วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

บ้านป้ายิ่ง





บ้านป้ายิ่ง เป็นเรือนไทยที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี นายเชยและนางอ๋วนได้สร้างขึ้นโดยใช้ช่างชาวจีนซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น ปัจจุบันในละแวกเดียวกันกับบ้านป้ายิ่งมีบ้านลักษณะเดียวกันประมาณ ๑๕ หลัง ซึ่งรายละเอียดของบ้านแต่ละหลังจะแตกต่างกันไป ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ นายมุ่นเซ่ง จั่นบุญมี บุตรนายเชยและนางอ๋วน ได้รื้อบ้านริมน้ำมาปลูกเป็นเรือนครัวทางด้านทิศตะวันออกของเรือนใหญ่โดยมีทางเดินเชื่อมต่อกัน เนื่องจากบ้านปลูกอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีในเขตอำเภอบ้านแหลมที่อยู่ติดทะเล มีช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนเอ่อทำให้ระดับน้ำสูงท่วมเป็นประจำทุกปีตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ปัจจุบันพื้นที่ของบ้านมีการถมสูงขึ้นประกอบกับอายุของตัวบ้าน ทำให้บ้านเตี้ยลงจนเดินลอดเข้าไปใช้สอยบริเวณใต้ถุนบ้านไม่สะดวกได้ดังเดิม โดยปัญหาน้ำท่วมขังก็ยังคงอยู่ โคนเสาเรือนผุกร่อน เนื้อปูนของกระเบื้องหลังคาเสื่อมสภาพ รวมทั้งปั้นลมและฝาผนังไม้ส่วนใหญ่ได้เสื่อมสภาพไปมาก ในขณะที่นางบุญยิ่ง กิ่งแก้ว บุตรนายมุ่นเซ่ง จั่นบุญมี ผู้เป็นเจ้าของบ้านในปัจจุบันซึ่งมีอายุมากแล้วมีสุขภาพไม่แข็งแรงนักจึงจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมกว่า ดังนั้น พ.ศ. ๒๕๕๑ ลูกหลานของป้ายิ่งจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะได้ทำการบูรณะซ่อมแซมบ้านให้คงสภาพเดิมมากที่สุดเพื่อท่านได้กลับมาอาศัยอยู่ ณ บ้านอันเป็นที่รักของท่านอีกครั้งดังที่เห็นในปัจจุบัน

บ้านป้ายิ่งเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง ทรงสอบ หลังคาจั่วทรงจอมแห มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ประตูและหน้าต่างไม้ ใช้ประตูบานเฟี้ยม มีการประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลักที่มีความหมายมงคล การวางผังเรือนมีลักษณะปิดล้อมแบบสมมาตร โดยแนวแกนหลักของเรือนวางตั้งฉากกับแม่น้ำเพชรบุรี มีบันได ซุ้มประตูทางเข้า ชานแดด พาไล เรือนกลาง และเรือนใหญ่วางในตำแหน่งกลางแนวแกน มีเรือนเล็กเป็นเรือนบริวารทั้งด้านซ้ายและขวาของชานแดด ด้านทิศตะวันออกของพาไล เรือนกลาง และเรือนใหญ่มีส่วนที่ต่อเติมขึ้นภายหลังเป็นระเบียงที่มีหลังคาคลุมกว้าง ๒ เมตร ขนานไปกับผนังห้องทั้ง ๓ เป็นพื้นที่พักผ่อนของครอบครัวและมีทางเดินเชื่อมไปเรือนครัว เห็นได้ว่าลักษณะการวางผังเรือนบ้านป้ายิ่งนี้มีอัตลักษณ์แตกต่างจากการวางผังเรือนของคนไทยพื้นถิ่นทั่วไปที่นิยมวางตามตะวัน และมีลักษณะการวางผังที่สามารถเชื่อมโยงได้กับวัฒนธรรมการปลูกสร้างอย่างจีนภายใต้ลักษณะองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทย แสดงถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดโดยสถาปัตยกรรม อาคารหลังนี้จึงถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของเรือนไทยในรูปแบบพิเศษของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่พบในชุมชนลุ่มน้ำเพชรบุรี

การซ่อมแซมและการปรับปรุงบ้านป้ายิ่งได้มีการรื้อถอนส่วนต่อเติมที่ไม่สวยงามออก ซ่อมเปลี่ยนส่วนที่เสื่อมสภาพตามรูปแบบ วัสดุ และเทคนิคช่างแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์ มีการปรับดีดยกเรือนให้สูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยยังคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยในปัจจุบันด้วยการสร้างอาคารต่อเติมเป็นห้องน้ำและครัวในลักษณะที่มีความกลมกลืนกับอาคารโบราณ พร้อมด้วยเก็บรักษาระเบียงพักผ่อนที่มีความทรงจำของครอบครัวไว้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเจ้าของบ้านในการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์และคุณค่าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ทำให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปี พ.ศ.๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น: