ในโครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓
ที่ปรึกษาโครงการ
๑. ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี
๒. พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น
๓. รองศาสตราจารย์ ดร.ประสงค์ เอี่ยมอนันต์
๔. รองศาสตราจารย์ สมคิด จิระทัศนกุล
คณะทำงานโครงการ
๑. ดร.ศิริชัย หวังเจริญตระกูล
๒. คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
๓. นายไพรัช เล้าประเสริฐ
๔. ดร.พรธรรม ธรรมวิมล
๕. นายวสุ โปษยะนันทน์
๖. นายจมร ปรปักษ์ประลัย
๗. นายวทัญญู เทพหัตถี
๘. นางสาวมนัชญา วาจก์วิศุทธิ์
๙. นายสุรยุทธ วิริยะดำรงค์
๑๐. นางสาวหัทยา สิริพัฒนกุล
๑๑. นายภาณุวัตร เลือดไทย
๑๒. นายจาริต เดชะคุปต์
๑๓. นายพีระพัฒน์ สำราญ
๑๔. นายลีนวัตร ธีระพงษ์รามกุล
๑๕. นางสาววราภรณ์ ไทยานันท์ เลขานุการ
รูปแบบสถาปัตยกรรมและสภาพในปัจจุบัน
อาคารนี้มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางอาคารไปตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นอาคารสูง ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุนใช้สำหรับเก็บของ ชั้นบนเป็นหอพระไตรปิฎก บันไดทางขึ้นสู่ชั้นบนของอาคารตั้งอยู่ภายนอกอาคารทางด้านทิศเหนือ
การวางผังของชั้นบนให้ความสำคัญกับห้องเก็บพระไตรปิฎกตั้งอยู่กึ่งกลางอาคาร ล้อมรอบด้วยระเบียงทางเดิน โดยห้องเก็บพระไตรปิฎกมีรูปแบบผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตามแนวยาวของอาคาร ประตูทางเข้าอยู่ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีหน้าต่างด้านละ ๒ บาน ส่วนผนังด้านทิศใต้มีหน้าต่าง ๑ บานกึ่งกลางแนวผนัง
ปัจจุบัน ทางวัดได้ต่อเติมผนังคอนกรีตบล็อค ทับลงบนราวพนักระเบียงทางเดินด้านทิศตะวันตกของหอพระไตรปิฎกยาวตลอดแนว พร้อมด้วยการต่อหลังคาคลุมพื้นที่ด้านข้างอาคารและกั้นผนังปิดทางทิศเหนือเพื่อทำเป็นห้องเก็บของ
รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นหอไตรประเภทอาคารเครื่องก่อ ผนังก่ออิฐฉาบปูนทรงไทย มีโครงสร้างแบบกำแพงรับน้ำหนัก (Wall Bearing) หลังคาเป็นทรงจั่ว แบ่งเป็น ๒ ตับ มีหลังคากันสาดโดยรอบ มุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาสีส้ม สีเขียว และสีเหลือง ในขณะที่หลังคาด้านสกัดเป็นกระเบื้องสีเขียวและสีเหลือง ทางทิศเหนือยังมีการต่อเติมหลังคากันสาดไม้ เพื่อกันแดดฝนให้บันไดทางขึ้น มุงหลังคาด้วยสังกะสีสีแดงประดับเชิงชายไม้ฉลุ ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้งประดับกระจก หน้าบันไม้ปิดทองขุดลายประดับกระจก เป็นรูปพันธุ์พฤกษา ส่วนด้านล่างหน้ากระดานฐานพระมีการประดับตกแต่งด้วยถ้วยชามกระเบื้องจีนลายครามบนผนังปูน
ส่วนห้องเก็บพระไตรปิฎก ฝ้าเพดานภายในเป็นไม้กระดานตีชิดทาสีน้ำมันสีฟ้าอ่อน ตีกรอบรอบด้วยไม้มอบฝ้าเพดานทาสีแดง พื้นภายในเป็นพื้นไม้กระดานปิดทับด้วยเสื่อน้ำมัน ผนังก่ออิฐฉาบปูนทาสีขาว ประตูและหน้าต่างเป็นแบบกรอบซุ้ม ช่องบานเปิดคู่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะตอนบนสอบเข้า บานประตูทำด้วยไม้ประดับตกแต่งด้วยลายรดน้ำรูปทวารบาลยืนบนหลังสิงห์ พื้นหลังเป็นกระหนกเปลวลายเถา บานหน้าต่างทำด้วยไม้ประดับตกแต่งด้วยลายรดน้ำทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ลายก้านแย่ง ทั้งกรอบประตูและกรอบหน้าต่างประดับด้วยปูนปั้นผูกลายด้วยดอกพุดตานโดยรอบ มีการติดตั้งเหล็กดัดเพิ่มเติมบริเวณวงกบหน้าต่างทางด้านในอาคารทุกชุด
ส่วนระเบียงชั้นบนโดยรอบห้องเก็บพระไตรปิฎก ลักษณะเป็นระเบียงเปิดโล่ง มีเสาก่อด้วยอิฐรับน้ำหนักจากหลังคาพาไลโดยรอบและพนักระเบียงอยู่ระหว่างแต่ละช่วงเสา รูปแบบเป็นระเบียงปูนกรุกระเบื้องปรุจีน ฝ้าเพดานเป็นไม้กระดานตีชนชิด ทาสีแดง ยึดกับโครงสร้างหลังคาส่วนท้องกลอน พื้นระเบียงเป็นพื้นไม้กระดานที่ในปัจจุบันได้เทปูนปิดทับไว้
รอยต่อระหว่างชั้นบนและชั้นล่างของอาคารภายนอกโดยรอบอาคาร ตกแต่งด้วยบัวปูนปั้น ลักษณะเป็นชุดหน้ากระดานบัวหงาย รับเสาและพนักระเบียงชั้นบน
บันได ตั้งอยู่ภายนอกอาคารด้านทิศเหนือ ทั้งขั้นบันไดและพนักราวบันไดเป็นงานก่ออิฐฉาบปูน ส่วนพนักบันได มีรูปแบบเดียวกันกับพนักระเบียงชั้นบน คือ เป็นงานก่ออิฐฉาบปูนตกแต่งด้วยบัวปูนปั้นและกระเบื้องปรุจีน
ชั้นล่างเป็นห้องโถงใต้ถุนสำหรับเก็บของ มีผนังรับน้ำหนักฉาบปูนทาสีขาวตั้งอยู่แนวเดียวกับผนังชั้นบน ส่วนหน้าต่างเป็นบานไม้ทาสีแดง ตำแหน่งที่ติดตั้งตรงกึ่งกลางแนวช่วงเสา
หลังคา กระเบื้องหลังคาชำรุด และบางส่วนสูญหาย สันนิษฐานว่าสืบเนื่องจากโครงหลังคาไม้ชำรุดเสื่อมสภาพ เนื่องจากปรากฏร่องรอยการโก่งตัวของแนวกระเบื้องหลังคาและเชิงกลอน ช่อฟ้าเดิมสูญหาย ๑ ตัว อีกตัวที่เหลืออยู่อยู่ในสภาพชำรุด ใบระกา หางหงส์และตัวลำยองชำรุดหมดสภาพ
หน้าบัน งานปิดทองประดับกระจกมัวหมอง พื้นทองหลุดล่อน กระจกสีบางส่วนหลุดหาย แต่ไม้หน้าบันยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี
ฝ้าเพดานภายนอก-ภายในและไขราหน้าจั่ว ฝ้าเพดานภายในทั้งหมดและไม้ฝ้าระเบียงอยู่ในสภาพค่อนข้างดี แต่มีการทาสีทับ ส่วนไม้ฝ้าชายคาและฝ้าไขราเปื่อยผุ สีซีดจาง
ผนังและเสา ผิวปูนฉาบภายในห้องชั้นบนหลุดล่อนบางส่วน ผิวปูนฉาบเสาภายนอกอาคารชั้นบนตอนล่างจนถึงชั้นล่างหลุดลอกจนเห็นถึงชั้นอิฐแทบทั้งหมด และเนื้ออิฐบางส่วนยังมีสภาพเปื่อยยุ่ยอันเนื่องมาจากปัญหาความชื้น
ประตู-หน้าต่าง บานประตูอยู่ในสภาพชำรุด เปิดปิดไม่สะดวก งานลายรดน้ำปิดทองลางเลือนโดยทั่วไป มีส่วนที่ทองหลุดล่อนหายไปจากการใช้งานในหลายจุด ส่วนบานหน้าต่างอยู่ในสภาพชำรุด เปิดปิดไม่สะดวก ลวดลายรดน้ำลางเลือนมีคราบดำปิดลายอยู่เป็นส่วนใหญ่ ลายปูนปั้นประดับกรอบประตูและหน้าต่างชำรุด หลุดร่วงไปเป็นบางส่วน เนื่องจากปัญหาความชื้นและตะปูที่ยึดปูนปั้นขึ้นสนิม ส่งผลให้ปูนปั้นแตกร้าว ผิวทองมัวหมองจึงได้มีการทาสีเหลืองทับไว้
พื้น พื้นภายในห้องชั้นบน เป็นพื้นไม้กระดานตีชิด ปัจจุบันถูกปูทับด้วยเสื่อน้ำมันทั้งหมด แต่โครงสร้างพื้นยังอยู่ในสภาพดี สันนิษฐานว่าใช้รอดไม้กลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖ นิ้วเช่นเดียวกับหอพระไตรปิฎกด้านเหนือ (คณะ ๘) ส่วนพื้นระเบียงชั้นบน มีการเทปูนซีเมนต์ทับลงบนพื้นไม้กระดาน ท้องพื้นไม้และโครงสร้างพื้นไม้เดิมอยู่ในสภาพเปื่อยผุ สีที่ทาไว้ซีดจาง
บันไดและพนักระเบียง พื้นขั้นบันไดมีคราบดำ พนักบันไดและพนักระเบียง ปูนฉาบหลุดร่อนเห็นถึงชั้นอิฐ กระเบื้องปรุอยู่ในสภาพสีถลอกหลุดลอกเป็นบางส่วน บันไดขั้นล่างสุดมีปูนซีเมนต์ก่อพอกไว้
แนวความคิดในการออกแบบบูรณะ
ต้องการรื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิมที่สมบูรณ์ของอาคารหอพระไตรปิฎก แก้ไขเหตุและปัจจัยแห่งการเสื่อมสภาพทั้งหมด ให้อาคารกลับมามีความงดงามดังเดิมตามเจตนารมย์ในการก่อสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชา ให้สามารถสื่อความหมายถึงความเป็นหอพระไตรปิฎก ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในส่วนสังฆาวาสของวัด เพื่อให้คงคุณค่าแบบอย่างสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่งดงามในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยรักษารูปทรงทางสถาปัตยกรรม การประดับประดา และการใช้วัสดุแบบดั้งเดิมไว้ รักษาฝีมือช่างดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด ในขณะที่ส่วนศิลปกรรมที่จำเป็นต้องทำใหม่จะเป็นการสืบสานงานช่างไทยให้คงอยู่ต่อไปจากของเก่าที่เป็นแบบอย่างไม่ให้ฝีมือด้อยเสื่อมลง ตลอดจนรักษาสภาพโดยรอบให้ใกล้เคียงและกลมกลืนกับความเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญไว้อย่างดีที่สุด ทั้งนี้ยังจะต้องคำนึงถึงการใช้งานและความสะดวกในการบำรุงรักษาในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต
รายละเอียดการบูรณะและปรับปรุงอาคาร
การเตรียมสถานที่
๑. จัดเตรียมแรงงาน เครื่องมือและอุปกรณ์ทำความสะอาดสถานที่ก่อสร้างตลอดระยะเวลาก่อสร้าง
๒. จัดเตรียมสถานที่ทิ้งเศษวัสดุและกองเก็บอุปกรณ์ซึ่งรื้อถอนออกจากสถานที่ก่อสร้าง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถขนย้ายออกได้ทั้งหมด ไม่มีการกองเก็บไว้ในสถานที่ก่อสร้างภายหลังการรื้อถอน
๓. จัดทำระบบป้องกันฝุ่นและอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ตามมาตรการป้องกันอันตรายและเหตุเดือดร้อนรำคาญในระหว่างการก่อสร้าง ตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด
๔. กำหนดขอบเขตพื้นที่ทำงานให้ชัดเจน พร้อมทั้งทำการป้องกันไม่ให้รถยนต์เข้ามาในพื้นที่ทำงาน เนื่องจากตัวอาคารตั้งอยู่ติดกับถนนภายในของวัด
๕. รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนเชื่อมต่อระหว่างหอพระไตรปิฎกกับกุฏิที่ตั้งอยู่ชิดกัน
๖. รื้อถอนท่อ สายและอุปกรณ์งานระบบอาคารเดิมที่ไม่ใช้งานหรือเสื่อมสภาพออกทั้งหมด และขนย้ายเศษวัสดุออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง
๗. ทำหลังคาคลุมส่วนทำงานที่อยู่ภายนอกอาคารและติดตั้งนั่งร้าน โดยไม่ให้กีดขวางการจราจรบริเวณถนนภายในวัด
งานบูรณะ
๑. งานหลังคา
๑.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๑.๒ สำรวจตรวจสอบ สรุปข้อมูลการเสื่อมสภาพ และชนิดของไม้ขององค์ประกอบต่างๆ
๑.๓ คลุมแผ่นพลาสติกทับบริเวณหน้าบันทั้ง ๒ ด้าน เพื่อป้องกันความเสียหายขณะทำการบูรณะงานหลังคา
๑.๔ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๑.๕ รื้อถอนกระเบื้องหลังคาเดิมออกทั้งหมด และขนออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง
๑.๖ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบโครงสร้างหลังคาภายหลังรื้อกระเบื้องหลังคา
๑.๗ รื้อถอนท่อ สายและอุปกรณ์งานระบบอาคารเดิมที่ไม่ใช้งานหรือเสื่อมสภาพออกทั้งหมด และขนย้ายเศษวัสดุออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง
๑.๘ ทำความสะอาดพื้นที่ใต้หลังคาและเหนือฝ้าเพดานทั้งหมด จากนั้นจึงขนย้ายเศษขยะและเศษวัสดุออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง
๑.๙ ซ่อมแซมโครงสร้างหลังคาไม้ส่วนที่ชำรุดแต่ยังพอใช้การได้ โดยให้คงสภาพกลอนสับของเดิมไว้ ทำการซ่อมปลี่ยนเฉพาะส่วนที่ชำรุด
๑.๑๐ เปลี่ยนชิ้นส่วนโครงสร้างหลังคาไม้ส่วนที่ชำรุดจนหมดสภาพการใช้งาน โดยใช้ไม้สัก ขนาดและรูปแบบตามแบบดั้งเดิม โดยให้เปลี่ยนไม้ระแนงใหม่ทั้งหมด ทาน้ำยากันปลวกและรักษาเนื้อไม้
๑.๑๑ เสริมความแข็งแรงโครงสร้างหลังคา และบริเวณจุดยึดโครงสร้างหลังคาไม้กับผนังอิฐก่อ
๑.๑๒ ติดตั้งงานระบบอาคารใหม่ สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลังคา
๑.๑๓ มุงกระเบื้องหลังคา โดยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาสีส้ม สีเขียว และสีเหลือง ตามลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนหลังคาด้านสกัดที่เดิมเป็น ๒ สี ให้ตับล่างเปลี่ยนเป็น ๓ สี เช่นเดียวกันกับด้านยาว ส่วนตับบนเป็นสีเขียวและสีเหลือง ๒ สี พร้อมจัดทำครอบปูนปั้นทับแนวกระเบื้องฉาบด้วยปูนหมักขัดผิวปูนตำ
๒. งานหน้าบันและเครื่องลำยอง
๒.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๒.๒ ทำแบบขยายสภาพปัจจุบันให้ครบทุกองค์ประกอบ
๒.๓ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๒.๔ ทำ Shop Drawing แบบบูรณะของหน้าบันและเครื่องลำยองทั้งหมด แสดงรายละเอียดสัดส่วน ลวดลายและการประดับกระจกสีตามแบบดั้งเดิมที่สมบูรณ์
๒.๕ ถอดเก็บช่อฟ้าเดิมไว้ เพื่อนำไปจัดแสดงนิทรรศการภายหลัง
๒.๖ ฟันช่อฟ้าใหม่ทั้ง ๒ ตัว โดยใช้ไม้สัก ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีตาม Shop Drawing
๒.๗ ทำความสะอาดและบันทึกภาพถ่ายสภาพหน้าบันก่อนการดำเนินการ
๒.๘ ซ่อมแซมงานไม้ในส่วนที่ชำรุด
๒.๙ ซ่อมแซมกระจกสีตกแต่งหน้าบันที่ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี
๒.๑๐ ประดับกระจกสีเพิ่มเติมในส่วนที่กระจกเดิมสูญหายไปตามแบบ
๒.๑๑ ส่วนงานปิดทองลงรักปิดทองใหม่ทั้งหมด
ขอให้ตรวจสอบไม้สำหรับทำเครื่องลำยองทั้งหมดที่ทางวัดได้จัดเตรียมไว้แล้วว่าใช้ได้หรือไม่ก่อนดำเนินการ การอนุรักษ์ส่วนหน้าบันจะดำเนินการโดยช่างฝีมือจากกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม สำนักโบราณคดี
๓. งานฝ้าเพดานภายนอก-ภายในและไขราหน้าจั่ว
๓.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๓.๒ ติดตั้งไม้อัดยางความหนาไม่น้อยกว่า ๑๐ มม. ซ้อนทับบานประตู-หน้าต่างไม้ และติดตั้งไม้อัดยาง ความหนาไม่น้อยกว่า ๑๐ มม โครงเคร่าไม้เนื้อแข็ง คลุมซุ้มประตู-หน้าต่างทั้งหมด เพื่อป้องกันความเสียหายขณะทำการบูรณะฝ้าเพดาน
๓.๓ ทำแบบขยายสภาพปัจจุบันเพิ่มเติมให้ครบทุกองค์ประกอบที่จำเป็น
๓.๔ ตรวจสอบข้อมูล สภาพและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น ๓.๕ ลอกสีน้ำมันที่ทาทับอยู่เดิมออกทั้งหมดด้วยน้ำยาลอกสี นำเสนอผลการตรวจสอบสีดั้งเดิมเพื่อกำหนดสีที่จะใช้
๓.๖ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของไม้ฝ้าเพดานเดิม
๓.๗ ดำเนินการซ่อมแซมงานไม้แผ่น รวมทั้งช่องเปิดฝ้าเพดานที่ชำรุด
๓.๘ ขัดแต่งผิว ทาสีรองพื้นและทาสีตามหลักฐานที่พบจากการตรวจสอบ
๔. งานผนังและเสา
๔.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๔.๒ ย้ายอัฐิที่เก็บรักษาอยู่ในหอพระไตรปิฎกปัจจุบัน
๔.๓ ติดตั้งไม้อัดยางความหนาไม่น้อยกว่า ๑๐ มม. ซ้อนทับบนบานประตู-หน้าต่างไม้ และติดตั้งไม้อัดยางความหนาไม่น้อยกว่า ๑๐ มม โครงเคร่าไม้เนื้อแข็ง คลุมซุ้มประตู-หน้าต่างทั้งหมด เพื่อป้องกันความเสียหายขณะทำการบูรณะผนังและเสา
๔.๔ เขียนแบบขยายลวดบัว ฐานผนัง สภาพปัจจุบันไว้ และทำเป็น Shop Drawing แบบบูรณะ
๔.๕ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๔.๖ สกัดผิวปูนซีเมนต์ที่ฉาบไว้เดิมและส่วนที่เสื่อมสภาพออกทั้งหมด และขนย้ายเศษวัสดุออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งนี้โดยเก็บรักษาระดับผิวปูนฉาบเดิมไว้เป็นระยะเพื่อใช้สำหรับอ้างอิงในงานบูรณะขั้นตอนการฉาบปูนใหม่ พร้อมทั้งเก็บปูนเดิมบริเวณเหนือกรอบประตู-หน้าต่างไว้
๔.๗ รื้อถอนท่อ สายและอุปกรณ์งานระบบไฟฟ้าเดิมที่ไม่ใช้งานหรือเสื่อมสภาพออกทั้งหมด
๔.๘ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของอิฐก่อและคานไม้ทับหลัง
๔.๙ ซ่อมแซมเสริมความมั่นคงที่รอยแตกร้าวของอิฐก่อ
๔.๑๐ ซ่อมเปลี่ยนอิฐก่อที่ชำรุดเสียหาย เปื่อยยุ่ยจนหมดสภาพการรับน้ำหนัก
๔.๑๑ ซ่อมเปลี่ยนคานไม้ทับหลังที่ชำรุด เสริมความแข็งแรงคานไม้ทับหลัง
๔.๑๒ ทำระบบตัดความชื้นด้วยคอนกรีตที่ส่วนเสารับระเบียงรอบอาคาร
๔.๑๓ จัดทำหรือติดตั้งงานระบบไฟฟ้าที่มีการผังท่อร้อยในผนัง
๔.๑๔ ฉาบผิวปูนใหม่ โดยใช้ปูนหมักขัดผิวปูนตำทั้งภายใน-ภายนอก (โดยไม่ใช้ซีเมนต์ขาว) ปั้นแต่งบัวปูนปั้นฐานผนังในจุดต่างๆ ตามรูปแบบ
๕. งานประตู-หน้าต่าง
๕.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๕.๒ เขียนแบบขยายสภาพปัจจุบันเพิ่มเติมให้ครบทุกองค์ประกอบที่จำเป็น
๕.๓ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๕.๔ ลอกผิวบานหน้าต่างด้านในส่วนที่มีการทาสีทับไว้ออกทั้งหมดจนถึงเนื้อไม้เดิม หรือชั้นสีที่มีความแข็งแรงเพียงพอ ตรวจสอบสีดั้งเดิม
๕.๕ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของงานไม้เดิม
๕.๖ รื้อถอดบานหน้าต่างออกจากที่เดิม และขนย้ายออกมาซ่อมแซม ณ สถานที่ซึ่งจัดเตรียมไว้
๕.๗ ดำเนินการซ่อมแซมงานไม้ของบานหน้าต่างและกรอบเช็ดหน้า (วงกบ) ที่ชำรุด
๕.๘ อนุรักษ์ลายรดน้ำบานประตูและหน้าต่าง ด้วยวิธีสงวนรักษา ทำความสะอาดและซ่อมแซมส่วนที่ขาดหายด้วยการลงรักปิดทอง โดยใช้รักแท้ เขียนลวดลายเสริมส่วนที่ชำรุดด้วยหอระดาน เช็ดรักและปิดทองลวดลายส่วนที่ชำรุดให้สมบูรณ์
๕.๙ ติดตั้งบานประตูและหน้าต่างกลับเข้ายังตำแหน่งเดิม ภายหลังการซ่อมแซมงานไม้เรียบร้อยแล้ว
๕.๑๐ ติดตั้งอุปกรณ์มือจับ กลอน และกุญแจ ตามแบบดั้งเดิม
การอนุรักษ์ลวดลายรดน้ำจะดำเนินการโดยช่างฝีมือจากกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม สำนักโบราณคดี
๖. งานซุ้มประตู-หน้าต่าง
๖.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๖.๒ ตรวจสอบแบบขยายสภาพปัจจุบันของลวดลายปูนปั้นทุกซุ้ม และวิเคราะห์ต่อเติมลายปูนปั้นให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยทดลองปั้นเป็นตัวอย่างให้ดูเพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน
๖.๓ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๖.๔ ทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดผสมแอมโมเนียมคาร์บอเนต ลอกสีเหลืองทองที่ทาทับซุ้มปูนปั้นออกทั้งหมดจนถึงผิวปูนด้านในด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหาย
๖.๕ บันทึกภาพถ่ายสภาพปูนปั้นภายหลังจากการลอกสีออก
๖.๖ เสริมความมั่นคง ซ่อมแซม และปั้นเสริมงานปูนปั้นในส่วนที่ชำรุดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามรูปแบบ
๖.๗ ลงรักปิดทองใหม่ทั้งหมด โดยใช้รักแท้และแผ่นทองคำเปลวแท้คัดอย่างดีให้เนื้อทองเป็นสีเดียวกัน
การอนุรักษ์ลวดลายปูนปั้นจะดำเนินการโดยช่างฝีมือจากกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม สำนักโบราณคดี ด้วยหลักการที่จะรักษาเนื้อวัสดุและฝีมือช่างเดิมไว้ให้มากที่สุด
๗. งานพื้น
๗.๑ พื้นภายในห้องชั้นบน
๗.๑.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๗.๑.๔ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของไม้พื้นเดิม
๗.๑.๕ ถอดรื้อพื้นไม้เดิมออก
๗.๑.๖ เรียงไม้พื้นใหม่ โดยใช้ระบบการเรียงรูปแบบเดิม ดำเนินการซ่อมแซมไม้ในส่วนที่เสื่อมสภาพเล็กน้อย และเปลี่ยนไม้ใหม่ ในส่วนที่ชำรุด โดยใช้ไม้สัก
๗.๑.๗ ขัดแต่งผิว ทาสีย้อมไม้ น้ำยารักษาเนื้อไม้ ที่พิจารณาเลือกหลังจากการศึกษาเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่างๆในท้องตลาดและวิธีการดั้งเดิม
๗.๒ พื้นระเบียงชั้นบน
๗.๒.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๗.๒.๒ สกัดปูนที่เททับบนพื้นไม้เดิมออก
๗.๒.๓ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของไม้พื้นเดิม
๗.๒.๔ ถอดรื้อพื้นไม้เดิมออก
๗.๒.๕ เรียงไม้พื้นใหม่ ภายหลังการเสริมความมั่นคง ซ่อมแซมโครงสร้างรับพื้นไม้ โดยใช้ระบบการเรียงในรูปแบบเดิม ดำเนินการซ่อมแซมไม้ในส่วนที่เสื่อมสภาพเล็กน้อย และเปลี่ยนไม้ใหม่ ในส่วนที่ชำรุด โดยใช้ไม้สัก
๗.๑.๖ ขัดแต่งผิว ทาสีย้อมไม้ น้ำยารักษาเนื้อไม้และเคลือบผิวไม้ ที่พิจารณาเลือกหลังจากการศึกษาเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่างๆในท้องตลาดและวิธีการดั้งเดิม
๗.๓ พื้นภายในห้องใต้ถุน
๗.๓.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๗.๓.๒ รื้อสุขภัณฑ์ห้องน้ำเดิม และพื้นเดิม ออกทั้งหมด
๗.๓.๓ ปูพื้นใหม่โดยใช้กระเบื้องดินเผาแกร่ง ตาม Shop Drawing แบบขยายที่ได้รับอนุมัติแล้ว
๗.๔ พื้นรอบนอกห้องใต้ถุน
๗.๔.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๗.๔.๓ รื้อฟื้นระดับพื้นดั้งเดิม โดยทำการสกัดพื้นปูน ผิวถนนปัจจุบันออก
๗.๔.๔ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบ วัดระดับและจัดทำแบบแสดงหลักฐานทางด้านโบราณคดีและสถาปัตยกรรมที่พบ และจัดทำแบบแสดงความเสียหายของโครงสร้างด้านล่างทั้งหมด
๗.๔.๕ ทำ Shop Drawing แบบบูรณะโครงสร้างด้านล่างที่พบ
๗.๔.๖ ดำเนินการซ่อมแซมโครงสร้าง ตามแบบบูรณะ
๗.๔.๗ ปูผิวพื้นใหม่ด้วยอิฐขนาดใหญ่ เท่าของดั้งเดิมตามที่ขุดพบ
๘. งานบันไดและพนักระเบียง
๘.๑ บันทึกภาพถ่ายโดยละเอียดก่อนเริ่มงานบูรณะ
๘.๒ เขียนแบบขยายสภาพปัจจุบันเพิ่มเติมให้ครบถ้วน
๘.๓ ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายก่อนการบูรณะ พร้อมจัดเก็บตัวอย่างวัสดุที่จำเป็น
๘.๔ สกัดผิวปูนฉาบบริเวณพนักบันไดและพนักระเบียงออก ขนย้ายออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งนี้โดยเก็บรักษาระดับผิวปูนฉาบเดิมไว้เป็นระยะเพื่อใช้สำหรับอ้างอิงในงานบูรณะขั้นตอนการฉาบปูนใหม่ และระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายกับเครื่องถ้วยจีนประดับผนัง
๘.๕ สกัดบัวปูนปั้นที่ชำรุดเสื่อมสภาพออกทั้งหมด ทั้งนี้โดยเก็บรักษาระดับผิวปูนฉาบและบัวปูนปั้นเดิมไว้เป็นระยะเพื่อใช้สำหรับอ้างอิงในงานบูรณะขั้นตอนการฉาบปูนและปั้นบัวใหม่
๘.๖ รื้อถอนประตูไม้และพื้นไม้เดิมที่บริเวณชานพักบันได รื้อถอนบันไดปูนเข้าสู่ภายในหอไตรออกเปลี่ยนเป็นบันไดไม้ตามแบบบูรณะ
๘.๗ บันทึกภาพถ่าย ตรวจสอบและจัดทำแบบแสดงความเสียหายของอิฐก่อภายหลังการรื้อถอน
๘.๘ รื้อถอนกระเบื้องปรุจีนที่ชำรุดจนหมดสภาพการใช้งานออก ส่วนกระเบื้องปรุเดิมที่ยังอยู่ในสภาพดี ให้นำไปจัดเก็บในที่ที่เตรียมไว้
๘.๙ ซ่อมรอยแตกร้าวของอิฐก่อ
๘.๑๐ ซ่อมเปลี่ยนอิฐก่อที่ชำรุดเสียหาย เปื่อยยุ่ยจนหมดสภาพการรับน้ำหนัก
๘.๑๑ ติดตั้งกระเบื้องปรุเดิมที่ยังอยู่ในสภาพดี รวมไว้ที่พนักระเบียงด้านทิศตะวันตก
๘.๑๒ ติดตั้งกระเบื้องปรุจีนที่จัดทำขึ้นใหม่ทดแทนของเดิม โดยให้ระบุปี พ.ศ. ที่ทำการซ่อมไว้ที่กระเบื้อง
๘.๑๓ ซ่อมแซมบัวปูนปั้นที่ชำรุดหรือปั้นใหม่เสริมให้สมบูรณ์
๘.๑๔ ฉาบผิวปูนใหม่ โดยใช้ปูนหมักขัดผิวปูนตำ
๘.๑๕ ซ่อมแซมลูกตั้ง ลูกนอนบันไดหรือแผ่นหินที่ชำรุด รื้อฟื้นระดับเดิมของลูกนอนขั้นบันไดล่างสุด
๘.๑๖ ติดตั้งประตูไม้ที่จัดทำขึ้นใหม่บริเวณชานพักบันได
๙. งานระบบอาคาร
๙.๑ ระบบไฟฟ้าแสงสว่างและเต้าเสียบ แก้ไขการเดินสายไฟและตำแหน่งมิเตอร์ไฟฟ้าในปัจจุบันที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยจัดทำ Shop Drawing ขออนุมัติก่อน
๙.๒ ระบบป้องกันอัคคีภัย จัดหาอุปกรณ์ดับเพลิง
๙.๓ ระบบป้องกันปลวก วางท่อไว้ใต้ดินเพื่อฉีดน้ำยา
รายละเอียดวัสดุ
ปูนที่ใช้ในการบูรณะ
เนื่องจากวัสดุปูนที่ใช้ ก่อ ฉาบ และใช้เป็นลวดลายประดับโบราณสถานนั้น เป็นปูนที่มีคุณภาพและเหมาะสม มากกว่าปูนที่ใช้ในปัจจุบัน จึงกำหนดให้ผู้รับจ้างใช้ปูนแบบโบราณ ซึ่งมีรายละเอียดโดย ทั่วไปดังนี้รายละเอียดปูนหมัก - ปูนตำ
- เทคนิคการเตรียมปูนหมัก ปูนตำ มีขั้นตอนและรายละเอียดดังนี้
ก. วัตถุดิบ ปูนดิบ คือปูนที่ได้จากการเผาหินปูน (CaCo3) ด้วยความร้อนสูง เพื่อไล่คาร์บอนไดออกไซด์ หินปูนจะแตกเป็นก้อน ๆ เรียกว่า ปูนดิบ (CaO)
ข. ปูนหมัก ให้นำปูนดิบมาดำเนินการดังนี้
ย่อยปูนดิบ ให้ทุบปูนดิบที่ได้ให้เป็นก้อนขนาดเล็ก ขนาดไม่ใหญ่กว่า f ๕ ซม. เพื่อลด
ปฏิกิริยาเคมีในขณะหมัก
การหมักปูน
บ่อหมัก ให้ก่อบ่อหมักที่แข็งแรงด้วยการก่อผนังอิฐฉาบปูน โดยให้มีปริมาณ
บรรจุตามความเหมาะสม และสะดวกในการนำกลับมาใช้
การหมัก ให้นำปูนดิบที่ย่อยแล้วใส่ในภาชนะ เช่น ถัง ตามปริมาณที่ต้องการ ไป
ครั้งที่ ๑ วางในบ่อหมัก ใส่น้ำจืดที่สะอาดลงไปในบ่อให้น้ำมีระดับท่วมสูงกว่าปูนดิบไม่น้อยกว่า ๑” หลังจากนั้น จะเกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรง น้ำจะมีอุณหภูมิถึงจุดเดือดและปูนดิบจะแตกตัวจนละเอียด ทิ้งไว้จนกว่าปฏิกิริยาจะหยุด น้ำในบ่อจะแห้งจนเหลือปูนขาวเหนียว (CaO2H2)
ครั้งที่ ๒ การหมัก ให้นำปูนขาวเหนียวที่ได้ขึ้นจากบ่อ ล้างน้ำ ร่อนผ่านตะแกรงขนาด ๕ X ๕ ตร.มม เพื่อเอาเศษวัสดุก้อนปูนขาวขนาดใหญ่ และปูนที่ ไม่เกิดปฏิกิริยาออก นำปูนที่ได้ไปหมักในบ่ออีกครั้งหนึ่ง โดยควรดูแลรักษาระดับน้ำให้ท่วมปูน อยู่ในระดับไม่น้อยกว่า ๑” ทิ้งไว้อย่างน้อย ๒ สัปดาห์ เรียกปูนนี้ว่า ปูนหมัก เมื่อจะนำปูนไปใช้ให้ถ่ายน้ำปูนออก น้ำปูนที่ถ่ายออกสามารถนำไปสลัดใส่ผนังที่จะทำการฉาบ เพื่อเร่งผลให้ปูนฉาบแข็งตัวเร็วขึ้นได้
ค. ปูนตำ ใช้ในการอนุรักษ์ลวดลายปูนปั้น มีวัสดุดังนี้
- ปูนหมัก
- กระดาษสา หรือกระดาษฟาง
- น้ำ และวัสดุอื่น ๆ เช่น น้ำตาลอ้อย
มีขั้นตอนดังนี้
- ตากปูนหมัก ให้นำปูนหมักมาปั้นเป็นก้อน ขนาดประมาณ f ๔” นำไปตากแดดประมาณ ๑ วัน จนปูนหมักแห้ง
- การตำ ให้นำปูนที่ตากแห้งแล้ว ไปตำในครกด้วยไม้ แล้วใส่กระดาษสา หรือกระดาษฟาง ตำให้เนื้อปูนกับเนื้อกระดาษผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ใส่น้ำพอประมาณให้เนื้อปูนเหนียวพอเหมาะแก่การนำไปใช้
- การหมัก นำปูนตำที่ได้ใส่ถุงพลาสติก ขนาดพอเหมาะ มัดให้แน่น ไม่ให้อากาศเข้า แล้วนำไปแช่ในภาชนะใส่น้ำให้ท่วม หมักต่อไปอีกอย่างน้อย ๒ อาทิตย์ จึงสามารถนำไปใช้ได้
- เทคนิคการนำไปใช้
ปูนฉาบ ประกอบด้วยส่วนผสม ๒ ประเภท ดังนี้
- ปูนฉาบ ชั้นที่ ๑-๒ ส่วนผสม ปูนหมัก ๒ ส่วน ทราย ๕ ส่วน โดยปริมาตร
- ปูนฉาบ ชั้นที่ ๓ และชั้นผิวนอก ส่วนผสม ปูนหมัก ๑ ส่วน ทราย ๓ ส่วน โดยปริมาตร
การฉาบ
หลังจากจัดเตรียมส่วนผสม (ผสมน้ำกาว และน้ำอ้อย หรือน้ำตาล หากมีความจำเป็นตามเทคนิคโบราณ) ให้มีความเหนียว ความข้น พอเหมาะแล้ว ในการฉาบชั้นที่ ๑-๓ ให้ฉาบหนาประมาณ ๙-๒๐ มม. ตามความเหมาะสม ส่วนการฉาบผิวนอก ให้ฉาบเรียบหนาประมาณ ๒-๓ มม. เท่านั้น โดยให้ประพรมน้ำด้วยการสเปรย์วันละ ๔-๑๒ ครั้ง เพื่อหน่วงเวลาการแข็งตัวของปูน ไม่ให้แข็งเร็วจนเกินไป การฉาบแต่ละชั้นควรเว้นระยะเพื่อให้การหดตัวในระยะแรกผ่านไปก่อนฉาบชั้นต่อไปควรตรวจสอบการยึดเกาะและกำลังด้วย
ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นการฉาบบนผิวคอนกรีตปูนซีเมนต์ขาวจึงให้มีการผสมปูนซีเมนต์ขาวในส่วนผสมปูนตำที่ผิวนอกด้วย
ปูนโครงสร้าง ให้ใช้อัตราส่วนดังนี้
ปูนซีเมนต์ขาว : ทราย : หิน = ๑ : ๒ : ๔
รายละเอียดอื่น ๆ ให้เป็นไปตามรายการประกอบแบบมาตรฐานของกรมศิลปากร
เทคนิคการซ่อมแซมและอนุรักษ์ปูนปั้น ปูนฉาบ
๑. ทำความสะอาดรอยขอบปูนฉาบ ด้วยแปรงขนอ่อนและน้ำสะอาด
๒. กะเทาะปูนส่วนขอบ ที่หมดสภาพออก
๓. กะเทาะปูนส่วนที่โป่ง พอง ผิวปูนไม่ติดผิวอิฐออก
๔. พรมน้ำจืด ให้ผิวปูนและอิฐชุ่มน้ำพอหมาด
๕. ฉาบปูนหมัก ปูนตำ ตามสูตรที่กำหนด ตามรอยขอบกว้างประมาณ ๑ นิ้ว หนาน้อยกว่าปูนเดิม ประมาณ ๒ ม.ม.
การดำเนินการในส่วนนี้เป็นงานละเอียดประณีต ผู้รับจ้างต้องแจ้งผู้ควบคุม งานล่วงหน้าก่อนดำเนินการ โดยการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานการอนุรักษ์
กรณีที่ปูนฉาบมีหลักฐานร่องรอยที่มีความสำคัญเป็นพิเศษในทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือศิลปกรรม (ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะผู้ออกแบบ) ให้ดำเนินการอนุรักษ์ตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการอนุรักษ์ที่ได้มาตรฐานของกรมศิลปากร ดังต่อไปนี้
๑. ถ่ายภาพบริเวณที่จะทำการอนุรักษ์ไว้โดยละเอียด ก่อนดำเนินการเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
๒. ทำความสะอาดผิวขจัดคราบสกปรกด้วยน้ำสะอาดและแปรงขนอ่อน
๓. เสริมความมั่นคงให้ผิวปูนที่แตกตัวจากอิฐก่อด้วยการฉีดกาวผสมปูนหมักเชื่อม
๔. ใช้เคมีภัณฑ์ป้องกันและขจัดพืช และวัชพืช
๕. ใช้เคมีภัณฑ์ป้องกันเชื้อรา
๖. ยึดขอบผิวปูนฉาบที่ชำรุด ด้วยปูนหมัก ปูนตำ
๗. เสริมความมั่นคงผิวปูนบางแห่งด้วยแกนเหล็กไร้สนิม (วิศวกรและนักอนุรักษ์เป็นผู้กำหนดรายละเอียด)
๘. อาบสารป้องกันการซึมของน้ำ
๙. เสริมกาวสารสังเคราะห์ เพื่อให้ผิวปูนฉาบและอิฐแข็งแรง
๑๐. ถ่ายภาพขั้นตอนระหว่างการดำเนินงานและหลังการดำเนินงานโดยละเอียด
มาตรฐานวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามรายการมาตรฐานการก่อสร้างอาคารของกรมศิลปากร