วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Happy New Year Sdok Kok Thom 2010

เมื่อเอารูปปราสาทประธานของปราสาทสด๊กก๊อกธมมาใช้ส่งความสุขปีใหม่ ๒๕๕๓
ก็เลยขอนำข้อมูลเรื่องการอนุรักษ์มาบรรณาการด้วยก็แล้วกันครับ...

ก่อนการขุดแต่งเคลื่อนย้ายหินหล่น
ปราสาทประธานหลังการขุดแต่ง
ทดลองประกอบหินหล่น ได้ข้อมูลส่วนหน้าบัน

ทดลองเรียงก่อนนำกลับคืนสู่ที่ตั้งดั้งเดิม
นำหินกลับคืนสู่ที่ดั้งเดิม

ปราสาทประธานหลังการบูรณะ

อนุรักษ์ปราสาทหินด้วยอนัสติโลซิส

การอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินที่ยอมรับกันในระดับสากลว่าเหมาะสมที่สุดในปัจจุบันได้แก่วิธีการประกอบคืนสภาพ หรือที่เรียกว่า อนัสติโลซิส (Anastylosis) เป็นภาษากรีก มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเพื่อใช้เรียกวิธีการอนุรักษ์สำหรับกลุ่มโบราณสถานอะโครโปลิสแห่งเมืองเอเธนส์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ โดยวิศวกรที่ชื่อนายนิโคลาโอส บาลาโนส เขาได้ให้คำจำกัดความของ อนัสติโลซิส ไว้ว่า “เป็นการนำกลับไปสู่ที่เดิมขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างโบราณ” ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ การนำเอาวัสดุดั้งเดิม กลับไปวางไว้ในตำแหน่งดั้งเดิม โดยใช้วิธีการก่อสร้างดั้งเดิม

หลังจากที่อนัสติโลซิสเป็นที่ยอมรับและนำมาใช้กับอาคารกรีกโรมัน ก็ได้แพร่หลายมาสู่เอเซียโดยสถาปนิกชาวดัทช์นำมาใช้ที่ชวาก่อน แล้วจึงต่อมาที่เมืองพระนคร ราชอาณาจักรกัมพูชาโดยนายอองรี มาร์ชาล ชาวฝรั่งเศส โดยใช้เป็นครั้งแรกที่ปราสาทบันทายสรี แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องโครงสร้างของสถาปัตยกรรมเขมรจึงจำเป็นต้องใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กร่วมด้วย และในที่สุดก็มาถึงประเทศไทยโดยเริ่มต้นที่ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ในปีพ.ศ.๒๕๐๗ ยูเนสโกได้ส่งสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ๒ ท่านคือนายแบร์นารด์ ฟิลิปป์ โกรส์ลิเยร์ และนายปิแอร์ ปิชารด์ มาเป็นที่ปรึกษาของหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ที่ทรงเป็นสถาปนิกโครงการ จากนั้นที่ปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ ก็ได้ใช้อนัสติโลซิสต่อมาตามลำดับภายใต้การดูแลของ ดร.สัญชัย หมายมั่น ด้วยหลักการการถอดรื้อหินออกแล้วนำกลับมาเรียงประกอบใหม่ในตำแหน่งดั้งเดิมที่ควรจะเป็น เหนือฐานรากแผ่คอนกรีตเสริมเหล็กที่มั่นคง มีการเสริมโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กซ่อนรับอยู่เป็นจุด ๆ อยู่ด้านในของผนังหิน รวมทั้งระบบระบายน้ำซ่อนอยู่ใต้พื้นหิน เป็นแบบแผนของอนัสติโลซิสที่ใช้ต่อมาอีกหลายปราสาท แต่พัฒนาการด้านการอนุรักษ์ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง...

อนัสติโลซิสล่าสุดที่สด๊กก๊อกธม สืบเนื่องจากแนวทางล่าสุดที่เห็นชอบโดยกรมศิลปากรแล้วในการลดการใช้โครงสร้างคอนกรีต พร้อมกับระดับของความเป็นของแท้ของวัสดุลง เน้นที่ความเป็นของแท้ของรูปทรง เพื่อประโยชน์ในการสื่อความหมาย ในโครงการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว มีขั้นตอนการดำเนินการหลังการขุดแต่งประกอบด้วย การทำผัง ให้รหัสหินสำหรับชิ้นส่วนของโบราณสถานที่ตกกระจายอยู่เรียกว่า ผังหินหล่น จากนั้นวิเคราะห์และทดลองประกอบหิน ทำการศึกษาเปรียบเทียบ จัดทำแบบบูรณะจากพื้นฐานข้อมูลของลักษณะการเสื่อมสภาพ ผลการทดลองประกอบหิน และแบบวิเคราะห์ ถอดชิ้นส่วนที่ยังคงอยู่ในที่ พร้อมทำผังกำหนดรหัสหินจนครบทีละชั้นทุก ๆ ชั้น เรียกว่า ผังหินรื้อ ดำเนินการเสริมโครงสร้าง โดยทำฐานรากแผ่คอนกรีตเสริมเหล็กที่มีการวางแผ่นกันความชื้นพร้อมด้วยการจัดทำระบบระบายน้ำ ทดลองเรียงหินก่อนนำกลับเข้าที่ทีละ ๓ ชั้น แล้วนำชิ้นส่วนของโบราณสถานทั้งหมดกลับเข้าที่ตั้งดั้งเดิม ทำการก่อเสริมโครงสร้างดั้งเดิมด้วยการก่อศิลาแลงใหม่สอด้วยปูนขาวหมักเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของโครงสร้างเดิม กรณีที่จำเป็นต้องใช้วัสดุใหม่มาเสริมใช้หินทรายที่มีสมบัติใกล้เคียงกับวัสดุเดิม แต่งผิวสัมผัสให้เห็นได้ว่าแตกต่างเมื่อพิจารณาใกล้ๆ แม้ต้องใช้หินใหม่มากกว่าสมัยก่อนแต่ได้ช่วยลดการใช้ปูนซีเมนต์ลงพร้อมกับได้รูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณที่เข้าใจได้คืนมาจากสภาพเดิมที่เป็นเพียงกองหิน

"Dream Team"

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ประเทศไทยในกรรมการมรดกโลกกับฉากต่อไปที่พระวิหาร

ก่อนอื่นคงต้องขอแสดงความยินดีกับพ่อแม่พี่น้องชาวไทย ที่ ดร.โสมสุดา ลียะวณิช รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนจากประเทศไทยของเราได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลก ๒๑ ชาติ ในการเลือกตั้งคณะกรรมการมรดกโลกที่ว่างลงตามวาระ ๑๒ ตำแหน่ง ในโอกาสของการประชุมที่องค์การยูเนสโก ปารีส ที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่อาจจะกล่าวได้ว่าเหนือความคาดหมาย เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ยังตึงเครียดอยู่จากกรณีของปราสาทพระวิหาร ที่คณะกรรมการมรดกโลกชุดก่อนได้มีมติให้บรรจุในบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรมไปเรียบร้อยแล้วในฐานะมรดกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ตั้งแต่การประชุมที่เมืองควิเบค แคนาดาเมื่อปีที่แล้ว โดยไม่สนใจข้อมูลและข้อโต้แย้งของคณะผู้แทนไทยซึ่งขณะนั้นเข้าประชุมด้วยฐานะที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ อีกทั้งในส่วนของอิโคโมสสากลซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประเมินเอกสารที่นำเสนอว่าแหล่งนั้นๆมีคุณค่าและมาตรการในการปกป้องคุ้มครองครบถ้วนสมควรที่จะนำเข้าวาระให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาตัดสินให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือไม่ ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับรายงานข้อโต้แย้งการประเมินและแผนการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารในเขตประเทศไทยที่จัดทำโดยอิโคโมสไทย ทั้งที่มีถูกต้องตามหลักวิชาการและข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบี้ยวเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

จนมาถึงการประชุมที่เมืองเซวีย่า สเปนในปีนี้ ซึ่งตามวาระกัมพูชาจะต้องรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตพื้นที่กันชน และ พื้นที่การจัดการร่วม ตามที่ให้สัญลักษณ์ไว้ว่า N2 และ N3 แต่ยังไม่มีขอบเขต (เพราะต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะล่วงล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ของไทยแม้ว่ากัมพูชาจะยืนยันว่าไม่เคยยอมรับเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อน) และเรื่องการจัดตั้ง ICC คณะกรรมการร่วมนานาชาติที่จะมาช่วยกันดูแลมรดกโลกพระวิหารนี้ ที่ขอให้เชิญไทยเข้าร่วมด้วย ในเมื่อยังไม่มีการเจรจาใดๆกับประเทศไทยในเรื่องนี้เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับทั้งฝ่ายไทย กัมพูชา และเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานเอง แต่กลับใช้เกมการเมืองในรูปแบบต่างๆ ก่อให้เกิดความตึงเครียด การเผชิญหน้า จนถึงการปะทะกันทั้งระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา และในส่วนคนไทยด้วยกันเอง จึงไม่มีอะไรไปรายงานแบบเปิดเผย (เมื่อเรายังไม่ได้เป็นกรรมการมรดกโลกก็ไม่รู้ว่ากัมพูชาไปรายงานว่าอย่างไร) แต่ก็ได้รับการผ่อนผันให้เป็นกรณีพิเศษอย่างเคย ในกรณีของแผนบริหารจัดการของปราสาทพระวิหารที่จะต้องส่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็อาจจะเช่นเคย คือได้รับการผ่อนผัน เมื่อยังเจรจากับไทยไม่ได้และไม่สามารถเปิดเผยแผนบริหารจัดการที่มีปัญหาอย่างเป็นทางการ

ตั้งแต่ได้ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งกรรมการมรดกโลก โดยที่มีผู้แทนของกัมพูชาเข้าเสนอตัวด้วย จากประสบการณ์ที่ผมได้รับเกี่ยวกับเรื่องขององค์กรระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมานี้ ทำให้คาดได้ว่าเขานอนมาแน่ และเมื่อได้เข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมการผู้พิจารณาเรื่องราวของมรดกโลกที่รวมถึงพระวิหารที่ยังค้างคาอยู่ด้วยนี้ ก็ชัดเจนว่าความเอนเอียงในประชาคมโลกที่มีอยู่แล้ว ก็คงจะไม่มีอะไรยับยั้งได้อีกต่อไป และคงมีผลโดยตรงกับสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กว่าเราจะตัดสินใจได้ว่าจะส่งใครลงสนามแข่งขัน เขาก็ได้หาเสียงล่วงหน้าเราไปนานแล้ว ผมเห็นด้วยกับท่านธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ที่กล่าวไว้ในวันแถลงข่าวว่า “ดีใจมากๆที่ได้ทั้งสองประเทศ” ท่านยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า ความจริงเสียงส่วนใหญ่เขาเห็นว่าไม่อยากจะให้เป็นกรรมการทั้งสองประเทศ เพราะไม่ต้องการเติมความขัดแย้งให้มากขึ้น (หากได้เพียงคนใดคนหนึ่ง) แต่ในที่สุดแนวคิดที่ว่า ปัญหาทั้งหลายแท้จริงก็เกิดจากคณะกรรมการมรดกโลกนี้ จึงน่าจะได้แก้ไขด้วยการที่ทั้งไทยและกัมพูชามาตกลงกันภายในคณะกรรมการมรดกโลก อาจเป็นแรงผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายได้รับเลือกทั้งคู่ หลายคนอาจกังวลใจและน้อยใจที่เราได้คะแนนน้อยกว่ากัมพูชา ๑ คะแนน แต่ถ้านึกถึงเวลาที่เราใช้ในการหาเสียงแล้วได้รับเลือกด้วยคะแนนที่สูงพอที่จะเป็นกรรมการมรดกโลกตั้งแต่รอบแรก (หากได้เสียงสนับสนุนไม่ถึงครึ่งจะต้องเลือกใหม่เป็นรอบสอง) เป็นถึงที่ ๓ จาก ๑๐ ตำแหน่งที่ต้องการเช่นนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นความสามารถของทีมงานอย่างแท้จริง และเมื่อได้เป็นกรรมการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสวิสที่ได้คะแนนมากที่สุดหรือ เอมิเรตส์ที่เข้ามาแบบไม่มีคู่แข่ง เพราะเสนอตัวในฐานะประเทศที่ยังไม่มีแหล่งมรดกโลกเลยเพียงชาติเดียว ไม่ต้องมีคะแนน ทุกชาติต่างก็มีหนึ่งเสียงเท่ากัน

นอกจากหนึ่งเสียงที่จะช่วยในการผลักดันให้มรดกที่มีคุณค่าของไทยได้รับการเชิดชูในฐานะมรดกโลกให้มากขึ้น และสนับสนุนให้สองแหล่งที่อยู่ใน Tentative list ของเราได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกต่อไปแล้ว เราจะสามารถคาดหวังอะไรได้บ้างจากผู้แทนประเทศไทยของเราท่านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปราสาทพระวิหาร ที่เราได้เคยโต้แย้งทั้งในเรื่องความถูกต้องทางวิชาการ และ การบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์อย่างเหมาะสมของปราสาทที่มีปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง จากนี้ไปถือว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลกที่มีหน้าที่ในการพิจารณากำหนดแนวทางในการปกป้องคุ้มครองมรดกโลกทั้งทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา ตรงกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยสำหรับมรดกโลกที่ ดร.โสมสุดาประกาศเป็นเจตนารมย์ในเอกสารที่ใช้ในการหาเสียง ตั้งแต่ข้อแรกที่ว่า

“ประเทศไทยตระหนักถึงวัตถุประสงค์หลักของการจัดทำบัญชีมรดกโลกเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกและคุณค่าที่เป็นสากล อันเป็นประโยชน์โดยรวมของประชาคมโลก ไม่ใช่การประกวดเพื่อชื่อเสียง และกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว แต่ต้องเน้นการรักษาคุณภาพของข้อมูลทางวิชาการ และมาตรการในการดูแลรักษา ...กล่าวคือจะต้องมุ่งรักษาผลประโยชน์ของมรดกเพื่อการใช้สอยอย่างยั่งยืน(Sustainable Use)มากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง” ประการต่อมาคือ “ความเป็นธรรมและเสมอภาค สนับสนุนให้มีแหล่งมรดกโลกอย่างครบถ้วนและทั่วถึงเพื่อเป็นตัวแทนของทุกอารยธรรมในโลก ไม่จำกัดเฉพาะแต่มรดกสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่โต แต่ให้ครอบคลุมถึงตัวแทนของความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางจิตใจ และความผูกพันของกลุ่มวัฒนธรรม” และประการสุดท้ายได้แก่ “ความปรารถนาในความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างชาติต่างๆ และสันติภาพในโลกจากการประสานงานร่วมมือในระหว่างเครือข่ายของประเทศภาคีสมาชิกที่มีลักษณะของมรดกร่วมกัน...”

ความคาดหวังทั้งหมดจึงมาอยู่ที่ผู้แทนของเรา ที่ถือเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับเกียรตินี้หลังจากที่ ศ. ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ได้เคยฝากฝีมือไว้จนเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลกมาแล้ว เมื่อโอกาสมาถึง ให้ประเทศไทยได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่อีกครั้งเช่นนี้ นอกเหนือจากความรู้ความสามารถทางวิชาการด้านโบราณคดีที่ได้ร่ำเรียนมาของ ดร.โสมสุดา ในด้านการบริหารเมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการอิโคโมสไทย ตั้งแต่ยังเป็นองค์กรที่ไม่มีกิจกรรมใดๆเพื่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ท่านได้มองการณ์ไกลว่าควรจะต้องมีการพัฒนาองค์กรเอกชนนี้ขึ้นมาเพื่อสานต่องานที่กรมศิลปากรดูแลอยู่ ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน จึงได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งสำนักงานของอิโคโมสไทย จัดจ้างเจ้าหน้าที่ประจำขึ้น พร้อมการสร้างเครือข่ายดังที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยบุคลิกลักษณะ ความรู้และความสามารถในการบริหารของท่าน น่าจะเหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งเช่นนี้ ด้วยการวางตัวอย่างเหมาะสม ยึดมั่นในหลักการทางวิชาการ พยายามผลักดันการเมืองที่เข้ามาแทรกแซงให้ออกไป ร่วมตรวจสอบการบ้านที่กัมพูชาทำมาส่งด้วยเหตุและผลอย่างตรงไปตรงมา นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเป็นธรรมให้ที่ประชุมรับทราบ ไม่ได้มุ่งจะเอาแต่ผลประโยชน์ของไทยแต่เพียงอย่างเดียว จากการวางตัวให้เป็นที่เคารพนับถือของท่านในระดับสากล ก็หวังว่าในภาคส่วนอื่นของเราจะได้เข้าใจและมาช่วยกันสนับสนุนโดยธรรมาภิบาล เพื่อการประกาศคุณค่าและปกป้องคุ้มครองมรดกของโลกร่วมกันอย่างแท้จริง และผลประโยชน์ก็จะตามมาพร้อมด้วยมิตรภาพของคนทั้งสองแผ่นดินอย่างยั่งยืนตลอดไป

วิสัยทัศน์ของประเทศไทยเกี่ยวกับมรดกโลก Thailand’s Vision on World Heritage


จากเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการมรดกโลก ของ ดร.โสมสุดา ลียะวณิช
Dr. Somsuda Leyavanija Thailand's Candidacy for the election of World Heritage Committee

1. ประเทศไทยตระหนักถึงวัตถุประสงค์หลักของ “Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage” ที่จัดทำบัญชีมรดกโลกขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองตัวมรดกและคุณค่าที่เป็นสากลทั้งทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ อันเป็นประโยชน์โดยรวมของประชาคมโลก ไม่ใช่การประกวดชิงตำแหน่งเพื่อชื่อเสียง และกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว จึงขอเน้นย้ำความจำเป็นของการกำหนดให้มีแผนการจัดการ มาตรการในการปกป้องคุ้มครองแหล่งมรดก การเตรียมความพร้อมสำหรับความเสี่ยง ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นประเด็นสำคัญ รวมทั้งการรักษาคุณภาพของข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนคุณค่า(OUV) ความเป็นของแท้(Authenticity) และบูรณภาพ(Integrity)ของมรดก กล่าวคือจะต้องมุ่งรักษาผลประโยชน์ของมรดกเพื่อการใช้สอยอย่างยั่งยืน(Sustainable Use)มากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง

2. ประเทศไทยได้เล็งเห็นว่ายังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่มีแหล่งมรดกโลกแม้แต่แห่งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จะสามารถเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆในการส่งผ่านต่อไปยังรุ่นต่อไปได้ ขณะที่ในหลายประเทศกลับมีมรดกโลกแล้วเป็นจำนวนมาก เพื่อความเป็นธรรมและเสมอภาคจึงขอสนับสนุนให้มีแหล่งมรดกโลกอย่างครบถ้วนและทั่วถึงเพื่อเป็นตัวแทนของทุกอารยธรรมในโลก ไม่จำกัดเฉพาะแต่มรดกสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่โต อันถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทางกายภาพที่จับต้องได้ แต่ให้ครอบคลุมถึงตัวแทนของความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางจิตใจ และความผูกพันของกลุ่มวัฒนธรรม โดยคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Value) นี้ถือได้ว่าคือความหมายที่แท้จริงของมรดก ในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณและองค์ความรู้ในการศึกษาเพื่อจัดทำเอกสารนำเสนอ น่าจะมีการตั้งกองทุนพิเศษเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะในลักษณะการจัดการที่สมดุล (Balanced Management)

3. ประเทศไทยปรารถนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างชาติต่างๆ และสันติภาพในโลก โดยอาจเกิดขึ้นได้จากการประสานงานร่วมมือในระหว่างเครือข่ายของประเทศภาคีสมาชิกที่มีลักษณะของมรดกร่วมกัน ประกอบด้วย วัฒนธรรม/ศิลปกรรม ประเภท วัสดุ เทคนิค ลักษณะของที่ตั้ง ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ หรือสภาพปัญหา ความเสี่ยงร่วม ขอสนับสนุนการรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิดเห็น เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการอนุรักษ์และบริหารจัดการมรดกโลกของแต่ละกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งน่าจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับกรอบการทำงานตามโครงการ Global Strategy โดยประเทศไทยมีความพร้อมสามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการปรึกษาหารือทั้งในด้านงบประมาณและเทคนิค


1. Thailand has perceived the core objective of the “Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage” that the listing of World Heritage Sites has been employed as a tool for protection of the heritage and their universal values, both on cultural and natural aspects, for the benefits of the world on the whole, not aiming on competition for fame and economic benefits from tourism. Therefore, the necessity of having management plan, protective measures for the heritage sites, risk preparedness, and participation by all involving parties are important issues to be emphasized. Apart from these, reliability and accuracy of scientific data and information which enhances the outstanding universal value, authenticity and integrity of the heritage must also be taken into account. In conclusion, the goal is to preserve the benefits of the heritage for sustainable use rather than economic and political benefits.

2. Thailand has observed that there are still many countries that have not had any World Heritage Site listed, especially in the case of Cultural World Heritage Sites which are representatives of the country’s culture that can be handed down to future generations, whereas there are several countries that have already had a large number of World Heritage Sites. Therefore, for fairness and equality, we support an inclusive listing of World Heritage Sites that represents all civilizations of the world, not to be limited only to large edifices that are rich in physical, tangible values, but also to include those which are representatives of historical continuity, spiritual values and inter-cultural relationships. These intangible values should be considered the true meaning of the heritage. On the aspects of budget and knowledge base for studying the preparation of proposal documents, there should be a special fund for this specific mission in the balanced management approach.

3. Thailand wishes for international friendship and peace of the world, which could be obtained via networking collaboration and cooperation between member countries that have similar characteristics of heritage comprising culture/art, types of heritage, materials, techniques, site features, topography, climates, or mutual problems and risks. We support the forming of groups for exchanging experiences, knowledge, and opinions for mutual benefits in conservation and management of World Heritage Sites of each group in the highest possible efficiency, which should be in accordance with the framework of Global Strategy Project. Thailand is ready to serve as a centre for such discussions, both in terms of budget and techniques.

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

ศาลฎีกา คริสตจักรเชียงราย มาจนถึง บ้านวินด์เซอร์ และพาทยะโกศล

อาคารศาลยุติธรรม และศาลฎีกา ที่กำลังจะถูกรื้อแล้วสร้างใหม่ ในพื้นที่ประวัติศาสตร์

ในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ เป็นวันนัดหมายที่นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ได้อนุญาตให้ผู้แทนจากสามสมาคมเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ ซึ่งประกอบด้วย นางจุฬา สุดบรรทัด นายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) นายเดโช สวนานนท์ นายกสมาคมอิโคโมสไทย และ ดร.วันชัย มงคลประดิษฐ ประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ฯ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นางภารนี สวัสดิรักษ์ จากสมาคมอิโคโมสไทย นายวสุ โปษยะนันทน์ ประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ ฯ ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี และนางปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส ได้เข้าพบตามที่สมาคมฯ ของเราเป็นผู้ทำจดหมายไปร้องขอ ด้วยตั้งใจจะหารือกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของมรดกวัฒนธรรมในกรณีต่างๆ ที่ทั้งสามสมาคมได้มีโอกาสได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่อาคารศาลยุติธรรมและศาลฎีกาซึ่งสมาคมฯได้ประกาศไว้ทั้งการเป็นอาคารควรค่าแห่งการอนุรักษ์ (Heritage @ Risk) และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในปีล่าสุด ด้วยเป้าหมายที่จะแสดงให้สาธารณชนและผู้ที่มีความรับผิดชอบ ได้เห็นว่าอาคารศาลยุติธรรมและศาลฎีกานี้เป็นสถาปัตยกรรมที่คุณค่าความสำคัญ ควรที่จะเก็บรักษาไว้ โดยนัยที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการที่จะรื้อกลุ่มอาคารดังกล่าวลงเพื่อสร้างใหม่ทั้งหมด ด้วยเพียงเหตุผลที่ว่า เป็นอาคารที่ไม่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ไม่เหมาะกับพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ แล้วสร้างอาคารใหม่ขนาดใหญ่เต็มพื้นที่โดยนำเอาองค์ประกอบของงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี(อย่างวัดหรือวัง)ขึ้นแทนที่

เนื่องจากกรรมาธิการอนุรักษ์ฯ มีความเห็นว่า อาคารศาลยุติธรรมและศาลฎีกานี้มีคุณค่า ไม่เฉพาะแต่ในความเป็นสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์ทางการศาล แต่ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรม Modern Architecture ที่แสดงถึงการพัฒนาอย่างตะวันตกของอาคารหลังแรกและแบบโมเดิร์นที่ผสมผสานลักษณะไทย ซึ่งต้องการแสดงตัวตนของเราควบคู่ไปกับความทันสมัยของอาคารที่สร้างถัดมา ได้ทำให้อาคารแห่งนี้เป็นตัวแทนของรูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงเวลาที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ด้วยความที่เป็นสถาบันที่มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ แม้เบื้องต้นจะยังไม่ชัดเจนว่าเข้าข่ายเป็นโบราณสถานหรือไม่ แต่การตัดสินใจที่จะรื้อลงทั้งหมดถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญได้แก่การที่เป็นโครงการก่อสร้างในบริเวณใจกลางพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสนามหลวง ศาลหลักเมือง หรือคลองคูเมืองเดิม ซึ่งล้วนเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และที่สำคัญที่สุดคืออยู่ใกล้กับวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง โครงการที่มิได้มีการหารือกับกรมศิลปากรในเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับโบราณสถาน และมีการยกเว้นไม่ถือปฏิบัติตามเกณฑ์ควบคุมความสูงของอาคารที่อาจไปบดบังมรดกวัฒนธรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติไทยได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าข้องใจอย่างยิ่ง

ในวันนี้กรมศิลปากรจึงเป็นความหวังที่จะช่วยแก้ข้อข้องใจนี้เกี่ยวกับคุณค่าและความเป็นโบราณสถานของอาคารหลังจากที่ทั้งสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมและสมาคมอิโคโมสไทย ได้จัดการเสวนาและมีข้อสรุปที่ระบุถึงคุณค่าที่ต้องรักษาไว้ของอาคารนี้อย่างชัดเจน โดยได้ทำหนังสือแจ้งต่อประธานศาลฎีกาไปแล้ว ซึ่งจากการพบปะกันในวันนี้ก็ได้รับทราบว่า กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า อาคารศาลยุติธรรมมีคุณค่า และลักษณะครบถ้วนตามคำนิยามของพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ จึงจะได้แจ้งไปยังประธานศาลฎีกาว่า อาคารนี้เป็นโบราณสถานของชาติ ที่ยังมิได้ขึ้นทะเบียน ถือว่าได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การจะดำเนินการใดใดต้องแจ้งต่อกรมศิลปากร นิติกรของกรมศิลปากรยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่อนุรักษ์และสืบสานมรดกวัฒนธรรมของตน ประชาชนทุกคนจึงมีสิทธิ์ที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในกรณีนี้ได้

ความจริงสมาคมสถาปนิกสยามฯก็ได้มีความพยายามตั้งคำถามนี้กับสังคมมาตั้งแต่การจัดเสวนาของกรรมาธิการอนุรักษ์ในงานสถาปนิก ๕๑ สืบเนื่องจากโครงการประกวดจัดทำข้อมูลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ และมีกิจกรรมที่แสดงถึงความเห็นคัดค้านการรื้ออาคารศาลฎีกาและก่อสร้างใหม่มาโดยตลอด แต่กระนั้นก็ยังมีคำถามจากกรมศิลปากรย้อนกลับมาบ้างว่า ในเมื่อสมาคมฯไม่เห็นด้วยกับโครงการ และสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารใหม่ก็เป็นสมาชิกของสมาคมฯ เหตุใดจึงไม่มีการดำเนินการภายในสมาคมฯเองให้ตรงจุด เหตุใดจึงต้องอ้างว่าเพราะเกรงใจจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งให้บริการออกแบบ ในขณะที่อธิบดีกรมศิลปากรท่านนี้ก็เป็นสถาปนิกที่จบการศึกษาจากจุฬาฯ จึงไม่น่าที่จะนำเรื่องของสถาบันมาเกี่ยวข้องกับความถูกผิด

คริสตจักรที่ ๑ เชียงราย เป็นกรณีต่อมาที่เริ่มต้นจากการที่สมาคมฯได้รับแจ้งมาจากโครงการอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ เรื่องเกิดจากการที่ทางคริสตจักรมีโครงการจะฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีของการก่อตั้งด้วยการรื้ออาคารที่กำลังจะมีอายุครบร้อยปีนั้นแล้วสร้างอาคารหลังใหม่ให้ใหญ่โต แทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมโดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการซ่อมแซมเสริมโครงสร้างที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาช่าง ซึ่งตรงนี้ก็เห็นได้ว่าเป็นอีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการที่จะต้องมีการควบคุมทางวิชาชีพในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ที่ไม่ควรจำกัดเฉพาะงานก่อสร้างใหม่ และไม่ควรมีการยกเว้นการตรวจสอบสำหรับอาคารใดใด ไม่ว่าจะเป็นอาคารของรัฐหรือศาสนสถาน ในส่วนที่เกี่ยวกับกรมศิลปากร ก็ได้รับข้อมูลว่าขณะนี้ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรเชียงใหม่ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ถูกทางคริสตจักรฟ้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการมาชี้ชัดว่าอาคารคริสตจักรมีคุณค่าเข้าข่ายที่จะเป็นโบราณสถาน ในระหว่างที่เป็นความกันนี้คาดว่าคงจะยังไม่มีการรื้ออาคารโบราณเกิดขึ้น แม้จะมั่นใจว่าจะไม่แพ้คดีแต่ทางกรมศิลปากรก็ไม่ปรารถนาที่จะให้มีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น อย่างเฉพาะในกรณีของวัดกัลยาณ์ฯ ขณะนี้กรมศิลปากรก็เป็นทั้งโจทก์และจำเลยในหลายคดี อยู่ตรงกลางระหว่างวัดและชุมชน

ในส่วนพื้นที่กุฎีจีนซึ่งต่อเนื่องกับวัดกัลยาณ์ฯ ก็มีกรณีของบ้านวินด์เซอร์และบ้านพาทยะโกศล อาคารทั้งสองหลังถือว่ามีคุณค่าทั้งในทางประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญและด้านสถาปัตยกรรมการตกแต่งที่อาจจะมีในระดับที่แตกต่างกัน แต่ที่มีร่วมกันคือความเสี่ยงที่จะเสื่อมสลายไป เจ้าของบ้านไม่ใช่เจ้าของที่ดิน และเจ้าของที่ดินไม่เห็นคุณค่า แม้ว่ากรมศิลปากรจะเห็นและพยายามที่จะเข้าไปสำรวจจัดทำโครงการซ่อมแซม แต่ด้วยความขัดแย้งต่างๆในอดีตก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เมื่อสมาคมฯมีโอกาสเข้าไปสำรวจจัดทำข้อมูลและเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมแบบ Vernadoc ที่บ้านวินเซอร์ และเป็นตัวกลางที่จะช่วยในการขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่ต้องการคำยินยอมจากโบสถ์ซางตาครู๊สเจ้าของที่ดิน ส่วนบ้านพาทยะโกศลคงจะต้องรอดูคดีต่างๆของวัดกัลยาณ์กันต่อไป

การที่สมาคมทั้งสามได้มีโอกาสได้เข้าพบอธิบดีและข้าราชการในระดับสูงของกรมศิลปากรในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของความร่วมมือ การประสานงานในลักษณะของเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมกันต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างเต็มที่ต่อมรดกของชาติโดยพวกเราจะช่วยกันสอดส่องดูแล รักษาให้คงอยู่ต่อไป ตามภาระหน้าที่ บทบาทและความถนัดของแต่ละฝ่าย ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552

รายการประกอบแบบบูรณะ หอพระไตรปิฎกคณะ ๕ วัดเทพธิดารามวรวิหาร

ในโครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓

ที่ปรึกษาโครงการ
๑. ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี
๒. พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น
๓. รองศาสตราจารย์ ดร.ประสงค์ เอี่ยมอนันต์
๔. รองศาสตราจารย์ สมคิด จิระทัศนกุล
คณะทำงานโครงการ
๑. ดร.ศิริชัย หวังเจริญตระกูล
๒. คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
๓. นายไพรัช เล้าประเสริฐ
๔. ดร.พรธรรม ธรรมวิมล
๕. นายวสุ โปษยะนันทน์
๖. นายจมร ปรปักษ์ประลัย
๗. นายวทัญญู เทพหัตถี
๘. นางสาวมนัชญา วาจก์วิศุทธิ์
๙. นายสุรยุทธ วิริยะดำรงค์
๑๐. นางสาวหัทยา สิริพัฒนกุล
๑๑. นายภาณุวัตร เลือดไทย
๑๒. นายจาริต เดชะคุปต์
๑๓. นายพีระพัฒน์ สำราญ
๑๔. นายลีนวัตร ธีระพงษ์รามกุล
๑๕. นางสาววราภรณ์ ไทยานันท์ เลขานุการ

รูปแบบสถาปัตยกรรมและสภาพในปัจจุบัน
อาคารนี้มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางอาคารไปตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นอาคารสูง ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุนใช้สำหรับเก็บของ ชั้นบนเป็นหอพระไตรปิฎก บันไดทางขึ้นสู่ชั้นบนของอาคารตั้งอยู่ภายนอกอาคารทางด้านทิศเหนือ
การวางผังของชั้นบนให้ความสำคัญกับห้องเก็บพระไตรปิฎกตั้งอยู่กึ่งกลางอาคาร ล้อมรอบด้วยระเบียงทางเดิน โดยห้องเก็บพระไตรปิฎกมีรูปแบบผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตามแนวยาวของอาคาร ประตูทางเข้าอยู่ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีหน้าต่างด้านละ ๒ บาน ส่วนผนังด้านทิศใต้มีหน้าต่าง ๑ บานกึ่งกลางแนวผนัง
ปัจจุบัน ทางวัดได้ต่อเติมผนังคอนกรีตบล็อค ทับลงบนราวพนักระเบียงทางเดินด้านทิศตะวันตกของหอพระไตรปิฎกยาวตลอดแนว พร้อมด้วยการต่อหลังคาคลุมพื้นที่ด้านข้างอาคารและกั้นผนังปิดทางทิศเหนือเพื่อทำเป็นห้องเก็บของ
รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นหอไตรประเภทอาคารเครื่องก่อ ผนังก่ออิฐฉาบปูนทรงไทย มีโครงสร้างแบบกำแพงรับน้ำหนัก (Wall Bearing) หลังคาเป็นทรงจั่ว แบ่งเป็น ๒ ตับ มีหลังคากันสาดโดยรอบ มุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาสีส้ม สีเขียว และสีเหลือง ในขณะที่หลังคาด้านสกัดเป็นกระเบื้องสีเขียวและสีเหลือง ทางทิศเหนือยังมีการต่อเติมหลังคากันสาดไม้ เพื่อกันแดดฝนให้บันไดทางขึ้น มุงหลังคาด้วยสังกะสีสีแดงประดับเชิงชายไม้ฉลุ ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้งประดับกระจก หน้าบันไม้ปิดทองขุดลายประดับกระจก เป็นรูปพันธุ์พฤกษา ส่วนด้านล่างหน้ากระดานฐานพระมีการประดับตกแต่งด้วยถ้วยชามกระเบื้องจีนลายครามบนผนังปูน
ส่วนห้องเก็บพระไตรปิฎก ฝ้าเพดานภายในเป็นไม้กระดานตีชิดทาสีน้ำมันสีฟ้าอ่อน ตีกรอบรอบด้วยไม้มอบฝ้าเพดานทาสีแดง พื้นภายในเป็นพื้นไม้กระดานปิดทับด้วยเสื่อน้ำมัน ผนังก่ออิฐฉาบปูนทาสีขาว ประตูและหน้าต่างเป็นแบบกรอบซุ้ม ช่องบานเปิดคู่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะตอนบนสอบเข้า บานประตูทำด้วยไม้ประดับตกแต่งด้วยลายรดน้ำรูปทวารบาลยืนบนหลังสิงห์ พื้นหลังเป็นกระหนกเปลวลายเถา บานหน้าต่างทำด้วยไม้ประดับตกแต่งด้วยลายรดน้ำทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ลายก้านแย่ง ทั้งกรอบประตูและกรอบหน้าต่างประดับด้วยปูนปั้นผูกลายด้วยดอกพุดตานโดยรอบ มีการติดตั้งเหล็กดัดเพิ่มเติมบริเวณวงกบหน้าต่างทางด้านในอาคารทุกชุด
ส่วนระเบียงชั้นบนโดยรอบห้องเก็บพระไตรปิฎก ลักษณะเป็นระเบียงเปิดโล่ง มีเสาก่อด้วยอิฐรับน้ำหนักจากหลังคาพาไลโดยรอบและพนักระเบียงอยู่ระหว่างแต่ละช่วงเสา รูปแบบเป็นระเบียงปูนกรุกระเบื้องปรุจีน ฝ้าเพดานเป็นไม้กระดานตีชนชิด ทาสีแดง ยึดกับโครงสร้างหลังคาส่วนท้องกลอน พื้นระเบียงเป็นพื้นไม้กระดานที่ในปัจจุบันได้เทปูนปิดทับไว้
รอยต่อระหว่างชั้นบนและชั้นล่างของอาคารภายนอกโดยรอบอาคาร ตกแต่งด้วยบัวปูนปั้น ลักษณะเป็นชุดหน้ากระดานบัวหงาย รับเสาและพนักระเบียงชั้นบน
บันได ตั้งอยู่ภายนอกอาคารด้านทิศเหนือ ทั้งขั้นบันไดและพนักราวบันไดเป็นงานก่ออิฐฉาบปูน ส่วนพนักบันได มีรูปแบบเดียวกันกับพนักระเบียงชั้นบน คือ เป็นงานก่ออิฐฉาบปูนตกแต่งด้วยบัวปูนปั้นและกระเบื้องปรุจีน
ชั้นล่างเป็นห้องโถงใต้ถุนสำหรับเก็บของ มีผนังรับน้ำหนักฉาบปูนทาสีขาวตั้งอยู่แนวเดียวกับผนังชั้นบน ส่วนหน้าต่างเป็นบานไม้ทาสีแดง ตำแหน่งที่ติดตั้งตรงกึ่งกลางแนวช่วงเสา
หลังคา กระเบื้องหลังคาชำรุด และบางส่วนสูญหาย สันนิษฐานว่าสืบเนื่องจากโครงหลังคาไม้ชำรุดเสื่อมสภาพ เนื่องจากปรากฏร่องรอยการโก่งตัวของแนวกระเบื้องหลังคาและเชิงกลอน ช่อฟ้าเดิมสูญหาย ๑ ตัว อีกตัวที่เหลืออยู่อยู่ในสภาพชำรุด ใบระกา หางหงส์และตัวลำยองชำรุดหมดสภาพ
หน้าบัน งานปิดทองประดับกระจกมัวหมอง พื้นทองหลุดล่อน กระจกสีบางส่วนหลุดหาย แต่ไม้หน้าบันยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี
ฝ้าเพดานภายนอก-ภายในและไขราหน้าจั่ว ฝ้าเพดานภายในทั้งหมดและไม้ฝ้าระเบียงอยู่ในสภาพค่อนข้างดี แต่มีการทาสีทับ ส่วนไม้ฝ้าชายคาและฝ้าไขราเปื่อยผุ สีซีดจาง
ผนังและเสา ผิวปูนฉาบภายในห้องชั้นบนหลุดล่อนบางส่วน ผิวปูนฉาบเสาภายนอกอาคารชั้นบนตอนล่างจนถึงชั้นล่างหลุดลอกจนเห็นถึงชั้นอิฐแทบทั้งหมด และเนื้ออิฐบางส่วนยังมีสภาพเปื่อยยุ่ยอันเนื่องมาจากปัญหาความชื้น
ประตู-หน้าต่าง บานประตูอยู่ในสภาพชำรุด เปิดปิดไม่สะดวก งานลายรดน้ำปิดทองลางเลือนโดยทั่วไป มีส่วนที่ทองหลุดล่อนหายไปจากการใช้งานในหลายจุด ส่วนบานหน้าต่างอยู่ในสภาพชำรุด เปิดปิดไม่สะดวก ลวดลายรดน้ำลางเลือนมีคราบดำปิดลายอยู่เป็นส่วนใหญ่ ลายปูนปั้นประดับกรอบประตูและหน้าต่างชำรุด หลุดร่วงไปเป็นบางส่วน เนื่องจากปัญหาความชื้นและตะปูที่ยึดปูนปั้นขึ้นสนิม ส่งผลให้ปูนปั้นแตกร้าว ผิวทองมัวหมองจึงได้มีการทาสีเหลืองทับไว้
พื้น พื้นภายในห้องชั้นบน เป็นพื้นไม้กระดานตีชิด ปัจจุบันถูกปูทับด้วยเสื่อน้ำมันทั้งหมด แต่โครงสร้างพื้นยังอยู่ในสภาพดี สันนิษฐานว่าใช้รอดไม้กลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖ นิ้วเช่นเดียวกับหอพระไตรปิฎกด้านเหนือ (คณะ ๘) ส่วนพื้นระเบียงชั้นบน มีการเทปูนซีเมนต์ทับลงบนพื้นไม้กระดาน ท้องพื้นไม้และโครงสร้างพื้นไม้เดิมอยู่ในสภาพเปื่อยผุ สีที่ทาไว้ซีดจาง
บันไดและพนักระเบียง พื้นขั้นบันไดมีคราบดำ พนักบันไดและพนักระเบียง ปูนฉาบหลุดร่อนเห็นถึงชั้นอิฐ กระเบื้องปรุอยู่ในสภาพสีถลอกหลุดลอกเป็นบางส่วน บันไดขั้นล่างสุดมีปูนซีเมนต์ก่อพอกไว้

แนวความคิดในการออกแบบบูรณะ
ต้องการรื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิมที่สมบูรณ์ของอาคารหอพระไตรปิฎก แก้ไขเหตุและปัจจัยแห่งการเสื่อมสภาพทั้งหมด ให้อาคารกลับมามีความงดงามดังเดิมตามเจตนารมย์ในการก่อสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชา ให้สามารถสื่อความหมายถึงความเป็นหอพระไตรปิฎก ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในส่วนสังฆาวาสของวัด เพื่อให้คงคุณค่าแบบอย่างสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่งดงามในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยรักษารูปทรงทางสถาปัตยกรรม การประดับประดา และการใช้วัสดุแบบดั้งเดิมไว้ รักษาฝีมือช่างดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด ในขณะที่ส่วนศิลปกรรมที่จำเป็นต้องทำใหม่จะเป็นการสืบสานงานช่างไทยให้คงอยู่ต่อไปจากของเก่าที่เป็นแบบอย่างไม่ให้ฝีมือด้อยเสื่อมลง ตลอดจนรักษาสภาพโดยรอบให้ใกล้เคียงและกลมกลืนกับความเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญไว้อย่างดีที่สุด ทั้งนี้ยังจะต้องคำนึงถึงการใช้งานและความสะดวกในการบำรุงรักษาในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต

รายละเอียดการบูรณะและปรับปรุงอาคาร
การเตรียมสถานที่
๑. จัดเตรียมแรงงาน เครื่องมือและอุปกรณ์ทำความสะอาดสถานที่ก่อสร้างตลอดระยะเวลาก่อสร้าง
๒. จัดเตรียมสถานที่ทิ้งเศษวัสดุและกองเก็บอุปกรณ์ซึ่งรื้อถอนออกจากสถานที่ก่อสร้าง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถขนย้ายออกได้ทั้งหมด ไม่มีการกองเก็บไว้ในสถานที่ก่อสร้างภายหลังการรื้อถอน
๓. จัดทำระบบป้องกันฝุ่นและอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ตามมาตรการป้องกันอันตรายและเหตุเดือดร้อนรำคาญในระหว่างการก่อสร้าง ตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด
๔. กำหนดขอบเขตพื้นที่ทำงานให้ชัดเจน พร้อมทั้งทำการป้องกันไม่ให้รถยนต์เข้ามาในพื้นที่ทำงาน เนื่องจากตัวอาคารตั้งอยู่ติดกับถนนภายในของวัด
๕. รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนเชื่อมต่อระหว่างหอพระไตรปิฎกกับกุฏิที่ตั้งอยู่ชิดกัน
๖. รื้อถอนท่อ สายและอุปกรณ์งานระบบอาคารเดิมที่ไม่ใช้งานหรือเสื่อมสภาพออกทั้งหมด และขนย้ายเศษวัสดุออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง
๗. ทำหลังคาคลุมส่วนทำงานที่อยู่ภายนอกอาคารและติดตั้งนั่งร้าน โดยไม่ให้กีดขวางการจราจรบริเวณถนนภายในวัด

งานบูรณะ
๑. งานหลังคา
๑.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๑.๒ สำรวจตรวจสอบ สรุปข้อมูลการเสื่อมสภาพ และชนิดของไม้ขององค์ประกอบต่างๆ
๑.๓ คลุมแผ่นพลาสติกทับบริเวณหน้าบันทั้ง ๒ ด้าน เพื่อป้องกันความเสียหายขณะทำการบูรณะงานหลังคา
๑.๔ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๑.๕ รื้อถอนกระเบื้องหลังคาเดิมออกทั้งหมด และขนออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง
๑.๖ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบโครงสร้างหลังคาภายหลังรื้อกระเบื้องหลังคา
๑.๗ รื้อถอนท่อ สายและอุปกรณ์งานระบบอาคารเดิมที่ไม่ใช้งานหรือเสื่อมสภาพออกทั้งหมด และขนย้ายเศษวัสดุออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง
๑.๘ ทำความสะอาดพื้นที่ใต้หลังคาและเหนือฝ้าเพดานทั้งหมด จากนั้นจึงขนย้ายเศษขยะและเศษวัสดุออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง
๑.๙ ซ่อมแซมโครงสร้างหลังคาไม้ส่วนที่ชำรุดแต่ยังพอใช้การได้ โดยให้คงสภาพกลอนสับของเดิมไว้ ทำการซ่อมปลี่ยนเฉพาะส่วนที่ชำรุด
๑.๑๐ เปลี่ยนชิ้นส่วนโครงสร้างหลังคาไม้ส่วนที่ชำรุดจนหมดสภาพการใช้งาน โดยใช้ไม้สัก ขนาดและรูปแบบตามแบบดั้งเดิม โดยให้เปลี่ยนไม้ระแนงใหม่ทั้งหมด ทาน้ำยากันปลวกและรักษาเนื้อไม้
๑.๑๑ เสริมความแข็งแรงโครงสร้างหลังคา และบริเวณจุดยึดโครงสร้างหลังคาไม้กับผนังอิฐก่อ
๑.๑๒ ติดตั้งงานระบบอาคารใหม่ สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลังคา
๑.๑๓ มุงกระเบื้องหลังคา โดยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาสีส้ม สีเขียว และสีเหลือง ตามลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนหลังคาด้านสกัดที่เดิมเป็น ๒ สี ให้ตับล่างเปลี่ยนเป็น ๓ สี เช่นเดียวกันกับด้านยาว ส่วนตับบนเป็นสีเขียวและสีเหลือง ๒ สี พร้อมจัดทำครอบปูนปั้นทับแนวกระเบื้องฉาบด้วยปูนหมักขัดผิวปูนตำ

๒. งานหน้าบันและเครื่องลำยอง
๒.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๒.๒ ทำแบบขยายสภาพปัจจุบันให้ครบทุกองค์ประกอบ
๒.๓ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๒.๔ ทำ Shop Drawing แบบบูรณะของหน้าบันและเครื่องลำยองทั้งหมด แสดงรายละเอียดสัดส่วน ลวดลายและการประดับกระจกสีตามแบบดั้งเดิมที่สมบูรณ์
๒.๕ ถอดเก็บช่อฟ้าเดิมไว้ เพื่อนำไปจัดแสดงนิทรรศการภายหลัง
๒.๖ ฟันช่อฟ้าใหม่ทั้ง ๒ ตัว โดยใช้ไม้สัก ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีตาม Shop Drawing
๒.๗ ทำความสะอาดและบันทึกภาพถ่ายสภาพหน้าบันก่อนการดำเนินการ
๒.๘ ซ่อมแซมงานไม้ในส่วนที่ชำรุด
๒.๙ ซ่อมแซมกระจกสีตกแต่งหน้าบันที่ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี
๒.๑๐ ประดับกระจกสีเพิ่มเติมในส่วนที่กระจกเดิมสูญหายไปตามแบบ
๒.๑๑ ส่วนงานปิดทองลงรักปิดทองใหม่ทั้งหมด
ขอให้ตรวจสอบไม้สำหรับทำเครื่องลำยองทั้งหมดที่ทางวัดได้จัดเตรียมไว้แล้วว่าใช้ได้หรือไม่ก่อนดำเนินการ การอนุรักษ์ส่วนหน้าบันจะดำเนินการโดยช่างฝีมือจากกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม สำนักโบราณคดี

๓. งานฝ้าเพดานภายนอก-ภายในและไขราหน้าจั่ว
๓.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๓.๒ ติดตั้งไม้อัดยางความหนาไม่น้อยกว่า ๑๐ มม. ซ้อนทับบานประตู-หน้าต่างไม้ และติดตั้งไม้อัดยาง ความหนาไม่น้อยกว่า ๑๐ มม โครงเคร่าไม้เนื้อแข็ง คลุมซุ้มประตู-หน้าต่างทั้งหมด เพื่อป้องกันความเสียหายขณะทำการบูรณะฝ้าเพดาน
๓.๓ ทำแบบขยายสภาพปัจจุบันเพิ่มเติมให้ครบทุกองค์ประกอบที่จำเป็น
๓.๔ ตรวจสอบข้อมูล สภาพและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น ๓.๕ ลอกสีน้ำมันที่ทาทับอยู่เดิมออกทั้งหมดด้วยน้ำยาลอกสี นำเสนอผลการตรวจสอบสีดั้งเดิมเพื่อกำหนดสีที่จะใช้
๓.๖ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของไม้ฝ้าเพดานเดิม
๓.๗ ดำเนินการซ่อมแซมงานไม้แผ่น รวมทั้งช่องเปิดฝ้าเพดานที่ชำรุด
๓.๘ ขัดแต่งผิว ทาสีรองพื้นและทาสีตามหลักฐานที่พบจากการตรวจสอบ

๔. งานผนังและเสา
๔.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๔.๒ ย้ายอัฐิที่เก็บรักษาอยู่ในหอพระไตรปิฎกปัจจุบัน
๔.๓ ติดตั้งไม้อัดยางความหนาไม่น้อยกว่า ๑๐ มม. ซ้อนทับบนบานประตู-หน้าต่างไม้ และติดตั้งไม้อัดยางความหนาไม่น้อยกว่า ๑๐ มม โครงเคร่าไม้เนื้อแข็ง คลุมซุ้มประตู-หน้าต่างทั้งหมด เพื่อป้องกันความเสียหายขณะทำการบูรณะผนังและเสา
๔.๔ เขียนแบบขยายลวดบัว ฐานผนัง สภาพปัจจุบันไว้ และทำเป็น Shop Drawing แบบบูรณะ
๔.๕ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๔.๖ สกัดผิวปูนซีเมนต์ที่ฉาบไว้เดิมและส่วนที่เสื่อมสภาพออกทั้งหมด และขนย้ายเศษวัสดุออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งนี้โดยเก็บรักษาระดับผิวปูนฉาบเดิมไว้เป็นระยะเพื่อใช้สำหรับอ้างอิงในงานบูรณะขั้นตอนการฉาบปูนใหม่ พร้อมทั้งเก็บปูนเดิมบริเวณเหนือกรอบประตู-หน้าต่างไว้
๔.๗ รื้อถอนท่อ สายและอุปกรณ์งานระบบไฟฟ้าเดิมที่ไม่ใช้งานหรือเสื่อมสภาพออกทั้งหมด
๔.๘ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของอิฐก่อและคานไม้ทับหลัง
๔.๙ ซ่อมแซมเสริมความมั่นคงที่รอยแตกร้าวของอิฐก่อ
๔.๑๐ ซ่อมเปลี่ยนอิฐก่อที่ชำรุดเสียหาย เปื่อยยุ่ยจนหมดสภาพการรับน้ำหนัก
๔.๑๑ ซ่อมเปลี่ยนคานไม้ทับหลังที่ชำรุด เสริมความแข็งแรงคานไม้ทับหลัง
๔.๑๒ ทำระบบตัดความชื้นด้วยคอนกรีตที่ส่วนเสารับระเบียงรอบอาคาร
๔.๑๓ จัดทำหรือติดตั้งงานระบบไฟฟ้าที่มีการผังท่อร้อยในผนัง
๔.๑๔ ฉาบผิวปูนใหม่ โดยใช้ปูนหมักขัดผิวปูนตำทั้งภายใน-ภายนอก (โดยไม่ใช้ซีเมนต์ขาว) ปั้นแต่งบัวปูนปั้นฐานผนังในจุดต่างๆ ตามรูปแบบ

๕. งานประตู-หน้าต่าง
๕.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๕.๒ เขียนแบบขยายสภาพปัจจุบันเพิ่มเติมให้ครบทุกองค์ประกอบที่จำเป็น
๕.๓ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๕.๔ ลอกผิวบานหน้าต่างด้านในส่วนที่มีการทาสีทับไว้ออกทั้งหมดจนถึงเนื้อไม้เดิม หรือชั้นสีที่มีความแข็งแรงเพียงพอ ตรวจสอบสีดั้งเดิม
๕.๕ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของงานไม้เดิม
๕.๖ รื้อถอดบานหน้าต่างออกจากที่เดิม และขนย้ายออกมาซ่อมแซม ณ สถานที่ซึ่งจัดเตรียมไว้
๕.๗ ดำเนินการซ่อมแซมงานไม้ของบานหน้าต่างและกรอบเช็ดหน้า (วงกบ) ที่ชำรุด
๕.๘ อนุรักษ์ลายรดน้ำบานประตูและหน้าต่าง ด้วยวิธีสงวนรักษา ทำความสะอาดและซ่อมแซมส่วนที่ขาดหายด้วยการลงรักปิดทอง โดยใช้รักแท้ เขียนลวดลายเสริมส่วนที่ชำรุดด้วยหอระดาน เช็ดรักและปิดทองลวดลายส่วนที่ชำรุดให้สมบูรณ์
๕.๙ ติดตั้งบานประตูและหน้าต่างกลับเข้ายังตำแหน่งเดิม ภายหลังการซ่อมแซมงานไม้เรียบร้อยแล้ว
๕.๑๐ ติดตั้งอุปกรณ์มือจับ กลอน และกุญแจ ตามแบบดั้งเดิม
การอนุรักษ์ลวดลายรดน้ำจะดำเนินการโดยช่างฝีมือจากกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม สำนักโบราณคดี

๖. งานซุ้มประตู-หน้าต่าง
๖.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๖.๒ ตรวจสอบแบบขยายสภาพปัจจุบันของลวดลายปูนปั้นทุกซุ้ม และวิเคราะห์ต่อเติมลายปูนปั้นให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยทดลองปั้นเป็นตัวอย่างให้ดูเพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน
๖.๓ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๖.๔ ทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดผสมแอมโมเนียมคาร์บอเนต ลอกสีเหลืองทองที่ทาทับซุ้มปูนปั้นออกทั้งหมดจนถึงผิวปูนด้านในด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหาย
๖.๕ บันทึกภาพถ่ายสภาพปูนปั้นภายหลังจากการลอกสีออก
๖.๖ เสริมความมั่นคง ซ่อมแซม และปั้นเสริมงานปูนปั้นในส่วนที่ชำรุดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามรูปแบบ
๖.๗ ลงรักปิดทองใหม่ทั้งหมด โดยใช้รักแท้และแผ่นทองคำเปลวแท้คัดอย่างดีให้เนื้อทองเป็นสีเดียวกัน
การอนุรักษ์ลวดลายปูนปั้นจะดำเนินการโดยช่างฝีมือจากกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม สำนักโบราณคดี ด้วยหลักการที่จะรักษาเนื้อวัสดุและฝีมือช่างเดิมไว้ให้มากที่สุด

๗. งานพื้น
๗.๑ พื้นภายในห้องชั้นบน
๗.๑.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๗.๑.๔ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของไม้พื้นเดิม
๗.๑.๕ ถอดรื้อพื้นไม้เดิมออก
๗.๑.๖ เรียงไม้พื้นใหม่ โดยใช้ระบบการเรียงรูปแบบเดิม ดำเนินการซ่อมแซมไม้ในส่วนที่เสื่อมสภาพเล็กน้อย และเปลี่ยนไม้ใหม่ ในส่วนที่ชำรุด โดยใช้ไม้สัก
๗.๑.๗ ขัดแต่งผิว ทาสีย้อมไม้ น้ำยารักษาเนื้อไม้ ที่พิจารณาเลือกหลังจากการศึกษาเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่างๆในท้องตลาดและวิธีการดั้งเดิม
๗.๒ พื้นระเบียงชั้นบน
๗.๒.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๗.๒.๒ สกัดปูนที่เททับบนพื้นไม้เดิมออก
๗.๒.๓ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของไม้พื้นเดิม
๗.๒.๔ ถอดรื้อพื้นไม้เดิมออก
๗.๒.๕ เรียงไม้พื้นใหม่ ภายหลังการเสริมความมั่นคง ซ่อมแซมโครงสร้างรับพื้นไม้ โดยใช้ระบบการเรียงในรูปแบบเดิม ดำเนินการซ่อมแซมไม้ในส่วนที่เสื่อมสภาพเล็กน้อย และเปลี่ยนไม้ใหม่ ในส่วนที่ชำรุด โดยใช้ไม้สัก
๗.๑.๖ ขัดแต่งผิว ทาสีย้อมไม้ น้ำยารักษาเนื้อไม้และเคลือบผิวไม้ ที่พิจารณาเลือกหลังจากการศึกษาเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่างๆในท้องตลาดและวิธีการดั้งเดิม
๗.๓ พื้นภายในห้องใต้ถุน
๗.๓.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๗.๓.๒ รื้อสุขภัณฑ์ห้องน้ำเดิม และพื้นเดิม ออกทั้งหมด
๗.๓.๓ ปูพื้นใหม่โดยใช้กระเบื้องดินเผาแกร่ง ตาม Shop Drawing แบบขยายที่ได้รับอนุมัติแล้ว
๗.๔ พื้นรอบนอกห้องใต้ถุน
๗.๔.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๗.๔.๓ รื้อฟื้นระดับพื้นดั้งเดิม โดยทำการสกัดพื้นปูน ผิวถนนปัจจุบันออก
๗.๔.๔ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบ วัดระดับและจัดทำแบบแสดงหลักฐานทางด้านโบราณคดีและสถาปัตยกรรมที่พบ และจัดทำแบบแสดงความเสียหายของโครงสร้างด้านล่างทั้งหมด
๗.๔.๕ ทำ Shop Drawing แบบบูรณะโครงสร้างด้านล่างที่พบ
๗.๔.๖ ดำเนินการซ่อมแซมโครงสร้าง ตามแบบบูรณะ
๗.๔.๗ ปูผิวพื้นใหม่ด้วยอิฐขนาดใหญ่ เท่าของดั้งเดิมตามที่ขุดพบ

๘. งานบันไดและพนักระเบียง
๘.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๘.๒ เขียนแบบขยายสภาพปัจจุบันเพิ่มเติมให้ครบถ้วน
๘.๓ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๘.๔ สกัดผิวปูนฉาบบริเวณพนักบันไดและพนักระเบียงออก ขนย้ายออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งนี้โดยเก็บรักษาระดับผิวปูนฉาบเดิมไว้เป็นระยะเพื่อใช้สำหรับอ้างอิงในงานบูรณะขั้นตอนการฉาบปูนใหม่ และระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายกับเครื่องถ้วยจีนประดับผนัง
๘.๕ สกัดบัวปูนปั้นที่ชำรุดเสื่อมสภาพออกทั้งหมด ทั้งนี้โดยเก็บรักษาระดับผิวปูนฉาบและบัวปูนปั้นเดิมไว้เป็นระยะเพื่อใช้สำหรับอ้างอิงในงานบูรณะขั้นตอนการฉาบปูนและปั้นบัวใหม่
๘.๖ รื้อถอนประตูไม้และพื้นไม้เดิมที่บริเวณชานพักบันได รื้อถอนบันไดปูนเข้าสู่ภายในหอไตรออกเปลี่ยนเป็นบันไดไม้ตามแบบบูรณะ
๘.๗ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของอิฐก่อภายหลังการรื้อถอน
๘.๘ รื้อถอนกระเบื้องปรุจีนที่ชำรุดจนหมดสภาพการใช้งานออก ส่วนกระเบื้องปรุเดิมที่ยังอยู่ในสภาพดี ให้นำไปจัดเก็บในที่ที่เตรียมไว้
๘.๙ ซ่อมรอยแตกร้าวของอิฐก่อ
๘.๑๐ ซ่อมเปลี่ยนอิฐก่อที่ชำรุดเสียหาย เปื่อยยุ่ยจนหมดสภาพการรับน้ำหนัก
๘.๑๑ ติดตั้งกระเบื้องปรุเดิมที่ยังอยู่ในสภาพดี รวมไว้ที่พนักระเบียงด้านทิศตะวันตก
๘.๑๒ ติดตั้งกระเบื้องปรุจีนที่จัดทำขึ้นใหม่ทดแทนของเดิม โดยให้ระบุปี พ.ศ. ที่ทำการซ่อมไว้ที่กระเบื้อง
๘.๑๓ ซ่อมแซมบัวปูนปั้นที่ชำรุดหรือปั้นใหม่เสริมให้สมบูรณ์
๘.๑๔ ฉาบผิวปูนใหม่ โดยใช้ปูนหมักขัดผิวปูนตำ
๘.๑๕ ซ่อมแซมลูกตั้ง ลูกนอนบันไดหรือแผ่นหินที่ชำรุด รื้อฟื้นระดับเดิมของลูกนอนขั้นบันไดล่างสุด
๘.๑๖ ติดตั้งประตูไม้ที่จัดทำขึ้นใหม่บริเวณชานพักบันได

๙. งานระบบอาคาร
๙.๑ ระบบไฟฟ้าแสงสว่างและเต้าเสียบ แก้ไขการเดินสายไฟและตำแหน่งมิเตอร์ไฟฟ้าในปัจจุบันที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยจัดทำ Shop Drawing ขออนุมัติก่อน
๙.๒ ระบบป้องกันอัคคีภัย จัดหาอุปกรณ์ดับเพลิง
๙.๓ ระบบป้องกันปลวก วางท่อไว้ใต้ดินเพื่อฉีดน้ำยา

รายละเอียดวัสดุ
ปูนที่ใช้ในการบูรณะ
เนื่องจากวัสดุปูนที่ใช้ ก่อ ฉาบ และใช้เป็นลวดลายประดับโบราณสถานนั้น เป็นปูนที่มีคุณภาพและเหมาะสม มากกว่าปูนที่ใช้ในปัจจุบัน จึงกำหนดให้ผู้รับจ้างใช้ปูนแบบโบราณ ซึ่งมีรายละเอียดโดย ทั่วไปดังนี้รายละเอียดปูนหมัก - ปูนตำ
- เทคนิคการเตรียมปูนหมัก ปูนตำ มีขั้นตอนและรายละเอียดดังนี้
ก. วัตถุดิบ ปูนดิบ คือปูนที่ได้จากการเผาหินปูน (CaCo3) ด้วยความร้อนสูง เพื่อไล่คาร์บอนไดออกไซด์ หินปูนจะแตกเป็นก้อน ๆ เรียกว่า ปูนดิบ (CaO)
ข. ปูนหมัก ให้นำปูนดิบมาดำเนินการดังนี้
ย่อยปูนดิบ ให้ทุบปูนดิบที่ได้ให้เป็นก้อนขนาดเล็ก ขนาดไม่ใหญ่กว่า f ๕ ซม. เพื่อลด
ปฏิกิริยาเคมีในขณะหมัก
การหมักปูน
บ่อหมัก ให้ก่อบ่อหมักที่แข็งแรงด้วยการก่อผนังอิฐฉาบปูน โดยให้มีปริมาณ
บรรจุตามความเหมาะสม และสะดวกในการนำกลับมาใช้
การหมัก ให้นำปูนดิบที่ย่อยแล้วใส่ในภาชนะ เช่น ถัง ตามปริมาณที่ต้องการ ไป
ครั้งที่ ๑ วางในบ่อหมัก ใส่น้ำจืดที่สะอาดลงไปในบ่อให้น้ำมีระดับท่วมสูงกว่าปูนดิบไม่น้อยกว่า ๑” หลังจากนั้น จะเกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรง น้ำจะมีอุณหภูมิถึงจุดเดือดและปูนดิบจะแตกตัวจนละเอียด ทิ้งไว้จนกว่าปฏิกิริยาจะหยุด น้ำในบ่อจะแห้งจนเหลือปูนขาวเหนียว (CaO2H2)
ครั้งที่ ๒ การหมัก ให้นำปูนขาวเหนียวที่ได้ขึ้นจากบ่อ ล้างน้ำ ร่อนผ่านตะแกรงขนาด ๕ X ๕ ตร.มม เพื่อเอาเศษวัสดุก้อนปูนขาวขนาดใหญ่ และปูนที่ ไม่เกิดปฏิกิริยาออก นำปูนที่ได้ไปหมักในบ่ออีกครั้งหนึ่ง โดยควรดูแลรักษาระดับน้ำให้ท่วมปูน อยู่ในระดับไม่น้อยกว่า ๑” ทิ้งไว้อย่างน้อย ๒ สัปดาห์ เรียกปูนนี้ว่า ปูนหมัก เมื่อจะนำปูนไปใช้ให้ถ่ายน้ำปูนออก น้ำปูนที่ถ่ายออกสามารถนำไปสลัดใส่ผนังที่จะทำการฉาบ เพื่อเร่งผลให้ปูนฉาบแข็งตัวเร็วขึ้นได้
ค. ปูนตำ ใช้ในการอนุรักษ์ลวดลายปูนปั้น มีวัสดุดังนี้
- ปูนหมัก
- กระดาษสา หรือกระดาษฟาง
- น้ำ และวัสดุอื่น ๆ เช่น น้ำตาลอ้อย
มีขั้นตอนดังนี้
- ตากปูนหมัก ให้นำปูนหมักมาปั้นเป็นก้อน ขนาดประมาณ f ๔” นำไปตากแดดประมาณ ๑ วัน จนปูนหมักแห้ง
- การตำ ให้นำปูนที่ตากแห้งแล้ว ไปตำในครกด้วยไม้ แล้วใส่กระดาษสา หรือกระดาษฟาง ตำให้เนื้อปูนกับเนื้อกระดาษผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ใส่น้ำพอประมาณให้เนื้อปูนเหนียวพอเหมาะแก่การนำไปใช้
- การหมัก นำปูนตำที่ได้ใส่ถุงพลาสติก ขนาดพอเหมาะ มัดให้แน่น ไม่ให้อากาศเข้า แล้วนำไปแช่ในภาชนะใส่น้ำให้ท่วม หมักต่อไปอีกอย่างน้อย ๒ อาทิตย์ จึงสามารถนำไปใช้ได้
- เทคนิคการนำไปใช้
ปูนฉาบ ประกอบด้วยส่วนผสม ๒ ประเภท ดังนี้
- ปูนฉาบ ชั้นที่ ๑-๒ ส่วนผสม ปูนหมัก ๒ ส่วน ทราย ๕ ส่วน โดยปริมาตร
- ปูนฉาบ ชั้นที่ ๓ และชั้นผิวนอก ส่วนผสม ปูนหมัก ๑ ส่วน ทราย ๓ ส่วน โดยปริมาตร
การฉาบ
หลังจากจัดเตรียมส่วนผสม (ผสมน้ำกาว และน้ำอ้อย หรือน้ำตาล หากมีความจำเป็นตามเทคนิคโบราณ) ให้มีความเหนียว ความข้น พอเหมาะแล้ว ในการฉาบชั้นที่ ๑-๓ ให้ฉาบหนาประมาณ ๙-๒๐ มม. ตามความเหมาะสม ส่วนการฉาบผิวนอก ให้ฉาบเรียบหนาประมาณ ๒-๓ มม. เท่านั้น โดยให้ประพรมน้ำด้วยการสเปรย์วันละ ๔-๑๒ ครั้ง เพื่อหน่วงเวลาการแข็งตัวของปูน ไม่ให้แข็งเร็วจนเกินไป การฉาบแต่ละชั้นควรเว้นระยะเพื่อให้การหดตัวในระยะแรกผ่านไปก่อนฉาบชั้นต่อไปควรตรวจสอบการยึดเกาะและกำลังด้วย
ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นการฉาบบนผิวคอนกรีตปูนซีเมนต์ขาวจึงให้มีการผสมปูนซีเมนต์ขาวในส่วนผสมปูนตำที่ผิวนอกด้วย
ปูนโครงสร้าง ให้ใช้อัตราส่วนดังนี้
ปูนซีเมนต์ขาว : ทราย : หิน = ๑ : ๒ : ๔
รายละเอียดอื่น ๆ ให้เป็นไปตามรายการประกอบแบบมาตรฐานของกรมศิลปากร

เทคนิคการซ่อมแซมและอนุรักษ์ปูนปั้น ปูนฉาบ
๑. ทำความสะอาดรอยขอบปูนฉาบ ด้วยแปรงขนอ่อนและน้ำสะอาด
๒. กะเทาะปูนส่วนขอบ ที่หมดสภาพออก
๓. กะเทาะปูนส่วนที่โป่ง พอง ผิวปูนไม่ติดผิวอิฐออก
๔. พรมน้ำจืด ให้ผิวปูนและอิฐชุ่มน้ำพอหมาด
๕. ฉาบปูนหมัก ปูนตำ ตามสูตรที่กำหนด ตามรอยขอบกว้างประมาณ ๑ นิ้ว หนาน้อยกว่าปูนเดิม ประมาณ ๒ ม.ม.
การดำเนินการในส่วนนี้เป็นงานละเอียดประณีต ผู้รับจ้างต้องแจ้งผู้ควบคุม งานล่วงหน้าก่อนดำเนินการ โดยการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานการอนุรักษ์

กรณีที่ปูนฉาบมีหลักฐานร่องรอยที่มีความสำคัญเป็นพิเศษในทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือศิลปกรรม (ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะผู้ออกแบบ) ให้ดำเนินการอนุรักษ์ตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการอนุรักษ์ที่ได้มาตรฐานของกรมศิลปากร ดังต่อไปนี้
๑. ถ่ายภาพบริเวณที่จะทำการอนุรักษ์ไว้โดยละเอียด ก่อนดำเนินการเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
๒. ทำความสะอาดผิวขจัดคราบสกปรกด้วยน้ำสะอาดและแปรงขนอ่อน
๓. เสริมความมั่นคงให้ผิวปูนที่แตกตัวจากอิฐก่อด้วยการฉีดกาวผสมปูนหมักเชื่อม
๔. ใช้เคมีภัณฑ์ป้องกันและขจัดพืช และวัชพืช
๕. ใช้เคมีภัณฑ์ป้องกันเชื้อรา
๖. ยึดขอบผิวปูนฉาบที่ชำรุด ด้วยปูนหมัก ปูนตำ
๗. เสริมความมั่นคงผิวปูนบางแห่งด้วยแกนเหล็กไร้สนิม (วิศวกรและนักอนุรักษ์เป็นผู้กำหนดรายละเอียด)
๘. อาบสารป้องกันการซึมของน้ำ
๙. เสริมกาวสารสังเคราะห์ เพื่อให้ผิวปูนฉาบและอิฐแข็งแรง
๑๐. ถ่ายภาพขั้นตอนระหว่างการดำเนินงานและหลังการดำเนินงานโดยละเอียด
มาตรฐานวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามรายการมาตรฐานการก่อสร้างอาคารของกรมศิลปากร

จากกรรมาธิการอนุรักษ์ฯ ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี

ขอรายงานข่าวความคืบหน้าในโครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก วัดเทพธิดารามวรวิหาร หลังจากในคราวก่อนที่ได้รายงานยอดเงินทำบุญผ้าป่าอาษาสามัคคี เพื่อนำไปสมทบงบประมาณในการบูรณะปฏิสังขรณ์ หอพระไตรปิฎก จากในส่วนสมาชิกและเครือข่ายการอนุรักษ์ของสมาคม รวมทั้งกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในงานวันนั้นที่เกี่ยวเนื่องกับวันสุนทรภู่ไปแล้ว ทางด้านความพร้อมของงบประมาณของโครงการ กรมศิลปากรยังได้ให้การสนับสนุนเจตนารมย์อันเป็นกุศลของเราด้วยการอนุมัติเงินอุดหนุนให้อีกในจำนวน 4.7 ล้านบาท โดยนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ได้ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีโครงการอนุรักษ์โบราณสถานที่ริเริ่มโดยองค์กรอื่น ถือเป็นตัวอย่างที่ดีจึงได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในขณะที่ทางวัดเทพธิดารามเองก็มีเงินทุนและวัสดุก่อสร้างจัดเตรียมไว้จำนวนหนึ่งแล้ว

สำหรับแบบอนุรักษ์หอพระไตรปิฎกซึ่งเป็นผลการดำเนินงานของเหล่าอาสาสมัครนั้น ทางกรรมาธิการได้นำเสนอขออนุมัติต่อกรมศิลปากรด้วยเหตุที่เป็นการดำเนินการกับอาคารที่เป็นโบราณสถานเรียบร้อยแล้ว เป็นขั้นตอนที่มีการพิจารณาโดยคณะกรรมการวิชาการเพื่อการบูรณะโบราณสถาน ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสายวิชาชีพต่างๆ ทั้งสถาปนิก ภูมิสถาปนิก วิศวกร นักโบราณคดี ช่างศิลปกรรม อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และตัวแทนจากภาคประชาชน ทั้งนี้กรมศิลปากรได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณามายังสมาคมแล้วตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2552

มีเนื้อความอนุญาตให้สมาคมสถาปนิกสยามฯ ดำเนินการบูรณะหอพระไตรปิฎกวัดเทพธิดารามวรวิหาร ตามแบบที่นำเสนอมาได้ ซึ่งจะเป็นการซ่อมแซมให้อาคารกลับคืนสู่รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีแบบดั้งเดิม โดยรื้อถอนส่วนต่อเติมหรือที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในยุคหลังออกไป และมีการแก้ไข เสริมความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง สำหรับงานศิลปกรรมการตกแต่งต่างๆ เช่น ลายรดน้ำที่บานประตู หน้าต่าง การปิดทองประดับกระจกที่หน้าบัน และลวดลายปูนปั้นทั้งหมด จะรักษาเนื้อวัสดุและฝีมือช่างของเดิมไว้ให้มากที่สุด โดยในส่วนนี้ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม สำนักโบราณคดี มาเป็นผู้กำกับดูแล ทั้งนี้ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ส่งรายละเอียดของแบบมาให้กรมศิลปากรพิจารณาอีกครั้งด้วย แบบในส่วนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งเราหวังว่าจะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องหลังจากงานบูรณะ

พร้อมๆกันกับการรอคอยที่จะได้เริ่มลงมือบูรณะอย่างเป็นรูปธรรมที่อาสาสมัครจะได้กลับมาลงพื้นที่อีกครั้งในเร็ววันนี้ ในการจัดเก็บข้อมูลทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน คณะทำงานของโครงการอีกส่วนหนึ่งจะได้รวบรวมข้อมูลศึกษารูปแบบและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับหอไตรและสถาปัตยกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเติมเต็มข้อมูลทางวิชาการด้านสถาปัตยกรรมในโครงการให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งคงจะได้มีการเสวนาวิชาการและกิจกรรมนำชมการดำเนินการบูรณะที่วัดเทพธิดารามอีกดังเช่นที่เราได้จัดขึ้นในช่วงของการสำรวจทำแบบเมื่อปีก่อน ซึ่งจะได้แจ้งให้สมาชิกได้ทราบอีกครั้ง

และขอย้ำว่าเรายังไม่ได้ปิดรับทั้งอาสาสมัครและเงินทำบุญที่จะมาร่วมสมทบในการอนุรักษ์สถาปัตกรรมไทยประเพณีในครั้งนี้ หากสมาชิกท่านใดต้องการมีส่วนร่วมนอกจากจะสมัครมาร่วมงานกันก็ยังคงโอนเงินสนับสนุนเข้ามาได้ ที่บัญชี “วัดเทพธิดารามวรวิหาร (บูรณะหอพระไตรปิฎกคณะ5)” บัญชีเลขที่ 037-2-37600-7 ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนมหาไชย และหากต้องการอนุโมทนาบัตรเพื่อลดหย่อยภาษี (ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป) โปรดติดต่อคุณวราภรณ์ ฝ่ายเลขานุการโครงการ โทร. 0 2628 8288 email : asatemple@gmail.com

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บันทึกภาพจากเส้นทางสายแพรไหม Images from the Silk Road (from Kashgar to Xi’an)

(จากโครงการเสวนาสัญจรของอิโคโมสไทยครั้งที่ ๒๔ เส้นทางวัฒนธรรมสู่นครฉางอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ ๔-๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒)๑. จากเมืองไทยเราแวะต่อเครื่องที่ซีอานเพื่อมุ่งสู่อูรุมฉีเมืองหลวงของมณฑลซินเจียงเป็นจุดแรก ที่นี่มีภูเขาเทียนชานและทะเลสาบเทียนฉือที่ได้ชื่อว่างามดุจสวรรค์ วันนี้น้ำในทะเลสาบเป็นน้ำแข็งสีขาวโพลนเป็นของแปลกอย่างแรกที่เราได้พบในทริปนี้
Tian Chi Lake (Heavenly Lake), Urumqi
๒. หลังชมความงามทางธรรมชาติและบ้านกระโจมพื้นถิ่นของชาวคาซัค ก็ได้มาชมพิพิธภัณฑ์แห่งเขตปกครองตนเองซินเจียงที่ผู้เชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์เปิดให้เราเข้าชมห้องมัมมี่แห่งโลวลานเป็นกรณีพิเศษ นอกจากเรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆที่น่าสนใจมาก
Xinjiang Museum, Urumqi
๓. จากอูรุมฉีเราเดินทางสู่คาสการ์ และนั่งรถอีกครึ่งวันผ่านทะเลทรายต่อมายังชายแดนปลายสุดประเทศจีนต่อปากีสถานที่ทะเลสาบการากูลิ ที่นี่มีอูฐเดินอยู่บนทะเลสาบน้ำแข็งให้ขี่แอ็คท่าถ่ายรูป (ไม่ต้องจ่ายค่าลงอย่างที่อิยิปต์) ต้องไม่ลืมว่าการมาเยี่ยมชมเส้นทางสายไหมคราวนี้ได้คุณภัคพดี นักโบราณคดี กรมศิลปากรเป็นผู้นำมา
Ms.Pakpadee at Karakul Lake, close to Pakistani border

๔. ที่คาสการ์ชาวเมืองร้อยละ๙๐ คือชาวเวคเกอร์(Uygur) เป็นมุสลิม เราเลยมาสวมหมวกเดิมชมตลาดกลางเมืองแหล่งรวมวิถีชีวิตพื้นถิ่น และไปมัสยิดกัน ที่นี่คือมัสยิด Id Kah ใหญ่ที่สุดในซินเจียง
Id Kah Mosque, Kashgar historic center

๕. เดินทางต่อมาตามเส้นทางสายไหม ผ่านทะเลทรายโกบี ที่แม้แต่หญ้าอูฐก็ไม่ขึ้น ดั้นด้นฝ่าพายุทรายมาจนถึงเมืองโบราณมรดกโลกเจียวเหอใกล้กับทูรูฟาน มีวัดในศาสนาพุทธเป็นศูนย์กลาง เช่นเดียวกับเมืองเกาชาง อีกเมืองที่เรานั่งรถเทียมลาเข้าไปชม มีบันทึกว่าพระถังซัมจั๋งเคยมาพำนักแสดงธรรมที่นี่ด้วย
Jiaohe : world heritage site, Turpan
๖. คืนนั้นเรานอนบนรถไฟชั้น๑ มาเช้าที่เจียยู่กวนเมืองป้อมปราการสมัยราชวงศ์หมิงที่ไกด์ว่าเป็นของใหม่อายุแค่ ๗๐๐ ปี ที่นี่คือปลายสุดกำแพงเมืองจีนทางตะวันตกของจีน พวกเราที่มาจาก “นอกด่าน” จะได้ศิวิไลซ์กันเสียที
Jiayuguan Fort, the West Gate of China
๗. มาพักที่ตุงหวง เมืองโอเอซิสจุดยุทธศาสตร์แห่งเส้นทางสายไหม เป็นจุดสุดท้ายที่จะจัดหาเสบียงสำหรับการเดินทางในทะเลทรายได้ จึงมีการสร้างวัดขึ้นมากมายเพื่อขอพร หรือแก้บนที่กลับมาได้โดยสวัสดิภาพ เบื้องหลังของเราคือถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาถ้ำที่ยังเหลืออยู่หลายร้อยถ้ำของแหล่งถ้ำมาเกา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่และจิตรกรรมฝาผนังอัปสราเหิรที่งดงามมาก
Mogao Grottoes, Dunghuang
๘. เราเดินทางลัดฟ้ากลับเข้าสู่ซีอาน หรือ ฉางอานในสมัยราชวงศ์ถัง ที่วัดเจดีย์ห่านป่าใหญ่นี้คือจุดกำเนิดของตำนานพระถังซัมจั๋ง ผู้ใช้เส้นทางสายไหมบางส่วนในการเดินทางสู่อินเดีย ที่ซีอานมีอะไรให้ดูมากมายทั้งวัด พิพิธภัณฑ์ สุสาน และมัสยิดในรูปแบบสถาปัตยกรรมจีน
The Big Wild Goose Pagoda, Xi’an
๙. ถ้าใครดูพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิคที่ปักกิ่งอาจจะพอจำตุ๊กตายักษ์ ๒ ตัวนี้ได้ วันนี้เขานำมาตั้งไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพทหารดินเผาของสุสานจักรพรรดิ์จิ๋นซี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อมรดกวัฒนธรรมอันสูงค่าของเขาไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่
Marionettes : Warrior & Little Girl, Emperor Qin Shihuang’s Terracotta Army Museum, Xi’an
๑๐. โอกาสที่พิเศษสุดในการเดินทางในครั้งนี้ได้แก่มิตรภาพที่เราได้รับจากการเข้าเยี่ยมชม ICOMOS International Conservation Center แห่งซีอาน หรือ IICC-X ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเจดีย์ห่านป่าเล็ก เป็นการพบปะครอบครัวอิโคโมสเพื่อสานต่อการทำงานในลักษณะเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมแบบไร้พรมแดน ซึ่งในครั้งนี้ ดร.Shao Zhenyu ผู้อำนวยการฝ่ายเลขานุการของศูนย์เป็นตัวแทนให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี คุณ Chen Bin ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารและฝึกอบรมได้แนะนำความเป็นมาของศูนย์และกิจกรรมในโครงการต่างๆที่กำลังดำเนินการอยู่ เช่น การศึกษาจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารสำหรับการเสนอ “เส้นทางสายไหม”ขึ้นเป็นมรดกโลก และมีคุณ Zhao Fengyan เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการด้านโลหะ และกระดูกมนุษย์ ช่วยเป็นล่ามตลอดช่วงการเสวนา ซึ่งหวังว่าเราคงจะได้ต้อนรับพวกเขาที่เมืองไทยบ้างในโอกาสต่อไป
Warm welcome at IICC-X (ICOMOS International Conservation Center), the Small Wild Goose Pagoda Park, Xi’an

มรดกโลกทางวัฒนธรรม World Cultural Heritage

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ยูเนสโก (UNESCO) ศูนย์มรดกโลก (World Heritage Center) คณะกรรมการมรดกโลก
ผู้ประเมินมรดกโลกทางธรรมชาติ IUCN
ผู้ประเมินมรดกโลกทางวัฒนธรรม อิโคโมส (ICOMOS) หรือ สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites)
กรมศิลปากร สมัครเป็นสมาชิก อิโคโมส และจัดตั้งอิโคโมสไทยขึ้นในลักษณะองค์กรอิสระสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
กรมศิลปากร เป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลกของไทย

ข้อมูลแหล่งมรดกโลก (ถึงปี ๒๐๐๙)
ประเทศสมาชิกอนุสัญญา ๑๘๖ ประเทศ
แหล่งมรดกโลกขึ้นบัญชีแล้วใน ๑๔๘ ประเทศ
มีจำนวนแหล่งมรดกโลกทั้งสิ้น ๘๙๐ แหล่ง ประกอบด้วย มรดกโลกทางวัฒนธรรม ๖๘๙ แหล่ง
ทางธรรมชาติ ๑๗๖ แหล่ง และแบบผสม ๒๕ แหล่ง

World Heritage List : Thailand
1. Historic City of Ayutthaya (1991)
2. Historic Town of Sukhotai and Associated Historic Towns (1991)
3. Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries (1991)
4. Ban Chiang Archaeological Site (1992)
5. Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex (2005)

อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ
Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage
รับรองในการประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ ๑๗ ของยูเนสโก ปารีส ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๗๒ (พ.ศ.๒๕๑๕)
จากชื่อจะเห็นว่าเน้นเป้าหมายเพื่อการปกป้องคุ้มครอง
ข้อ ๑ คำจำกัดความ
มรดกทางวัฒนธรรม
a.Monuments b.Group of Buildings c.Sites
มีคุณค่า Outstanding Universal Value
คุณค่าทางสุนทรียภาพ ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ทางวิชาการ และทางสังคม
สำหรับกลุ่ม b ได้พิจารณารวมถึง Groups of Urban Buildings
และสำหรับกลุ่ม c ได้พิจารณารวมถึงสิ่งที่เรียกว่า Cultural Landscape
(ขยายความตาม Operational Guidelines)
ข้อ ๔ – ๗ หลักประกันในการคุ้มครองป้องกัน การอนุรักษ์ มาตรการในการจัดการ การรักษาคุณค่า โดยเจ้าของมรดกทำเอง หรือ อาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ
ให้มีการกำหนด Core Zone, Buffer Zone (พื้นที่กันชน) และจัดทำแผนบริหารจัดการ
ข้อ ๘ คณะกรรมการมรดกโลก ๒๑ ชาติ
และที่ปรึกษา ได้แก่ ICCROM ICOMOS IUCN คณะกรรมการมรดกโลกของรัฐภาคี
(มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญมากพอด้านมรดก)
ข้อ ๑๑ การบรรจุในบัญชีมรดกโลกต้องได้รับการยินยอมจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง
กรณีมีที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตมากกว่าหนึ่งรัฐ และต้องไม่เป็นเหตุให้เกิดการโต้แย้งจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง
บัญชีมรดกโลกในภาวะอันตราย World Heritage in Danger
(ปัจจุบัน มี ๓๑ แหล่ง โดยเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ๑๖ แหล่ง)
ข้อ ๑๔ สำนักงานคณะกรรมการมรดกโลก แต่งตั้งโดยผู้อำนวยการยูเนสโก
ข้ออื่นๆ เงินกองทุน และการขอความช่วยเหลือ ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ การอบรม

"Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention"
แนวทางปฏิบัติ...Operational Guidelines... ระบุไว้ในข้อ ๖๔ ว่า
ในการเตรียม รายชื่อชั่วคราวของแหล่งที่จะเสนอ (Tentative List) เน้นการมีส่วนร่วม
ขอให้ประเทศภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดการแหล่ง หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นและภูมิภาค ชุมชนท้องถิ่น องค์กรอิสระ และภาคส่วนอื่นๆที่สนใจ
ข้อ ๗๗ Outstanding Universal Value (OUV)

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
I. represent a masterpiece of human creative genius; or
เป็นผลงานชิ้นเอกที่แสดงอัจฉริยภาพในทางสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ หรือ

II. exhibit an important interchange of human values over a span of time or within a cultural area of the world, on developments in architecture or technology, monumental arts, town-planning or landscape design; or
แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ข้ามช่วงเวลา หรือภายในเขตพื้นที่วัฒนธรรมใดใดในโลก ในด้านพัฒนาการทางสถาปัตยกรรม หรือ เทคโนโลยี งานศิลปะขนาดใหญ่ การวางผังเมือง หรืองานออกแบบทางภูมิทัศน์ หรือ

III. bear a unique or at least exceptional testimony to a cultural tradition or to a civilization which is living or which has disappeared; or
เป็นพยานหลักฐานเพียงหนึ่งเดียว หรืออย่างน้อยเป็นอันที่สำคัญยิ่งของประเพณี หรือ อารยธรรมที่ยังดำรงอยู่ หรือที่ได้สูญหายไปแล้ว หรือ

IV. be an outstanding example of a type of building or architectural or technological ensemble or landscape which illustrates (a) significant stage(s) in human history; or
เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของรูปแบบอาคาร หรือ สถาปัตยกรรม หรือเทคโนโลยี หรือ ภูมิทัศน์ ซึ่งแสดงถึงยุคสมัยใดที่สำคัญ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หรือ

V. be an outstanding example of a traditional human settlement or land-use which is representative of a culture (or cultures), especially when it has become vulnerable under the impact of irreversible change; or
เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตามประเพณี หรือ ของการใช้ที่ดินที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมหนึ่งหรือหลายวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้กลายเป็นสิ่งที่เปราะบางภายใต้ความกดดันของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคืนสภาพได้อีก หรือ

VI. be directly or tangibly associated with events or living traditions, with ideas, or with beliefs, with artistic and literary works of outstanding universal significance
มีความเกี่ยวข้องโดยตรงหรือสัมผัสได้กับเหตุการณ์ หรือประเพณีที่ยังสืบต่อกันมา หรือกับความคิด หรือความเชื่อ กับงานศิลปะ และวรรณกรรมที่มีความโดดเด่นสำคัญเป็นเลิศ
ข้อ ๗๘ มรดกที่มีคุณค่าจะต้องมีความเป็นของแท้ ความครบถ้วน และมีการคุ้มครอง แผนการจัดการที่เหมาะสม

เกณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ชี้วัดคุณค่าทางวัฒนธรรม
ความเป็นของแท้ (Authenticity) และความครบถ้วน (Integrity)
ความเป็นของแท้ ตามที่อ้างอิงจาก The Nara Document on Authenticity 1994 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยสากลนับตั้งแต่การลงมติในที่ประชุมมรดกโลก ครั้งที่ ๑๘ ซึ่งจัดขึ้นที่ภูเก็ต ประเทศไทย ในปี ค.ศ.๑๙๙๔ นั้น ระบุว่า “การตัดสินใจความเป็นของแท้ สามารถเชื่อมโยงได้กับคุณค่าของโบราณสถานที่หลากหลายของแหล่งที่มาของข้อมูลด้วยเหตุที่ความเป็นของแท้นั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของมรดกทางวัฒนธรรมและบริบททางวัฒนธรรม ซึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลายเช่นกัน ได้แก่ รูปทรง แนวคิดในการออกแบบ วัสดุ การใช้งาน ประโยชน์ใช้สอย ประเพณี และเทคนิค สถานที่ตั้ง และสภาพโดยรอบ จิตวิญญาณ และความรู้สึก การใช้แหล่งข้อมูลดังกล่าวจะนำมาซึ่งการศึกษามรดกทางวัฒนธรรมทั้งในเรื่องของศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ สังคม และวิชาการ”
โดยทั่วไปการตรวจสอบระดับความเป็นของแท้ของมรดกสิ่งก่อสร้าง อาจแบ่งออกได้เป็น
ความเป็นของแท้ ของการออกแบบ รวมความถึงลักษณะหรือองค์ประกอบที่แสดงถึงการออกแบบทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และประโยชน์การใช้สอย ให้ตรวจสอบว่ารูปแบบ รูปทรง ลักษณะการออกแบบของมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ยังคงเป็นแบบดั้งเดิม ยังมีความเป็นของแท้หรือไม่
ความเป็นของแท้ของวัสดุ ได้แก่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร ให้ตรวจสอบว่ายังมีส่วนที่เป็นวัสดุเดิมของแท้ มากน้อยเพียงใด มีการใช้วัสดุใหม่โดยเคารพต่อวัสดุดั้งเดิมด้วยการทำให้สามารถแยกแยะได้หรือไม่
ความเป็นของแท้ของฝีมือช่าง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้างและการตกแต่ง แสดงถึงเทคนิควิธีการของช่างที่ใช้ในการก่อสร้าง ประดับประดา ตลอดจนการอนุรักษ์ ให้ตรวจสอบว่าฝีมือช่างของแท้ยังคงเห็นได้อยู่หรือไม่ ในปริมาณมากน้อยเพียงใด
ความเป็นของแท้ของสภาพโดยรอบ (Setting) คือ แหล่งที่ตั้งและสภาพโดยรอบของมรดกสิ่งก่อสร้าง ยังคงมีความเชื่อมต่อกับช่วงเวลาของการก่อสร้างมรดกสิ่งก่อสร้าง ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ หรือ เมืองโบราณนั้นหรือไม่ ให้ดูว่าสภาพโดยรอบนั้นยังมีลักษณะที่สัมพันธ์กับมรดกสิ่งก่อสร้างอยู่หรือไม่
นอกจากลักษณะทางกายภาพ ยังรวมถึงความเป็นของแท้ของ ประโยชน์ใช้สอย ประเพณี ภาษา วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จิตวิญญาณ ความรู้สึก
ความครบถ้วน ในที่นี้หมายถึงความครบถ้วนขององค์ประกอบของโบราณสถานที่ผสานกลมกลืนกัน ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและองค์ประกอบของสภาพโดยรอบที่มีความเกี่ยวข้องกันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วย การจะพิจารณาว่า อาคารหรือมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นๆ มีคุณค่าหรือไม่ นอกจากจะวัดด้วยความเป็นของแท้แล้วจึงต้องตรวจสอบด้วยว่าได้มีการพิจารณาครอบคลุมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับแหล่งนั้นอย่างครบถ้วนหรือยัง มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่โบราณสถานที่สอดคล้องกับคุณค่าของสิ่งก่อสร้างนั้นหรือไม่
คุณภาพของข้อมูล (Quality)
นอกจากนี้จากกรณีของมรดกสิ่งก่อสร้างที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพไปจากรูปแบบดั้งเดิม ด้วยการดำเนินการในอดีตไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหรือรื้อถอนเพื่อการใช้สอย ตามสมัยนิยม หรือตามความต้องการของผู้ครอบครองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลอดจนการอนุรักษ์ หรือการปฏิสังขรณ์รื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิมกลับมาอีกครั้ง การที่จะพิจารณาว่าลักษณะแห่งการก่อสร้างของอาคาร มีประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดีหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือและความครบถ้วนของข้อมูล การบันทึกสภาพ หลักฐานที่มีอยู่ก่อนการดำเนินการ คุณภาพของข้อมูลหลักฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อรื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิม แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับโดยสากลดังปรากฏในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมและกฎบัตรต่างๆ เช่น “...(Reconstruction is acceptable if it is carried out on the basis of complete and detailed documentation on the original and to no extent on conjecture.)“ จาก ความเห็นของคณะกรรมการมรดกโลก ปรากฏใน Management Guidelines for World Cultural Heritage Sites

มาตรการในการรักษาคุณค่าของมรดก
การคุ้มครอง (Protection) และ การจัดการ (Management)
มาตรการทางกฎหมาย ข้อบัญญัติ กฎระเบียบต่างๆ เช่น พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ข้อบัญญัติท้องถิ่นต่างๆ ระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน
การกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่จะปกป้องคุ้มครอง Boundaries - Core Zone (สผ. เรียก พื้นที่สงวน)
Buffer Zone เขตพื้นที่โดยรอบพื้นที่มรดกที่มีการควบคุมเพื่อปกป้องคุณค่าของมรดก (สผ.เรียก พื้นที่อนุรักษ์)
การวางระบบการจัดการ เช่นการจัดทำแผนบริหารจัดการ แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนา

ข้อ ๑๑๙ (ข้อสุดท้าย) ย้ำในเรื่อง การใช้สอยอย่างยั่งยืน (Sustainable use) คำนึงถึงเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อมและการสืบสานทางวัฒนธรรม

มรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย
เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก กำแพงเพชร)
Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns
ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ I และ III
• เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของสยามระหว่าง ศต.ที่ ๑๓-๑๔ ประกอบด้วยโบราณสถานอันสวยงามซึ่งแสดงถึงจุดเริ่มต้นของสถาปัตยกรรมไทย อารยธรรมยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในอาณาจักรสุโขทัยได้รับอิทธิพลที่หลากหลายรวมถึงประเพณีโบราณของท้องถิ่น องค์ประกอบต่างๆนี้รวมกันเป็นรูปแบบ ศิลปะแบบสุโขทัย

นครประวัติศาสตร์อยุธยา
Historic City of Ayutthaya
ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ III
• อยุธยาก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ และเป็นเมืองหลวงของสยามแห่งที่สองต่อจากสุโขทัย อยุธยาถูกทำลายโดยพม่าในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ หลักฐานที่คงเหลืออยู่ได้แก่ปรางค์และวัดวาอารามต่างๆซึ่งแสดงให้เห็นความเจริญ รุ่งเรืองของอยุธยาในอดีต

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี
Banchiang Archaeological Site
ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ III
• บ้านเชียงจัดว่าเป็นแหล่งอยู่อาศัยสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่าที่มีการค้นพบกันมา แสดงถึงพัฒนาการที่สำคัญด้านวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยี บ้านเชียงยังแสดงถึงหลักฐานด้านการปลูกข้าวที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาครวมถึงการผลิตและการใช้เหล็ก

การพ้นจากการเป็นมรดกโลก
จนถึงปัจจุบันมีเพียงสองแหล่งเท่านั้น มรดกโลกแรกที่ถูกถอดถอนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
แหล่งอาศัยของโอริกซ์สายพันธุ์อาระเบีย ประเทศโอมาน
ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก พ.ศ. ๒๕๓๗ และถูกถอดถอน พ.ศ. ๒๕๕๐ เนื่องจากประเทศโอมานมีนโยบายลดบริเวณเขตสงวนซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของตัวโอริกซ์สายพันธุ์อาระเบียลงถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันโอริกซ์ - สัตว์ใกล้สูญพันธุ์คล้ายกวางและมีเขายาว ลดจำนวนลงจาก ๔๕๐ ตัวเหลือเพียง ๖๕ ตัว
มรดกโลกล่าสุดที่ถูกถอดถอนในปี พ.ศ.๒๕๕๒ นี้ คือ ลุ่มแม่น้ำเอลเบเมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมัน
ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก พ.ศ.๒๕๔๗ ในลักษณะภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural Landscape) เนื่องจากโครงการก่อสร้างสะพานขนาด ๔ เลน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่

Tentative List : Thailand
Phuphrabat Historical Park (01/04/2004) อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี
เสนอตามหลักเกณฑ์ II, III, IV, VI
2. Phimai, its Cultural Route and the Associated Temples of Phanomrung
and Muangtam (01/04/2004)
พิมาย เส้นทางวัฒนธรรม และปราสาทที่เกี่ยวข้อง พนมรุ้ง และเมืองต่ำ
เสนอตามหลักเกณฑ์ I, II, III, IV, VI

แนวทางล่าสุดทางด้านการจัดการมรดกวัฒนธรรม
นอกเหนือจากแนวทางตามกฎบัตรการอนุรักษ์โบราณสถาน (Monuments and Sites) ที่รู้จักในนามของกฎบัตรเวนิช (Venice Charter) ที่ยึดถือกันมาแต่เดิม
กฎบัตรอิโคโมสสากลที่รับรองในการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ ๑๖ ของอิโคโมส ณ เมืองควิเบค กันยายน ๒๕๕๑
The ICOMOS Charter for the Interpretation and Presentation of Cultural Heritage Sites
กฎบัตรอิโคโมสสำหรับการสื่อความหมายและการนำเสนอแหล่งมรดกวัฒนธรรม
เน้นการสร้างความเข้าใจในคุณค่าของมรดกวัฒนธรรม ที่ยังอยู่บนพื้นฐานของความเป็นของแท้ ไม่ใช่การสร้างหลักฐานใหม่ที่ไม่มีอะไรอ้างอิง
The ICOMOS Charter on Cultural Routes
กฎบัตรอิโคโมสว่าด้วยเส้นทางวัฒนธรรม
เป็นแนวทางที่ควรนำมาใช้ในการพิจารณาเพื่อรักษาคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมประเภทเส้นทางวัฒนธรรม ที่ได้เชื่อมโยงแหล่งมรดกที่มีคุณค่า เนื้อหา ประวัติร่วมกัน ทำให้เกิดคุณค่าความสำคัญในภาพรวมมากยิ่งขึ้น
มีหัวข้อดังนี้
Research การวิจัย
Funding การหาทุน
Protection, Preservation/Conservation การปกป้องคุ้มครอง การอนุรักษ์
Sustainable Use – Relationship to Tourist Activities การใช้สอยอย่างยั่งยืน - ความสัมพันธ์กับกิจกรรมการท่องเที่ยว
Management การบริหารจัดการ
Public Participation การมีส่วนร่วมสาธารณะ

จาก ICOMOS / อิโคโมสไทย สู่ สมาคมอิโคโมสไทย

22 มิถุนายน พ.ศ.2552 เป็นวันที่ สมาคมอิโคโมสไทย ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอย่างเป็นทางการ ในฐานะ “องค์กรอิสระเพื่อสาธารณประโยชน์ของโบราณสถานและมรดกวัฒนธรรมสอดคล้องตามแนวทางของอิโคโมส ในอันที่จะปกปักรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก” ถือเป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของอิโคโมสไทย ที่จะนำไปสู่การทำงานในลักษณะเครือข่ายขององค์กรอิสระที่มีประสิทธิภาพ คล่องตัวยิ่งขึ้น พร้อมที่จะประกอบกิจกรรมทางวิชาการด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาทบทวนกันเล็กน้อยว่ากว่าจะมาถึงในวันนี้ อิโคโมสไทยมีความเป็นมาอย่างไร

เริ่มต้นที่ ICOMOS
ICOMOS เป็นชื่อย่อมาจากคำว่า International Council on Monuments and Sites หรือที่เป็นชื่อในภาษาไทยว่า สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ คือ องค์กรวิชาชีพทางมรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากล ที่มีเป้าหมายการทำงาน เพื่อการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองโบราณสถานในลักษณะขององค์กรอิสระ NGO
อิโคโมสก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2508 ณ กรุงวอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ สืบเนื่องมาจากการประกาศกฎบัตรเพื่อการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถาน “เวนิชชาเตอร์” เพื่อเผยแพร่หลักการและความรู้ด้านเทคนิคการอนุรักษ์ปัจจุบันสำนักงานของฝ่ายเลขานุการตั้งอยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของ UNESCO และคณะกรรมการมรดกโลก ในการประเมินคุณค่าและศักยภาพของโบราณสถานที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นมรดกโลกทุกแหล่ง ก่อนจะนำเสนอต่อ UNESCO เพื่อประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
นอกจากนี้ยังมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญได้แก่
การให้การช่วยเหลือในการแก้ปัญหา หรือสนับสนุนโครงการในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ขององค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติ และระดับระหว่างประเทศ
ให้คำแนะนำ และเป็นผู้กำหนดข้อตกลงระดับระหว่างประเทศ กฎบัตร และแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อการปฏิบัติทางด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในแนวทางที่ดีที่สุด
เป็นเวทีในระดับระหว่างประเทศในการเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ผ่านทางเว็บไซท์ จดหมายข่าว วารสารทางวิชาการ และการจัดการประชุม สัมมนาต่าง ๆ
และเป็นเครือข่ายของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการรวมกลุ่มของคณะกรรมการระดับชาติ (National Committee - NC) ของประเทศสมาชิกชาติต่าง ๆ มากกว่า 100 ประเทศ ที่จะได้มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์ซึ่งกันและกันโดยตรง หรือจากการรวมกลุ่มเฉพาะทางในรูปของคณะกรรมการวิชาการระหว่างประเทศ (International Scientific Committee - ISC)

อิโคโมสไทยคือคณะกรรมการระดับชาติ
อิโคโมสไทย (ICOMOS Thailand) จึงได้แก่ตัวแทนของประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมการระดับชาติ (National Committee) คณะกรรมการหนึ่งของ ICOMOS จากการที่กรมศิลปากรได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกประเภทสถาบันของอิโคโมสและจัดตั้งอิโคโมสไทยขึ้น เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2528 ตามมติคณะรัฐมนตรี มีนายชวน หลีกภัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นประธานท่านแรก และมีนายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นเลขานุการ โดยมีชื่อเรียกว่า “คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติ” ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 25 ท่าน พร้อมด้วยภารกิจแรก ได้แก่ การประกาศระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ. 2528 หรือที่เรียกว่า Bangkok Charter ตามแนวทางของกฎบัตรเวนิช โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งคณะกรรมการฯและการร่างระเบียบกรมศิลปากรฯขึ้นได้แก่ ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ ซึ่งต่อมาได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากร และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ
ในปี พ.ศ.2532 นายนิคม มูสิกะคามะ ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ในขณะนั้น ได้เสนอขอความเห็นชอบให้ปรับคณะกรรมการใหม่ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และการประสานงานกับ ICOMOS โดยลดจำนวนกรรมการลงเหลือ 12 ท่าน และเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติ สำหรับสภาโบราณสถาน และโบราณคดีระหว่างประเทศ (ICOMOS)” มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และตัวท่านเป็นเลขานุการ ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการปรับปรุงคณะกรรมการเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานครั้งที่ 2 ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติว่าด้วยสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS)” มี ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นเลขานุการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 มีการปรับปรุงคณะกรรมการฯอีกครั้งโดยได้เพิ่มเติมคณะกรรมการให้ครอบคลุมสายวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น ประกอบด้วย ที่ปรึกษา คณะกรรมการ เหรัญญิก และผู้ประสานงานฝ่ายเลขานุการรวม 22 คน โดยมี ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่ปรึกษา มีนายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น เป็นประธาน สำนักโบราณคดีเป็นฝ่ายเลขานุการ
นายอารักษ์ สังหิตกุล
โดยคณะกรรมการชุดนี้นั่นเองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายการเปิดรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติม เรียกชื่อองค์กรว่า “อิโคโมสไทย” เพื่อการสร้างเครือข่ายของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่ไม่จำกัดอยู่เพียงในหน่วยงานราชการ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง หลังจากที่อิโคโมสไทยได้ทำการประชาสัมพันธ์ เปิดรับสมัครสมาชิกขึ้นพร้อมด้วยการเปิดตัวใน การประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2547 ที่วังลดาวัลย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้ประกอบกิจกรรมต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง เน้นให้ทุกภาคส่วนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วม เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อิโคโมสไทยได้เติบโตขึ้น จากสมาชิกเพียงไม่กี่คนกลายมาเป็นประมาณ 400 คนในปัจจุบัน ในหลากหลายสาขาวิชาชีพและจากทุกรุ่นทุกวัย
ในการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2550 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการอิโคโมสไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นคณะกรรมการในวาระปี 2551 – 2553
สู่สมาคมอิโคโมสไทย
จากการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการอิโคโมสไทยชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งนี้เองที่นำมาซึ่งแนวความคิดของการจดทะเบียนนิติบุคคลในนามของ “สมาคมอิโคโมสไทย” เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการองค์กรซึ่งเป็นองค์กรอิสระเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นผู้ประสานงานในการประกอบกิจกรรมทางวิชาการ และนิติกรรมต่างๆ ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมมีมติให้เรียนเชิญ นายเดโช สวนานนท์ ที่ปรึกษาอิโคโมสไทย อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร 2 สมัย และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯท่านแรก พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมชุดก่อตั้งรวม 9 ท่าน ซึ่งในลำดับต่อไปตำแหน่งนายกสมาคมก็จะมาจากการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน โดยมีคณะกรรมการอิโคโมสไทยทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาทางวิชาการต่อไป และสมาชิกอิโคโมสไทยที่มีอยู่เดิมให้ถือว่าเป็นสมาชิกสมาคมอิโคโมสไทยทั้งหมด
นายเดโช สวนานนท์ นายกสมาคมอิโคโมสไทยคนแรก
นายบวรเวท รุ่งรุจี และ ผศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อุปนายก
นางภารนี สวัสดิรักษ์ เหรัญญิก
เมื่อได้รับหลักฐานการจดทะเบียนสมาคม

วสุ โปษยะนันทน์
เลขาธิการ สมาคมอิโคโมสไทย

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

ทำบุญ ไหว้พระ ที่วัดเทพธิดาราม

สืบเนื่องจากการที่ผมเองได้รับมอบหมายจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นตัวแทนในการจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ในนามของกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี จึงได้เกิดเป็นโครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎกวัดเทพธิดารามวรวิหารขึ้นโดยมีผมเองทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

ขั้นตอนแรกเป็นการเชิญชวนให้สมาชิกของสมาคมฯ (ได้แก่ผู้ที่ประกอบวิชาชีพทางด้านสถาปัตยกรรม) มาเป็นอาสาสมัคร ในการสำรวจ ทำแบบ บูรณะโบราณสถานแห่งนี้ นอกจากจะเป็นการสละแรงงานและเวลาเพื่อการกุศลแล้ว ก็จะได้มาเรียนรู้การทำงานด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ให้เข้าใจว่านี่ก็คือภาระกิจหนึ่งของสถาปนิกเช่นเดียวกัน การอนุรักษ์ที่ดีต้องการการออกแบบเขียนแบบที่ดีด้วยไม่ต่างจากการออกแบบอาคารใหม่ และเรายังต้องเรียนรู้การทำงานกับคนอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ หรือนักโบราณคดี แสดงให้เห็นว่างานอนุรักษ์นั้นเป็นเรื่องของสหวิชาการที่ต้องมาทำงานร่วมกัน

ตอนนี้การเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเพื่อจัดทำแบบบูรณะโดยอาสาสมัครของเราก็ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว รวมทั้งการนำเสนอแบบบูรณะเพื่อขออนุญาตดำเนินการจากกรมศิลปากร เนื่องจากเป็นโบราณสถานของชาติ และการเก็บข้อมูลในวิชาชีพอื่นๆก็ได้ดำเนินการไปแล้วเช่นเดียวกัน ขั้นตอนต่อไปก็คือการนำเสนอผลงานการสำรวจทำแบบบูรณะ และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้สาธารณชนจากทุกวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วยการทำบุญ บริจาคเงินเข้ามาสมทบในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ร่วมอนุรักษ์และสืบสานงานสถาปัตยกรรมไทย

ในโอกาสนี้เลยขออาราธนาพระพุทธเทววิลาส หรือ หลวงพ่อขาว พระประธานในพระอุโบสถวัดเทพธิดาราม พร้อมด้วยคำบูชาตามเอกสารของทางวัดมาฝากเพื่อเป็นสิริมงคล

สำหรับผู้ที่สนใจและมีจิตศรัทธาสามารถติดตามชมผลงานของพวกเราได้ในงานสถาปนิก 52 อิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม ในนิทรรศการ "อาษา อาสา สถาปัตยกรรมไทย" ที่โถงทางเข้าหน้างาน ที่เรายังจะได้จำลองแบบหอไตรมาให้ชมพร้อมด้วยบรรยากาศของงานบุญแบบไทยๆ ต้นผ้าป่าอาษาสามัคคี (อาษา ASA คือคำย่อของสมาคมสถาปนิกสยามฯ) โดยงานในปีนี้ใช้ชื่อว่า revision ตั้งทิศ ปรับทัศน์ การที่เราได้มีโครงการอนุรักษ์และสืบสานสถาปัตยกรรมไทยร่วมกันอย่างนี้ ก็อาจเรียกได้ว่าป็นการปรับทัศน์ของสังคมเหมือนกัน ให้เห็นว่า "การอนุรักษ์และสืบสานสถาปัตยกรรมไทยคือหน้าที่ของสถาปนิกไทย" หลังจากที่เรามัวแต่หลงเพลินตามกระแสโลกาภิวัฒน์กันมาโดยตลอดแต่ถ้าใจร้อนอยากรีบทำบุญโดยยังไม่ต้องชมนิทรรศการ ก็สามารถโอนเงินมาที่บัญชี "วัดเทพธิดารามวรวิหาร(บูรณะหอพระไตรปิฎกคณะ5)" เลขบัญชี 037-2-37600-7 ธ.กสิกรไทย สาขาถนนมหาไชย ท่านที่ต้องการใบอนุโมทนาบัตร โปรดติดต่อ 02-628-8288
หลังจากที่ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับโครงการนี้ในคอลัมน์ "ทัศนาสถาปัตย์" หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ก็ได้มีผู้ใจบุญที่มีจิตศรัทธาโอนเงินเข้ามากันมาก ขณะนี้ก็ได้หลายหมื่นแล้ว เลยขอถือโอกาสนี้แสดงมุทิตาจิต อนุโมทนาที่เราได้มีโอกาสได้ทำบุญร่วมกันในครั้งนี้ด้วย และหวังว่าเงินหลักล้านตามที่จำเป็นจะต้องใช้ในการบูรณะหอพระไตรปิฎก คงจะเห็นกันในงานสถาปนิก 52 นี้

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

โบราณสถาน? เกณฑ์ในการพิจารณาคุณค่าจากลักษณะแห่งการก่อสร้าง (II)

ในการจะพิจารณาว่าลักษณะแห่งการก่อสร้างของอาคารใด มรดกสิ่งก่อสร้างใด เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี หรือไม่ ประการแรกจะดูว่าอาคารหรือมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นมีคุณค่าในด้านใดหรือไม่ อย่างไร

คุณค่าทางด้านสุนทรียภาพความงามของสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม การวางผัง หรือศิลปกรรมการตกแต่ง ตลอดจนความเป็นเลิศของฝีมือช่าง มีหรือไม่
คุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ในฐานะที่เป็นหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ หรือยุคใดสมัยใด มีแนวคิดใดในการก่อสร้างนั้นที่สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละยุคสมัย รวมทั้งประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม การวางผัง และการอนุรักษ์หรือไม่

คุณค่าทางด้านวิชาการคือประโยชน์ทางการศึกษา จากความเป็นของแท้ที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ความเป็นตัวอย่างของลักษณะการก่อสร้างที่พบได้ยาก การสื่อความหมายให้เป็นที่เข้าใจได้ของแหล่ง ความมีเอกลักษณ์และความเป็นตัวแทนของยุคสมัย ถิ่นที่ หรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เป็นตัวช่วยให้องค์ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งสมบูรณ์ขึ้น มีหรือไม่

และคุณค่าทางสังคมที่สืบทอดมาจากความผูกพันของท้องถิ่นและความเป็นที่รู้จักของสังคมจากลักษณะแห่งการก่อสร้างนั้นว่ามีหรือไม่
ซึ่งเราอาจจะพบว่าในบรรดาอาคาร หรือมรดกสิ่งก่อสร้างที่นำมาพิจารณานั้น บางกรณีอาจถึงพร้อมด้วยคุณค่าในด้านต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วอย่างครบถ้วนในแหล่งเดียว บางกรณีที่มีความสำคัญในหลายด้านแต่กลับมีคุณค่าที่โดดเด่นเพียงในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น หรือบางกรณีเป็นมรดกสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าแต่ก็ไม่ถึงขนาดที่เรียกได้ว่าโดดเด่นได้เลยแม้แต่เพียงด้านเดียว เราจึงจำเป็นจะต้องมีเกณฑ์ที่ใช้ชี้วัดระดับคุณค่าทางวัฒนธรรมของมรดกสิ่งก่อสร้างด้วย

ดังที่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงจรรยาบรรณสำหรับสมาชิกอิโคโมส ว่า “Values หมายถึง ความรู้สึก ความเชื่อ ซึ่งมีคุณค่าความสำคัญต่อกลุ่มวัฒนธรรม หรือบุคคลใด ที่มักจะรวมถึง ความเชื่อทางด้านจิตใจ ทางการเมือง ทางศาสนา และทางจารีตประเพณี โบราณสถานอาจมีคุณค่าในลักษณะและระดับที่แตกต่างกัน และยังมีโอกาสที่จะทำการประเมินปรับคุณค่าได้อีกตามกาลเวลาที่ผ่านไป”

เกณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ชี้วัดคุณค่าทางวัฒนธรรมได้แก่ ความเป็นของแท้ (Authenticity) และความครบถ้วน (Integrity)
ความเป็นของแท้ ตามที่อ้างอิงจาก The Nara Document on Authenticity 1994 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยสากลนับตั้งแต่การลงมติในที่ประชุมมรดกโลก ครั้งที่ ๑๘ ซึ่งจัดขึ้นที่ภูเก็ต ประเทศไทย ในปี ค.ศ.๑๙๙๔ นั้น ระบุว่า “การตัดสินใจความเป็นของแท้ สามารถเชื่อมโยงได้กับคุณค่าของโบราณสถานที่หลากหลายของแหล่งที่มาของข้อมูลด้วยเหตุที่ความเป็นของแท้นั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของมรดกทางวัฒนธรรมและบริบททางวัฒนธรรม ซึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลายเช่นกัน ได้แก่ รูปทรง แนวคิดในการออกแบบ วัสดุ การใช้งาน ประโยชน์ใช้สอย ประเพณี และเทคนิค สถานที่ตั้ง และสภาพโดยรอบ จิตวิญญาณ และความรู้สึก การใช้แหล่งข้อมูลดังกล่าวจะนำมาซึ่งการศึกษามรดกทางวัฒนธรรมทั้งในเรื่องของศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ สังคม และวิชาการ”

โดยทั่วไปการตรวจสอบระดับความเป็นของแท้ของมรดกสิ่งก่อสร้าง อาจแบ่งออกได้เป็น
ความเป็นของแท้ ของการออกแบบ รวมความถึงลักษณะหรือองค์ประกอบที่แสดงถึงการออกแบบทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และประโยชน์การใช้สอย ให้ตรวจสอบว่ารูปแบบ รูปทรง ลักษณะการออกแบบของมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ยังคงเป็นแบบดั้งเดิม ยังมีความเป็นของแท้หรือไม่

ความเป็นของแท้ของวัสดุ ได้แก่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร ให้ตรวจสอบว่ายังมีส่วนที่เป็นวัสดุเดิมของแท้ มากน้อยเพียงใด มีการใช้วัสดุใหม่โดยเคารพต่อวัสดุดั้งเดิมด้วยการทำให้สามารถแยกแยะได้หรือไม่

ความเป็นของแท้ของฝีมือช่าง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้างและการตกแต่ง แสดงถึงเทคนิควิธีการของช่างที่ใช้ในการก่อสร้าง ประดับประดา ตลอดจนการอนุรักษ์ ให้ตรวจสอบว่าฝีมือช่างของแท้ยังคงเห็นได้อยู่หรือไม่ ในปริมาณมากน้อยเพียงใด

ความเป็นของแท้ของสภาพโดยรอบ (Setting) คือ แหล่งที่ตั้งและสภาพโดยรอบของมรดกสิ่งก่อสร้าง ยังคงมีความเชื่อมต่อกับช่วงเวลาของการก่อสร้างมรดกสิ่งก่อสร้าง ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ หรือ เมืองโบราณนั้นหรือไม่ ให้ดูว่าสภาพโดยรอบนั้นยังมีลักษณะที่สัมพันธ์กับมรดกสิ่งก่อสร้างอยู่หรือไม่

ความครบถ้วน Integrity
ความครบถ้วน ในที่นี้หมายถึงความครบถ้วนขององค์ประกอบของโบราณสถานที่ผสานกลมกลืนกัน ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและองค์ประกอบของสภาพโดยรอบที่มีความเกี่ยวข้องกันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วย การจะพิจารณาว่า อาคารหรือมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นๆ มีคุณค่าหรือไม่ นอกจากจะวัดด้วยความเป็นของแท้แล้วจึงต้องตรวจสอบด้วยว่าได้มีการพิจารณาครอบคลุมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับแหล่งนั้นอย่างครบถ้วนหรือยัง มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่โบราณสถานที่สอดคล้องกับคุณค่าของสิ่งก่อสร้างนั้นหรือไม่

คุณภาพของข้อมูล Quality
นอกจากนี้จากกรณีของมรดกสิ่งก่อสร้างที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพไปจากรูปแบบดั้งเดิม ด้วยการดำเนินการในอดีตไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหรือรื้อถอนเพื่อการใช้สอย ตามสมัยนิยม หรือตามความต้องการของผู้ครอบครองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลอดจนการอนุรักษ์ หรือการปฏิสังขรณ์รื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิมกลับมาอีกครั้ง การที่จะพิจารณาว่าลักษณะแห่งการก่อสร้างของอาคาร มีประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดีหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือและความครบถ้วนของข้อมูล การบันทึกสภาพ หลักฐานที่มีอยู่ก่อนการดำเนินการ คุณภาพของข้อมูลหลักฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อรื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิม แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับโดยสากลดังปรากฏในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมและกฎบัตรต่างๆ เช่น “...(Reconstruction is acceptable if it is carried out on the basis of complete and detailed documentation on the original and to no extent on conjecture.)“ จาก ความเห็นของคณะกรรมการมรดกโลก ปรากฏใน Management Guidelines for World Cultural Heritage Sites