วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2552

จาก ICOMOS / อิโคโมสไทย สู่ สมาคมอิโคโมสไทย

22 มิถุนายน พ.ศ.2552 เป็นวันที่ สมาคมอิโคโมสไทย ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอย่างเป็นทางการ ในฐานะ “องค์กรอิสระเพื่อสาธารณประโยชน์ของโบราณสถานและมรดกวัฒนธรรมสอดคล้องตามแนวทางของอิโคโมส ในอันที่จะปกปักรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก” ถือเป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของอิโคโมสไทย ที่จะนำไปสู่การทำงานในลักษณะเครือข่ายขององค์กรอิสระที่มีประสิทธิภาพ คล่องตัวยิ่งขึ้น พร้อมที่จะประกอบกิจกรรมทางวิชาการด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาทบทวนกันเล็กน้อยว่ากว่าจะมาถึงในวันนี้ อิโคโมสไทยมีความเป็นมาอย่างไร

เริ่มต้นที่ ICOMOS
ICOMOS เป็นชื่อย่อมาจากคำว่า International Council on Monuments and Sites หรือที่เป็นชื่อในภาษาไทยว่า สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ คือ องค์กรวิชาชีพทางมรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากล ที่มีเป้าหมายการทำงาน เพื่อการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองโบราณสถานในลักษณะขององค์กรอิสระ NGO
อิโคโมสก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2508 ณ กรุงวอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ สืบเนื่องมาจากการประกาศกฎบัตรเพื่อการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถาน “เวนิชชาเตอร์” เพื่อเผยแพร่หลักการและความรู้ด้านเทคนิคการอนุรักษ์ปัจจุบันสำนักงานของฝ่ายเลขานุการตั้งอยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของ UNESCO และคณะกรรมการมรดกโลก ในการประเมินคุณค่าและศักยภาพของโบราณสถานที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นมรดกโลกทุกแหล่ง ก่อนจะนำเสนอต่อ UNESCO เพื่อประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
นอกจากนี้ยังมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญได้แก่
การให้การช่วยเหลือในการแก้ปัญหา หรือสนับสนุนโครงการในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ขององค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติ และระดับระหว่างประเทศ
ให้คำแนะนำ และเป็นผู้กำหนดข้อตกลงระดับระหว่างประเทศ กฎบัตร และแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อการปฏิบัติทางด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในแนวทางที่ดีที่สุด
เป็นเวทีในระดับระหว่างประเทศในการเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ผ่านทางเว็บไซท์ จดหมายข่าว วารสารทางวิชาการ และการจัดการประชุม สัมมนาต่าง ๆ
และเป็นเครือข่ายของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการรวมกลุ่มของคณะกรรมการระดับชาติ (National Committee - NC) ของประเทศสมาชิกชาติต่าง ๆ มากกว่า 100 ประเทศ ที่จะได้มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์ซึ่งกันและกันโดยตรง หรือจากการรวมกลุ่มเฉพาะทางในรูปของคณะกรรมการวิชาการระหว่างประเทศ (International Scientific Committee - ISC)

อิโคโมสไทยคือคณะกรรมการระดับชาติ
อิโคโมสไทย (ICOMOS Thailand) จึงได้แก่ตัวแทนของประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมการระดับชาติ (National Committee) คณะกรรมการหนึ่งของ ICOMOS จากการที่กรมศิลปากรได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกประเภทสถาบันของอิโคโมสและจัดตั้งอิโคโมสไทยขึ้น เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2528 ตามมติคณะรัฐมนตรี มีนายชวน หลีกภัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นประธานท่านแรก และมีนายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นเลขานุการ โดยมีชื่อเรียกว่า “คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติ” ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 25 ท่าน พร้อมด้วยภารกิจแรก ได้แก่ การประกาศระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ. 2528 หรือที่เรียกว่า Bangkok Charter ตามแนวทางของกฎบัตรเวนิช โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งคณะกรรมการฯและการร่างระเบียบกรมศิลปากรฯขึ้นได้แก่ ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ ซึ่งต่อมาได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากร และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ
ในปี พ.ศ.2532 นายนิคม มูสิกะคามะ ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ในขณะนั้น ได้เสนอขอความเห็นชอบให้ปรับคณะกรรมการใหม่ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และการประสานงานกับ ICOMOS โดยลดจำนวนกรรมการลงเหลือ 12 ท่าน และเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติ สำหรับสภาโบราณสถาน และโบราณคดีระหว่างประเทศ (ICOMOS)” มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และตัวท่านเป็นเลขานุการ ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการปรับปรุงคณะกรรมการเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานครั้งที่ 2 ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติว่าด้วยสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS)” มี ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นเลขานุการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 มีการปรับปรุงคณะกรรมการฯอีกครั้งโดยได้เพิ่มเติมคณะกรรมการให้ครอบคลุมสายวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น ประกอบด้วย ที่ปรึกษา คณะกรรมการ เหรัญญิก และผู้ประสานงานฝ่ายเลขานุการรวม 22 คน โดยมี ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่ปรึกษา มีนายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น เป็นประธาน สำนักโบราณคดีเป็นฝ่ายเลขานุการ
นายอารักษ์ สังหิตกุล
โดยคณะกรรมการชุดนี้นั่นเองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายการเปิดรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติม เรียกชื่อองค์กรว่า “อิโคโมสไทย” เพื่อการสร้างเครือข่ายของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่ไม่จำกัดอยู่เพียงในหน่วยงานราชการ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง หลังจากที่อิโคโมสไทยได้ทำการประชาสัมพันธ์ เปิดรับสมัครสมาชิกขึ้นพร้อมด้วยการเปิดตัวใน การประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2547 ที่วังลดาวัลย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้ประกอบกิจกรรมต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง เน้นให้ทุกภาคส่วนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วม เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อิโคโมสไทยได้เติบโตขึ้น จากสมาชิกเพียงไม่กี่คนกลายมาเป็นประมาณ 400 คนในปัจจุบัน ในหลากหลายสาขาวิชาชีพและจากทุกรุ่นทุกวัย
ในการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2550 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการอิโคโมสไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นคณะกรรมการในวาระปี 2551 – 2553
สู่สมาคมอิโคโมสไทย
จากการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการอิโคโมสไทยชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งนี้เองที่นำมาซึ่งแนวความคิดของการจดทะเบียนนิติบุคคลในนามของ “สมาคมอิโคโมสไทย” เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการองค์กรซึ่งเป็นองค์กรอิสระเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นผู้ประสานงานในการประกอบกิจกรรมทางวิชาการ และนิติกรรมต่างๆ ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมมีมติให้เรียนเชิญ นายเดโช สวนานนท์ ที่ปรึกษาอิโคโมสไทย อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร 2 สมัย และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯท่านแรก พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมชุดก่อตั้งรวม 9 ท่าน ซึ่งในลำดับต่อไปตำแหน่งนายกสมาคมก็จะมาจากการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน โดยมีคณะกรรมการอิโคโมสไทยทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาทางวิชาการต่อไป และสมาชิกอิโคโมสไทยที่มีอยู่เดิมให้ถือว่าเป็นสมาชิกสมาคมอิโคโมสไทยทั้งหมด
นายเดโช สวนานนท์ นายกสมาคมอิโคโมสไทยคนแรก
นายบวรเวท รุ่งรุจี และ ผศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อุปนายก
นางภารนี สวัสดิรักษ์ เหรัญญิก
เมื่อได้รับหลักฐานการจดทะเบียนสมาคม

วสุ โปษยะนันทน์
เลขาธิการ สมาคมอิโคโมสไทย

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ได้อ่านแล้วเป็นประโยชน์มากค่ะ พอดีกำลังทำรายกงานเรื่องอิคอมโมสค่ะ มีข้อสงสัยว่า Bangkok Chater มีกลไกการใช้งานอย่างไรหรือคะ? ต้องมีกฎหมายรองรับเพื่อบังคับให้การอนุรักษ์โบราณสถานเป็นไปตาม Chater ด้วยใช่ไหมคะ? กรมศิลปากรทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลการใช้งานChaterและกฎหมายที่เกี่ยวข้องใช่ไหมคะ?


ด้วยความนับถือ
นุช
infinitylife1982@gmail.com