วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

18th Technical Session of the ICC Angkor

รายงานการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพระนคร ครั้งที่ ๑๘

การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อการปกป้องคุ้มครองและพัฒนาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของเมืองพระนคร (International Coordinating Committee for Safeguarding and Development of the Historic Site of Angkor : ICC Angkor) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๘ ระหว่างวันที่ ๒ – ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ ณ โรงแรม Sokha Angkor เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
ตัวแทนประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมได้แก่
๑. นายชโลธร เผ่าวิบูล อัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ เป็นหัวหน้าคณะ
๒. นายวสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกระดับชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร
พร้อมด้วยผู้สังเกตการณ์จาก กระทรวงการต่างประเทศ ๒ ท่าน ได้แก่
๑. นายประสม แพ่งทอง
๒. นางสาววนาลี โล่ห์เพชร

วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ เริ่มการประชุม เวลา ๘.๓๐ น. โดยมีวาระการประชุมและสาระโดยย่อดังนี้

วาระที่ ๑ พิธีเปิดการประชุม ประกอบด้วยการกล่าวเปิดโดย นาย Dominique FRESLON และ นาย Norio MARUYAMA สองประธานร่วมผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ตามลำดับ และการกล่าวของ นาย SOK An รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งเน้นในเรื่องการจัดการน้ำ การรักษาสิ่งแวดล้อม และเรื่องการท่องเที่ยว

วาระที่ ๒ เรื่องการวิจัยและการอนุรักษ์
๒.๑ นาย Azedine BESCHAOUCH, ICC Permanent Scientific Secretary กล่าวรายงานกิจกรรมของ ICC-Angkor และการนำเอาคำแนะนำต่างๆที่ผ่านมาไปสู่การปฏิบัติ กล่าวถึงเรื่องน่ายินดีที่สามารถดำเนินการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างใหม่ที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ได้
๒.๒ นาย BUN Narith ผู้อำนวยการใหญ่ APSARA Authority กล่าวรายงานกิจกรรมต่างๆของ APSARA เช่น การเปิดศูนย์ต้อนรับใหม่ของเมืองพระนคร งานปรับภูมิทัศน์ งานสาธารณูปการต่างๆ เช่น ถนน สะพาน การจัดตั้ง Eco-villages ทำให้ประชาชนยังคงอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่อนุรักษ์
๒.๓ การนำเสนอผลการทำงานที่ปราสาทบายนของ JASA (Japan – APSARA Team for Safeguarding Angkor) ประกอบด้วย
๒.๓.๑ รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการบูรณะอาคารบรรณาลัยใต้ โดย ดร. KOU Vet นักโบราณคดี กล่าวถึงการค้นพบโครงสร้างศิลาแลงภายในส่วนฐานของบรรณาลัย ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้เป็นโครงสร้างช่วยรับน้ำหนักส่วนบนของอาคาร เพิ่มเติมจากโครงสร้างทรายบดอัดแน่นที่พบได้ทั่วไปในอาคารหลังอื่นๆ และ นาย SOEUR Sothy สถาปนิก เสนอผลการทดลองประกอบหินสำหรับการบูรณะส่วนบนของอาคาร
๒.๓.๒ นาย SHIMODA Ichita สถาปนิก รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับระบบโครงสร้าง ฐานราก ของปราสาทประธาน ซึ่งเป็นการดำเนินการในส่วนที่ EFEO (สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ) เคยมีการขุดตรวจและกลบไว้ตั้งแต่ในปี ค.ศ.๑๙๓๓ โดย ขุดลึกลงไปที่ระดับ ๑๔ เมตร มีการตรวจสอบผลกระทบเรื่องความมั่นคงของโครงสร้างจากการขุดตรวจและการฝังกลบในอดีต
๒.๓.๓ ศาสตราจารย์ ดร. NAKAGAWA Takeshi รายงานเรื่องวิธีการอนุรักษ์ภาพสลักนูนต่ำภายในระเบียงคดของปราสาทบายน ที่เริ่มต้นจากการเก็บบันทึกข้อมูลของภาพสลักนูนต่ำทั้งหมด จากภาพถ่าย ทำเป็นภาพลายเส้น ๒ มิติ และภาพ ๓ มิติ โดยใช้เลเซอร์สแกนเนอร์ เป็นการศึกษารูปแบบศิลปกรรมพร้อมด้วยข้อมูลการเสื่อมสภาพ และจุลินทรีย์ที่พื้นผิวหิน เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์ต่อไป นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ ที่พบผังอยู่ใต้พื้นปราสาทประธาน ในขณะที่พบมีสภาพแตกเป็นชิ้นๆและถูกฝังอยู่ในระดับลึกถึง ๑๒ เมตร หลังจากการซ่อมแซมองค์พระเป็นที่เรียบร้อยได้นำมาประดิษฐานให้สักการะบูชาที่วัดที่ตั้งอยู่นอกบริเวณของปราสาทบายนเป็นระยะเวลานานแล้ว จึงมีแนวคิดที่จะจัดสร้างพระพุทธรูปประธานของปราสาทบายน องค์จำลองขึ้นเพื่อนำมาประดิษฐานในตำแหน่งดั้งเดิมเพื่อสื่อความหมายของโบราณสถานแห่งนี้
๒.๔ นาย Pascal ROYERE สถาปนิกจาก EFEO รายงานผลการดำเนินการในโครงการบูรณะปราสาทบาปวน ทางด้านทิศตะวันตกของปราสาทที่มีการดัดแปลงเป็นพระพุทธรูปนั้นการบูรณะในส่วนนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ได้มีการรื้อฟื้นส่วนโคปุระตะวันตกและระเบียงคดด้านหลังองค์พระให้สามารถเดินได้โดยรอบตามลักษณะของระเบียงคดได้ตามรูปแบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมด้วย นอกจากนี้ที่โคปุระด้านทิศเหนือยังได้บูรณะแล้วเสร็จจนถึงยอดชั้นบนสุด
โดยทั่วไปในการบูรณะส่วนฐานชั้นต่างๆของปราสาท หลังจากการเสริมโครงสร้างภายในจะเป็นการนำหินดั้งเดิมกลับมาเรียง ณ ตำแหน่งดั้งเดิม จากผลการดำเนินการจะเห็นว่าจำเป็นต้องมีการใช้หินใหม่ในการบูรณะเพื่อทดแทนผนังหินในส่วนที่ขาดหายไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในการบูรณะยังคงปฏิบัติตามแนวทางของกฎบัตรเวนิช ที่กำหนดให้แสดงความแตกต่างระหว่างวัสดุดั้งเดิมและวัสดุใหม่ในการบูรณะ และได้เพิ่มความกลมกลืนเพื่อความงดงามโดยรวม
นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอแผนการดำเนินการในลำดับต่อไปได้แก่การบูรณะส่วนปราสาทประธานซึ่งอยู่ในส่วนบนสุดของโบราณสถาน
๒.๕ การนำเสนอโดยคณะของ WMF (World Monuments Fund) เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ที่ปราสาทพนมบาแค็ง และระเบียงคดด้านทิศตะวันออกที่มีรูปสลักการกวนเกษียรสมุทรที่ปราสาทนครวัด รายงานโดย นาย Glenn BOORNAZIAN สถาปนิกและนักอนุรักษ์ และนาย CHEA Sarith นักโบราณคดี เริ่มจากการรายงานผลสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว มีการศึกษาสภาพโครงสร้างของปราสาทพนมบาแค็ง ปัญหาการเสื่อมสภาพ และแนวทางที่จะใช้สำหรับการบูรณะ ข้อมูลจากการดำเนินการทางโบราณคดีที่ปราสาทพนมบาแค็ง และรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการที่ปราสาทนครวัด โดยโครงการอนุรักษ์ปราสาทพนมบาแค็งเฉพาะทางด้านตะวันออกนี้คาดว่าจะเสร็จในปี ๒๐๑๓
๒.๖ การนำเสนอโดยคณะของ ASI (Archaeological Survey of India) กล่าวแนะนำโดยนาย K.N. SHRIVASTAVA อธิบดีของ ASI และการรายงานในด้านต่างๆโดย นาย M.M. KANADE เรื่องหลักการในการอนุรักษ์ปราสาทตาพรม ดร. N S K Harshm จาก FRI (Forest Research Institute) รายงานเรื่องการอนุรักษ์ต้นไม้ในโบราณสถาน และนาย VK GUPTA วิศวกร รายงานเรื่องการเสริมความมั่นคงแข็งแรงและระบบการระบายน้ำ
ในลำดับแรกกล่าวถึงหลักการที่นำมาใช้ในโครงการนี้ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และบูรณาภาพของโบราณสถาน ต่อด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาของต้นไม้ใหญ่ในบริเวณปราสาทตาพรม ที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโบราณสถานที่จะต้องรักษาไว้ รายงานผลการดำเนินการในการแก้ปัญหา เช่น การรักษาต้นไม้ที่เป็นโพรงด้วยการใช้ยางไม้พื้นถิ่นแทนการใช้ซีเมนต์ การทำทางเดินไม้และชานไม้สำหรับเป็นที่ถ่ายรูปให้นักท่องเที่ยวเพื่อจะได้ไม่ต้องเหยียบไปบนรากไม้อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นไม้ตาย เมื่อรากไม้ไม่ยึดดินอีกต่อไปก็อาจโค่นล้มทำให้โบราณสถานเสียหายได้ ทั้งนี้ได้มีการเสนอผลการศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ในพื้นที่ทั้งหมด ๑๓๑ ต้น
ทางด้านวิศวกรรมมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้ำยันโบราณสถานจากเดิมที่เป็นโครงทรัสไม้ที่กีดขวางการเยี่ยมชมโบราณสถาน มาเป็นแบบที่ยืดหยุ่นปรับแต่งได้เพื่อเปิดโล่งให้การเดินชมโบราณสถานเป็นไปได้โดยสะดวกขึ้น มีการเสนอผลการทำงานในส่วนที่บูรณะไปแล้ว การขุดพบร่องรอยระบบการระบายน้ำแบบดั้งเดิมที่ได้เน้นจัดแสดงไว้เป็นพิเศษ ในขณะที่วางระบบการระบายน้ำใหม่เป็นระบบบ่อซึมที่ไม่มีท่อ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการขุดดินที่จะกระทบต่อรากไม้ และมีข้อเสนอโครงการบูรณะ Hall of Dancers อย่างเต็มรูปแบบในขณะที่เสนอให้รัดรอบส่วนยอดปราสาทในบางจุดที่ไม่จำเป็นจะต้องมีการถอดรื้อหินของอาคารลงมาก่อนทั้งหมด
๒.๗ นาย Valter M. SANTORO จาก I.Ge.S (Ingegneria Geotecnica e Structural snc) ของประเทศอิตาลี นำเสนอเรื่องการบูรณะทางดำเนิน สะพานนาค โคปุระ ขอบสระน้ำด้านทิศตะวันตก และบากัน(ระเบียงคดชั้นใน)ด้านตะวันตกของปราสาทนครวัด โดยเสนอแผนการการบูรณะ การเอาเสาซีเมนต์จากการบูรณะในอดีตออกและผลการศึกษาการจำลองสภาพการแคลื่อนตัวเปลี่ยนรูปทางด้านโครงสร้างของส่วนบากัน
๒.๘ การนำเสนอโดยคณะของ CSA (Chinese Safeguarding Angkor) เกี่ยวกับโครงการบูรณะที่ปราสาทตาแก้ว ประกอบด้วย หลักการโดยทั่วไปที่จะนำมาใช้ในการอนุรักษ์ โดยศาสตราจารย์ HOU Weidong ผู้อำนวยการโครงการตาแก้ว รองประธานอิโคโมสจีน และรองประธาน CACH (Chinese Academy of Cultural Heritage) และการรายงานผลการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการอนุรักษ์โดย ดร. WEN Yuqing แนวความคิดในการอนุรักษ์ประกอบด้วย การรักษาความเป็นของแท้และบูรณาภาพ การหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจาการถอดรื้อหิน ถ้ามีความจำเป็นอาจใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้ การใช้วัสดุใหม่ในการบูรณะต้องมีการทดสอบก่อน การเสริมความมั่นคงแข็งแรงใดใดจะต้องมีลักษณะที่ปรับแก้ไขได้ หินหล่นทั้งหมดควรจะต้องนำกลับไปไว้ในที่ตั้งดั้งเดิม โดยปกติจะต้องไม่มีการปฏิสังขรณ์อย่างเต็มรูปแบบขึ้นมาใหม่ จากแผนการดำเนินการที่นำเสนอในช่วงแรกเป็นโครงการระยะสั้นในระยะเวลา ๕ ปี (๒๐๑๐-๒๐๑๕) ก่อน
๒.๙ รายงานความคิดเห็นโดยคณะเฉพาะกิจของผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ Mounir BOUCHENAKI ศาสตราจารย์ Giorgio CROCI และศาสตราจารย์ Pierre-Andre LABLAUDE จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒
ในส่วนของการดำเนินงานของคณะจากประเทศอิตาลี ที่ปราสาทนครวัด เห็นด้วยกับการเสริมโครงสร้างในลักษณะที่มองไม่เห็นจากภายนอกพร้อมๆกับการเสริมความมั่นคงเนื้อวัสดุของหิน และการระบายน้ำ แต่ขอให้เสริมวัสดุใหม่ในการอนุรักษ์ และขอให้ทำบันไดไม้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมด้วย
สำหรับโครงการอนุรักษ์ที่ปราสาทพนมบาแค็งของ WMF คณะผู้เชี่ยวชาญแสดงความเป็นห่วงในส่วนของโครงสร้างที่เป็นอิฐที่ย้ำให้มีการกำกับดูแลเป็นพิเศษ
ที่ปราสาทเบ็งมีเลีย น่าจะได้สนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่ ส่วนสะพานโบราณที่ยังคงมีการใช้สอยมาจนถึงในปัจุบัน ควรจะต้องมีการเสริมความมั่นคงแข็งแรงต่อไป
สำหรับการดำเนินการที่ปราสาทบาปวน ของ EFEO ให้เน้นเรื่องการศึกษาข้อมูลที่แท้จริงของรูปแบบสถาปัตยกรรมควบคู่ไปกับการสื่อความหมายให้เป็นที่เข้าใจ
ในการดำเนินการที่บรรณาลัยใต้ ปราสาทบายน ของคณะ JASA กล่าวถึงการเปิดโอกาสให้ชาวกัมพูชารุ่นใหม่ได้เข้าร่วมงานในโครงการ และการค้นพบโครงสร้างพิเศษในส่วนฐานของอาคารจากการตรวจสอบโครงสร้างภายในของอาคาร
สำหรับการดำเนินการที่ปราสาทตาพรมของคณะ ASI เป็นงานที่ขาดความชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าจะนำหลักการใดมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ จะเลือกอาคารโบราณหรือต้นไม้เพื่อเป็นการเอาใจนักท่องเที่ยว สิ่งที่ดำเนินการในขณะนี้เห็นว่ามีความสมดุลที่ดี ขอแนะนำว่าระหว่างการขุดดินเพื่อจัดทำระบบระบายน้ำควรให้มีนักโบราณคดีมาร่วมงานเพื่อเก็บข้อมูลของการขุดไว้ด้วย รวมทั้งควรมีนักอนุรักษ์หินเข้าร่วมในคณะทำงานด้วย
และในโครงการที่ปราสาทตาแก้วของคณะ CSA ขอสนับสนุนความสำคัญของการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุแห่งการเสื่อมสภาพของโบราณสถาน ซึ่งในแต่ละกรณีจะมีความแตกต่างกันออกไป และสำหรับกรณีของปราสาทตาแก้วนี้มีจุดอ่อนทางโครงสร้างอยู่ที่ส่วนมุมของอาคาร
นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอในเรื่องความเสียหายและการอนุรักษ์แท่งหิน obelisk ซึ่งทางประเทศอิตาลีได้นำจัดส่งคืนให้กับประเทศเอธิโอเปีย
๒.๑๐ การนำเสนอโดยคณะของมหาวิทยาลัย Sophia ประเทศญี่ปุ่น โดยนาย Satoru MIWA สถาปนิก เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ที่ ทางเดินเข้าปราสาทนครวัดทางด้านตะวันตก ซึ่งดำเนินการมาถึงในระยะที่ ๒ และโครงการเสริมความมั่นคงแข็งแรงโครงสร้าง ๖ ส่วนของปราสาทบันทายกุฎี ต่อเนื่องจากโครงการในอดีตนับตั้งแต่การขุดค้นทางโบราณคดีที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ๒๐๐๑ มาจนถึงการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ในปี ๒๐๐๗
๒.๑๑ การนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์หิน ประกอบด้วย
๒.๑๑.๑ ศาสตราจารย์ ดร. Hans LEISEN จากคณะ GACP (German APSARA Conservation Project) บรรยายเรื่องจุดยืนในการอนุรักษ์หินของโบราณสถาน กล่าวถึงความเสียหายของเนื้อหินที่เกิดจากการอนุรักษ์ที่ผิดวิธี กล่าวถึงหลักการและเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าการใช้สารกันน้ำที่ผิวหินไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับโบราณสถานเมืองพระนคร ด้วยเหตุที่การใช้สารกันน้ำนี้เป็นการดำเนินการที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และอาจก่อให้เกิดผลตามมาที่รุนแรง คุณสมบัติการกันน้ำจะหมดไปในเวลาอย่างมากที่สุด ๑๐ ปีทำให้ต้องมีการใช้สารกันน้ำอีกครั้ง ในการใช้ซ้ำนี้จะทำให้การระเหยออกของความชื้นจากภายในเนื้อหินเป็นไปได้ยากมาก อีกทั้งเงื่อนไขเบื้องต้นต่างๆสำหรับการใช้สารกันน้ำได้อย่างปลอดภัย ยังไม่มีเพียงพอที่เป็นหลักประกันในการนำมาใช้ได้
๒.๑๑.๒ นาง Elke TIGGES สถาปนิก ที่ปรึกษาของ APSARA Stone Conservation Unit และ DED (Deutscher Entwicklungsdienst German Development Authority) บรรยายเรื่องการอนุรักษ์หินทรายในเมืองพระนคร โดยหน่วยงานถาวรของผู้เชี่ยวชาญชาวกัมพูชาในด้านการอนุรักษ์หินของ APSARA ด้วยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญของคณะจากประเทศเยอรมัน ได้นำเสนอผลงานการอนุรักษ์ประติมากรรมรูปช้างที่ปราสาทแม่บุญตะวันออก โดยในส่วนงานสลักหินใหม่มาเสริมให้สมบูรณ์ได้รับความช่วยเหลือจากคณะของสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังมีงานซ่อมสิงห์ ซ่อมราวสะพานทางเข้าเมืองนครธมทางด้านประตูชัย งานซ่อมภาพสลักนูนต่ำเรื่องกวนเกษียรสมุทรที่ปราสาทนครวัดซึ่งส่วนอาคารเป็นงานบูรณะของคณะ WMF การบันทึกภาพสลักที่ถ้ำ Peung Thabal พนมกุเลน การซ่อมเสาประดับกรอบประตูที่ปราสาท O Paoung เทวรูปและกากบาทหิน ที่ปราสาท Reung Chen พนมกุเลน
๒.๑๑.๓ นาง Yoko FUTAGAMI นักวิทยาศาสตร์จาก Tokyo National Research Institute for Cultural Properties ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงผลการศึกษาจุลินทรีย์ ที่ปราสาทตาเน็ย เพื่อการอนุรักษ์หินของโบราณสถาน ในเรื่องความเสียหายของเนื้อหินจาก มอส และ ไลเคน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไลเคนที่เพิ่งได้พบใหม่ที่กัมพูชานี้ และพบว่าไลเคนมีส่วนเกาะยึดที่แทรกลงไปในเนื้อหินได้ ๗-๒๐ มม.มีผลโดยตรงที่ทำให้หินเสื่อมสภาพ ในขณะที่สำหรับมอสไม่มีหลักฐานแน่ชัดอธิบายการเสื่อมสภาพของหินในจุดที่มีมอสขึ้นอยู่ แต่ก็เห็นได้ว่ามอสเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หินเสื่อมสภาพในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง การควบคุมสภาพแวดล้อมในเรื่องความชื้นจึงมีความจำเป็นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เนื้อหิน
๒.๑๑.๔ ดร. Tomo ISHIMURA นักวิทยาศาสตร์จาก Nara National Research Institute for Cultural Properties ประเทศญี่ปุ่น รายงานผลการศึกษาที่ ปราสาททัพตะวันตก เมืองพระนคร และโครงการความร่วมมือที่ให้การสนันสนุนการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยโบราณ Tani ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดแสดงข้อมูลและเปิดให้เข้าชมในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
๒.๑๑.๕ ศาสตราจารย์ Marie-Francoise ANDRE จากมหาวิทยาลัย Blaise Pascal เมือง Clermont Ferrand ประเทศฝรั่งเศส บรรยายเรื่องความพยายามในการจำลองสถานการณ์การเสื่อมสภาพของหินทรายที่ปราสาทตาแก้ว ระหว่างปี ๑๙๐๕ – ๒๐๐๘ และจากการเปรียบเทียบการเสื่อมสภาพกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสภาพโดยรอบของปราสาทได้พบว่า การตัดไม้โดยรอบปราสาทที่ทำให้ระดับความชื้นเปลี่ยนแปลงมีผลโดยตรงต่อการเสื่อมสภาพ การหลุดร่อนของลวดลายประดับที่ผิวของหิน

จบการประชุมในวันแรก

วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒

ออกจากที่พักเวลา ๗.๐๐ น. เพื่อไปดูงานความคืบหน้าของโครงการอนุรักษ์โบราณสถานเมืองพระนคร ที่ปราสาทพนมบาแค็ง อยู่ระว่างการดำเนินงานโดยคณะ WMF (World Monuments Fund) และที่ปราสาทบายน อยู่ระหว่างการดำเนินงานโดยคณะ JASA (Japan – APSARA Team for Safeguarding Angkor)

เริ่มการประชุม เวลา ๙.๓๐ น. โดยมีวาระการประชุมและสาระโดยย่อดังนี้
๒.๑๒ การนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดีที่เมืองพระนคร ประกอบด้วย
๒.๑๒.๑ การบรรยายเรื่อง ว่าด้วยโบราณคดีที่มืองพระนคร โดยศาสตราจารย์ Claude JACQUES
๒.๑๒.๒ นาย Christophe POTTIER สถาปนิกจาก EFEO รายงานผลงานวิจัยล่าสุดในโครงการของ MAFKATA (Mission Archeologique Franco-Khmere pour Amenagement du Territoire Angkorien)
๒.๑๒.๓ ศาสตราจารย์ Jacques GAUCHER นักโบราณคดีจาก EFEO นำเสนอผลการวิจัยใหม่ของเมืองนครธม ได้แก่ องค์ประกอบแรกๆสำหรับการลำดับยุคสมัยในบริเวณพระราชวัง
๒.๑๒.๔ นาย Eric BOURDONNEAU นักโบราณคดีจาก EFEO รายงานผลการทำงานทางโบราณคดีที่เมืองเกาะแกร์ ได้แก่ การขุดตรวจหาข้อมูลของโบราณสถานPhno Damrei Sa หรือสุสานช้างเผือก และการตรวจสอบหาที่ตั้งของรูปเคารพจากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ที่พื้นอาคาร ที่ปราสาทธม
๒.๑๒.๕ นาย ROS Borath จาก APSARA พร้อมด้วย นาย Jean-Baptiste CHEVANCE จาก Archaeology and Development Foundation รายงานผลและแผนการดำเนินการทางโบราณคดีในปี ๒๐๐๙ ในบริเวณพื้นที่กลุ่มโบราณสถานพนมกุเลน ได้แก่ ปราสาท Krol Romeas ปราสาท Thma Dap ถ้ำ Peung Tbal ปราสาท Rong Chen ปราสาท O Paong ซึ่งนอกจากงานทางโบราณคดี ยังได้ดำเนินการค้ำยัน ซ่อมแซม และทำเฝือกปกป้องเป็นการชั่วคราวด้วย
๒.๑๓ นาย Janos JELEN ประธานที่ปรึกษาด้านการบริหารของ Royal Angkor Foundation นำเสนอรายละเอียดของแผนโครงการ Jaya Kor Ker ที่กลุ่มโบราณสถานเกาะแกร์ ดำเนินการโดย Royal Angkor Foundation โดยเป็นโครงการที่มีการใช้แผนพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือ มีการคำนึงถึงธรรมชาติสภาพแวดล้อม และชุมชน ควบคู่ไปกับโบราณสถาน จึงได้แบ่งโครงการออกเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับมรดกวัฒนธรรม กิจกรรมด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมด้านชุมชน ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอของการปรับเปลี่ยนขอบเขตของพื้นที่โครงการที่ เกาะแกร์นี้ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับโครงการมากขึ้น
๒.๑๔ ศาสตราจารย์ Roland FLETCHER จาก มหาวิทยาลัยซิดนีย์ นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง รูปแบบการพักอาศัยในอดีตของเมืองพระนคร เพื่อความเข้าใจในลักษณะความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้นที่เมืองพระนคร
๒.๑๕ นาย ROS Borath จาก APSARA บรรยายเรื่อง ปลวกในเมืองพระนคร แสดงถึงสายพันธุ์ต่างๆของปลวกและผลกระทบที่มีต่อโบราณสถาน
๒.๑๖ นาย IM Sokrithy นักโบราณคดี จาก APSARA ผู้ประสานงานโครงการ Living Angkor Road รายงานผลการดำเนินการศึกษาข้อมูลของเส้นทางราชมรรคาจากเมืองพระนครสู่เมืองพิมาย ซึ่งเป็นเส้นทางโบราณที่นอกจากจะมีแนวถนนโบราณแล้วยังพบหลักฐานของสะพานโบราณที่ยังใช้งานอยู่ และโบราณสถานอยู่เรียงรายตลอดทั้งเส้นทาง รวมถึงธรรมศาลา และ อโรคยศาลาซึ่งปรากฏในจารึกปราสาทตาพรมและปราสาทพระขรรค์ ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตกัมพูชา อีกส่วนหนึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย พบข้อมูลของผังที่เป็นเอกลักษณ์ของธรรมศาลาที่บ้าน Phum Kol การศึกษาในโครงการนี้ในระยะต่อไปจะได้ขยายพื้นที่สู่เส้นทางโบราณอื่นๆ ได้แก่ เส้นทางสู่ปราสาทวัดพู จำปาสัก และ เส้นทางสู่ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว โดยมีข้อแม้ในเบื้องต้นว่าจะศึกษาเฉพาะในเขตราชอาณาจักรกัมพูชาเท่านั้น
๒.๑๗ ศาสตราจารย์ T.S. MAXWELL จากมหาวิทยาลัยบอนน์ รายงานความก้าวหน้าในการศึกษาเรื่องจารึกโบราณของเมืองพระนคร

วาระที่ ๓ เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๓.๑ นาย Azedine BESCHAOUCH, ICC Permanent Scientific Secretary นำเสนอวิธีการดำเนินการของคณะเฉพาะกิจของผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๓.๒ นาย Philippe DELANGHE ผู้เชี่ยวชาญโครงการทางวัฒนธรรม ยูเนสโก สำนักงานพนมเปญ รายงานผลการสัมมนาเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานด้านการจัดการน้ำในเมืองพระนครและบริเวณโดยรอบ
๓.๓ นาย Bruno FAVEL ผู้ประสานงานจากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส กล่าวถึงโครงการความร่วมมือจากกระทรวงวัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรมและมรดก (DAPA)
๓.๔ นาง CHAU SUN Kerya ผู้อำนวยการ Department of Cultural Development, Museums and Heritage Norms ของ APSARA รายงานเรื่องโครงการปรับปรุงบริเวณศูนย์ต้อนรับและศูนย์ข้อมูลปราสาทบันทายสรี ที่มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก กำหนดขอบเขตพื้นที่บริการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่ออนุรักษ์สภาพโดยรอบของโบราณสถาน
๓.๕ ดร.TAN Bun Suy ผู้อำนวยการ Department of Agriculture and Community Development ของ APSARA รายงานเรื่อง การพัฒนาทางเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่เป็นเกษตรกร การผลิตอาหารรองรับการท่องเที่ยว การรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีเอกลักษณ์ของทะเลสาบโดยไม่ใช้สารเคมี มีการนำเอาบารายซึ่งเป็นองค์ประกอบโบราณมาใช้ประโยชน์การการเกษตร
๓.๖ การนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการฝึกอบรม ประกอบด้วย
๓.๖.๑ นาง SISOWATH Chandevy ผู้อำนวยการโครงการศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพการอนุรักษ์มรดกในระดับภูมิภาค(กัมพูชา ลาว และเวียตนาม) และนาย Sylvian ULISSE ผู้ประสานงานกิจกรรมของโครงการ ได้รายงานผลการทำงานของโครงการที่ได้จัดการอบรมเป็นรุ่นที่ ๒ แล้ว ด้วยความร่วมมือของ Ecole de Chaillot สถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตสถาปนิกที่ทำงานอนุรักษ์สำหรับทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศฝรั่งเศส ในโครงการนี้เป็นหลักสูตรการอบรมระยะเวลา ๑๐ เดือน มีผู้เข้ารับการอบรมในปีแรก ๒๒ คนเป็นกัมพูชา ๘ คน ลาว ๕ คน เวียตนาม ๙ คน และในปีที่๒จำนวน ๒๑ คน เป็นกัมพูชา ๙ คน ลาว ๓ คน เวียตนาม ๙ คน
๓.๖.๒ นาย Michal BLAZEK จาก Czech Project in Angkor รายงานผลการฝึกอบรมในโครงการ Czech Republic School of Restoration ที่ปราสาทพิมานอากาศ เป็นการให้ความรู้ในเรื่องการดูแลรักษา ทำความสะอาด และซ่อมแซม งานประติมากรรม ได้แก่รูปสิงห์ซึ่งตั้งอยู่หน้าบันไดแต่ละด้านของปราสาท ให้แก่ช่างชาวกัมพูชารวมทั้งพระภิกษุ ในการซ่อมแซมได้มีการนำผลิตภัณฑ์หินเทียมของ Czech ซึ่งมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ขาวมาใช้ด้วย
๓.๖.๓ นาย Nobuo ENDO จากมหาวิทยาลัยโซเฟีย ประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานผลการดำเนินการตามโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านยุทธศาสตร์การศึกษาเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม จากการฝึกอบรมชาวกัมพูชาในพื้นที่ ไปพร้อมๆกันกับการดำเนินการอนุรักษ์ที่เริ่มมาตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว นอกจากจะได้ผู้ที่มีความรู้ด้านมรดกวัฒนธรรมมากขึ้นยังได้ผลิตบุคลากรในระดับผู้เชี่ยวชาญมาทำงานในปัจจุบันด้วย
ในช่วงแสดงความคิดเห็นของวาระเรื่องการฝึกอบรม นาย Simon WARRACK นักอนุรักษ์หิน ชาวอังกฤษ ที่ปรึกษาของ ICCROM (ศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการสงวนรักษาและบูรณะสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม) ประจำเมืองพระนคร ได้กล่าวในฐานะตัวแทนของ ICCROM ซึ่งมีหน้าที่ให้การสนับสนุนทางด้านการฝึกอบรมว่า จะขอใช้องค์ความรู้จาก ICC-Angkor นี้สำหรับโครงการฝึกอบรมตามโครงการของ ICC-พระวิหาร โดยจะขอรวบรวมเก็บข้อมูลจากคณะต่างๆที่มาทำงานในเมืองพระนครนี้ ทั้งนี้ ICCROM มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี และเป็นหนึ่งในองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งคงจะได้รับเชิญให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ ICC-พระวิหารด้วย สำหรับนาย Simon WARRACK ผู้นี้เดิมเป็นนักอนุรักษ์อิสระทำงานในประเทศอิตาลี ได้เข้ามาร่วมงานอนุรักษ์ในเมืองพระนครที่ปราสาทพระโค และปราสาทนครวัด(ในส่วนที่ดำเนินการโดยคณะจากประเทศเยอรมัน)
๓.๗ การนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดย ดร. Shinji TSUKAWAKI จากคณะทำงาน ERDAC (Environment Research Development Angkor Cambodia) จากมหาวิทยาลัย Kanazawa ประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานถึงผลการจัดประชุมนานาชาติและการสัมมนาเรื่องสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันของอุทยานเมืองพระนคร(Angkor Park) และบริเวณโดยรอบ
๓.๘ นาง Zhivile MONTVILAITE ตัวแทนของบริษัท Rise Entertainment Group จากประเทศรัสเซีย ได้นำเสนอโครงการจัดเทศกาลดนตรี ศิลปะและวัฒนธรรมนานาชาติ “Angkorica” ประจำปีขึ้น ณ กลุ่มปราสาทเมืองพระนคร โดยเลือกบริเวณปราสาทบายนเป็นเวทีหลักของงาน และกระจายการแสดงไปยังจุดต่างๆ ได้แก่ ที่ปราสาทบาปวน ปราสาทพิมานอากาศ พลับพลาช้าง ปราสาทบันทายกุฎีและสระสรง ปราสาทนาคพัน และถนนจากประตูเมืองนครธมด้านทิศใต้ไปถึงปราสาทบายนทั้งสาย โดยมีหลักการที่จะเลือกเฉพาะการแสดงที่เหมาะสมไม่ขัดแย้งกับความเป็นโบราณสถาน การก่อสร้างเป็นลักษณะโครงสร้างเบาที่จะไม่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับโบราณสถาน
๓.๙ รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจ สำหรับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
๓.๙.๑ นาย Jean-Marie FURT ได้ให้คำแนะนำสำหรับโครงการ Angkorica ในนามของคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจว่า ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างใดใดเลยแม้ว่าจะทำเป็นโครงสร้างเบา และควรลดพื้นที่การจัดงานลงเพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งความจริงแล้วไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้
๓.๙.๒ นาย Tetsuji GOTO ได้รายงานคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจในเรื่องการปกป้องคุ้มครองและการพัฒนาเมืองเสียมราฐ โดยมีข้อเสนอในที่ประชุมให้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเป็นพิเศษเพื่อศึกษาและดำเนินการในเรื่องการวางผังและกำหนดมาตรการในการจัดการควบคุมดูแลในเรื่องนี้

การประชุมยังมีวาระที่ ๔ เรื่องอื่นๆ วาระที่ ๕ เรื่องข้อแนะนำต่างๆของ ICC-Angkor และวาระปิดการประชุม ซึ่งได้ปิดการประชุมลงในเวลา ๑๙.๓๐ น.

ข้อเสนอแนะ การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้นอกจากจะได้ติดตามความคืบหน้าของฝ่ายกัมพูชาเกี่ยวกับกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารแล้ว ยังได้เห็นตัวอย่างรูปแบบของการดำเนินการของคณะกรรมการระหว่างประเทศที่มาร่วมกันดูแลมรดกวัฒนธรรมในกรณีที่เจ้าของมรดกไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองตามที่เป็นข้อเสนอสำหรับปราสาทพระวิหารด้วย และยังได้ติดตามพัฒนาการทางด้านการอนุรักษ์โบราณสถานและการจัดการในด้านต่างๆที่เป็นประโยชน์ในการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของโบราณสถาน จากคณะทำงานจากชาติต่างๆที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชา ในอนาคตจึงน่าที่จะได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมทั้งของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซี่ยนต่อไปประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพระนคร ครั้งที่ ๑๘

ไม่มีความคิดเห็น: