วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ประเทศไทยในกรรมการมรดกโลกกับฉากต่อไปที่พระวิหาร

ก่อนอื่นคงต้องขอแสดงความยินดีกับพ่อแม่พี่น้องชาวไทย ที่ ดร.โสมสุดา ลียะวณิช รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนจากประเทศไทยของเราได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลก ๒๑ ชาติ ในการเลือกตั้งคณะกรรมการมรดกโลกที่ว่างลงตามวาระ ๑๒ ตำแหน่ง ในโอกาสของการประชุมที่องค์การยูเนสโก ปารีส ที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่อาจจะกล่าวได้ว่าเหนือความคาดหมาย เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ยังตึงเครียดอยู่จากกรณีของปราสาทพระวิหาร ที่คณะกรรมการมรดกโลกชุดก่อนได้มีมติให้บรรจุในบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรมไปเรียบร้อยแล้วในฐานะมรดกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ตั้งแต่การประชุมที่เมืองควิเบค แคนาดาเมื่อปีที่แล้ว โดยไม่สนใจข้อมูลและข้อโต้แย้งของคณะผู้แทนไทยซึ่งขณะนั้นเข้าประชุมด้วยฐานะที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ อีกทั้งในส่วนของอิโคโมสสากลซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประเมินเอกสารที่นำเสนอว่าแหล่งนั้นๆมีคุณค่าและมาตรการในการปกป้องคุ้มครองครบถ้วนสมควรที่จะนำเข้าวาระให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาตัดสินให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือไม่ ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับรายงานข้อโต้แย้งการประเมินและแผนการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารในเขตประเทศไทยที่จัดทำโดยอิโคโมสไทย ทั้งที่มีถูกต้องตามหลักวิชาการและข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบี้ยวเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

จนมาถึงการประชุมที่เมืองเซวีย่า สเปนในปีนี้ ซึ่งตามวาระกัมพูชาจะต้องรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตพื้นที่กันชน และ พื้นที่การจัดการร่วม ตามที่ให้สัญลักษณ์ไว้ว่า N2 และ N3 แต่ยังไม่มีขอบเขต (เพราะต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะล่วงล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ของไทยแม้ว่ากัมพูชาจะยืนยันว่าไม่เคยยอมรับเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อน) และเรื่องการจัดตั้ง ICC คณะกรรมการร่วมนานาชาติที่จะมาช่วยกันดูแลมรดกโลกพระวิหารนี้ ที่ขอให้เชิญไทยเข้าร่วมด้วย ในเมื่อยังไม่มีการเจรจาใดๆกับประเทศไทยในเรื่องนี้เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับทั้งฝ่ายไทย กัมพูชา และเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานเอง แต่กลับใช้เกมการเมืองในรูปแบบต่างๆ ก่อให้เกิดความตึงเครียด การเผชิญหน้า จนถึงการปะทะกันทั้งระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา และในส่วนคนไทยด้วยกันเอง จึงไม่มีอะไรไปรายงานแบบเปิดเผย (เมื่อเรายังไม่ได้เป็นกรรมการมรดกโลกก็ไม่รู้ว่ากัมพูชาไปรายงานว่าอย่างไร) แต่ก็ได้รับการผ่อนผันให้เป็นกรณีพิเศษอย่างเคย ในกรณีของแผนบริหารจัดการของปราสาทพระวิหารที่จะต้องส่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็อาจจะเช่นเคย คือได้รับการผ่อนผัน เมื่อยังเจรจากับไทยไม่ได้และไม่สามารถเปิดเผยแผนบริหารจัดการที่มีปัญหาอย่างเป็นทางการ

ตั้งแต่ได้ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งกรรมการมรดกโลก โดยที่มีผู้แทนของกัมพูชาเข้าเสนอตัวด้วย จากประสบการณ์ที่ผมได้รับเกี่ยวกับเรื่องขององค์กรระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมานี้ ทำให้คาดได้ว่าเขานอนมาแน่ และเมื่อได้เข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมการผู้พิจารณาเรื่องราวของมรดกโลกที่รวมถึงพระวิหารที่ยังค้างคาอยู่ด้วยนี้ ก็ชัดเจนว่าความเอนเอียงในประชาคมโลกที่มีอยู่แล้ว ก็คงจะไม่มีอะไรยับยั้งได้อีกต่อไป และคงมีผลโดยตรงกับสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กว่าเราจะตัดสินใจได้ว่าจะส่งใครลงสนามแข่งขัน เขาก็ได้หาเสียงล่วงหน้าเราไปนานแล้ว ผมเห็นด้วยกับท่านธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ที่กล่าวไว้ในวันแถลงข่าวว่า “ดีใจมากๆที่ได้ทั้งสองประเทศ” ท่านยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า ความจริงเสียงส่วนใหญ่เขาเห็นว่าไม่อยากจะให้เป็นกรรมการทั้งสองประเทศ เพราะไม่ต้องการเติมความขัดแย้งให้มากขึ้น (หากได้เพียงคนใดคนหนึ่ง) แต่ในที่สุดแนวคิดที่ว่า ปัญหาทั้งหลายแท้จริงก็เกิดจากคณะกรรมการมรดกโลกนี้ จึงน่าจะได้แก้ไขด้วยการที่ทั้งไทยและกัมพูชามาตกลงกันภายในคณะกรรมการมรดกโลก อาจเป็นแรงผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายได้รับเลือกทั้งคู่ หลายคนอาจกังวลใจและน้อยใจที่เราได้คะแนนน้อยกว่ากัมพูชา ๑ คะแนน แต่ถ้านึกถึงเวลาที่เราใช้ในการหาเสียงแล้วได้รับเลือกด้วยคะแนนที่สูงพอที่จะเป็นกรรมการมรดกโลกตั้งแต่รอบแรก (หากได้เสียงสนับสนุนไม่ถึงครึ่งจะต้องเลือกใหม่เป็นรอบสอง) เป็นถึงที่ ๓ จาก ๑๐ ตำแหน่งที่ต้องการเช่นนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นความสามารถของทีมงานอย่างแท้จริง และเมื่อได้เป็นกรรมการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสวิสที่ได้คะแนนมากที่สุดหรือ เอมิเรตส์ที่เข้ามาแบบไม่มีคู่แข่ง เพราะเสนอตัวในฐานะประเทศที่ยังไม่มีแหล่งมรดกโลกเลยเพียงชาติเดียว ไม่ต้องมีคะแนน ทุกชาติต่างก็มีหนึ่งเสียงเท่ากัน

นอกจากหนึ่งเสียงที่จะช่วยในการผลักดันให้มรดกที่มีคุณค่าของไทยได้รับการเชิดชูในฐานะมรดกโลกให้มากขึ้น และสนับสนุนให้สองแหล่งที่อยู่ใน Tentative list ของเราได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกต่อไปแล้ว เราจะสามารถคาดหวังอะไรได้บ้างจากผู้แทนประเทศไทยของเราท่านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปราสาทพระวิหาร ที่เราได้เคยโต้แย้งทั้งในเรื่องความถูกต้องทางวิชาการ และ การบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์อย่างเหมาะสมของปราสาทที่มีปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง จากนี้ไปถือว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลกที่มีหน้าที่ในการพิจารณากำหนดแนวทางในการปกป้องคุ้มครองมรดกโลกทั้งทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา ตรงกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยสำหรับมรดกโลกที่ ดร.โสมสุดาประกาศเป็นเจตนารมย์ในเอกสารที่ใช้ในการหาเสียง ตั้งแต่ข้อแรกที่ว่า

“ประเทศไทยตระหนักถึงวัตถุประสงค์หลักของการจัดทำบัญชีมรดกโลกเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกและคุณค่าที่เป็นสากล อันเป็นประโยชน์โดยรวมของประชาคมโลก ไม่ใช่การประกวดเพื่อชื่อเสียง และกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว แต่ต้องเน้นการรักษาคุณภาพของข้อมูลทางวิชาการ และมาตรการในการดูแลรักษา ...กล่าวคือจะต้องมุ่งรักษาผลประโยชน์ของมรดกเพื่อการใช้สอยอย่างยั่งยืน(Sustainable Use)มากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง” ประการต่อมาคือ “ความเป็นธรรมและเสมอภาค สนับสนุนให้มีแหล่งมรดกโลกอย่างครบถ้วนและทั่วถึงเพื่อเป็นตัวแทนของทุกอารยธรรมในโลก ไม่จำกัดเฉพาะแต่มรดกสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่โต แต่ให้ครอบคลุมถึงตัวแทนของความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางจิตใจ และความผูกพันของกลุ่มวัฒนธรรม” และประการสุดท้ายได้แก่ “ความปรารถนาในความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างชาติต่างๆ และสันติภาพในโลกจากการประสานงานร่วมมือในระหว่างเครือข่ายของประเทศภาคีสมาชิกที่มีลักษณะของมรดกร่วมกัน...”

ความคาดหวังทั้งหมดจึงมาอยู่ที่ผู้แทนของเรา ที่ถือเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับเกียรตินี้หลังจากที่ ศ. ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ได้เคยฝากฝีมือไว้จนเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลกมาแล้ว เมื่อโอกาสมาถึง ให้ประเทศไทยได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่อีกครั้งเช่นนี้ นอกเหนือจากความรู้ความสามารถทางวิชาการด้านโบราณคดีที่ได้ร่ำเรียนมาของ ดร.โสมสุดา ในด้านการบริหารเมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการอิโคโมสไทย ตั้งแต่ยังเป็นองค์กรที่ไม่มีกิจกรรมใดๆเพื่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ท่านได้มองการณ์ไกลว่าควรจะต้องมีการพัฒนาองค์กรเอกชนนี้ขึ้นมาเพื่อสานต่องานที่กรมศิลปากรดูแลอยู่ ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน จึงได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งสำนักงานของอิโคโมสไทย จัดจ้างเจ้าหน้าที่ประจำขึ้น พร้อมการสร้างเครือข่ายดังที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยบุคลิกลักษณะ ความรู้และความสามารถในการบริหารของท่าน น่าจะเหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งเช่นนี้ ด้วยการวางตัวอย่างเหมาะสม ยึดมั่นในหลักการทางวิชาการ พยายามผลักดันการเมืองที่เข้ามาแทรกแซงให้ออกไป ร่วมตรวจสอบการบ้านที่กัมพูชาทำมาส่งด้วยเหตุและผลอย่างตรงไปตรงมา นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเป็นธรรมให้ที่ประชุมรับทราบ ไม่ได้มุ่งจะเอาแต่ผลประโยชน์ของไทยแต่เพียงอย่างเดียว จากการวางตัวให้เป็นที่เคารพนับถือของท่านในระดับสากล ก็หวังว่าในภาคส่วนอื่นของเราจะได้เข้าใจและมาช่วยกันสนับสนุนโดยธรรมาภิบาล เพื่อการประกาศคุณค่าและปกป้องคุ้มครองมรดกของโลกร่วมกันอย่างแท้จริง และผลประโยชน์ก็จะตามมาพร้อมด้วยมิตรภาพของคนทั้งสองแผ่นดินอย่างยั่งยืนตลอดไป

วิสัยทัศน์ของประเทศไทยเกี่ยวกับมรดกโลก Thailand’s Vision on World Heritage


จากเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการมรดกโลก ของ ดร.โสมสุดา ลียะวณิช
Dr. Somsuda Leyavanija Thailand's Candidacy for the election of World Heritage Committee

1. ประเทศไทยตระหนักถึงวัตถุประสงค์หลักของ “Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage” ที่จัดทำบัญชีมรดกโลกขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองตัวมรดกและคุณค่าที่เป็นสากลทั้งทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ อันเป็นประโยชน์โดยรวมของประชาคมโลก ไม่ใช่การประกวดชิงตำแหน่งเพื่อชื่อเสียง และกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว จึงขอเน้นย้ำความจำเป็นของการกำหนดให้มีแผนการจัดการ มาตรการในการปกป้องคุ้มครองแหล่งมรดก การเตรียมความพร้อมสำหรับความเสี่ยง ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นประเด็นสำคัญ รวมทั้งการรักษาคุณภาพของข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนคุณค่า(OUV) ความเป็นของแท้(Authenticity) และบูรณภาพ(Integrity)ของมรดก กล่าวคือจะต้องมุ่งรักษาผลประโยชน์ของมรดกเพื่อการใช้สอยอย่างยั่งยืน(Sustainable Use)มากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง

2. ประเทศไทยได้เล็งเห็นว่ายังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่มีแหล่งมรดกโลกแม้แต่แห่งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จะสามารถเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆในการส่งผ่านต่อไปยังรุ่นต่อไปได้ ขณะที่ในหลายประเทศกลับมีมรดกโลกแล้วเป็นจำนวนมาก เพื่อความเป็นธรรมและเสมอภาคจึงขอสนับสนุนให้มีแหล่งมรดกโลกอย่างครบถ้วนและทั่วถึงเพื่อเป็นตัวแทนของทุกอารยธรรมในโลก ไม่จำกัดเฉพาะแต่มรดกสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่โต อันถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทางกายภาพที่จับต้องได้ แต่ให้ครอบคลุมถึงตัวแทนของความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางจิตใจ และความผูกพันของกลุ่มวัฒนธรรม โดยคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Value) นี้ถือได้ว่าคือความหมายที่แท้จริงของมรดก ในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณและองค์ความรู้ในการศึกษาเพื่อจัดทำเอกสารนำเสนอ น่าจะมีการตั้งกองทุนพิเศษเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะในลักษณะการจัดการที่สมดุล (Balanced Management)

3. ประเทศไทยปรารถนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างชาติต่างๆ และสันติภาพในโลก โดยอาจเกิดขึ้นได้จากการประสานงานร่วมมือในระหว่างเครือข่ายของประเทศภาคีสมาชิกที่มีลักษณะของมรดกร่วมกัน ประกอบด้วย วัฒนธรรม/ศิลปกรรม ประเภท วัสดุ เทคนิค ลักษณะของที่ตั้ง ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ หรือสภาพปัญหา ความเสี่ยงร่วม ขอสนับสนุนการรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิดเห็น เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการอนุรักษ์และบริหารจัดการมรดกโลกของแต่ละกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งน่าจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับกรอบการทำงานตามโครงการ Global Strategy โดยประเทศไทยมีความพร้อมสามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการปรึกษาหารือทั้งในด้านงบประมาณและเทคนิค


1. Thailand has perceived the core objective of the “Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage” that the listing of World Heritage Sites has been employed as a tool for protection of the heritage and their universal values, both on cultural and natural aspects, for the benefits of the world on the whole, not aiming on competition for fame and economic benefits from tourism. Therefore, the necessity of having management plan, protective measures for the heritage sites, risk preparedness, and participation by all involving parties are important issues to be emphasized. Apart from these, reliability and accuracy of scientific data and information which enhances the outstanding universal value, authenticity and integrity of the heritage must also be taken into account. In conclusion, the goal is to preserve the benefits of the heritage for sustainable use rather than economic and political benefits.

2. Thailand has observed that there are still many countries that have not had any World Heritage Site listed, especially in the case of Cultural World Heritage Sites which are representatives of the country’s culture that can be handed down to future generations, whereas there are several countries that have already had a large number of World Heritage Sites. Therefore, for fairness and equality, we support an inclusive listing of World Heritage Sites that represents all civilizations of the world, not to be limited only to large edifices that are rich in physical, tangible values, but also to include those which are representatives of historical continuity, spiritual values and inter-cultural relationships. These intangible values should be considered the true meaning of the heritage. On the aspects of budget and knowledge base for studying the preparation of proposal documents, there should be a special fund for this specific mission in the balanced management approach.

3. Thailand wishes for international friendship and peace of the world, which could be obtained via networking collaboration and cooperation between member countries that have similar characteristics of heritage comprising culture/art, types of heritage, materials, techniques, site features, topography, climates, or mutual problems and risks. We support the forming of groups for exchanging experiences, knowledge, and opinions for mutual benefits in conservation and management of World Heritage Sites of each group in the highest possible efficiency, which should be in accordance with the framework of Global Strategy Project. Thailand is ready to serve as a centre for such discussions, both in terms of budget and techniques.