แต่ที่อยากจะเล่าสู่กันฟังเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อสังเกตทางด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการอนุรักษ์ เริ่มจากประวัติของปราสาทแห่งนี้ก่อนแล้วค่อยมาสังเกตในเรื่องของการอนุรักษ์ จะเห็นว่าสิ่งที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันมีปราสาทที่เป็นอาคารสิ่งก่อสร้างอยู่ 2 หลังด้วยกัน ปกติสำหรับปราสาทขอมเรามักจะเจอที่เป็นปราสาทหนึ่งองค์หรือว่าสามองค์ แต่ที่นี่เราพบอยู่ 2 องค์ ทีนี้โดยรูปแบบศิลปะหรือบางทีเนื่องจากหลายๆที่เรามักจะดูข้อมูลจากจารึก หรือว่าเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะเพื่อให้ทราบว่าอาคารสร้างขึ้นเมื่อไร ที่นี่ไม่ได้จารึกระบุไว้ว่าสร้างเมื่อไร แต่เราดูได้จากลักษณะของลวดลายที่สลักอยู่บนอิฐตรงส่วนหัวนาคก็จะเห็นว่าเป็นนาคในแบบที่มีเป็นแผงประดับอยู่เหนือศรีษะ ซึ่งระบุได้ว่ารูปแบบหัวนาคแบบนี้จะเหมือนกับที่เราได้เห็นกันมาแล้วที่ปราสาทศีขรภูมิ ก็คืออยู่ใน style แบบนครวัดนั่นเอง หรือสิ่งก่อสร้างในช่วงประมาณรัชสมัยของกษัตริย์เขมรที่พระนามว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
ตัวอาคาร 2 หลังแต่ว่าลักษณะจะแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคืออาคารหลังที่ยอดยังสมบูรณ์จะมีการก่อเป็นซุ้มดูจากผังที่ยื่นเป็นซุ้มยื่นออกมาด้านหน้าด้วย แต่ว่าส่วนขององค์ประกอบอื่นๆ เช่น ทับหลัง ก็ไม่อยู่แล้วคาดว่าคงจะโดนเคลื่อนย้ายไปไหนแล้ว ไม่แน่ใจว่าเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ใดหรือไม่ ส่วนด้านหน้าอาคารโบราณสถานก็จะมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ ที่น่าจะเป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมของอาคาร คาดว่าจะเป็นส่วนของอาคารทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศด้านหน้า มีส่วนของหัวนาคที่เป็นหิน เหมือนกับอย่างที่ปราสาทศีขรภูมิ การที่เรามาเจอหลักฐานของหัวนาคที่อยู่ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทนี้ เราจะสังเกตได้ว่าถ้าเปรียบเทียบก็จะเห็นค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าการบูรณะที่ปราสาทศีขรภูมิน่าจะมีเหตุผล คือส่วนหัวนาคทางด้านหน้าจะเป็นหินในขณะที่หัวนาคส่วนด้านข้างจะเป็นอิฐแกะสลัก
ทีนี้มาดูกันต่อในเรื่องของการทรุดเอียงของตัวโครงสร้างในการซ่อมเบื้องต้น เราก็จะเห็นว่ามีการนำเอาอิฐใหม่มาอุดตามรอยแยก จริงๆ คัดขึ้นไปกว่าที่ศีขรภูมิเพราะว่าอิฐที่เป็นอิฐขนาดก้อนเล็กจริงๆ ที่นี่ก็พึ่งจะมีการทำเรื่องเข้ามาเรื่องที่ว่าจะมาซ่อมแซมส่วนของค้ำยัน อันนี้ที่เราเห็นเป็นค้ำยันที่ทำไว้เก่าแล้วแต่ว่ามีเรื่องที่ทางสำนักศิลปากรพิมาย ซึ่งจะทำเรื่องเข้าไปขออนุมัติในการจัดการ คือมาซ่อมส่วนค้ำยันให้ยังสามารถที่จะรับตัวอาคารได้ต่อไป ซึ่งในส่วนของครึ่งหนึ่ง ผมเข้าใจว่าแต่เดิมน่าจะเต็มอยู่ เสร็จแล้วที่เราจะให้สลิงไปปะทะกับตัวโบราณสถานที่เป็นอิฐซึ่งจะมีความอ่อน ก็จะไปกดทำลาย ส่วนใหญ่แล้วที่เราเคยพบก็จะใช้วัสดุที่แข็งน้อยกว่าสลิงไปรองก็คือเป็นพวกไม้ แล้วไม้เวลายึดกับสลิงก็คงตีตะปูทับยึดไว้แล้วพอนานๆไป ตะปูเป็นสนิมบ้างอะไรบ้าง ไม้ก็อาจจะหลุดถอนออกไป สลิงก็จะหย่อน ตอนนี้ว่าสลิงที่จะใช้รัดถ้าเราไปดูในแหล่งอื่นจะมีกรณีในลักษณะนี้ ก็คงจะใช้รัดได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแค่ช่วง 1 ปี หรือว่าระยะเวลาที่เราคิดว่าเราจะเข้าไปทำในเร็ววัน ถ้านานไปก็จะสิ้นผลแบบนี้ ก็จะสูญเปล่า ถ้าเกิดมีการเคลื่อนตัวยังขยับอยู่จริงๆก็อาจจะเฟ็ลท์ไปเลยทั้งตัวโบราณสถาน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะไปค้ำยันหรือว่าไปรัดก็ต้องดูช่วงระยะเวลาและต้องเลือกใช้วัสดุที่ดูแล้วเหมาะ ถ้าเกิดเราไม่มั่นใจว่าจะอยู่ได้นาน เราอาจจะใช้วัสดุประเภทอื่นที่เสื่อมสภาพได้ยากกว่า อย่างเช่นอาจจะเป็นโครงเหล็กโดยใช้ท่อเหล็กกลม รัดบีบไว้แต่ว่าภาพที่ออกมาอาจจะใช้พื้นที่มากหน่อยและจะรกสายตาก็อาจต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป
ก็คงต้องย้ำว่านี่เป็นการค้ำยันในลักษณะเหมือนการปฐมพยาบาล เพราะว่าจริงๆแล้วที่นี่เราจะเห็นว่ายังไม่ได้มีการขุดแต่ง เป็นการทำชั่วคราวในขณะที่เรายังไม่ได้มีงบหรือว่ามีโครงการที่จะมาทำอย่างเต็มรูปแบบ เพราะคาดว่าระดับดินเดิมน่าจะต่ำลงไปกว่าระดับพื้นในปัจจุบันนี้ น่าจะมีฐานของอาคารนี้อีกชั้นหนึ่ง ก็คือส่วนของศิลาแลงเราเห็นโผล่อยู่ก้อนครึ่งโดยประมาณ ซึ่งจริงๆคงจะลึกลงไปอีก ดูได้จากสภาพถ้าถึงเวลาที่จะทำโครงการบูรณะอย่างเต็มรูปแบบจริงๆ ก็คงเริ่มด้วยงานโบราณคดี พอขุดลงไปแล้วก็อาจจะต้องกลับมาดูเรื่องที่อุดตามรอยแยกเดิมนี้ไว้ที่เป็นอิฐเล็กๆและมีปูนซีเมนต์เราคงจะต้องแก้ไขตรงนี้ด้วย เพราะจะเห็นว่าการซ่อมแซมนี้ดูแตกต่างมากจนเกินไปโดยขนาดของอิฐด้วยปูนสอด้วยปูนยาแนว
จากการบรรยายที่ปราสาทยายเหงา โดย วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิก และ สุดชาย พานสุวรรณ วิศวกรโยธา กิจกรรมทางวิชาการของ กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร
1 ความคิดเห็น:
I did not know how to read your language, but I found the photo was very interesting!
แสดงความคิดเห็น