วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

ขอม หรือ เขมร


เรามักจะมีข้อถกเถียงกันเรื่อยมาถึงความถูกต้องของการใช้คำเรียกที่เป็นเรื่องของปราสาทหินและศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง ตามที่พบกันทั่วไปบ้างก็เรียกศิลปะขอม บางทีก็อารยธรรมเขมร จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ เพราะต่างฝ่ายก็ต่างยอมกันไม่ได้ แต่ที่สุดก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เพราะเป็นที่ตั้งของเมืองพระนคร (Angkor) ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งที่พบสิ่งก่อสร้างในวัฒนธรรมนี้อย่างหนาแน่นและมีความยิ่งใหญ่ที่สุด แต่เนื่องจากวัฒนธรรมนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเขตของประเทศกัมพูชาเท่านั้น ดังที่เราพบหลักฐานมากมายในประเทศไทย หรือแม้แต่ในทางตอนใต้ของประเทศลาวที่มีปราสาทวัดพู ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมนี้ก่อนจะมีการสร้างเมืองพระนครด้วยซ้ำ การที่เราเรียกประชาชนในประเทศกัมพูชาว่าเป็นคนเขมรจึงเกิดคำถามว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้สืบเชื้อสายและเป็นเจ้าของวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่นี้จนควรเรียกว่าอารยธรรมเขมรหรือไม่ สิ่งที่พบอยู่นอกเขตแดนของกัมพูชาจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมเขมรด้วยหรือไม่ ปราสาทหินเป็นของใคร ของไทย ลาว หรือเขมรกันแน่ ในเมื่อสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนมีการแบ่งเป็นประเทศต่างๆอย่างในปัจจุบัน


อดีตผู้บังคับบัญชาของผมท่านหนึ่งเคยยืนยันอย่างแข็งขันว่า ต้องเรียก อารยธรรมขอม เพราะเป็นเรื่องของคนในอดีตที่ไม่เกี่ยวข้องกับเขมรในปัจจุบัน เหมือนกับแนวคิดของอีกหลายๆท่านที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก “คลั่งชาติ” ที่รับไม่ได้กับการระบุว่าเป็นวัฒนธรรมเขมรที่มีความหมายว่าเป็นของกัมพูชา วัฒนธรรมนี้ย่อมเป็นของผู้คนในสถานที่ที่สิ่งก่อสร้างนั้นตั้งอยู่ ไม่ใช่การรับวัฒนธรรมมาในฐานะเมืองขึ้นด้วยถือว่ามีหลักฐานมาตั้งแต่ในยุคก่อนเมืองพระนครแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในสมัยที่ปรากฏชื่อในเอกสารจีนว่าฟูนัน หรือ เจินละ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับท่านหนึ่งถึงกับกล่าวตำหนิการใช้คำว่าศิลปะเขมร ว่าเหมือนเป็นการไปยกให้เป็นของกัมพูชาไป ถ้าเช่นนั้นจะให้เรียกว่าอะไรดี


จากการศึกษาจารึกโบราณได้พบว่าแต่เดิมชาวเขมรเรียกตนเองว่า กัมพุช ซึ่งคงเป็นต้นเค้าของคำว่ากัมพูชา ในขณะที่ตามเอกสารจีนจะเรียกว่าเจินละมาโดยตลอด ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้อธิบายเกี่ยวกับคำว่า เขมร ไว้ว่าในจารึกสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔ – ๑๗๖๐) ชาวเขมรได้เรียกตัวเองว่า เขมร เป็นครั้งแรก แต่ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันว่ามีการใช้เรียกมาก่อนการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยของพระองค์[1] ส่วนคำว่า ขอม นั้นไม่เคยพบในประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด จะมีก็แต่ในจารึก เอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งตำนานของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมาเท่านั้น โดยเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ใช้ภาษาเขมร รวมทั้งในบางที่ยังกล่าวถึงกรุงกัมพูชาธิบดีประกอบด้วย จึงตีความได้จากคำว่า ขอม ว่าหมายถึงเขมร นั่นเอง


ในทางภาษาศาสตร์เป็นไปได้ว่าคำว่า ขอม นั้นอาจจะกลายมาจากคำว่า กรอม ซึ่งอาจจะกร่อนมาจากคำว่า ขแมร์กรอม อีกที มีความหมายว่า เขมรต่ำ ในขณะที่พบว่ามีการเรียกดินแดนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่อยู่เหนือเทือกเขาพนมดงรักขึ้นมาว่า เขมรสูง การแบ่งเป็นเขมรต่ำและเขมรสูงนี้ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่พบว่ามีกลุ่มชนที่พูดภาษาเขมรทั้งในพื้นที่ของประเทศกัมพูชาที่เป็นที่ราบต่ำและในที่ราบสูงโคราช ลุ่มแม่น้ำมูลที่มีต้นน้ำจากดงพญาเย็นและพนมดงรัก ไหลไปบรรจบแม่น้ำโขง ที่เชื่อมต่อไปถึงปราสาทวัดพูในลาว ส่วนที่อยู่ที่ต่ำเรียก เขมรต่ำ ส่วนที่อยู่ในเขตบุรีรัมย์ สุรินทร์ หรือ ศรีสะเกษ ในปัจจุบันจึงได้แก่เขมรสูง ถ้าเป็นเช่นนั้นคำว่า ขอม จึงหมายถึงเฉพาะ เขมรต่ำ หรือ กัมพูชาในปัจจุบันเท่านั้น


ในขณะที่ยังมีคนไทยอีกไม่น้อยที่คิดว่า เมื่อปราสาทหินคือมรดกที่เป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมเขมร จึงไม่แปลกที่จะมีความผูกพันกับทางกัมพูชามากกว่าไทย ทำให้ไม่รักและหวงแหนเท่าที่ควร ด้วยไม่ตระหนักว่าชาวเขมร “นอกกัมพุชเทศะ” หรือดินแดนนอกประเทศกัมพูชา ดังที่จารึกของแคว้นศรีจนาศะได้เรียกดินแดนเหนือเทือเขาพนมดงรักไว้ ได้สืบเชื้อสายมาถึงชาวไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน ยังมีจารึกที่กล่าวถึงแคว้นมหิธรปุระ ณ ที่ราบสูงโคราช ว่าเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ ผู้สร้างปราสาทพิมาย พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทนครวัด มาจนถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผู้สร้างปราสาทบายนและนครธม เส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเมืองพระนคร ผ่านช่องเขาพนมดงรักที่ปราสาทตาเมือนธม ผ่านปราสาทพนมรุ้งและเมืองต่ำ มาจนถึงเมืองพิมาย จึงไม่ใช่เครื่องหมายของการตกอยู่ในอำนาจของกัมพูชาในฐานะเมืองขึ้นแต่เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในลักษณะเครือญาติก่อนยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแท้จริงแล้วก็ได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องไปไม่น้อย


ไม่ว่าจะเป็น ขอม หรือ เขมร จะนอกประเทศหรือในประเทศ อย่างไรก็มีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมของเรา ทั้งกับคนไทยที่สืบทอดวัฒนธรรมเขมรมาโดยตรง และคนไทยร่วมชาติผู้เป็นเจ้าของประเทศที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรมที่หล่อหลอมรวมกันอย่างกลมกลืนในวันนี้ และยังขยายไปสู่ความสำคัญที่เป็นความภาคภูมิใจร่วมกันในภูมิภาค หากว่าเราจะได้ยกปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน การแย่งชิงพื้นที่ซึ่งกันและกันออกไป


[1] สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทหินและทับหลัง. กรุงเทพฯ: บ.สตาร์ปริ้นท์ จำกัด, ๒๕๔๒.

ไม่มีความคิดเห็น: