วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551
สวัสดีปีใหม่ Happy New Year Bonne Annee 2009
"พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯสักการะปูชนียสถาน และทรงประทักษิณรอบพระปฐมเจดีย์" "His Majesty the King, while being ordained as the monk, paying homage to sacred places and Pradakshina (circumambulating) around Phra Pathom Chedi"
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" "We will reign with righteousness for the benefit and happiness of all the people of Siam"
Mural painting, Phra Phuttharattanasathan Hall, 1961, by Professor Silpa Bhirasri.
๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒
ถือโอกาสในวันนี้เป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงในสากลโลก อีกทั้งพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บันดาลให้ทุกๆท่าน ทุกๆชีวิตที่มีเหตุและปัจจัยนำพาให้มาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในโลกใบเล็กๆแห่งนี้ ได้มีความสุข ความร่มเย็น โดยธรรมกันอย่างทั่วหน้า ปลดปล่อยความขุ่นข้องหมองใจทั้งหลายไว้ในปีเก่าที่ผ่านพ้นไป มองไปข้างหน้าสู่อนาคตที่สดใสด้วยกัน
ในโอกาสนี้จึงได้นำภาพจากหนังสือ "การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมตามแนวพระราชดำริ" ซึ่งเรียบเรียงโดยคุณภารน๊ สวัสดิรักษ์ และจัดพิมพ์โดย อิโคโมสไทย เนื่องในปีมหามงคลแห่งการเฉลิมฉลอง ๖๐ ปี ครองราชย์ และวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา มาจัดทำเป็น ส.ค.ส. เพื่อจัดจำหน่ายนำรายได้สมทบทุนในการจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานของอิโคโมสไทยในปีนี้ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ เขียนโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ทั้งสองภาพมีทั้งความงามในเชิงศิลปะและในความหมายที่เป็นมงคล เหมาะกับการเริ่มต้นปีใหม่ในวันนี้ จึงขอนำมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้ชื่นชมด้วย
สวัสดีปีใหม่ครับ
รายละเอียดอื่นๆสอบถามได้ที่อิโคโมสไทย email : admin@icomosthai.org เว็บไซต์ http://www.icomosthai.org
รูปเก่า Phra Viharn จากอัลบั้มครอบครัว
วันก่อนในโอกาสที่ไปตรวจการบูรณะบ้านเรือนไทยของคุณป้าที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ขณะที่กำลังแก้ปัญหากันอยู่ที่ส่วนบันไดของบ้านที่จะต้องทำใหม่เนื่องจากของเดิมเหลือหลักฐานอยู่เพียงแม่บันไดข้างเดียวเท่านั้น เลยต้องอาศัยภาพถ่ายเก่าของบ้านในส่วนบันไดนี้มาเป็นหลักฐานประกอบการตัดสินใจ
ในอัลบั้มรูปเก่าที่พี่ผมเอามาให้ดูนั้นไม่ได้มีแค่รูปเก่าของบ้าน รูปญาติๆหลายคนตั้งแต่ยังเด็ก หรือรูปพ่อผมตอนหนุ่มๆเท่านั้น ยังได้พบว่ามีชุดรูปปราสาทพระวิหารด้วย แสดงว่าเป็นสถานที่พิเศษอีกที่หนึ่งที่ครอบครัวของผมได้เคยไปมาและได้บันทึกภาพเก็บไว้ คาดว่าน่าจะเป็นรูปของอายม คุณนิยม จั่นบุญมี เสียดายว่าไม่ได้ระบุปีที่ถ่ายภาพไว้ แต่บอกได้ว่ากว่า ๔๘ ปีมาแล้ว ตอนที่ปราสาทยังเป็นของไทย ก่อนผมเกิดแน่นอน
ภาพชุดนี้มีตั้งแต่รูปสะพานนาคที่อยู่ถัดจากบันไดใหญ่ด้านล่างสุด (ที่นักวิชาการนานาชาติที่มาช่วยกัมพูชาทำเอกสารมรดกโลก ระบุว่าเป็นสิ่งก่อสร้างแบบนครวัดทั้งที่เห็นลักษณะนาคหัวโล้นแบบบาปวนอย่างชัดเจน) ผ่านโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นต่างๆ ขึ้นไปจนถึงปราสาทประธานที่อยู่ตอนบนสุด ไปจนถึงบริเวณเป้ยตาดีปลายหน้าผาของเขาพระวิหาร ที่มองกลับมายังส่วนด้านนอกของระเบียงคดซึ่งเป็นผนังตัน ไม่มีทางที่จะทะลุจากปราสาทประธานออกมาได้โดยตรง
เมื่อเราลองเปรียบเทียบกับสภาพของปราสาทพระวิหารในปัจจุบันก็จะพบว่า ตัวอาคารนั้นมีการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสภาพลงน้อยมาก มีเพียงความร่มรื่น ต้นไม้ใหญ่ๆที่หายไป ดูรูปแล้วก็คิดถึง ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ไปอีกครั้ง
วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2551
วัดเทพธิดารามวรวิหาร : ประวัติและสิ่งก่อสร้าง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาใน พ.ศ. ๒๓๗๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) การก่อสร้างพระอารามนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างในตำบลสวนหลวงพระยาไกร สร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินผูกพัทธสีมาด้วยพระองค์เอง พระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม”
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บูรณะสถานที่จงกรม ศาลาคร่อมกำแพงหลังพระอุโบสถ ๒ หลัง สระน้ำ พื้นกุฏิคณะกลาง ปูหินอ่อนพื้นและตกแต่งเครื่องประดับภายในพระอุโบสถรวมทั้งซ่อมแซมเครื่องใช้ภายในพระอุโบสถ บูรณะประตูกำแพงและกำแพงหน้าวัด ฐานรองม้าหมู่และตู้พระไตรปิฎก
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างถนนปูกระเบื้องซิเมนต์หลังโรงเรียนธรรมวินัย บูรณะกุฏิ หอฉัน และซุ้มประตู
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้บูรณะซ่อมแซมสิ่งที่ชำรุดทั่วไปเล็ก ๆ น้อย ๆ
รัชกาลปัจจุบันได้บูรณะศาลาการเปรียญ สร้างถนน สร้างศาลาทรงไทยด้านหลังวัด ๒ หลัง บูรณะซ่อมแซมกุฏิเสนาสนะและส่วนที่ชำรุดอื่น ๆ โดยทั่วพระอาราม กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒
สิ่งสำคัญภายในวัด
พื้นที่ภายในพระอารามแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ เขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส ในเขตพุทธาวาสประกอบด้วยอาคารสำคัญ ๓ หลัง ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ
พระวิหาร มีลักษณะเช่นเดียวกับพระอุโบสถ กว้าง ๑๓.๒๐ เมตร ยาว ๒๒.๒๐ เมตร สิ่งสำคัญภายในพระวิหารนอกจากพระประธาน ยังมีรูปหมู่อริยสาวิกา (ภิกษุณี) ซึ่งได้รับเอตทัคคะในฝ่ายภิกษุณีบริษัท หล่อด้วยดีบุก ประดิษฐานอยู่ด้วย ๕๒ องค์ ภายนอกพระวิหารมีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมตั้งเป็นเจดีย์รายอยู่โดยรอบจำนวน ๑๔ องค์
ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนลักษณะใกล้เคียงกันกับพระอุโบสถและพระวิหาร แต่ไม่มีการทำระเบียงรอบ กว้าง ๑๔.๗๕ เมตร ยาว ๒๒.๖๐ เมตร
ศาลาราย มีทั้งหมด ๑๐ หลัง คือสร้างคร่อมรอบกำแพงพระอุโบสถ ๘ หลัง ใช้ได้ทั้งด้านนอกและด้านใน เรียกได้ว่าเป็นศาลา ๒ หน้า ศาลารายอีก ๒ หลังอยู่บริเวณด้านหน้าพระวิหาร ศาลาทั้งหมดนี้ใช้เป็นที่พักอาศัยบำเพ็ญกุศล และเป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน
พระวิหารน้อย ๒ หลัง อยู่ภายในกำแพงพระวิหารทางทิศใต้
หอสวดมนต์ มี ๒ หลัง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือและใต้ เป็นสถานที่สวดมนต์ทำวัตรเข้าเย็น และท่องจำพระสูตร พระปริตร ปัจจุบันทางวัดใช้หอหลังทิศเหนือเป็นห้องสมุดของวัด
ศาลายกพื้น อยู่ทางทิศเหนือของวัด ปัจจุบันใช้เป็นที่ศึกษาพระธรรมวินัยชั่วคราว (โรงเรียนพลอยวิจิตร)
ภายในพระอารามมีสิ่งประดับได้แก่ ตุ๊กตาศิลาสลักของจีนมีทั้งที่เป็นรูปสัตว์และคน ตั้งอยู่ในบริเวณรอบพระอุโบสถ ตุ๊กตารูปคนมีลักษณะที่น่าสนใจ คือ บางตัวมีลักษณะท่าทางและการแต่งกายแบบจีน บางตัวแต่งกายแบบไทย ปัจจุบันตุ๊กตาเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ชำรุด บางส่วนได้ถูกขโมยไป ส่วนตุ๊กตารูปสัตว์นั้น ได้แก่ สิงโตจีน ตั้งอยู่ที่หน้าพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญแห่งละ ๑ คู่
นอกจากนี้ วัดเทพธิดารามยังมีความสัมพันธ์กับจินตกวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านผู้นี้คือ พระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) หรือรู้จักกันในนามว่า “สุนทรภู่” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้อุปสมบทและจำพรรษาที่พระอารามนี้ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๒-๒๓๘๕ ซึ่งได้รับพระอุปถัมภ์จากพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพตลอดมา สุนทรภู่ได้สร้างงานประพันธ์ไว้เป็นจำนวนมาก ในบรรดางานเหล่านี้ เรื่องที่เกี่ยวกับวัดเทพธิดารามมากที่สุดคือ “รำพันพิลาป” ท่านได้พรรณนาไห้เห็นลักษณะปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุและความงามของพระอารามในสมัยนั้นอย่างละเอียด รวมทั้งได้กล่าวถึง หอพระไตรปิฎก ไว้ด้วย โดยที่ทางวัดได้อนุรักษ์กุฏิหลังนี้ไว้อย่างดี พร้อมด้วยการจัดแสดงสื่อความหมายถึงความเป็นอาคารประวัติศาสตร์ เปิดให้ชมสถานที่ที่ท่านเคยพำนักและนำชมถาวรวัตถุในวัดตามที่ปรากฏในเรื่องรำพันพิลาปของท่าน ทำให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามฯ มาแล้ว
จาก ข้อมูลสำหรับโครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก โดยกรรมธิการอนุรักษ์ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551
โครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก วัดเทพธิดารามวรวิหาร
๑. เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์วิชาชีพสถาปนิก รวมทั้งบทบาทและความสำคัญของสถาปนิกที่มีต่อสังคมให้เป็นที่เข้าใจต่อบุคคลทั่วไปมากยิ่งขึ้น คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ซึ่งแต่งตั้งโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดทำโครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยประเพณีขึ้น เพื่อให้เห็นผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
๒. สภาพปัจจุบันของหอพระไตรปิฎก บริเวณกุฏิคณะ ๕ วัดเทพธิดารามวรวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก และทางวัดไม่มีงบประมาณในบูรณะ จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการอนุรักษ์อาคารดังกล่าว ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าในระดับชาติไว้โดยเร็ว
๓. หอพระไตรปิฎกเป็นอาคารที่สถาปัตยกรรมไทยแท้ดั้งเดิม สร้างขึ้นโดยใช้วิชาช่างครบถ้วนทุกแขนง จึงเป็นที่มาในการเลือกอนุรักษ์อาคารหลังนี้ ซึ่งจะได้รับประโยชน์ในเชิงวิชาการด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์
วัตถุประสงค์ของโครงการ
๑. เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจเรื่องบทบาทหน้าที่ของสถาปนิกที่มีต่อสังคมแก่สมาชิกสมาคมและบุคคลทั่วไป
๒. เพื่อให้สมาคมได้มีบทบาทในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยที่มีคุณค่าระดับชาติอย่างเป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้สมาชิกสมาคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าของชาติ
๓. เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมไทย การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม และคุณค่าของโบราณสถานให้แก่สมาชิกสมาคมและบุคคลทั่วไป
๔. เพื่อให้โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยคำนึงถึงการออกแบบที่ดีและคุณค่าของความเป็นโบราณสถานควบคู่กันไป
ขอบเขตการดำเนินโครงการ
แบ่งขอบเขตการดำเนินโครงการได้เป็น ๔ ส่วนหลัก ดังนี้
๑. งานสำรวจผังบริเวณทั้งบริเวณวัด
ทำการสำรวจผังบริเวณทั้งภายในเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส โดยวัดค่าระดับพื้นอาคารทุกหลัง และระดับพื้นลาน, ทางเดินและถนนภายในบริเวณวัด รวมทั้งทำการวัดตำแหน่งเสาไฟฟ้า และตำแหน่งต้นไม้เดิมที่มีอยู่ในพื้นที่
๒. งานสำรวจรังวัดและเขียนแบบอาคารหมู่กุฏิสงฆ์ คณะ ๕
ทำการรังวัดสภาพปัจจุบัน เก็บข้อมูลการสำรวจระดับพื้นและเส้นรอบรูปอาคารทุกหลัง, ค่าระดับพื้นลานและทางเดิน, ค่าระดับรางน้ำในพื้นที่, ตำแหน่งบ่อพักและบ่อน้ำ, และระบบระบายน้ำทั้งหมดในพื้นที่อาคารบริเวณหมู่กุฏิสงฆ์ คณะ ๕ ทุกหลังรวมทั้งหอพระไตรปิฎกอย่างละเอียด เขียนแบบสภาพปัจจุบันของอาคารทุกหลัง เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนการออกแบบบูรณะต่อไป
๓. งานออกแบบบูรณะและควบคุมการบูรณะหอพระไตรปิฎก
ทำการออกแบบและบูรณะอาคารหอพระไตรปิฎกและบริเวณโดยรอบอาคาร ทั้งส่วนที่อยู่ภายในกุฏิสงฆ์ คณะ ๕ และด้านถนนภายในของวัด เพื่อให้อาคารกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ตามแบบดั้งเดิม
๔. งานออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์
ทำการออกแบบปรับปรุงลาน ,ทางเดินและพื้นทีใช้สอยอื่นๆ ภายในบริเวณหมู่กุฏิสงฆ์ คณะ ๕ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและช่วยส่งเสริมคุณค่าของโบราณสถาน
๕. งานประชาสัมพันธ์
ให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปรับรู้และเข้าใจโครงการและการทำงานของสมาคมสถาปนิกสยามฯที่เกิดขึ้น โดยผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆ
การดำเนินงานโครงการ
แบ่งการดำเนินงานโครงการได้เป็น ๕ ขั้นตอนหลัก ดังนี้
๑. งานสำรวจผังบริเวณทั้งบริเวณวัด
ทำการสำรวจทางกายภาพของกลุ่มอาคารในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส และสำรวจงานระบบภายในวัด เพื่อเป็น
ข้อมูลสำหรับทำแบบสภาพปัจจุบัน (ก่อนการบูรณะ) ซึ่งจะจัดทำโดยการจ้างช่างสำรวจและช่างเขียนแบบ
๒. งานรังวัดและเขียนแบบอาคารหมู่กุฏิสงฆ์ คณะ ๕
ทำการสำรวจรังวัดอาคารภายในหมู่กุฏิสงฆ์ คณะ ๕ ทุกหลังรวมทั้งหอพระไตรปิฎก โดยอาสาสมัครที่เป็นสมาชิกของสมาคมสถาปนิกสยามฯ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกสมาคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ
๓. งานออกแบบและบูรณะหอพระไตรปิฎก
๓.๑ ดำเนินงานด้านโบราณคดีเพื่อการอนุรักษ์ภายในพื้นที่โดยรอบอาคารหอพระไตรปิฎก ได้แก่ การขุดตรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมของโบราณสถาน จัดทำโดยการดำเนินการจัดจ้างนักโบราณคดี
๓.๒ งานทำแบบบูรณะหอพระไตรปิฎก จัดทำโดยการดำเนินการจัดจ้างช่างเขียนแบบและประมาณการ เพื่อนำไปกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์และประมาณราคา โดยคณะกรรมาธิการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมด้านไทยประเพณี
๓.๓ ทำการวิเคราะห์ศึกษาเปรียบเทียบและจัดทำแบบวิเคราะห์ อ้างอิงจากข้อมูลทางวิชาการที่ได้ศึกษาเบื้องต้น แบบสำรวจรังวัดและแบบสภาพปัจจุบันของอาคารและพื้นที่โดยรอบ โดยอาสาสมัครที่เป็นสมาชิกของสมาคมสถาปนิกสยามฯ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกสมาคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ พร้อมทั้งดำเนินการจัดจ้างช่างเขียนแบบและทำงานนำเสนอ (presentation)
๓.๔ ดำเนินการหาผู้รับจ้างงานบูรณะ ให้เป็นไปตามระเบียบการจัดจ้างของสมาคมสถาปนิกสยามฯ
๓.๕ ดำเนินการบูรณะและการควบคุมงาน จัดทำโดยการจัดจ้างหรือขอความร่วมมือบริษัทที่ปรึกษา ในการควบคุมงาน โดยคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี เป็นกรรมการตรวจการจ้าง ร่วมกับตัวแทนของสมาคมสถาปนิกสยามฯ และวัดเทพธิดารามวรวิหาร โดยจะทำการกำหนดงบประมาณการบูรณะและควบคุมงานภายหลัง เมื่อมีการจัดทำแบบบูรณะและประมาณการเรียบร้อยแล้ว โดยทั้งนี้มีการดำเนินการขออนุญาตดำเนินการต่อกรมศิลปากร โดยจัดเตรียมแบบและเอกสารสำหรับนำเสนอกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน ก่อนการดำเนินการบูรณะ
๓.๖ ทำ As-Built Drawing เพื่อใช้เป็นหลักฐานของโครงการอนุรักษ์ จัดทำโดยสมาชิกของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในลักษณะอาสาสมัคร เพื่อให้สมาชิกสมาคมฯได้มีส่วนร่วมในโครงการ พร้อมด้วยการจัดจ้างช่างเขียนแบบ
๔. งานออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์
ทำการศึกษาข้อมูล สำรวจสภาพปัจจุบันของสภาพโดยรอบของวัดและบริเวณหมู่กุฏิสงฆ์คณะ ๕ จัดทำแบบวิเคราะห์สภาพภูมิทัศน์ดั้งเดิม และจัดทำแบบปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบหอพระไตรปิฎก พร้อมด้วยข้อเสนอแนะในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของทั้งวัดเพื่อส่งเสริมคุณค่าของโบราณสถาน
๕. งานประชาสัมพันธ์โครงการ
๕.๑ นำเสนอผลงานดำเนินการในงานสถาปนิก ปี ๒๕๕๒ เพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานของสมาคมสถาปนิกสยามฯ และเพื่อระดมทุนในดำเนินการอนุรักษ์
๕.๒ ประชาสัมพันธ์ผลงานการดำเนินโครงการผ่านสื่อต่างๆ
๕.๓ จัดกิจกรรมนำชมการทำงานภาคสนามของโครงการ แก่สมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเกี่ยวกับมรดกสถาปัตยกรรมและการอนุรักษ์ โดยแบ่งเป็น ๒ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ จัดกิจกรรมนำชมงานสำรวจทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม โบราณคดีและวิทยาศาสตร์ เพื่อทำแบบสภาพปัจจุบัน ณ หอพระไตรปิฎก วัดเทพธิดาราม
ครั้งที่ ๒ จัดกิจกรรมนำชมระหว่างงานบูรณะ หอพระไตรปิฎก วัดเทพธิดาราม
แผนการดำเนินงาน
ระยะเวลาการดำเนินโครงการเริ่มต้นตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ และสิ้นสุดใน เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓
เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๒๒ เดือน แบ่งการทำงานเป็น ๒ ช่วงหลัก ดังนี้
ช่วงที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ – เมษายน ๒๕๕๒
ดำเนินการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการอนุรักษ์ ดำเนินงานสำรวจรังวัด นำไปจัดทำแบบสภาพปัจจุบัน งานโบราณคดีเพื่อการอนุรักษ์ การขุดตรวจ งานวิเคราะห์ศึกษาเปรียบเทียบ จัดทำแบบวิเคราะห์ จัดทำแบบบูรณะหอพระไตรปิฎกและพื้นที่โดยรอบ พร้อมทั้งดำเนินงานประชาสัมพันธ์โครงการ โดยการจัดกิจกรรมนำชมการทำงานภาคสนามในส่วนการสำรวจและเก็บข้อมูลเบื้องต้นก่อนการบูรณะ ขออนุมัติกรมศิลปากรดำเนินการบูรณะโบราณสถาน และนำเสนอผลงานการทำงานในงานสถาปนิก ๕๒ พร้อมด้วยกิจกรรมระดมทุนเพื่อนำมาใช้ในการบูรณะ
ช่วงที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ – เมษายน ๒๕๕๓
ดำเนินงานประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อการระดมทุนสำหรับงานบูรณะ จัดหาผู้รับจ้างงานบูรณะ ควบคุมงานบูรณะให้เป็นไปตามรูปแบบรายการ จัดทำแบบขยาย จัดกิจกรรมนำชมกิจกรรมการบูรณะ จัดทำรายงานบันทึกขั้นตอนและเทคนิคการทำงานและแบบหลังการอนุรักษ์ และนำเสนอผลการทำงานของโครงการ ในงานสถาปนิก ๕๓
คณะที่ปรึกษาโครงการ
๑. ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี
๒. นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น
๓. ศาสตราจารย์ประสงค์ เอี่ยมอนันต์
๔. รองศาสตราจารย์ สมคิด จิระทัศนกุล
๕. นายทวีจิตร จันทรสาขา
คณะทำงานโครงการ
๑. นายศิริชัย หวังเจริญตระกูล
๒. คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
๓. นายไพรัช เล้าประเสริฐ
๔. นายพรธรรม ธรรมวิมล
๕. นายวสุ โปษยะนันทน์
๖. นายจมร ปรปักษ์ประลัย
๗. นายวทัญญู เทพหัตถี
๘. นางสาวมนัชญา วาจก์วิศุทธิ์
๙. นายสุรยุทธ์ วิริยะดำรงค์
๑๐. นางสาวหัทยา สิริพัฒนากุล
๑๑. นายภาณุวัตร เลือดไทย
๑๒. นายจาริต เดชะคุปต์
๑๓. นายพีระพัฒน์ สำราญ
๑๔. นายลีนวัตร ธีระพงษ์รามกุล
วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551
ระเบิดเวลาที่เขาพระวิหาร
ก่อนอื่นลองมาย้อนทบทวนมติ 32COM 8B.102 ของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมมรดกโลกครั้งที่ ๓๒ ณ เมืองควิเบค ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่ประกาศให้ “ปราสาทพระวิหาร กัมพูชา” ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชีมรดกโลก...
มีการระลึกถึงว่าเมื่อการประชุมมรดกโลกในครั้งก่อนที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้มีมติยอมรับในคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของ “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทพระวิหาร” ไว้แล้ว ตามเกณฑ์ ข้อ (i), (iii) และ (iv) เห็นชอบในหลักการว่า สมควรที่จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วตามมติของการประชุมที่นิวซีแลนด์ เขียนไว้ว่า มรดกแห่งนี้มีคุณค่าตามเกณฑ์ ข้อ (i), (ii) และ (iv) ตามเอ กสารที่ของทางกัมพูชาได้เสนอเหตุผลตามเกณฑ์ข้อ ๓ ไม่ใช่ข้อ ๒ ที่มติออกมาเช่นนี้เป็นเพราะเชื่อตามเอกสารการประเมินที่ผิดพลาดของอิโคโมสสากล นี่คือหนึ่งในข้อโต้แย้งที่อิโคโมสไทยได้มีไปถึงอิโคโมสสากล แสดงถึงความไม่มาตรฐานของการประเมินในครั้งนี้
มีการรับทราบว่ากัมพูชาได้นำเสนอ “แผนผัง” ที่ปรับปรุงใหม่ เรียกว่า RGPP ซึ่งแสดงให้เห็นขอบเขตบริเวณที่ปรับปรุงใหม่สำหรับเสนอเป็นมรดกโลก ลดขนาดพื้นที่ลงเหลือเพียงส่วนอาคารปราสาทเท่านั้น ไม่รวมไปถึงพื้นที่ภูเขาอันเป็นที่ตั้ง ความจริงแล้วการลดพื้นที่เช่นนี้เป็นเพียงการตัดปัญหาความขัดแย้งของพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิ์ทั้งสองฝ่ายออกไปก่อน มีเพียงหมายเลขในผังที่ระบุว่าเป็นพื้นที่กันชน และพื้นที่การจัดการร่วม โดยไม่แสดงขอบเขตและเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ เพียงเพื่อให้การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกดำเนินต่อไปได้ เป็นระเบิดเวลาที่ตั้งเวลาระเบิดไว้แล้ว แม้จะได้ประกาศยอมรับว่า แถลงการณ์ร่วมที่มีการลงนามร่วมกันระหว่างผู้แทนรัฐบาลกัมพูชารัฐบาลไทย และยูเนสโก จะต้องไม่นำมาพิจารณาอีกตามการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่ขอยกเลิกผลของแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ไว้ก่อน เมื่อลดพื้นที่ลงจึงทำให้ขาดความบริบูรณ์ของคุณค่าและสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ แต่ก็(เอาเถอะ)ขอประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ เฉพาะภายใต้หลักเกณฑ์ที่ (i)
เกณฑ์ในข้อนี้ได้แก่ การเป็นผลงานชิ้นเอกที่แสดงอัจฉริยภาพในทางสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ โดยในมติได้อธิบายไว้ว่า ปราสาทพระวิหารเป็นงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมเขมรที่โดดเด่นและ “บริสุทธิ์” ทั้งในด้านการออกแบบวางผังและในรายละเอียดการประดับประดา แต่ในทัศนะของผมคุณค่าความเป็นผลงานชิ้นเอกของปราสาทพระวิหารน่าจะอยู่ที่การเลือกทำเลที่ตั้งของปราสาท ลักษณะการออกแบบที่มีการเข้าถึงเป็นลำดับ การวางแนวแกนให้เกิดความสง่างามเช่นนี้ ใช่ว่าจะไปตั้งอยู่ที่ไหนก็ได้ การตัดพื้นที่โดยรอบออกจึงเป็นการตัดคุณค่าที่เป็นจริงของปราสาทออกไป ความจริงองค์ประกอบโบราณที่ต่อเนื่องมาในเขตไทย อย่างสระตราว ที่กัมพูชาพยายามจะบอกว่าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น ก็คือสระน้ำสำคัญที่เรียกว่าบาราย สร้างร่วมสมัยกับปราสาทและยังเป็นบารายที่ตั้งอยู่บนเขาที่เป็นลานหินต่างจากบารายในวัฒนธรรมเขมรโดยทั่วไป นี่คือการกั้นทำนบหินขนาดใหญ่ขวางทางน้ำที่ไหลผ่านลานหินซึ่งมีรูปสลักศิวลึงค์ตรงแนวแกนของปราสาท ทำให้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เรียกได้ว่าเป็นเขื่อนหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศจึงสมควรเป็นส่วนหนึ่งของผลงานชิ้นเอกที่แสดงถึงภูมิปัญญาและอัจฉริยภาพด้วย
ในมติระบุว่าจะพิจารณาหากมีผลการค้นพบใหม่ที่สำคัญก็อาจนำไปสู่การเสนอเป็นมรดกโลกในลักษณะข้ามพรมแดนแห่งใหม่ได้ ซึ่งจะต้องได้รับการยินยอมเห็นชอบจากทั้งกัมพูชาและไทย ทั้งที่เรามีข้อมูลเสนอให้ไปแล้วแต่กลับไม่ยอมรับ จะมาหวังให้เสนอเข้าไปใหม่และต้องขอความเห็นชอบจากกัมพูชาด้วยนั้น เราคนไทยคงจะขอชื่นชมคุณค่าที่แท้จริงของโบราณสถานดีกว่าที่จะต้องไปพึ่งความเป็นมรดกโลกจากการประเมินที่บิดเบี้ยว
ความจริงผู้ที่วางระเบิดเวลานี้ไว้ก็คือเจ้าหน้าที่ของยูเนสโกนั่นเองที่เสนอให้มีการปรับผังลดพื้นที่ขอขึ้นทะเบียนลงแม้จะมีการคัดค้านว่าขัดต่อหลักการทางวิชาการ แต่ด้วยเป็น “การตัดสินใจทางการเมือง” จึงทำได้ โดยในมติยังได้ตัดสินใจให้ในกรณีนี้ได้รับข้อยกเว้นพิเศษในการส่งข้อมูลจากรัฐภาคีเกินจากกำหนดเวลาที่ได้ระบุไว้ตามระเบียบของคณะกรรมการมรดกโลกอีกด้วย
มีการแสดงความขอบคุณต่อ รัฐบาลเบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอินเดีย รวมทั้งต่อ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และ ICCROM ที่ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญมาร่วมในการพัฒนาแผนการจัดการแหล่งปราสาทพระวิหาร ตามที่มติการประชุมที่นิวซีแลนด์ร้องขอ ผมเคยร่วมการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้และได้ประกาศแยกตัวอย่างเป็นทางการแล้วด้วยเหตุผลของการบิดเบือนข้อมูลทางวิชาการ ในขณะที่มีการเรียกร้องให้กัมพูชาโดยความร่วมมือกับยูเนสโก จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานนานาชาติ (International Coordinating Committee หรือ ICC) เพื่อการพิทักษ์รักษาปราสาทพระวิหาร ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โดยให้ เชิญรัฐบาลไทยมาร่วมด้วย และให้เชิญผู้มีส่วนร่วมในระดับนานาชาติที่เหมาะสมอีกไม่เกิน ๗ ราย มาตรวจสอบนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องการพิทักษ์รักษาคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของมรดกแห่งนี้ให้สอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติของการอนุรักษ์ จำนวน ๗รายนี้ก็พอดีสอดคล้องกับ ๖ ชาติและ ๑ องค์กรที่ได้แสดงความขอบคุณไว้ข้างต้น
การกำหนดเส้นตายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ยังเป็นวาระเดียวกันกับที่เรียกร้องให้กัมพูชานำเสนอเอกสารดังนี้
ก) แผนที่ชั่วคราวเพื่อให้รายละเอียดเพิ่มเติม และแผนที่กำหนดเส้นเขตกันชน
ข) เอกสารนำเสนอมรดกโลกใหม่ที่ปรับปรุงแล้ว แสดงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการกำหนดขอบเขต
ค) คำยืนยันว่าเขตการบริหารจัดการของแหล่งจะครอบคลุมทั้งพื้นที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วและพื้นที่กันชนทั้งหมด
ง) รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการเตรียมแผนบริหารจัดการ
นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องเพิ่มเติมให้กัมพูชาส่งแผนบริหารจัดการฉบับสมบูรณ์ รวมทั้งแผนที่ในขั้นสุดท้ายเสนอต่อศูนย์มรดกโลกภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เพื่อนำเสนอในการประชุมมรดกโลกครั้งที่ ๓๔ ในปี ๒๕๕๓
ข้อแม้ต่างๆเหล่านี้ล้วนจะต้องมาจากการเจรจาร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชาทั้งสิ้น ในช่วงวิกฤติการณ์ที่ผ่านมากัมพูชาอาจถือเป็นข้ออ้างที่ยังไม่ได้ดำเนินการใดใด ในขณะที่กลับใช้วิธีสร้างภาพชี้ให้สังคมโลกเห็นถึงว่าปัญหามาจากฝ่ายไทย ซึ่งอาจมีเหตุผลทางการเมืองเรื่องสายสัมพันธ์และผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพื่อให้ความวุ่นวายในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้น แต่เมื่อเรามีรัฐบาลใหม่ก็คงจะถึงเวลาที่น่าจะถอดชนวนระเบิดกันเสียที
การเจรจาในเรื่องพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารและเส้นเขตแดนคงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนไม่ให้เป็นปัญหาอย่างที่ผ่านมา ส่วนคำถามที่ว่าเราควรจะรับคำเชิญเข้าร่วมใน ICC หรือไม่ ผมขอแสดงความเห็นว่าไม่ควร จากประสบการณ์ที่เคยร่วมประชุมกับผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ เห็นว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงในเรื่องของสถาปัตยกรรมเขมรแต่ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจึงยากที่จะยอมรับว่าถูกโต้แย้งในเรื่องความถูกต้อง การเป็นเพียงเสียงเดียวในฐานะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจึงไม่อาจสู้กับอีกหลายเสียงที่มีภาพว่ามาช่วยด้วยความเสียสละปราศจากผลประโยชน์ใดๆได้ ในบริเวณที่เป็นพื้นที่จัดการร่วม จะต้องเป็นเรื่องระหว่างไทยและกัมพูชาเท่านั้น โดยเราสามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้ในส่วนนี้โดยไม่ต้องเข้าร่วมใน ICC
ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศท่านหนึ่งได้เล่าให้ผมฟังว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้การดำเนินการต่างๆของกระทรวงจะเป็นไปตามนโยบายจากฝ่ายการเมืองเป็นหลัก ดังนั้นการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองที่เรามีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากพรรคประชาธิปัตย์นั้น ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างแน่นอน ท่านยังตั้งข้อสังเกตว่า เท่าที่ผ่านมาแนวทางของประชาธิปัตย์จะมองภาพกว้างจับกระแสในระดับโลก เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ทำให้เรามีภาพลักษณ์ที่ดีในสังคมโลกโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ในหมู่ประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่พอมาในรัฐบาลทักษิณและยุคแห่งตัวแทนจะมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดีเพราะคำนึงถึงผลประโยชน์(ส่วนตัว)ที่จะได้รับมากกว่า จึงทำนายได้ว่าในยุคนี้อาจจะมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น ทำให้ผมพิจารณาเห็นคล้อยตามว่า คงจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ได้ ถ้าผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านของเราไม่หวังดีต่อประเทศชาติของเขาอย่างแท้จริงจากผลประโยชน์ที่แอบแฝง และปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างชาติเข้ามามีอิทธิพล ในขณะที่ผู้นำของเราประกาศอย่างชัดเจนว่าจะยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ และผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ...
การเผชิญหน้ากำลังจะเริ่มอีกครั้ง
วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551
สด๊กก๊อกธม : การทดลองประกอบหินและศึกษาเปรียบเทียบ
สระน้ำ จากการขุดตรวจพบขอบเขตดั้งเดิมของสระอยู่ห่างจากระเบียงคดออกไปประมาณ ๑๐ เมตร เป็นรูปปีกกากว้างประมาณ ๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร ความลึกของคูน้ำประมาณ ๕ เมตร ลักษณะผังที่มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองชั้นและมีสระน้ำเป็นปีกกาในแบบเดียวกันนี้ เหมือนกับที่ปราสาทธม เกาะแกร์และปราสาทบันทายสรี
โคปุระตะวันออกชั้นใน สามารถทดลองประกอบพบชุดหินหน้าบันจำนวนมาก ทั้งที่เป็นของหลังคาชั้นล่างและส่วนเครื่องยอดตรงกลางอาคาร ก่อนการทดลองได้คาดเดาว่าน่าจะเป็นยอดทรงปราสาทที่มีบัวกลุ่มอยู่บนยอด แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจึงสรุปได้ว่า ส่วนบนสุดของเครื่องยอดทำเป็นรูปหน้าจั่วขนาดเล็ก อย่างที่พบได้ที่โคปุระของปราสาทบันทายสรีและปราสาทเจ้าสายเทวดา ที่เมืองพระนคร แต่หากจะเทียบขนาดและความซับซ้อนกันแล้วกลับพบว่าโคปุระที่สด๊กก๊อกธมนี้มีขนาดใหญ่และมีพัฒนาการในการปรับรูปแบบมากกว่า ลักษณะของทับหลังที่พบมีรูปบุคคลประทับในซุ้มอยู่ตรงกลาง มีท่อนพวงมาลัยห้อยออกไปทั้งสองด้านประกอบการตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษาชัดเจนว่าเป็นลักษณะของแบบบาปวน(ทับหลังของแบบคลังจะมีรูปหน้ากาลอยู่ตรงกลางไม่มีรูปบุคคล และทับหลังของแบบนครวัดนิยมทำเป็นภาพเล่าเรื่อง) ส่วนหน้าบันประดับด้วยลายพันธุ์พฤกษามีภาพบุคคลหรือหน้ากาลอยู่ตรงกลางลักษณะของหัวนาค มีการประดับด้วยลายพันธุ์พฤกษา ตามลักษณะในแบบคลังหรือในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ (ในแบบ บาปวนหัวนาคจะไม่มีการประดับใดๆ เช่น ที่ปราสาทเมืองต่ำ) และมีลักษณะลายก้านต่อดอกประดับภายในกรอบหน้าบัน โดยปลายกรอบเป็นหัวนาคแต่เพียงอย่างเดียว (ไม่มีลายหน้ากาลคายนาคอย่างที่เริ่มพบเห็นได้ในแบบบันทายสรี และกลับมานิยมอีกครั้งในแบบนครวัด) แสดงถึงลักษณะของยุคหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปะแบบคลังและแบบบาปวน ลักษณะเช่นนี้พบได้ที่ปราสาทพนมวัน ปราสาทบ้านพลวง และปราสาทพระวิหาร สำหรับโคปุระเหนือ โคปุระใต้ และโคปุระตะวันตก จากการขุดแต่งพบอิฐจำนวนมากพร้อมด้วยบราลี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอิฐจากหลังคาปีกทั้งสองข้างของโคปุระ และบราลีที่ประดับอยู่ที่สันหลังคา สอดคล้องกับร่องรอยการถากหินเพื่อจะก่อชนด้วยหลังคาอิฐที่ปรากฏอยู่บนหินหน้าบันที่ทดลองประกอบได้ โดยไม่มีหลักฐานของเครื่องยอดเลยน่าจะเป็นอาคารที่มีหลังคาจั่วก่ออิฐ
ระเบียงคด เริ่มต้นจากผังที่มีลักษณะเป็นระเบียงคดอย่างชัดเจนก็สามารถช่วยกำหนดอายุสมัยได้อย่างคร่าวๆแล้ว กล่าวคือในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมเขมร ได้เริ่มมีระเบียงคดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในศิลปะแบบคลัง เช่น ปราสาทตาแก้ว โดยในยุคก่อนหน้านี้จะเป็นเพียงการสร้างอาคารแบบระเบียงยาวขนาบทางเดิน เช่น ปราสาทธม เกาะแกร์ หรือ อาคารยาว ล้อมรอบต่อเนื่องกัน เช่น ที่ปราสาทแปรรูป ด้วยการศึกษาต่อถึงลวดลายที่หน้าบันก็เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วในส่วนของโคปุระ จึงกล่าวได้ว่าสอดคล้องกับลักษณะศิลปะในแบบคลังต่อบาปวน
บรรณาลัย จากการทดลองประกอบหินหล่น นอกจากจะพบว่าเป็นอาคารหลังคาจั่ว ด้วยมีชิ้นส่วนที่เป็นหน้าบัน วางอยู่ในด้านสกัดครบจำนวนอาคารละ ๓ ชุด หลังคาที่เป็นหินยังมีการเจาะช่องระบายอากาศที่ส่วนคอสองทั้ง ๒ ด้าน ทำให้สามารถเปรียบเทียบผังและรูปแบบอาคารได้กับอาคารบรรณาลัยที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ที่ ปราสาทธม เกาะแกร์ เป็นอาคารคู่ตั้งอยู่ด้านหน้าและหันประตูเข้าหาปราสาทประธาน แบบอย่างอาคารเช่นนี้ยังมีให้เห็นต่อมา เช่น ปราสาทบันทายสรี ปราสาทคลัง ปราสาทตาแก้ว ปราสาทพระวิหาร ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทเจ้าสายเทวดา จนได้พัฒนาต่อกลายเป็นอาคารยกฐานสูงและมีความใหญ่โต ที่ปราสาทนครวัดและปราสาทบายน อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบด้วยลวดลายที่ปรากฏอยู่ที่หน้าบัน ก็ยืนยันได้ว่าเป็นแบบที่อยู่ในศิลปะยุคที่ต่อเนื่องระหว่างแบบคลังและบาปวน
ปราสาทประธาน จากผลการทดลองประกอบหินหล่น ทำให้ได้ข้อมูลว่าอาคารมีประตูเข้าภายในอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนอีกสามด้านนั้นทำเป็นประตูหลอก ภายในห้องเป็นพื้นลดระดับลงมา ค้นพบชิ้นส่วนที่แตกหักของฐานรูปเคารพขนาดใหญ่คาดว่าน่าจะเป็นฐานของศิวลึงค์ดังที่กล่าวไว้ในจารึก ที่ผนังทางด้านทิศเหนือจากการประกอบชิ้นส่วนของส่วนฐานปัทม์หินทรายและประตูหลอกพบว่ามีช่องโสมสูตร ที่จะพาเอาน้ำศักดิ์สิทธิ์จากการประกอบพิธีในครรภคฤหะไหลออกไปสู่ภายนอกตรงกึ่งกลางช่องประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ จากการตรวจสอบขนาดของหน้าบันของปราสาทประธานที่ทดลองประกอบได้ทั้งหมดปรากฏว่า มีขนาดซึ่งแตกต่างกัน ๕ ชุด ชุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเข้ากันได้กับขนาดของซุ้มประตูและเป็นลักษณะหน้าบันซ้อนกัน ๒ ชั้น อีก ๔ ชุดจึงน่าจะสอดคล้องกับส่วนยอด ๔ ชั้น ประกอบกับหินส่วนอื่นๆและหินส่วนยอดบนสุดรูปหม้อน้ำพร้อมด้วยหินวางวัตถุมงคลที่เราสามารถระบุอย่างชัดเจนได้ เราจึงสามารถค้นพบหินของส่วนหลังคาครบทุกชั้น ทำให้เราทราบถึงรูปแบบที่สมบูรณ์ของปราสาท ในการทำงานพบทับหลัง ๑ ชิ้น ด้วยขนาดและตำแหน่งตามผังหินตกทำให้เชื่อได้ว่าเป็นทับหลังเหนือประตูหลักด้านทิศตะวันออก แม้ว่าตรงกลางทับหลังจะชำรุดมีรอยสกัดแต่ก็ชัดเจนว่าเป็นการสกัดรูปบุคคลที่คาดว่าจะเอาไปขายได้ออกไป สรุปว่าเป็นทับหลังที่มีรูปบุคคลประทับอยู่ในซุ้มตรงกลาง สองข้างเป็นลายพันธุ์พฤกษาและท่อนพวงมาลัยห้อยโค้งลง ตรงกับลักษณะของทับหลังในแบบบาปวน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรียังได้เก็บรักษาทับหลังที่ระบุว่านำมาจากปราสาทสด๊กก๊อกธม เมื่อตรวจสอบขนาดและรูปแบบจึงพบว่าเป็นทับหลังของปราสาทประธานนี้ด้วย ส่วนหน้าบันจากที่ทดลองประกอบได้ทั้งหมดมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่พบที่โคปุระ ทั้งลักษณะของหัวนาค และลักษณะลายก้านต่อดอกประคับภายในกรอบหน้าบัน ปลายกรอบเป็นหัวนาคแต่เพียงอย่างเดียว ที่แสดงถึงลักษณะของยุคหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปะแบบคลังและแบบบาปวน ส่วนนาคปักที่เป็นส่วนประดับเครื่องยอดก็เป็นรูปนาคที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับหัวนาค แต่ด้วยรูปแบบอาคารที่เป็นปราสาทหลังเดียว ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ กลับเป็นลักษณะที่แตกต่างไปจากอาคารปราสาทประธานที่พบในศิลปะแบบบาปวนโดยทั่วไป ที่มักจะมีห้องยาวที่เรียกว่ามณฑป และอันตราระเป็นส่วนเชื่อมต่อ อยู่ทางด้านหน้า เช่นที่ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมวัน และ ปราสาทพระวิหาร ลักษณะที่พบที่นี่ทำให้นึกถึงรูปแบบของปราสาทที่จำลองแบบของภูเขา เช่น ปราสาทปักษีจำกรง และปราสาทธม ในศิลปะแบบเกาะแกร์
ลานศิลาแลงและเสารอบปราสาทประธาน เป็นส่วนที่น่าสนใจที่สุด เนื่องจากการที่รอบองค์ปราสาทประธานมีเสานางเรียงปักในตำแหน่งโดยรอบเช่นนี้ ถือเป็นลักษณะที่ยังไม่เคยพบในปราสาทหลังใดมาก่อนทั้งในประเทศไทย และกัมพูชา โดยที่ในความเป็นจริงนั้นเราจะพบการเอ่ยถึงการกำหนดอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ในเทวาลัยด้วยการปักเสาในจารึกโบราณอยู่บ่อยครั้ง ที่คาดว่าน่าจะมีที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่ หลักฐานการค้นพบเสายอดดอกบัวทำด้วยไม้ที่ปราสาทพระโคที่มีการบันทึกไว้แต่ตัวเสาไม้ไม่เหลืออยู่แล้ว คาดว่าคงจะเสื่อมสภาพไป ลักษณะพิเศษอันน่าจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดมณฑลพิธีที่พบที่นี่ น่าจะสอดคล้องกับข้อมูลประวัติการก่อสร้างจากจารึกที่เกี่ยวข้องกับพระครูพราหมณ์ประจำรัชกาล
สด๊กก๊อกธม : องค์ประกอบสถาปัตยกรรมก่อนการอนุรักษ์
บริเวณสิ่งก่อสร้างของปราสาทล้อมรอบชั้นนอกด้วยกำแพงแก้ว เป็นกำแพงก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้าง ๑๒๐ เมตร ยาว ๑๒๗ เมตร มีประตูทางเข้าออกเพียงสองทาง คือโคปุระหรือซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกเป็นประตูทางเข้าหลัก และช่องประตูเล็กทางด้านทิศตะวันตก ด้านหน้าอาคารทางทิศตะวันออกมีทางดำเนินยกพื้น ปูศิลาแลงประดับด้วยเสานางเรียงขนาดใหญ่ตลอดทาง เชื่อมต่อไปยังบาราย ที่ด้านข้างของทางดำเนินด้านทิศเหนือยังมีสระน้ำขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร พร้อมด้วยร่องรอยของขอบศิลาแลงเหลืออยู่บางส่วน ส่วนช่องประตูทางเข้าทางทิศตะวันตกแม้ว่าจะมีขนาดเล็กแต่ก็มีหลักฐานของซุ้มประตูพร้อมหน้าบันหินทรายด้วย อาคารโคปุระตะวันออกชั้นนอก (เนื่องจากปราสาทสด๊กก๊อกธมมีโคปุระตะวันออก ๒ หลัง จึงจะเรียกอาคารนี้ว่าโคปุระตะวันออกชั้นนอก) เป็นอาคารขนาดใหญ่สร้างด้วยหินทราย มีช่องประตูทางเข้าอยู่กึ่งกลางอาคาร นำเข้าไปสู่กลุ่มอาคารชั้นใน
ถัดจากโคปุระตะวันออกชั้นนอกเข้าไปจะพบสระน้ำรูปปีกกาล้อมรอบปราสาทชั้นในไว้ เว้นช่องทางเดินทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกไว้สองด้าน ทางเดินด้านทิศตะวันออกยกพื้นปูศิลาแลงประดับด้วยเสานางเรียงเช่นเดียวกันกับทางดำเนินด้านนอก โดยสระน้ำมีความกว้างประมาณ ๒๐ เมตร
ถัดจากสระน้ำเป็นอาคารระเบียงคดซึ่งล้อมรอบปราสาทประธานและสิ่งก่อสร้างชั้นในไว้ อาคารระเบียงคดซึ่งล้อมรอบกลุ่มอาคารชั้นในไว้ เป็นอาคารที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง โดยส่วนฐานเป็นศิลาแลงทั้งหมด ผนังด้านนอกส่วนใหญ่เป็นศิลาแลงยกเว้นส่วนที่มีการสลักเป็นลวดบัวกรอบประตูหน้าต่างและส่วนที่มีการแกะสลักอื่นๆจะใช้หินทราย ผนังด้านในของระเบียงคดเป็นช่องเปิดก่อด้วยหินทรายทั้งหมด ระเบียงคดมีขนาดกว้างประมาณ ๓๖.๕๐ เมตร ยาว ๔๒.๕๐ เมตร ที่กึ่งกลางกำแพงระเบียงคดด้านทิศตะวันออกที่ตั้งของโคปุระตะวันออกชั้นใน มีช่องประตู ๓ ประตู เป็นประตูหลักอยู่ตรงกลาง และประตูรองทางด้านเหนือและใต้ ผนังด้านข้างทำเป็นหน้าต่างหลอกประดับด้วยเสาลูกมะหวดไว้ทั้งสองข้าง ภายในอาคารทำเป็นห้อง แต่ไม่สามารถทะลุออกสู่ระเบียงคดได้ ด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโคปุระตะวันออกชั้นในนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญ นอกจากขนาดของอาคารซึ่งใหญ่กว่าโคปุระอีกสามด้าน ส่วนหลังคายังมีการก่อซ้อนชั้นขึ้นไปเป็นพิเศษแต่ในช่วงหลังการขุดแต่งยังไม่ทราบว่ารูปทรงเป็นอย่างไรเนื่องจากเหลือแต่หินผนังด้านในเป็นส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในที่ วัสดุก่อสร้างยกเว้นส่วนฐานศิลาแลงเป็นหินทรายทั้งหมด ในขณะที่โคปุระเหนือ โคปุระใต้ และโคปุระตะวันตก ใช้ศิลาแลงเป็นหลัก มีเฉพาะส่วนประตูหน้าต่าง ส่วนลวดบัว และส่วนที่มีการแกะสลักอื่นๆ เช่น ส่วนเชิงชาย ที่ใช้หินทราย โคปุระทั้งสามนี้มีผังเป็นมุขยื่นของส่วนทางเข้าอาคารหันเข้าหาปราสาทประธาน ซึ่งเป็นทางเข้าทางเดียวของแต่ละอาคาร
วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างโคปุระและระเบียงคดนอกจากจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างหินทรายและศิลาแลงแล้ว ในส่วนที่เป็นหินทรายยังมีการนำเอาหินทรายสีต่างๆมาใช้คละร่วมกันอีกด้วย ได้แก่ หินทรายสีเหลือง สีขาว และสีชมพู โดยที่โคปุระตะวันออกชั้นในใช้หินทรายสีเหลืองเป็นส่วนใหญ่
เมื่อผ่านอาคารโคปุระตะวันออกชั้นในเข้าไปจะพบกับลานปูศิลาแลงซึ่งมีปราสาทประธานตั้งอยู่กลางพื้นที่ ปราสาทประธานเป็นอาคารทรงปราสาทที่ก่อด้วยหินทรายสีขาวตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ จากการสำรวจวัด ขนาดฐานได้กว้างประมาณ ๑๐.๔๐ เมตร สูง ๑๐.๘๐ เมตร โดยประมาณ เป็นห้องครรภคฤหะ ที่ใช้ประกอบพิธีเพียงห้องเดียว มีสภาพปรักหักพังเป็นอันมาก ส่วนฐานสูงที่เป็นศิลาแลงมีบันไดอยู่ทั้ง ๔ ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นฐานหินทรายรับส่วนเรือนธาตุที่มีการทรุดตัวจมลงไปในส่วนฐานศิลาแลงเนื่องจากน้ำหนักมหาศาลของตัวอาคารได้กดลงมา อาคารส่วนบนพังทะลายลงมาเป็นส่วนใหญ่ ผนังส่วนบนยังคงสภาพให้เห็นเฉพาะด้านทิศตะวันตกและทิศใต้เท่านั้นโดยทำเป็นประตูหลอก ส่วนยอดเหลือแต่เพียงหินที่เป็นแกนอยู่ด้านในยากที่จะเข้าใจลักษณะทางสถาปัตยกรรม โดยรอบอาคารปราสาทประธาน มีเสาหินลักษณะคล้ายคลึงกับเสานางเรียงแต่มีขนาดเล็กกว่า ปักอยู่เป็นระยะๆ จำนวน ๑๖ ต้น
ด้านหน้าของปราสาทประธาน ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นที่ตั้งของอาคารที่เรียกว่าบรรณาลัย เป็นอาคาร ๒ หลังที่มีผังและรูปแบบเหมือนกัน ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันตกหันเข้าหาปราสาทประธาน มีขนาดกว้าง ๔.๘๐ เมตร ยาว ๕.๐๐ เมตร ผังอาคารด้านหน้าเป็นมุขยื่น ห้องด้านในมีช่องหน้าต่างที่มีร่องรอยการประดับด้วยลูกมะหวดทั้งสองด้าน ส่วนด้านหลังเป็นช่องประตูรองสำหรับบรรณาลัยเหนือ และเป็นผนังทึบในลักษณะของประตูหลอกสำหรับบรรณาลัยใต้ ส่วนฐานของอาคารทั้งสองเป็นศิลาแลง ส่วนตัวอาคารเป็นหินทรายทั้งหมด หลังคาหินทรายยังคงสภาพเหลืออยู่ในที่บางส่วน
ในส่วนด้านหน้าของปราสาทประธานนี้ยังมีการยกระดับทางเดินเชื่อมต่อระหว่างโคปุระตะวันออกชั้นในมายังปราสาทประธาน จากการทดลองประกอบหินพบว่าเป็นทางเดินที่ประดับด้วยเสานางเรียงด้วยเช่นเดียวกัน แต่ไม่พบว่าใช้วัสดุชนิดใดปูพื้นทางเดินนี้
ส่วนบาราย อยู่ห่างจากกำแพงแก้วที่ล้อมรอบตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกระยะทางประมาณ ๑๗๐ เมตร ตัวบารายและคันดินที่ล้อมรอบมีขนาดกว้างประมาณ ๒๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๔๐ เมตร นอกจากนี้ยังมีแนวคันดินโบราณอยู่ห่างจากกำแพงแก้วด้านทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๑๒๐ เมตร เรียกว่าละลม เป็นแนวคันดินคล้ายฝายกั้นน้ำที่ยังไม่ทราบขอบเขตรูปร่างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการนำเอาน้ำเข้ามาสู่บาราย หรือกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่กลุ่มอาคารศาสนสถาน
สด๊กก๊อกธม : การศึกษาและการดำเนินการอนุรักษ์ที่ผ่านมา
ต่อมาได้มีการบันทึกชื่อของปราสาทสด๊กก๊อกธมไว้ในแผนที่แสดงที่ตั้งของปราสาทหินทั้งหมดที่มีการสำรวจพบในภูมิภาค ทำให้เราได้ข้อมูลของเส้นทางวัฒนธรรมเขมรโบราณเชื่อมต่อไปยังศูนย์กลางที่เมืองพระนคร (Angkor) ในแผนที่ "Carte archeolgique de l’ancien Cambodge” จัดทำโดย นายลูเนต์ เดอลาจงกิแยร์ (E. Lunet de Lajonquiere) จัดพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๔๕๔
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ นายหลุยส์ ฟีโน ได้แปลจารึกสด๊กก๊อกธมอย่างสมบูรณ์ และตีพิมพ์ เผยแพร่
ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ร้อยตำรวจเอกหลวงชาญนิคม ได้เดินทางมาทำการสำรวจและบันทึกสิ่งที่พบไว้ว่า
“...ตำบลที่ปราสาทตั้งอยู่นี้ ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า ปราสาทเมืองพร้าว ซึ่งมีคนโบราณเล่าต่อๆกันมาว่ามีคนหลงทางเข้าไปในดง แลเห็นมีต้นพร้าว จึงได้เรียกเอาว่าเมืองพร้าว ...มีกำแพงสองชั้นคือ ชั้นนอก ชั้นใน ชั้นนอกมีประตู ๔ ด้าน ประตูก็เป็นรูปปราสาทคล้ายวิหารคด ชั้นในมีกำแพงและประตู ๔ ด้านเหมือนกัน ในบริเวณกำแพงมีปราสาทหิน ๗ องค์ คือรอบนอก ๔ กลาง ๓ ล้วนแต่ปราสาททำด้วยหินทั้งนั้น ตามธรณีประตูล้วนสลักลวดลายสวยงาม ปราสาทบางองค์ชำรุด บางองค์ยอดยังบริบูรณ์อยู่ กำแพงชั้นในก็มีหลังคามุงด้วยหิน แลมีลูกกรงหินกลึงเป็นช่องงดงาม ความงามน่าดูเหลือจะกล่าวให้ละเอียดได้ ...ที่ใกล้บริเวณปราสาทด้านทิศตะวันออก เป็นทุ่งมีสระน้ำเป็นรูป๔เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ ๑๐ เส้นเศษ มีถนนปูด้วยหินแต่กำแพงปราสาทถึงสระยาวประมาณ ๕ เส้นเศษ สองข้างถนนมีเสาหินปักเป็นระยะห่างกันประมาณ ๔-๕ วา เสาสูงประมาณ ๒ ศอก มีรูปพระและเทวดาบ้างตามเสา นอกจากถนนปูด้วยหิน มีรูปถนนใหญ่ แต่กำแพงปราสาทผ่านแนวสันโคก ไปทางบ้านตาพญา หรือช่องกุ่มลายออ เป็นถนนยาวมาก
และได้ความว่าทางหลวงที่ผ่านไปทางทิศตะวันออก(เขตเขมร) ตรงไปนครวัด นครพนม และยังได้ความต่อไปว่าชั้นเดิมประมาณ ๒๐-๓๐ ปีมาแล้ว น้ำในสระหน้าที่ปราสาทนี้ มีเต็มบริบูรณ์ตลอดปี ไม่เคยแห้งเลยโดยน้ำได้ไหลมาจากเขตเขมร ครั้นมาในสมัยนี้ น้ำหาได้ไหลมาจากเขตเขมรไม่ที่สระนี้จึงไม่มีน้ำอยู่ตลอดปี...”
จากการสำรวจครั้งนั้นได้พบศิลาจารึกสำคัญที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้แก่ จารึกสด๊กก๊อกธม ๒ เป็นจารึกขนาดใหญ่มี ๔ ด้าน เขียนด้วยอักษรขอมโบราณ ในภาษาสันสกฤตและเขมร โดยหลวงชาญนิคมได้จัดทำสำเนาจารึกขึ้นและได้บันทึกไว้ว่า “อักษรโบราณนี้ได้ก๊อปปี้มาจากเสาศิลาจารึก ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าปราสาทเมืองพร้าว...ใกล้กับเขตแดนฝรั่งเศส...หลักศิลาจารึกนี้ตั้งอยู่ตรงหน้าปราสาทด้านทิศเหนือ เป็นรูป ๔ เหลี่ยม มีอักษร ๔ ด้าน กว้างประมาณ ๑ ศอก หนาประมาณ ๑๘ นิ้ว...สูงจากพื้นดินประมาณ ๓ ศอก ลึกลงไปในดินประมาณเท่ากัน ขณะที่ได้พบเห็นเสาศิลาเอน ได้ความว่า ประมาณ ๒๐ มาแล้วฝรั่งเศสได้ให้คนมาขุด และเอาช้างฉุด เพื่อจะเอาเสาศิลานี้ไป แต่หาเอาขึ้นได้ไม่ จึงยังอยู่จนทุกวันนี้ เห็นว่าเป็นของสำคัญจึงได้พยายามใช้กระดาษฟุสแก็ปก๊อปปี้ โดยจะหาเครื่องมืออย่างอื่นดีกว่านี้ไม่ได้ ได้ก๊อปปี้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๓...ศิลาจารึกนี้ เข้าใจว่าเป็นอักษรขอม แต่ให้ผู้ที่รู้ขอมอ่านก็ไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ความว่าจะมีเรื่องราวอย่างใด ” นอกจากนี้ในบันทึกยังได้กล่าวว่า ในบริเวณปราสาท เป็นเขตป่าดงที่ชาวบ้านแถบนั้นยำเกรง ถือกันว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ค่อยมีใครกล้าล่วงล้ำเข้าไป ในการสำรวจครั้งนั้นได้สมภารวัดบ้านโคกสูง เป็นผู้นำเข้าไป
มาจนถึงยุคที่บริเวณของปราสาทได้กลายเป็นที่พักของชาวเขมรที่อพยพเข้ามาในช่วงสงคราม มีกองกำลังของเขมรสามฝ่ายผลัดกันเข้ามาในพื้นที่ ขบวนการค้นหาทรัพย์สมบัติจากโบราณสถานที่ไม่ได้ระบุสัญชาติอาจจะถือโอกาสจากความวุ่นวายในช่วงนี้ทำการขุดหาสมบัติที่ปราสาทประธาน สร้างความเสียหายส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางโครงสร้างของอาคาร หินที่หล่นลงมาบางส่วนถูกเคลื่อนย้ายไปทำเป็นบังเกอร์ ในขณะที่รูปสลักชิ้นงาม หรือเทวรูป ตามที่ได้บรรยายถึงในอดีตไม่มีหลงเหลือให้เห็น ปราสาทแห่งนี้จึงกลายเป็นเพียงกองหินที่ตกลงมาปะปนกัน ยากที่จะเข้าใจ แผนผัง รูปทรง และส่วนตกแต่ง ที่พอจะเห็นร่องรอยลวดลายที่สลักเสลาไว้อย่างวิจิตร ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมของยุคใด ในเวลาที่กรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการสำรวจ พร้อมด้วยของฝากจากสงครามได้แก่ กับระเบิดที่อาจพบได้โดยรอบทั่วทั้งบริเวณตลอดไปจนถึงในพื้นที่ของบาราย
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นโบราณสถานของชาติในพระราชกิจจานุเบกษา มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ และได้ประกาศขอบเขตพื้นที่โบราณสถานครอบคลุมเนื้อที่ ๑๖ ไร่เศษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยมีการสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการจัดทำโครงการอนุรักษ์เป็นครั้งแรกโดย หน่วยศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ และได้สำรวจเพื่อประกาศขอบเขตพื้นที่เพิ่มเติมครอบคลุมเนื้อที่ ๖๔๑ ไร่เศษ เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ในขณะเดียวกันก็ได้เริ่มต้นการสำรวจเขียนแบบสภาพก่อนการอนุรักษ์โดยวิธีจ้างเหมา จากนั้นเริ่มดำเนินการขุดแต่งเคลื่อนย้ายหินหล่นในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ใช้เวลาดำเนินการมาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๔๓ โดยระหว่างนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ขณะขุดแต่งโคปุระด้านทิศตะวันออกชั้นนอก ทำแบบรูปสันนิษฐานเพื่อการบูรณะ มีการพบชิ้นส่วนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ และหินที่มีลวดลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนหน้าบัน พบจำนวน ๑๖ ชุดแต่ยังไม่ครบทั้งหมด
ในปีถัดมาปี พ.ศ.๒๕๔๑ ได้ดำเนินการบูรณะอาคารโคปุระตะวันออกชั้นนอกไปพร้อมกันด้วยโดยยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์ทดลองประกอบหินหล่นอย่างเป็นระบบให้ครบถ้วนทั้งหมดก่อน จึงบูรณะได้ขึ้นเพียงหน้าบันชั้นล่างสุด
ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ จึงได้กลับมาเริ่มต้นที่การทดลองประกอบหินหล่นทั้งหมด ทำการวิเคราะห์รูปแบบสถาปัตยกรรม ดำเนินการขุดตรวจหาขนาด ขอบเขต ของสระน้ำ และออกแบบวางแผนการบูรณะปราสาททั้งโครงการรวมทั้งฟื้นฟูสระน้ำรอบปราสาท ซึ่งในปีนั้นยังได้ทำการขุดแต่งและบูรณะทางดำเนินด้านหน้าปราสาทเป็นระยะทาง ๖๕ เมตร ได้เริ่มการบูรณะตามรูปแบบรายการตามแผนการเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๔๖ โดยเริ่มที่อาคารขนาดเล็กก่อนได้แก่ บรรณาลัย ๒ หลัง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ดำเนินการบูรณะโคปุระตะวันออกชั้นใน และในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้เริ่มการบูรณะที่ปราสาทประธาน โดยในปีแรกดำเนินการในส่วนฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอดชั้นที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ บูรณะปราสาทประธานสมบูรณ์ทั้งองค์ โคปุระเหนือ โคปุระใต้ ระเบียงคดมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้เฉพาะส่วนฐานศิลาแลง และในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ บูรณะโคปุระตะวันตก ระเบียงคดมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้(เฉพาะส่วนฐานศิลาแลง) ลานศิลาแลงภายในระเบียงคด
งานบูรณะในลำดับต่อไป ได้แก่ โคปุระเหนือ โคปุระใต้ โคปุระตะวันตก ระเบียงคดในส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ส่วนผนังอาคารและหน้าบัน งานขุดรอกฟื้นฟูสระน้ำรอบปราสาทและด้านหน้าปราสาท กำแพงแก้ว ซุ้มประตูทิศตะวันตก ทางดำเนินประดับเสานางเรียงส่วนที่เหลือทั้งด้านในและด้านนอกปราสาท งานปรับปรุงพื้นที่โดยรอบ งานพื้นฟูการกักเก็บน้ำของบาราย งานสื่อความหมายส่วนคันดินโบราณ งานก่อสร้างอาคารศูนย์ข้อมูล อาคารบริการต่างๆ และงานปรับปรุงภูมิทัศน์
ปราสาทสด๊กก๊อกธม : ประวัติ และคุณค่าความสำคัญ
มีการสำรวจพบศิลาจารึกสองหลัก ซึ่งตั้งชื่อว่า จารึกสด๊กก๊อกธม ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์เขมรเป็นอย่างมาก นักวิชาการชาวฝรั่งเศสซึ่งทำการศึกษาประวัติศาสตร์เขมรได้อาศัยศิลาจารึกนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการอ้างอิง
ปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้จึงมีชื่อเสียงอย่างมากในหมู่นักวิชาการเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับศิลาจารึกที่สำรวจพบในพื้นที่ จารึกหลักที่ ๑ (จารึกสด๊กก๊อกธม ๑) ตามข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติระบุว่า เจ้าหน้าที่กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้นำมามอบให้ผู้เชี่ยวชาญอักษรภาษาโบราณ อ่านแปลเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ มีเนื้อความกล่าวถึงการสร้างศาสนสถานขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เพื่อเป็นเทวสถานประดิษฐานศิวลึงค์ ตามความในจารึกดังกล่าว ในปีพุทธศักราช ๑๔๘๐ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ โปรดให้กำเสตญอัญศรีวีเฐนทรวรมัน ใช้ให้ปรัตยยะนำศิลาจารึกมาปักไว้ เพื่อประกาศห้ามเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเรียกข้าพระของเทวสถานแห่งนี้ไปใช้ในกิจการอื่น ให้ใช้ข้าพระดังกล่าวเฉพาะการปฏิบัติบูชาบำรุงรักษาเทวรูป ศิวลึงค์ และรูปเคารพอันประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถาน(แห่งนี้) เท่านั้น
ส่วนจารึกหลักที่ ๒ (จารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ซึ่งมีการกล่าวอ้างถึงตั้งแต่การเข้าไปสำรวจปราสาทครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้ โดยนายเอโมนิเยร์) นั้นกล่าวว่า เป็นการกล่าวสรรเสริญเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ในโอกาสที่ได้สร้าง (บูรณะปฏิสังขรณ์?) ปราสาทแห่งนี้สำเร็จในปีพุทธศักราช ๑๕๙๕ และนอกจากนี้แล้วยังบันทึกหลักฐานเกี่ยวกับประวัติอารยธรรมทางด้านศาสนา ซึ่งบ่งชัดเจนว่ากษัตริย์แห่งอาณาจักรกัมพูชาเป็นผู้อุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้นำทางศาสนา เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและกษัตริย์ นอกจากนี้ในจารึกยังกล่าวถึงประวัติการสืบสายสกุลของพราหมณ์ผู้เป็นใหญ่ในราชสำนักเขมร การปฏิบัติพระเทวราชและรูปเคารพ การสร้างหมู่บ้าน การบุญต่างๆในพระศาสนา เป็นต้น
จารึกหลักแรก ระบุศักราช พ.ศ. ๑๔๘๐ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ จารึกหลักที่สอง ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. ๑๕๙๕ กล่าวถึงการที่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ พระราชทานเทวสถานอุทิศแด่พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ นอกจากนี้ยังได้เล่าเรื่องย้อนหลังขึ้นไปอีกราว ๒๐๐ ปี กล่าวถึงต้นตระกูลพราหมณ์คนแรก ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ผู้ทรงรวบรวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำเข้าด้วยกันและสร้างเมืองพระนครขึ้น จึงกลายเป็นหลักฐานอ้างอิงที่สำคัญในการกำหนดยุคสมัยของประวัติศาสตร์เขมรและประวัติศาสตร์ศิลปะเขมร ตั้งแต่ยุคแห่งการสร้างเมืองพระนครมาจนถึงในรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒
อนึ่งมีข้อน่าสังเกตว่าจารึกสด๊กก๊อกธม ๑ ตามข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติระบุว่าพบที่บ้านสระแจง ไม่ได้นำมาจากที่ปราสาทโดยตรง ส่วนจารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ระบุว่าพบที่ปราสาทเมืองพร้าว ซึ่งเป็นชื่อเดิมของปราสาทสด๊กก๊อกธม และจากการขุดตรวจชั้นดินบริเวณทางดำเนินภายในตัวปราสาทบางส่วน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ ยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างใดๆ ก่อนที่จะมีการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ใน จ.สระแก้วยังมี ปราสาทเขาสระแจงดงรัก ซึ่งศาตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวิเคราะห์ไว้ว่าเป็นปราสาทที่มีอายุสมัยระหว่างปี พ.ศ.๑๖๐๐ -๑๖๕๐ ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ตามที่ระบุในจารึกสด๊กก๊อกธม ๑
จากปีที่ระบุไว้ในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักแรก และใจความที่กล่าวถึงการสร้างศาสนสถาน ทำให้อาจเป็นไปได้ว่ามีอาคารที่สร้างขึ้นในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ และถ้าหากจะอ้างอิงข้อมูลในจารึกหลักที่ ๒ ซึ่งมีความชัดเจนว่าเคยตั้งอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเทวาลัยที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็อาจจะเชื่อได้อีกเช่นกันว่าได้สร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมขึ้นหรือมีการปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ซึ่งเป็นศิลปะแบบบาปวน ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สร้างความสงสัยให้เราหาเหตุผลอื่นมาสนับสนุนเพื่อค้นหาคำตอบ
ข้อมูลจากการทดลองประกอบหินหล่นและการขุดแต่งได้มาผสมผสานกันเข้าเป็นข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานที่สามารถตรวจสอบและยืนยันได้ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบกับรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรที่มีการเรียงลำดับอายุสมัยไว้แล้วโดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศส จากการวิเคราะห์แต่ละองค์ประกอบทำให้สามารถสรุปได้ว่าสิ่งก่อสร้างของปราสาทสด๊กก๊อกธมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างยุคสมัยคลังหรือเกลียง (Khleang) และสมัยบาปวน (Baphuon) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ ๒ ซึ่งระบุถึงรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทบาปวนขึ้นเป็นปราสาทประจำรัชกาลที่เมืองพระนคร แต่ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมในบางองค์ประกอบที่ยังคงมีรูปแบบค่อนข้างโน้มเอียงไปในลักษณะของยุคก่อนมากกว่าจึงสันนิษฐานได้ว่า เป็นการปฏิสังขรณ์เทวาลัยที่มีมาก่อนการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ หรือเป็นการก่อสร้างในช่วงตอนต้นของรัชสมัย โดยมีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ให้ข้อมูลสำคัญที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะของยุคสมัยที่ทำการก่อสร้างปราสาท เช่น รูปแบบของปราสาทประธาน และ การตั้งเสาหินที่มีลักษณะเหมือนเสานางเรียงขนาดเล็ก ล้อมรอบปราสาทประธาน เหมือนเป็นการแสดงถึงปริมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏที่ใดมาก่อน
ดังนั้นลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของปราสาทสด๊กก๊อกธม จึงสามารถใช้ข้อมูลของเพื่อประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบสำหรับการศึกษาทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยคลังต่อบาปวน ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ปราสาทหินที่อยู่ร่วมสมัยในแหล่งอื่นๆต่อไป
วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551
ยายเหงาเพราะตาเมือน / ปราสาทยายเหงากับการปฐมพยาบาล
แต่ที่อยากจะเล่าสู่กันฟังเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อสังเกตทางด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการอนุรักษ์ เริ่มจากประวัติของปราสาทแห่งนี้ก่อนแล้วค่อยมาสังเกตในเรื่องของการอนุรักษ์ จะเห็นว่าสิ่งที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันมีปราสาทที่เป็นอาคารสิ่งก่อสร้างอยู่ 2 หลังด้วยกัน ปกติสำหรับปราสาทขอมเรามักจะเจอที่เป็นปราสาทหนึ่งองค์หรือว่าสามองค์ แต่ที่นี่เราพบอยู่ 2 องค์ ทีนี้โดยรูปแบบศิลปะหรือบางทีเนื่องจากหลายๆที่เรามักจะดูข้อมูลจากจารึก หรือว่าเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะเพื่อให้ทราบว่าอาคารสร้างขึ้นเมื่อไร ที่นี่ไม่ได้จารึกระบุไว้ว่าสร้างเมื่อไร แต่เราดูได้จากลักษณะของลวดลายที่สลักอยู่บนอิฐตรงส่วนหัวนาคก็จะเห็นว่าเป็นนาคในแบบที่มีเป็นแผงประดับอยู่เหนือศรีษะ ซึ่งระบุได้ว่ารูปแบบหัวนาคแบบนี้จะเหมือนกับที่เราได้เห็นกันมาแล้วที่ปราสาทศีขรภูมิ ก็คืออยู่ใน style แบบนครวัดนั่นเอง หรือสิ่งก่อสร้างในช่วงประมาณรัชสมัยของกษัตริย์เขมรที่พระนามว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
ตัวอาคาร 2 หลังแต่ว่าลักษณะจะแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคืออาคารหลังที่ยอดยังสมบูรณ์จะมีการก่อเป็นซุ้มดูจากผังที่ยื่นเป็นซุ้มยื่นออกมาด้านหน้าด้วย แต่ว่าส่วนขององค์ประกอบอื่นๆ เช่น ทับหลัง ก็ไม่อยู่แล้วคาดว่าคงจะโดนเคลื่อนย้ายไปไหนแล้ว ไม่แน่ใจว่าเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ใดหรือไม่ ส่วนด้านหน้าอาคารโบราณสถานก็จะมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ ที่น่าจะเป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมของอาคาร คาดว่าจะเป็นส่วนของอาคารทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศด้านหน้า มีส่วนของหัวนาคที่เป็นหิน เหมือนกับอย่างที่ปราสาทศีขรภูมิ การที่เรามาเจอหลักฐานของหัวนาคที่อยู่ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทนี้ เราจะสังเกตได้ว่าถ้าเปรียบเทียบก็จะเห็นค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าการบูรณะที่ปราสาทศีขรภูมิน่าจะมีเหตุผล คือส่วนหัวนาคทางด้านหน้าจะเป็นหินในขณะที่หัวนาคส่วนด้านข้างจะเป็นอิฐแกะสลัก
ทีนี้มาดูกันต่อในเรื่องของการทรุดเอียงของตัวโครงสร้างในการซ่อมเบื้องต้น เราก็จะเห็นว่ามีการนำเอาอิฐใหม่มาอุดตามรอยแยก จริงๆ คัดขึ้นไปกว่าที่ศีขรภูมิเพราะว่าอิฐที่เป็นอิฐขนาดก้อนเล็กจริงๆ ที่นี่ก็พึ่งจะมีการทำเรื่องเข้ามาเรื่องที่ว่าจะมาซ่อมแซมส่วนของค้ำยัน อันนี้ที่เราเห็นเป็นค้ำยันที่ทำไว้เก่าแล้วแต่ว่ามีเรื่องที่ทางสำนักศิลปากรพิมาย ซึ่งจะทำเรื่องเข้าไปขออนุมัติในการจัดการ คือมาซ่อมส่วนค้ำยันให้ยังสามารถที่จะรับตัวอาคารได้ต่อไป ซึ่งในส่วนของครึ่งหนึ่ง ผมเข้าใจว่าแต่เดิมน่าจะเต็มอยู่ เสร็จแล้วที่เราจะให้สลิงไปปะทะกับตัวโบราณสถานที่เป็นอิฐซึ่งจะมีความอ่อน ก็จะไปกดทำลาย ส่วนใหญ่แล้วที่เราเคยพบก็จะใช้วัสดุที่แข็งน้อยกว่าสลิงไปรองก็คือเป็นพวกไม้ แล้วไม้เวลายึดกับสลิงก็คงตีตะปูทับยึดไว้แล้วพอนานๆไป ตะปูเป็นสนิมบ้างอะไรบ้าง ไม้ก็อาจจะหลุดถอนออกไป สลิงก็จะหย่อน ตอนนี้ว่าสลิงที่จะใช้รัดถ้าเราไปดูในแหล่งอื่นจะมีกรณีในลักษณะนี้ ก็คงจะใช้รัดได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแค่ช่วง 1 ปี หรือว่าระยะเวลาที่เราคิดว่าเราจะเข้าไปทำในเร็ววัน ถ้านานไปก็จะสิ้นผลแบบนี้ ก็จะสูญเปล่า ถ้าเกิดมีการเคลื่อนตัวยังขยับอยู่จริงๆก็อาจจะเฟ็ลท์ไปเลยทั้งตัวโบราณสถาน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะไปค้ำยันหรือว่าไปรัดก็ต้องดูช่วงระยะเวลาและต้องเลือกใช้วัสดุที่ดูแล้วเหมาะ ถ้าเกิดเราไม่มั่นใจว่าจะอยู่ได้นาน เราอาจจะใช้วัสดุประเภทอื่นที่เสื่อมสภาพได้ยากกว่า อย่างเช่นอาจจะเป็นโครงเหล็กโดยใช้ท่อเหล็กกลม รัดบีบไว้แต่ว่าภาพที่ออกมาอาจจะใช้พื้นที่มากหน่อยและจะรกสายตาก็อาจต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป
ก็คงต้องย้ำว่านี่เป็นการค้ำยันในลักษณะเหมือนการปฐมพยาบาล เพราะว่าจริงๆแล้วที่นี่เราจะเห็นว่ายังไม่ได้มีการขุดแต่ง เป็นการทำชั่วคราวในขณะที่เรายังไม่ได้มีงบหรือว่ามีโครงการที่จะมาทำอย่างเต็มรูปแบบ เพราะคาดว่าระดับดินเดิมน่าจะต่ำลงไปกว่าระดับพื้นในปัจจุบันนี้ น่าจะมีฐานของอาคารนี้อีกชั้นหนึ่ง ก็คือส่วนของศิลาแลงเราเห็นโผล่อยู่ก้อนครึ่งโดยประมาณ ซึ่งจริงๆคงจะลึกลงไปอีก ดูได้จากสภาพถ้าถึงเวลาที่จะทำโครงการบูรณะอย่างเต็มรูปแบบจริงๆ ก็คงเริ่มด้วยงานโบราณคดี พอขุดลงไปแล้วก็อาจจะต้องกลับมาดูเรื่องที่อุดตามรอยแยกเดิมนี้ไว้ที่เป็นอิฐเล็กๆและมีปูนซีเมนต์เราคงจะต้องแก้ไขตรงนี้ด้วย เพราะจะเห็นว่าการซ่อมแซมนี้ดูแตกต่างมากจนเกินไปโดยขนาดของอิฐด้วยปูนสอด้วยปูนยาแนว
จากการบรรยายที่ปราสาทยายเหงา โดย วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิก และ สุดชาย พานสุวรรณ วิศวกรโยธา กิจกรรมทางวิชาการของ กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร
วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551
สระตราว สถูปคู่ และโบราณสถานอื่นๆที่ต่อเนื่องจากปราสาทพระวิหาร
จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ณ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีมติให้กัมพูชาจัดเตรียมแผนบริหารจัดการโบราณสถานและอาณาบริเวณโดยรอบเพิ่มเติม และเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับประเทศไทย จึงได้เน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาเขตแดนร่วมกัน และการให้ความร่วมมือด้านต่างๆจากฝ่ายไทย เพื่อสนับสนุนให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในคราวนี้ UNESCO จึงได้ให้ความช่วยเหลือกัมพูชา ด้วยการแนะนำคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติมาช่วยในการจัดทำแผนบริหารจัดการ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อินเดีย สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้เชิญประเทศไทยให้เข้าร่วมในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้วย แต่กำหนดให้ทำเฉพาะพื้นที่กันชนในประเทศไทยเท่านั้น
สำรวจด้านกัมพูชา
เริ่มต้นจากบันไดขึ้นเขาทางทิศตะวันออก เป็นบันไดที่ก่อด้วยหินผสมกับการสกัดหินในที่ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกันกับบันไดใหญ่ทางด้านหน้า แต่มีขนาดเล็กกว่าและอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก สมชื่อบันไดหัก เส้นทางนี้ความจริงไม่ใช่ข้อมูลใหม่แต่อย่างใด เช่น ในเอกสารของ Aymonier ชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกไว้เมื่อ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว ว่าเป็นทางลงไปยัง ตระเปียง หรือแหล่งน้ำเบื้องล่าง เราคงไม่เถียงเรื่องมีทางโบราณขึ้นเขาทางด้านตะวันออกนี้ แต่ที่ว่าจะเป็นทางเข้าหลักหรือไม่นั้น ผมว่าทุกท่านคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว
ทางด้านตะวันตกต่อจากด้านข้างของสะพานนาคที่มีนาคหัวโล้นศิลปะแบบบาปวนตั้งอยู่ มีทางเดินยกระดับเป็นแนวยาวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทางเดินนี้เขาว่าเป็นแนวแกน ตะวันตก-ตะวันออกที่สำคัญ และจะใช้เป็นทางหลักในการเข้าชมปราสาทจากที่จอดรถ ซึ่งจะได้สร้างขึ้นตรงปลายสุดของทางเดินโบราณนี้
ผมเห็นว่าทางเดินนี้เป็นทางเดินโบราณจริง จากลักษณะรูปแบบ และเทคนิคการก่อสร้าง แต่น่าจะเป็นผลพลอยได้มาจากการสร้างคันเบี่ยงน้ำฝนปริมาณมหาศาลที่ไหลมาตามลานหินจากภูเขาทั้งลูก ไม่ให้มารวมตัวกันตรงบันไดใหญ่ อันจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น สอดคล้องกับการที่เบื้องล่างของแนวคันหินนี้ ก็มีเขื่อนโบราณรองรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ คันหินของเขื่อนยังอยู่ในสภาพดี แต่ไม่มีน้ำ จะมีก็แต่ ”กับ” ที่กำลังระดมกอบกู้กันอยู่ทั่วไป...เขื่อนโบราณแห่งนี้ถือว่าอยู่ในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิด้วย และมีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักฐานของการจัดการต้นน้ำของห้วยตามาเรีย หนึ่งในสองลำน้ำที่ไหลลงสู่เชิงเขาด้านประเทศไทย
จากนั้นได้เดินทางลงเขาตามถนนลำลอง ที่คาดว่าจะปรับปรุงเพื่อใช้เป็นทางขึ้นหลักสู่ปราสาทพระวิหาร ที่เชิงเขาเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านโกมุย ที่มาอยู่กันเมื่อไม่เกิน ๑๐ ปีมานี้ ตรงกลางชุมชนมีปราสาทโบราณหลังหนึ่ง ชื่อว่าปราสาทมณีวงศ์ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการขุดแต่ง แต่จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายจำหลักก็ระบุได้ว่าเป็นอโรคยศาล ที่สร้างในศิลปะบายนซึ่งถือเป็นช่วงเวลาท้ายสุดของสมัยเมืองพระนคร ต่างยุคต่างรูปแบบศิลปะ ต่างกระทั่งความเชื่อทางศาสนาจากปราสาทพระวิหาร อย่างไรก็ตามแม้ผมจะเชื่อว่าปราสาทหลังนี้คงจะไม่เกี่ยวข้องกับการวางผังในลักษณะของภูมิจักรวาลและไม่เก่าแก่เท่าสิ่งก่อสร้างบนยอดเขา แต่ก็ไม่ปฏิเสธความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงเส้นทางโบราณในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ไม่พบร่องรอยของพระองค์ที่ปราสาทพระวิหารด้านบนเลย แต่กลับสามารถเชื่อมต่อกับปราสาทสระกำแพงน้อย และปราสาททามจาน อโรคยศาลอีกสองหลังในจังหวัดศรีสะเกษ
น่าเสียดายที่ไม่สามารถเข้าไปชมปราสาทอีกหลังที่ระบุว่าอยู่ทางทิศใต้ในแนวแกนตรงกับปราสาทพระวิหารได้ เนื่องจากยังไม่มีถนนเข้าไปต้องเดินเท้าในระยะประมาณกิโลเมตรเศษ ซึ่งเราไม่มีเวลามากพอ จากคำบอกเล่าทราบว่าเป็นปราสาทที่เหลือสภาพเพียงส่วนฐาน จะมีขนาดใหญ่โตหรือสำคัญเพียงใดจึงยังเป็นปริศนา เราเดินทางต่อไปยังบริเวณแนวคันดินที่สันนิษฐานว่าเป็นขอบคันบารายใหญ่ทางตะวันออก ตั้งอยู่ห่างจากบันไดหักประมาณ ๒ กิโลเมตร สิ่งที่เห็นคือแนวต้นไม้บนคันดินยาวเหลืออยู่ชัดเจนเพียงด้านเดียว มีถนนทับอยู่ ๒ ด้าน และมีการตัดถนนผ่าเข้าไปในพื้นที่ของบารายด้วย เมื่อได้กลับขึ้นไปบนเขาแล้วมองลงมาก็สามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น จึงเป็นไปได้ที่จะเป็นองค์ประกอบโบราณแต่กลับไม่มีโครงการที่จะเบี่ยงแนวถนนที่ผ่ากลางอยู่นี้ออกไป
กลับมาสู่ฝั่งไทย