วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

รางวัลผลงานวิจัย ดีเด่น ประเภทนิสิตดุษฎีบัณฑิต ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.๒๕๕๓

ผลงานวิจัยเรื่อง อนัสติโลซิสเพื่อการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม (AN ANASTYLOSIS FOR THE RESTORATION OF SDOK KOK THOM TEMPLE) โดย วสุ โปษยะนันทน์ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก ผศ.ดร. ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์




ผลงานวิจัยโดยสรุป

วิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินที่เรียกว่า “อนัสติโลซิส” โดยการวิจัยมีเป้าหมายที่จะหาแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมกับสังคมในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังประสบอยู่จากการปฏิบัติงานของกรมศิลปากร เพื่อกำหนดแนวคิดที่นำมาใช้ในการอนุรักษ์ เพื่อประเมินผลการบูรณะ ศึกษาสภาพปัญหาและเก็บข้อมูลจากการบูรณะที่ปราสาทประธานซึ่งจะใช้เป็นโมเดลทดสอบสมมติฐาน และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์นำมาสรุปเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการบูรณะในโครงการ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับการบูรณะปราสาทหินแหล่งอื่นๆ ต่อไปด้วย ขอบเขตของการวิจัยจึงอยู่ภายใต้กรอบของการอนุรักษ์โบราณสถานด้วยวิธีอนัสติโลซิส เน้นพื้นที่ศึกษาที่การดำเนินการบูรณะที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ในเรื่องแนวความคิดของการอนุรักษ์มีสมมติฐานที่จะค้นพบความสมดุลระหว่างการรักษา ความแท้ และ การสื่อความหมาย คุณค่าของโบราณสถานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มรดกวัฒนธรรม วิธีการวิจัยได้เริ่มต้นจาก การทบทวน สารสนเทศงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง งานศึกษาในช่วงก่อนหน้านี้ของผู้วิจัยเกี่ยวกับอนัสติโลซิส รวบรวมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งแนวคิดของ ดร.สัญชัย หมายมั่น ผู้เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ปราสาทหินในประเทศไทย ขั้นตอนต่อมาคือการศึกษาในพื้นที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยการสำรวจและวิเคราะห์การดำเนินการบูรณะที่ได้ดำเนินการมาทั้งในแง่การบริหารจัดการและด้านเทคนิควิธีการ นำมาสู่กรณีของการบูรณะปราสาทประธาน ซึ่งผู้วิจัยต้องการนำเสนอและวิเคราะห์แนวคิดในการบูรณะบนพื้นฐานของประเด็นความแท้ และการสื่อความหมาย และขั้นตอนสุดท้ายได้แก่ การสรุปเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธมและโบราณสถานอื่นๆ

ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ในการดำเนินการที่ปราสาทประธาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโบราณสถาน ได้ทดลองนำแนวคิดด้านการสื่อความหมายมาผสานหาสมดุลกับความแท้ ตามทิศทางของแนวคิดการอนุรักษ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และกำหนดขั้นตอนวิธีการทำงานเพิ่มเติมขึ้นเพื่อจะได้แก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตถือว่าได้บรรลุตามเป้าหมาย สามารถสื่อสารให้ผู้มาเยี่ยมชมได้เข้าใจถึงคุณค่าและความหมายของโบราณสถานได้เป็นอย่างดี เป็นพัฒนาการของแนวทางที่นำมาใช้เป็นตัวกำหนดในการออกแบบอนุรักษ์ อย่างไรก็ตามในรายละเอียดยังคงมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขอยู่ ซึ่งได้สรุปไว้เป็นข้อเสนอแนะต่อกรมศิลปากรสำหรับการปรับแก้ไขและใช้กับแหล่งโบราณสถานประเภทหินอื่นๆ ที่มีปัจจัยแวดล้อมใน ลักษณะเดียวกันต่อไป ทั้งทางด้านการบริหารจัดการ แนวความคิดในการอนุรักษ์ และในแต่ละขั้นตอนของการทำงาน

















สิ่งที่ดีเด่นของงานวิจัย เป็นการศึกษาในเรื่องแนวคิดและวิธีการในการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินที่จะเป็นประโยชน์ในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาในการทำงานที่พบในการดำเนินการในอดีต มาจนถึงในปัจจุบัน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและได้วิธีที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการและการแก้ไขส่วนที่ดำเนินการไปแล้วที่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตลอดจนเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้เป็นแบบอย่างกับการดำเนินการด้วยวิธีอนัสติโลซิสนี้ที่โบราณสถานแหล่งอื่นๆต่อไป และอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันนี้กับโบราณสถานประเภทหินในต่างประเทศด้วย เนื่องจากในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้จัดทำข้อเสนอแนะไว้อย่างละเอียดในทุกขั้นตอนของการทำงานอย่างที่ไม่มีมาก่อน สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ นอกจากในส่วนที่ได้อยู่ระหว่างการดำเนินการที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม จนถึงปัจจุบันคำแนะนำจากวิทยานิพนธ์เล่มนี้ยังได้นำไปใช้แล้วกับงานบูรณะโบราณสถานประเภทหินอีกหลายแหล่งในการดำเนินการของกรมศิลปากร ได้แก่ ปราสาทพนมวัน โคปุระชั้นนอกปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา และกู่บ้านเมย จ.ขอนแก่น เพื่อการบูรณะโบราณสถานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีมาตรการในการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ไม่สร้างความเสียหายกับคุณค่าของโบราณสถาน และลดการสูญเสียงบประมาณของรัฐในส่วนที่ไม่จำเป็น

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

ยูเนสโกและความช่วยเหลือในการบูรณะปราสาทพระวิหาร

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณพื้นที่พิพาท ๔.๖ ตารางกิโลเมตร รวมทั้งบริเวณปราสาทพระวิหารที่กองกำลังของกัมพูชาใช้เป็นที่หลบกำบังทางทหารนั้น นอกจากการส่งนาย Koichiro Matsuura มาในฐานะผู้แทนพิเศษของยูเนสโก เพื่อเข้าพบเจรจากับผู้นำของทั้งสองชาติ ที่ได้นำมาสู่การนัดหมายที่จะเปิดการหารือ ๒ ฝ่าย ที่อาคารสำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๕ โดยที่ทางผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกได้ชี้แจงว่าไม่ประสงค์จะเจรจาในเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง ด้วยตระหนักถึงอาณัติขององค์กรดี ว่ายูเนสโกมีหน้าที่เฉพาะเพียงการคุ้มครองแหล่งมรดกโลกและการสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้มีการพูดคุยแก้ไขปัญหาอย่างฉันมิตรเท่านั้น ทางผู้อำนวยการใหญ่ฯ ยังได้กล่าวว่าเหตุการณ์ปะทะกันดังกล่าว ทำให้ปราสาทพระวิหารบางส่วนได้รับความเสียหาย ทั้งยูเนสโกและรัฐภาคีสมาชิกต่างก็มีความห่วงกังวลและประสงค์จะให้ความช่วยเหลือในการบูรณะซ่อมแซม แต่ก็ตระหนักถึงความอ่อนไหวของเรื่องนี้ และคิดว่าคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการพิจารณา จึงต้องการจะทราบความเห็นของฝ่ายไทยเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของยูเนสโกในเรื่องนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศจึงได้ขอความอนุเคราะห์กรมศิลปากรให้พิจารณาและให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของยูเนสโกที่จะให้ความช่วยเหลือในการบูรณะปราสาทพระวิหารนี้ เมื่อเรื่องนี้ได้มอบหมายมาที่กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถานในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการบูรณะโบราณสถาน ก็ได้มีความเห็นผ่านไปทางผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีดังนี้

๑. ลักษณะการก่อสร้างของปราสาทพระวิหาร มีการใช้หินทรายซึ่งมีความคงทนเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และยังเป็นการสร้างอาคารบนพื้นหินของภูเขาที่มีความมั่นคง จึงทำให้มีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของฐานรากเพียงบางส่วนเท่านั้น และแม้ว่าหินของอาคารจะตกหล่นพังทลายลงมา ก็ยังสามารถดำเนินการอนุรักษ์ให้กลับมาสมบูรณ์ตามสภาพดั้งเดิมได้ด้วยวิธีการที่เรียกว่า อนัสติโลซิส
๒. ตัวอย่างกรณีของปราสาทประธานของปราสาทพระวิหาร ที่ส่วนยอดหักพังลงมาทั้งหมด ในอนาคตก็สามารถกลับคืนสู่สภาพดั้งเดิมได้ด้วยการใช้วิธีอนัสติโลซิสนี้ ทั้งนี้ปราสาทประธานได้พังทลายลงมาเป็นเวลานานแล้ว
๓. การอนุรักษ์ด้วยวิธีอนัสติโลซิสนี้ มีกระบวนการในการดำเนินการที่ค่อนข้างซับซ้อน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานหลายปีสำหรับแต่ละอาคาร จะต้องใช้พื้นที่ที่อาจจะออกมานอกขอบเขตบริเวณที่เป็นมรดกโลก อันได้แก่พื้นที่พิพาท (แม้แต่การขนส่งเคลื่อนย้ายวัสดุและอุปกรณ์ในการทำงานก็ต้องผ่านทางพื้นที่พิพาททั้งสิ้น) การดำนินการดังกล่าวหากไม่ได้รับการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายก็จะเป็นประเด็นปัญหาขัดแย้งขึ้นแน่นอน และเนื่องจากการอนุรักษ์ด้วยวิธีอนัสติโลซิสนี้สามารถรอได้เมื่อมีความพร้อม ในระหว่างนี้จึงควรอนุรักษ์ด้วยวิธีในขั้นพื้นฐาน เช่น การค้ำยัน การป้องกันการเสื่อมสภาพเบื้องต้นไว้ก่อนเท่านั้น
๔. ความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เท่าที่เห็นจากภาพถ่ายเป็นเพียงรอยกระสุนบนเนื้อหิน ที่ไม่ได้รุนแรงขนาดทำให้โครงสร้างหลักของอาคารพังทลาย หรือเกิดผลกระทบกับเสถียรภาพของอาคาร ทั้งนี้การซ่อมแซมรอยกระสุนดังกล่าวไม่สามารถใช้วิธีอนัสติโลซิสได้ แต่ต้องใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มีผลกระทบกับความมั่นคงแข็งแรงของโบราณสถานเราก็อาจตัดสินใจเก็บรักษาร่องรอยความเสียหายเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันสืบเนื่องมาจากการที่กำลังทหารของกัมพูชาเข้ามาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นที่กำบัง จึงเป็นผลให้เกิดความเสียหายที่เลี่ยงไม่ได้นี้

นอกจากความเห็นในประเด็นด้านเทคนิคการบูรณะของกรมศิลปากรนี้ ก็คงจะมีประเด็นเรื่องผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการบูรณะว่าจะเป็นคณะทำงานจากประเทศใด มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการบูรณะโบราณสถานประเภทหินด้วยวิธีอนัสติโลซิสอย่างดีจริงหรือไม่ การดำเนินการบูรณะถือว่าขัดต่อข้อตกลงใน MoU 43 หรือไม่ (อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการที่เราต้องหยุดการบูรณะปราสาทตาเมือนธมด้วยเหตุนี้มาแล้ว) การยกเลิก MoU จะมีผลเช่นไรในกรณีนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการรักษาคุณค่าของมรดกโลกปราสาทพระวิหารอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องทางการเมือง

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

วัดอัปสรสวรรค์ วรวิหาร

วัดอัปสรสวรรค์ วรวิหาร ตั้งอยู่ที่ แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร แต่เดิมมีชื่อว่า วัดหมู กล่าวกันว่าได้สร้างในที่ดินที่เคยใช้เลี้ยงหมู เมื่อสร้างวัดแล้วก็ยังมีหมูเดินไปมาในวัดจึงเรียกว่า วัดหมู บ้างก็ว่าเศรษฐีจีนชื่อ “อู๋” เป็นผู้สร้างวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดอู๋บ้าง วัดจีนอู๋บ้าง แล้วเพี้ยนไปจนติดปากว่า วัดหมู แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ครั้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าจอมน้อย ผู้เป็นธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ใคร่จะปฎิสังขรณ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บิดา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สถาปนาใหม่ทั้งวัด และพระราชทานนามว่า วัดอัปสรสวรรค์ เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนมีฉายาเรียกกันว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง นอกจากนี้ยังได้พระราชทาน พระพุทธรูปปางฉันสมอ มาประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ด้วย พระอุโบสถและพระวิหาร เป็นสิ่งก่อสร้างในรูปแบบพระราชนิยมที่ได้รับอิทธิพลของศิลปะจีน ตามแบบอย่างจากวัดราชโอรสาราม ฯ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานจำนวน ๒๘ องค์ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยที่มีลักษณะและขนาดเท่ากันทั้งหมด ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีร่วมกัน ที่ฐานของพระพุทธรูปปรากฏพระนามของแต่ละองค์จารึกไว้ทุกองค์ ลักษณะเช่นนี้ถือว่ามีแห่งเดียวในโลก และที่ด้านข้างพระอุโบสถยังมีหอพระไตรปิฎกไม้ตั้งอยู่ในสระน้ำ ที่มีรูปแบบศิลปะสืบเนื่องมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา เป็นหอไตรที่มีทรวดทรงงดงาม สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จทอดพระเนตรแล้วนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อจัดรูปหอเขียนสมัยอยุธยาที่วังสวนผักกาด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญระดับชาติตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ บันทึกในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๔ ตอนที่พิเศษ ๗๕ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐หอพระไตรปิฎก เป้าหมายการทำงานในโครงการใหม่ของกรรมาธิการอนุรักษ์ สถาปัตยกรรมไทยประเพณี สมาคมสถาปนิกสยามฯ