วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

19th Technical Session of the ICC Angkor

รายงานการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพระนคร ครั้งที่ ๑๙


การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อการปกป้องคุ้มครองและพัฒนาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของเมืองพระนคร (International Coordinating Committee for Safeguarding and Development of the Historic Site of Angkor : ICC Angkor) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๙ ระหว่างวันที่ ๘ – ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ ณ โรงแรม Sokha Angkor เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
ตัวแทนประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมได้แก่
๑. นายวสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกระดับชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร
๒. นางสาวธิติยา ปานมณี เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ

วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เริ่มการประชุม เวลา ๘.๓๐ น. โดยมีวาระการประชุมและสาระโดยย่อดังนี้

วาระที่ ๑ พิธีเปิดการประชุม ประกอบด้วยการกล่าวเปิดโดย นาย Dominique FRESLON และ นาย Hiroshi KAWAMURA สองประธานร่วมผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ตามลำดับ และการกล่าวของ นาย SOK An รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานสูงสุดขององค์กร APSARA National Authority แจ้งเรื่องข้อเสนอการเป็นเจ้าภาพของเสียมราฐในการจัดประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ ๓๐ ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีที่เมืองพระนครได้อยู่ในบัญชีมรดกโลกในปี ๒๐๑๒ รวมทั้งการที่ นาย BESCHAOUCH ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “สหเมตไตร”และคำกล่าวจากนาย Teruo JINNAI ผู้แทน UNESCO ในราชอาณาจักรกัมพูชา

วาระที่ ๒ เรื่องการวิจัยและการอนุรักษ์
๒.๑ นาย Azedine BESCHAOUCH, ICC Permanent Scientific Secretary กล่าวรายงานกิจกรรมของ ICC-Angkor และการนำเอาคำแนะนำต่างๆที่ผ่านมาไปสู่การปฏิบัติ กล่าวถึง ICC-Preah Vihear องค์กรพี่น้องกับ ICC-Angkor ว่าจะมีการจัดตั้งขึ้นในวันที่ ๑๖ มิถุนายนนี้ ที่ UNESCO ณ กรุงปารีส

๒.๒ นาย BUN Narith ผู้อำนวยการใหญ่ APSARA Authority กล่าวรายงานกิจกรรมต่างๆของ APSARA เช่น การบูรณะเร่งด่วนสำหรับปราสาทที่พังลงมา การตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในประเทศอิตาลี การศึกษาเพื่อการวางแผนการพัฒนาระบบน้ำและการฟื้นฟูบาราย การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาเมืองเสียมราฐ การมีส่วนร่วมของภาคประชาคม การพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ การเกษตรอินทรีย์

๒.๓ การอนุรักษ์
๒.๓.๑ การนำเสนอผลการทำงานที่ปราสาทบายนของ JASA (Japan – APSARA Team for Safeguarding Angkor) ประกอบด้วย
ก. ภาพรวมของการปกป้องคุ้มครองปราสาทบายน โดย ศ.ดร. NAKAGAWA Takeshi
ข.รายงานความก้าวหน้าของงานบูรณะที่บรรณาลัยด้านทิศใต้ของปราสาทบายน โดย นาย SOEUR Sothy กล่าวถึงขั้นตอนการเตรียมนำหินกลับคืนสู่ที่ตั้งดั้งเดิมหลังงานทดลองประกอบหินเสร็จสมบูรณ์ ในการเตรียมฐานรากได้มีการทดสอบการรับน้ำหนักของดินบดอัดแน่นแบบดั้งเดิมพบว่าไม่เพียงพอ ต้องมีการปรับปรุงการรับแรงก่อน ในการเสริมด้วยหินใหม่ มีความจำเป็นต้องใช้หินทรายใหม่ ๑๒ % ในขณะที่ต้องใช้ศิลาแลงใหม่เกือบ ๙๐ %
ค.งานสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีทางด้านทิศใต้ของปราสาทบายน โดย ดร. KOU Vet รายงานการค้นพบระบบการระบายน้ำโบราณ
ง. งานสำรวจทางธรณีสัณฐานภายในระเบียงของปราสาทบายน และความก้าวหน้าของงานวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการจัดการพื้นที่น้ำโดยรอบแหล่งมรดกเมืองพระนคร โดย ดร. TOKUNAGA Tomochika
จ. คำแนะนำทางเทคนิคเพื่อการถมดินกลับในแหล่งโบราณสถานเมืองพระนคร โดย ดร. IWASAKI Yoshinori เป็นผลการทำงานที่สืบเนื่องมาจากการขุดตรวจสอบใต้ปราสาทประธาน ปราสาทบายน
ฉ. การศึกษาวิธีการอนุรักษ์ภาพสลักนูนต่ำที่ระเบียงคดด้านในของปราสาทบายน โดย ดร. SAWADA Masahiko และ ดร. SHIMODA Ichita

๒.๓.๒ การนำเสนอของ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (EFEO) โดย นาย Pascal ROYERE สถาปนิก
ก. การบูรณะปราสาทบาปวน กำหนดตารางการทำงานในช่วงสุดท้ายของการดำเนินการในระยะเวลา ๙ เดือน
ข. การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการบูรณะปราสาทแม่บุญตะวันตก ปราสาทซึ่งมีสภาพเป็นเกาะตั้งอยู่กลางบารายตะวันตก นำเสนอโครงการการทำงานในระยะเวลา ๔ ปี

การอภิปรายโดยคณะที่ปรึกษา
ศ. BOUCHENAKI : ชื่นชมการทำงานที่นำมาซึ่งข้อมูลทางวิชาการจากการศึกษาเบื้องต้นทางโบราณคดีก่อนการดำเนินการ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งก่อนที่จะได้มีการกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์ เช่น ในกรณีปราสาทแม่บุญตะวันตก ซึ่งมีความน่าสนใจมาก เป็นโบราณสถานที่มีเอกลักษณ์ ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเบื้องต้นนี้ก่อน นอกจากนี้ยังควรมีการแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลในระหว่างแต่ละคณะทำงานที่เข้ามาร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานเมืองพระนครด้วย
นาย BESCHAOUCH : ชื่นชมการที่ในทีม JASA ของ ญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้ชาวกัมพูชาได้เรียนรู้การทำงานจนพัฒนาขึ้นมาได้อยู่ในระดับสูง ถือเป็นพัฒนาการที่ดีมากสำหรับกัมพูชา เป็นความสำคัญของการฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้

๒.๓.๓ การนำเสนอของ WWF (World Monument Fund) โดย คุณ Konstanze VON ZUR MUEHLEN ผู้จัดการโครงการ
ก. รายงานความก้าวหน้าของการทำงานที่ปราสาทพนมบาแค็ง ระเบียงคดด้านทิศตะวันออกของปราสาทนครวัด และปราสาทพระขรรค์
ข. การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การอนุรักษ์และการสร้างความมั่นคง ศาสนสถานอิฐ

๒.๓.๔ การนำเสนอของ ASI (Archaeological Survey of India)
ก. คำกล่าวนำโดย ดร. D.R. GEHLOT อธิบดีร่วมของ ASI
ข. งานอนุรักษ์โครงสร้าง และลักษณะการอนุรักษ์ที่ ปราสาทตาพรม โดย นาย Janhwij SHARMA ผู้อำนวยการอนุรักษ์ รายงานการทำงานในลักษณะสหวิชาการ นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างและธรณีวิทยา
ค. การอนุรักษ์ต้นไม้ที่ปราสาทตาพรม โดย ดร. N.S.K. HARSH ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยป่าไม้ เมือง Deradun ประเทศอินเดีย

๒.๓.๕ การอนุรักษ์ของปราสาทนครวัด งานบูรณะที่โคปุระตะวันตก ซุ้มบันไดใหญ่ทางทิศตะวันตก พลับพลารูปกากบาท และสระน้ำล้อมรอบด้านตะวันตก โดย นาย Valter Maria SANTORO เป็นการดำเนินงานโดย I.Ge.S. ( Ingegneria Geotecnica e Structeral snc) จากอิตาลี มีการสำรวจสภาพปัญหา ติดตามตรวจสอบรอยแยกต่างๆ พบว่ามีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิและระดับน้ำในดิน และจากข้อมูลการวิเคราะห์แรงดันจากน้ำในส่วนโครงสร้างพบว่าจุดที่มีความเสี่ยงต่อการพังทลายได้แก่ส่วนมุมและขั้นบันได

๒.๓.๖ การอนุรักษ์หินทรายในเมืองพระนคร จาก ธันวาคม ๒๐๐๙ ถึง มิถุนายน ๒๐๑๐ โดย นาย LONG Nary นักอนุรักษ์หินในสังกัดของหน่วยงานอนุรักษ์หินของ APSARA ด้วยการสนับสนุนของ German Development Authority) รายงานผลการทำงานอนุรักษ์หินด้วยการใช้ epoxy การเก็บข้อมูล กล่าวถึง ปริมาณงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก บุคลากรไม่เพียงพอ และการแก้ปัญหาด้วยการทำหนังสือคู่มือการปฏิบัติงาน

๒.๓.๗ การศึกษาผลกระทบของจุลินทรีย์ที่มีต่อผิวหินที่ปราสาทตาเนย ในปี ๒๐๐๙ โดย นาง Yoko FUTAGAMI จาก Tokyo National Research Institute for Cultural Properties เป็นผลการสำรวจทั้งที่ ปราสาทและแหล่งตัดหิน ที่ได้พบมอสและไลเคนสายพันธุ์ใหม่ๆ นำไปศึกษาผลกระทบต่อหินที่สถาบันในประเทศญี่ปุ่นพบว่าทำให้หินเสื่อมสภาพลง ๓๐ % ในขั้นต่อไปจะได้ทดลอง ณ ที่ตั้งของปราสาทและดูผลในระยะยาวต่อไป

๒.๓.๘ การเสื่อมสภาพของหินเมืองพระนครในส่วนลวดลายประดับ ในมิติการควบคุมทางด้านธรณีวิทยาและสภาพแวดล้อม โดย ศ. Maria – Francoise ANDRE จาก มหาวิทยาลัย Blaise Pascal ประเทศฝรั่งเศส กล่าวถึงความแตกต่างกันระหว่างอัตราการเสื่อมสภาพที่เกิดกับปราสาทที่สภาพแวดล้อมยังมีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบอยู่กับปราสาทที่ไม่มีต้นไม้มานานแล้ว พบว่าต้นไม้ใหญ่ช่วยปกป้อง ทำให้การเสื่อมสภาพช้าลง จึงควรรักษาสภาพป่าไม้ไว้แม้ว่าโดยการออกแบบจะไม่ได้ต้องการให้ปลูกต้นไม้มาแต่ต้น

๒.๔ งานวิจัย
๒.๔.๑ การรายงานการวิจัยในโครงการอนุรักษ์และบูรณะปราสาทตาแก้ว โดย ศ. HOU Weidong หัวหน้าวิศวกรของ CACH (Chinese Academy of Cultural Heritage) สาธารณรัฐประชนจีน กล่าวถึงการศึกษาเก็บข้อมูลเบื้องต้นในด้านต่างๆ

๒.๔.๒ งานวิจัยเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังและการใช้สีในปราสาทอิฐสมัยศตวรรษที่ ๙ และ ๑๐ โดย ศ.ดร. Hans LEISEN จาก GACP (German Apsara Conservation Project) เป็นผลการศึกษาจากปราสาทอิฐจำนวน ๑๙ ปราสาท เช่น ปราสาทธมเกาะแกร์ ปราสาทพระโค ปราสาทเนียงเขมา จ.ตาแก้ว ด้วยการใช้กล้องอินฟราเรด พบการใช้สีแดง ดำ ขาว และเหลือง โดยเป็นภาพลวดลายประดับที่เทียบกันได้กับลายปูนปั้นหรือลายสลักหิน

๒.๔.๓ รายงานกิจกรรมการวิจัยที่ปราสาททัพตะวันตก เมืองนครธม (๒๐๐๙ – ๒๐๑๐) โดย ดร. Tomo ISHIMURA จาก Nara National Research Institute for Cultural Properties ประเทศญี่ปุ่น มีการทดสอบกำลังวัสดุโบราณได้แก่ หินทรายและศิลาแลง พบว่าหินทรายมีคุณสมบัติในการรับแรงได้ดีในขณะที่ศิลาแลงซึ่งใช้เป็นโครงสร้างภายในมีปัญหา

๒.๔.๔ โครงการ JAYA Koh Ker ๒๐๑๐ สู่ความเข้าใจใหม่ของเกาะแกร์ (ฐานข้อมูลเรื่อง จารึก สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ศิลปะ) โดย คุณ Agnes VAJDA ผู้อำนวยการ HUNINCOR ประเทศฮังการี เสนอผลการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม และจารึก การเปรียบเทียบองค์ประกอบที่พบหลงเหลืออยู่ กับภาพถ่ายเก่า นำข้อมูลมารวมกันจัดทำเป็นแบบวิเคราะห์ ที่ปราสาทกระจับ ปราสาทเจน ปราสาทบันทายพีจัน

๒.๔.๕ รายงานความก้าวหน้าของการสำรวจจารึกในสมัยเมืองพระนคร โดย ศ. T.S. MAXWELL มหาวิทยาลัย Bonn เป็นการศึกษาจารึกเสากรอบประตูที่ปราสาทบันทายฉมาร์ และการตีความภาพสลักอิฐที่ปราสาทกระวันแสดงถึงความสัมพันธ์ของกษัตริย์ เทพ และพระพุทธเจ้า

๒.๕ โบราณคดี
๒.๕.๑ การสำรวจทางโบราณคดีที่ปราสาทบันทายกุฎีในปี ๒๐๐๙ โดย นาย Nobuo ENDO และ คุณ Chie ABE จาก สถาบันวัฒนธรรมเอเซีย มหาวิทยาลัย Sophia

๒.๕.๒ การศึกษาเรื่องอาศรมในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ โดย นาย Dominique SOUTIF นักวิจัยจาก EFEO และ คุณ Julia ESTEVE นักวิจัยจาก EPHE ประเทศฝรั่งเศส เป็นงานที่เริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับจารึกที่ศึกษาไว้โดย เซเดส์ ซึ่งพบหลักฐานทั่วราชอาณาจักร จะมีการขุดตรวจและขุดค้นในปีหน้า โดยเลือกพื้นที่ศึกษาที่ปราสาทไพรปราสาท และปราสาทกอมนับ จะได้มีการใช้จีโอเรดาร์ร่วมในการสำรวจด้วย

๒.๕.๓ การขุดค้นแนวกำแพงดิน ภายใน Royal Citadel เมืองพระนคร โดย ศ. Jacques GAUCHER นักโบราณคดี EFEO เป็นส่วนที่ ๓ ของโครงการทางโบราณคดีของลักษณะของเมืองนครธม การขุดตรวจคันดินกำแพงเมือง พบการก่อสร้างซ้อนทับในยุคต่างๆ ส่วนที่เป็นกำแพงหินนี้คาดว่าเคยมีความสูง ๙ เมตร ฐานรากกำแพงเป็นเม็ดแลงบดอัดแน่นมีความแข็งแรงมาก ส่วนกำแพงก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายที่นำจากที่อื่นมาใช้สังเกตจากรูปสลักที่ปรากฏอยู่

๒.๕.๔ โครงการขุดค้นทางโบราณคดีในกลุ่มโบราณสถานปราสาทธม เกาะแกร์ ที่ Phno Damrei Sa (White Elephant Tomb) โดย นาย Eric BOURDONNEAU นักโบราณคดี EFEO มีสภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับอาคารทรงปิระมิดของปราสาทธมทางด้านหลัง ผลจากการขุดพบว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่อยู่ร่วมสมัยกับการสร้างปราสาท สันนิษฐานว่าเป็นที่ทำพิธีชั่วคราวขณะช่วงเวลาของการก่อสร้างปราสาทพบโบราณวัตถุเป็นรูปเคารพสตรีพร้อมฐานรูปนกฮูก

๒.๕.๕ โครงการการทำงานทางโบราณคดีที่พนมกุเลน การดำเนินการในช่วงระหว่างธันวาคม ๒๐๐๙ – เมษายน ๒๐๑๐ โดย นาย Jean – Baptiste CHEVANCE จาก มูลนิธิโบราณคดีและการพัฒนา สหราชอาณาจักร เป็นการดำเนินการใน ๕ แหล่งบนเขาพนมกุเลน ซึ่งได้พบรูปพระคเณศวรอยู่ในถ้ำ พร้อมด้วยการดำเนินการโครงการต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาในท้องถิ่น สินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน สุขอนามัย การศึกษา การรักษาสิ่งแวดล้อม การเกษตรที่เหมาะสมเพื่อแทนที่การเผาป่าที่มีอยู่โดยรอบบริเวณโบราณสถาน

๒.๕.๖ โครงการราชมรรคาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (ระยะที่ ๓) การค้นพบแหล่งอุตสาหกรรมเหล็กเป็นครั้งแรก โดย นาย IM Sokrithy นักโบราณคดีผู้ประสานงานโครงการ APSARA National Authority เป็นการศึกษาโครงข่ายถนนโบราณ และแหล่งอุสาหกรรมโลหะและเครื่องถ้วยบนเส้นทาง ในโครงการระยะที่ ๓ นี้ ได้ศึกษาเส้นทางจากเมืองพระนครไปสู่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบสามารถเชื่อมโยงได้กับชาวเผ่ากุย หรือ ส่วย ที่ยังคงสืบต่อวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมมาจนถึงในปัจจุบัน โดยชาวกุยเด็ก ( Kuy Dek) ชำนาญงานเหล็ก และชาวกุยดำไร (Kuy Damrei) ชำนาญเรื่องการเลี้ยงช้าง เป็นข้อมูลที่อาจเปรียบเทียบกันได้กับในบริเวณเขมรสูง จ.บุรีรัมย์ในประเทศไทย

๒.๖ รายงานข้อแนะนำและความคิดเห็นจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์
นาย BESCHAOUCH : น่าจะมีความร่วมมือในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างไทยและกัมพูชา
นาย HIDAKA : ขอเน้นเรื่องการอนุรักษ์และการสื่อความหมาย การฝึกอบรม การมีส่วนร่วมของท้องถิ่น และการรักษาต้นไม้ไว้เพื่อสมดุลของธรรมชาติ
ศ. BOUCHENAKI : ห่วงใยปราสาทพนมกรม ที่มีการเสื่อมสภาพของเนื้อหินจากแรงลม เสถียรภาพของโครงสร้างอาคาร โดยหินในส่วนยื่นมีความเสี่ยงที่จะทลายลงมา จึงขอให้มีการอนุรักษ์เสริมความมั่นคงโดยด่วน การปรับปรุงพื้นที่โดยรอบปราสาทบันทายสรี เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน จากสภาพเดิมซึ่ง ที่จอดรถและร้านค้าตั้งอยู่ใกล้กับตัวปราสาทมาก ด้วยการจัดการในปัจจุบันสามารถทำให้นักท่องเที่ยวเข้าชมปราสาทตามลำดับที่ต้องการ เริ่มต้นที่ศูนย์ข้อมูล สร้างความเข้าใจก่อนการเข้าชม พร้อมด้วยการกำหนดรูปแบบสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ทั้งหมดให้มีความเหมาะสม
นาย CROCI : สำหรับปราสาทตาแก้วของคณะทำงานจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตรงมุมคือส่วนที่เป็นจุดอ่อนของฐานปราสาทที่เป็นกำแพงกันดิน และยังไม่เห็นด้วยกับการเติมหินใหม่จนครบสมบูรณ์แม้ว่าจะเป็นส่วนหลังคาที่ช่วยกันน้ำได้ ในขณะที่ขอชื่นชมการทำงานของคณะจากประเทศอินเดีย
ปิดการประชุม เวลา ๑๙.๒๕ น.

วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เริ่มการประชุม เวลา ๘.๐๐ น. โดยมีวาระการประชุมและสาระโดยย่อดังนี้
๒.๗ เสวนาโต๊ะกลมเรื่องบูรณภาพในการทำงานของคณะทำงานด้านเทคนิคต่างๆที่ปราสาทนครวัด
นาย BESCHAOUCH : กล่าวถึงที่มาของหัวข้อนี้ สืบเนื่องจากการที่มีองค์กร คณะทำงานมากมายหลายคณะมาช่วยในการอนุรักษ์ปราสาทนครวัดแห่งนี้ เริ่มจากการดำเนินการในระยะแรกโดย EFEO ต่อมาคือจากอินเดีย และในปัจจุบันมีจากมหาวิทยาลัยโซเฟีย และ JASA มหาวิทยาลัยวาเซดะ จากประเทศญี่ปุ่น มีคณะทำงานจากประเทศเยอรมัน และ I.Ge.S.จากประเทศอิตาลี จึงจำเป็นจะต้องนึกถึงความประสานสัมพันธ์กันของแต่ละส่วนของปราสาทด้วย
นาย CROCI : สำหรับปราสาทคีรีสิ่งที่น่าเป็นห่วงได้แก่เรื่องของโครงสร้าง ปัญหาจากน้ำที่เข้าไปในโครงสร้างที่เป็นดิน โครงสร้างarch แบบก่อยื่นที่ใช้ไม่แข็งแรงอย่างโครงสร้างของโรมัน จึงเป็นปัญหาทางเสถียรภาพ ปราสาทบริวารมักตั้งอยู่ตรงมุมซึ่งเป็นจุดอ่อน มักมีรอยแยกจากแรงดันของน้ำหนักที่กดทับ จึงขอให้มีการประสานร่วมกันในความรู้เรื่องสภาพของโบราณสถาน ธรรมชาติของโครงสร้าง และเรื่องน้ำที่มีผลต่อโครงสร้าง
นาย HIDAKA : แนะนำให้ในแต่ละทีมมีการหารือกันในรายละเอียดเมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจน ให้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับปราสาทประเภทปราสาทคีรีหลังอื่นๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับน้ำ จะต้องคำนึงถึงปัญหาจากความชื้นในอากาศ การดูดซึมน้ำจากดิน และการจัดการเรื่องการระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการวางระบบท่ออย่างที่ทีมอิตาลีใช้ และการใช้วัสดุกันซึมของ WWF ที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติข้างเคียงของวัสดุ
นาย LABLAUDE : เรื่องแรก ให้พิจารณาประเด็นเรื่องความแท้ ในการแทนที่หินเก่าที่เสื่อมสภาพว่าควรจะใช้หินใหม่ได้หรือไม่ ควรจะให้กลับคืนสู่สภาพเมื่อแรกสร้างหรือจะปล่อยไว้ตามกาลเวลา ควรซ่อมในระดับที่เพียงพอ ไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป
เรื่องที่สอง เห็นว่าการซ่อมแซมก็คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของแหล่ง การใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก หรือวัสดุใหม่ในการบูรณะควรซ่อนหรือแสดงให้เห็น ซึ่งเรื่องนี้ในแต่ละทีมยังมีวิธีการที่แตกต่างกัน โครงสร้างดั้งเดิมที่เป็นปัญหาจะต้องคงไว้ให้เป็นของแท้อย่างนั้นหรือไม่
เรื่องที่สาม ความงามเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้สำหรับปราสาทนครวัด ความสมดุล สมมาตร รายละเอียดการตกแต่ง เป็นคุณค่าความสำคัญที่ต้องพิจารณาในการกำหนดแนวทางอนุรักษ์
ศ. BOUCHENAKI : นักอนุรักษ์คือผู้ส่งผ่านข้อมูลจากอดีตสู่อนาคต งานโบราณคดีไม่ได้เพียงแต่ศึกษาแค่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ แต่รวมถึงสถาปัตยกรรม และการอนุรักษ์ซ่อมแซมด้วย การศึกษานำมาซึ่งข้อมูลเพื่อความเข้าใจในเรื่องต่างๆ จึงต้องไม่ทำงานอย่าโดดเดี่ยว แต่ต้องทำงานร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ รวมทั้งการศึกษาภูมิปัญญาในอดีตในยุคที่ยังไม่มีการทดสอบ ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์

๓. การพัฒนาอย่างยั่งยืน
๓.๑ ความคิดเห็นจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นาย BESCHAOUCH : กล่าวนำเกี่ยวกับชุมชนที่อยู่กับโบราณสถาน จึงได้ยกกรณีของปราสาทพระวิหารที่มีชุมชนที่ต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
นาย FURT : กำหนดกรอบการทำงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคม ข้อเสนอโครงการต่างๆควรจะต้องส่งให้ศึกษาก่อนล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เมืองพระนครเป็นแหล่งที่ไม่ได้มีแต่ซากโบราณสถาน แต่ยังเป็นเมืองที่มีคนอยู่และเป็นบริเวณที่ต้องการการพัฒนา อาหาร และเครือข่ายการขนส่ง ต้องมีการศึกษาข้อมูลกิจกรรมท่องเที่ยว ความเชื่อมโยงกับกิจกรรมการเกษตร ตลาดผลผลิต
๓.๒ การนำเสนอของ APSARA National Authority
ก. โครงการ Green Belt ระยะที่ ๒ โดย นาย UK Someth เป็นโครงการที่สนับสนุนโดยรัฐบาลเยอรมัน ด้วยการวางแผนกำหนดวงแหวนรอบเมืองพระนคร ๓ ชั้น เรียกว่า three rings of protection เพื่อการปกป้องและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีการแก้ปัญหาความยากจนเป็นเป้าหมายหลัก ในการดำเนินการได้มีการวิเคราะห์การตลาด พัฒนาผลผลิต ทำข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตและผู้จำหน่าย และฝึกอบรมผู้นำชุมชนสร้างเครือข่ายเกษตรกร (ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลแหล่งมรดกที่จะต้องไม่จำกัดเฉพาะการอนุรักษ์ลักษณะทางกายภาพของแหล่ง แต่จะต้องรวมไปถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน ทั้งชาวบ้านและวัด ที่อยู่ภายในพื้นที่แหล่งมรดกด้วย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ดีกินดี) ผลที่ได้รับในครั้งนี้ได้ครอบคลุมในพื้นที่ ๒๐๐๐ ครัวเรือน เพิ่มผลผลิต ๒๐ – ๑๐๐ % เพิ่มรายได้ ๙๐ USD ต่อเดือนต่อครัวเรือน

ข. การดำเนินงานในโครงการในบริเวณ สระสรง โดย นาย KHOUN Khun-Neay กล่าวว่า มีการอนุรักษ์ตัวสระและขอบสระซึ่งเป็นโบราณสถานที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เชื่อมโยงความสำคัญระหว่างสระสรงและปราสาทบันทายกุฎีซึ่งมีถนนขั้นกลางและเป็นทางสัญจรที่มีการจราจรพลุกพล่านในปัจจุบัน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ในรายละเอียดของการดำเนินงานมีการซ่อมแซมระบบประตูน้ำของสระ ทำทางเดินโดยรอบ มีการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ระหว่างสระกับปราสทบันทายกุฎี วางแผนเบี่ยงทางสัญจรเปิดเส้นทางใหม่ นอกจากการชมโบราณสถานยังได้มีนโยบายให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมชีวิตชุมชนหมู่บ้านด้วย จัดแสดงเรือนพื้นถิ่นเขมรและสวนเกษตร และยังมีโครงการ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากนิวซีแลนด์ ในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการให้การศึกษา

ค. การดำเนินงานที่ Run Ta Ek โดย นาย UK Someth เป็นโครงการที่เรียกว่า eco-village เริ่มจากการจัดการแหล่งน้ำของชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการอยู่อาศัย ใช้พลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป ลดมลภาวะ ร่วมกันแก้ปัญหาเรือนกระจกและโลกร้อน

ง. การนำน้ำกลับมาใส่ในคูเมืองนครธม โดย ดร. HANG Peou คูเมืองนครธมในปัจจุบันมีน้ำหลงเหลืออยู่เพียง ๑ ส่วนในพื้นที่ทั้งหมด ๔ ส่วน เพื่อที่จะฟื้นฟูให้กลับมามีน้ำอยู่เต็มดังเดิมต้องดูระบบโดยรวมของการที่จะทำให้น้ำคงอยู่ได้ วิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้น้ำแห้งไป เป็นเพราะระบบดั้งเดิมไม่ทำงานหรือไม่ จากการสำรวจพบว่าคูเมืองด้านทิศตะวันออกมีประตูน้ำอยู่ ๒ ประตูที่ขาดความต่อเนื่อง รวมทั้งการศึกษาผลกระทบจากการรื้อฟื้นว่าจะกระทบกับการทำนาในปัจจุบันหรือไม่

จ. การพัฒนาเมืองเสียมราฐ โดย คุณ TEP Vattho เป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเมือง ปรับปรุงถนนใจกลางเมือง สร้างความเชื่อมต่อวัดต่างๆ พัฒนาเมืองวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เป็นที่ตั้งของสำนักงาน APSARA สร้างพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป พิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง มีการสร้างทางเชื่อมต่อกับพื้นที่ใจกลางเมือง ดำเนินการอนุรักษ์มรดกในยุคอาณานิคม สร้างสะพานเดินเท้าข้ามแม่น้ำเสียมราฐ ในย่านวัดตำหนัก

๓.๓ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขยายปริมาณน้ำใช้ของเสียมราฐ (ด้วยการสนับสนุนของ JICA ) โดย นาย SOM Kunthea อธิบดีการประปาของเสียมราฐ เป็นการวางแผนผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยใช้น้ำจากทะเลสาบเขมร จากสภาพการผลิตในปัจจุบันที่ยังไม่เพียงพอ
๓.๔ ผลการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางน้ำของเมืองพระนคร ในประเด็นการค้นพบสารหนูและปลาแปลกปลอมต่างถิ่น โดย ศ. Shinji TSUKAWAKI จากการสำรวจตัวอย่างน้ำในทะเลสาบพบว่ามีสารหนูปนเปื้อนอยู่ โดยจะมีมากในบริเวณกลางของทะเลสาบ เป็นสารที่มากับน้ำจากแม่น้ำโขงที่ย้อนเข้ามาในทะเลสาบต้องมีการศึกษาหาทางจัดการกับการนำมาใช้ต่อไป ส่วนเรื่องปลาแปลกปลอมที่พบมาจากธุรกิจ สปาเท้าที่ใช้ปลาตอดเท้านักท่องเที่ยว เป็นพันธุ์ปลาจากตุรกีหรืออัฟริกา และมีการเพาะเลี้ยงในสิงคโปร์และประเทศไทย หากปล่อยให้แพร่พันธุ์ในธรรมชาติอาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

๓.๕ การนำชมวัดในเมืองเสียมราฐ กล่าวนำโดย คุณ CHAU SUN Kerya และนำเสนอโดย ศ. Vittorio ROVEDA นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ปรึกษาของ APSARA ด้านการพัฒนาวัฒนธรรม เป็นการนำเสนอข้อมูลของ ๑๒ วัดที่ตั้งอยู่กลางเมืองริมแม่น้ำเสียมราฐ เพื่อเพิ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเมือง และพัฒนาสินค้าที่ระลึกทางพุทธศาสนา ทำแผนที่การท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงนครวัด ผ่าน ๑๒ วัดในเมือง ไปสู่ปราสาทพนมกรม (ตั้งข้อสังเกตว่าวัดเหล่านี้น่าจะเป็นรูปแบบหลังรัชกาลที่ ๔ เป็นช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของไทย)

๓.๖ โบราณคดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการใหม่ของความร่วมมือระหว่างประเทศโดยรอบสนามบินเสียมราฐเมืองพระนคร โดย นาย Pierre BATY สืบเนื่องจากความต้องการในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบิน ซึ่งมีแหล่งโบราณสถานอยู่ด้วย ทั้งปราสาทและแหล่งโบราณคดี จึงได้เกิดโครงการให้ความช่วยเหลือทางโบราณคดีขึ้นเพื่อขุดกู้แหล่งเหล่านี้ ในขณะดำเนินการก็ได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชม เป็นตัวอย่างที่ส่งเสริมให้งานโบราณคดีเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องดำเนินการในการพัฒนาพื้นที่และการก่อสร้างใดๆ โบราณวัตถุหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบจะได้นำมาจัดแสดงในพื้นที่ ในอาคารสนามบิน หรือพิพิธภัณฑ์ มีการเปิดโอกาสให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นและยังได้เป็นที่ฝึกงานของนักโบราณคดีจากประเทศฝรั่งเศส

๓.๗ โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย Palermo ประเทศอิตาลี และ APSARA ในการอบรมทางด้านการซ่อมแซมมรดกวัฒนธรรม โดย ศ. Giovanni RIZZO เป็นการแนะนำมหาวิทยาลัยและหลักสูตรต่างๆทางด้านการอนุรักษ์ ที่เน้นทางด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุ เพื่อซ่อมโบราณวัตถุในคลัง ๔๐๐๐ ชิ้น

๓.๘ การแข่งขันไตรกีฬานานาชาติที่เมืองพระนคร โดย นาย VAT Chamroeun เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งกัมพูชา เป็นการนำเสนอเส้นทางและสถานที่ที่จะใช้ในการแข่งขันกีฬาประกอบด้วยการว่ายน้ำในบารายตะวันตก เส้นทางจักรยานรอบเมืองนครธม และการวิ่งในเส้นทางนครวัด
สรุปและปิดการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพระนคร ครั้งที่ ๑๙ เวลา ๑๕.๔๐ น.

ไม่มีความคิดเห็น: