วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Happy New Year Sdok Kok Thom 2010

เมื่อเอารูปปราสาทประธานของปราสาทสด๊กก๊อกธมมาใช้ส่งความสุขปีใหม่ ๒๕๕๓
ก็เลยขอนำข้อมูลเรื่องการอนุรักษ์มาบรรณาการด้วยก็แล้วกันครับ...

ก่อนการขุดแต่งเคลื่อนย้ายหินหล่น
ปราสาทประธานหลังการขุดแต่ง
ทดลองประกอบหินหล่น ได้ข้อมูลส่วนหน้าบัน

ทดลองเรียงก่อนนำกลับคืนสู่ที่ตั้งดั้งเดิม
นำหินกลับคืนสู่ที่ดั้งเดิม

ปราสาทประธานหลังการบูรณะ

อนุรักษ์ปราสาทหินด้วยอนัสติโลซิส

การอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินที่ยอมรับกันในระดับสากลว่าเหมาะสมที่สุดในปัจจุบันได้แก่วิธีการประกอบคืนสภาพ หรือที่เรียกว่า อนัสติโลซิส (Anastylosis) เป็นภาษากรีก มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเพื่อใช้เรียกวิธีการอนุรักษ์สำหรับกลุ่มโบราณสถานอะโครโปลิสแห่งเมืองเอเธนส์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ โดยวิศวกรที่ชื่อนายนิโคลาโอส บาลาโนส เขาได้ให้คำจำกัดความของ อนัสติโลซิส ไว้ว่า “เป็นการนำกลับไปสู่ที่เดิมขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างโบราณ” ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ การนำเอาวัสดุดั้งเดิม กลับไปวางไว้ในตำแหน่งดั้งเดิม โดยใช้วิธีการก่อสร้างดั้งเดิม

หลังจากที่อนัสติโลซิสเป็นที่ยอมรับและนำมาใช้กับอาคารกรีกโรมัน ก็ได้แพร่หลายมาสู่เอเซียโดยสถาปนิกชาวดัทช์นำมาใช้ที่ชวาก่อน แล้วจึงต่อมาที่เมืองพระนคร ราชอาณาจักรกัมพูชาโดยนายอองรี มาร์ชาล ชาวฝรั่งเศส โดยใช้เป็นครั้งแรกที่ปราสาทบันทายสรี แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องโครงสร้างของสถาปัตยกรรมเขมรจึงจำเป็นต้องใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กร่วมด้วย และในที่สุดก็มาถึงประเทศไทยโดยเริ่มต้นที่ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ในปีพ.ศ.๒๕๐๗ ยูเนสโกได้ส่งสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ๒ ท่านคือนายแบร์นารด์ ฟิลิปป์ โกรส์ลิเยร์ และนายปิแอร์ ปิชารด์ มาเป็นที่ปรึกษาของหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ที่ทรงเป็นสถาปนิกโครงการ จากนั้นที่ปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ ก็ได้ใช้อนัสติโลซิสต่อมาตามลำดับภายใต้การดูแลของ ดร.สัญชัย หมายมั่น ด้วยหลักการการถอดรื้อหินออกแล้วนำกลับมาเรียงประกอบใหม่ในตำแหน่งดั้งเดิมที่ควรจะเป็น เหนือฐานรากแผ่คอนกรีตเสริมเหล็กที่มั่นคง มีการเสริมโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กซ่อนรับอยู่เป็นจุด ๆ อยู่ด้านในของผนังหิน รวมทั้งระบบระบายน้ำซ่อนอยู่ใต้พื้นหิน เป็นแบบแผนของอนัสติโลซิสที่ใช้ต่อมาอีกหลายปราสาท แต่พัฒนาการด้านการอนุรักษ์ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง...

อนัสติโลซิสล่าสุดที่สด๊กก๊อกธม สืบเนื่องจากแนวทางล่าสุดที่เห็นชอบโดยกรมศิลปากรแล้วในการลดการใช้โครงสร้างคอนกรีต พร้อมกับระดับของความเป็นของแท้ของวัสดุลง เน้นที่ความเป็นของแท้ของรูปทรง เพื่อประโยชน์ในการสื่อความหมาย ในโครงการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว มีขั้นตอนการดำเนินการหลังการขุดแต่งประกอบด้วย การทำผัง ให้รหัสหินสำหรับชิ้นส่วนของโบราณสถานที่ตกกระจายอยู่เรียกว่า ผังหินหล่น จากนั้นวิเคราะห์และทดลองประกอบหิน ทำการศึกษาเปรียบเทียบ จัดทำแบบบูรณะจากพื้นฐานข้อมูลของลักษณะการเสื่อมสภาพ ผลการทดลองประกอบหิน และแบบวิเคราะห์ ถอดชิ้นส่วนที่ยังคงอยู่ในที่ พร้อมทำผังกำหนดรหัสหินจนครบทีละชั้นทุก ๆ ชั้น เรียกว่า ผังหินรื้อ ดำเนินการเสริมโครงสร้าง โดยทำฐานรากแผ่คอนกรีตเสริมเหล็กที่มีการวางแผ่นกันความชื้นพร้อมด้วยการจัดทำระบบระบายน้ำ ทดลองเรียงหินก่อนนำกลับเข้าที่ทีละ ๓ ชั้น แล้วนำชิ้นส่วนของโบราณสถานทั้งหมดกลับเข้าที่ตั้งดั้งเดิม ทำการก่อเสริมโครงสร้างดั้งเดิมด้วยการก่อศิลาแลงใหม่สอด้วยปูนขาวหมักเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของโครงสร้างเดิม กรณีที่จำเป็นต้องใช้วัสดุใหม่มาเสริมใช้หินทรายที่มีสมบัติใกล้เคียงกับวัสดุเดิม แต่งผิวสัมผัสให้เห็นได้ว่าแตกต่างเมื่อพิจารณาใกล้ๆ แม้ต้องใช้หินใหม่มากกว่าสมัยก่อนแต่ได้ช่วยลดการใช้ปูนซีเมนต์ลงพร้อมกับได้รูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณที่เข้าใจได้คืนมาจากสภาพเดิมที่เป็นเพียงกองหิน

"Dream Team"