วัดอัปสรสวรรค์ วรวิหาร ตั้งอยู่ที่ แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร แต่เดิมมีชื่อว่า วัดหมู กล่าวกันว่าได้สร้างในที่ดินที่เคยใช้เลี้ยงหมู เมื่อสร้างวัดแล้วก็ยังมีหมูเดินไปมาในวัดจึงเรียกว่า วัดหมู บ้างก็ว่าเศรษฐีจีนชื่อ “อู๋” เป็นผู้สร้างวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดอู๋บ้าง วัดจีนอู๋บ้าง แล้วเพี้ยนไปจนติดปากว่า วัดหมู แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ครั้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าจอมน้อย ผู้เป็นธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ใคร่จะปฎิสังขรณ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บิดา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สถาปนาใหม่ทั้งวัด และพระราชทานนามว่า วัดอัปสรสวรรค์ เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนมีฉายาเรียกกันว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง นอกจากนี้ยังได้พระราชทาน พระพุทธรูปปางฉันสมอ มาประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ด้วย พระอุโบสถและพระวิหาร เป็นสิ่งก่อสร้างในรูปแบบพระราชนิยมที่ได้รับอิทธิพลของศิลปะจีน ตามแบบอย่างจากวัดราชโอรสาราม ฯ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานจำนวน ๒๘ องค์ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยที่มีลักษณะและขนาดเท่ากันทั้งหมด ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีร่วมกัน ที่ฐานของพระพุทธรูปปรากฏพระนามของแต่ละองค์จารึกไว้ทุกองค์ ลักษณะเช่นนี้ถือว่ามีแห่งเดียวในโลก และที่ด้านข้างพระอุโบสถยังมีหอพระไตรปิฎกไม้ตั้งอยู่ในสระน้ำ ที่มีรูปแบบศิลปะสืบเนื่องมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา เป็นหอไตรที่มีทรวดทรงงดงาม สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จทอดพระเนตรแล้วนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อจัดรูปหอเขียนสมัยอยุธยาที่วังสวนผักกาด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญระดับชาติตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ บันทึกในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๔ ตอนที่พิเศษ ๗๕ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐หอพระไตรปิฎก เป้าหมายการทำงานในโครงการใหม่ของกรรมาธิการอนุรักษ์ สถาปัตยกรรมไทยประเพณี สมาคมสถาปนิกสยามฯ
วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น