ผลงานวิจัยโดยสรุป
วิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินที่เรียกว่า “อนัสติโลซิส” โดยการวิจัยมีเป้าหมายที่จะหาแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมกับสังคมในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังประสบอยู่จากการปฏิบัติงานของกรมศิลปากร เพื่อกำหนดแนวคิดที่นำมาใช้ในการอนุรักษ์ เพื่อประเมินผลการบูรณะ ศึกษาสภาพปัญหาและเก็บข้อมูลจากการบูรณะที่ปราสาทประธานซึ่งจะใช้เป็นโมเดลทดสอบสมมติฐาน และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์นำมาสรุปเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการบูรณะในโครงการ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับการบูรณะปราสาทหินแหล่งอื่นๆ ต่อไปด้วย ขอบเขตของการวิจัยจึงอยู่ภายใต้กรอบของการอนุรักษ์โบราณสถานด้วยวิธีอนัสติโลซิส เน้นพื้นที่ศึกษาที่การดำเนินการบูรณะที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ในเรื่องแนวความคิดของการอนุรักษ์มีสมมติฐานที่จะค้นพบความสมดุลระหว่างการรักษา ความแท้ และ การสื่อความหมาย คุณค่าของโบราณสถานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มรดกวัฒนธรรม วิธีการวิจัยได้เริ่มต้นจาก การทบทวน สารสนเทศงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง งานศึกษาในช่วงก่อนหน้านี้ของผู้วิจัยเกี่ยวกับอนัสติโลซิส รวบรวมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งแนวคิดของ ดร.สัญชัย หมายมั่น ผู้เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ปราสาทหินในประเทศไทย ขั้นตอนต่อมาคือการศึกษาในพื้นที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยการสำรวจและวิเคราะห์การดำเนินการบูรณะที่ได้ดำเนินการมาทั้งในแง่การบริหารจัดการและด้านเทคนิควิธีการ นำมาสู่กรณีของการบูรณะปราสาทประธาน ซึ่งผู้วิจัยต้องการนำเสนอและวิเคราะห์แนวคิดในการบูรณะบนพื้นฐานของประเด็นความแท้ และการสื่อความหมาย และขั้นตอนสุดท้ายได้แก่ การสรุปเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธมและโบราณสถานอื่นๆ
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ในการดำเนินการที่ปราสาทประธาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโบราณสถาน ได้ทดลองนำแนวคิดด้านการสื่อความหมายมาผสานหาสมดุลกับความแท้ ตามทิศทางของแนวคิดการอนุรักษ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และกำหนดขั้นตอนวิธีการทำงานเพิ่มเติมขึ้นเพื่อจะได้แก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตถือว่าได้บรรลุตามเป้าหมาย สามารถสื่อสารให้ผู้มาเยี่ยมชมได้เข้าใจถึงคุณค่าและความหมายของโบราณสถานได้เป็นอย่างดี เป็นพัฒนาการของแนวทางที่นำมาใช้เป็นตัวกำหนดในการออกแบบอนุรักษ์ อย่างไรก็ตามในรายละเอียดยังคงมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขอยู่ ซึ่งได้สรุปไว้เป็นข้อเสนอแนะต่อกรมศิลปากรสำหรับการปรับแก้ไขและใช้กับแหล่งโบราณสถานประเภทหินอื่นๆ ที่มีปัจจัยแวดล้อมใน ลักษณะเดียวกันต่อไป ทั้งทางด้านการบริหารจัดการ แนวความคิดในการอนุรักษ์ และในแต่ละขั้นตอนของการทำงาน
สิ่งที่ดีเด่นของงานวิจัย เป็นการศึกษาในเรื่องแนวคิดและวิธีการในการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินที่จะเป็นประโยชน์ในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาในการทำงานที่พบในการดำเนินการในอดีต มาจนถึงในปัจจุบัน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและได้วิธีที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการและการแก้ไขส่วนที่ดำเนินการไปแล้วที่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตลอดจนเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้เป็นแบบอย่างกับการดำเนินการด้วยวิธีอนัสติโลซิสนี้ที่โบราณสถานแหล่งอื่นๆต่อไป และอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันนี้กับโบราณสถานประเภทหินในต่างประเทศด้วย เนื่องจากในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้จัดทำข้อเสนอแนะไว้อย่างละเอียดในทุกขั้นตอนของการทำงานอย่างที่ไม่มีมาก่อน สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ นอกจากในส่วนที่ได้อยู่ระหว่างการดำเนินการที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม จนถึงปัจจุบันคำแนะนำจากวิทยานิพนธ์เล่มนี้ยังได้นำไปใช้แล้วกับงานบูรณะโบราณสถานประเภทหินอีกหลายแหล่งในการดำเนินการของกรมศิลปากร ได้แก่ ปราสาทพนมวัน โคปุระชั้นนอกปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา และกู่บ้านเมย จ.ขอนแก่น เพื่อการบูรณะโบราณสถานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีมาตรการในการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ไม่สร้างความเสียหายกับคุณค่าของโบราณสถาน และลดการสูญเสียงบประมาณของรัฐในส่วนที่ไม่จำเป็น