วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ประเทศไทยในกรรมการมรดกโลกกับฉากต่อไปที่พระวิหาร

ก่อนอื่นคงต้องขอแสดงความยินดีกับพ่อแม่พี่น้องชาวไทย ที่ ดร.โสมสุดา ลียะวณิช รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนจากประเทศไทยของเราได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลก ๒๑ ชาติ ในการเลือกตั้งคณะกรรมการมรดกโลกที่ว่างลงตามวาระ ๑๒ ตำแหน่ง ในโอกาสของการประชุมที่องค์การยูเนสโก ปารีส ที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่อาจจะกล่าวได้ว่าเหนือความคาดหมาย เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ยังตึงเครียดอยู่จากกรณีของปราสาทพระวิหาร ที่คณะกรรมการมรดกโลกชุดก่อนได้มีมติให้บรรจุในบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรมไปเรียบร้อยแล้วในฐานะมรดกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ตั้งแต่การประชุมที่เมืองควิเบค แคนาดาเมื่อปีที่แล้ว โดยไม่สนใจข้อมูลและข้อโต้แย้งของคณะผู้แทนไทยซึ่งขณะนั้นเข้าประชุมด้วยฐานะที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ อีกทั้งในส่วนของอิโคโมสสากลซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประเมินเอกสารที่นำเสนอว่าแหล่งนั้นๆมีคุณค่าและมาตรการในการปกป้องคุ้มครองครบถ้วนสมควรที่จะนำเข้าวาระให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาตัดสินให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือไม่ ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับรายงานข้อโต้แย้งการประเมินและแผนการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารในเขตประเทศไทยที่จัดทำโดยอิโคโมสไทย ทั้งที่มีถูกต้องตามหลักวิชาการและข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบี้ยวเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

จนมาถึงการประชุมที่เมืองเซวีย่า สเปนในปีนี้ ซึ่งตามวาระกัมพูชาจะต้องรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตพื้นที่กันชน และ พื้นที่การจัดการร่วม ตามที่ให้สัญลักษณ์ไว้ว่า N2 และ N3 แต่ยังไม่มีขอบเขต (เพราะต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะล่วงล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ของไทยแม้ว่ากัมพูชาจะยืนยันว่าไม่เคยยอมรับเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อน) และเรื่องการจัดตั้ง ICC คณะกรรมการร่วมนานาชาติที่จะมาช่วยกันดูแลมรดกโลกพระวิหารนี้ ที่ขอให้เชิญไทยเข้าร่วมด้วย ในเมื่อยังไม่มีการเจรจาใดๆกับประเทศไทยในเรื่องนี้เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับทั้งฝ่ายไทย กัมพูชา และเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานเอง แต่กลับใช้เกมการเมืองในรูปแบบต่างๆ ก่อให้เกิดความตึงเครียด การเผชิญหน้า จนถึงการปะทะกันทั้งระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา และในส่วนคนไทยด้วยกันเอง จึงไม่มีอะไรไปรายงานแบบเปิดเผย (เมื่อเรายังไม่ได้เป็นกรรมการมรดกโลกก็ไม่รู้ว่ากัมพูชาไปรายงานว่าอย่างไร) แต่ก็ได้รับการผ่อนผันให้เป็นกรณีพิเศษอย่างเคย ในกรณีของแผนบริหารจัดการของปราสาทพระวิหารที่จะต้องส่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็อาจจะเช่นเคย คือได้รับการผ่อนผัน เมื่อยังเจรจากับไทยไม่ได้และไม่สามารถเปิดเผยแผนบริหารจัดการที่มีปัญหาอย่างเป็นทางการ

ตั้งแต่ได้ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งกรรมการมรดกโลก โดยที่มีผู้แทนของกัมพูชาเข้าเสนอตัวด้วย จากประสบการณ์ที่ผมได้รับเกี่ยวกับเรื่องขององค์กรระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมานี้ ทำให้คาดได้ว่าเขานอนมาแน่ และเมื่อได้เข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมการผู้พิจารณาเรื่องราวของมรดกโลกที่รวมถึงพระวิหารที่ยังค้างคาอยู่ด้วยนี้ ก็ชัดเจนว่าความเอนเอียงในประชาคมโลกที่มีอยู่แล้ว ก็คงจะไม่มีอะไรยับยั้งได้อีกต่อไป และคงมีผลโดยตรงกับสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กว่าเราจะตัดสินใจได้ว่าจะส่งใครลงสนามแข่งขัน เขาก็ได้หาเสียงล่วงหน้าเราไปนานแล้ว ผมเห็นด้วยกับท่านธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ที่กล่าวไว้ในวันแถลงข่าวว่า “ดีใจมากๆที่ได้ทั้งสองประเทศ” ท่านยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า ความจริงเสียงส่วนใหญ่เขาเห็นว่าไม่อยากจะให้เป็นกรรมการทั้งสองประเทศ เพราะไม่ต้องการเติมความขัดแย้งให้มากขึ้น (หากได้เพียงคนใดคนหนึ่ง) แต่ในที่สุดแนวคิดที่ว่า ปัญหาทั้งหลายแท้จริงก็เกิดจากคณะกรรมการมรดกโลกนี้ จึงน่าจะได้แก้ไขด้วยการที่ทั้งไทยและกัมพูชามาตกลงกันภายในคณะกรรมการมรดกโลก อาจเป็นแรงผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายได้รับเลือกทั้งคู่ หลายคนอาจกังวลใจและน้อยใจที่เราได้คะแนนน้อยกว่ากัมพูชา ๑ คะแนน แต่ถ้านึกถึงเวลาที่เราใช้ในการหาเสียงแล้วได้รับเลือกด้วยคะแนนที่สูงพอที่จะเป็นกรรมการมรดกโลกตั้งแต่รอบแรก (หากได้เสียงสนับสนุนไม่ถึงครึ่งจะต้องเลือกใหม่เป็นรอบสอง) เป็นถึงที่ ๓ จาก ๑๐ ตำแหน่งที่ต้องการเช่นนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นความสามารถของทีมงานอย่างแท้จริง และเมื่อได้เป็นกรรมการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสวิสที่ได้คะแนนมากที่สุดหรือ เอมิเรตส์ที่เข้ามาแบบไม่มีคู่แข่ง เพราะเสนอตัวในฐานะประเทศที่ยังไม่มีแหล่งมรดกโลกเลยเพียงชาติเดียว ไม่ต้องมีคะแนน ทุกชาติต่างก็มีหนึ่งเสียงเท่ากัน

นอกจากหนึ่งเสียงที่จะช่วยในการผลักดันให้มรดกที่มีคุณค่าของไทยได้รับการเชิดชูในฐานะมรดกโลกให้มากขึ้น และสนับสนุนให้สองแหล่งที่อยู่ใน Tentative list ของเราได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกต่อไปแล้ว เราจะสามารถคาดหวังอะไรได้บ้างจากผู้แทนประเทศไทยของเราท่านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปราสาทพระวิหาร ที่เราได้เคยโต้แย้งทั้งในเรื่องความถูกต้องทางวิชาการ และ การบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์อย่างเหมาะสมของปราสาทที่มีปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง จากนี้ไปถือว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลกที่มีหน้าที่ในการพิจารณากำหนดแนวทางในการปกป้องคุ้มครองมรดกโลกทั้งทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา ตรงกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยสำหรับมรดกโลกที่ ดร.โสมสุดาประกาศเป็นเจตนารมย์ในเอกสารที่ใช้ในการหาเสียง ตั้งแต่ข้อแรกที่ว่า

“ประเทศไทยตระหนักถึงวัตถุประสงค์หลักของการจัดทำบัญชีมรดกโลกเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกและคุณค่าที่เป็นสากล อันเป็นประโยชน์โดยรวมของประชาคมโลก ไม่ใช่การประกวดเพื่อชื่อเสียง และกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว แต่ต้องเน้นการรักษาคุณภาพของข้อมูลทางวิชาการ และมาตรการในการดูแลรักษา ...กล่าวคือจะต้องมุ่งรักษาผลประโยชน์ของมรดกเพื่อการใช้สอยอย่างยั่งยืน(Sustainable Use)มากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง” ประการต่อมาคือ “ความเป็นธรรมและเสมอภาค สนับสนุนให้มีแหล่งมรดกโลกอย่างครบถ้วนและทั่วถึงเพื่อเป็นตัวแทนของทุกอารยธรรมในโลก ไม่จำกัดเฉพาะแต่มรดกสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่โต แต่ให้ครอบคลุมถึงตัวแทนของความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางจิตใจ และความผูกพันของกลุ่มวัฒนธรรม” และประการสุดท้ายได้แก่ “ความปรารถนาในความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างชาติต่างๆ และสันติภาพในโลกจากการประสานงานร่วมมือในระหว่างเครือข่ายของประเทศภาคีสมาชิกที่มีลักษณะของมรดกร่วมกัน...”

ความคาดหวังทั้งหมดจึงมาอยู่ที่ผู้แทนของเรา ที่ถือเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับเกียรตินี้หลังจากที่ ศ. ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ได้เคยฝากฝีมือไว้จนเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลกมาแล้ว เมื่อโอกาสมาถึง ให้ประเทศไทยได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่อีกครั้งเช่นนี้ นอกเหนือจากความรู้ความสามารถทางวิชาการด้านโบราณคดีที่ได้ร่ำเรียนมาของ ดร.โสมสุดา ในด้านการบริหารเมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการอิโคโมสไทย ตั้งแต่ยังเป็นองค์กรที่ไม่มีกิจกรรมใดๆเพื่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ท่านได้มองการณ์ไกลว่าควรจะต้องมีการพัฒนาองค์กรเอกชนนี้ขึ้นมาเพื่อสานต่องานที่กรมศิลปากรดูแลอยู่ ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน จึงได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งสำนักงานของอิโคโมสไทย จัดจ้างเจ้าหน้าที่ประจำขึ้น พร้อมการสร้างเครือข่ายดังที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยบุคลิกลักษณะ ความรู้และความสามารถในการบริหารของท่าน น่าจะเหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งเช่นนี้ ด้วยการวางตัวอย่างเหมาะสม ยึดมั่นในหลักการทางวิชาการ พยายามผลักดันการเมืองที่เข้ามาแทรกแซงให้ออกไป ร่วมตรวจสอบการบ้านที่กัมพูชาทำมาส่งด้วยเหตุและผลอย่างตรงไปตรงมา นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเป็นธรรมให้ที่ประชุมรับทราบ ไม่ได้มุ่งจะเอาแต่ผลประโยชน์ของไทยแต่เพียงอย่างเดียว จากการวางตัวให้เป็นที่เคารพนับถือของท่านในระดับสากล ก็หวังว่าในภาคส่วนอื่นของเราจะได้เข้าใจและมาช่วยกันสนับสนุนโดยธรรมาภิบาล เพื่อการประกาศคุณค่าและปกป้องคุ้มครองมรดกของโลกร่วมกันอย่างแท้จริง และผลประโยชน์ก็จะตามมาพร้อมด้วยมิตรภาพของคนทั้งสองแผ่นดินอย่างยั่งยืนตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น: