวกรของ CACH (Chinese Academy of Cultural Heritage) สาธารณรัฐประชนจีน กล่าวถึงการศึกษาเก็บข้อมูลเบื้องต้นในด้านต่างๆ

๒.๔.๒ งานวิจัยเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังและการใช้สีในปราสาทอิฐสมัยศตวรรษที่ ๙ และ ๑๐ โดย ศ.ดร. Hans LEISEN จาก GACP (German Apsara Conservation Project) เป็นผลการศึกษาจากปราสาทอิฐจำนวน ๑๙ ปราสาท เช่น ปราสาทธมเกาะแกร์ ปราสาทพระโค ปราสาทเนียงเขมา จ.ตาแก้ว ด้วยการใช้กล้องอินฟราเรด พบการใช้สีแดง ดำ ขาว และเหลือง โดยเป็นภาพลวดลายประดับที่เทียบกันได้กับลายปูนปั้นหรือลายสลักหิน

๒.๔.๓ รายงานกิจกรรมการวิจัยที่ปราสาททัพตะวันตก เมืองนครธม (๒๐๐๙ – ๒๐๑๐) โดย ดร. Tomo ISHIMURA จาก Nara National Research Institute for Cultural Properties ประเทศญี่ปุ่น มีการทดสอบกำลังวัสดุโบราณได้แก่ หินทรายและศิลาแลง พบว่าหินทรายมีคุณสมบัติในการรับแรงได้ดีในขณะที่ศิลาแลงซึ่งใช้เป็นโครงสร้างภายในมีปัญหา

๒.๔.๔ โครงการ JAYA Koh Ker ๒๐๑๐ สู่ความเข้าใจใหม่ของเกาะแกร์ (ฐานข้อมูลเรื่อง จารึก สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ศิลปะ) โดย คุณ Agnes VAJDA ผู้อำนวยการ HUNINCOR ประเทศฮังการี เสนอผลการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม และจารึก การเปรียบเทียบองค์ประกอบที่พบหลงเหลืออยู่ กับภาพถ่ายเก่า นำข้อมูลมารวมกันจัดทำเป็นแบบวิเคราะห์ ที่ปราสาทกระจับ ปราสาทเจน ปราสาทบันทายพีจัน

๒.๔.๕ รายงานความก้าวหน้าของการสำรวจจารึกในสมัยเมืองพระนคร โดย ศ. T.S. MAXWELL มหาวิทยาลัย Bonn เป็นการศึกษาจารึกเสากรอบประตูที่ปราสาทบันทายฉมาร์ และการตีความภาพสลักอิฐที่ปราสาทกระวันแสดงถึงความสัมพันธ์ของกษัตริย์ เทพ และพระพุทธเจ้า

๒.๕ โบราณคดี
๒.๕.๑ การสำรวจทางโบราณคดีที่ปราสาทบันทายกุฎีในปี ๒๐๐๙ โดย นาย Nobuo ENDO และ คุณ Chie ABE จาก สถาบันวัฒนธรรมเอเซีย มหาวิทยาลัย Sophia

๒.๕.๒ การศึกษาเรื่องอาศรมในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ โดย นาย Dominique SOUTIF นักวิจัยจาก EFEO และ คุณ Julia ESTEVE นักวิจัยจาก EPHE ประเทศฝรั่งเศส เป็นงานที่เริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับจารึกที่ศึกษาไว้โดย เซเดส์ ซึ่งพบหลักฐานทั่วราชอาณาจักร จะมีการขุดตรวจและขุดค้นในปีหน้า โดยเลือกพื้นที่ศึกษาที่ปราสาทไพรปราสาท และปราสาทกอมนับ จะได้มีการใช้จีโอเรดาร์ร่วมในการสำรวจด้วย

๒.๕.๓ การขุดค้นแนวกำแพงดิน ภายใน Royal Citadel เมืองพระนคร โดย ศ. Jacques GAUCHER นักโบราณคดี EFEO เป็นส่วนที่ ๓ ของโครงการทางโบราณคดีของลักษณะของเมืองนครธม การขุดตรวจคันดินกำแพงเมือง พบการก่อสร้างซ้อนทับในยุคต่างๆ ส่วนที่เป็นกำแพงหินนี้คาดว่าเคยมีความสูง ๙ เมตร ฐานรากกำแพงเป็นเม็ดแลงบดอัดแน่นมีความแข็งแรงมาก ส่วนกำแพงก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายที่นำจากที่อื่นมาใช้สังเกตจากรูปสลักที่ปรากฏอยู่

๒.๕.๔ โครงการขุดค้นทางโบราณคดีในกลุ่มโบราณสถานปราสาทธม เกาะแกร์ ที่ Phno Damrei Sa (White Elephant Tomb) โดย นาย Eric BOURDONNEAU นักโบราณคดี EFEO มีสภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับอาคารทรงปิระมิดของปราสาทธมทางด้านหลัง ผลจากการขุดพบว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่อยู่ร่วมสมัยกับการสร้างปราสาท สันนิษฐานว่าเป็นที่ทำพิธีชั่วคราวขณะช่วงเวลาของการก่อสร้างปราสาทพบโบราณวัตถุเป็นรูปเคารพสตรีพร้อมฐานรูปนกฮูก

๒.๕.๕ โครงการการทำงานทางโบราณคดีที่พนมกุเลน การดำเนินการในช่วงระหว่างธันวาคม ๒๐๐๙ – เมษายน ๒๐๑๐ โดย นาย Jean – Baptiste CHEVANCE จาก มูลนิธิโบราณคดีและการพัฒนา สหราชอาณาจักร เป็นการดำเนินการใน ๕ แหล่งบนเขาพนมกุเลน ซึ่งได้พบรูปพระคเณศวรอยู่ในถ้ำ พร้อมด้วยการดำเนินการโครงการต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาในท้องถิ่น สินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน สุขอนามัย การศึกษา การรักษาสิ่งแวดล้อม การเกษตรที่เหมาะสมเพื่อแทนที่การเผาป่าที่มีอยู่โดยรอบบริเวณโบราณสถาน

๒.๕.๖ โครงการราชมรรคาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (ระยะที่ ๓) การค้นพบแหล่งอุตสาหกรรมเหล็กเป็นครั้งแรก โดย นาย IM Sokrithy นักโบราณคดีผู้ประสานงานโครงการ APSARA National Authority เป็นการศึกษาโครงข่ายถนนโบราณ และแหล่งอุสาหกรรมโลหะและเครื่องถ้วยบนเส้นทาง ในโครงการระยะที่ ๓ นี้ ได้ศึกษาเส้นทางจากเมืองพระนครไปสู่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบสามารถเชื่อมโยงได้กับชาวเผ่ากุย หรือ ส่วย ที่ยังคงสืบต่อวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมมาจนถึงในปัจจุบัน โดยชาวกุยเด็ก ( Kuy Dek) ชำนาญงานเหล็ก และชาวกุยดำไร (Kuy Damrei) ชำนาญเรื่องการเลี้ยงช้าง เป็นข้อมูลที่อาจเปรียบเทียบกันได้กับในบริเวณเขมรสูง จ.บุรีรัมย์ในประเทศไทย

๒.๖ รายงานข้อแนะนำและความคิดเห็นจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์
นาย BESCHAOUCH : น่าจะมีความร่วมมือในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างไทยและกัมพูชา
นาย HIDAKA : ขอเน้นเรื่องการอนุรักษ์และการสื่อความหมาย การฝึกอบรม การมีส่วนร่วมของท้องถิ่น และการรักษาต้นไม้ไว้เพื่อสมดุลของธรรมชาติ
ศ. BOUCHENAKI : ห่วงใยปราสาทพนมกรม ที่มีการเสื่อมสภาพของเนื้อหินจากแรงลม เสถียรภาพของโครงสร้างอาคาร โดยหินในส่วนยื่นมีความเสี่ยงที่จะทลายลงมา จึงขอให้มีการอนุรักษ์เสริมความมั่นคงโดยด่วน การปรับปรุงพื้นที่โดยรอบปราสาทบันทายสรี เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน จากสภาพเดิมซึ่ง ที่จอดรถและร้านค้าตั้งอยู่ใกล้กับตัวปราสาทมาก ด้วยการจัดการในปัจจุบันสามารถทำให้นักท่องเที่ยวเข้าชมปราสาทตามลำดับที่ต้องการ เริ่มต้นที่ศูนย์ข้อมูล สร้างความเข้าใจก่อนการเข้าชม พร้อมด้วยการกำหนดรูปแบบสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ทั้งหมดให้มีความเหมาะสม
นาย CROCI : สำหรับปราสาทตาแก้วของคณะทำงานจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตรงมุมคือส่วนที่เป็นจุดอ่อนของฐานปราสาทที่เป็นกำแพงกันดิน และยังไม่เห็นด้วยกับการเติมหินใหม่จนครบสมบูรณ์แม้ว่าจะเป็นส่วนหลังคาที่ช่วยกันน้ำได้ ในขณะที่ขอชื่นชมการทำงานของคณะจากประเทศอินเดีย
ปิดการประชุม เวลา ๑๙.๒๕ น.

วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เริ่มการประชุม เวลา ๘.๐๐ น. โดยมีวาระการประชุมและสาระโดยย่อดังนี้
๒.๗ เสวนาโต๊ะกลมเรื่องบูรณภาพในการทำงานของคณะทำงานด้านเทคนิคต่างๆที่ปราสาทนครวัด
นาย BESCHAOUCH : กล่าวถึงที่มาของหัวข้อนี้ สืบเนื่องจากการที่มีองค์กร คณะทำงานมากมายหลายคณะมาช่วยในการอนุรักษ์ปราสาทนครวัดแห่งนี้ เริ่มจากการดำเนินการในระยะแรกโดย EFEO ต่อมาคือจากอินเดีย และในปัจจุบันมีจากมหาวิทยาลัยโซเฟีย และ JASA มหาวิทยาลัยวาเซดะ จากประเทศญี่ปุ่น มีคณะทำงานจากประเทศเยอรมัน และ I.Ge.S.จากประเทศอิตาลี จึงจำเป็นจะต้องนึกถึงความประสานสัมพันธ์กันของแต่ละส่วนของปราสาทด้วย
นาย CROCI : สำหรับปราสาทคีรีสิ่งที่น่าเป็นห่วงได้แก่เรื่องของโครงสร้าง ปัญหาจากน้ำที่เข้าไปในโครงสร้างที่เป็นดิน โครงสร้างarch แบบก่อยื่นที่ใช้ไม่แข็งแรงอย่างโครงสร้างของโรมัน จึงเป็นปัญหาทางเสถียรภาพ ปราสาทบริวารมักตั้งอยู่ตรงมุมซึ่งเป็นจุดอ่อน มักมีรอยแยกจากแรงดันของน้ำหนักที่กดทับ จึงขอให้มีการประสานร่วมกันในความรู้เรื่องสภาพของโบราณสถาน ธรรมชาติของโครงสร้าง และเรื่องน้ำที่มีผลต่อโครงสร้าง
นาย HIDAKA : แนะนำให้ในแต่ละทีมมีการหารือกันในรายละเอียดเมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจน ให้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับปราสาทประเภทปราสาทคีรีหลังอื่นๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับน้ำ จะต้องคำนึงถึงปัญหาจากความชื้นในอากาศ การดูดซึมน้ำจากดิน และการจัดการเรื่องการระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการวางระบบท่ออย่างที่ทีมอิตาลีใช้ และการใช้วัสดุกันซึมของ WWF ที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติข้างเคียงของวัสดุ
นาย LABLAUDE : เรื่องแรก ให้พิจารณาประเด็นเรื่องความแท้ ในการแทนที่หินเก่าที่เสื่อมสภาพว่าควรจะใช้หินใหม่ได้หรือไม่ ควรจะให้กลับคืนสู่สภาพเมื่อแรกสร้างหรือจะปล่อยไว้ตามกาลเวลา ควรซ่อมในระดับที่เพียงพอ ไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป
เรื่องที่สอง เห็นว่าการซ่อมแซมก็คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของแหล่ง การใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก หรือวัสดุใหม่ในการบูรณะควรซ่อนหรือแสดงให้เห็น ซึ่งเรื่องนี้ในแต่ละทีมยังมีวิธีการที่แตกต่างกัน โครงสร้างดั้งเดิมที่เป็นปัญหาจะต้องคงไว้ให้เป็นของแท้อย่างนั้นหรือไม่
เรื่องที่สาม ความงามเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้สำหรับปราสาทนครวัด ความสมดุล สมมาตร รายละเอียดการตกแต่ง เป็นคุณค่าความสำคัญที่ต้องพิจารณาในการกำหนดแนวทางอนุรักษ์
ศ. BOUCHENAKI : นักอนุรักษ์คือผู้ส่งผ่านข้อมูลจากอดีตสู่อนาคต งานโบราณคดีไม่ได้เพียงแต่ศึกษาแค่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ แต่รวมถึงสถาปัตยกรรม และการอนุรักษ์ซ่อมแซมด้วย การศึกษานำมาซึ่งข้อมูลเพื่อความเข้าใจในเรื่องต่างๆ จึงต้องไม่ทำงานอย่าโดดเดี่ยว แต่ต้องทำงานร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ รวมทั้งการศึกษาภูมิปัญญาในอดีตในยุคที่ยังไม่มีการทดสอบ ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์

๓. การพัฒนาอย่างยั่งยืน
๓.๑ ความคิดเห็นจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นาย BESCHAOUCH : กล่าวนำเกี่ยวกับชุมชนที่อยู่กับโบราณสถาน จึงได้ยกกรณีของปราสาทพระวิหารที่มีชุมชนที่ต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
นาย FURT : กำหนดกรอบการทำงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคม ข้อเสนอโครงการต่างๆควรจะต้องส่งให้ศึกษาก่อนล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เมืองพระนครเป็นแหล่งที่ไม่ได้มีแต่ซากโบราณสถาน แต่ยังเป็นเมืองที่มีคนอยู่และเป็นบริเวณที่ต้องการการพัฒนา อาหาร และเครือข่ายการขนส่ง ต้องมีการศึกษาข้อมูลกิจกรรมท่องเที่ยว ความเชื่อมโยงกับกิจกรรมการเกษตร ตลาดผลผลิต
๓.๒ การนำเสนอของ APSARA National Authority
ก. โครงการ Green Belt ระยะที่ ๒ โดย นาย UK Someth เป็นโครงการที่สนับสนุนโดยรัฐบาลเยอรมัน ด้วยการวางแผนกำหนดวงแหวนรอบเมืองพระนคร ๓ ชั้น เรียกว่า three rings of protection เพื่อการปกป้องและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีการแก้ปัญหาความยากจนเป็นเป้าหมายหลัก ในการดำเนินการได้มีการวิเคราะห์การตลาด พัฒนาผลผลิต ทำข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตและผู้จำหน่าย และฝึกอบรมผู้นำชุมชนสร้างเครือข่ายเกษตรกร (ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลแหล่งมรดกที่จะต้องไม่จำกัดเฉพาะการอนุรักษ์ลักษณะทางกายภาพของแหล่ง แต่จะต้องรวมไปถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน ทั้งชาวบ้านและวัด ที่อยู่ภายในพื้นที่แหล่งมรดกด้วย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ดีกินดี) ผลที่ได้รับในครั้งนี้ได้ครอบคลุมในพื้นที่ ๒๐๐๐ ครัวเรือน เพิ่มผลผลิต ๒๐ – ๑๐๐ % เพิ่มรายได้ ๙๐ USD ต่อเดือนต่อครัวเรือน

ข. การดำเนินงานในโครงการในบริเวณ สระสรง โดย นาย KHOUN Khun-Neay กล่าวว่า มีการอนุรักษ์ตัวสระและขอบสระซึ่งเป็นโบราณสถานที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เชื่อมโยงความสำคัญระหว่างสระสรงและปราสาทบันทายกุฎีซึ่งมีถนนขั้นกลางและเป็นทางสัญจรที่มีการจราจรพลุกพล่านในปัจจุบัน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ในรายละเอียดของการดำเนินงานมีการซ่อมแซมระบบประตูน้ำของสระ ทำทางเดินโดยรอบ มีการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ระหว่างสระกับปราสทบันทายกุฎี วางแผนเบี่ยงทางสัญจรเปิดเส้นทางใหม่ นอกจากการชมโบราณสถานยังได้มีนโยบายให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมชีวิตชุมชนหมู่บ้านด้วย จัดแสดงเรือนพื้นถิ่นเขมรและสวนเกษตร และยังมีโครงการ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากนิวซีแลนด์ ในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการให้การศึกษา

ค. การดำเนินงานที่ Run Ta Ek โดย นาย UK Someth เป็นโครงการที่เรียกว่า eco-village เริ่มจากการจัดการแหล่งน้ำของชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการอยู่อาศัย ใช้พลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป ลดมลภาวะ ร่วมกันแก้ปัญหาเรือนกระจกและโลกร้อน

ง. การนำน้ำกลับมาใส่ในคูเมืองนครธม โดย ดร. HANG Peou คูเมืองนครธมในปัจจุบันมีน้ำหลงเหลืออยู่เพียง ๑ ส่วนในพื้นที่ทั้งหมด ๔ ส่วน เพื่อที่จะฟื้นฟูให้กลับมามีน้ำอยู่เต็มดังเดิมต้องดูระบบโดยรวมของการที่จะทำให้น้ำคงอยู่ได้ วิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้น้ำแห้งไป เป็นเพราะระบบดั้งเดิมไม่ทำงานหรือไม่ จากการสำรวจพบว่าคูเมืองด้านทิศตะวันออกมีประตูน้ำอยู่ ๒ ประตูที่ขาดความต่อเนื่อง รวมทั้งการศึกษาผลกระทบจากการรื้อฟื้นว่าจะกระทบกับการทำนาในปัจจุบันหรือไม่

จ. การพัฒนาเมืองเสียมราฐ โดย คุณ TEP Vattho เป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเมือง ปรับปรุงถนนใจกลางเมือง สร้างความเชื่อมต่อวัดต่างๆ พัฒนาเมืองวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เป็นที่ตั้งของสำนักงาน APSARA สร้างพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป พิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง มีการสร้างทางเชื่อมต่อกับพื้นที่ใจกลางเมือง ดำเนินการอนุรักษ์มรดกในยุคอาณานิคม สร้างสะพานเดินเท้าข้ามแม่น้ำเสียมราฐ ในย่านวัดตำหนัก

๓.๓ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขยายปริมาณน้ำใช้ของเสียมราฐ (ด้วยการสนับสนุนของ JICA ) โดย นาย SOM Kunthea อธิบดีการประปาของเสียมราฐ เป็นการวางแผนผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยใช้น้ำจากทะเลสาบเขมร จากสภาพการผลิตในปัจจุบันที่ยังไม่เพียงพอ
๓.๔ ผลการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางน้ำของเมืองพระนคร ในประเด็นการค้นพบสารหนูและปลาแปลกปลอมต่างถิ่น โดย ศ. Shinji TSUKAWAKI จากการสำรวจตัวอย่างน้ำในทะเลสาบพบว่ามีสารหนูปนเปื้อนอยู่ โดยจะมีมากในบริเวณกลางของทะเลสาบ เป็นสารที่มากับน้ำจากแม่น้ำโขงที่ย้อนเข้ามาในทะเลสาบต้องมีการศึกษาหาทางจัดการกับการนำมาใช้ต่อไป ส่วนเรื่องปลาแปลกปลอมที่พบมาจากธุรกิจ สปาเท้าที่ใช้ปลาตอดเท้านักท่องเที่ยว เป็นพันธุ์ปลาจากตุรกีหรืออัฟริกา และมีการเพาะเลี้ยงในสิงคโปร์และประเทศไทย หากปล่อยให้แพร่พันธุ์ในธรรมชาติอาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

๓.๕ การนำชมวัดในเมืองเสียมราฐ กล่าวนำโดย คุณ CHAU SUN Kerya และนำเสนอโดย ศ. Vittorio ROVEDA นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ปรึกษาของ APSARA ด้านการพัฒนาวัฒนธรรม เป็นการนำเสนอข้อมูลของ ๑๒ วัดที่ตั้งอยู่กลางเมืองริมแม่น้ำเสียมราฐ เพื่อเพิ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเมือง และพัฒนาสินค้าที่ระลึกทางพุทธศาสนา ทำแผนที่การท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงนครวัด ผ่าน ๑๒ วัดในเมือง ไปสู่ปราสาทพนมกรม (ตั้งข้อสังเกตว่าวัดเหล่านี้น่าจะเป็นรูปแบบหลังรัชกาลที่ ๔ เป็นช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของไทย)

๓.๖ โบราณคดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการใหม่ของความร่วมมือระหว่างประเทศโดยรอบสนามบินเสียมราฐเมืองพระนคร โดย นาย Pierre BATY สืบเนื่องจากความต้องการในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบิน ซึ่งมีแหล่งโบราณสถานอยู่ด้วย ทั้งปราสาทและแหล่งโบราณคดี จึงได้เกิดโครงการให้ความช่วยเหลือทางโบราณคดีขึ้นเพื่อขุดกู้แหล่งเหล่านี้ ในขณะดำเนินการก็ได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชม เป็นตัวอย่างที่ส่งเสริมให้งานโบราณคดีเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องดำเนินการในการพัฒนาพื้นที่และการก่อสร้างใดๆ โบราณวัตถุหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบจะได้นำมาจัดแสดงในพื้นที่ ในอาคารสนามบิน หรือพิพิธภัณฑ์ มีการเปิดโอกาสให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นและยังได้เป็นที่ฝึกงานของนักโบราณคดีจากประเทศฝรั่งเศส

๓.๗ โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย Palermo ประเทศอิตาลี และ APSARA ในการอบรมทางด้านการซ่อมแซมมรดกวัฒนธรรม โดย ศ. Giovanni RIZZO เป็นการแนะนำมหาวิทยาลัยและหลักสูตรต่างๆทางด้านการอนุรักษ์ ที่เน้นทางด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุ เพื่อซ่อมโบราณวัตถุในคลัง ๔๐๐๐ ชิ้น

๓.๘ การแข่งขันไตรกีฬานานาชาติที่เมืองพระนคร โดย นาย VAT Chamroeun เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งกัมพูชา เป็นการนำเสนอเส้นทางและสถานที่ที่จะใช้ในการแข่งขันกีฬาประกอบด้วยการว่ายน้ำในบารายตะวันตก เส้นทางจักรยานรอบเมืองนครธม และการวิ่งในเส้นทางนครวัด
สรุปและปิดการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพระนคร ครั้งที่ ๑๙ เวลา ๑๕.๔๐ น.

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

18th Technical Session of the ICC Angkor

รายงานการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพระนคร ครั้งที่ ๑๘

การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อการปกป้องคุ้มครองและพัฒนาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของเมืองพระนคร (International Coordinating Committee for Safeguarding and Development of the Historic Site of Angkor : ICC Angkor) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๘ ระหว่างวันที่ ๒ – ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ ณ โรงแรม Sokha Angkor เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
ตัวแทนประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมได้แก่
๑. นายชโลธร เผ่าวิบูล อัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ เป็นหัวหน้าคณะ
๒. นายวสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกระดับชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร
พร้อมด้วยผู้สังเกตการณ์จาก กระทรวงการต่างประเทศ ๒ ท่าน ได้แก่
๑. นายประสม แพ่งทอง
๒. นางสาววนาลี โล่ห์เพชร

วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ เริ่มการประชุม เวลา ๘.๓๐ น. โดยมีวาระการประชุมและสาระโดยย่อดังนี้

วาระที่ ๑ พิธีเปิดการประชุม ประกอบด้วยการกล่าวเปิดโดย นาย Dominique FRESLON และ นาย Norio MARUYAMA สองประธานร่วมผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ตามลำดับ และการกล่าวของ นาย SOK An รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งเน้นในเรื่องการจัดการน้ำ การรักษาสิ่งแวดล้อม และเรื่องการท่องเที่ยว

วาระที่ ๒ เรื่องการวิจัยและการอนุรักษ์
๒.๑ นาย Azedine BESCHAOUCH, ICC Permanent Scientific Secretary กล่าวรายงานกิจกรรมของ ICC-Angkor และการนำเอาคำแนะนำต่างๆที่ผ่านมาไปสู่การปฏิบัติ กล่าวถึงเรื่องน่ายินดีที่สามารถดำเนินการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างใหม่ที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ได้
๒.๒ นาย BUN Narith ผู้อำนวยการใหญ่ APSARA Authority กล่าวรายงานกิจกรรมต่างๆของ APSARA เช่น การเปิดศูนย์ต้อนรับใหม่ของเมืองพระนคร งานปรับภูมิทัศน์ งานสาธารณูปการต่างๆ เช่น ถนน สะพาน การจัดตั้ง Eco-villages ทำให้ประชาชนยังคงอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่อนุรักษ์
๒.๓ การนำเสนอผลการทำงานที่ปราสาทบายนของ JASA (Japan – APSARA Team for Safeguarding Angkor) ประกอบด้วย
๒.๓.๑ รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการบูรณะอาคารบรรณาลัยใต้ โดย ดร. KOU Vet นักโบราณคดี กล่าวถึงการค้นพบโครงสร้างศิลาแลงภายในส่วนฐานของบรรณาลัย ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้เป็นโครงสร้างช่วยรับน้ำหนักส่วนบนของอาคาร เพิ่มเติมจากโครงสร้างทรายบดอัดแน่นที่พบได้ทั่วไปในอาคารหลังอื่นๆ และ นาย SOEUR Sothy สถาปนิก เสนอผลการทดลองประกอบหินสำหรับการบูรณะส่วนบนของอาคาร
๒.๓.๒ นาย SHIMODA Ichita สถาปนิก รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับระบบโครงสร้าง ฐานราก ของปราสาทประธาน ซึ่งเป็นการดำเนินการในส่วนที่ EFEO (สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ) เคยมีการขุดตรวจและกลบไว้ตั้งแต่ในปี ค.ศ.๑๙๓๓ โดย ขุดลึกลงไปที่ระดับ ๑๔ เมตร มีการตรวจสอบผลกระทบเรื่องความมั่นคงของโครงสร้างจากการขุดตรวจและการฝังกลบในอดีต
๒.๓.๓ ศาสตราจารย์ ดร. NAKAGAWA Takeshi รายงานเรื่องวิธีการอนุรักษ์ภาพสลักนูนต่ำภายในระเบียงคดของปราสาทบายน ที่เริ่มต้นจากการเก็บบันทึกข้อมูลของภาพสลักนูนต่ำทั้งหมด จากภาพถ่าย ทำเป็นภาพลายเส้น ๒ มิติ และภาพ ๓ มิติ โดยใช้เลเซอร์สแกนเนอร์ เป็นการศึกษารูปแบบศิลปกรรมพร้อมด้วยข้อมูลการเสื่อมสภาพ และจุลินทรีย์ที่พื้นผิวหิน เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์ต่อไป นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ ที่พบผังอยู่ใต้พื้นปราสาทประธาน ในขณะที่พบมีสภาพแตกเป็นชิ้นๆและถูกฝังอยู่ในระดับลึกถึง ๑๒ เมตร หลังจากการซ่อมแซมองค์พระเป็นที่เรียบร้อยได้นำมาประดิษฐานให้สักการะบูชาที่วัดที่ตั้งอยู่นอกบริเวณของปราสาทบายนเป็นระยะเวลานานแล้ว จึงมีแนวคิดที่จะจัดสร้างพระพุทธรูปประธานของปราสาทบายน องค์จำลองขึ้นเพื่อนำมาประดิษฐานในตำแหน่งดั้งเดิมเพื่อสื่อความหมายของโบราณสถานแห่งนี้
๒.๔ นาย Pascal ROYERE สถาปนิกจาก EFEO รายงานผลการดำเนินการในโครงการบูรณะปราสาทบาปวน ทางด้านทิศตะวันตกของปราสาทที่มีการดัดแปลงเป็นพระพุทธรูปนั้นการบูรณะในส่วนนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ได้มีการรื้อฟื้นส่วนโคปุระตะวันตกและระเบียงคดด้านหลังองค์พระให้สามารถเดินได้โดยรอบตามลักษณะของระเบียงคดได้ตามรูปแบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมด้วย นอกจากนี้ที่โคปุระด้านทิศเหนือยังได้บูรณะแล้วเสร็จจนถึงยอดชั้นบนสุด
โดยทั่วไปในการบูรณะส่วนฐานชั้นต่างๆของปราสาท หลังจากการเสริมโครงสร้างภายในจะเป็นการนำหินดั้งเดิมกลับมาเรียง ณ ตำแหน่งดั้งเดิม จากผลการดำเนินการจะเห็นว่าจำเป็นต้องมีการใช้หินใหม่ในการบูรณะเพื่อทดแทนผนังหินในส่วนที่ขาดหายไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในการบูรณะยังคงปฏิบัติตามแนวทางของกฎบัตรเวนิช ที่กำหนดให้แสดงความแตกต่างระหว่างวัสดุดั้งเดิมและวัสดุใหม่ในการบูรณะ และได้เพิ่มความกลมกลืนเพื่อความงดงามโดยรวม
นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอแผนการดำเนินการในลำดับต่อไปได้แก่การบูรณะส่วนปราสาทประธานซึ่งอยู่ในส่วนบนสุดของโบราณสถาน
๒.๕ การนำเสนอโดยคณะของ WMF (World Monuments Fund) เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ที่ปราสาทพนมบาแค็ง และระเบียงคดด้านทิศตะวันออกที่มีรูปสลักการกวนเกษียรสมุทรที่ปราสาทนครวัด รายงานโดย นาย Glenn BOORNAZIAN สถาปนิกและนักอนุรักษ์ และนาย CHEA Sarith นักโบราณคดี เริ่มจากการรายงานผลสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว มีการศึกษาสภาพโครงสร้างของปราสาทพนมบาแค็ง ปัญหาการเสื่อมสภาพ และแนวทางที่จะใช้สำหรับการบูรณะ ข้อมูลจากการดำเนินการทางโบราณคดีที่ปราสาทพนมบาแค็ง และรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการที่ปราสาทนครวัด โดยโครงการอนุรักษ์ปราสาทพนมบาแค็งเฉพาะทางด้านตะวันออกนี้คาดว่าจะเสร็จในปี ๒๐๑๓
๒.๖ การนำเสนอโดยคณะของ ASI (Archaeological Survey of India) กล่าวแนะนำโดยนาย K.N. SHRIVASTAVA อธิบดีของ ASI และการรายงานในด้านต่างๆโดย นาย M.M. KANADE เรื่องหลักการในการอนุรักษ์ปราสาทตาพรม ดร. N S K Harshm จาก FRI (Forest Research Institute) รายงานเรื่องการอนุรักษ์ต้นไม้ในโบราณสถาน และนาย VK GUPTA วิศวกร รายงานเรื่องการเสริมความมั่นคงแข็งแรงและระบบการระบายน้ำ
ในลำดับแรกกล่าวถึงหลักการที่นำมาใช้ในโครงการนี้ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และบูรณาภาพของโบราณสถาน ต่อด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาของต้นไม้ใหญ่ในบริเวณปราสาทตาพรม ที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโบราณสถานที่จะต้องรักษาไว้ รายงานผลการดำเนินการในการแก้ปัญหา เช่น การรักษาต้นไม้ที่เป็นโพรงด้วยการใช้ยางไม้พื้นถิ่นแทนการใช้ซีเมนต์ การทำทางเดินไม้และชานไม้สำหรับเป็นที่ถ่ายรูปให้นักท่องเที่ยวเพื่อจะได้ไม่ต้องเหยียบไปบนรากไม้อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นไม้ตาย เมื่อรากไม้ไม่ยึดดินอีกต่อไปก็อาจโค่นล้มทำให้โบราณสถานเสียหายได้ ทั้งนี้ได้มีการเสนอผลการศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ในพื้นที่ทั้งหมด ๑๓๑ ต้น
ทางด้านวิศวกรรมมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้ำยันโบราณสถานจากเดิมที่เป็นโครงทรัสไม้ที่กีดขวางการเยี่ยมชมโบราณสถาน มาเป็นแบบที่ยืดหยุ่นปรับแต่งได้เพื่อเปิดโล่งให้การเดินชมโบราณสถานเป็นไปได้โดยสะดวกขึ้น มีการเสนอผลการทำงานในส่วนที่บูรณะไปแล้ว การขุดพบร่องรอยระบบการระบายน้ำแบบดั้งเดิมที่ได้เน้นจัดแสดงไว้เป็นพิเศษ ในขณะที่วางระบบการระบายน้ำใหม่เป็นระบบบ่อซึมที่ไม่มีท่อ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการขุดดินที่จะกระทบต่อรากไม้ และมีข้อเสนอโครงการบูรณะ Hall of Dancers อย่างเต็มรูปแบบในขณะที่เสนอให้รัดรอบส่วนยอดปราสาทในบางจุดที่ไม่จำเป็นจะต้องมีการถอดรื้อหินของอาคารลงมาก่อนทั้งหมด
๒.๗ นาย Valter M. SANTORO จาก I.Ge.S (Ingegneria Geotecnica e Structural snc) ของประเทศอิตาลี นำเสนอเรื่องการบูรณะทางดำเนิน สะพานนาค โคปุระ ขอบสระน้ำด้านทิศตะวันตก และบากัน(ระเบียงคดชั้นใน)ด้านตะวันตกของปราสาทนครวัด โดยเสนอแผนการการบูรณะ การเอาเสาซีเมนต์จากการบูรณะในอดีตออกและผลการศึกษาการจำลองสภาพการแคลื่อนตัวเปลี่ยนรูปทางด้านโครงสร้างของส่วนบากัน
๒.๘ การนำเสนอโดยคณะของ CSA (Chinese Safeguarding Angkor) เกี่ยวกับโครงการบูรณะที่ปราสาทตาแก้ว ประกอบด้วย หลักการโดยทั่วไปที่จะนำมาใช้ในการอนุรักษ์ โดยศาสตราจารย์ HOU Weidong ผู้อำนวยการโครงการตาแก้ว รองประธานอิโคโมสจีน และรองประธาน CACH (Chinese Academy of Cultural Heritage) และการรายงานผลการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการอนุรักษ์โดย ดร. WEN Yuqing แนวความคิดในการอนุรักษ์ประกอบด้วย การรักษาความเป็นของแท้และบูรณาภาพ การหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจาการถอดรื้อหิน ถ้ามีความจำเป็นอาจใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้ การใช้วัสดุใหม่ในการบูรณะต้องมีการทดสอบก่อน การเสริมความมั่นคงแข็งแรงใดใดจะต้องมีลักษณะที่ปรับแก้ไขได้ หินหล่นทั้งหมดควรจะต้องนำกลับไปไว้ในที่ตั้งดั้งเดิม โดยปกติจะต้องไม่มีการปฏิสังขรณ์อย่างเต็มรูปแบบขึ้นมาใหม่ จากแผนการดำเนินการที่นำเสนอในช่วงแรกเป็นโครงการระยะสั้นในระยะเวลา ๕ ปี (๒๐๑๐-๒๐๑๕) ก่อน
๒.๙ รายงานความคิดเห็นโดยคณะเฉพาะกิจของผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ Mounir BOUCHENAKI ศาสตราจารย์ Giorgio CROCI และศาสตราจารย์ Pierre-Andre LABLAUDE จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒
ในส่วนของการดำเนินงานของคณะจากประเทศอิตาลี ที่ปราสาทนครวัด เห็นด้วยกับการเสริมโครงสร้างในลักษณะที่มองไม่เห็นจากภายนอกพร้อมๆกับการเสริมความมั่นคงเนื้อวัสดุของหิน และการระบายน้ำ แต่ขอให้เสริมวัสดุใหม่ในการอนุรักษ์ และขอให้ทำบันไดไม้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมด้วย
สำหรับโครงการอนุรักษ์ที่ปราสาทพนมบาแค็งของ WMF คณะผู้เชี่ยวชาญแสดงความเป็นห่วงในส่วนของโครงสร้างที่เป็นอิฐที่ย้ำให้มีการกำกับดูแลเป็นพิเศษ
ที่ปราสาทเบ็งมีเลีย น่าจะได้สนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่ ส่วนสะพานโบราณที่ยังคงมีการใช้สอยมาจนถึงในปัจุบัน ควรจะต้องมีการเสริมความมั่นคงแข็งแรงต่อไป
สำหรับการดำเนินการที่ปราสาทบาปวน ของ EFEO ให้เน้นเรื่องการศึกษาข้อมูลที่แท้จริงของรูปแบบสถาปัตยกรรมควบคู่ไปกับการสื่อความหมายให้เป็นที่เข้าใจ
ในการดำเนินการที่บรรณาลัยใต้ ปราสาทบายน ของคณะ JASA กล่าวถึงการเปิดโอกาสให้ชาวกัมพูชารุ่นใหม่ได้เข้าร่วมงานในโครงการ และการค้นพบโครงสร้างพิเศษในส่วนฐานของอาคารจากการตรวจสอบโครงสร้างภายในของอาคาร
สำหรับการดำเนินการที่ปราสาทตาพรมของคณะ ASI เป็นงานที่ขาดความชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าจะนำหลักการใดมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ จะเลือกอาคารโบราณหรือต้นไม้เพื่อเป็นการเอาใจนักท่องเที่ยว สิ่งที่ดำเนินการในขณะนี้เห็นว่ามีความสมดุลที่ดี ขอแนะนำว่าระหว่างการขุดดินเพื่อจัดทำระบบระบายน้ำควรให้มีนักโบราณคดีมาร่วมงานเพื่อเก็บข้อมูลของการขุดไว้ด้วย รวมทั้งควรมีนักอนุรักษ์หินเข้าร่วมในคณะทำงานด้วย
และในโครงการที่ปราสาทตาแก้วของคณะ CSA ขอสนับสนุนความสำคัญของการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุแห่งการเสื่อมสภาพของโบราณสถาน ซึ่งในแต่ละกรณีจะมีความแตกต่างกันออกไป และสำหรับกรณีของปราสาทตาแก้วนี้มีจุดอ่อนทางโครงสร้างอยู่ที่ส่วนมุมของอาคาร
นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอในเรื่องความเสียหายและการอนุรักษ์แท่งหิน obelisk ซึ่งทางประเทศอิตาลีได้นำจัดส่งคืนให้กับประเทศเอธิโอเปีย
๒.๑๐ การนำเสนอโดยคณะของมหาวิทยาลัย Sophia ประเทศญี่ปุ่น โดยนาย Satoru MIWA สถาปนิก เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ที่ ทางเดินเข้าปราสาทนครวัดทางด้านตะวันตก ซึ่งดำเนินการมาถึงในระยะที่ ๒ และโครงการเสริมความมั่นคงแข็งแรงโครงสร้าง ๖ ส่วนของปราสาทบันทายกุฎี ต่อเนื่องจากโครงการในอดีตนับตั้งแต่การขุดค้นทางโบราณคดีที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ๒๐๐๑ มาจนถึงการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ในปี ๒๐๐๗
๒.๑๑ การนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์หิน ประกอบด้วย
๒.๑๑.๑ ศาสตราจารย์ ดร. Hans LEISEN จากคณะ GACP (German APSARA Conservation Project) บรรยายเรื่องจุดยืนในการอนุรักษ์หินของโบราณสถาน กล่าวถึงความเสียหายของเนื้อหินที่เกิดจากการอนุรักษ์ที่ผิดวิธี กล่าวถึงหลักการและเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าการใช้สารกันน้ำที่ผิวหินไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับโบราณสถานเมืองพระนคร ด้วยเหตุที่การใช้สารกันน้ำนี้เป็นการดำเนินการที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และอาจก่อให้เกิดผลตามมาที่รุนแรง คุณสมบัติการกันน้ำจะหมดไปในเวลาอย่างมากที่สุด ๑๐ ปีทำให้ต้องมีการใช้สารกันน้ำอีกครั้ง ในการใช้ซ้ำนี้จะทำให้การระเหยออกของความชื้นจากภายในเนื้อหินเป็นไปได้ยากมาก อีกทั้งเงื่อนไขเบื้องต้นต่างๆสำหรับการใช้สารกันน้ำได้อย่างปลอดภัย ยังไม่มีเพียงพอที่เป็นหลักประกันในการนำมาใช้ได้
๒.๑๑.๒ นาง Elke TIGGES สถาปนิก ที่ปรึกษาของ APSARA Stone Conservation Unit และ DED (Deutscher Entwicklungsdienst German Development Authority) บรรยายเรื่องการอนุรักษ์หินทรายในเมืองพระนคร โดยหน่วยงานถาวรของผู้เชี่ยวชาญชาวกัมพูชาในด้านการอนุรักษ์หินของ APSARA ด้วยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญของคณะจากประเทศเยอรมัน ได้นำเสนอผลงานการอนุรักษ์ประติมากรรมรูปช้างที่ปราสาทแม่บุญตะวันออก โดยในส่วนงานสลักหินใหม่มาเสริมให้สมบูรณ์ได้รับความช่วยเหลือจากคณะของสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังมีงานซ่อมสิงห์ ซ่อมราวสะพานทางเข้าเมืองนครธมทางด้านประตูชัย งานซ่อมภาพสลักนูนต่ำเรื่องกวนเกษียรสมุทรที่ปราสาทนครวัดซึ่งส่วนอาคารเป็นงานบูรณะของคณะ WMF การบันทึกภาพสลักที่ถ้ำ Peung Thabal พนมกุเลน การซ่อมเสาประดับกรอบประตูที่ปราสาท O Paoung เทวรูปและกากบาทหิน ที่ปราสาท Reung Chen พนมกุเลน
๒.๑๑.๓ นาง Yoko FUTAGAMI นักวิทยาศาสตร์จาก Tokyo National Research Institute for Cultural Properties ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงผลการศึกษาจุลินทรีย์ ที่ปราสาทตาเน็ย เพื่อการอนุรักษ์หินของโบราณสถาน ในเรื่องความเสียหายของเนื้อหินจาก มอส และ ไลเคน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไลเคนที่เพิ่งได้พบใหม่ที่กัมพูชานี้ และพบว่าไลเคนมีส่วนเกาะยึดที่แทรกลงไปในเนื้อหินได้ ๗-๒๐ มม.มีผลโดยตรงที่ทำให้หินเสื่อมสภาพ ในขณะที่สำหรับมอสไม่มีหลักฐานแน่ชัดอธิบายการเสื่อมสภาพของหินในจุดที่มีมอสขึ้นอยู่ แต่ก็เห็นได้ว่ามอสเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หินเสื่อมสภาพในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง การควบคุมสภาพแวดล้อมในเรื่องความชื้นจึงมีความจำเป็นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เนื้อหิน
๒.๑๑.๔ ดร. Tomo ISHIMURA นักวิทยาศาสตร์จาก Nara National Research Institute for Cultural Properties ประเทศญี่ปุ่น รายงานผลการศึกษาที่ ปราสาททัพตะวันตก เมืองพระนคร และโครงการความร่วมมือที่ให้การสนันสนุนการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยโบราณ Tani ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดแสดงข้อมูลและเปิดให้เข้าชมในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
๒.๑๑.๕ ศาสตราจารย์ Marie-Francoise ANDRE จากมหาวิทยาลัย Blaise Pascal เมือง Clermont Ferrand ประเทศฝรั่งเศส บรรยายเรื่องความพยายามในการจำลองสถานการณ์การเสื่อมสภาพของหินทรายที่ปราสาทตาแก้ว ระหว่างปี ๑๙๐๕ – ๒๐๐๘ และจากการเปรียบเทียบการเสื่อมสภาพกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสภาพโดยรอบของปราสาทได้พบว่า การตัดไม้โดยรอบปราสาทที่ทำให้ระดับความชื้นเปลี่ยนแปลงมีผลโดยตรงต่อการเสื่อมสภาพ การหลุดร่อนของลวดลายประดับที่ผิวของหิน

จบการประชุมในวันแรก

วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒

ออกจากที่พักเวลา ๗.๐๐ น. เพื่อไปดูงานความคืบหน้าของโครงการอนุรักษ์โบราณสถานเมืองพระนคร ที่ปราสาทพนมบาแค็ง อยู่ระว่างการดำเนินงานโดยคณะ WMF (World Monuments Fund) และที่ปราสาทบายน อยู่ระหว่างการดำเนินงานโดยคณะ JASA (Japan – APSARA Team for Safeguarding Angkor)

เริ่มการประชุม เวลา ๙.๓๐ น. โดยมีวาระการประชุมและสาระโดยย่อดังนี้
๒.๑๒ การนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดีที่เมืองพระนคร ประกอบด้วย
๒.๑๒.๑ การบรรยายเรื่อง ว่าด้วยโบราณคดีที่มืองพระนคร โดยศาสตราจารย์ Claude JACQUES
๒.๑๒.๒ นาย Christophe POTTIER สถาปนิกจาก EFEO รายงานผลงานวิจัยล่าสุดในโครงการของ MAFKATA (Mission Archeologique Franco-Khmere pour Amenagement du Territoire Angkorien)
๒.๑๒.๓ ศาสตราจารย์ Jacques GAUCHER นักโบราณคดีจาก EFEO นำเสนอผลการวิจัยใหม่ของเมืองนครธม ได้แก่ องค์ประกอบแรกๆสำหรับการลำดับยุคสมัยในบริเวณพระราชวัง
๒.๑๒.๔ นาย Eric BOURDONNEAU นักโบราณคดีจาก EFEO รายงานผลการทำงานทางโบราณคดีที่เมืองเกาะแกร์ ได้แก่ การขุดตรวจหาข้อมูลของโบราณสถานPhno Damrei Sa หรือสุสานช้างเผือก และการตรวจสอบหาที่ตั้งของรูปเคารพจากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ที่พื้นอาคาร ที่ปราสาทธม
๒.๑๒.๕ นาย ROS Borath จาก APSARA พร้อมด้วย นาย Jean-Baptiste CHEVANCE จาก Archaeology and Development Foundation รายงานผลและแผนการดำเนินการทางโบราณคดีในปี ๒๐๐๙ ในบริเวณพื้นที่กลุ่มโบราณสถานพนมกุเลน ได้แก่ ปราสาท Krol Romeas ปราสาท Thma Dap ถ้ำ Peung Tbal ปราสาท Rong Chen ปราสาท O Paong ซึ่งนอกจากงานทางโบราณคดี ยังได้ดำเนินการค้ำยัน ซ่อมแซม และทำเฝือกปกป้องเป็นการชั่วคราวด้วย
๒.๑๓ นาย Janos JELEN ประธานที่ปรึกษาด้านการบริหารของ Royal Angkor Foundation นำเสนอรายละเอียดของแผนโครงการ Jaya Kor Ker ที่กลุ่มโบราณสถานเกาะแกร์ ดำเนินการโดย Royal Angkor Foundation โดยเป็นโครงการที่มีการใช้แผนพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือ มีการคำนึงถึงธรรมชาติสภาพแวดล้อม และชุมชน ควบคู่ไปกับโบราณสถาน จึงได้แบ่งโครงการออกเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับมรดกวัฒนธรรม กิจกรรมด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมด้านชุมชน ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอของการปรับเปลี่ยนขอบเขตของพื้นที่โครงการที่ เกาะแกร์นี้ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับโครงการมากขึ้น
๒.๑๔ ศาสตราจารย์ Roland FLETCHER จาก มหาวิทยาลัยซิดนีย์ นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง รูปแบบการพักอาศัยในอดีตของเมืองพระนคร เพื่อความเข้าใจในลักษณะความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้นที่เมืองพระนคร
๒.๑๕ นาย ROS Borath จาก APSARA บรรยายเรื่อง ปลวกในเมืองพระนคร แสดงถึงสายพันธุ์ต่างๆของปลวกและผลกระทบที่มีต่อโบราณสถาน
๒.๑๖ นาย IM Sokrithy นักโบราณคดี จาก APSARA ผู้ประสานงานโครงการ Living Angkor Road รายงานผลการดำเนินการศึกษาข้อมูลของเส้นทางราชมรรคาจากเมืองพระนครสู่เมืองพิมาย ซึ่งเป็นเส้นทางโบราณที่นอกจากจะมีแนวถนนโบราณแล้วยังพบหลักฐานของสะพานโบราณที่ยังใช้งานอยู่ และโบราณสถานอยู่เรียงรายตลอดทั้งเส้นทาง รวมถึงธรรมศาลา และ อโรคยศาลาซึ่งปรากฏในจารึกปราสาทตาพรมและปราสาทพระขรรค์ ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตกัมพูชา อีกส่วนหนึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย พบข้อมูลของผังที่เป็นเอกลักษณ์ของธรรมศาลาที่บ้าน Phum Kol การศึกษาในโครงการนี้ในระยะต่อไปจะได้ขยายพื้นที่สู่เส้นทางโบราณอื่นๆ ได้แก่ เส้นทางสู่ปราสาทวัดพู จำปาสัก และ เส้นทางสู่ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว โดยมีข้อแม้ในเบื้องต้นว่าจะศึกษาเฉพาะในเขตราชอาณาจักรกัมพูชาเท่านั้น
๒.๑๗ ศาสตราจารย์ T.S. MAXWELL จากมหาวิทยาลัยบอนน์ รายงานความก้าวหน้าในการศึกษาเรื่องจารึกโบราณของเมืองพระนคร

วาระที่ ๓ เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๓.๑ นาย Azedine BESCHAOUCH, ICC Permanent Scientific Secretary นำเสนอวิธีการดำเนินการของคณะเฉพาะกิจของผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๓.๒ นาย Philippe DELANGHE ผู้เชี่ยวชาญโครงการทางวัฒนธรรม ยูเนสโก สำนักงานพนมเปญ รายงานผลการสัมมนาเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานด้านการจัดการน้ำในเมืองพระนครและบริเวณโดยรอบ
๓.๓ นาย Bruno FAVEL ผู้ประสานงานจากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส กล่าวถึงโครงการความร่วมมือจากกระทรวงวัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรมและมรดก (DAPA)
๓.๔ นาง CHAU SUN Kerya ผู้อำนวยการ Department of Cultural Development, Museums and Heritage Norms ของ APSARA รายงานเรื่องโครงการปรับปรุงบริเวณศูนย์ต้อนรับและศูนย์ข้อมูลปราสาทบันทายสรี ที่มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก กำหนดขอบเขตพื้นที่บริการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่ออนุรักษ์สภาพโดยรอบของโบราณสถาน
๓.๕ ดร.TAN Bun Suy ผู้อำนวยการ Department of Agriculture and Community Development ของ APSARA รายงานเรื่อง การพัฒนาทางเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่เป็นเกษตรกร การผลิตอาหารรองรับการท่องเที่ยว การรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีเอกลักษณ์ของทะเลสาบโดยไม่ใช้สารเคมี มีการนำเอาบารายซึ่งเป็นองค์ประกอบโบราณมาใช้ประโยชน์การการเกษตร
๓.๖ การนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการฝึกอบรม ประกอบด้วย
๓.๖.๑ นาง SISOWATH Chandevy ผู้อำนวยการโครงการศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพการอนุรักษ์มรดกในระดับภูมิภาค(กัมพูชา ลาว และเวียตนาม) และนาย Sylvian ULISSE ผู้ประสานงานกิจกรรมของโครงการ ได้รายงานผลการทำงานของโครงการที่ได้จัดการอบรมเป็นรุ่นที่ ๒ แล้ว ด้วยความร่วมมือของ Ecole de Chaillot สถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตสถาปนิกที่ทำงานอนุรักษ์สำหรับทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศฝรั่งเศส ในโครงการนี้เป็นหลักสูตรการอบรมระยะเวลา ๑๐ เดือน มีผู้เข้ารับการอบรมในปีแรก ๒๒ คนเป็นกัมพูชา ๘ คน ลาว ๕ คน เวียตนาม ๙ คน และในปีที่๒จำนวน ๒๑ คน เป็นกัมพูชา ๙ คน ลาว ๓ คน เวียตนาม ๙ คน
๓.๖.๒ นาย Michal BLAZEK จาก Czech Project in Angkor รายงานผลการฝึกอบรมในโครงการ Czech Republic School of Restoration ที่ปราสาทพิมานอากาศ เป็นการให้ความรู้ในเรื่องการดูแลรักษา ทำความสะอาด และซ่อมแซม งานประติมากรรม ได้แก่รูปสิงห์ซึ่งตั้งอยู่หน้าบันไดแต่ละด้านของปราสาท ให้แก่ช่างชาวกัมพูชารวมทั้งพระภิกษุ ในการซ่อมแซมได้มีการนำผลิตภัณฑ์หินเทียมของ Czech ซึ่งมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ขาวมาใช้ด้วย
๓.๖.๓ นาย Nobuo ENDO จากมหาวิทยาลัยโซเฟีย ประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานผลการดำเนินการตามโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านยุทธศาสตร์การศึกษาเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม จากการฝึกอบรมชาวกัมพูชาในพื้นที่ ไปพร้อมๆกันกับการดำเนินการอนุรักษ์ที่เริ่มมาตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว นอกจากจะได้ผู้ที่มีความรู้ด้านมรดกวัฒนธรรมมากขึ้นยังได้ผลิตบุคลากรในระดับผู้เชี่ยวชาญมาทำงานในปัจจุบันด้วย
ในช่วงแสดงความคิดเห็นของวาระเรื่องการฝึกอบรม นาย Simon WARRACK นักอนุรักษ์หิน ชาวอังกฤษ ที่ปรึกษาของ ICCROM (ศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการสงวนรักษาและบูรณะสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม) ประจำเมืองพระนคร ได้กล่าวในฐานะตัวแทนของ ICCROM ซึ่งมีหน้าที่ให้การสนับสนุนทางด้านการฝึกอบรมว่า จะขอใช้องค์ความรู้จาก ICC-Angkor นี้สำหรับโครงการฝึกอบรมตามโครงการของ ICC-พระวิหาร โดยจะขอรวบรวมเก็บข้อมูลจากคณะต่างๆที่มาทำงานในเมืองพระนครนี้ ทั้งนี้ ICCROM มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี และเป็นหนึ่งในองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งคงจะได้รับเชิญให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ ICC-พระวิหารด้วย สำหรับนาย Simon WARRACK ผู้นี้เดิมเป็นนักอนุรักษ์อิสระทำงานในประเทศอิตาลี ได้เข้ามาร่วมงานอนุรักษ์ในเมืองพระนครที่ปราสาทพระโค และปราสาทนครวัด(ในส่วนที่ดำเนินการโดยคณะจากประเทศเยอรมัน)
๓.๗ การนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดย ดร. Shinji TSUKAWAKI จากคณะทำงาน ERDAC (Environment Research Development Angkor Cambodia) จากมหาวิทยาลัย Kanazawa ประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานถึงผลการจัดประชุมนานาชาติและการสัมมนาเรื่องสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันของอุทยานเมืองพระนคร(Angkor Park) และบริเวณโดยรอบ
๓.๘ นาง Zhivile MONTVILAITE ตัวแทนของบริษัท Rise Entertainment Group จากประเทศรัสเซีย ได้นำเสนอโครงการจัดเทศกาลดนตรี ศิลปะและวัฒนธรรมนานาชาติ “Angkorica” ประจำปีขึ้น ณ กลุ่มปราสาทเมืองพระนคร โดยเลือกบริเวณปราสาทบายนเป็นเวทีหลักของงาน และกระจายการแสดงไปยังจุดต่างๆ ได้แก่ ที่ปราสาทบาปวน ปราสาทพิมานอากาศ พลับพลาช้าง ปราสาทบันทายกุฎีและสระสรง ปราสาทนาคพัน และถนนจากประตูเมืองนครธมด้านทิศใต้ไปถึงปราสาทบายนทั้งสาย โดยมีหลักการที่จะเลือกเฉพาะการแสดงที่เหมาะสมไม่ขัดแย้งกับความเป็นโบราณสถาน การก่อสร้างเป็นลักษณะโครงสร้างเบาที่จะไม่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับโบราณสถาน
๓.๙ รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจ สำหรับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
๓.๙.๑ นาย Jean-Marie FURT ได้ให้คำแนะนำสำหรับโครงการ Angkorica ในนามของคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจว่า ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างใดใดเลยแม้ว่าจะทำเป็นโครงสร้างเบา และควรลดพื้นที่การจัดงานลงเพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งความจริงแล้วไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้
๓.๙.๒ นาย Tetsuji GOTO ได้รายงานคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจในเรื่องการปกป้องคุ้มครองและการพัฒนาเมืองเสียมราฐ โดยมีข้อเสนอในที่ประชุมให้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเป็นพิเศษเพื่อศึกษาและดำเนินการในเรื่องการวางผังและกำหนดมาตรการในการจัดการควบคุมดูแลในเรื่องนี้

การประชุมยังมีวาระที่ ๔ เรื่องอื่นๆ วาระที่ ๕ เรื่องข้อแนะนำต่างๆของ ICC-Angkor และวาระปิดการประชุม ซึ่งได้ปิดการประชุมลงในเวลา ๑๙.๓๐ น.

ข้อเสนอแนะ การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้นอกจากจะได้ติดตามความคืบหน้าของฝ่ายกัมพูชาเกี่ยวกับกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารแล้ว ยังได้เห็นตัวอย่างรูปแบบของการดำเนินการของคณะกรรมการระหว่างประเทศที่มาร่วมกันดูแลมรดกวัฒนธรรมในกรณีที่เจ้าของมรดกไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองตามที่เป็นข้อเสนอสำหรับปราสาทพระวิหารด้วย และยังได้ติดตามพัฒนาการทางด้านการอนุรักษ์โบราณสถานและการจัดการในด้านต่างๆที่เป็นประโยชน์ในการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของโบราณสถาน จากคณะทำงานจากชาติต่างๆที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชา ในอนาคตจึงน่าที่จะได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมทั้งของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซี่ยนต่อไปประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพระนคร ครั้งที่ ๑๘