วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

ทำบุญ ไหว้พระ ที่วัดเทพธิดาราม

สืบเนื่องจากการที่ผมเองได้รับมอบหมายจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นตัวแทนในการจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ในนามของกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี จึงได้เกิดเป็นโครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎกวัดเทพธิดารามวรวิหารขึ้นโดยมีผมเองทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

ขั้นตอนแรกเป็นการเชิญชวนให้สมาชิกของสมาคมฯ (ได้แก่ผู้ที่ประกอบวิชาชีพทางด้านสถาปัตยกรรม) มาเป็นอาสาสมัคร ในการสำรวจ ทำแบบ บูรณะโบราณสถานแห่งนี้ นอกจากจะเป็นการสละแรงงานและเวลาเพื่อการกุศลแล้ว ก็จะได้มาเรียนรู้การทำงานด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ให้เข้าใจว่านี่ก็คือภาระกิจหนึ่งของสถาปนิกเช่นเดียวกัน การอนุรักษ์ที่ดีต้องการการออกแบบเขียนแบบที่ดีด้วยไม่ต่างจากการออกแบบอาคารใหม่ และเรายังต้องเรียนรู้การทำงานกับคนอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ หรือนักโบราณคดี แสดงให้เห็นว่างานอนุรักษ์นั้นเป็นเรื่องของสหวิชาการที่ต้องมาทำงานร่วมกัน

ตอนนี้การเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเพื่อจัดทำแบบบูรณะโดยอาสาสมัครของเราก็ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว รวมทั้งการนำเสนอแบบบูรณะเพื่อขออนุญาตดำเนินการจากกรมศิลปากร เนื่องจากเป็นโบราณสถานของชาติ และการเก็บข้อมูลในวิชาชีพอื่นๆก็ได้ดำเนินการไปแล้วเช่นเดียวกัน ขั้นตอนต่อไปก็คือการนำเสนอผลงานการสำรวจทำแบบบูรณะ และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้สาธารณชนจากทุกวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วยการทำบุญ บริจาคเงินเข้ามาสมทบในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ร่วมอนุรักษ์และสืบสานงานสถาปัตยกรรมไทย

ในโอกาสนี้เลยขออาราธนาพระพุทธเทววิลาส หรือ หลวงพ่อขาว พระประธานในพระอุโบสถวัดเทพธิดาราม พร้อมด้วยคำบูชาตามเอกสารของทางวัดมาฝากเพื่อเป็นสิริมงคล

สำหรับผู้ที่สนใจและมีจิตศรัทธาสามารถติดตามชมผลงานของพวกเราได้ในงานสถาปนิก 52 อิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม ในนิทรรศการ "อาษา อาสา สถาปัตยกรรมไทย" ที่โถงทางเข้าหน้างาน ที่เรายังจะได้จำลองแบบหอไตรมาให้ชมพร้อมด้วยบรรยากาศของงานบุญแบบไทยๆ ต้นผ้าป่าอาษาสามัคคี (อาษา ASA คือคำย่อของสมาคมสถาปนิกสยามฯ) โดยงานในปีนี้ใช้ชื่อว่า revision ตั้งทิศ ปรับทัศน์ การที่เราได้มีโครงการอนุรักษ์และสืบสานสถาปัตยกรรมไทยร่วมกันอย่างนี้ ก็อาจเรียกได้ว่าป็นการปรับทัศน์ของสังคมเหมือนกัน ให้เห็นว่า "การอนุรักษ์และสืบสานสถาปัตยกรรมไทยคือหน้าที่ของสถาปนิกไทย" หลังจากที่เรามัวแต่หลงเพลินตามกระแสโลกาภิวัฒน์กันมาโดยตลอดแต่ถ้าใจร้อนอยากรีบทำบุญโดยยังไม่ต้องชมนิทรรศการ ก็สามารถโอนเงินมาที่บัญชี "วัดเทพธิดารามวรวิหาร(บูรณะหอพระไตรปิฎกคณะ5)" เลขบัญชี 037-2-37600-7 ธ.กสิกรไทย สาขาถนนมหาไชย ท่านที่ต้องการใบอนุโมทนาบัตร โปรดติดต่อ 02-628-8288
หลังจากที่ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับโครงการนี้ในคอลัมน์ "ทัศนาสถาปัตย์" หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ก็ได้มีผู้ใจบุญที่มีจิตศรัทธาโอนเงินเข้ามากันมาก ขณะนี้ก็ได้หลายหมื่นแล้ว เลยขอถือโอกาสนี้แสดงมุทิตาจิต อนุโมทนาที่เราได้มีโอกาสได้ทำบุญร่วมกันในครั้งนี้ด้วย และหวังว่าเงินหลักล้านตามที่จำเป็นจะต้องใช้ในการบูรณะหอพระไตรปิฎก คงจะเห็นกันในงานสถาปนิก 52 นี้

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

โบราณสถาน? เกณฑ์ในการพิจารณาคุณค่าจากลักษณะแห่งการก่อสร้าง (II)

ในการจะพิจารณาว่าลักษณะแห่งการก่อสร้างของอาคารใด มรดกสิ่งก่อสร้างใด เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี หรือไม่ ประการแรกจะดูว่าอาคารหรือมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นมีคุณค่าในด้านใดหรือไม่ อย่างไร

คุณค่าทางด้านสุนทรียภาพความงามของสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม การวางผัง หรือศิลปกรรมการตกแต่ง ตลอดจนความเป็นเลิศของฝีมือช่าง มีหรือไม่
คุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ในฐานะที่เป็นหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ หรือยุคใดสมัยใด มีแนวคิดใดในการก่อสร้างนั้นที่สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละยุคสมัย รวมทั้งประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม การวางผัง และการอนุรักษ์หรือไม่

คุณค่าทางด้านวิชาการคือประโยชน์ทางการศึกษา จากความเป็นของแท้ที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ความเป็นตัวอย่างของลักษณะการก่อสร้างที่พบได้ยาก การสื่อความหมายให้เป็นที่เข้าใจได้ของแหล่ง ความมีเอกลักษณ์และความเป็นตัวแทนของยุคสมัย ถิ่นที่ หรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เป็นตัวช่วยให้องค์ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งสมบูรณ์ขึ้น มีหรือไม่

และคุณค่าทางสังคมที่สืบทอดมาจากความผูกพันของท้องถิ่นและความเป็นที่รู้จักของสังคมจากลักษณะแห่งการก่อสร้างนั้นว่ามีหรือไม่
ซึ่งเราอาจจะพบว่าในบรรดาอาคาร หรือมรดกสิ่งก่อสร้างที่นำมาพิจารณานั้น บางกรณีอาจถึงพร้อมด้วยคุณค่าในด้านต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วอย่างครบถ้วนในแหล่งเดียว บางกรณีที่มีความสำคัญในหลายด้านแต่กลับมีคุณค่าที่โดดเด่นเพียงในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น หรือบางกรณีเป็นมรดกสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าแต่ก็ไม่ถึงขนาดที่เรียกได้ว่าโดดเด่นได้เลยแม้แต่เพียงด้านเดียว เราจึงจำเป็นจะต้องมีเกณฑ์ที่ใช้ชี้วัดระดับคุณค่าทางวัฒนธรรมของมรดกสิ่งก่อสร้างด้วย

ดังที่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงจรรยาบรรณสำหรับสมาชิกอิโคโมส ว่า “Values หมายถึง ความรู้สึก ความเชื่อ ซึ่งมีคุณค่าความสำคัญต่อกลุ่มวัฒนธรรม หรือบุคคลใด ที่มักจะรวมถึง ความเชื่อทางด้านจิตใจ ทางการเมือง ทางศาสนา และทางจารีตประเพณี โบราณสถานอาจมีคุณค่าในลักษณะและระดับที่แตกต่างกัน และยังมีโอกาสที่จะทำการประเมินปรับคุณค่าได้อีกตามกาลเวลาที่ผ่านไป”

เกณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ชี้วัดคุณค่าทางวัฒนธรรมได้แก่ ความเป็นของแท้ (Authenticity) และความครบถ้วน (Integrity)
ความเป็นของแท้ ตามที่อ้างอิงจาก The Nara Document on Authenticity 1994 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยสากลนับตั้งแต่การลงมติในที่ประชุมมรดกโลก ครั้งที่ ๑๘ ซึ่งจัดขึ้นที่ภูเก็ต ประเทศไทย ในปี ค.ศ.๑๙๙๔ นั้น ระบุว่า “การตัดสินใจความเป็นของแท้ สามารถเชื่อมโยงได้กับคุณค่าของโบราณสถานที่หลากหลายของแหล่งที่มาของข้อมูลด้วยเหตุที่ความเป็นของแท้นั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของมรดกทางวัฒนธรรมและบริบททางวัฒนธรรม ซึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลายเช่นกัน ได้แก่ รูปทรง แนวคิดในการออกแบบ วัสดุ การใช้งาน ประโยชน์ใช้สอย ประเพณี และเทคนิค สถานที่ตั้ง และสภาพโดยรอบ จิตวิญญาณ และความรู้สึก การใช้แหล่งข้อมูลดังกล่าวจะนำมาซึ่งการศึกษามรดกทางวัฒนธรรมทั้งในเรื่องของศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ สังคม และวิชาการ”

โดยทั่วไปการตรวจสอบระดับความเป็นของแท้ของมรดกสิ่งก่อสร้าง อาจแบ่งออกได้เป็น
ความเป็นของแท้ ของการออกแบบ รวมความถึงลักษณะหรือองค์ประกอบที่แสดงถึงการออกแบบทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และประโยชน์การใช้สอย ให้ตรวจสอบว่ารูปแบบ รูปทรง ลักษณะการออกแบบของมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ยังคงเป็นแบบดั้งเดิม ยังมีความเป็นของแท้หรือไม่

ความเป็นของแท้ของวัสดุ ได้แก่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร ให้ตรวจสอบว่ายังมีส่วนที่เป็นวัสดุเดิมของแท้ มากน้อยเพียงใด มีการใช้วัสดุใหม่โดยเคารพต่อวัสดุดั้งเดิมด้วยการทำให้สามารถแยกแยะได้หรือไม่

ความเป็นของแท้ของฝีมือช่าง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้างและการตกแต่ง แสดงถึงเทคนิควิธีการของช่างที่ใช้ในการก่อสร้าง ประดับประดา ตลอดจนการอนุรักษ์ ให้ตรวจสอบว่าฝีมือช่างของแท้ยังคงเห็นได้อยู่หรือไม่ ในปริมาณมากน้อยเพียงใด

ความเป็นของแท้ของสภาพโดยรอบ (Setting) คือ แหล่งที่ตั้งและสภาพโดยรอบของมรดกสิ่งก่อสร้าง ยังคงมีความเชื่อมต่อกับช่วงเวลาของการก่อสร้างมรดกสิ่งก่อสร้าง ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ หรือ เมืองโบราณนั้นหรือไม่ ให้ดูว่าสภาพโดยรอบนั้นยังมีลักษณะที่สัมพันธ์กับมรดกสิ่งก่อสร้างอยู่หรือไม่

ความครบถ้วน Integrity
ความครบถ้วน ในที่นี้หมายถึงความครบถ้วนขององค์ประกอบของโบราณสถานที่ผสานกลมกลืนกัน ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและองค์ประกอบของสภาพโดยรอบที่มีความเกี่ยวข้องกันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วย การจะพิจารณาว่า อาคารหรือมรดกสิ่งก่อสร้างนั้นๆ มีคุณค่าหรือไม่ นอกจากจะวัดด้วยความเป็นของแท้แล้วจึงต้องตรวจสอบด้วยว่าได้มีการพิจารณาครอบคลุมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับแหล่งนั้นอย่างครบถ้วนหรือยัง มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่โบราณสถานที่สอดคล้องกับคุณค่าของสิ่งก่อสร้างนั้นหรือไม่

คุณภาพของข้อมูล Quality
นอกจากนี้จากกรณีของมรดกสิ่งก่อสร้างที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพไปจากรูปแบบดั้งเดิม ด้วยการดำเนินการในอดีตไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหรือรื้อถอนเพื่อการใช้สอย ตามสมัยนิยม หรือตามความต้องการของผู้ครอบครองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลอดจนการอนุรักษ์ หรือการปฏิสังขรณ์รื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิมกลับมาอีกครั้ง การที่จะพิจารณาว่าลักษณะแห่งการก่อสร้างของอาคาร มีประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดีหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือและความครบถ้วนของข้อมูล การบันทึกสภาพ หลักฐานที่มีอยู่ก่อนการดำเนินการ คุณภาพของข้อมูลหลักฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อรื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิม แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับโดยสากลดังปรากฏในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมและกฎบัตรต่างๆ เช่น “...(Reconstruction is acceptable if it is carried out on the basis of complete and detailed documentation on the original and to no extent on conjecture.)“ จาก ความเห็นของคณะกรรมการมรดกโลก ปรากฏใน Management Guidelines for World Cultural Heritage Sites

ลักษณะแห่งการก่อสร้าง สิ่งบ่งชี้ความเป็นโบราณสถาน (I)

โบราณสถาน ?
ความในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.๒๕๓๕ กล่าวว่า โบราณสถาน คือ อสังหาริมทรัพย์ ที่โดยอายุ หรือ ลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือ หลักฐานเกี่ยวกับประวัติ เป็นประโยชน์ทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี โดยให้รวมถึง แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์

การที่จะบอกว่าอะไรเป็นโบราณสถานตามกฎหมายหรือไม่นั้น ประการแรกถ้าไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ก็คงตัดออกไปก่อนได้เลย ต่อมาคือโดยอายุ หมายความว่ามีความเก่าแก่ แต่ตามกฎหมายก็มิได้กำหนดว่าที่อายุเท่าไรจึงเรียกว่าเป็นโบราณสถาน และถ้าดีแต่เก่าคือสร้างมานานแล้วแต่กลับไม่เป็นประโยชน์ใดใดก็ไม่สมควรที่จะถือเป็นโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ความหมายของ “ลักษณะแห่งการก่อสร้าง”
เราจะสามารถพิจารณาความเป็นโบราณสถานในแง่ของลักษณะแห่งการก่อสร้างได้ในกรณีที่โบราณสถานนั้นๆ เข้าข่ายเป็นสิ่งก่อสร้าง จากปาฐกถาเรื่องสงวนของโบราณ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภา ทรงแสดงแก่เทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ความว่า “......ของโบราณนั้นราชบัณฑิตยสภากำหนดเป็น ๒ ประเภท คือของที่ไม่พึงเคลื่อนที่ได้ เป็นต้นว่า เมือง และปราสาทราชวัง วัด ทั้งเทวาลัย ตลอดจนบ่อกรุ และสะพานหิน ของโบราณเหล่านี้ กำหนดเป็นประเภทหนึ่งเรียกว่า โบราณสถาน"

ไม่ต่างจากความหมายที่เป็นสากล อาทิของคณะกรรมการมรดกโลก ที่ได้ให้นิยามของ มรดกวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ว่า แบ่งออกเป็น Monuments, Groups of Buildings and Sites ได้แก่ สิ่งก่อสร้างเดี่ยว หมายถึง งานสถาปัตยกรรมที่เป็นก่อสร้างโดด ๑ หลัง พร้อมด้วยที่ตั้ง องค์ประกอบศิลปกรรม โครงสร้าง และอุปกรณ์ที่ติดกับที่ กลุ่มของสิ่งก่อสร้าง หมายถึงสิ่งก่อสร้างเดี่ยวหลายหลังที่มีส่วนเชื่อมต่อกัน หรือที่ตั้งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พร้อมด้วยบริเวณโดยรอบทั้งหมดที่ล้อมรอบอยู่ ประกอบด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีเนื้อหาเดียวกัน เกี่ยวเนื่องกัน และแหล่ง อันหมายถึง บริเวณหรือสถานที่ ทั้งที่อยู่บนดิน ใต้ดิน และใต้น้ำ อาจพบหลักฐานการก่อสร้างหรือไม่ก็ได้

นอกจากนี้ยังมีมรดกวัฒนธรรมที่เป็น Groups of Urban Buildings (Historic Town) ได้แก่ ย่านหรือเมืองที่ประกอบด้วย สิ่งก่อสร้างโบราณ รวมทั้งร่องรอยหลักฐานของเมือง เช่น พื้นที่คูเมือง กำแพงเมือง หรือ เป็นที่รวมของสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะกลมกลืนกัน มีความเก่าแก่ต่อเนื่องมาแต่อดีตจนถึงช่วงเวลาหนึ่ง และมีเรื่องราวสืบต่อกันมา มีรูปแบบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และพัฒนาการของสังคมในท้องถิ่นนั้นๆ

และมรดกวัฒนธรรมยังได้มีความหมายรวมถึง Cultural Landscape หรือ ภูมิทัศน์วัฒนธรรม ได้แก่ โบราณสถานที่เป็นองค์ประกอบทางภูมิสถาปัตยกรรม เช่น สวน ที่โล่ง ผืนน้ำ และพืชพันธุ์ ที่มีการออกแบบและก่อสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจของมนุษย์ เป็นลักษณะทางภูมิทัศน์ที่เป็นผลมาจากกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ หรือทางศาสนา และยังรวมถึงลักษณะที่เป็นการผสมผสานของพลังแห่งศรัทธาความเชื่อ การสร้างสรรค์ทางศิลปกรรม หรือวัฒนธรรม ร่วมกันกับองค์ประกอบในธรรมชาติ ที่มักจะสะท้อนเทคนิคเฉพาะของการใช้ที่ดิน ตามคุณลักษณะและข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่ และความสัมพันธ์ของจิตวิญญาณกับธรรมชาติ จากความหมายของโบราณสถานและมรดกวัฒนธรรมดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีเรื่องของการก่อสร้างมาเกี่ยวข้องอยู่ในหลายระดับ แตกต่างกันไปตามประเภท ขนาด วัสดุ และที่ตั้งของโบราณสถานนั้นๆ

แม้ว่าในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ จะได้ให้ความหมายของคำ “ก่อสร้าง” ว่า คือก่อและสร้างโดยใช้อิฐและปูนเป็นส่วนใหญ่ และ “สิ่งก่อสร้าง” คืออาคารบ้านเรือนเป็นต้นที่สร้างโดยใช้อิฐและปูนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ การเอาสิ่งต่างๆมาปรุงกันเข้าเพื่อทำเป็นที่อยู่หรือที่พักอาศัย โดยวิธีฝังเสาลงในดิน ให้เรียกว่า “ปลูกสร้าง” เมื่อเราพิจารณาความหมายของลักษณะแห่งการก่อสร้างในนิยามของโบราณสถาน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะแต่สิ่งที่สร้างจากอิฐและปูนเท่านั้น ในที่นี้จึงน่าจะรวมความหมายถึง การปลูกสร้าง หรือการสร้างที่ไม่จำกัดว่าจะเป็นวัสดุชนิดใด

จาก พรบ.ควบคุมอาคาร ได้ให้นิยามคำ “ก่อสร้าง” ว่าหมายถึง การสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นแทนของเดิมหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆที่เกี่ยวข้องดังนี้ “ดัดแปลง” หมายความว่า เปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยาย ซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบรูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ ของโครงสร้างของอาคาร หรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิมและมิใช่การซ่อมแซมหรือการดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง “ซ่อมแซม” หมายความว่า ซ่อมหรือเปลี่ยนส่วนต่าง ๆ ของอาคารให้คงสภาพเดิม

นอกเหนือจากการก่อสร้าง ซึ่งได้แก่การสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดที่รวมความถึงการตกแต่งประดับประดา งานศิลปกรรม หรือรูปเคารพต่างๆที่สร้างอยู่ติดที่แล้ว การดัดแปลง การซ่อมแซม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเพื่อความต้องการปรับเปลี่ยนใหม่ตามสมัยนิยมหรือเพื่อประโยชน์ใช้สอยใหม่ และเพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งอาจรวมความถึงทุกวิธีการของการดูแลรักษาโบราณสถาน เช่น การบำรุงรักษา การปกป้องกันการเสื่อมสภาพ การสงวนรักษา การเสริมความมั่นคงแข็งแรง การบูรณะ การปฏิสังขรณ์ การประยุกต์การใช้สอย ทั้งนี้เพื่อการรักษาไว้ซึ่งความทรงจำ ความหมายแห่งความสำคัญทางวัฒนธรรมของโบราณสถาน การเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของโบราณสถานที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการในการอนุรักษ์เหล่านี้ จึงน่าจะเกี่ยวข้องและนำมาพิจารณารวมในมุมมองจากลักษณะการก่อสร้างนี้ด้วยประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี

ในข้อตกลงจรรยาบรรณสำหรับสมาชิกอิโคโมส ได้ยึดถือความหมายตาม Australia ICOMOS Burra Charter ที่ระบุว่าโบราณสถานจะมี “ความสำคัญทางวัฒนธรรม” Cultural significance เป็นองค์ประกอบ คือ “มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ ประวัติศาสตร์ วิชาการ หรือสังคม เพื่ออดีต ปัจจุบันและอนาคต ความสำคัญทางวัฒนธรรมนี้สื่อได้จากตัวโบราณสถานเอง ด้วยสิ่งก่อสร้าง สภาพโดยรอบ การใช้สอย ความหมาย การบันทึก สถานที่ และวัตถุที่เกี่ยวข้อง” ลักษณะแห่งการก่อสร้างจึงสามารถสื่อได้ถึงคุณค่าความสำคัญทางวัฒนธรรม ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับประโยชน์ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ และแสดงถึงความเป็นโบราณสถานได้ประการหนึ่ง

เมื่อเราพิจารณาโบราณสถานในลักษณะที่เป็นสิ่งก่อสร้าง ประโยชน์ในทางศิลปะในที่นี้ จึงให้รวมถึงประโยชน์ในทางสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และการออกแบบผังเมือง ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะประยุกต์แขนงหนึ่งด้วย ตามความหมายของคำว่า “ศิลปะ” ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้เน้นในเรื่องของฝีมือทางการช่าง การทำให้วิจิตรพิศดาร ซึ่งหมายถึงการทำให้สวย ทำให้งาม ประโยชน์ในทางศิลปะจึงตรงกับการที่มีคุณค่าทางสุนทรียภาพของโบราณสถาน ซึ่งพิจารณาได้จากความงามทางศิลปกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้าง เช่น งานจิตรกรรมฝาผนัง งานสลักลวดลายบนไม้หรือหิน งานปูนปั้น งานลวดลายรดน้ำ งานปิดทองประดับกระจก เป็นต้น ความงามทางสถาปัตยกรรม และการวางผัง ของโบราณสถาน ล้วนเป็นความงามจากฝีมือช่างโบราณที่ฝากเอาไว้

สำหรับประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ ตรงกับการมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโบราณสถาน ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในฐานะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์แล้ว น่าจะได้รวมถึงประวัติศาสตร์การก่อสร้างและสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะ อีกทั้งประวัติศาสตร์การอนุรักษ์อีกด้วย (รวมถึงประวัติการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือรื้อถอน)

โบราณคดี คือ การศึกษาเรื่องราวและพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต โดยศึกษาจากโบราณวัตถุ และโบราณสถาน ดังนั้นประโยชน์ในทางโบราณคดีก็จัดอยู่ในคุณค่าทางวิชาการหรือการศึกษาของโบราณสถานนั่นเอง กล่าวคือ การที่ด้วยลักษณะแห่งการก่อสร้างของโบราณสถานนั้นๆ มีศักยภาพในการใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาได้