การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นมาจากการอนุรักษ์ในแบบประเพณีนิยม จากหลักฐานบันทึกต่างๆที่เกี่ยวข้อง มักจะเป็นเรื่องราวของการซ่อมแซมปรับปรุงวัดในพระพุทธศาสนา แม้จะไม่มีรายละเอียดที่แสดงถึงวิธีการที่ใช้ในการซ่อมแซมแต่ก็สามารถทำให้เข้าใจถึงแนวคิดในการอนุรักษ์ในอดีตได้อย่างชัดเจน บันทึกที่เก่าที่สุดมีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย[1] จากจารึกวัดศรีชุมได้กล่าวว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณี ได้ดำเนินรอยตามองค์พระพุทธเจ้าจาริกแสวงบุญไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในสุโขทัย อาณาจักรใกล้เคียง และศรีลังกา ซึ่งในระหว่างการจาริกแสวงบุญนั้น สิ่งที่เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ได้แก่ การรวบรวมชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินเข้าด้วยกันและซ่อมแซมเสียใหม่ด้วยปูน เป็นแบบอย่างให้ชาวพุทธถือปฏิบัติสืบต่อมาเพื่อผลบุญจนในปัจจุบัน เป็นแนวทางการอนุรักษ์แบบประเพณีนิยมที่มีพื้นฐานมาจากความศรัทธา การอนุรักษ์ศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ถือว่าเป็นสืบทอดศาสนาด้วยทางหนึ่ง
แนวความคิดสมัยใหม่ในการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานในประเทศไทยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับความเป็นชาติ แสดงถึงความเป็นอารยประเทศของบ้านเมืองเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แตกต่างไปจากเดิมที่การบูรณะหรือการบำรุงรักษาจะกระทำกันในลักษณะที่ต้องการทำให้สมบูรณ์ขึ้นหรือดีกว่าเดิมตามคตินิยมที่ทำกันมาแต่โบราณ โดยที่ยังไม่ได้มีการคำนึงถึงคุณค่าของรูปแบบดั้งเดิม ความเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่มีการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์แต่อย่างใด[2] ในความเป็นจริงแนวคิดดังกล่าวอาจจะเริ่มมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระองค์ยังอยู่ในสมณเพศ ที่ได้เสด็จหัวเมืองภาคเหนือใน พ.ศ.๒๓๗๖ ทรงแวะแหล่งโบราณคดีสำคัญๆหลายแห่งตลอดเส้นทาง และทรงรวบรวมของโบราณไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ ยังโปรดให้สร้างพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาของโบราณเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาและเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมของชาติไทย
ใน พ.ศ.๒๓๙๗ ทรงออกหมายประกาศเขตรังวัด ผู้ร้ายขุดวัด กำหนดให้ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากศาสนสถานในระยะสี่เส้นโดยรอบ มีหน้าที่สอดส่องดูแลมิให้ผู้ร้ายทำการลักลอบขุดหาทรัพย์สิน และได้กำหนดโทษปรับแก่ราษฎรผู้เพิกเฉย โดยประกาศนี้ได้รวมศาสนสถานที่เป็นวัดร้างไว้ด้วย จึงเห็นได้ว่าทรงสนพระทัยในเรื่องมรดกของชาติทั้งในฐานะที่เป็นเครื่องสืบทอดพระศาสนา และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการประกาศพระบรมโองการจัดตั้งโบราณคดีสโมสรขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ และมีการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์โบราณสถานที่พระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้ว่าจะมีการออกโฉนดที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานการถือครองกรรมสิทธิ์ แต่ก็ยังสงวนที่ดินภายในกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยาไว้เป็นสาธารณะสมบัติและที่วัดร้าง ห้ามเอกชนถือครอง โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าสงวนรักษาพระนครศรีอยุธยาไว้เป็นเมืองโบราณในฐานะมรดกสำคัญของชาติ ห้ามมิให้ผู้ใดถือสิทธิ์ปกครองที่ดินภายในบริเวณกำแพงเมืองโดยเด็ดขาด และจัดให้มีการขุดแต่งบริเวณพระราชวังโบราณขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ มีภาระหน้าที่ในการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน และโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกาศจัดการตรวจรักษาของโบราณ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๖ พร้อมกับการแต่งตั้งกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับเทศาภิบาลและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองท้องถิ่น ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรม โดยกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบในการพิเคราะห์เลือกสรร กำหนดว่าสิ่งใดเป็นของโบราณควรจะเก็บรักษาไว้บ้าง ตรวจตราให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบ นับเป็นก้าวแรกในการจัดตั้งองค์กร และกำหนดแนวทางในการดำเนินการอย่างเป็นระบบขึ้นในประเทศไทย
แม้แนวคิดการอนุรักษ์สมัยใหม่อย่างตะวันตกจะได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่การดูแลศาสนสมบัติในพระพุทธศาสนาก็ยังคงเป็นในแนวทางดั้งเดิมแบบประเพณีนิยมดังปรากฏตัวอย่างในการประชุมของมหาเถรสมาคมเมื่อครั้งกรมพระยาวชิรญาณวโรรสดำรงตำแหน่งสังฆปรินายก ที่มีการวินิจฉัยในเรื่องการรื้อพระเจดีย์และพระปฏิมาโดยอ้างถึงพระบาลีวินัยมหาวรรค โดยทรงสรุปว่า “ท่านให้ถือเอาเจตนาเป็นเกณฑ์” ที่ประชุมได้ให้คำวินิจฉัยว่า ถึงแม้ในยุคนี้เป็นเวลาที่ความนิยมในทางโบราณคดีเกิดขึ้นมาแล้วแต่มหาเถรสมาคมเห็นชอบดังนี้
๑. บุคคลใด เจาะ ขุด รื้อพระเจดีย์ หรือพระปฏิมาด้วยเจตนาประทุษร้าย ตัวอย่างเช่น เจาะหรือขุดเพื่อจะเอาทรัพย์สิ่งของ โดยที่สุดเป็นพระธาตุหรือพระพิมพ์อันบรรจุไว้ในนั้น รื้อเสียหรือจะเอาที่ปลูกสร้างเหย้าเรือน ทำเรือกสวนเป็นส่วนบุคคล หรือถือศาสนาต่างคิดทำลายล้างปูชนียวัตถุของผู้อื่นเสีย ด้วยริษยาขึ้งเคียด การทำของบุคคลนั้นเป็นบาป
๒. บุคคลใดมีเจตนาอุปการะรื้อพระเจดีย์ หรือพระปฏิมาอันชำรุดเสียแล้ว ก่อทำขึ้นแทนใหม่ หรือของไม่งามไม่จูงใจให้เลื่อมใส รื้อเสียแล้วทำขึ้นแทนใหม่ให้เป็นของงามเป็นที่จูงใจให้เลื่อมใส การทำของบุคคลนั้นเป็นบุญหาโทษมิได้
๓. บุคคลใดมีเจตนาอุปการะ เห็นพระเจดีย์หรือพระปฏิมาสร้างไว้ในที่ไม่เหมาะ ตัวอย่างเช่นอยู่ในที่ร้างไม่ได้รับความรักษา หรืออยู่ในหมู่คนใจบาปจะถูกประทุษร้าย ที่เป็นอาจชะลอมาได้ก็ชะลอมา ที่เป็นอาจจะชะลอไม่ได้อาจรื้อเป็นท่อนมาคุมใหม่ได้ เป็นของไม่อาจทำเช่นนั้น รื้อเอาสัมภาระเป็นต้นว่าอิฐมาก่อขึ้นใหม่ ประดิษฐานไว้ในที่อันสมควร การทำของบุคคลนั้นเป็นบุญทำโทษมิได้
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้มีการจัดตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น โดยมีภาระหน้าที่ประการหนึ่งในการอนุรักษ์โบราณสถาน โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา ในปาฐกถาเรื่องสงวนของโบราณ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภา ทรงแสดงแก่เทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ได้กล่าวถึงสิ่งก่อสร้างที่เป็นโบราณสถานไว้ว่า “...ของโบราณนั้นราชบัณฑิตยสภากำหนดเป็น ๒ ประเภท คือ ของที่ไม่พึงเคลื่อนที่ได้ เป็นต้นว่า เมือง และปราสาทราชวัง วัด ทั้งเทวาลัย ตลอดจนบ่อกรุ และสะพานหิน ของโบราณเหล่านี้ กำหนดเป็นประเภทหนึ่งเรียกว่า โบราณสถาน”
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึงการปฏิสังขรณ์พระอารามอย่างที่กระทำกัน ซึ่งอาจจะเป็นการทำลายโบราณสถานดั้งเดิมให้เสียหาย ในปาฐกถาทรงให้เทศาภิบาลคอยสอดส่องดูแลให้เรื่องการปฏิสังขรณ์อยู่ในเกณฑ์ ๓ ข้อดังนี้
ข้อ ๑ ถ้ามีผู้ศรัทธาจะปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่สำคัญขอให้ชี้แจงกับเขาให้ทำตามแบบเดิม อย่าให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ และลวดลายไปเป็นอย่างอื่นเอาตามใจชอบ
ข้อ ๒ อย่าให้รื้อทำลายโบราณสถานที่สำคัญเพื่อสร้างของใหม่ขึ้นแทน
ข้อ ๓ วัดโบราณที่ทำการปฏิสังขรณ์นั้นมักมีผู้ศรัทธาสร้างสิ่งต่างๆ เพิ่มเติมของโบราณ ของที่สร้างเพิ่มเติมเช่นว่านี้ ไม่ควรจะสร้างขึ้นในอุปจารใกล้ชิดกับของโบราณที่ดีงามด้วย อาจทำให้ของโบราณเสียสง่าและไม่เป็นประโยชน์กับผู้สร้าง เพราะฉะนั้นควรจะให้กะที่ไว้เสียส่วนหนึ่งในบริเวณวัดนั้นสำหรับสร้างของใหม่ นอกจากนี้ยังทรงต้องการให้เทศาภิบาลสำนึกว่าโบราณวัตถุสถานของชาติเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องสงวนรักษาไว้และเป็นหน้าที่ของชาวไทยทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซึ่งเป็นข้าราชการ “การสงวนรักษาโบราณวัตถุสถานเป็นส่วนหนึ่งในราชการแผ่นดินเหมือนกับราชการอย่างอื่นๆ”
ระยะเวลาเกือบ ๑๐๐ ปี นับตั้งแต่การสถาปนากรมศิลปากร ภารกิจการอนุรักษ์โบราณสถานนับเป็นภารกิจหลักที่สำคัญประการหนึ่งของกรมศิลปากร ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนามาเป็นลำดับ
ในการอนุรักษ์โบราณสถานมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่มีการปรับเปลี่ยนและแก้ไขมาหลายครั้ง โดยฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติว่าด้วย โบราณสถาน ศิลปวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๗๗ และฉบับปัจจุบันคือพระราชบัญญัติโบราณสถาน ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีใจความที่เกี่ยวข้องกับความหมายและการจัดการของโบราณสถานดังนี้
มาตรา ๔ “โบราณสถาน” หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือซากปรักหักพังแห่งอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอายุหรือลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือศิลปกรรม
มาตรา ๖ ให้อธิบดีจัดทำบัญชีบรรดาโบราณสถานทั้งหลายที่มีอยู่ในประเทศสยามไว้ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานที่มีเจ้าของเป็นของเอกชนคนใด หรือไม่มีเจ้าของ หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน รวมทั้งโบสถ์ วัดวาอาราม และสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นอันเกี่ยวแก่การศาสนา
สำหรับพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ให้คำนิยามของโบราณสถาน ไว้ว่าโบราณสถาน หมายถึง“อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย” การที่จะบอกว่าอะไรเป็นโบราณสถานตามกฎหมายหรือไม่นั้น ประการแรกถ้าไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ก็คงตัดออกไปก่อนได้เลย ต่อมาคือโดยอายุ หมายความว่ามีความเก่าแก่ แต่ตามกฎหมายก็มิได้กำหนดว่าที่อายุเท่าไรจึงเรียกว่าเป็นโบราณสถาน และถ้าดีแต่เก่าคือสร้างมานานแล้วแต่กลับไม่เป็นประโยชน์ใดใดก็ไม่สมควรที่จะถือเป็นโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
ส่วนแนวทางในการปฏิบัติงานด้านอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากรได้ออกระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ.๒๕๒๘ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์โบราณสถานให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง ทั้งทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี รวมทั้งให้มีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ประเพณี และวัฒนธรรม ซึ่งใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงานมาจนถึงปัจจุบัน
ความหมายของคำว่า “การอนุรักษ์” จึงได้ยึดถือตามคำจำกัดความของระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ. ๒๕๒๘ ดังนี้
การอนุรักษ์ หมายความว่า การดูแล รักษา เพื่อให้ทรงคุณค่าไว้ และให้หมายรวมถึงการป้องกัน การรักษา การสงวน การปฏิสังขรณ์ และการบูรณะด้วย
สำหรับการอนุรักษ์ในวิธีการต่างๆ ได้ระบุความหมายไว้ดังนี้
ก. การสงวนรักษา หมายถึง การดูแลรักษาไว้ตามสภาพของเดิม เท่าที่เป็นอยู่ และป้องกันมิให้เสียหายต่อไป
ข. การปฏิสังขรณ์ หมายถึง การทำให้กลับคืนสู่สภาพอย่างที่เคยเป็นมา
ค. การบูรณะ หมายถึง การซ่อมแซมและปรับปรุงให้มีรูปทรงลักษณะกลมกลืนเหมือนของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ต้องแสดงความแตกต่างของสิ่งที่มีอยู่เดิม และสิ่งที่ทำขึ้นใหม่
จากคำจำกัดความข้างต้น จะตั้งข้อสังเกตได้ว่า เราสามารถใช้คำ “การอนุรักษ์” ได้ในความหมายที่กว้างที่สุดที่จะกินใจความถึงวิธีการใดๆ ก็ตามที่จะยังประโยชน์ต่อการสืบต่ออายุของโบราณสถาน โดยในปัจจุบันได้มีแนวคิดว่า การอนุรักษ์โบราณสถานจะต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย การอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานจึงได้แก่ การดำเนินการใดๆ ก็ตาม เพื่อให้คงไว้ซึ่งคุณค่าของโบราณสถานในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นประจักษ์พยานแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ รักษาส่วนที่ได้รับสืบทอดมามิให้สูญหายไป ดูแลให้อยู่ในสภาพที่ดีอันที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ให้ประชาชนมีความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความรักความหวงแหนที่จะรักษาไว้และพร้อมที่จะส่งมอบต่อให้คนในรุ่นต่อไปด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุดที่จะเป็นไปได้ และยังสามารถนำโบราณสถานมาใช้เพื่อประโยชน์การใช้สอยในปัจจุบันด้วยความเหมาะสม
และจากการที่โบราณสถานเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองมาตั้งแต่ครั้งอดีต เป็นความภาคภูมิใจของคนในปัจจุบัน ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพระราชวังโบราณ บริเวณพระตำหนักเย็น บึงพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ความว่า “....การสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย...” แนวทางตามพระราชดำรัสดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า โบราณสถานเป็นสิ่งที่มีคุณค่าจึงควรอนุรักษ์ไว้เพื่อแสดงถึงประวัติความเป็นมาของชาติบ้านเมืองต่อไป
[1] จาก ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ, การอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมและชุมชน, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๕๒. หน้า ๑๘
[2] จาก มะลิ โคกสันเทียะ, ข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาในการอนุรักษ์โบราณสถานของกองโบราณคดี, เอกสารประกอบการสัมมนา การอนุรักษ์โบราณสถานในฐานะเป็นหลักฐานทางวิชาการ ๖-๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ มหาวิทยาลัยศิลปากร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น