วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ปราสาทสด๊กก๊อกธม : ประวัติ และคุณค่าความสำคัญ

ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นโบราณสถานประเภทหิน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเสม็ด หมู่ ๓ ตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เป็นศาสนสถานฮินดู ที่สร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖

มีการสำรวจพบศิลาจารึกสองหลัก ซึ่งตั้งชื่อว่า จารึกสด๊กก๊อกธม ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์เขมรเป็นอย่างมาก นักวิชาการชาวฝรั่งเศสซึ่งทำการศึกษาประวัติศาสตร์เขมรได้อาศัยศิลาจารึกนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการอ้างอิง

ปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้จึงมีชื่อเสียงอย่างมากในหมู่นักวิชาการเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับศิลาจารึกที่สำรวจพบในพื้นที่ จารึกหลักที่ ๑ (จารึกสด๊กก๊อกธม ๑) ตามข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติระบุว่า เจ้าหน้าที่กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้นำมามอบให้ผู้เชี่ยวชาญอักษรภาษาโบราณ อ่านแปลเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ มีเนื้อความกล่าวถึงการสร้างศาสนสถานขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เพื่อเป็นเทวสถานประดิษฐานศิวลึงค์ ตามความในจารึกดังกล่าว ในปีพุทธศักราช ๑๔๘๐ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ โปรดให้กำเสตญอัญศรีวีเฐนทรวรมัน ใช้ให้ปรัตยยะนำศิลาจารึกมาปักไว้ เพื่อประกาศห้ามเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเรียกข้าพระของเทวสถานแห่งนี้ไปใช้ในกิจการอื่น ให้ใช้ข้าพระดังกล่าวเฉพาะการปฏิบัติบูชาบำรุงรักษาเทวรูป ศิวลึงค์ และรูปเคารพอันประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถาน(แห่งนี้) เท่านั้น

ส่วนจารึกหลักที่ ๒ (จารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ซึ่งมีการกล่าวอ้างถึงตั้งแต่การเข้าไปสำรวจปราสาทครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้ โดยนายเอโมนิเยร์) นั้นกล่าวว่า เป็นการกล่าวสรรเสริญเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ในโอกาสที่ได้สร้าง (บูรณะปฏิสังขรณ์?) ปราสาทแห่งนี้สำเร็จในปีพุทธศักราช ๑๕๙๕ และนอกจากนี้แล้วยังบันทึกหลักฐานเกี่ยวกับประวัติอารยธรรมทางด้านศาสนา ซึ่งบ่งชัดเจนว่ากษัตริย์แห่งอาณาจักรกัมพูชาเป็นผู้อุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้นำทางศาสนา เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและกษัตริย์ นอกจากนี้ในจารึกยังกล่าวถึงประวัติการสืบสายสกุลของพราหมณ์ผู้เป็นใหญ่ในราชสำนักเขมร การปฏิบัติพระเทวราชและรูปเคารพ การสร้างหมู่บ้าน การบุญต่างๆในพระศาสนา เป็นต้น

จารึกหลักแรก ระบุศักราช พ.ศ. ๑๔๘๐ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ จารึกหลักที่สอง ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. ๑๕๙๕ กล่าวถึงการที่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ พระราชทานเทวสถานอุทิศแด่พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ นอกจากนี้ยังได้เล่าเรื่องย้อนหลังขึ้นไปอีกราว ๒๐๐ ปี กล่าวถึงต้นตระกูลพราหมณ์คนแรก ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ผู้ทรงรวบรวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำเข้าด้วยกันและสร้างเมืองพระนครขึ้น จึงกลายเป็นหลักฐานอ้างอิงที่สำคัญในการกำหนดยุคสมัยของประวัติศาสตร์เขมรและประวัติศาสตร์ศิลปะเขมร ตั้งแต่ยุคแห่งการสร้างเมืองพระนครมาจนถึงในรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒

อนึ่งมีข้อน่าสังเกตว่าจารึกสด๊กก๊อกธม ๑ ตามข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติระบุว่าพบที่บ้านสระแจง ไม่ได้นำมาจากที่ปราสาทโดยตรง ส่วนจารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ระบุว่าพบที่ปราสาทเมืองพร้าว ซึ่งเป็นชื่อเดิมของปราสาทสด๊กก๊อกธม และจากการขุดตรวจชั้นดินบริเวณทางดำเนินภายในตัวปราสาทบางส่วน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ ยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างใดๆ ก่อนที่จะมีการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ใน จ.สระแก้วยังมี ปราสาทเขาสระแจงดงรัก ซึ่งศาตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวิเคราะห์ไว้ว่าเป็นปราสาทที่มีอายุสมัยระหว่างปี พ.ศ.๑๖๐๐ -๑๖๕๐ ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ตามที่ระบุในจารึกสด๊กก๊อกธม ๑

จากปีที่ระบุไว้ในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักแรก และใจความที่กล่าวถึงการสร้างศาสนสถาน ทำให้อาจเป็นไปได้ว่ามีอาคารที่สร้างขึ้นในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ และถ้าหากจะอ้างอิงข้อมูลในจารึกหลักที่ ๒ ซึ่งมีความชัดเจนว่าเคยตั้งอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเทวาลัยที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็อาจจะเชื่อได้อีกเช่นกันว่าได้สร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมขึ้นหรือมีการปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ซึ่งเป็นศิลปะแบบบาปวน ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สร้างความสงสัยให้เราหาเหตุผลอื่นมาสนับสนุนเพื่อค้นหาคำตอบ

ข้อมูลจากการทดลองประกอบหินหล่นและการขุดแต่งได้มาผสมผสานกันเข้าเป็นข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานที่สามารถตรวจสอบและยืนยันได้ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบกับรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรที่มีการเรียงลำดับอายุสมัยไว้แล้วโดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศส จากการวิเคราะห์แต่ละองค์ประกอบทำให้สามารถสรุปได้ว่าสิ่งก่อสร้างของปราสาทสด๊กก๊อกธมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างยุคสมัยคลังหรือเกลียง (Khleang) และสมัยบาปวน (Baphuon) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ ๒ ซึ่งระบุถึงรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทบาปวนขึ้นเป็นปราสาทประจำรัชกาลที่เมืองพระนคร แต่ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมในบางองค์ประกอบที่ยังคงมีรูปแบบค่อนข้างโน้มเอียงไปในลักษณะของยุคก่อนมากกว่าจึงสันนิษฐานได้ว่า เป็นการปฏิสังขรณ์เทวาลัยที่มีมาก่อนการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ หรือเป็นการก่อสร้างในช่วงตอนต้นของรัชสมัย โดยมีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ให้ข้อมูลสำคัญที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะของยุคสมัยที่ทำการก่อสร้างปราสาท เช่น รูปแบบของปราสาทประธาน และ การตั้งเสาหินที่มีลักษณะเหมือนเสานางเรียงขนาดเล็ก ล้อมรอบปราสาทประธาน เหมือนเป็นการแสดงถึงปริมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏที่ใดมาก่อน

ดังนั้นลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของปราสาทสด๊กก๊อกธม จึงสามารถใช้ข้อมูลของเพื่อประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบสำหรับการศึกษาทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยคลังต่อบาปวน ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ปราสาทหินที่อยู่ร่วมสมัยในแหล่งอื่นๆต่อไป

2 ความคิดเห็น:

Pimchan กล่าวว่า...

ตอนนี้ปราสาทสด๊กก๊อกธมมีพัฒนาการ มีการบูรณะองค์ปราสาทแล้วเสร็จเกือบ 90% สวยงามน่าเยี่ยมชม ฝากประชาสัมพันธ์ค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แต่ตอนนี้ออกแนวว่าร้างเลยค่ะ ไม่มีค่อยมีคน