วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

70 ปึไปรษณีย์กลาง บางรัก

ครุฑและแตรงอน สัญลักษณ์ไปรษณีย์ไทย ที่บางรัก

ความงามแบบโมเดิร์น



แอบเก๋บนดาดฟ้า


ไปรษณีย์วันนี้


อาคารไปรษณีย์กลางบางรักมีการฉลองครบรอบ 70 ปีในปีนี้ กล่าวคือสร้างในปี พ.ศ. 2483 งานสถาปัตยกรรมออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ ร่วมกับนายหมิว อภัยวงศ์ และงานศิลปกรรมโดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี จัดเป็นมรดกสถาปัตยกรรมในรูปแบบโมเดิร์น เช่นเดียวกับศาลาเฉลิมกรุง อาคารศาลยุติธรรม ศาลากลางพระนครศรีอยุธยา(เดิม) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกลุ่มอาคารถนนราชดำเนินกลาง และมีงานตกแต่งในอิทธิพลแบบอาร์ตเดโก ที่มีความเป็นไทยผสมผสานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีงานประติมากรรมรูปครุฑซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นงานออกแบบของศาสตราจารยศิลป์ พีระศรี ประดับอยู่ด้านหน้าอาคาร จึงถือว่ามีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและศิลปะของไทยที่สัมพันธ์ถึงประวัติศาสตร์ของโลกเกี่ยวกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม ในแง่การใช้สอยของอาคารในอดีตยังเป็นหลักฐานสำคัญของความเป็นมาของการไปรษณีย์และการสื่อสารในประเทศไทย ตลอดจนพัฒนาการของการเจริญเติบโตของเมืองจากการที่ในสมัยนั้นจะแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าด้วยการใช้รถไฟและไปรษณีย์เป็นสัญลักษณ์ มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ขึ้นเป็นเครื่องหมายของเมืองที่มีการพัฒนา การก่อสร้างอาคารไปรษณีย์กลางจึงถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญหน้าหนึ่งของกรุงเทพมหานครด้วย
สภาพอาคารซึ่งมีขนาดใหญ่แต่ในปัจจุบันมีการใช้งานเฉพาะในส่วนชั้นล่าง เป็นที่ทำการไปรษณีย์บางรักเท่านั้น อาคารด้านหลังส่วนหนึ่งถูกรื้อออกไปแล้วสืบเนื่องจากการตัดแบ่งพื้นที่ให้การสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) แม้ว่าโครงสร้างอาคารจะมีความมั่นคงแข็งแรงแต่การปิดพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เคยเป็นพื้นที่ห้องทำงานที่กว้างขวาง บันไดกลางที่โอ่โถงนำขึ้นไปสู่โรงละครด้านบนไว้โดยไม่มีการใช้สอย ปล่อยเป็นพื้นที่ร้าง ก็จะทำให้อาคารเสื่อมสภาพลงได้อย่างรวดเร็วด้วยขาดการดูแลรักษา วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารเป็นส่วนสำคัญที่มีเอกลักษณ์ ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น ไม้ปาเก้ต์ และกระจกฝ้า รวมทั้งลักษณะโครงสร้างเสาช่วงกว้าง การมีช่องแสงที่เจิดจ้าโถงด้านล่างมีความกว้างใหญ่สง่างาม

ในประเด็นเรื่องความเป็นโบราณสถาน แม้ว่าจะยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวมาข้างต้นก็ตรงตามนิยามของโบราณสถานใน พรบ.โบราณสถานฯ ดังนั้นในการบูรณะ ปรับปรุง ดัดแปลง ก็ขอให้ส่งข้อมูลความต้องการในการปรับปรุงนั้นให้กรมศิลปากรช่วยตรวจสอบพิจารณาก่อน ว่าจะมีผลกระทบให้โบราณสถานเสื่อมคุณค่าลงในด้านต่าง ๆ หรือไม่ หากคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ยังคงอยู่หลังจากการปรับปรุงนั้นก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ ส่วนเรื่องของการใช้สอยในอนาคตของอาคารก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้เพื่อให้สอดคล้องตามสภาพสังคมในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น: