วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สด๊กก๊อกธม : องค์ประกอบสถาปัตยกรรมก่อนการอนุรักษ์

ปราสาทสด๊กก๊อกธมเป็นกลุ่มอาคารที่ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของบารายหรืออ่างเก็บน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่

บริเวณสิ่งก่อสร้างของปราสาทล้อมรอบชั้นนอกด้วยกำแพงแก้ว เป็นกำแพงก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้าง ๑๒๐ เมตร ยาว ๑๒๗ เมตร มีประตูทางเข้าออกเพียงสองทาง คือโคปุระหรือซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกเป็นประตูทางเข้าหลัก และช่องประตูเล็กทางด้านทิศตะวันตก ด้านหน้าอาคารทางทิศตะวันออกมีทางดำเนินยกพื้น ปูศิลาแลงประดับด้วยเสานางเรียงขนาดใหญ่ตลอดทาง เชื่อมต่อไปยังบาราย ที่ด้านข้างของทางดำเนินด้านทิศเหนือยังมีสระน้ำขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร พร้อมด้วยร่องรอยของขอบศิลาแลงเหลืออยู่บางส่วน ส่วนช่องประตูทางเข้าทางทิศตะวันตกแม้ว่าจะมีขนาดเล็กแต่ก็มีหลักฐานของซุ้มประตูพร้อมหน้าบันหินทรายด้วย อาคารโคปุระตะวันออกชั้นนอก (เนื่องจากปราสาทสด๊กก๊อกธมมีโคปุระตะวันออก ๒ หลัง จึงจะเรียกอาคารนี้ว่าโคปุระตะวันออกชั้นนอก) เป็นอาคารขนาดใหญ่สร้างด้วยหินทราย มีช่องประตูทางเข้าอยู่กึ่งกลางอาคาร นำเข้าไปสู่กลุ่มอาคารชั้นใน

ถัดจากโคปุระตะวันออกชั้นนอกเข้าไปจะพบสระน้ำรูปปีกกาล้อมรอบปราสาทชั้นในไว้ เว้นช่องทางเดินทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกไว้สองด้าน ทางเดินด้านทิศตะวันออกยกพื้นปูศิลาแลงประดับด้วยเสานางเรียงเช่นเดียวกันกับทางดำเนินด้านนอก โดยสระน้ำมีความกว้างประมาณ ๒๐ เมตร

ถัดจากสระน้ำเป็นอาคารระเบียงคดซึ่งล้อมรอบปราสาทประธานและสิ่งก่อสร้างชั้นในไว้ อาคารระเบียงคดซึ่งล้อมรอบกลุ่มอาคารชั้นในไว้ เป็นอาคารที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง โดยส่วนฐานเป็นศิลาแลงทั้งหมด ผนังด้านนอกส่วนใหญ่เป็นศิลาแลงยกเว้นส่วนที่มีการสลักเป็นลวดบัวกรอบประตูหน้าต่างและส่วนที่มีการแกะสลักอื่นๆจะใช้หินทราย ผนังด้านในของระเบียงคดเป็นช่องเปิดก่อด้วยหินทรายทั้งหมด ระเบียงคดมีขนาดกว้างประมาณ ๓๖.๕๐ เมตร ยาว ๔๒.๕๐ เมตร ที่กึ่งกลางกำแพงระเบียงคดด้านทิศตะวันออกที่ตั้งของโคปุระตะวันออกชั้นใน มีช่องประตู ๓ ประตู เป็นประตูหลักอยู่ตรงกลาง และประตูรองทางด้านเหนือและใต้ ผนังด้านข้างทำเป็นหน้าต่างหลอกประดับด้วยเสาลูกมะหวดไว้ทั้งสองข้าง ภายในอาคารทำเป็นห้อง แต่ไม่สามารถทะลุออกสู่ระเบียงคดได้ ด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโคปุระตะวันออกชั้นในนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญ นอกจากขนาดของอาคารซึ่งใหญ่กว่าโคปุระอีกสามด้าน ส่วนหลังคายังมีการก่อซ้อนชั้นขึ้นไปเป็นพิเศษแต่ในช่วงหลังการขุดแต่งยังไม่ทราบว่ารูปทรงเป็นอย่างไรเนื่องจากเหลือแต่หินผนังด้านในเป็นส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในที่ วัสดุก่อสร้างยกเว้นส่วนฐานศิลาแลงเป็นหินทรายทั้งหมด ในขณะที่โคปุระเหนือ โคปุระใต้ และโคปุระตะวันตก ใช้ศิลาแลงเป็นหลัก มีเฉพาะส่วนประตูหน้าต่าง ส่วนลวดบัว และส่วนที่มีการแกะสลักอื่นๆ เช่น ส่วนเชิงชาย ที่ใช้หินทราย โคปุระทั้งสามนี้มีผังเป็นมุขยื่นของส่วนทางเข้าอาคารหันเข้าหาปราสาทประธาน ซึ่งเป็นทางเข้าทางเดียวของแต่ละอาคาร

วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างโคปุระและระเบียงคดนอกจากจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างหินทรายและศิลาแลงแล้ว ในส่วนที่เป็นหินทรายยังมีการนำเอาหินทรายสีต่างๆมาใช้คละร่วมกันอีกด้วย ได้แก่ หินทรายสีเหลือง สีขาว และสีชมพู โดยที่โคปุระตะวันออกชั้นในใช้หินทรายสีเหลืองเป็นส่วนใหญ่

เมื่อผ่านอาคารโคปุระตะวันออกชั้นในเข้าไปจะพบกับลานปูศิลาแลงซึ่งมีปราสาทประธานตั้งอยู่กลางพื้นที่ ปราสาทประธานเป็นอาคารทรงปราสาทที่ก่อด้วยหินทรายสีขาวตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ จากการสำรวจวัด ขนาดฐานได้กว้างประมาณ ๑๐.๔๐ เมตร สูง ๑๐.๘๐ เมตร โดยประมาณ เป็นห้องครรภคฤหะ ที่ใช้ประกอบพิธีเพียงห้องเดียว มีสภาพปรักหักพังเป็นอันมาก ส่วนฐานสูงที่เป็นศิลาแลงมีบันไดอยู่ทั้ง ๔ ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นฐานหินทรายรับส่วนเรือนธาตุที่มีการทรุดตัวจมลงไปในส่วนฐานศิลาแลงเนื่องจากน้ำหนักมหาศาลของตัวอาคารได้กดลงมา อาคารส่วนบนพังทะลายลงมาเป็นส่วนใหญ่ ผนังส่วนบนยังคงสภาพให้เห็นเฉพาะด้านทิศตะวันตกและทิศใต้เท่านั้นโดยทำเป็นประตูหลอก ส่วนยอดเหลือแต่เพียงหินที่เป็นแกนอยู่ด้านในยากที่จะเข้าใจลักษณะทางสถาปัตยกรรม โดยรอบอาคารปราสาทประธาน มีเสาหินลักษณะคล้ายคลึงกับเสานางเรียงแต่มีขนาดเล็กกว่า ปักอยู่เป็นระยะๆ จำนวน ๑๖ ต้น

ด้านหน้าของปราสาทประธาน ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นที่ตั้งของอาคารที่เรียกว่าบรรณาลัย เป็นอาคาร ๒ หลังที่มีผังและรูปแบบเหมือนกัน ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันตกหันเข้าหาปราสาทประธาน มีขนาดกว้าง ๔.๘๐ เมตร ยาว ๕.๐๐ เมตร ผังอาคารด้านหน้าเป็นมุขยื่น ห้องด้านในมีช่องหน้าต่างที่มีร่องรอยการประดับด้วยลูกมะหวดทั้งสองด้าน ส่วนด้านหลังเป็นช่องประตูรองสำหรับบรรณาลัยเหนือ และเป็นผนังทึบในลักษณะของประตูหลอกสำหรับบรรณาลัยใต้ ส่วนฐานของอาคารทั้งสองเป็นศิลาแลง ส่วนตัวอาคารเป็นหินทรายทั้งหมด หลังคาหินทรายยังคงสภาพเหลืออยู่ในที่บางส่วน

ในส่วนด้านหน้าของปราสาทประธานนี้ยังมีการยกระดับทางเดินเชื่อมต่อระหว่างโคปุระตะวันออกชั้นในมายังปราสาทประธาน จากการทดลองประกอบหินพบว่าเป็นทางเดินที่ประดับด้วยเสานางเรียงด้วยเช่นเดียวกัน แต่ไม่พบว่าใช้วัสดุชนิดใดปูพื้นทางเดินนี้

ส่วนบาราย อยู่ห่างจากกำแพงแก้วที่ล้อมรอบตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกระยะทางประมาณ ๑๗๐ เมตร ตัวบารายและคันดินที่ล้อมรอบมีขนาดกว้างประมาณ ๒๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๔๐ เมตร นอกจากนี้ยังมีแนวคันดินโบราณอยู่ห่างจากกำแพงแก้วด้านทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๑๒๐ เมตร เรียกว่าละลม เป็นแนวคันดินคล้ายฝายกั้นน้ำที่ยังไม่ทราบขอบเขตรูปร่างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการนำเอาน้ำเข้ามาสู่บาราย หรือกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่กลุ่มอาคารศาสนสถาน

ไม่มีความคิดเห็น: