วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

โบราณสถาน? เกณฑ์ในการพิจารณาคุณค่าจากลักษณะแห่งการก่อสร้าง (II)

ในการจะพิจารณาว่าลักษณะแห่งการก่อสร้างของอาคารใด มรดกสิ่งก่อสร้างใด เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี หรือไม่ ประการแรกจะดูว่าอาคารหรือมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นมีคุณค่าในด้านใดหรือไม่ อย่างไร

คุณค่าทางด้านสุนทรียภาพความงามของสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม การวางผัง หรือศิลปกรรมการตกแต่ง ตลอดจนความเป็นเลิศของฝีมือช่าง มีหรือไม่
คุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ในฐานะที่เป็นหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ หรือยุคใดสมัยใด มีแนวคิดใดในการก่อสร้างนั้นที่สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละยุคสมัย รวมทั้งประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม การวางผัง และการอนุรักษ์หรือไม่

คุณค่าทางด้านวิชาการคือประโยชน์ทางการศึกษา จากความเป็นของแท้ที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ความเป็นตัวอย่างของลักษณะการก่อสร้างที่พบได้ยาก การสื่อความหมายให้เป็นที่เข้าใจได้ของแหล่ง ความมีเอกลักษณ์และความเป็นตัวแทนของยุคสมัย ถิ่นที่ หรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เป็นตัวช่วยให้องค์ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งสมบูรณ์ขึ้น มีหรือไม่

และคุณค่าทางสังคมที่สืบทอดมาจากความผูกพันของท้องถิ่นและความเป็นที่รู้จักของสังคมจากลักษณะแห่งการก่อสร้างนั้นว่ามีหรือไม่
ซึ่งเราอาจจะพบว่าในบรรดาอาคาร หรือมรดกสิ่งก่อสร้างที่นำมาพิจารณานั้น บางกรณีอาจถึงพร้อมด้วยคุณค่าในด้านต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วอย่างครบถ้วนในแหล่งเดียว บางกรณีที่มีความสำคัญในหลายด้านแต่กลับมีคุณค่าที่โดดเด่นเพียงในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น หรือบางกรณีเป็นมรดกสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าแต่ก็ไม่ถึงขนาดที่เรียกได้ว่าโดดเด่นได้เลยแม้แต่เพียงด้านเดียว เราจึงจำเป็นจะต้องมีเกณฑ์ที่ใช้ชี้วัดระดับคุณค่าทางวัฒนธรรมของมรดกสิ่งก่อสร้างด้วย

ดังที่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงจรรยาบรรณสำหรับสมาชิกอิโคโมส ว่า “Values หมายถึง ความรู้สึก ความเชื่อ ซึ่งมีคุณค่าความสำคัญต่อกลุ่มวัฒนธรรม หรือบุคคลใด ที่มักจะรวมถึง ความเชื่อทางด้านจิตใจ ทางการเมือง ทางศาสนา และทางจารีตประเพณี โบราณสถานอาจมีคุณค่าในลักษณะและระดับที่แตกต่างกัน และยังมีโอกาสที่จะทำการประเมินปรับคุณค่าได้อีกตามกาลเวลาที่ผ่านไป”

เกณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ชี้วัดคุณค่าทางวัฒนธรรมได้แก่ ความเป็นของแท้ (Authenticity) และความครบถ้วน (Integrity)
ความเป็นของแท้ ตามที่อ้างอิงจาก The Nara Document on Authenticity 1994 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยสากลนับตั้งแต่การลงมติในที่ประชุมมรดกโลก ครั้งที่ ๑๘ ซึ่งจัดขึ้นที่ภูเก็ต ประเทศไทย ในปี ค.ศ.๑๙๙๔ นั้น ระบุว่า “การตัดสินใจความเป็นของแท้ สามารถเชื่อมโยงได้กับคุณค่าของโบราณสถานที่หลากหลายของแหล่งที่มาของข้อมูลด้วยเหตุที่ความเป็นของแท้นั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของมรดกทางวัฒนธรรมและบริบททางวัฒนธรรม ซึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลายเช่นกัน ได้แก่ รูปทรง แนวคิดในการออกแบบ วัสดุ การใช้งาน ประโยชน์ใช้สอย ประเพณี และเทคนิค สถานที่ตั้ง และสภาพโดยรอบ จิตวิญญาณ และความรู้สึก การใช้แหล่งข้อมูลดังกล่าวจะนำมาซึ่งการศึกษามรดกทางวัฒนธรรมทั้งในเรื่องของศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ สังคม และวิชาการ”

โดยทั่วไปการตรวจสอบระดับความเป็นของแท้ของมรดกสิ่งก่อสร้าง อาจแบ่งออกได้เป็น
ความเป็นของแท้ ของการออกแบบ รวมความถึงลักษณะหรือองค์ประกอบที่แสดงถึงการออกแบบทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และประโยชน์การใช้สอย ให้ตรวจสอบว่ารูปแบบ รูปทรง ลักษณะการออกแบบของมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ยังคงเป็นแบบดั้งเดิม ยังมีความเป็นของแท้หรือไม่

ความเป็นของแท้ของวัสดุ ได้แก่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร ให้ตรวจสอบว่ายังมีส่วนที่เป็นวัสดุเดิมของแท้ มากน้อยเพียงใด มีการใช้วัสดุใหม่โดยเคารพต่อวัสดุดั้งเดิมด้วยการทำให้สามารถแยกแยะได้หรือไม่

ความเป็นของแท้ของฝีมือช่าง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้างและการตกแต่ง แสดงถึงเทคนิควิธีการของช่างที่ใช้ในการก่อสร้าง ประดับประดา ตลอดจนการอนุรักษ์ ให้ตรวจสอบว่าฝีมือช่างของแท้ยังคงเห็นได้อยู่หรือไม่ ในปริมาณมากน้อยเพียงใด

ความเป็นของแท้ของสภาพโดยรอบ (Setting) คือ แหล่งที่ตั้งและสภาพโดยรอบของมรดกสิ่งก่อสร้าง ยังคงมีความเชื่อมต่อกับช่วงเวลาของการก่อสร้างมรดกสิ่งก่อสร้าง ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ หรือ เมืองโบราณนั้นหรือไม่ ให้ดูว่าสภาพโดยรอบนั้นยังมีลักษณะที่สัมพันธ์กับมรดกสิ่งก่อสร้างอยู่หรือไม่

ความครบถ้วน Integrity
ความครบถ้วน ในที่นี้หมายถึงความครบถ้วนขององค์ประกอบของโบราณสถานที่ผสานกลมกลืนกัน ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและองค์ประกอบของสภาพโดยรอบที่มีความเกี่ยวข้องกันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วย การจะพิจารณาว่า อาคารหรือมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นๆ มีคุณค่าหรือไม่ นอกจากจะวัดด้วยความเป็นของแท้แล้วจึงต้องตรวจสอบด้วยว่าได้มีการพิจารณาครอบคลุมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับแหล่งนั้นอย่างครบถ้วนหรือยัง มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่โบราณสถานที่สอดคล้องกับคุณค่าของสิ่งก่อสร้างนั้นหรือไม่

คุณภาพของข้อมูล Quality
นอกจากนี้จากกรณีของมรดกสิ่งก่อสร้างที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพไปจากรูปแบบดั้งเดิม ด้วยการดำเนินการในอดีตไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหรือรื้อถอนเพื่อการใช้สอย ตามสมัยนิยม หรือตามความต้องการของผู้ครอบครองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลอดจนการอนุรักษ์ หรือการปฏิสังขรณ์รื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิมกลับมาอีกครั้ง การที่จะพิจารณาว่าลักษณะแห่งการก่อสร้างของอาคาร มีประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดีหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือและความครบถ้วนของข้อมูล การบันทึกสภาพ หลักฐานที่มีอยู่ก่อนการดำเนินการ คุณภาพของข้อมูลหลักฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อรื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิม แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับโดยสากลดังปรากฏในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมและกฎบัตรต่างๆ เช่น “...(Reconstruction is acceptable if it is carried out on the basis of complete and detailed documentation on the original and to no extent on conjecture.)“ จาก ความเห็นของคณะกรรมการมรดกโลก ปรากฏใน Management Guidelines for World Cultural Heritage Sites

1 ความคิดเห็น:

mre.beryzz กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ รบกวนถามนิดนึง ไม่ทราบว่ามีเกณฑ์คร่าวๆที่เป็นสากลในการวัด Aesthetics Judgment มั้ยคะ