วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บันทึกจากปารีส

เรื่องราวจาการเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๕ (The 35th Session of the World Heritage Committee) ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๙ มิ.ย. ๒๕๕๔ ณ ที่ทำการใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส



ความเดิม
ประเทศไทยเข้าร่วมในอนุสัญญามรดกโลกมาตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๐ ร่วมสนับสนุนการจัดทำบัญชีมรดกโลกจนทำให้เรามีแหล่งที่เป็นมรดกโลกแล้ว ๕ แหล่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ๓ แหล่ง มีแหล่งที่อยู่ในบัญชีชั่วคราวเตรียมขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีก ๒ แหล่ง ชาติภาคีสมาชิกจะผลัดกันมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกรวมทั้งการตัดสินนำแหล่งใหม่ๆเข้าสู่บัญชีมรดกโลก และพิจารณาเรื่องการปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกด้วย มีวาระ ๖ ปี (แต่ในทางปฏิบัติบังคับให้สมัครใจอยู่กันแค่ ๔ ปี – ความไม่ตรงไปตรงมาอย่างแรกที่เห็นได้) กรรมการประกอบด้วยสมาชิก ๒๑ ชาติ ประเทศไทยได้มาร่วมเป็นกรรมการแล้ว ๓ สมัย โดยในครั้งล่าสุดได้รับเลือกเข้าไปพร้อมกับกัมพูชาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ มี ดร.โสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากรในปัจจุบัน เป็นผู้แทนประเทศไทย ซึ่งยังเหลือเวลาในวาระอยู่จนถึงปี ๒๕๕๖
เรื่องเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเริ่มเป็นประเด็นปัญหาในเวทีมรดกโลก ระหว่างไทยและกัมพูชามาตั้งแต่การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๑ ในปี ๒๕๕๐ เมื่อกัมพูชาเสนอเขาพระวิหารเข้าสู่บัญชีมรดกโลก ที่มาประสบความสำเร็จได้เป็นมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๒ ในปีต่อมา แต่ก็มีการบ้านที่เขาต้องนำแผนที่ที่แสดงขอบเขตและพื้นที่กันชนอย่างชัดเจน และแผนบริหารจัดการมรดกโลกมาเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไปด้วย ชึ่งหากจะทำได้ก็ต้องมาจากการตกลงกับประเทศไทยก่อน และเมื่อไม่มีการเจรจาก็ส่งอะไรไม่ได้ การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๓ จึงให้เลื่อนการพิจารณาไปก่อน และเลื่อนต่ออีกครั้งในการประชุมครั้งที่ ๓๔ ที่ประเทศบราซิล ในปี ๒๕๕๓

ความเดิมจากตอนที่แล้ว
แม้ว่ากัมพูชาจะได้ส่งแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารแก่ศูนย์มรดกโลกเพื่อให้นำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๔ แต่ก็ไม่ได้มีการส่งให้กรรมการชาติใดได้ดูก่อนเลยนอกจากผู้เชี่ยวชาญของอิโคโมสที่ได้ทำรายงานผลการประเมิน ซึ่งมาจากพื้นฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนจากกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวอย่างที่เป็นมาตั้งแต่ต้น แต่จากความพยายามของผู้แทนไทยใน พร้อมด้วยความช่วยเหลือของประธานที่ประชุมชาวบราซิลในการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชา ทำให้ที่ประชุมไม่ได้พิจารณาเอกสารใดๆและมีมติกำหนดให้พิจารณาเอกสารที่กัมพูชาส่งมานั้นในการประชุมครั้งที่ ๓๕ ในปี ๒๕๕๔

การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๕
ยูเนสโก ปารีส ช่วงวันที่ ๑๙ – ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๔
แล้วความตึงเครียดก็วนกลับมาอีกครั้งเมื่อเราจะต้องมาลุ้นว่าจะมีการพิจารณาและรับรองแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการตีความให้เชื่อมโยงกับเรื่องของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่มีปัญหาระหว่างประเทศ ในบรรดาคณะผู้แทนประเทศไทยซึ่งมี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะ และประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานในกระทรวงต่างๆ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมี ดร.โสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร (และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมอิโคโมสไทย) ทำหน้าที่ในฐานะกรรมการมรดกโลก โดยรวมจึงมีภารกิจที่แบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ ประการแรกได้แก่การเจรจาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารโดยเฉพาะ และประการต่อมาคือการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหนึ่งในกรรมการมรดกโลก ๒๑ ชาติ
ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหารได้รับนโยบายมาจากนายกรัฐมนตรีว่าให้พยายามอย่างถึงที่สุดให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการออกไป พยายามให้มีการตกลงกันด้วยการเจรจา ๒ ฝ่ายนอกวาระมากกว่าการไปโหวตกันในที่ประชุมใหญ่ ให้ยอมได้บ้างในเรื่องที่ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตย แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็คงต้องประกาศออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกดังที่เคยได้ขอมติคณะรัฐมนตรีไว้ตั้งแต่ช่วงการประชุมครั้งที่แล้ว จึงเป็นภาระของหัวหน้าคณะและคณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ สืบเนื่องจากการเจรจาทวิภาคีซึ่งยูเนสโกได้จัดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ แต่ละฝ่ายจึงได้ร่างมติในแบบที่ตนต้องการมานำเสนอในการประชุมครั้งนี้ โดยทางกัมพูชาได้ชูประเด็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ปราสาทพระวิหารจากการยิงด้วยอาวุธหนักของกองกำลังฝ่ายไทย ที่ทั้งเป็นการประณามกล่าวโทษไทยว่าเป็นผู้ทำลายมรดกโลก และยังเป็นการเรียกร้องให้มีคณะทำงานพิเศษเข้าไปตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยการบูรณะโบราณสถานอย่างเร่งด่วนโดยเงินช่วยเหลือจากกองทุนมรดกโลก ทั้งนี้ไม่ได้กล่าวถึงแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด ร่างมติเช่นนี้ประเทศไทยย่อมไม่สามารถยอมรับได้
ระหว่างการเจรจาที่ประธานของศูนย์ ICCROM ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานในเรื่องนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนร่างของแต่ละฝ่ายให้อีกฝ่ายพิจารณา เมื่อปรากฏว่าไม่สามารถยินยอมตกลงกันได้ จึงทำให้ต้องกลับมานำร่างเดิมที่ทางยูเนสโกได้เสนอไว้มาเป็นตัวตั้งต้นอีกครั้ง โดยยินดีที่จะตัดคำที่อาจทำให้ฝ่ายไทยไม่สบายใจออกไป เช่น potential future damages, urgent repair ออก แต่ก็ยังเหลือคำว่า restoration ที่ฝ่ายไทยเกรงว่าจะนำไปสู่การเริ่มต้นของแผนบริหารจัดการ อีกทั้งโครงการบูรณะที่จะเกิดขึ้นย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับพื้นที่โดยรอบปราสาทซึ่งจะเกิดปัญหากับประเทศไทยอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีการกล่าวถึง sustainable community development ซึ่งเป็นเรื่องของพื้นที่นอกเขตมรดกโลกที่จะเป็นประเด็นปัญหา ทั้งนี้เพื่อยืนยันความไม่เร่งด่วนในการบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิสซึ่งเป็นเทคนิคการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหิน จึงได้นำภาพถ่ายเก่าของปราสาทพระวิหารจากหนังสือซึ่งจัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร เมื่อปี ๒๕๐๓ มาแสดงให้เห็นว่าการเสื่อมสภาพ ทรุดเอียง แตกร้าวต่างๆของปราสาทในปัจจุบัน ที่นักวิชาการของยูเนสโกเห็นว่าต้องรีบซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนนั้น เป็นเช่นนี้มากว่า ๕๐ ปีแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยความเป็นยูเนสโกจึงต้องย้ำอยู่เสมอถึงการปกป้องและอนุรักษ์
ในขณะเดียวกันการทำงานในบทบาทของคณะกรรมการมรดกโลกก็ได้ดำเนินไปในห้องประชุมใหญ่ตามระเบียบวาระต่างๆ วาระที่สำคัญได้แก่ วาระ 7A สถานภาพการอนุรักษ์ของมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย วาระ 7B สถานภาพการอนุรักษ์ของมรดกโลก ซึ่งเรื่องพระวิหารเป็นหนึ่งในวาระนี้ เนื่องจากยังต้องการเวลาที่จะต้องตกลงกันจึงให้ข้ามเฉพาะเรื่องนี้ไปก่อน ในขณะที่ได้มีการรับรองมติเรื่องของมรดกโลกเขาใหญ่-ดงพญาเย็นโดยไม่ได้มีการชี้แจงให้ความเห็นใดๆ วาระ 8A บัญชีชั่วคราวการเตรียมขึ้นเป็นมรดกโลก ที่ประชุมได้รับรองแหล่งมรดกใหม่ๆที่นำเสนอเข้ามาอยู่ในบัญชีนี้ รวมทั้งแหล่งใหม่ล่าสุดของประเทศไทย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และวาระ 8B การนำเสนอเข้าสู่บัญชีมรดกโลก ที่เริ่มต้นจากแหล่งทางธรรมชาติ แหล่งผสม และแหล่งทางวัฒนธรรม โดยเรียงลำดับแหล่งที่เข้าสู่การพิจารณาด้วยที่ตั้งของประเทศเรียงตามภูมิภาค
การดำเนินการประชุมในวาระต่างๆ จะเริ่มต้นด้วยข้อมูลเบื้องต้นกล่าวนำโดยศูนย์มรดกโลก ตามด้วยรายงานขององค์กรที่ปรึกษา (อิโคโมสจะเป็นผู้รายงานสำหรับแหล่งทางวัฒนธรรม) จากนั้นจะเป็นการซักถามหรือแสดงความคิดเห็นของกรรมการมรดกโลก ๒๑ ชาติ ซึ่งบรรยากาศโดยรวมในทางปฏิบัติโดยส่วนใหญ่ แม้การประเมินสถานภาพและข้อเสนอขององค์กรที่ปรึกษาจะออกมาไม่ดีนัก แต่ด้วยการร้องขอมายังกรรมการชาติต่างๆให้ช่วยเหลือ ก็มักจะผลักดันช่วยเหลือกันไปจนได้ ขอให้ได้เข้าสู่บัญชีมรดกโลกเอาไว้ก่อน ปัญหาต่างๆที่ต้องแก้ไข หรือยังต้องปรับปรุง ก็ทิ้งท้ายไว้ให้เป็นคำแนะนำ หรือสิ่งที่จะต้องนำกลับมารายงานความก้าวหน้าในการประชุมครั้งต่อไป หรือถ้าช่วยเหลือไม่สำเร็จก็อาจผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นได้ชัดถึงปัญหาร่วมที่เกิดขึ้นกับแหล่งมรดกโลกต่างๆว่า เป็นเรื่องของความพร้อมในการปกป้องและอนุรักษ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอบเขตที่ไม่ชัดเจนหรือไม่เหมาะสมของแหล่งและพื้นที่กันชน หรือเรื่องแผนการบริหารจัดการ (ไม่ใช่เฉพาะในกรณีของปราสาทพระวิหาร) ช่วงท้ายของแต่ละเรื่องก็จะเป็นการพิจารณาร่างมติ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อมีการยื่นขอแก้ไขก่อนล่วงหน้าเท่านั้น

๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ ช่วงเย็น
กลับมาทางคณะเจรจาเรื่องพระวิหารที่มาถึงจุดนี้ ก็ยังไม่ได้ร่างมติที่เห็นพ้องต้องกัน แม้ว่าจะได้ตัดถ้อยคำต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ของแต่ละฝ่ายออกไปมากแล้ว ทางฝ่ายกัมพูชาเสนอให้มีการพิจารณาความคืบหน้าของการปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์ในการประชุมครั้งหน้า โดยข้ามไม่กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการแต่อย่างใด ในขณะที่ไทยต้องการคงไว้ว่า จะมีการพิจารณาเอกสารที่เตรียมสำหรับการประชุมครั้งที่ ๓๔ (หมายถึงแผนบริหารจัดการนั้น) ในการประชุมครั้งหน้า
เมื่อตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายเลขาของที่ประชุมจึงได้แจกร่างมติที่มีข้อเสนอทั้งของกัมพูชาและของไทยในที่ประชุมเพื่อเข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระพิเศษทั้งที่ทราบถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยอาจจะลาออกจากภาคีอนุสัญญา โดยที่ทางคณะผู้แทนไทยยังไม่พร้อมเนื่องจากยังต้องรอผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกทางโทรศัพท์ ซึ่งได้นัดหมายไว้ในอีกชั่วโมงข้างหน้า จึงขอที่ประชุมให้เลื่อนวาระนี้ออกไปอีก ตามกฎของที่ประชุมเราต้องการกรรมการชาติอื่นช่วยสนับสนุนข้อเสนออย่างน้อย ๑ ชาติ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครสนับสนุน คำขอของไทยจึงตกไป ประธานจึงได้ดำเนินการต่อโดยให้พิจารณาร่างมติไปทีละข้อ ด้วยสถานการณ์ที่บีบคั้นเช่นนี้จึงทำให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยตัดสินใจประกาศลาออกจากอนุสัญญามรดกโลก และเดินนำคณะผู้แทนไทยทั้งหมดออกจากห้องประชุม
…..
เมื่อไทยออกไปจากห้องประชุมแล้วการพิจารณาร่างมติก็ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อมาถึงในข้อที่มีความเห็นเป็นสองแบบ ข้อหนึ่งของไทย ข้อหนึ่งของกัมพูชา ประธานได้ถามความเห็นที่ประชุมว่าจะเลือกแบบใด แต่ก็ไม่มีใครแสดงความคิดเห็น ประธานจึงเสนอให้ตัดออกไปทั้งหมด สรุปว่าในการประชุมครั้งหน้าก็จะไม่มีการพิจารณาสถานภาพการอนุรักษ์ของปราสาทพระวิหารอีกต่อไป ไม่ต้องรายงานทั้งความคืบหน้าในการอนุรักษ์หรือนำแผนการจัดการมาให้ที่ประชุมรับรอง

การดูงานด้านมรดกวัฒนธรรมหลังออกจากที่ประชุมมรดกโลก
๒๖ – ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ (ด้วยสิทธิ์ของสมาชิกอิโคโมส)
สมาชิกอิโคโมสสามารถใช้สิทธิ์ในการยกเว้นค่าเข้าชมโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของรัฐ หรือที่ได้มีข้อตกลงกันไว้ได้ในทุกประเทศสมาชิก เมื่อไม่มีภารกิจในที่ประชุมอีกต่อไป จึงขอใช้เวลาที่เหลือในปารีสเก็บเกี่ยวข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงานที่เมืองไทยด้วยสิทธิประโยชน์จากสมาชิกภาพนี้ ๓ วัน ๔ พิพิธภัณฑ์
Musee Guimet พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งชาติ
แม้จะต้องออกจากที่ประชุมด้วยเรื่องปราสาทพระวิหาร แต่ด้วยยังมีความชื่นชอบในศิลปะเขมรอยู่เลยได้มาใช้สิทธิ์สมาชิกอิโคโมสที่พิพิธภัณฑ์นี้เป็นแห่งแรก ใครที่มาต่างก็ต้องประหลาดใจว่าทำไมฝรั่งเศสถึงได้ไปยกโบราณวัตถุและชิ้นส่วนปราสาทของกัมพูชา ขนาดมหึมามาจัดแสดงไว้ได้มากมาย เช่น หน้าบันของปราสาทบันทายสรีที่ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมด้วยทับหลังที่ไล่เรียงตามยุคสมัยต่างๆได้อย่างครบถ้วน นอกจากห้องศิลปะเขมรยังได้ชมในส่วนที่สนใจเป็นพิเศษ เช่น ศิลปะจามปา ในเวียตนาม คันธาระ ในปากีสถานและอัฟกานิสถาน ส่วนห้องศิลปะไทยนั้นขนาดไม่ใหญ่โตนักแต่ก็มีพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามหลายองค์
Musee du Louvre พิพิธภัณฑ์ลูฟร์
คงเป็นไปไม่ได้ที่จะชมพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ให้ครบถ้วนทั้งหมดภายในวันเดียว ขนาดว่ามีโอกาสได้มาเข้าชมถึงสองวัน ผมก็ยังต้องเลือกดูในส่วนที่มีความจำเป็นกับการทำงานในช่วงนี้เท่านั้น ถือว่าบัตรอิโคโมสมีประโยชน์มากสำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวในหน้าร้อนอย่างนี้ นอกจากจะไม่ต้องเสียค่าเข้าชมแล้วยังไม่ต้องต่อแถวกลางแดดร้อน ๓๘°c รอเข้าปิระมิดแก้วทางเข้าพิพิธภัณฑ์อีกด้วย เมื่อเข้ามาด้านในที่ดูบรรยากาศของผู้คนที่พลุกพล่านขนาดนี้น่าจะเป็นศูนย์การค้ามากกว่าผมเลยมุ่งไปที่เป้าหมายแรกก่อน ได้แก่การจัดแสดงกำแพงเมือง กำแพงป้อม ของอาคารพระราชวังลูฟร์หลังแรก ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ในยุคกลาง เป็นสิ่งที่ได้ค้นพบใต้อาคารระหว่างการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ครั้งใหญ่โดยสถาปนิก I. Ming Pei เจ้าของความคิดปิระมิดแก้วและปิระมิดกลับหัวที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง ในวันต่อมาผมได้เน้นเก็บข้อมูลเรื่องการสื่อความหมายจากโบราณวัตถุที่เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ ห้องเมโสโปเตเมีย องค์ประกอบจากพระราชวังของอัสซีเรีย ในอิรัค ห้องเปอร์เซีย องค์ประกอบจากพระราชวังดาริอุส ในอิหร่าน และห้องกรีก องค์ประกอบจากพาร์เธนอนแห่งเอเธนส์ สรุปว่าไม่มีเวลาไปทักทาย “โมนาลิซา” เลย
Musee d’Orsay พิพิธภัณฑ์ศิลปะในศตวรรษที่ ๑๙ และต้นศตวรรษที่ ๒๐
จากอดีตของสถานีรถไฟที่กำลังจะถูกรื้อ ที่ได้มีการออกแบบปรับปรุงมาเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุดพิพิธภัณฑ์หนึ่งในปัจจุบันโดยพิจารณาจากปริมาณผู้เข้าชม เป้าหมายที่โดดเด่นที่สุดอยู่ที่ภาพเขียนในแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ ไม่ว่าจะเป็น โมเนท์ มาเน่ท์ เรอนัวร์ หรือ แวน โกก์ ทำให้ในวันนี้แม้จะถือบัตรอิโคโมส ก็ยังต้องต่อคิวรอเดินเข้าอาคารเป็นชั่วโมงอยู่เหมือนกัน ขนาดว่าเป็นทางเข้าเฉพาะสำหรับผู้ที่มีตั๋วแล้วหรือได้รับการยกเว้นค่าเข้าชมในกรณีต่างๆ แล้ว เมื่อเข้าไปชมงานศิลปะภายในแล้วยิ่งแล้วใหญ่ ด้วยปริมาณผู้เข้าชมที่มากจนเกินไปได้ทำให้ความเพลิดเพลินในการชื่นชมงานศิลป์หายไปอย่างน่าเสียดาย แต่สำหรับที่นี่แค่ได้สัมผัส space และการตกแต่งด้วยเหล็กหล่อของสถานีรถไปเดิมก็คุ้มแล้ว
Musee du quai Branly พิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นถิ่นอัฟริกา เอเซีย หมู่เกาะ และอเมริกา ใหม่ล่าสุดตีนหอไอเฟล
ที่นี่เปิดมาได้เป็นปีที่ ๕ เท่านั้น จึงถือเป็นความทันสมัยแปลกใหม่ที่สุดที่เราได้มาชมกันในครั้งนี้ เดินผ่านหอไอเฟลมาเล็กน้อยก็จะพบกับผนังสวนแนวดิ่งขนาดใหญ่ เป็นจุดเริ่มของอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ต่อกับผนังกระจกใสขนาดยักษ์ที่มองทะลุเข้าไปเห็นป่าไม้และพงหญ้ารกด้านในที่เป็นส่วนด้านหน้านำไปสู่ทางเข้าชมนิทรรศการที่ต้องลอดใต้ช่วงกลางของอาคาร ทะลุออกไปอ้อมเข้าอาคารทางด้านหลัง เมื่อเข้าสู่ภายในก็เดินต่อขึ้นไปตามทางลาดที่เลื้อยเป็นงู เข้าไปสู่โถงนิทรรศการที่แยกออกเป็นส่วนๆ ตามภูมิภาค ด้วยผนังเตี้ยที่มีลักษณะคล้ายกับกำแพงดิน เป็นนิทรรศการที่สวยงาม น่าสนใจด้วยวัตถุที่นำมาจัดแสดง ด้วยการออกแบบนิทรรศการที่ทันสมัย และยังเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ชนะการประกวดแบบ ผลงานของ Jean Nouvel สถาปนิกที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสในปัจจุบันอีกด้วย รายการนี้ประหยัดไปอีก ๑๐ ยูโร

แม้ว่าประเทศไทยจะได้ประกาศที่จะออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกในที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๕ ไปแล้ว แต่ตามขั้นตอนยังจะต้องมีจดหมายอย่างเป็นทางการจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก่อน และนับจากวันที่ทางยูเนสโกได้รับจดหมายไปอีกหนึ่งปีจึงจะถือว่าเป็นการออกจากภาคีอนุสัญญาโดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงยังต้องถือว่าประเทศไทยยังไม่ได้ออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก และยังคงเดินหน้าปฏิบัติภารกิจในฐานะกรรมการมรดกโลกต่อไป สำหรับการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๖ ในปี ๒๕๕๕ ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างก็เคยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนั้น ในที่สุดคณะกรรมการก็สนับสนุนให้รัสเซียได้เป็นสถานที่จัดการประชุม

ไม่มีความคิดเห็น: