วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โครงการดีดีที่วัดเทพธิดา





วัดเทพธิดาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๒๕ ไร่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาใน พ.ศ. ๒๓๗๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) การก่อสร้างพระอารามนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างในตำบลสวนหลวงพระยาไกร สร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินผูกพัทธสีมาด้วยพระองค์เอง พระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม” กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒
เสนาสนะสำคัญ ที่แสดงความสุดยอดแห่งพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ ๓
เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกล่าวได้ว่าวัดเทพธิดารามเป็นการก่อสร้างตามพระราชประสงค์ ตัวอย่างของศิลปะและสถาปัตยกรรมรูปแบบในรัชกาลของพระองค์ที่ครบถ้วนและชัดเจนที่สุด แผนผังพระอารามแบ่งเป็นส่วนพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจน โดยส่วนพุทธาวาสอยู่ด้านหน้าวัด ประกอบด้วยอาคารหลัก ๓ หลังล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ได้แก่ พระอุโบสถอยู่ตรงกลาง มีพระวิหารตั้งอยู่ด้านซ้าย และการเปรียญตั้งอยู่ด้านขวาเรียงเป็นแถวอย่างสง่างาม ด้านหน้ากลุ่มอาคารนี้ยังเป็นสนามโล่งที่ทำให้เราชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมได้อย่างเต็มที่

ภายในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญพระประธานนามสามัญว่า “หลวงพ่อขาว” จากพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานอยู่เหนือเวชยันต์บุษบก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้พระราชทานนามว่า “พระพุทธเทววิลาส” แม้ว่าองค์พระประธานจะไม่ใหญ่โตอย่างที่วัดอื่นๆ แต่ด้วยความงามของบุษบกและการจัดวางองค์ประกอบการตกแต่งต่างๆ มีความเหมาะเจาะ ผสานกับจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์ตามแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๓ ไม่ได้เป็นภาพเรื่องราวอย่างที่นิยมกันมาแต่เดิมได้อย่างงดงามยิ่ง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำเป็นรูปเทพธิดาตามนามวัด ที่สำคัญหลังคาพระอุโบสถเป็นแบบไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบจีน ถือเป็นเอกลักษณ์ของพระราชนิยมที่ชัดเจนที่สุด มักกล่าวกันว่าเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างจีนแต่ความจริงไม่เคยมีอาคารแบบนี้ที่ไหนเลยนอกจากในประเทศไทย เป็นเพียงการประดับด้วยวัสดุอย่างจีนของอาคารที่ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยโดยแท้

พระวิหาร และการเปรียญ เป็นอาคารที่มีลักษณะเช่นเดียวกับพระอุโบสถ สำหรับพระวิหารนอกจากพระประธานภายใน ยังมีรูปหมู่อริยสาวิกา (ภิกษุณี) ซึ่งได้รับเอตทัคคะหล่อด้วยดีบุก ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า ๕๒ องค์ สื่อความหมายถึงการที่วัดนี้สร้างขึ้นสำหรับพระเจ้าลูกเธอที่เป็นหญิง ผนังยังประดับภาพจิตรกรรมรูปหงส์อย่างจีนที่เป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงอีกเช่นกัน

โดยรอบพระอุโบสถมีศาลาราย สร้างคร่อมรอบกำแพง ๘ หลัง ใช้ได้ทั้งด้านนอกและด้านใน เรียกว่าศาลา ๒ หน้า มาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีพระปรางค์ ๔ องค์ ตั้งประจำทิศทั้ง ๔ ของมุมพระอุโบสถ พระปรางค์ แต่ละองค์ตั้งอยู่บนฐานสูง มีรูปท้าวจตุโลกบาล ประจำรักษาในทิศทั้ง ๔ ถือเป็นสิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งที่ลวดลายปูนปั้นของพระปรางค์มีการประดับด้วยหอยเบี้ยทั้งหมด ภายในบริเวณโดยรอบ ยังมีตุ๊กตาศิลาสลักของจีนมีทั้งที่เป็นรูปคนและสัตว์ ตั้งประดับอยู่ ตุ๊กตาหินเหล่านี้มีที่ลักษณะน่าสนใจ บางตัวมีท่าทางและการแต่งกายแบบจีน บางตัวแต่งกายแบบไทย แสดงว่าเป็นการนำเข้ามาจากประเทศจีนที่มีการสั่งทำส่งมาเมืองไทยโดยเฉพาะ

ส่วนหลังวัดเป็นเขตสังฆาวาส ที่ตั้งของหมู่กุฏิ ที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหมด แตกต่างที่เคยเป็นเรือนไม้อย่างยุคก่อนหน้า แบ่งเป็นกุฏิ ๒ ประเภท คือ สำหรับฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ กุฏิสำหรับผ่ายวิปัสสนาธุระอยู่ท้ายวัด มี ๑๖ หลัง ตรงกลางของกุฏิคันถธุระที่ด้านเหนือและด้านใต้มีหอสวดมนต์ เคยเป็นสถานที่สวดมนต์ทำวัตรเข้าเย็น และท่องจำพระสูตร พระปริตร และตรงมุมของกลุ่มอาคารจะมีหอพระไตรปิฎกตั้งอยู่ มี ๒ หลัง ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่กุฏิ คณะ ๘ หลังหนึ่ง และคณะ ๕ อีกหลัง ทั้ง ๒ หลังมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีส่วนประดับหลังคาและหน้าบันเป็นไม้ มีช่อฟ้า เครื่องลำยองไม้ปิดทองประดับกระจก แต่ก็เป็นลักษณะอาคารเครื่องก่อที่ประดับด้วยกระเบื้องปรุของจีนด้วย เป็นอาคารใต้ถุนสูง ใช้เก็บรักษาพระไตรปิฎก หนังสือพระธรรม คัมภีร์ต่าง ๆ ปัจจุบันหอพระไตรปิฎกที่คณะ ๘ ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่อีกหลังทางคณะ ๕ ยังคงอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก แต่ก็กล่าวได้ว่ายังเหลือหลักฐานของความเป็นของแท้ของสถาปัตยกรรม ลักษณะโครงสร้าง และการตกแต่งฝีมือช่างดั้งเดิมอยู่

นอกจากนี้ที่กุฏิคณะ ๗ ยังมี “กุฏิสุนทรภู่” ที่ซึ่งกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เคยจำพรรษาเมื่อครั้งที่ท่านได้อุปสมบทอยู่ที่พระอารามแห่งนี้ ระหว่าง พ.ศ.๒๓๘๒ – ๒๓๘๕ ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ในบรรดางานประพันธ์ของสุนทรภู่ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัดเทพธิดารามมากที่สุด ได้แก่ “รำพันพิลาป” ท่านได้พรรณนาให้เห็นลักษณะของปูชนียวัตถุสถาน และความงามของพระอารามในสมัยนั้นไว้อย่างละเอียด รวมทั้งได้กล่าวถึง หอพระไตรปิฎก ไว้ด้วย ถือเป็นการบันทึกข้อมูลโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของวัดเทพธิดาราม ปัจจุบันทางวัดได้อนุรักษ์กุฏิหลังนี้ไว้อย่างดี พร้อมด้วยการจัดแสดงสื่อความหมายถึงความเป็นอาคารประวัติศาสตร์ เปิดให้ชมสถานที่ที่ท่านเคยพำนักและนำชมถาวรวัตถุในวัดตามที่ปรากฏในรำพันพิลาป

ด้วยสภาพของหอพระไตรปิฎก บริเวณกุฏิคณะ ๕ที่มีลักษณะทรุดโทรมจากการเสื่อมสภาพของวัสดุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการล่าสุดโครงการหนึ่งของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามนโยบายของนายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมฯ ที่ต้องการให้สมาคมมีบทบาทเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมของชาติ และร่วมสืบสานสถาปัตยกรรมของไทย โดยมอบให้กรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี มาดำเนินการ รับอาสาสมัครจากสมาชิกสมาคมฯ และนิสิตนักศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม รวมทั้งจากวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โบราณคดี วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ มาช่วยกันสำรวจ ทำแบบบันทึกข้อมูลทางสถาปัตยกรรมโดยละเอียด มีการทำแบบบูรณะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ที่จะนำมาใช้ในการบูรณะให้คุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้กลับมาเป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง
ในขณะนี้การทำงานของอาสาสมัครในวันเสาร์อาทิตย์ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วก็ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ยังขาดอยู่ก็คือปัจจัย ที่จะใช้ในการบูรณะจึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการนี้ ด้วยการทำบุญสมทบเพื่อการบูรณะหอพระไตรปิฎกวัดเทพธิดารามในครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นพุทธบูชาและร่วมกันสืบสานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี โดยท่านสามารถโอนเงินเข้าบัญชี “วัดเทพธิดารามวรวิหาร (บูรณะหอพระไตรปิฎกคณะ๕)” บัญชีเลขที่ ๐๓๗-๒-๓๗๖๐๐-๗ ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนมหาไชย ท่านที่ต้องการอนุโมทนาบัตรเพื่อลดหย่อนภาษี โปรดติดต่อคุณวราภรณ์ โทร.๐๒-๖๒๘๘๒๘๘

วสุ โปษยะนันทน์ ประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี

ไม่มีความคิดเห็น: