วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในแบบสากล

แนวคิดด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในแบบตะวันตก ณ จุดเริ่มต้นก็เป็นแนวคิดในแบบประเพณี ยุโรปในอดีตก็ได้มีการดัดแปลงอาคารทางศาสนาและการก่อสร้างต่อเติมขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่นโบสถ์ในแบบนอร์มันดั้งเดิมก็อาจมีการรื้อออกหรือดัดแปลงให้เป็นแบบโกธิคด้วยการสร้างซ้อนทับโครงสร้างเดิมไว้ ตามความนิยมของยุคสมัย เห็นได้ว่าแนวคิดของช่างโบราณอยู่ที่การพัฒนาทางด้านรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สูงกว่า เบากว่า นำแสงสว่างอันเจิดจ้าเข้ามาได้มากกว่า โดยไม่มีการชื่นชมในสถาปัตยกรรมแบบโบราณที่เป็นอยู่

ในเวลาต่อมาจากกระแสความตื่นตัวจากการค้นพบแหล่งเมืองโบราณต่างๆในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ต่อเนื่องมาจากความสนใจของสังคมในเรื่องราวโบราณและการศึกษาเกี่ยวกับโบราณสถาน ศิลปะรูปแบบยุคสมัยต่างๆที่มีมาในอดีตตั้งแต่ในศตวรรษที่ ๑๗ นำไปสู่การเขียนตำราประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ได้มีการซ่อมแซมอนุรักษ์ สิ่งก่อสร้างของโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีทั้งหลายเพื่อที่จะนำมาใช้ใหม่และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในสมัยนั้นอันเป็นช่วงที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะจัดว่าเป็นยุคโรแมนติค
แนวคิดของยุคโรแมนติคจะนิยมความเร้าใจที่เกิดจากการหวลระลึกถึงอดีตอันไกลโพ้น เป็นเหตุให้เกิดการนำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมของ กรีก โรมัน หรือโกธิค กลับมาใช้ใหม่ และยังเกิดแนวคิดความเป็นชาติและความภาคภูมิใจในชนชาติขึ้นด้วย มีการนำเอารูปแบบโกธิคมาใช้เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นชนชาติเก่าแก่ มีรากฐานอันยาวนาน อาคารทางศาสนาที่สร้างขึ้นใหม่ใช้รูปแบบนีโอโกธิค ในขณะที่อาคารเก่าจำนวนมากถูกปรับเปลี่ยนตามความนิยมในการประกอบพิธีกรรมที่เหมาะสมและศักดิ์สิทธิ์ด้วยการซ่อมเปลี่ยนอาคารให้ไปสู่รูปแบบโกธิค จากจุดเริ่มต้นในประเทศอังกฤษได้พัฒนามาสู่ แนวทางแบบ stylistic restoration ในฝรั่งเศส โดย Prosper Merimee และ Eugene Emmanuel Viollet-le-Duc ที่สนับสนุนการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานในฐานะที่เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีความหมายและประโยชน์ใช้สอย ให้อาคารมีความครบถ้วนสมบูรณ์ตามรูปแบบที่จินตนาการขึ้นมาให้มีความกลมกลืนกับรูปแบบโกธิค แก้ไขส่วนต่อเติมในอดีตให้กลายเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ “ถูกต้อง” โดยได้อธิบายถึงการบูรณะไว้ว่า
“การบูรณะ (restoration) นั้นเป็นสิ่งใหม่ การบูรณะอาคารไม่ใช่การอนุรักษ์ ซ่อมแซม หรือสร้างขึ้นใหม่ แต่คือการนำเอาอาคารกลับไปสู่สภาพที่สมบูรณ์ที่สุดซึ่งอาจจะไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของอาคารนั้น...”[1]

จากแนวคิดที่ไม่ยอมรับความชำรุดทรุดโทรมที่นำมาซึ่งการต่อเติมโบราณสถานให้มีความสมบูรณ์ด้วยการออกแบบใหม่ ได้เกิดแนวคิดของกลุ่มที่คัดค้านการบูรณะ (anti-restoration) ที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดใดกับโบราณสถานในฐานะที่เป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดี ตามหลักการอนุรักษ์ของ John Ruskin และ William Morris ในประเทศอังกฤษ โดยรัสกินได้กล่าวถึงการบูรณะไว้ว่า “...เราอย่ามากล่าวถึงการบูรณะเลย มันเป็นสิ่งที่หลอกลวงตั้งแต่ต้นจนจบ...”[2] ในขณะที่มอริสได้เขียนถึงแนวคิดในแถลงการของสมาคมเพื่อการรักษาอาคารโบราณ (Society for the Protection of Ancient Buildings) ในปี ค.ศ.๑๘๗๗ ว่า “...ป้องกันความชำรุดทรุดโทรมของอาคารด้วยการดูแลรักษาอย่าสม่ำเสมอ ค้ำยันผนังที่ทรุดเอียง หรือซ่อมแซมหลังคาที่รั่ว จะต้องไม่แสดงออกถึงรูปลักษณะอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้อง ต้องพยายามที่จะไม่รบกวนเนื้อของอาคาร หรือองค์ประกอบตกแต่ง ถ้าไม่เหมาะสมกับการใช้สอยในปัจจุบัน การสร้างอาคารใหม่ขึ้นอีกหลังหนึ่งจะดีกว่า การเปลี่ยนแปลงอาคารเดิมหรือขยายอาคารเดิมให้ใหญ่ขึ้น จะต้องคำนึงว่าเป็นอาคารเป็นอนุสรณ์ของยุคโบราณที่ผ่านพ้นไปแล้ว เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์โดยช่างโบราณซึ่งศิลปวิทยาการสมัยใหม่ไม่สามารถที่จะไปแตะต้องโดยไม่ทำลายได้”

จากนั้นได้มีการเคลื่อนไหวด้านแนวคิดการอนุรักษ์ในอิตาลีของ Camillo Boito ที่ถือได้ว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างการบูรณะให้สมบูรณ์เต็นรูปแบบ และการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของกาลเวลา โดยบอยโต้มีความเห็นว่า การต่อเติมเปลี่ยนแปลงรูปแบบโบราณสถาน ในยุคต่างๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในประวัติของอาคารทั้งสิ้น จึงควรเก็บรักษาไว้เว้นแต่จะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่การบูรณะที่มีการต่อเติมขึ้นใหม่ก็สามารถทำได้แต่จะต้องมีความแตกต่างแยกแยะได้จากของดั้งเดิมและมีการบันทึกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไว้เป็นหลักฐานในทุกขั้นตอน แนวคิดนี้ได้กลายเป็นข้อบัญญัติในการบูรณะโบราณสถานของอิตาลี ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๐๒

ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้มีการก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อสันติภาพขึ้นโดยภายในองค์กรนี้มีส่วนที่ทำหน้าที่โดยตรงในการดูแลมรดกวัฒนธรรมได้แก่ The International Museum Office ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๒๖ มีการส่งเสริมให้มีการสัมมนาในระดับนานาชาติขึ้นโดยครั้งหนึ่งที่สำคัญเป็นการประชุมเพื่อการทำงานอนุรักษ์ที่อโครโพลิสแห่งเอเธนส์ ณ เมืองเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี ค.ศ. ๑๙๓๑ และบทสรุปจากการประชุมดังกล่าวต่อมารู้จักกันในนามของกฎบัตรเอเธนส์ ถือเป็นจุดสำคัญในการกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์สมัยใหม่ขึ้น มีแนวคิดอนุรักษ์ด้วยการเก็บรูปแบบดั้งเดิมทุกยุคสมัยของโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ไว้ การปฏิสังขรณ์แบบเต็มรูปแบบเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติอีกต่อไป

ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงพร้อมด้วยความเสียหายที่มากกว่าสงครามโลกครั้งแรก ในปี ค.ศ. ๑๙๔๔ รัฐบาลโปแลนด์ได้ตัดสินใจสร้างเมืองวอร์ซอที่ได้รับความเสียหายขึ้นมาใหม่ในรูปแบบดั้งเดิม เป็นแบบอย่างให้มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้กับอีกหลายเมือง นานาชาติได้ร่วมมือกันเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก นำมาซึ่งการก่อตั้งองค์กรสหประชาชาติ โดยมี UNESCO เป็นหน่วยงานย่อยที่ดูแลการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ความร่วมมือทางด้านการอนุรักษ์โบราณสถานในระดับนานาชาติได้เริ่มต้นขึ้นและนำมาสู่แนวคิดการอนุรักษ์มรดกร่วมกันของคนทั้งโลก และการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน จากการประชุมนานาชาติสำหรับสถาปนิกและช่างเทคนิคที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถานที่เมืองเวนิช ประเทศอิตาลี ได้เกิดเป็นกฎบัตรระหว่างประเทศว่าด้วยการอนุรักษ์และการบูรณะโบราณสถาน หรือที่เรียกว่ากฎบัตรเวนิช

ยังมีทฤษฎีด้านการอนุรักษ์ของออสเตรียจาก Der Moderne Denmalkultus. (The Modern Cult of Monument) โดย Alois Riegl ที่มีการให้คำจำกัดความของคุณค่าและแนวความคิดที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์สมัยใหม่ไว้ ทฤษฎีด้านการบูรณะโบราณสถานของอิตาลี Teoria del Restauro โดย Cesare Brandi แนวทางที่ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในขณะที่มีการร่างกฎบัตรเวนิช[3] เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงการแทนที่ส่วนที่ขาดหายไปของโบราณสถานในการบูรณะ

กฎบัตรเพื่อการอนุรักษ์ทั้งในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ ระเบียบ คำประกาศ ข้อบัญญัติ หรือ ข้อตกลงต่างๆที่เป็นที่ยอมรับของสังคมใดสังคมหนึ่งในช่วงเวลาต่างๆ สามารถสะท้อนภาพของสังคม แนวความคิด ด้านการอนุรักษ์ในสมัยต่างๆได้ ยกตัวอย่างเบื้องต้นได้จากการวิเคราะห์รายชื่อกฎบัตรระหว่างประเทศ และกฎบัตรแห่งชาติซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม[4] เรียงลำดับตามช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการประชุมด้านการอนุรักษ์โบราณสถานในระดับระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก ที่มีการประกาศเป็นกฎบัตรเอเธนส์ดังต่อไปนี้ ก็พอที่จะทำให้เห็นได้ถึงแนวความคิดและพฤติกรรมสังคม ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถานระดับสากลที่มีพัฒนาการตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป
- The Athens Charter for the Restoration of Historic Monuments (1931)
- The Venice Charter – International Charter for the Conservation and Restoration of Monuments and Sites (1964)
- Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage (1972)
- The Burra Charter (1979, revised 1999)
- Historic Gardens – The Florence Charter (1981)
- Charter for the Conservation of Historic Towns and Urban Areas – The Washington Charter (1987)
- Charter for the Protection and Management of the Archaeological Heritage (1990)
- The Nara Document on Authenticity (1994)
- Charter on the Protection and Management of Under Water Cultural Heritage (1996)
- International Cultural Tourism Charter (1999)
- Charter on the Built Vernacular Heritage (1999)
- Principles for the Preservation of Historic Timber Structures (1999)
- Principles for the Preservation and Conservation/Restoration of Wall Paintings (2003)
- Convention for the Safeguarding of Intangible Cultural Heritage (2003)
- Declaration of the Kimberley Workshop on the Intangible Heritage of Monuments and Sites (2004)
- Xi’an Declaration on the Conservation of the Setting of Heritage Structures, Sites and Areas (2005)
- The ICOMOS Charter for the Interpretation and Presentation of Cultural Heritage Sites (2008)

จากจุดเริ่มต้นที่กฎบัตรเอเธนส์ จะเห็นว่าแนวคิดด้านการอนุรักษ์โบราณสถานเริ่มขึ้นจากการบูรณะและมองโบราณสถานเฉพาะลักษณะทางกายภาพและเน้นที่อาคารสิ่งก่อสร้างก่อน ถัดมาที่กฎบัตรเวนิช จึงได้ขยายขอบเขตออกมาให้กว้างขึ้น ด้วยการเพิ่มคำ conservation เข้ามา รวมทั้งการกำหนดให้โบราณสถานมีทั้งที่เป็น monument และ site ไม่ใช่เฉพาะแต่ที่เป็นสิ่งก่อสร้างแต่เพียงอย่างเดียว ในช่วงต่อมาจึงได้เกิดแนวคิดการปกป้องคุ้มครองมรดกที่มีคุณค่าความสำคัญที่คนทั้งโลกจะต้องร่วมกันรักษา ซึ่งมีทั้งที่เป็นแหล่งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม สำหรับเบอรา ชาเตอร์ แม้ชื่อจะไม่สื่อถึงแนวคิดด้านการอนุรักษ์แต่ใจความของกฎบัตรของออสเตรเลียซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลนี้ก็เป็นตัวชี้วัดแนวคิดของสังคมได้เช่นเดียวกัน เช่น การให้ความหมายของคำว่า conservation ให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมที่เป็นการอนุรักษ์ทั้งหมด[5] และให้ความสำคัญกับการประเมินคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่จะนำมาสู่การกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์โบราณสถานได้ต่อไป ต่อมาในการประชุมที่เมืองฟลอเรนซ์ได้ทำให้เกิดกฎบัตรการอนุรักษ์ที่เป็นการขยายขอบเขตออกมาจาก กฎบัตรเวนิชเป็นครั้งแรก ด้วยการยกประเด็นของโบราณสถานประเภทสวนประวัติศาสตร์ ที่ต้องการแนวทางการอนุรักษ์ที่ต่างไปจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎบัตรเวนิช เนื่องจากสวนประวัติศาสตร์ถือเป็นโบราณสถานที่มีชีวิต ด้วยมีองค์ประกอบที่เป็นพืชพันธุ์ธรรมชาติ ในขณะที่มุมมองด้านการอนุรักษ์ที่มีอยู่เดิมได้มุ่งเน้นอยู่ที่ซากโบราณสถาน ต่อจากสวนประวัติศาสตร์ในลำดับต่อมาก็ได้มีการหาแนวทางเพิ่มเติมให้กับโบราณสถานประเภทย่าน ชุมชนเมืองประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี และแหล่งโบราณคดีใต้น้ำตามลำดับ และยังได้เห็นความสำคัญของการบริหารจัดการที่ควรจะพิจารณาไปพร้อมๆกับการอนุรักษ์ด้วย
ข้อสรุปจากการประชุมระดับระหว่างประเทศที่เมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น ยังได้เป็นการย้ำถึงการให้คุณค่ากับความแท้ในการอนุรักษ์โบราณสถาน และต่อมาสังคมยังได้มองเห็นปัญหาที่เกิดจากการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มีการเพิ่มเติมหลักการอนุรักษ์ในรายละเอียดเฉพาะบางประเภทของโบราณสถาน ได้แก่ อาคารที่สร้างด้วยไม้ที่มีความคงทนน้อยกว่าวัสดุประเภทอื่น และภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในขณะเดียวกันแนวโน้มของสังคมยังได้มุ่งให้ความสำคัญกับคุณค่าทางนามธรรมที่ถือเป็นส่วนที่สร้างความหมายให้กับโบราณสถานด้วยทั้งจากการประกาศของยูเนสโกและอิโคโมส ในปีถัดมายังได้เห็นถึงแนวคิดการขยายขอบเขตของการอนุรักษ์ให้ออกมาครอบคลุมถึงสภาพโดยรอบของโบราณสถานด้วยเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสภาพโดยรอบของเมืองโบราณต่างๆอย่างมาก จึงเป็นเวลาที่จะต้องหาทางควบคุมแก้ไขปัญหาร่วมกัน จากเรื่อง setting ยังได้มีความต่อเนื่องมาถึงในปัจจุบันนี้ที่เรากำลังพูดกันถึงเรื่องของภูมิทัศน์วัฒนธรรม (cultural landscape)

และสำหรับกฎบัตรสากลล่าสุดที่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.๒๐๐๘ เรื่อง interpretation and presentation ก็แสดงให้เห็นได้ถึงกระแสแนวคิดในปัจจุบันของการอนุรักษ์ ว่ากำลังมีแนวโน้มมาในเรื่องของการสื่อความหมายและการนำเสนอโบราณสถาน แสดงถึงความสำคัญของความเข้าใจในสิ่งที่เราอนุรักษ์เพื่อให้สังคมตระหนักถึงคุณค่า ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะได้ร่วมกันดูแลรักษาให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต

[1] Eugene-Emmanuel Viollet-le-Duc, “Restoration”, อ้างถึงใน Stanley Prince, 1996
[2] จาก Seven Lamps of Architecture ของ John Ruskin, 1890
[3] Jukka Jokilehto. A History of Architecture Conservation (Elsevier,2005), หน้า 237.
[4] จาก ICOMOS. International Charters for Conservation and Restoration – Monuments and Sites I. (Munich: Lipp GmbH, 2004).
[5] …all the processes of looking after a place so as to retain its cultural significance. (article 1)…may include… maintenance, preservation, restoration, reconstruction, adaptation and interpretation / a combination of more than one of these. (article 14)

ไม่มีความคิดเห็น: