วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สด๊กก๊อกธม : การทดลองประกอบหินและศึกษาเปรียบเทียบ

ทางดำเนินประดับเสานางเรียง หลังการขุดแต่งพบชิ้นส่วนของเสานางเรียงจำนวนมาก แต่ไม่พบต้นที่มีสภาพสมบูรณ์เลย ภายหลังได้ทราบว่าทางวัดตาพระยามีเก็บรักษาไว้ จึงได้ข้อมูลที่สมบูรณ์และขอนำกลับมาใช้ในการบูรณะ แม้จะพบตัวอย่างหลายแห่งที่มีการทำทางดำเนินที่ประดับด้วยเสานางเรียง ที่มีลักษณะคล้ายเสาตะเกียงที่มักจะทำส่วนยอดเป็นรูปดอกบัว แต่ก็ไม่มากพอที่จะสรุปกฎเกณฑ์ ข้อแม้ลักษณะของการนำเอาลักษณะนี้มาใช้ได้ ขนาดที่แตกต่างกันระหว่างเสานางเรียงของทางดำเนิน และเสาที่ปักล้อมรอบปราสาทประธานอยู่ด้านใน น่าจะบอกได้ว่าเป็นลักษณะการใช้สอยที่เป็นกันคนละเรื่อง การใช้เสานางเรียงประดับช่วยเน้นทางเข้าน่าจะทำขึ้นเป็นครั้งแรกที่ปราสาทบันทายสรี (ก่อนหน้านั้นมีประดับทางเดินตรงกลางด้านหน้าปราสาทแปรรูปแต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ และอาจจะเพื่อวัตถุประสงค์ในการกำหนดพื้นที่สำคัญก็อาจเป็นได้) นอกจากนี้ยังพบที่ปราสาทวัดพู เมืองจำปาสัก ปราสาทพระวิหารในยุคคลังต่อบาปวน ปราสาทพนมรุ้งในแบบนครวัด และปราสาทพระขรรค์ ในแบบบายน

สระน้ำ จากการขุดตรวจพบขอบเขตดั้งเดิมของสระอยู่ห่างจากระเบียงคดออกไปประมาณ ๑๐ เมตร เป็นรูปปีกกากว้างประมาณ ๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร ความลึกของคูน้ำประมาณ ๕ เมตร ลักษณะผังที่มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองชั้นและมีสระน้ำเป็นปีกกาในแบบเดียวกันนี้ เหมือนกับที่ปราสาทธม เกาะแกร์และปราสาทบันทายสรี

โคปุระตะวันออกชั้นใน สามารถทดลองประกอบพบชุดหินหน้าบันจำนวนมาก ทั้งที่เป็นของหลังคาชั้นล่างและส่วนเครื่องยอดตรงกลางอาคาร ก่อนการทดลองได้คาดเดาว่าน่าจะเป็นยอดทรงปราสาทที่มีบัวกลุ่มอยู่บนยอด แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจึงสรุปได้ว่า ส่วนบนสุดของเครื่องยอดทำเป็นรูปหน้าจั่วขนาดเล็ก อย่างที่พบได้ที่โคปุระของปราสาทบันทายสรีและปราสาทเจ้าสายเทวดา ที่เมืองพระนคร แต่หากจะเทียบขนาดและความซับซ้อนกันแล้วกลับพบว่าโคปุระที่สด๊กก๊อกธมนี้มีขนาดใหญ่และมีพัฒนาการในการปรับรูปแบบมากกว่า ลักษณะของทับหลังที่พบมีรูปบุคคลประทับในซุ้มอยู่ตรงกลาง มีท่อนพวงมาลัยห้อยออกไปทั้งสองด้านประกอบการตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษาชัดเจนว่าเป็นลักษณะของแบบบาปวน(ทับหลังของแบบคลังจะมีรูปหน้ากาลอยู่ตรงกลางไม่มีรูปบุคคล และทับหลังของแบบนครวัดนิยมทำเป็นภาพเล่าเรื่อง) ส่วนหน้าบันประดับด้วยลายพันธุ์พฤกษามีภาพบุคคลหรือหน้ากาลอยู่ตรงกลางลักษณะของหัวนาค มีการประดับด้วยลายพันธุ์พฤกษา ตามลักษณะในแบบคลังหรือในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ (ในแบบ บาปวนหัวนาคจะไม่มีการประดับใดๆ เช่น ที่ปราสาทเมืองต่ำ) และมีลักษณะลายก้านต่อดอกประดับภายในกรอบหน้าบัน โดยปลายกรอบเป็นหัวนาคแต่เพียงอย่างเดียว (ไม่มีลายหน้ากาลคายนาคอย่างที่เริ่มพบเห็นได้ในแบบบันทายสรี และกลับมานิยมอีกครั้งในแบบนครวัด) แสดงถึงลักษณะของยุคหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปะแบบคลังและแบบบาปวน ลักษณะเช่นนี้พบได้ที่ปราสาทพนมวัน ปราสาทบ้านพลวง และปราสาทพระวิหาร สำหรับโคปุระเหนือ โคปุระใต้ และโคปุระตะวันตก จากการขุดแต่งพบอิฐจำนวนมากพร้อมด้วยบราลี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอิฐจากหลังคาปีกทั้งสองข้างของโคปุระ และบราลีที่ประดับอยู่ที่สันหลังคา สอดคล้องกับร่องรอยการถากหินเพื่อจะก่อชนด้วยหลังคาอิฐที่ปรากฏอยู่บนหินหน้าบันที่ทดลองประกอบได้ โดยไม่มีหลักฐานของเครื่องยอดเลยน่าจะเป็นอาคารที่มีหลังคาจั่วก่ออิฐ

ระเบียงคด เริ่มต้นจากผังที่มีลักษณะเป็นระเบียงคดอย่างชัดเจนก็สามารถช่วยกำหนดอายุสมัยได้อย่างคร่าวๆแล้ว กล่าวคือในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมเขมร ได้เริ่มมีระเบียงคดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในศิลปะแบบคลัง เช่น ปราสาทตาแก้ว โดยในยุคก่อนหน้านี้จะเป็นเพียงการสร้างอาคารแบบระเบียงยาวขนาบทางเดิน เช่น ปราสาทธม เกาะแกร์ หรือ อาคารยาว ล้อมรอบต่อเนื่องกัน เช่น ที่ปราสาทแปรรูป ด้วยการศึกษาต่อถึงลวดลายที่หน้าบันก็เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วในส่วนของโคปุระ จึงกล่าวได้ว่าสอดคล้องกับลักษณะศิลปะในแบบคลังต่อบาปวน

บรรณาลัย จากการทดลองประกอบหินหล่น นอกจากจะพบว่าเป็นอาคารหลังคาจั่ว ด้วยมีชิ้นส่วนที่เป็นหน้าบัน วางอยู่ในด้านสกัดครบจำนวนอาคารละ ๓ ชุด หลังคาที่เป็นหินยังมีการเจาะช่องระบายอากาศที่ส่วนคอสองทั้ง ๒ ด้าน ทำให้สามารถเปรียบเทียบผังและรูปแบบอาคารได้กับอาคารบรรณาลัยที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ที่ ปราสาทธม เกาะแกร์ เป็นอาคารคู่ตั้งอยู่ด้านหน้าและหันประตูเข้าหาปราสาทประธาน แบบอย่างอาคารเช่นนี้ยังมีให้เห็นต่อมา เช่น ปราสาทบันทายสรี ปราสาทคลัง ปราสาทตาแก้ว ปราสาทพระวิหาร ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทเจ้าสายเทวดา จนได้พัฒนาต่อกลายเป็นอาคารยกฐานสูงและมีความใหญ่โต ที่ปราสาทนครวัดและปราสาทบายน อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบด้วยลวดลายที่ปรากฏอยู่ที่หน้าบัน ก็ยืนยันได้ว่าเป็นแบบที่อยู่ในศิลปะยุคที่ต่อเนื่องระหว่างแบบคลังและบาปวน

ปราสาทประธาน จากผลการทดลองประกอบหินหล่น ทำให้ได้ข้อมูลว่าอาคารมีประตูเข้าภายในอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนอีกสามด้านนั้นทำเป็นประตูหลอก ภายในห้องเป็นพื้นลดระดับลงมา ค้นพบชิ้นส่วนที่แตกหักของฐานรูปเคารพขนาดใหญ่คาดว่าน่าจะเป็นฐานของศิวลึงค์ดังที่กล่าวไว้ในจารึก ที่ผนังทางด้านทิศเหนือจากการประกอบชิ้นส่วนของส่วนฐานปัทม์หินทรายและประตูหลอกพบว่ามีช่องโสมสูตร ที่จะพาเอาน้ำศักดิ์สิทธิ์จากการประกอบพิธีในครรภคฤหะไหลออกไปสู่ภายนอกตรงกึ่งกลางช่องประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ จากการตรวจสอบขนาดของหน้าบันของปราสาทประธานที่ทดลองประกอบได้ทั้งหมดปรากฏว่า มีขนาดซึ่งแตกต่างกัน ๕ ชุด ชุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเข้ากันได้กับขนาดของซุ้มประตูและเป็นลักษณะหน้าบันซ้อนกัน ๒ ชั้น อีก ๔ ชุดจึงน่าจะสอดคล้องกับส่วนยอด ๔ ชั้น ประกอบกับหินส่วนอื่นๆและหินส่วนยอดบนสุดรูปหม้อน้ำพร้อมด้วยหินวางวัตถุมงคลที่เราสามารถระบุอย่างชัดเจนได้ เราจึงสามารถค้นพบหินของส่วนหลังคาครบทุกชั้น ทำให้เราทราบถึงรูปแบบที่สมบูรณ์ของปราสาท ในการทำงานพบทับหลัง ๑ ชิ้น ด้วยขนาดและตำแหน่งตามผังหินตกทำให้เชื่อได้ว่าเป็นทับหลังเหนือประตูหลักด้านทิศตะวันออก แม้ว่าตรงกลางทับหลังจะชำรุดมีรอยสกัดแต่ก็ชัดเจนว่าเป็นการสกัดรูปบุคคลที่คาดว่าจะเอาไปขายได้ออกไป สรุปว่าเป็นทับหลังที่มีรูปบุคคลประทับอยู่ในซุ้มตรงกลาง สองข้างเป็นลายพันธุ์พฤกษาและท่อนพวงมาลัยห้อยโค้งลง ตรงกับลักษณะของทับหลังในแบบบาปวน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรียังได้เก็บรักษาทับหลังที่ระบุว่านำมาจากปราสาทสด๊กก๊อกธม เมื่อตรวจสอบขนาดและรูปแบบจึงพบว่าเป็นทับหลังของปราสาทประธานนี้ด้วย ส่วนหน้าบันจากที่ทดลองประกอบได้ทั้งหมดมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่พบที่โคปุระ ทั้งลักษณะของหัวนาค และลักษณะลายก้านต่อดอกประคับภายในกรอบหน้าบัน ปลายกรอบเป็นหัวนาคแต่เพียงอย่างเดียว ที่แสดงถึงลักษณะของยุคหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปะแบบคลังและแบบบาปวน ส่วนนาคปักที่เป็นส่วนประดับเครื่องยอดก็เป็นรูปนาคที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับหัวนาค แต่ด้วยรูปแบบอาคารที่เป็นปราสาทหลังเดียว ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ กลับเป็นลักษณะที่แตกต่างไปจากอาคารปราสาทประธานที่พบในศิลปะแบบบาปวนโดยทั่วไป ที่มักจะมีห้องยาวที่เรียกว่ามณฑป และอันตราระเป็นส่วนเชื่อมต่อ อยู่ทางด้านหน้า เช่นที่ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมวัน และ ปราสาทพระวิหาร ลักษณะที่พบที่นี่ทำให้นึกถึงรูปแบบของปราสาทที่จำลองแบบของภูเขา เช่น ปราสาทปักษีจำกรง และปราสาทธม ในศิลปะแบบเกาะแกร์

ลานศิลาแลงและเสารอบปราสาทประธาน เป็นส่วนที่น่าสนใจที่สุด เนื่องจากการที่รอบองค์ปราสาทประธานมีเสานางเรียงปักในตำแหน่งโดยรอบเช่นนี้ ถือเป็นลักษณะที่ยังไม่เคยพบในปราสาทหลังใดมาก่อนทั้งในประเทศไทย และกัมพูชา โดยที่ในความเป็นจริงนั้นเราจะพบการเอ่ยถึงการกำหนดอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ในเทวาลัยด้วยการปักเสาในจารึกโบราณอยู่บ่อยครั้ง ที่คาดว่าน่าจะมีที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่ หลักฐานการค้นพบเสายอดดอกบัวทำด้วยไม้ที่ปราสาทพระโคที่มีการบันทึกไว้แต่ตัวเสาไม้ไม่เหลืออยู่แล้ว คาดว่าคงจะเสื่อมสภาพไป ลักษณะพิเศษอันน่าจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดมณฑลพิธีที่พบที่นี่ น่าจะสอดคล้องกับข้อมูลประวัติการก่อสร้างจากจารึกที่เกี่ยวข้องกับพระครูพราหมณ์ประจำรัชกาล

ไม่มีความคิดเห็น: