วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

ยูเนสโกและความช่วยเหลือในการบูรณะปราสาทพระวิหาร

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณพื้นที่พิพาท ๔.๖ ตารางกิโลเมตร รวมทั้งบริเวณปราสาทพระวิหารที่กองกำลังของกัมพูชาใช้เป็นที่หลบกำบังทางทหารนั้น นอกจากการส่งนาย Koichiro Matsuura มาในฐานะผู้แทนพิเศษของยูเนสโก เพื่อเข้าพบเจรจากับผู้นำของทั้งสองชาติ ที่ได้นำมาสู่การนัดหมายที่จะเปิดการหารือ ๒ ฝ่าย ที่อาคารสำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๕ โดยที่ทางผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกได้ชี้แจงว่าไม่ประสงค์จะเจรจาในเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง ด้วยตระหนักถึงอาณัติขององค์กรดี ว่ายูเนสโกมีหน้าที่เฉพาะเพียงการคุ้มครองแหล่งมรดกโลกและการสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้มีการพูดคุยแก้ไขปัญหาอย่างฉันมิตรเท่านั้น ทางผู้อำนวยการใหญ่ฯ ยังได้กล่าวว่าเหตุการณ์ปะทะกันดังกล่าว ทำให้ปราสาทพระวิหารบางส่วนได้รับความเสียหาย ทั้งยูเนสโกและรัฐภาคีสมาชิกต่างก็มีความห่วงกังวลและประสงค์จะให้ความช่วยเหลือในการบูรณะซ่อมแซม แต่ก็ตระหนักถึงความอ่อนไหวของเรื่องนี้ และคิดว่าคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการพิจารณา จึงต้องการจะทราบความเห็นของฝ่ายไทยเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของยูเนสโกในเรื่องนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศจึงได้ขอความอนุเคราะห์กรมศิลปากรให้พิจารณาและให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของยูเนสโกที่จะให้ความช่วยเหลือในการบูรณะปราสาทพระวิหารนี้ เมื่อเรื่องนี้ได้มอบหมายมาที่กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถานในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการบูรณะโบราณสถาน ก็ได้มีความเห็นผ่านไปทางผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีดังนี้

๑. ลักษณะการก่อสร้างของปราสาทพระวิหาร มีการใช้หินทรายซึ่งมีความคงทนเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และยังเป็นการสร้างอาคารบนพื้นหินของภูเขาที่มีความมั่นคง จึงทำให้มีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของฐานรากเพียงบางส่วนเท่านั้น และแม้ว่าหินของอาคารจะตกหล่นพังทลายลงมา ก็ยังสามารถดำเนินการอนุรักษ์ให้กลับมาสมบูรณ์ตามสภาพดั้งเดิมได้ด้วยวิธีการที่เรียกว่า อนัสติโลซิส
๒. ตัวอย่างกรณีของปราสาทประธานของปราสาทพระวิหาร ที่ส่วนยอดหักพังลงมาทั้งหมด ในอนาคตก็สามารถกลับคืนสู่สภาพดั้งเดิมได้ด้วยการใช้วิธีอนัสติโลซิสนี้ ทั้งนี้ปราสาทประธานได้พังทลายลงมาเป็นเวลานานแล้ว
๓. การอนุรักษ์ด้วยวิธีอนัสติโลซิสนี้ มีกระบวนการในการดำเนินการที่ค่อนข้างซับซ้อน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานหลายปีสำหรับแต่ละอาคาร จะต้องใช้พื้นที่ที่อาจจะออกมานอกขอบเขตบริเวณที่เป็นมรดกโลก อันได้แก่พื้นที่พิพาท (แม้แต่การขนส่งเคลื่อนย้ายวัสดุและอุปกรณ์ในการทำงานก็ต้องผ่านทางพื้นที่พิพาททั้งสิ้น) การดำนินการดังกล่าวหากไม่ได้รับการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายก็จะเป็นประเด็นปัญหาขัดแย้งขึ้นแน่นอน และเนื่องจากการอนุรักษ์ด้วยวิธีอนัสติโลซิสนี้สามารถรอได้เมื่อมีความพร้อม ในระหว่างนี้จึงควรอนุรักษ์ด้วยวิธีในขั้นพื้นฐาน เช่น การค้ำยัน การป้องกันการเสื่อมสภาพเบื้องต้นไว้ก่อนเท่านั้น
๔. ความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เท่าที่เห็นจากภาพถ่ายเป็นเพียงรอยกระสุนบนเนื้อหิน ที่ไม่ได้รุนแรงขนาดทำให้โครงสร้างหลักของอาคารพังทลาย หรือเกิดผลกระทบกับเสถียรภาพของอาคาร ทั้งนี้การซ่อมแซมรอยกระสุนดังกล่าวไม่สามารถใช้วิธีอนัสติโลซิสได้ แต่ต้องใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มีผลกระทบกับความมั่นคงแข็งแรงของโบราณสถานเราก็อาจตัดสินใจเก็บรักษาร่องรอยความเสียหายเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันสืบเนื่องมาจากการที่กำลังทหารของกัมพูชาเข้ามาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นที่กำบัง จึงเป็นผลให้เกิดความเสียหายที่เลี่ยงไม่ได้นี้

นอกจากความเห็นในประเด็นด้านเทคนิคการบูรณะของกรมศิลปากรนี้ ก็คงจะมีประเด็นเรื่องผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการบูรณะว่าจะเป็นคณะทำงานจากประเทศใด มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการบูรณะโบราณสถานประเภทหินด้วยวิธีอนัสติโลซิสอย่างดีจริงหรือไม่ การดำเนินการบูรณะถือว่าขัดต่อข้อตกลงใน MoU 43 หรือไม่ (อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการที่เราต้องหยุดการบูรณะปราสาทตาเมือนธมด้วยเหตุนี้มาแล้ว) การยกเลิก MoU จะมีผลเช่นไรในกรณีนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการรักษาคุณค่าของมรดกโลกปราสาทพระวิหารอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องทางการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: