วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

ลักษณะแห่งการก่อสร้าง สิ่งบ่งชี้ความเป็นโบราณสถาน (I)

โบราณสถาน ?
ความในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.๒๕๓๕ กล่าวว่า โบราณสถาน คือ อสังหาริมทรัพย์ ที่โดยอายุ หรือ ลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือ หลักฐานเกี่ยวกับประวัติ เป็นประโยชน์ทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี โดยให้รวมถึง แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์

การที่จะบอกว่าอะไรเป็นโบราณสถานตามกฎหมายหรือไม่นั้น ประการแรกถ้าไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ก็คงตัดออกไปก่อนได้เลย ต่อมาคือโดยอายุ หมายความว่ามีความเก่าแก่ แต่ตามกฎหมายก็มิได้กำหนดว่าที่อายุเท่าไรจึงเรียกว่าเป็นโบราณสถาน และถ้าดีแต่เก่าคือสร้างมานานแล้วแต่กลับไม่เป็นประโยชน์ใดใดก็ไม่สมควรที่จะถือเป็นโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ความหมายของ “ลักษณะแห่งการก่อสร้าง”
เราจะสามารถพิจารณาความเป็นโบราณสถานในแง่ของลักษณะแห่งการก่อสร้างได้ในกรณีที่โบราณสถานนั้นๆ เข้าข่ายเป็นสิ่งก่อสร้าง จากปาฐกถาเรื่องสงวนของโบราณ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภา ทรงแสดงแก่เทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ความว่า “......ของโบราณนั้นราชบัณฑิตยสภากำหนดเป็น ๒ ประเภท คือของที่ไม่พึงเคลื่อนที่ได้ เป็นต้นว่า เมือง และปราสาทราชวัง วัด ทั้งเทวาลัย ตลอดจนบ่อกรุ และสะพานหิน ของโบราณเหล่านี้ กำหนดเป็นประเภทหนึ่งเรียกว่า โบราณสถาน"

ไม่ต่างจากความหมายที่เป็นสากล อาทิของคณะกรรมการมรดกโลก ที่ได้ให้นิยามของ มรดกวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ว่า แบ่งออกเป็น Monuments, Groups of Buildings and Sites ได้แก่ สิ่งก่อสร้างเดี่ยว หมายถึง งานสถาปัตยกรรมที่เป็นก่อสร้างโดด ๑ หลัง พร้อมด้วยที่ตั้ง องค์ประกอบศิลปกรรม โครงสร้าง และอุปกรณ์ที่ติดกับที่ กลุ่มของสิ่งก่อสร้าง หมายถึงสิ่งก่อสร้างเดี่ยวหลายหลังที่มีส่วนเชื่อมต่อกัน หรือที่ตั้งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พร้อมด้วยบริเวณโดยรอบทั้งหมดที่ล้อมรอบอยู่ ประกอบด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีเนื้อหาเดียวกัน เกี่ยวเนื่องกัน และแหล่ง อันหมายถึง บริเวณหรือสถานที่ ทั้งที่อยู่บนดิน ใต้ดิน และใต้น้ำ อาจพบหลักฐานการก่อสร้างหรือไม่ก็ได้

นอกจากนี้ยังมีมรดกวัฒนธรรมที่เป็น Groups of Urban Buildings (Historic Town) ได้แก่ ย่านหรือเมืองที่ประกอบด้วย สิ่งก่อสร้างโบราณ รวมทั้งร่องรอยหลักฐานของเมือง เช่น พื้นที่คูเมือง กำแพงเมือง หรือ เป็นที่รวมของสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะกลมกลืนกัน มีความเก่าแก่ต่อเนื่องมาแต่อดีตจนถึงช่วงเวลาหนึ่ง และมีเรื่องราวสืบต่อกันมา มีรูปแบบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และพัฒนาการของสังคมในท้องถิ่นนั้นๆ

และมรดกวัฒนธรรมยังได้มีความหมายรวมถึง Cultural Landscape หรือ ภูมิทัศน์วัฒนธรรม ได้แก่ โบราณสถานที่เป็นองค์ประกอบทางภูมิสถาปัตยกรรม เช่น สวน ที่โล่ง ผืนน้ำ และพืชพันธุ์ ที่มีการออกแบบและก่อสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจของมนุษย์ เป็นลักษณะทางภูมิทัศน์ที่เป็นผลมาจากกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ หรือทางศาสนา และยังรวมถึงลักษณะที่เป็นการผสมผสานของพลังแห่งศรัทธาความเชื่อ การสร้างสรรค์ทางศิลปกรรม หรือวัฒนธรรม ร่วมกันกับองค์ประกอบในธรรมชาติ ที่มักจะสะท้อนเทคนิคเฉพาะของการใช้ที่ดิน ตามคุณลักษณะและข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่ และความสัมพันธ์ของจิตวิญญาณกับธรรมชาติ จากความหมายของโบราณสถานและมรดกวัฒนธรรมดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีเรื่องของการก่อสร้างมาเกี่ยวข้องอยู่ในหลายระดับ แตกต่างกันไปตามประเภท ขนาด วัสดุ และที่ตั้งของโบราณสถานนั้นๆ

แม้ว่าในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ จะได้ให้ความหมายของคำ “ก่อสร้าง” ว่า คือก่อและสร้างโดยใช้อิฐและปูนเป็นส่วนใหญ่ และ “สิ่งก่อสร้าง” คืออาคารบ้านเรือนเป็นต้นที่สร้างโดยใช้อิฐและปูนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ การเอาสิ่งต่างๆมาปรุงกันเข้าเพื่อทำเป็นที่อยู่หรือที่พักอาศัย โดยวิธีฝังเสาลงในดิน ให้เรียกว่า “ปลูกสร้าง” เมื่อเราพิจารณาความหมายของลักษณะแห่งการก่อสร้างในนิยามของโบราณสถาน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะแต่สิ่งที่สร้างจากอิฐและปูนเท่านั้น ในที่นี้จึงน่าจะรวมความหมายถึง การปลูกสร้าง หรือการสร้างที่ไม่จำกัดว่าจะเป็นวัสดุชนิดใด

จาก พรบ.ควบคุมอาคาร ได้ให้นิยามคำ “ก่อสร้าง” ว่าหมายถึง การสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นแทนของเดิมหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆที่เกี่ยวข้องดังนี้ “ดัดแปลง” หมายความว่า เปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยาย ซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบรูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ ของโครงสร้างของอาคาร หรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิมและมิใช่การซ่อมแซมหรือการดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง “ซ่อมแซม” หมายความว่า ซ่อมหรือเปลี่ยนส่วนต่าง ๆ ของอาคารให้คงสภาพเดิม

นอกเหนือจากการก่อสร้าง ซึ่งได้แก่การสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดที่รวมความถึงการตกแต่งประดับประดา งานศิลปกรรม หรือรูปเคารพต่างๆที่สร้างอยู่ติดที่แล้ว การดัดแปลง การซ่อมแซม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเพื่อความต้องการปรับเปลี่ยนใหม่ตามสมัยนิยมหรือเพื่อประโยชน์ใช้สอยใหม่ และเพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งอาจรวมความถึงทุกวิธีการของการดูแลรักษาโบราณสถาน เช่น การบำรุงรักษา การปกป้องกันการเสื่อมสภาพ การสงวนรักษา การเสริมความมั่นคงแข็งแรง การบูรณะ การปฏิสังขรณ์ การประยุกต์การใช้สอย ทั้งนี้เพื่อการรักษาไว้ซึ่งความทรงจำ ความหมายแห่งความสำคัญทางวัฒนธรรมของโบราณสถาน การเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของโบราณสถานที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการในการอนุรักษ์เหล่านี้ จึงน่าจะเกี่ยวข้องและนำมาพิจารณารวมในมุมมองจากลักษณะการก่อสร้างนี้ด้วยประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี

ในข้อตกลงจรรยาบรรณสำหรับสมาชิกอิโคโมส ได้ยึดถือความหมายตาม Australia ICOMOS Burra Charter ที่ระบุว่าโบราณสถานจะมี “ความสำคัญทางวัฒนธรรม” Cultural significance เป็นองค์ประกอบ คือ “มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ ประวัติศาสตร์ วิชาการ หรือสังคม เพื่ออดีต ปัจจุบันและอนาคต ความสำคัญทางวัฒนธรรมนี้สื่อได้จากตัวโบราณสถานเอง ด้วยสิ่งก่อสร้าง สภาพโดยรอบ การใช้สอย ความหมาย การบันทึก สถานที่ และวัตถุที่เกี่ยวข้อง” ลักษณะแห่งการก่อสร้างจึงสามารถสื่อได้ถึงคุณค่าความสำคัญทางวัฒนธรรม ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับประโยชน์ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ และแสดงถึงความเป็นโบราณสถานได้ประการหนึ่ง

เมื่อเราพิจารณาโบราณสถานในลักษณะที่เป็นสิ่งก่อสร้าง ประโยชน์ในทางศิลปะในที่นี้ จึงให้รวมถึงประโยชน์ในทางสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และการออกแบบผังเมือง ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะประยุกต์แขนงหนึ่งด้วย ตามความหมายของคำว่า “ศิลปะ” ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้เน้นในเรื่องของฝีมือทางการช่าง การทำให้วิจิตรพิศดาร ซึ่งหมายถึงการทำให้สวย ทำให้งาม ประโยชน์ในทางศิลปะจึงตรงกับการที่มีคุณค่าทางสุนทรียภาพของโบราณสถาน ซึ่งพิจารณาได้จากความงามทางศิลปกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้าง เช่น งานจิตรกรรมฝาผนัง งานสลักลวดลายบนไม้หรือหิน งานปูนปั้น งานลวดลายรดน้ำ งานปิดทองประดับกระจก เป็นต้น ความงามทางสถาปัตยกรรม และการวางผัง ของโบราณสถาน ล้วนเป็นความงามจากฝีมือช่างโบราณที่ฝากเอาไว้

สำหรับประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ ตรงกับการมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโบราณสถาน ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในฐานะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์แล้ว น่าจะได้รวมถึงประวัติศาสตร์การก่อสร้างและสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะ อีกทั้งประวัติศาสตร์การอนุรักษ์อีกด้วย (รวมถึงประวัติการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือรื้อถอน)

โบราณคดี คือ การศึกษาเรื่องราวและพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต โดยศึกษาจากโบราณวัตถุ และโบราณสถาน ดังนั้นประโยชน์ในทางโบราณคดีก็จัดอยู่ในคุณค่าทางวิชาการหรือการศึกษาของโบราณสถานนั่นเอง กล่าวคือ การที่ด้วยลักษณะแห่งการก่อสร้างของโบราณสถานนั้นๆ มีศักยภาพในการใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาได้

ไม่มีความคิดเห็น: