วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประเด็นการวิเคราะห์เบื้องต้นแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร


ความนำ
ราชอาณาจักรกัมพูชาได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ และนำเสนอเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ ๓๑ ณ เมืองไครสเชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ซึ่งได้ระบุเงื่อนไขไว้ ๓ ประการว่า หากแม้นกัมพูชามีความเข้มแข็งในการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร หากแม้นกัมพูชาเสนอแผนการจัดการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร ภายในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์๒๕๕๑ และหากแม้นราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยสนับสนุนและประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ราชอาณาจักรกัมพูชาจักประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๒ ณ เมืองควิเบค ประเทศแคนาดา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีประกาศว่าได้ดำเนินการจนบรรลุผลดีมากยิ่ง กว่าเงื่อนไข ปราสาทพระวิหารได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมรดกโลกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยเกณฑ์คุณสมบัติข้อที่ ๑ คือ คุณค่าความโดดเด่นเป็นสากลทางด้านการเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ โดยที่ข้อทักท้วงและข้อเสนอในการขึ้นทะเบียนร่วมจากราชอาณาจักรไทยไม่ประสบผลสำเร็จ
ที่ประชุมระบุว่าหากมีผลงานวิจัยทางโบราณคดีที่อาจเกี่ยวเนื่องกับขอบเขตข้ามพรมแดนของแหล่งแนวใหม่ จักต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายกัมพูชาจักต้องประสานกับฝ่ายไทยในการปกป้องคุ้มครองคุณค่าของสมบัติวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงประชาชนของทั้งสองฝ่ายรอบอาณาบริเวณ ที่ได้เชิดชูบูชาปราสาทพระวิหารมาช้านาน
นอกจากนี้ที่ประชุมขอให้ฝ่ายกัมพูชาจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานนานาชาติเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหาร(ICC) โดยให้ราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๓ ณ เมืองเซบิย่า ประเทศสเปน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ราชอาณาจักรกัมพูชาจะต้องเสนอแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารและเขตกันชนรวมทั้งแผนที่ให้กับคณะกรรมการมรดกโลกภายในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
และในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๔ ณ กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล คณะกรรมการมรดกโลกรับแผนการบริหารจัดการของราชอาณาจักรกัมพูชาและจะพิจารณาแผนนี้ในการประชุม สมัยที่ ๓๕ ในปี ๒๕๕๔

ข้อพิจารณา
หากพิจารณาจากเอกสารที่ราชอาณาจักรกัมพูชานำเสนอ มีข้อทักท้วงที่สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องกับมติของคณะกรรมการมรดกโลก ดังนี้
๑ แผนการบริหารจัดการไม่ส่งเสริมคุณค่าความโดดเด่นที่เป็นสากล
๒ แผนบริหารจัดการไม่ส่งเสริมให้มีคณะกรรมการประสานงานนานาชาติเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหาร
๓ แผนบริหารจัดการยังคงแสดงให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องเขตแดน

ประเด็นที่ ๑ แผนการบริหารจัดการไม่ส่งเสริมคุณค่าความโดดเด่นที่เป็นสากล {Outstanding Universal Value – (OUV)} ในเรื่องคุณค่าที่แท้จริงและความครบถ้วนของแหล่ง (Integrity)

· ในบทที่ ๒ ของแผนการจัดการได้เขียนคำอธิบายในวงเล็บหลังชื่อปราสาทพระวิหารว่า “the temple of the sacred mountain” ทั้งๆที่ไม่ใช่ความหมายหรือคำแปลของชื่อปราสาทแต่อย่างใด อาจจะเพี้ยนมาจากความหมายของเขาพระวิหารที่หมายถึงภูเขาที่เป็นที่ตั้งของศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องชื่อนี้ สืบเนื่องมาจากการที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เสด็จมายังปราสาทแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ ได้จารึกพระนามและร.ศ.ที่ค้นพบปราสาทไว้ที่เป้ยตาดี ทรงขนานนามปราสาทว่า ปราสาทพรหมวิหาร ซึ่งเรียกกันทั่วไปต่อมาว่า ปราสาทพระวิหาร[1] และแปลเป็นสำเนียงภาษาเขมรว่า Preah Vihear ในขณะที่ชื่อดั้งเดิมของปราสาทตามจารึกได้แก่ ศีรศิขเรศวร แปลว่า ภูเขาแห่งพระอิศวร
· ในแผนการจัดการนี้มีการแสดงความสัมพันธ์ของปราสาทพระวิหารกับแหล่งมรดกอื่นทั้งในราชอาณาจักรกัมพูชาและในภูมิภาคใกล้เคียง ในฐานะส่วนยอดสามเหลี่ยมของพื้นที่วัฒนธรรมสมัยเมืองพระนครและสมัยก่อนเมืองพระนคร นอกเขตประเทศกัมพูชายังได้แสดงความเชื่อมโยงจากเมืองพระนครมาสู่ปราสาทพระวิหารต่อไปยังปราสาทวัดพูใน สปป.ลาว และมิเซินในเวียดนาม ทั้งที่ตามหลักฐานทางโบราณคดี เส้นทางโบราณจากเมืองพระนครไปยังปราสาทวัดพูไม่ได้ผ่านทางปราสาทพระวิหาร[2] (ระหว่างพระวิหารและวัดพูน่าจะมีการเชื่อมต่อกันทางแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงที่อยู่ในด้านพื้นที่ของประเทศไทยมากกว่า) และทั้งๆที่มีแหล่งโบราณสถานสำคัญอื่นๆซึ่งเชื่อมโยงกับเมืองพระนครที่อยู่ในประเทศไทย เช่น ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง กลับไม่ได้มีการเชื่อมโยงแสดงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่จะนำมาพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวได้ เป็นการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการขึ้นมาอย่างไม่ครบถ้วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการไม่ให้ประเทศไทยเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
· ในประเทศไทยมีหลักฐานของอารยธรรมขอมที่เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยเจนละในยุคก่อนเมืองพระนคร(ก่อนการก่อตั้งเมืองพระนครเป็นเมืองหลวง) ร่วมสมัยกับปราสาทวัดพู เรื่อยมาจนถึงยุคเมืองพระนคร และยังเป็นถิ่นฐานของราชวงศ์มหิธรปุระซึ่งได้ไปครองราชย์ที่เมืองพระนคร[3] ดังเช่นพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทนครวัด หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผู้สร้างนครธม ก็อยู่ในราชวงศ์นี้ แม้แต่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ผู้สร้างปราสาทพระวิหารเองก็ทรงมาจากราชวงศ์ใหม่ที่มีฐานอำนาจจากนอกพื้นที่ราชอาณาจักรกัมพูชาเช่นเดียวกัน[4] จึงมีการสร้างปราสาทขอมในบริเวณตั้งแต่แนวทิวเขาพนมดงรักขอบสูงสุดของที่ราบสูง เป็นต้นน้ำที่ไหลลงมารวมกันเป็นแม่น้ำมูลก่อนจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำชีออกสู่แม่น้ำโขง เกิดเป็นเมืองและชุมชนโบราณมากมาย ในดินแดนที่เรียกว่าเขมรสูง แม้แต่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับปราสาทพระวิหารนี้ก็มีเมืองโบราณและปราสาทหินหลายหลัง(๑๑ แหล่ง)[5] เช่น ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งมีจารึกที่ข้อความชี้ชัดว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับปราสาทพระวิหาร และในปัจจุบันก็ยังมีประชาชนที่สืบเชื้อสายและวัฒนธรรมจากอดีตพูดภาษาเขมรในพื้นที่ ข้อมูลทั้งหมดนี้สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในดินแดนอิสานใต้และปราสาทพระวิหาร จึงเหมือนว่าเป็นการละเลยข้อเท็จจริงดังกล่าวในแผนการจัดการนี้
· ข้อมูลการตีความวิเคราะห์ความสำคัญของปราสาทที่กล่าวถึงเฉพาะในทิศทางที่เป็นพื้นที่ของกัมพูชาเท่านั้น เป็นการดำเนินการทางวิชาการที่ไม่ครบถ้วน ที่อาจมีนัยตามความวัตถุประสงค์ที่จะไม่ให้มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ซึ่งหากย้อนไปดูการตีความในช่วงแรกโดยผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสจะเห็นว่าเคยให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์ของภูเขา ๕ ยอด ที่หมายถึงเขาพระสุเมรุ โดยมีเขาพระวิหารเป็นยอดสูงสุดตรงกลาง ต่อมาเมื่อผู้เชี่ยวชาญอินเดียได้เข้ามาร่วมในคณะก็เปลี่ยนเป็นเขา ๓ ยอดตามลักษณะตรีศูลอาวุธของพระศิวะและกล่าวว่าแนวแกนเหนือ-ใต้ ของปราสาทหมายถึงส่วนด้ามของตรีศูล[6] และล่าสุดตามข้อมูลในแผนการจัดการกลับกล่าวว่าภูเขา ๓ ยอดได้แก่ เขาพระวิหาร ภูมะเขือ และเขาสัตตะโสม หมายถึง ตรีมูรติ ได้แก่ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม แสดงให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือของข้อมูลทางวิชาการ จากการที่สามารถเปลี่ยนไปได้เรื่อยเนื่องจากเป็นการตีความแบบคิดเอาเอง ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่โดยละเอียดหรืออ้างอิงเอกสารวิชาการในอดีตที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งในทางปฏิบัติทางกัมพูชายังได้สร้างเสาส่งสัญญาณที่ภูมะเขือ ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของหนึ่งในเทพทั้งสาม เป็นการไม่ให้ความเคารพแก่พื้นที่ตามที่ตีความนี้เลย ความจริงที่ภูมะเขือและเขาสัตตะโสมยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีแต่อย่างใดในขณะที่ในยอดที่อยู่ถัดไปทางตะวันออกเป็นที่ตั้งของปราสาทโดนตวลที่ร่วมสมัยกับปราสาทพระวิหาร[7] แต่ไม่มีการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญ
· ในบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารตั้งแต่บนยอดเขาไล่ต่อลงมาจนถึงในพื้นที่ของประเทศไทยล้วนพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสำคัญหลายจุด ไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ทางด้านตะวันตกของปราสาทตามที่ระบุในแผน เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดจากความไม่ครบถ้วน ซึ่งจะไม่สามารถนำไปสู่แผนการจัดการที่ดีได้ หลักฐานทางโบราณคดีที่ต่อเนื่องในเขตประเทศไทยประกอบด้วย รูปสลักศิวลึงค์ เขื่อนโบราณและสระตราว เขื่อนโบราณบริเวณใกล้บันไดใหญ่ (ในพื้นที่ที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์) เพิงหินและภาพสลักผามออีแดง ถ้ำขุนศรี แหล่งตัดหิน สถูปคู่ ปราสาทโดนตวล และชุมชนโบราณ”กุรุเกษตร”[8]
· ปราสาทพระวิหาร เป็นสุดยอดของการเลือกที่ตั้งสำหรับการก่อสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สื่อถึงเขาไกรลาศที่สถิตของพระศิวะ ผู้เป็นเทพสูงสุดของลัทธิไศวนิกายในศาสนาฮินดู ด้วยภูเขาที่มีหน้าผาสูงทัศนียภาพประดุจสรวงสวรรค์ เป็นสุดยอดของงานสถาปัตยกรรมขอมที่มีการออกแบบอย่างเยี่ยมยอดทั้งด้วยความงามทางศิลปะสถาปัตยกรรม และด้วยการจัดลำดับการเข้าถึงที่เน้นให้เกิดความสง่างาม จากทางเข้า ผ่านซุ้มโคปุระชั้นต่างๆ ตามทางเดินที่ประดับด้วยเสานางเรียงที่ช่วยนำสายตา สู่เทวาลัยชั้นสูงสุด มีการวางแนวแกนสอดคล้องกับลักษณะทางภูมิประเทศของที่ตั้งจากทิศเหนือมาสู่ทิศใต้ แม้ทางเข้าทางทิศเหนือจะมิใช่ทางเข้าออกเพียงทางเดียวของปราสาทดังปรากฏหลักฐานร่องรอยบันไดที่เชื่อมต่อกับที่ราบเบื้องล่างทางทิศตะวันออก และทางเดินยกระดับด้านทิศตะวันตก เมื่อพิจารณาในเรื่องของขนาดและทิศทางแนวแกนแล้วก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเพียงทางเข้าที่มีความสำคัญในระดับรองลงไปเท่านั้น แต่ในแผนการจัดการนี้กลับกล่าวว่าบันไดทางด้านตะวันออกเป็นทางเข้าหลัก และการเข้าถึงที่ดีที่สุดในอันที่จะสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของปราสาทพระวิหารคือจากที่ราบทางทิศใต้ ทั้งที่เมื่อพิจารณามุมมองจากพื้นราบที่หันสู่ปราสาทพระวิหาร ตลอดเส้นทางถนนในปัจจุบัน จะพบว่ามีเพียงมุมมองจากด้านตะวันออกเท่านั้นที่สามารถสังเกตเห็นสิ่งก่อสร้างของปราสาทพระวิหารได้
นอกจากนี้แผนการจัดการยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนและความเหมาะสมในด้านการจัดการและการอนุรักษ์ดังนี้
· โดยปกติในการจัดทำแผนการจัดการควรจะต้องมีความชัดเจนของขอบเขตพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อน ในกรณีที่มีปัญหาจึงจะต้องมีการหารือตกลงกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนได้ส่วนเสียก่อน ดังจะเห็นได้จากการที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้กัมพูชาส่งแผนที่ที่แสดงขอบเขตของโซนนิ่งต่างๆ ที่ชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยส่งแผนการจัดการฉบับเต็มภายหลัง แต่ที่ผ่านมาการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีการเจรจากับประเทศไทยจึงไม่มีการส่งแผนที่ที่ชัดเจนก่อนการนำเสนอแผนการจัดการในครั้งนี้ซึ่งจะถือว่าเป็นการข้ามขั้นตอนที่ขัดต่อมติของคณะกรรมการมรดกโลกหรือไม่
· ในเอกสารมีการกำหนดขอบเขตของพื้นที่ต่างๆ แบ่งเป็น พื้นที่มรดกโลก พื้นที่กันชน และพื้นที่ปกป้องภูมิทัศน์ โดยใช้แผนที่แสดงขอบเขตของพื้นที่ต่างๆ แต่ในหน้าที่ควรจะเป็นผังแสดงพื้นที่กันชนนั้นข้อมูลกลับขาดหายไป (หน้า ๕๓) ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าพื้นที่กันชนตามคำอธิบายน่าจะตรงกับพื้นที่ที่ปรากฏในผังแสดงตำแหน่งบาราย (หน้า ๖๒) เป็นความไม่ชัดเจนของเอกสาร
· มีการอธิบายถึงพื้นที่กันชนว่าไม่รวมพื้นที่ทางด้านทิศเหนือและตะวันตกของปราสาท (เรียกว่าพื้นที่นอกเขตกันชน หมายถึงพื้นที่ที่ประเทศไทยยังอ้างสิทธิ์) โดยไม่มีขอบเขตชัดเจนว่าไปสุด ณ ที่ใด โดยระบุว่าเป็นการกำหนดพื้นที่กันชนแบบชั่วคราวจนกว่าจะมีการตกลงกันโดย JBC ระหว่างไทยและกัมพูชา ในขณะที่ได้มีการเสนอให้ขยายพื้นที่กันชนออกไปให้ครอบคลุมบารายด้านตะวันตกและตะวันออก ปราสาทโต๊ด (ตามข้อมูลเดิมเรียกปราสาทมณีวงศ์)[9]ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านโกมุย รวมทั้งพื้นที่ด้านทิศใต้ของปราสาทเพื่อรักษาพื้นที่ประวัติศาสตร์โบราณคดีและสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งเมื่อดูตามผังแสดงพื้นที่โดยรวมในหน้า ๕๔ พื้นที่กันชนที่เสนอให้ขยายนี้น่าจะหมายถึง Zone 2a และ 2b จะเห็นว่าการขยายพื้นที่ดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ทางทิศใต้ของปราสาทเท่านั้น แต่ยังมีขอบเขตมาถึงพื้นที่เขตแดนระหว่างประเทศด้วย จึงจำเป็นจะต้องเป็นการหารือกับประเทศไทยในการทำงานของ JBC ด้วยเช่นเดียวกัน
· แม้ผังแสดงพื้นที่กันชนจะขาดหายไป หรือในผังแสดงตำแหน่งบารายที่ให้ข้อมูลขอบเขตของพื้นกันชนชั่วคราวนี้ได้ จะไม่ได้แสดงเส้นเขตแดนระหว่างประเทศที่อาจจะเป็นประเด็นปัญหาให้ฝ่ายไทยคัดค้าน แต่ในเอกสารและผังที่แจกในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่บราซิเลีย ก็ได้แสดงเส้นและระบุว่าเป็นเขตแดนระหว่างประเทศตามที่กัมพูชายึดถือไว้ด้วยทางด้านทิศเหนืออย่างชัดเจน รวมทั้งผังแสดงพื้นที่โดยรวมในแผนการจัดการ หน้า ๕๔ และ ๖๓ ที่แสดงพื้นที่กันชนซึ่งเสนอให้ขยายเพิ่มเติมและพื้นที่ปกป้องภูมิทัศน์โดยรอบ ก็ได้ใช้เส้นเขตแดนระหว่างประเทศเป็นขอบเขตทางทิศเหนือที่จะต้องอยู่ในการดูแลของ JBC ด้วยทั้งสิ้น
· ขอบเขตพื้นที่กันชนชั่วคราวด้านทิศเหนือทางซ้ายของปราสาทใช้ขอบหน้าผาเป็นเขตลากมาเชื่อมกับตัวปราสาทให้คลุมพื้นที่เป้ยตาดีแบบไม่มีจุดอ้างอิง ในขณะที่ทางขวาของปราสาทเป็นพื้นที่กันชนทั้งหมดที่มีทางเดินโบราณช่องบันไดหักเป็นเขต ส่วนทางด้านอื่น ใช้เส้นถนนขึ้นเขาทางทิศตะวันตก ถนนทางทิศใต้ และถนนด้านทิศตะวันออกเป็นแนวขอบเขตพื้นที่ แสดงถึงการกำหนดพื้นที่เพื่อการจัดการที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงเห็นควรที่จะขยายพื้นที่ให้เป็นพื้นที่กันชนทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเฉพาะในฝั่งถนนหรือทางเดินข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีมาตรการในการควบคุมดูแลเพียงข้างเดียวในขณะที่ไม่มีการควบคุมในฝั่งตรงข้ามที่อยู่ต่อเนื่องกัน
· นอกจากพื้นที่กันชนยังมีการกำหนดเป็นพื้นที่ปกป้องภูมิทัศน์ที่ระบุว่าเป็นการปกป้องคุ้มครองในลำดับถัดมา ทั้งพื้นที่กันชนและพื้นที่ปกป้องภูมิทัศน์ได้ระบุให้ควบคุมการก่อสร้างให้มีน้อยและเพียงเท่าที่มีความจำเป็น ห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างหรือการพัฒนาขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่แสดงถึงมาตรการที่ใช้ในการควบคุมและความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสองประเภทนี้ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆที่แยกเป็นส่วนต่างๆตามผังก็ยังไม่มีรายละเอียดของการดำเนินการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ที่ชัดเจนแต่อย่างใด จึงถือได้ว่ายังเป็นแผนการจัดการที่ไม่สมบูรณ์
· ในแผนการจัดการกล่าวถึงการเข้าถึงแหล่งโดยทางทิศตะวันตกเป็นการพัฒนาทางขึ้นเขาผ่านมาทางหมู่บ้านโกมุยมาจนถึงที่วัดแก้วฯ สำหรับทางเข้าโดยรถยนต์ ในขณะที่ด้านบันไดตะวันออกที่ระบุว่าเป็นทางเข้าหลัก เป็นทางเดินเท้าจากจุดที่จะก่อสร้างศูนย์นักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเรื่องการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆในพื้นที่ ได้แก่ ห้องน้ำ และตลาดในบริเวณด้านหน้าบันไดใหญ่ (เรียกว่า old market ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่มาปลูกสร้างกันภายหลังเช่นเดียวกับวัดแก้วฯ ที่แผนนี้พยายามแสดงให้เห็นว่าชุมชนและสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้มีมานานแล้ว) การสร้างตลาดขึ้นมาใหม่ที่ด้านหน้าบันไดใหญ่ การสร้างบันไดไม้ขึ้นทางช่องบันไดหัก และถนนขึ้นเขาทางทิศตะวันตก ที่ทำให้การเข้าถึงปราสาทไม่ต้องผ่านบันไดใหญ่ ยังแสดงถึงการไม่ให้ความสำคัญกับบันไดใหญ่ ทางเข้าหลักในแนวแกนของปราสาท ทั้งๆที่เป็นองค์ประกอบที่มีคุณค่ามาก จึงถือว่าเป็นวางแผนการจัดการพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง

ประเด็นที่ ๒ แผนบริหารจัดการไม่ส่งเสริมให้มีคณะกรรมการประสานงานนานาชาติเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหาร {International Coordinating Committee (ICC)}

· ในหัวข้อ Proposed Management Mechanism ของแผนการจัดการได้กล่าวถึงการก่อตั้ง Preah Vihear Monitoring & Conservation Committee (PVMCC) ที่ ประกอบด้วยผู้แทนจากยูเนสโก ICOMOS ICCROM ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาระหว่างประเทศ Ad Hoc international experts group โดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามแผนการจัดการนี้ ซึ่งเหมือนกับภารกิจของ International Coordinating Committee (ICC) เพียงแต่ไม่มีการเชิญให้ประเทศไทยเข้ามีส่วนร่วมในการดูแลนี้ ทั้งนี้ยังได้ระบุว่าจะมีการจัดตั้ง ICC (ตามมติ) ขึ้นในอนาคต ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อมี PVMCC แล้วก็คงไม่มีความจำเป็น
· นาย Divay Gupta ผู้จัดทำแผนการจัดการนี้เป็นสถาปนิกด้านการอนุรักษ์และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการมรดกวัฒนธรรมจากประเทศอินเดีย ซึ่งยังเป็นนักวิชาการที่อิโคโมสสากลมอบหมายให้ทำหน้าที่ประเมินเอกสารนำเสนอเป็นมรดกโลก (nomination dossier) ของปราสาทพระวิหาร ที่ต่อมาได้มาร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในการจัดทำรายงานความก้าวหน้าเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกตั้งแต่ก่อนที่จะได้บรรจุในบัญชีมรดกโลก จากนั้นได้เข้าร่วมเป็น Ad Hoc international experts group ของ National Authority of Preah Vihear และได้เป็นส่วนหนึ่งของ PVMCC ด้วย ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลว่าในการประเมินข้อมูลของอิโคโมสในครั้งนี้จะยังเป็นหน้าที่ของนาย Gupta ซึ่งเป็นผู้จัดทำแผนนี้เองด้วยหรือไม่

ประเด็นที่ ๓ แผนบริหารจัดการยังคงแสดงให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องเขตแดน

· การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ระบุในแผนการจัดการ ไม่ว่าห้องน้ำ หรือ ตลาดในบริเวณด้านหน้าบันไดใหญ่ มีภาพประกอบที่แสดงว่าได้มีการดำเนินการไปแล้ว ที่ถือว่ารุกล้ำเขตพื้นที่ประเทศไทย ขัดต่อ MOU ๔๓ ทั้งที่ในแผนการจัดการระบุว่าพื้นที่ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่กันชน (ทางด้านเหนือและตะวันตกของปราสาท) จะต้องรอการตกลงกันของ JBC ดังนั้นการพัฒนา การก่อสร้างที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้จึงน่าจะต้องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมกันก่อนด้วย จึงเป็นประเด็นที่ประเทศไทยควรจะต้องประท้วงนอกเหนือจากเรื่องการพัฒนาถนนทางขึ้นเขาที่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวนี้
· ในแผนการจัดการนี้นอกจากจะกล่าวถึงกิจกรรมและข้อเสนอแนะต่างๆที่ระบุให้ดำเนินการในพื้นที่ของประเทศไทยที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังปรากฏเป็นหลักฐานในผังต่างๆ เช่น ในผังเส้นชั้นความสูงหน้า ๖ ผังแสดงการตีความคุณค่าของพื้นที่ หน้า ๒๕ ผังการแบ่งพื้นที่โดยรวม หน้า ๕๔ ผังแสดงการเข้าถึงพื้นที่ หน้า ๕๖ ผังที่ตั้งห้องน้ำและตลาด หน้า ๕๘ ผังแสดงตำแหน่งบาราย หน้า ๖๒ ผังแสดงพื้นที่ Eco Compatible Village หน้า ๖๓
· การดำเนินการกิจกรรมต่างๆตามแผนนี้ มีหลายกรณีที่มีข้อแนะนำให้ประกาศเป็นกฎหมาย ที่อาจเป็นประเด็นการบังคับใช้กฎหมายกัมพูชาในดินแดนไทยได้
[1] ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๓.
[2] Lajonquiere, E. L. Inventaire Descriptif des Monuments du Cambodge. Paris: Imprimarie Nationale, 1907. และ Aymonier, E. Le Cambodge, Tome II. Les Provinces Siamoises. Paris: Ernest Leroux, 1901.
[3] จิโต มาดแลน. ประวัติเมืองพระนครของขอม. แปลโดย สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖.
[4] ...พระเจ้าสูริยวรมันที่ ๑ กษัตริย์ผู้พิชิตจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา... จาก เซเดส์ ยอร์ช. เมืองพระนคร นครวัด นครธม. แปลโดย ปรานี วงษ์เทศ. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๓.
และ ชา อวม, ไผ เผง และโสม อิม. ประวัติศาสตร์กัมพูชา ตำราเรียนของเขมร. แปลโดย ศานติ ภักดีคำ. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖. หน้า ๒๖
[5] จาก กรมศิลปากร. สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายงานการสำรวจทางโบราณคดีจังหวัดศรีสะเกษ. ๒๕๔๗.
[6] ข้อมูลจากการเข้าร่วมประชุม The Consultative Meeting of International Expert Teams on the Inscription of Preah Vihear Temple as World Hertage Site. Siem Reap, 11 – 13 January 2008.
[7] ดูรายละเอียด ภาคผนวก ข้อโต้แย้งทางวิชาการในรายงานการประเมินของ ICOMOS กรณีกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลก จัดทำโดย กรมศิลปากร และอิโคโมสไทย
[8] เรื่องเดียวกัน
[9] ข้อมูลจากการร่วมสำรวจพื้นที่ตามคำเชิญของกัมพูชา เมื่อวันที่ ๓ – ๔ มกราคม ๒๕๕๑

บ้านป้ายิ่ง





บ้านป้ายิ่ง เป็นเรือนไทยที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี นายเชยและนางอ๋วนได้สร้างขึ้นโดยใช้ช่างชาวจีนซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น ปัจจุบันในละแวกเดียวกันกับบ้านป้ายิ่งมีบ้านลักษณะเดียวกันประมาณ ๑๕ หลัง ซึ่งรายละเอียดของบ้านแต่ละหลังจะแตกต่างกันไป ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ นายมุ่นเซ่ง จั่นบุญมี บุตรนายเชยและนางอ๋วน ได้รื้อบ้านริมน้ำมาปลูกเป็นเรือนครัวทางด้านทิศตะวันออกของเรือนใหญ่โดยมีทางเดินเชื่อมต่อกัน เนื่องจากบ้านปลูกอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีในเขตอำเภอบ้านแหลมที่อยู่ติดทะเล มีช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนเอ่อทำให้ระดับน้ำสูงท่วมเป็นประจำทุกปีตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ปัจจุบันพื้นที่ของบ้านมีการถมสูงขึ้นประกอบกับอายุของตัวบ้าน ทำให้บ้านเตี้ยลงจนเดินลอดเข้าไปใช้สอยบริเวณใต้ถุนบ้านไม่สะดวกได้ดังเดิม โดยปัญหาน้ำท่วมขังก็ยังคงอยู่ โคนเสาเรือนผุกร่อน เนื้อปูนของกระเบื้องหลังคาเสื่อมสภาพ รวมทั้งปั้นลมและฝาผนังไม้ส่วนใหญ่ได้เสื่อมสภาพไปมาก ในขณะที่นางบุญยิ่ง กิ่งแก้ว บุตรนายมุ่นเซ่ง จั่นบุญมี ผู้เป็นเจ้าของบ้านในปัจจุบันซึ่งมีอายุมากแล้วมีสุขภาพไม่แข็งแรงนักจึงจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมกว่า ดังนั้น พ.ศ. ๒๕๕๑ ลูกหลานของป้ายิ่งจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะได้ทำการบูรณะซ่อมแซมบ้านให้คงสภาพเดิมมากที่สุดเพื่อท่านได้กลับมาอาศัยอยู่ ณ บ้านอันเป็นที่รักของท่านอีกครั้งดังที่เห็นในปัจจุบัน

บ้านป้ายิ่งเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง ทรงสอบ หลังคาจั่วทรงจอมแห มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ประตูและหน้าต่างไม้ ใช้ประตูบานเฟี้ยม มีการประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลักที่มีความหมายมงคล การวางผังเรือนมีลักษณะปิดล้อมแบบสมมาตร โดยแนวแกนหลักของเรือนวางตั้งฉากกับแม่น้ำเพชรบุรี มีบันได ซุ้มประตูทางเข้า ชานแดด พาไล เรือนกลาง และเรือนใหญ่วางในตำแหน่งกลางแนวแกน มีเรือนเล็กเป็นเรือนบริวารทั้งด้านซ้ายและขวาของชานแดด ด้านทิศตะวันออกของพาไล เรือนกลาง และเรือนใหญ่มีส่วนที่ต่อเติมขึ้นภายหลังเป็นระเบียงที่มีหลังคาคลุมกว้าง ๒ เมตร ขนานไปกับผนังห้องทั้ง ๓ เป็นพื้นที่พักผ่อนของครอบครัวและมีทางเดินเชื่อมไปเรือนครัว เห็นได้ว่าลักษณะการวางผังเรือนบ้านป้ายิ่งนี้มีอัตลักษณ์แตกต่างจากการวางผังเรือนของคนไทยพื้นถิ่นทั่วไปที่นิยมวางตามตะวัน และมีลักษณะการวางผังที่สามารถเชื่อมโยงได้กับวัฒนธรรมการปลูกสร้างอย่างจีนภายใต้ลักษณะองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทย แสดงถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดโดยสถาปัตยกรรม อาคารหลังนี้จึงถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของเรือนไทยในรูปแบบพิเศษของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่พบในชุมชนลุ่มน้ำเพชรบุรี

การซ่อมแซมและการปรับปรุงบ้านป้ายิ่งได้มีการรื้อถอนส่วนต่อเติมที่ไม่สวยงามออก ซ่อมเปลี่ยนส่วนที่เสื่อมสภาพตามรูปแบบ วัสดุ และเทคนิคช่างแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์ มีการปรับดีดยกเรือนให้สูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยยังคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยในปัจจุบันด้วยการสร้างอาคารต่อเติมเป็นห้องน้ำและครัวในลักษณะที่มีความกลมกลืนกับอาคารโบราณ พร้อมด้วยเก็บรักษาระเบียงพักผ่อนที่มีความทรงจำของครอบครัวไว้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเจ้าของบ้านในการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์และคุณค่าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ทำให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปี พ.ศ.๒๕๕๔

แนะนำเมืองพระนคร

อาณาบริเวณที่ปกคลุมไปด้วยโบราณสถานของเขมรแผ่กระจายไปทั่วตั้งแต่อ่าวไทยไปจนถึงเวียงจันทน์ และจากไซ่ง่อนจนถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นับเป็นดินแดนที่ในปัจจุบันคือประเทศกัมพูชา พื้นที่ส่วนใหญ่ของอินโดจีน ตอนใต้ของประเทศลาว และทางตะวันออกของประเทศไทย ...ดินแดนที่มีซากโบราณสถานของเขมรประกอบไปด้วยส่วนหนึ่งคือที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และบริเวณที่ลุ่มของทะเลสาบหลวง และอีกส่วนคือ ที่ราบสูงโคราช ดังที่จะเห็นต่อไปว่าความพยายามที่จะรวมสองส่วนที่แตกต่างกันในทุกแง่ทุกมุมนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ได้ก่อให้เกิดหน่วยทางการเมืองที่ไม่เคยมีเสถียรภาพเลย ประวัติศาสตร์ทั้งหมดของกัมพูชาล้วนเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างประชาชนที่อยู่ในเขตที่สูงทางเหนือของเทือกเขาดงรัก กับพวกที่อยู่ในที่ราบต่ำทางตอนใต้

จาก เซเดส์ ยอร์ช. เมืองพระนคร นครวัด นครธม. แปลโดย ปรานี วงษ์เทศ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, 2543

ขอม หรือ เขมร


เรามักจะมีข้อถกเถียงกันเรื่อยมาถึงความถูกต้องของการใช้คำเรียกที่เป็นเรื่องของปราสาทหินและศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง ตามที่พบกันทั่วไปบ้างก็เรียกศิลปะขอม บางทีก็อารยธรรมเขมร จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ เพราะต่างฝ่ายก็ต่างยอมกันไม่ได้ แต่ที่สุดก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เพราะเป็นที่ตั้งของเมืองพระนคร (Angkor) ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งที่พบสิ่งก่อสร้างในวัฒนธรรมนี้อย่างหนาแน่นและมีความยิ่งใหญ่ที่สุด แต่เนื่องจากวัฒนธรรมนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเขตของประเทศกัมพูชาเท่านั้น ดังที่เราพบหลักฐานมากมายในประเทศไทย หรือแม้แต่ในทางตอนใต้ของประเทศลาวที่มีปราสาทวัดพู ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมนี้ก่อนจะมีการสร้างเมืองพระนครด้วยซ้ำ การที่เราเรียกประชาชนในประเทศกัมพูชาว่าเป็นคนเขมรจึงเกิดคำถามว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้สืบเชื้อสายและเป็นเจ้าของวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่นี้จนควรเรียกว่าอารยธรรมเขมรหรือไม่ สิ่งที่พบอยู่นอกเขตแดนของกัมพูชาจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมเขมรด้วยหรือไม่ ปราสาทหินเป็นของใคร ของไทย ลาว หรือเขมรกันแน่ ในเมื่อสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนมีการแบ่งเป็นประเทศต่างๆอย่างในปัจจุบัน


อดีตผู้บังคับบัญชาของผมท่านหนึ่งเคยยืนยันอย่างแข็งขันว่า ต้องเรียก อารยธรรมขอม เพราะเป็นเรื่องของคนในอดีตที่ไม่เกี่ยวข้องกับเขมรในปัจจุบัน เหมือนกับแนวคิดของอีกหลายๆท่านที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก “คลั่งชาติ” ที่รับไม่ได้กับการระบุว่าเป็นวัฒนธรรมเขมรที่มีความหมายว่าเป็นของกัมพูชา วัฒนธรรมนี้ย่อมเป็นของผู้คนในสถานที่ที่สิ่งก่อสร้างนั้นตั้งอยู่ ไม่ใช่การรับวัฒนธรรมมาในฐานะเมืองขึ้นด้วยถือว่ามีหลักฐานมาตั้งแต่ในยุคก่อนเมืองพระนครแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในสมัยที่ปรากฏชื่อในเอกสารจีนว่าฟูนัน หรือ เจินละ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับท่านหนึ่งถึงกับกล่าวตำหนิการใช้คำว่าศิลปะเขมร ว่าเหมือนเป็นการไปยกให้เป็นของกัมพูชาไป ถ้าเช่นนั้นจะให้เรียกว่าอะไรดี


จากการศึกษาจารึกโบราณได้พบว่าแต่เดิมชาวเขมรเรียกตนเองว่า กัมพุช ซึ่งคงเป็นต้นเค้าของคำว่ากัมพูชา ในขณะที่ตามเอกสารจีนจะเรียกว่าเจินละมาโดยตลอด ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้อธิบายเกี่ยวกับคำว่า เขมร ไว้ว่าในจารึกสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔ – ๑๗๖๐) ชาวเขมรได้เรียกตัวเองว่า เขมร เป็นครั้งแรก แต่ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันว่ามีการใช้เรียกมาก่อนการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยของพระองค์[1] ส่วนคำว่า ขอม นั้นไม่เคยพบในประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด จะมีก็แต่ในจารึก เอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งตำนานของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมาเท่านั้น โดยเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ใช้ภาษาเขมร รวมทั้งในบางที่ยังกล่าวถึงกรุงกัมพูชาธิบดีประกอบด้วย จึงตีความได้จากคำว่า ขอม ว่าหมายถึงเขมร นั่นเอง


ในทางภาษาศาสตร์เป็นไปได้ว่าคำว่า ขอม นั้นอาจจะกลายมาจากคำว่า กรอม ซึ่งอาจจะกร่อนมาจากคำว่า ขแมร์กรอม อีกที มีความหมายว่า เขมรต่ำ ในขณะที่พบว่ามีการเรียกดินแดนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่อยู่เหนือเทือกเขาพนมดงรักขึ้นมาว่า เขมรสูง การแบ่งเป็นเขมรต่ำและเขมรสูงนี้ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่พบว่ามีกลุ่มชนที่พูดภาษาเขมรทั้งในพื้นที่ของประเทศกัมพูชาที่เป็นที่ราบต่ำและในที่ราบสูงโคราช ลุ่มแม่น้ำมูลที่มีต้นน้ำจากดงพญาเย็นและพนมดงรัก ไหลไปบรรจบแม่น้ำโขง ที่เชื่อมต่อไปถึงปราสาทวัดพูในลาว ส่วนที่อยู่ที่ต่ำเรียก เขมรต่ำ ส่วนที่อยู่ในเขตบุรีรัมย์ สุรินทร์ หรือ ศรีสะเกษ ในปัจจุบันจึงได้แก่เขมรสูง ถ้าเป็นเช่นนั้นคำว่า ขอม จึงหมายถึงเฉพาะ เขมรต่ำ หรือ กัมพูชาในปัจจุบันเท่านั้น


ในขณะที่ยังมีคนไทยอีกไม่น้อยที่คิดว่า เมื่อปราสาทหินคือมรดกที่เป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมเขมร จึงไม่แปลกที่จะมีความผูกพันกับทางกัมพูชามากกว่าไทย ทำให้ไม่รักและหวงแหนเท่าที่ควร ด้วยไม่ตระหนักว่าชาวเขมร “นอกกัมพุชเทศะ” หรือดินแดนนอกประเทศกัมพูชา ดังที่จารึกของแคว้นศรีจนาศะได้เรียกดินแดนเหนือเทือเขาพนมดงรักไว้ ได้สืบเชื้อสายมาถึงชาวไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน ยังมีจารึกที่กล่าวถึงแคว้นมหิธรปุระ ณ ที่ราบสูงโคราช ว่าเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ ผู้สร้างปราสาทพิมาย พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทนครวัด มาจนถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผู้สร้างปราสาทบายนและนครธม เส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเมืองพระนคร ผ่านช่องเขาพนมดงรักที่ปราสาทตาเมือนธม ผ่านปราสาทพนมรุ้งและเมืองต่ำ มาจนถึงเมืองพิมาย จึงไม่ใช่เครื่องหมายของการตกอยู่ในอำนาจของกัมพูชาในฐานะเมืองขึ้นแต่เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในลักษณะเครือญาติก่อนยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแท้จริงแล้วก็ได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องไปไม่น้อย


ไม่ว่าจะเป็น ขอม หรือ เขมร จะนอกประเทศหรือในประเทศ อย่างไรก็มีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมของเรา ทั้งกับคนไทยที่สืบทอดวัฒนธรรมเขมรมาโดยตรง และคนไทยร่วมชาติผู้เป็นเจ้าของประเทศที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรมที่หล่อหลอมรวมกันอย่างกลมกลืนในวันนี้ และยังขยายไปสู่ความสำคัญที่เป็นความภาคภูมิใจร่วมกันในภูมิภาค หากว่าเราจะได้ยกปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน การแย่งชิงพื้นที่ซึ่งกันและกันออกไป


[1] สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทหินและทับหลัง. กรุงเทพฯ: บ.สตาร์ปริ้นท์ จำกัด, ๒๕๔๒.