วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วัดเทพธิดารามวรวิหาร : ประวัติและสิ่งก่อสร้าง

วัดเทพธิดาราม เดิมชื่อวัดพระยาไกรสวนหลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๒๕ ไร่

ประวัติความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาใน พ.ศ. ๒๓๗๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) การก่อสร้างพระอารามนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างในตำบลสวนหลวงพระยาไกร สร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินผูกพัทธสีมาด้วยพระองค์เอง พระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม”
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ทรงดำรงตำแหน่งมรรคนายก พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาคร่อมกำแพงระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร ๒ หลัง เจดีย์รายรอบพระวิหาร ศาลารายพระวิหารในกำแพง ตุ๊กตาหิน วิหารน้อย หอไตร และใน พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงบูรณะพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากจังหวัดพิษณุโลก นำขึ้นประดิษฐานในซุ้มพระปรางค์ทั้ง ๔ องค์
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บูรณะสถานที่จงกรม ศาลาคร่อมกำแพงหลังพระอุโบสถ ๒ หลัง สระน้ำ พื้นกุฏิคณะกลาง ปูหินอ่อนพื้นและตกแต่งเครื่องประดับภายในพระอุโบสถรวมทั้งซ่อมแซมเครื่องใช้ภายในพระอุโบสถ บูรณะประตูกำแพงและกำแพงหน้าวัด ฐานรองม้าหมู่และตู้พระไตรปิฎก
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างถนนปูกระเบื้องซิเมนต์หลังโรงเรียนธรรมวินัย บูรณะกุฏิ หอฉัน และซุ้มประตู
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้บูรณะซ่อมแซมสิ่งที่ชำรุดทั่วไปเล็ก ๆ น้อย ๆ
รัชกาลปัจจุบันได้บูรณะศาลาการเปรียญ สร้างถนน สร้างศาลาทรงไทยด้านหลังวัด ๒ หลัง บูรณะซ่อมแซมกุฏิเสนาสนะและส่วนที่ชำรุดอื่น ๆ โดยทั่วพระอาราม กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

สิ่งสำคัญภายในวัด

พื้นที่ภายในพระอารามแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ เขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส ในเขตพุทธาวาสประกอบด้วยอาคารสำคัญ ๓ หลัง ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ
พระอุโบสถ ตั้งอยู่กึ่งกลางเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง ๑๓.๒๐ เมตร ยาว ๒๗.๒๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญพระประธานนามสามัญว่า “หลวงพ่อขาว” จากพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานอยู่เหนือเวชยันต์บุษบก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้พระราชทานนามว่า “พระพุทธเทววิลาส” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ผนังภายในเขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์ตามแบบศิลปสมัยรัชกาลที่ ๓ หลังคาพระอุโบสถเป็นแบบไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบจีน บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ บริเวณลานรอบพระอุโบสถมีซุ้มเสมาตั้งอยู่ในทิศทั้ง ๘ ถัดไปเป็นแนวกำแพงล้อมรอบที่มีพระปรางค์ประจำอยู่ทั้ง ๔ มุม พระปรางค์ทั้ง ๔ นี้ แต่ละองค์ตั้งอยู่บนลานทักษิณสูง ที่ฐานพระปรางค์แต่ละองค์มีรูปท้าวจตุโลกบาล คือ ท้าวธตรฐวิรุฬหก วิรูปักข์ และกุเวร ประจำรักษาในทิศทั้ง ๔ และที่กึ่งกลางแนวกำแพงทั้ง ๔ ด้าน เป็นช่องประะตูที่มีม้านั่งปูนตั้งขนาบอยู่ทุกด้าน
พระวิหาร มีลักษณะเช่นเดียวกับพระอุโบสถ กว้าง ๑๓.๒๐ เมตร ยาว ๒๒.๒๐ เมตร สิ่งสำคัญภายในพระวิหารนอกจากพระประธาน ยังมีรูปหมู่อริยสาวิกา (ภิกษุณี) ซึ่งได้รับเอตทัคคะในฝ่ายภิกษุณีบริษัท หล่อด้วยดีบุก ประดิษฐานอยู่ด้วย ๕๒ องค์ ภายนอกพระวิหารมีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมตั้งเป็นเจดีย์รายอยู่โดยรอบจำนวน ๑๔ องค์
ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนลักษณะใกล้เคียงกันกับพระอุโบสถและพระวิหาร แต่ไม่มีการทำระเบียงรอบ กว้าง ๑๔.๗๕ เมตร ยาว ๒๒.๖๐ เมตร
ศาลาราย มีทั้งหมด ๑๐ หลัง คือสร้างคร่อมรอบกำแพงพระอุโบสถ ๘ หลัง ใช้ได้ทั้งด้านนอกและด้านใน เรียกได้ว่าเป็นศาลา ๒ หน้า ศาลารายอีก ๒ หลังอยู่บริเวณด้านหน้าพระวิหาร ศาลาทั้งหมดนี้ใช้เป็นที่พักอาศัยบำเพ็ญกุศล และเป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน
พระวิหารน้อย ๒ หลัง อยู่ภายในกำแพงพระวิหารทางทิศใต้
บริเวณสังฆาวาส เป็นที่ตั้งกุฏิเสนาสนะของพระสงฆ์ กุฏิในพระอารามนี้แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ สำหรับฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระกุฏิสำหรับพระสงฆ์ผ่ายวิปัสสนาธุระอยู่ท้ายวัด มี ๑๖ หลัง
หอไตร มี ๒ หลัง ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส ติดกับบริเวณหมู่กุฏิ คณะ ๘ จำนวน ๑ หลัง และคณะ ๕ อีก ๑หลัง ทั้ง ๒ หลังมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีที่มีลักษณะการตกแต่งอิทธิพลจีนตามแบบพระราชนิยม ลักษณะอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ใต้ถุนสูง หลังคามีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันปิดทองประดับกระจกสี เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก หนังสือพระธรรม คัมภีร์ต่าง ๆ ปัจจุบันหอพระไตรปิฎกที่คณะ ๘ ได้รับการบูรณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่อีกหลังทางคณะ ๕ ยังคงอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก แต่ก็กล่าวได้ว่ายังเหลือหลักฐานของความเป็นของแท้ของสถาปัตยกรรม ลักษณะโครงสร้าง และการตกแต่งฝีมือช่างดั้งเดิมอยู่
หอสวดมนต์ มี ๒ หลัง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือและใต้ เป็นสถานที่สวดมนต์ทำวัตรเข้าเย็น และท่องจำพระสูตร พระปริตร ปัจจุบันทางวัดใช้หอหลังทิศเหนือเป็นห้องสมุดของวัด
ศาลายกพื้น อยู่ทางทิศเหนือของวัด ปัจจุบันใช้เป็นที่ศึกษาพระธรรมวินัยชั่วคราว (โรงเรียนพลอยวิจิตร)
ภายในพระอารามมีสิ่งประดับได้แก่ ตุ๊กตาศิลาสลักของจีนมีทั้งที่เป็นรูปสัตว์และคน ตั้งอยู่ในบริเวณรอบพระอุโบสถ ตุ๊กตารูปคนมีลักษณะที่น่าสนใจ คือ บางตัวมีลักษณะท่าทางและการแต่งกายแบบจีน บางตัวแต่งกายแบบไทย ปัจจุบันตุ๊กตาเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ชำรุด บางส่วนได้ถูกขโมยไป ส่วนตุ๊กตารูปสัตว์นั้น ได้แก่ สิงโตจีน ตั้งอยู่ที่หน้าพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญแห่งละ ๑ คู่
นอกจากนี้ วัดเทพธิดารามยังมีความสัมพันธ์กับจินตกวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านผู้นี้คือ พระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) หรือรู้จักกันในนามว่า “สุนทรภู่” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้อุปสมบทและจำพรรษาที่พระอารามนี้ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๒-๒๓๘๕ ซึ่งได้รับพระอุปถัมภ์จากพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพตลอดมา สุนทรภู่ได้สร้างงานประพันธ์ไว้เป็นจำนวนมาก ในบรรดางานเหล่านี้ เรื่องที่เกี่ยวกับวัดเทพธิดารามมากที่สุดคือ “รำพันพิลาป” ท่านได้พรรณนาไห้เห็นลักษณะปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุและความงามของพระอารามในสมัยนั้นอย่างละเอียด รวมทั้งได้กล่าวถึง หอพระไตรปิฎก ไว้ด้วย โดยที่ทางวัดได้อนุรักษ์กุฏิหลังนี้ไว้อย่างดี พร้อมด้วยการจัดแสดงสื่อความหมายถึงความเป็นอาคารประวัติศาสตร์ เปิดให้ชมสถานที่ที่ท่านเคยพำนักและนำชมถาวรวัตถุในวัดตามที่ปรากฏในเรื่องรำพันพิลาปของท่าน ทำให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามฯ มาแล้ว

จาก ข้อมูลสำหรับโครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก โดยกรรมธิการอนุรักษ์ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

ไม่มีความคิดเห็น: